เลือดก็กลัว เวลามีคนแชร์ภาพสยองๆ ภาพอุบัติเหตุเราก็ไม่โอเค แต่ก็น่าสงสัยว่าทำไมข่าวอาชญากรรมถึงดูเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม หลายคนให้ความสนใจ หรือลึกๆ เราอยากรู้ อยากเห็น อยากดูอยู่ด้วย
ในบ้านเราเอง คำว่าข่าว—ดูจะเป็นข่าวอาชญากรรมไปซะครึ่งหนึ่ง ภาพข่าวหน้าหนึ่งก็มักเป็นภาพข่าวน่าสลด โอเค เราอาจจะไม่โอเคกับการรายงานภาพโดยตรง แต่ลึกๆ หรือในที่สุดแล้ว ข่าวอาชญากรรม เรื่องราวของการฆาตกรรม ไปจนถึงอุบัติเหตุบางอย่างก็มักดึงความสนใจทั้งของเราและมหาชนได้ เช่นว่าเวลาเราผ่านจุดเกิดเหตุ ไม่ว่าเราจะกลัวหรืออะไร ลึกๆ เราก็สนใจใคร่รู้ และหลายครั้งที่เราเองก็กลายเป็นไทยมุงอย่างห้ามใจไม่ได้
ทำไมอาชญกรรมถึงได้ดึงดูดความสนใจของเรานัก คำอธิบายที่ง่ายที่สุดสองประการคือ เรามีความสงสัยใคร่รู้เป็นที่ตั้ง และเราเองก็อาจจะขบคิด ครุ่นคิดหาเหตุผลคำตอบให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในอีกทาง เราก็คงอยากให้เกิดความยุติธรรม เกิดระบบระเบียบที่เหมาะสมกลับขึ้นมาอีกครั้ง
ในทางทฤษฎีและอาชญาวิทยา มีนักคิดร่วมสมัยชื่อ มาร์ก เซลต์เซอร์ (Mark Seltzer) ศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษาที่ UCLA แกเป็นนักวิชาการที่สนใจอาชญากรรมในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมสมัยใหม่ งานของเซลต์เซอร์จริงๆ เป็นงานวิชาการที่ซับซ้อนมาก คือแกจะใช้ทั้งกรอบความคิดหลังสมัยใหม่ประกอบกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์เพื่ออธิบาย ‘อาการ’ ของสังคมโดยมีอาชญากรรมเป็นศูนย์กลาง และในแง่หนึ่งแกก็เสนอแนวคิดเรื่อง ‘วัฒนธรรมบาดแผล’ (wound culture) ที่อธิบายว่าบาดแผลกลายเป็นความสนใจของสังคมสมัยใหม่ได้อย่างไร แถมยังพูดถึงอิทธิพลของสื่อที่ดึงเราเข้าสู่เคสอาชญากรรมด้วย
wound culture—เมื่อบาดแผลทำให้เรารวมกัน
ออกตัวก่อนว่าคอนเซปต์ wound culture เป็นแนวคิดที่ซับซ้อนมากๆ แต่บางส่วนก็ดูจะอธิบายภาพของสังคมที่เราคุ้นๆ ได้เข้าท่าดี เซลต์เซอร์พูดถึงวัฒนธรมบาดแผลไว้ใน Serial Killers: Death and Life in America’s Wound Culture ซึ่งทำความเข้าใจฆาตกรต่อเนื่อง โดย wound culture นี้กินความไปถึงความสนใจและการนำเสนอภาพบาดแผล ภาพร่างและเรื่องราวที่มีบาดแผลมาเกี่ยวข้อง เช่น ฆาตกรรม หรืออุบัติเหตุ ว่าทำไมสังคมถึงเต็มไปด้วยภาพเหล่านี้
เวลาที่นักวิชาการพูดถึงโลกสมัยใหม่—เมือง—มักจะเน้นถึงภาพสังคมที่ไร้ชีวิต เป็นภาพที่เราเดินอยู่ในเมืองที่เงียบเชียบ ในพื้นที่สาธารณะ เราต้องเก็บสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนตัว รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกเข้าไว้ภายในตัวเรา เราเดินสวนกันไปมาโดยแม้จะแน่นขนัด แต่ก็แยกขาดไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งจังหวะของต่างคนต่างไหลไปมานี้ เราเองก็เหมือนกับอยู่ในระบบระเบียบของเมืองอันยิ่งใหญ่ เราเหมือนเป็นกึ่งเครื่องจักรที่ไหลไปตามจังหวะของเมือง
ทีนี้ เวลาที่เกิด ‘แผล’ ขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เซลต์เซอร์ก็บอกว่า นี่ไง ไอ้ระบบระเบียบของโลกสมัยใหม่มันเลยพังลงไปชั่วคราว เวลาที่เกิดแผล เกิดอุบัติเหตุ เกิดการฆาตกรรมขึ้น มันทำให้ความแปลกแยกเหินห่างของผู้คนหยุดลง คนจะมารวมตัวกันที่บาดแผลนั้นๆ ในทางทฤษฎีเอง—ซึ่งนักทฤษฎีก็จะชอบอธิบายเยอะๆ ไปว่า นี่ไง บาดแผลมันคือการที่สิ่งที่เคยอยู่ข้างในออกมาอยู่ข้างนอก คล้ายๆ เป็นการอธิบายว่า มันเป็นความปรารถนาของเรานั่นแหละ ในโลกที่เรากลายสภาพเป็นเหมือนหุ่นยนต์ เราก็ปรารถนาถึงเนื้อหนัง และการเชื่อมโยงกันกับผู้คนรอบตัว
ถ้าไม่ต้องอธิบายถึงระดับจิตวิเคราะห์ หรือจิตไร้สำนึก การที่เกิดอุบัติเหตุหรืออะไรที่ผิดปกติขึ้น มันก็ทำให้ภาวะปกติ ที่บางทีมันซ้ำซากน่าเบื่อมีอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้น เรามักเห็นภาพการพูดคุย ซุบซิบ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเกี่ยวกับสถานการณ์ผิดปกตินั้นๆ
ภาพข่าวอาชญากรรม กับพลังของสื่อ ภาพ และเรื่องเล่า
True Crime: Observations on Violence and Modernity เป็นงานเขียนอีกชิ้นที่ยังยืนอยู่บนแนวคิดเรื่อง wound culture งานศึกษานี้เน้นศึกษางานประเภท true crime หรือรายการทำนองเรื่องจริงผ่านจอ คืองานแนวนี้เหมือนย้อนกลับ รวมถึงเอาเหตุการณ์จริงมาเล่าใหม่และนำเสนอเหมือนกับนวนิยายหรือหนังแนวอาชญากรรม นอกจากเรื่องแนวเรื่องจริงผ่านจอแล้ว เซลต์เซอร์ก็พูดถึงผลกระทบของสื่อที่มีต่อเราด้วย
ในงานศึกษานั้นเอง เซลต์เซอร์ชี้ให้เห็นถึงพลังและวิธีการนำเสนอของสื่อ ที่กลายเป็นว่าสื่อเสนอเรื่องอาชญากรรมแบบดรามาติก—อันเป็นสิ่งที่เราอาจจะเวรี่เข้าใจได้ ยิ่งบ้านเราเองดูจะเข้าเค้ามากๆ สื่อมีการเล่าเรื่องผ่านตัวละคร มีการบรรยายเรื่องราวของผู้ร้าย มีเรื่องราวของเหยื่อ มีเส้นเรื่องบางอย่าง
และที่สำคัญคือ เซลต์เซอร์พูดถึงพลังของสื่อ—และสื่อสมัยใหม่ทั้งหมดว่า การนำเสนอภาพและเสียงทั้งหลายทำให้เราอยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์ และยิ่งในข่าวอาชญากรรม เรากลายเป็นเหมือนผู้เห็นเหตุการณ์ เราได้รับรู้ร่วมไปกับอาชญากรรมนั้นๆ (witness) เราได้เห็นภาพเหตุการณ์จริงซ้ำๆ ได้ยินเสียงของทั้งเหยื่อและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย คำว่าการที่เรากลายเป็นพยาน เป็นส่วนหนึ่งของคดีและการสืบสวนจากทั้งภาพ เสียง และการนำเสนอข่าวทั้งหมดผ่านสื่อ ก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ดึงเราเข้าสู่ข่าวอาชญากรรมนั้นๆ
สุดท้ายแล้วก็เป็นสไตล์ของนักคิดแนวหลังสมัยใหม่ที่พยายามมารื้อ มาชวนให้เราสำรวจความคิดว่า เอ๊ะ เราอาจจะทั้งรัก ทั้งเกลียดบาดแผล อุบัติเหตุ และการฆาตกรรม แต่ในโลกสมัยใหม่ การเกิดแผลก็อาจจะเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ดึงผู้คนเข้าหากัน ความก้ำๆ กึ่งๆ ทั้งชอบและไม่ชอบของเราอาจจะมีผลมาจากผลกระทบจากโลกสมัยใหม่ จากสื่อที่กระทบกับความรู้สึกนึกคิดที่อาจซุกเรื่องประหลาดๆ เอาไว้บ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Serial Killers: Death and Life in America’s Wound Culture
True Crime: Observations on Violence and Modernity