ลองกวาดสายตาดูอย่างคร่าวๆ บนชั้นของเราน่าจะมีหนังสือที่ออกแบบโดย wrongdesign หรือ เบิ้ม–กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล อยู่หลายสิบเล่ม
ไม่น่าจะต่างไปจากนักอ่านอีกจำนวนไม่น้อย ที่ได้ผ่านหูผ่านตาผลงานของ wrongdesign จากร้านหนังสือหรือตามโอกาสต่างๆ และคงไม่เกินจริงไปนัก หากจะบอกว่า หนังสือที่เขาออกแบบ อาจจะอยู่บนมือใครสักคนที่กำลังอ่านมันอย่างเพลินเพลินในตอนนี้ก็ได้
‘พี่เบิ้ม’ คือนักออกแบบที่ดีไซน์ปกมาแล้วมากกว่า 500 เล่ม ผลงานของเขามีทั้งปกงานเขียนเชิงวิชาการ วรรณกรรม เรื่องสั้น การ์ตูน รวมไปถึงนิตยสารสายบันเทิงที่แฉความสัมพันธ์ของดารา
เที่ยงวันหนึ่งในออฟฟิศของ wrongdesign (ที่หน้าตาคล้ายกับร้านหนังสือ) ย่านประดิพัทธ์ เรานัดพบกันเพื่อคุยกันถึงเส้นทางกว่า 20 ปีการเป็นนักออกแบบปก จากนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร สู่นักออกแบบที่มีผลงานมากที่สุดคนหนึ่งในบ้านเรา
และนี่คือประสบการณ์ทำงานที่เกิดขึ้นผ่านการลองผิดลองถูกของ wrongdesign
เวลาพูดถึงชื่อ wrongdesign ใครหลายคนจะพูดถึงพี่เบิ้มในฐานะนักออกแบบที่ไม่ได้เรียนจบด้านการออกแบบ
ตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้ว เราน่าจะคล้ายเด็กไทยส่วนใหญ่ ที่เรียนจบมาแล้วไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรดี ตอนเรียนมัธยมปลายไม่ได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่เราสนใจดีไซน์เพราะตอนเด็กๆ ชอบดูหนังฟังเพลง เพราะบรรยากาศในยุคของเรานั้นป๊อปคัลเจอร์มันกำลังเฟื่องฟู พอฟังเพลงมากเข้า ดูหนังมากเข้า อ่านแม็กกาซีนมากเข้า ก็จะเห็นพวกวิชวลเยอะ เลยคิดว่าน่าสนใจดี
ตอนเรียนจบมัธยมปลายก็สอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ เป็นรุ่นแรกของธรรมศาสตร์ เราเข้าไปเรียนอยู่หนึ่งปี แต่ก็รู้ว่าไม่ใช่เรา สุดท้ายเลยย้ายไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ
ตอนนั้นนิเทศมันเป็นเหมือนค่ากลางๆ ที่เหมาะกับเด็กที่ยังไม่รู้ว่าควรเดินต่อไปทางไหนดี เพราะเป็นสายวิทย์ก็ไม่ใช่ สังคมศาสตร์ก็ไม่เชิง มันดูโอเคสุดสำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร
แล้วพอย้ายมาเรียนนิเทศฯ ได้เจอจุดเปลี่ยนอะไรบ้าง
มันมีจุดเปลี่ยนตอนช่วงใกล้เรียนจบ คนรอบตัวโดยเฉพาะเพื่อนมันเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น เพราะช่วงปีสี่เป็นช่วงที่หลายคนเห็นทางเลือกที่ชัดเจน มันมีคนที่รู้ตัวแล้วว่าอยากทำอะไร หรือคนที่รู้ว่าอยากไปเรียนต่อ ตอนนั้นเรารู้สึกอิจฉานะ เพราะเราไม่เคยรู้สึกแบบเขามาก่อนเลย
เราเลยคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว เป็นคนลอยๆ อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ หลังจากนั้นเราก็ลุยสมัครงานสายครีเอทีพ
แต่ก็ต้องเจอความจริงที่ว่าใบสมัครงานของเรามันสู้อะไรใครเขาไม่ค่อยได้ ยิ่งในยุคนั้น วงการโฆษณามันเป็นอะไรที่เฟื่องฟูมากๆ เด็กที่จบสถาปัตย์ฯ ก็เข้ามาทำงานเป็นครีเอทีพกันเพียบ ทีนี้คู่แข่งก็เยอะมากขึ้น พอรู้อย่างนั้น เราก็ขอเงินที่บ้านอีกก้อนหนึ่งไปเรียนออกแบบสิ่งพิมพ์
คือขอไปเรียนเอง
ใช่ เป็นโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ด้วยนะ ไม่ใช่โรงเรียนออกแบบ เราจำได้ว่ามันเป็นโรงเรียนที่อยู่ข้างบนห้างพาต้า เราเลือกเรียนเพื่อที่จะให้เรซูเม่ของเรามันมีอะไรเพิ่มขึ้น เวลายื่นใบสมัครไปแข่งกับคนอื่นจะได้สู้เขาได้บ้าง เราคิดแค่นั้นเอง
พอเรียนไปสักประมาณสองเดือนก็เจอเพื่อนที่เป็นเลขากองบรรณาธิการของโอเพ่นแม็กกาซีน มันเห็นเราหอบพอร์ตตอนเรียนคอมมาเล่มนึง มันก็เลยบอกว่า บริษัทกำลังหาคนทำงานกราฟฟิกอยู่ อยากลองมาสมัครดูไหม
ก็เลยสมัครไปเพราะมันคือโอกาสที่เข้ามา
ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ได้มีความคิดแบบเท่ๆ เก๋ๆ คือเราคิดว่าทำอะไรได้ก็ได้ มีอะไรให้ลองก็ลอง เราอยากเปลี่ยนตัวเองด้วยแหละ อยากเป็นคนที่ถ้าไม่รู้อะไรก็เข้าไปลองแล้วก็ถามดู เราก็เลยลองไปสมัครดู
ยังจำวันไปสัมภาษณ์งานครั้งแรกได้ไหม
วันนั้นเราหอบพอร์ตเล่มบางๆ เข้าไปสัมภาษณ์ คนสัมภาษณ์งานเราคือพี่โญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์) เขาไม่ได้ถามอะไรละเอียดมาก เขาก็เปิดดูพอร์ตไปก็ไม่ได้พูดอะไรมาก ถามแค่ว่าเรียนจบอะไรมาก เริ่มงานได้เมื่อไหร่
เราไม่ได้รู้สึกว่านี่เหมือนเป็นการรับเข้าทำงานแล้ว เราก็ไม่ได้รู้จักด้วยว่าภิญโญคือใคร ไม่รู้จักโอเพ่นแม็กกาซีนมาก่อนเลย เราเพิ่งนั่งดูแม็กกาซีนตอนนั่งรอสัมภาษณ์ด้วยซ้ำ
มันดูลำบากเหมือนกันนะ เพราะต้องทำงานในสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย
โดยลึกๆ แล้วก็ใช่ และสิ่งที่เราเรียนเพิ่มมามันก็คือโปรแกรมพื้นฐานมากๆ เรียนแค่เปิดหน้าจอยังไง ทำงานพื้นฐานยังไง ไม่ได้เป็นเรื่องงานดีไซน์ขนาดนั้น งานแรกๆ เป็นงานแม็กกาซีน แต่เราก็ทำไม่ได้ ไม่เข้าใจอยู่ดี เราเรียนโฆษณามาก็เป็นแค่เรื่องพื้นฐานมากๆ
เดือนแรกเขาก็เรียกเราไปคุยแล้วนะ เพราะเราทำอะไรไม่ได้เลย บริษัทมันเล็กจนกระทั่งเห็นได้ชัดว่าใครมีปัญหา เหมือนเขาเรียกคุยเพื่อยื่น notice ว่าเราทำงานไม่ได้นะ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าทำไม่ได้จริงๆ
ตอนนั้นไม่มีรุ่นพี่หรือคนที่ทำงานมาก่อนคอยสอนด้วยนะ เพราะพี่ที่เขารับผิดชอบเขาอยู่อีกนิตยสารนึง เราต้องรอให้เขาเลิกงานเพื่อมาสอนเราตอนเย็น แต่ถ้าเป็นตอนกลางวัน ก็จะไม่มีใครบอกเราเลย เราต้องนั่งรอและแกล้งทำงานประหนึ่งว่าเราทำเป็น เพื่อทำให้มันรอดไปก่อน
ตอนที่พี่โญเรียกคุยด้วยก็เห็นตรงกันว่า เราทำงานไม่ได้จริงๆ แต่โชคดีหน่อยที่เขาไม่ได้ใช้คำพูดในเชิงตำหนิ เขาเริ่มต้นด้วยการถามเราก่อนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ติดขัดตรงไหน เรารู้สึกว่าเขาเริ่มต้นด้วยการรับฟัง เหมือนเขาให้เราพูดก่อนว่าทำไมเราทำงานไม่ได้ ซึ่งการทำงานจริงๆ เขาอาจไม่ต้องมาใส่ใจเราก็ได้ ถ้าทำไม่ได้เขาก็แค่เปลี่ยนเราออก แล้วหาคนใหม่มาทำแทน
พอเขาเริ่มต้นด้วยคำถามแบบนี้ เราก็เกรงใจมากขึ้น เราก็ค่อยๆ บอกเขาว่าตอนที่เราเรียนโปรแกรม เราเรียนกับเครื่อง pc แต่ที่นี่ทำกับ iMac ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อนเลย รายละเอียดต่างๆ ของเครื่องนั้นเราก็ไม่รู้เลย
เขาก็บอกว่า งั้นกลับไปทำที่บ้านเพื่อใช้ pc ที่บ้านทำงาน แล้วส่งงานแบบดิสก์ไป แต่เราคิดว่า ถ้าปัญหามันอยู่ที่นี่ เราก็ขอแก้ที่นี่แล้วกัน และขอเวลาอีกหนึ่งเดือน ถ้าทำไม่ได้เราก็จะพิจารณาตัวเอง
หลังจากนั้นทำยังไงต่อ
เราใช้เวลากับงานมากขึ้น เพราะรู้ตัวแล้วว่าเวลามีจำกัด เราต้องโฟกัสกับงานบางอย่างมากขึ้น ทีนี้ก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง เริ่มเอาหนังสือโอเพ่นเล่มเก่าๆ ในออฟฟิศมาอ่าน เปิดงานเก่าๆ มาทำความเข้าใจและพยายามเข้าไปคุยกับนักเขียน พยายามถามให้มากๆ สงสัยอะไรก็ถามเท่าที่จะถามได้ ใช้เวลากับงานให้มากขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องเดียวที่เราพอจะทำได้
เราทำได้แค่ใช้เวลาเพิ่ม สมัยนั้นทุกคนจะเลิกงานประมาณ 5 โมง เราจะรอให้ทุกคนเลิกงานก่อน เพื่อที่จะทำงานต่อถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง ใช้เวลาหลังจากที่คนกลับบ้านไปแล้วเพื่อศึกษางานเพิ่มขึ้น ในแง่หนึ่งคือไม่อยากให้เขาเห็นว่าเรายังทำงานไม่ได้ อีกทางหนึ่งก็คือไม่อยากกินเวลางานคนอื่น
ช่วงกลางวันเราจะโฟกัสกับงานที่ต้องทำกับคนอื่น ส่วนกลางคืนเราจะเอางานต่างๆ มานั่งดูแล้วก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง อะไรทำไม่ได้ตอนกลางวันก็จะมาแก้ใหม่ทำใหม่ตอนกลางคืน
พี่เบิ้มมีความกลัวไหมว่า เมื่อเราฝึกสิ่งเหล่านี้แล้ว เราอาจะผิดพลาดอีกในปลายทาง
เราไม่ได้รู้สึกถึงผลลัพธ์ที่จะเกิด มันแค่อยากจะเรียนรู้มากกว่า ถ้าตั้งคำถามถูก เราเชื่อว่าคำตอบที่ได้มาก็จะจะถูกต้อง แต่ถ้าตั้งคำถามผิด คำตอบที่ได้มามันจะทำให้เราหลงทางเสมอ เรารู้สึกว่าเราอยากเรียนรู้ อะไรที่ไม่รู้ก็ถามไว้ก่อน ไม่ได้กลัวว่าเขาจะตำหนิ เราไม่มีอะไรจะเสียเพราะถูกยื่น notice ไปแล้ว ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนงานใหม่
มันไม่ใช่ความรู้สึกฝืนที่ต้องทำรึเปล่า
ไม่เจอความรู้สึกแบบนั้นเลย เพราะตอนที่เราเข้าไปมันเป็นบรรยากาศที่สนุก มันเป็นยุคหลังฟองสบู่แตกไม่นาน บรรยากาศของการทำงานสร้างสรรค์มันกลับมาคึกคักมาก เฟื่องฟูมาก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เกิดช่วงนั้น การวิพากษ์วิจารณ์มันสนุกมาก
จากเด็กที่ไม่เคยรู้อะไรเลย ได้มาอ่านงานที่น่าตื่นตาตื่นใจ เราได้นั่งทำบทความของพี่โจน จันได หรือบทความของพี่หนุ่ม เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง รวมถึงบทสัมภาษณ์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่ยังเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ซึ่งเรื่องราวแบบนี้เราไม่เคยรับรู้มาก่อน
ยิ่งทำก็ยิ่งเจอความรู้ใหม่ เจอเรื่องราวใหม่ เจอคนใหม่ๆ มันก็ค่อยๆ กระตุ้นและเปลี่ยนเราไปทีละนิด ยิ่งทำก็ยิ่งสนุก
ความไม่รู้มันเลยกลายเป็นจุดแข็งของเราไป
ใช่ พอไม่รู้ เราก็จะเปิดรับมันได้ทั้งหมด เราไม่ได้เรียนดีไซน์มาเลยไม่มีกรอบความคิดมากเท่าไหร่ สิ่งต่างๆ มันเลยเป็นไปได้ ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ผ่านไปสักพักนึงเราก็พอจะตั้งหลักและยืนระยะได้ หลังจากนั้น ทั้งตัวเราและพี่โญก็ไม่มีใครที่พูดถึงเรื่องการคุยกันในวันนั้นอีกเลย จากนั้นเราก็ทำงานไปยาวๆ
จากทำปกนิตยสารเดินทางมาสู่การทำปกหนังสือยังไง
ที่เขารับเราเข้าไปคือเขาเปิดโอเพ่นบุ๊คส์คู่กับแม็กกาซีน เราทำแม็กกาซีนไปสักพักแล้วก็ได้เริ่มทำพ็อคเก็ตบุ๊คส์
งานปกแรกๆ เราไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร มันเรียบง่าย พ็อคเก็ตบุ๊คส์ปกแรกๆ มันไม่ต้องทำอะไรมากเลย เพราะมันใช้อาร์ตไดเรกชั่นของตัวแม็กกาซีนเป็นหลัก หลังจากนั้นเราก็ได้เริ่มคิดเริ่มทำมากขึ้น มันก็จะมีบางปกที่เราอยากลองของ อยากแสดงทักษะบางอย่างที่มี แต่มันก็มีปัญหาเหมือนกันเพราะความรู้มันจำกัด เลยกลายเป็นความผิดพลาดขึ้นมา แล้วมันก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทที่เราอยู่
มันเป็นบทเรียนที่ทางลัดมากๆ พอเราทำเสร็จก็เห็นผลที่ตามมาทันทีเลย เรายังเก็บหนังสือเล่มนั้นไว้เสมอเพื่อเตือนใจตัวเอง
ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนั้น พี่เบิ้มคิดว่าผิดพลาดตรงไหน
ตอบได้ยากมากเลย เพราะด้วยความรู้ตอนนั้น ทำได้แค่นั้นก็ถือว่าเก่งมากแล้ว เราไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่เราทำไปแล้วมันจะผิดหรือจะถูก มันรู้แค่นั้น เห็นแค่นั้น ทุกอย่างมันจำกัดไปหมด เทคนิคบางอย่างเรายังทำไม่เป็นเลย
แล้วในตอนนั้น กระทั่งพี่โญหรือพี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ก็เป็นสายบรรณาธิการด้านเนื้อหา เขาก็จะไม่ได้มาบอกเราว่าความรู้เรื่องศิลปกรรมที่เรามีอยู่มันเป็นยังไง คือทำไปด้วยกัน นั่งหน้าจอดูไปด้วยกัน ผิดถูกไปด้วยกัน
แล้วได้เริ่มทำปกหนังสือแรกในชีวิตตอนไหน
แค่ห้าถึงหกเดือนแรก เราก็ได้เริ่มลองทำปกหนังสือแล้ว ข้อดีอย่างหนึ่งคือเราได้เริ่มลองทำแม็กกาซีนก่อน แล้วแม็กกาซีนมันต้องเกี่ยวกับเวลาที่ออกรายเดือน คือต้องทำงานให้ไวทำให้ทัน เราเลยถูก shape วิธีคิดมาระดับหนึ่งแล้วว่าต้องอ่านบทความแล้วคิดให้ทันคิดให้ไว้ เราเลยถูกฝึกทักษะเรื่องนี้มาประมาณนึง
ฟังแล้วมันคือวิธีการลองแบบไม่ได้อยู่ในตำราเรียนเลย
ไม่อยู่ในตำราเลย มันคือครูพักลักจำ เราดูเขาเอา มองเขาทำ โชคดีหน่อยที่เรามักเป็นคนมักได้อยู่ในที่ทำงานที่ดีๆ เสมอ มักจะเจอกับรุ่นพี่ในการทำงานที่ดีและมีเมตตา ไม่ค่อยเจอเจ้านายแย่ๆ ไม่ว่าจะย้ายไปทำงานที่ไหน แล้วพอมาเจอบรรยากาศการทำงานแบบนี้ เราเลยสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่กังวลใจมากนัก ถ้าไม่เข้าใจก็ใช้การถาม
ที่จะเกร็งคือการทำงานกับพี่หนึ่ง วรพจน์ มากกว่า เพราะถ้าไม่รู้จักกับพี่หนึ่งแก้จะเป็นคนพูดน้อย อย่างตอนเย็น พี่หนึ่ง ก็จะมานั่งข้างหลังเราคอยดูงานที่เราทำ ไม่พูดอะไรด้วยนะ (หัวเราะ) แล้วเราก็ทำงานยังไม่ค่อยเป็น
เราจำได้ว่ามีครั้งหนึ่ง พี่หนึ่งเอาสไลด์รูปฟิล์มมาส่งให้เรา แล้วบอกว่าให้เราสแกนสไลด์อันนี้ให้หน่อย เพราะแกจะเอาไปใช้ประกอบบทความสัมภาษณ์ที่ต้องปิดเย็นนี้ เหมือนเครื่องสแกนของออฟฟิศ เราใช้สแกนฟิลม์สไลด์ไม่เป็น ทำยังไงก็ขึ้นดำที่หน้าจอ ลองหลายรอบแล้วไม่ได้ สักพักก็ได้ยินเสียงพี่หนึ่งถอนหายใจ เราก็คิดว่าฉิบหายแล้ว
คือแม้แต่ความรู้เรื่องการสแกนเรายังไม่ค่อยรู้เลย พี่หนึ่งบอกว่าไม่เป็นไร แล้วแกเดินมาทำเองนิดเดียวเสร็จเลย คือเราเองก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้เรื่องพวกนี้ และค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละจุด
จุดไหนที่มันทำให้พี่เบิ้มรู้ตัวว่าเราตั้งหลักและยืนระยะในงานนี้ได้แล้ว
ตอนเขาขึ้นเงินเดือนให้มั้งนะ (หัวเราะ) กับตัวเราเองไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เราไม่มีความมั่นใจอะไรเลย การทำงานออกแบบมันคือการเริ่มคิดใหม่ทุกงาน งานเก่าไม่มีผลอะไรมากนักกับงานใหม่ พอเริ่มงานใหม่ก็หวั่นใจทุกครั้ง จากเด็กที่ไม่ได้เรียนดีไซน์มา มันไม่มีทางที่จะมั่นใจอะไรได้ รู้อย่างเดียวคือต้องทำงานหนักแล้วใช้เวลากับงานให้มาก
ทำงานประมาณสักเกือบๆ ปี พี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) ก็เข้ามาทำงานเป็นอาร์ตไดเรคเตอร์ มาพร้อมกับชุดความรู้ทั้งเรื่องงานเขียนและงานออกแบบ ตอนนั้นโอเพ่นเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ที่ร่วมทุนกับค่าย GM
ทีนี้ เราก็มีเจ้านายสามคน คือ พี่หนึ่ง พี่โญ และพี่คุ่น งานที่เราทำขึ้นตรงกับพี่คุ่น นั่งห้องเดียวกัน จากเดิมที่เราทำงานอย่างใช้เวลา เราก็ได้ทักษะพื้นฐานในเชิงออกแบบจากพี่คุ่นมาช่วย ได้เรียนรู้งานออกแบบอย่างแท้จริงเลย
ฟังดูเป็นเส้นเรื่องที่ต่างจากคนทำงานอาชีพนี้พอสมควรเลย เพราะโดยส่วนใหญ่อาจจะเริ่มต้นจากความรู้ในเชิงออกแบบก่อน แล้วค่อยศึกษาภาคปฏิบัติทีหลัง แต่พี่เบิ้มคือลุยเอาเองตั้งแต่แรกทั้งหมด
ข้อดีจากสิ่งที่เราได้เจอ คือพอไม่มีกรอบความคิด ทุกอย่างมันก็เป็นความรู้ใหม่ ไม่มีสกุล ไม่มีลายเส้น ไม่มีสไตล์เท่าไหร่ งานเราช่วงแรกๆ เราก็เรียนรู้งานจากพี่คุ่นไปเรื่อยๆ
พี่เบิ้มมองยังไงกับเรื่องการมีลายเซ็นในงานของตัวเอง
มันเป็นเรื่องที่คนภายนอกมองเข้ามาที่นักออกแบบมากกว่า เราเชื่อว่าคนทำงานสายนี้ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นหลัก เวลาทำงานทุกคนก็สนใจแต่โจทย์งาน คอนเทนต์ และเนื้อหา แต่เรื่องลายเซ็นมันเป็นสิ่งที่คนภายนอกเขามองเห็น คิดแล้วก็รู้สึกได้เอง
เรารู้สึกว่า ธรรมชาติของมนุษย์ชอบการแบ่งหมวด เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและการสื่อสาร เช่น จัดกลุ่มเป็นเพลงป๊อป ร็อค แจ๊ส สิ่งพวกนี้มันแบ่งหมวดให้เข้าใจง่าย แต่ในพาร์ทคนทำงานแล้ว วันนึงทำแบบนี้ วันต่อไปอาจไปทำอย่างอื่นก็ได้
ธรรมชาติของคนทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ มักจะเบื่องานตัวเองอยู่เสมอ เคยทำอะไรซำ้ๆ มาก็อยากจะเปลี่ยนบ้าง อยากเดินทางใหม่ๆ อยากทดลองอะไรที่ไม่เคยทำ พวกนี้เป็นเรื่องปกติ
ทำไมถึงเลือกใช้ชื่อ wrongdesign
เรื่องเกิดขึ้นตอนที่เราน่าจะอายุประมาณ 26-27 เป็นช่วงที่เรารับงานฟรีแลนซ์ที่แรก ตอนนั้นมีพี่บรรณาธิการคนหนึ่งโทรมาหาเรา เราก็เด็กก็ดีใจได้ทำงานข้างนอก พอรับโจทย์มาทำ งานนั้นถูกแก้เยอะมาก ทำแล้วแก้ไปเจ็ดรอบ แล้ววันที่ต้องเลือกครั้งสุดท้ายเขากลับมาเลือกแบบแรก
หลังจากนั้นเขาก็บอกเราว่า อยากให้เราคิดนามปากกาหน่อย เพราะเขาไม่อยากให้พี่โญรู้ว่าใช้คนจากโอเพ่นออกแบบ เราก็กลับมาคิดแล้วพิมพ์ชื่อส่งเขาไปเลยว่า ‘wrongdesign’ หรือ ‘ออกแบบผิด’ เพราะเรากะว่าจะไม่เจอพี่คนนี้อีกแล้วแน่ๆ คือตอนนั้นเราอยากประชด แล้วคิดว่าแค่งานเดียวก็จบ
สองอาทิตย์ผ่านไป เขาโทรกลับมาว่าอยากได้งานจากเราอีก พอมันต้องมีปกที่สองเราเลยต้องใช้ wrongdesign ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
มันเป็นนิสัยเสียของเด็กในวัยนั้น เราไม่ได้มีความคิดที่พิสดารเลย เราอยากขอโทษพี่เขาด้วยซ้ำ แต่พอใช้มาเนิ่นนาน เราก็รู้สึกว่ามันสะท้อนตัวเราดี เพราะไม่ได้เรียนออกแบบมาก่อน และเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก สำนักพิมพ์อื่นเขาก็คงคิดว่ามันเป็นชื่อที่แปลกมั้ง แล้วก็เริ่มเห็นว่าเริ่มมีคนนี้เข้ามาในวงการออกแบบใหม่ๆ
ยุคนั้นเราทำปกหนังสือเยอะมาก แต่คนไม่รู้ บางอันก็ไม่ใช้ชื่อ wrongdesign มันเป็นยุคที่หนังสือมันเต็มไปด้วยเรื่องหนังสือแฉต่างๆ เช่น เรื่องเล่าผู้หญิงกลางคืน ชีวิตพริตตี้ ชีวิตแอร์โฮสเตส เรามั่นใจว่าปกหนังสือกลุ่มนั้นกว่าครึ่งเป็นปกที่เราทำ เงินที่ใช้ไปเรียนมากกว่าครึ่ง ก็มาจากงานเหล่านี้
แต่มันคงมีอะไรบางอย่างในปก เช่น เส้น องค์ประกอบ ที่ว่างต่างๆ ที่ทำให้คนในบริษัทรู้อยู่ดี มีเดินมาถามด้วยว่า ปกนี้มึงทำใช่ไหม (หัวเราะ)
กลับมาในเรื่องการทำงาน เข้าใจว่าพี่เบิ้มทำอยู่โอเพ่นช่วงหนึ่ง แล้วก็ลาออกเพื่อไปเรียนต่อ
ทำงานอยู่ห้าปี เราก็รู้สึกตันขึ้นมาเฉยๆ เลย มันน่าจะตันมาหลายปีแล้ว เพราะเราไม่ได้เรียนสายออกแบบมา ในภาษานักออกแบบเรียกว่าคลังภาพ หรือนักเขียนจะเรียกว่าคลังคำ เคยมีคำแนะนำว่า นักเขียนจะเขียนหนังสือให้ได้มากๆ คุณก็ต้องอ่านหนังสือมากๆ อ่านภาษาให้เข้าหัวเยอะๆ มีคำคลังในสมองเยอะๆ
เช่นเดียวกัน ในเชิงการออกแบบแล้ว คลังภาพหรือคลังคำมันก็สำคัญเหมือนกัน แต่เราเลยไม่มีสิ่งพวกนี้ สิ่งที่ทำมาสี่ถึงห้าปีมันก็หมดไปแล้ว
เราเริ่มรู้สึกอึดอัดกับงาน ทั้งที่ตอนนั้น เราเริ่มจะไต่กราฟชีวิต เริ่มมีคนรู้จัก มีสำนักพิมพ์อื่นๆ มาติดต่อ รายได้ก็ค่อนข้างดี แต่เรารู้สึกว่า ลึกๆ แล้วเราทำไม่รอดแน่ ยิ่งทำงานมาหลายปี เราได้เจอเรื่องออฟฟิศซินโดรมด้วย เราใช้ร่างกายหนักมากเกินไป ขณะเดียวกัน ความคิดเราก็เริ่มตีบตัน เลยคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่าง
แล้วเอาเรื่องนี้ไปบอกเจ้านายว่ายังไง
เราเอาเรื่องนี้ไปคุยกับพี่โญ เขาก็บอกว่าไปเลย พี่โญพูดว่า “ตอนกูเจอเรื่องนี้กูก็ไปเหมือนกัน”
การตัดสินใจลาออก มันช่วยเราตอบโจทย์ที่ต้องการได้แค่ไหน
มันตอบไม่ได้หรอกนะว่าถ้าออกไปแล้วจะเจอกับอะไร จริงๆ แล้วกลับไปและกลับมา เราก็ไม่ได้เจอคำตอบที่ช่วยชีวิตเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ มันพาตัวเราเองไปเจอภาวะใหม่ๆ
เวลาเราเจอคำถามที่หาคำตอบไม่ได้สักที มันเปล่าประโยชน์มากเลย ถ้าเราจะนั่งหมกมุ่นอยู่กับมันอย่างเดียว บางทีพักมันเอาไว้ก่อน แล้วเมื่อเราเปลี่ยนไป เราอาจเจอคำตอบก็ได้ แต่มันต้องอยู่บนเงื่อนไขที่เราทำได้นะ เพราะเราไม่ได้มีภาระอย่างอื่นๆ เท่าไหร่
สำหรับเรา เราไม่ได้เจอภาวะตีบตันการทำงานอย่างเดียว มันมีเรื่องชีวิตด้วย มันเริ่มอิ่มตัวกับงาน ในขณะที่งานยังเรียกร้องสิ่งใหม่ๆ จากเราอยู่เสมอ เราเองยังเจอกับโจทย์อีกแบบหนึ่งว่า ถ้าเราจะยึดงานนี้เป็นอาชีพ เราต้องหาโครงสร้างการทำงานใหม่ คือมันมีเรื่องนึงที่คนข้างนอกอาจจะไม่รู้ คือเราต้องกู้เงินเรียน กยศ. ตอนปริญญาตรีเอง เพราะที่บ้านสั่งสอนเราหลังจากที่เราสอบติดมหาวิทยาลัยแล้วแต่ไม่ยอมเรียน เลยให้ไปกู้เงินเรียนเอง
เราจบมาพร้อมหนี้ประมาณสามแสนแปด มันคือความจริงที่ชัดเจนแบบที่ไม่ต้องมีใครมาบอก เรารู้สึกว่าแม่งโคตรจริงเลย ระหว่างทำงานเราเลยมีโจทย์ที่ต้องคิดว่าจะจัดการหนี้ก้อนนี้ได้ยังไงบ้าง
ดังนั้น เราเลยคิดว่าต้องออกไปหาการเรียนรู้ใหม่ๆ มันอาจจะมีเครื่องไม้เครืองมือที่เรายังไม่เคยเจอก็ได้ แล้วค่อยกลับมาแก้ไขและเรียนรู้กับงานที่ทำในปัจจุบัน เรื่องคิดงานไม่ออกก็เรื่องนึง เรื่องชีวิตก็อีกเรื่องนึง เรารู้สึกว่าเราต้องพัก ไม่สามารถเครียดกับเรื่องนี้ไปยาวๆ ได้
อาจจะโชคดีหน่อยที่ กยศ. มันยังผ่อนได้ เลยสามารถแบ่งจังหวะชีวิตเพื่อที่จะค่อยๆ จัดการมันไป
หลายคนมักจะเจอภาวะที่พอเราตะบี้ตะบันทำงานไปเรื่อยๆ หรือยิ่งพยายามก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ดีตามต้องการ พี่เบิ้มจะมีคำแนะนำให้ยังไงได้บ้าง
มันเป็นคำถามที่เจอในทุกยุคทุกสมัย แต่เครื่องมือในการจัดการมันต่างไป ตอนรุ่นเรามันยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แค่จะไปเรียนยังไม่รู้เลยว่ามีคอร์สอะไรบ้าง เราเลยคิดว่า ในยุคนี้หลายคนอาจเจอปัญหาจากการที่มีทางเลือกมากเกินไป แล้วทำอะไรไปมันก็ยังไม่ดีสักที ทำอะไรได้ดี เดี๋ยวมันก็จะมีคนที่ดีกว่าอยู่เสมอ คือเรายังไงก็รู้ว่าตัวเรายังดีไม่พอ
ในขณะที่รุ่นเรา มันไม่ค่อยมีทางเลือก สิ่งที่ทำก็ยังไม่รู้เลยว่าดีพอรึยัง เพราะมันไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ ในรุ่นเรานั้นการเดินออกไปอาจจะง่ายที่สุด แต่เราตอบแทนคนปัจจุบันไม่ได้หรอกว่าคุณต้องใช้เครื่องมือไหน
สิ่งที่เราแนะนำได้คือพยายามตั้งหลักกับงาน เรียนรู้กับงาน อย่าเพิ่งหมกมุ่นกับเรื่องชีวิตส่วนตัวมากเกินไป มองงานเป็นการเรียนรู้ เมื่องานมั่นคงและเราได้เรียนรู้จากมัน สิ่งพวกนี้มันก็จะย้อนกลับมาทำให้เราเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น แล้วหลังจากนั้นเรื่องอื่นๆ มันก็จะค่อยๆ ถูกซ่อมแซมทีละเล็กทีละน้อย
พอคุณมั่นใจ คุณจะฉายแสงบางอย่าง มีใครถาม มีใครพูด ก็ตอบได้ชัดเจนว่าทำอะไรอยู่ เจอเพื่อนเมื่อไหร่ก็ได้ เจอญาติเมื่อไหร่ก็โอเค แต่ถ้างานมีปัญหา มันไม่อยากออกไปไหนเลย เพราะเรารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเรามันถูกลดทอน
ยุคพี่เบิ้มมีความรู้สึกเปรียบเทียบเรากับคนอื่นไหม
มันเป็นเรื่องปกตินะ พอทำงานไปถึงจุดหนึ่งแล้ว เราจะเห็นงานของคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งงานที่เก่ง น่าสนใจ งานที่เราทำไม่ได้ แต่เราอาจจะโชคดีหน่อย เราค่อนข้างจะรู้เท่าทันภาวะบางอย่าง เรามั่นใจมากๆ ว่าถ้าเรามีเฟซบุ๊กในตอนนั้น คือกูด่าเจ้านายลงเฟซบุ๊กแน่ๆ (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นทุกอย่างมันต้องจบด้วยตัวเอง มันไม่ไปคร่ำครวญกับคนข้างนอก เวลาเจอเรื่องนี้แบบ มันจะขึ้นแล้วก็ลงได้ด้วยตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าเราจัดการได้
จัดการกับความรู้สึกตัวเองยังไง เวลาเห็นงานของคนอื่นที่เก่งๆ
เราชอบมากเลย และจะรู้สึกว่า “เดี๋ยวรองานกูก่อน ปกหน้าจะกลับมาใหม่” แต่ถ้าเห็นงานคนอื่นดีมากๆ แล้วทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง ความรู้สึกแบบนี้มันไม่ได้ช่วยอะไร เรามองงานคนอื่นเป็นแรงผลักดันมากกว่า มันมีแรงผลักดันบางอย่าง
มันไม่ผิดเลย ถ้าคนทำงานออกแบบสร้างสรรค์อยากจะมีงานที่โดดเด่น เพราะถึงที่สุดแล้ว มันจะมีภาวะแบบหนึ่ง ที่เวลานั่งทำงานออกแบบแล้ว เราไม่เห็นคนอื่นเลย ในที่ตรงนั้นมันมีแค่เรากับงานเราเท่านั้น ตอนเริ่มต้น เราอาจจะอยากทำงานที่ทุกคนพูดถึง อยากทำปกหนังสือที่ทุกคนพูดถึงไปอีกหลายปี แต่ตอนทำงานจริงๆ เราไม่เห็นเรื่องพวกนั้นเลย มันมีแค่เราและงาน
มีคำถามนึงที่คนอื่นมักถามเราว่า ไม่ได้เรียนออกแบบแต่ทำไมถึงอยู่ได้ คำตอบของเราคือ เพราะเราชอบธรรมชาติงานแบบนี้มากๆ เรามักจะพูดอยู่เสมอว่า มันไม่ผิดเลยที่จะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่อย่างน้อยๆ เราควรจะรู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไร เมื่อเรารู้ว่าไม่ชอบอะไร เราก็สามารถตัดมันออกไปได้ทีละเรื่อง พอตัดออกไป เราก็จะเหลือสิ่งที่เราใส่ใจ แล้วตัวเราจะเบาขึ้น
เช่น เรารู้ว่าตัวเองไม่ชอบการประสานงาน ไม่ชอบทำงานกับคนหมู่มาก หรือทำงานกับตัวเลขไม่เก่ง เราก็ตัดมันออกไป แต่เราชอบความสงบ ชอบทำงานกับคนจำนวนน้อย ชอบงานสร้างสรรค์ ซึ่งงานทำหนังสือมันให้สิ่งพวกนี้กับเรา และธรรมชาติงานมันเอื้อให้เราอยู่กับมันได้นาน
จนถึงวันนี้พี่เบิ้มแยกชีวิตส่วนตัวกับงานได้แค่ไหน
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ชีวิตส่วนตัวกับงานมันจะแยกกันยาก คุณอาจจะมีเวลาส่วนตัวก็จริง ว่าช่วงไหนทำงาน ช่วงไหนพักผ่อน แต่ลึกๆ แล้วเรารู้สึกว่ายากมากๆ งานที่เราทำมันก็คือตัวตนของเราในพาร์ทนึง มันแยกไม่ได้หรอก
แต่เรามักได้ยินคำประโยคปลุกใจทำนองว่า จงทำในสิ่งที่ชอบ แล้วก็จะไม่คิดว่ามันเป็นงานอีกต่อไป
เราโตมากับคำพูดว่า “จงมองหางานที่คุณรัก แล้วคุณจะไม่รู้สึกว่าทำงาน” แต่สำหรับเราแล้ว ขึ้นชื่อว่างานเมื่อไหร่ มันคือความเหนื่อยยาก และการไปเที่ยวคือความสุข (หัวเราะ) ถ้าทำงานยังไงคุณก็เหนื่อยนะ เรารู้สึกว่า งานที่เราได้ทำ มันควรเป็นงานที่ทำให้เราได้เติบโต ทำให้เรามีชีวิตที่ดี แล้วที่เหลือก็คือการแบ่งภาคไปทำงาน
เรามักจะพูดอย่างชัดเจน และชัดถ้อยชัดคำว่า เราไม่ได้รักงานที่เราทำขนาดนั้น แต่เรารักธรรมชาติในงานของเรา มันเอื้อให้เรามีความสุขกับงาน สภาพแวดล้อมของงาน มันไม่ขัดกับธรรมชาติของตัวเรา อย่างเช่น งานที่เราทำมันมี circle หลายแบบ เราต้องออกแบบหนังสือ ต้องขายหนังสือ วันที่เราไปนั่งขายหนังสือที่บูธหนังสือ วันนั้นเราชื่นชมคนขายหนังสือมากเลย เพราะต้องเอาใจใส่ ต้องตอบคำถาม ต้องยิ้มแย้ม แล้วมันก็เหนื่อยมากๆ ลองนึกภาพการยืนขายหนังสือในงานหนังสือตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่ม นี่มันคือทักษะอีกแบบหนึ่ง ตอนที่เราไปเจอ เราก็รู้สึกว่า งานทุกประเภทมันมีคุณค่าหมด ซึ่งเราก็ควรมองหาธรรมชาติในงานนั้นๆ ว่าคุณอยู่กับมันได้จริงไหม
ถ้าเข้าใจธรรมชาติงานได้ เราก็จะมีเส้นแบ่งบางอย่างที่ชัดเจน อย่างเราทำงานออกแบบสร้างสรรค์ มีข้อเสียอย่างหนึ่งคือ เราตัดความคิดจากงานไม่ค่อยได้ ก่อนนอนงานมันก็ตามไปถึงเตียง บางทีก็ต้องลุกจากเตียงขึ้นมาจดกระดาษ
มาตอนหลังๆ เราเริ่มรู้วิธีการจัดการแล้ว เราจัดการมันแบบเป็นลิ้นชัก คืออะไรที่ยังไม่จำเป็นต้องทำก็เก็บพักเอาไว้ เรื่องแบบนี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป เพราะไม่งั้นจะยืนระยะทำงานไม่ได้
ความสุขในการทำงานเปลี่ยนไปไหม จากในฐานะนักออกแบบมาถึงการทำงานไปบรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่ต้องจัดการเรื่องยอดขาย
ด้วยธรรมชาติงานของเรา มันทำให้เราเจอคนหลากหลาย เราได้ศึกษาความหลากหลายของสิ่งที่ทำ มันมีมุมให้ได้เรียนรู้เยอะขึ้นมาก ความสุขของเราไม่ได้ลดลงไปเลย จากช่วงที่ผ่านมา ยิ่งเติบโต ยิ่งเจอคนเยอะ ยิ่งเจอคนเยอะ ก็ยิ่งเจอโจทย์หนังสือที่กว้างขึ้น พอมาถึงวัยนี้ เราเริ่มนิ่งขึ้นในการทำงาน ไม่ได้มีภาวะในการอยากจะสร้างพื้นที่ใหม่ คือทำงานเมื่อพอใจ ทำงานเมื่อคุยกันรู้เรื่อง
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พี่เบิ้มมองคุณค่าของการทำงานหนักว่ายังไง
มันคือวิธีแก้ปัญหาที่เราใช้ในการเรียนรู้ ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร แต่ความรู้ในการทำงานมันสำคัญเสมอ งานที่เราทำมันคือสายสังคมศาสตร์ เรามักจะข้องเกี่ยวกับเรื่องความคิดเชิงนามธรรมมาก ซึ่งทำให้คนทำงานสายนี้เจอปัญหาค่อนข้างเยอะ
งานทำงานหนักไม่ใช่แค่เพื่อหาเงินอย่างเดียวนะ มันคือทำงานเพื่อเรียนรู้ เพื่อหาคำตอบการทำงานที่เราทำ หาโครงสร้างในวิชาชีพที่เราต้องเลี้ยงตัวเอง มันไม่สามารถอยู่ได้เพียงแค่ว่า มันคืองานในเชิงอุดมคติที่มีคนมาซื้อหนังสือแล้วเราก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่มันคือว่า ปกที่เราทำ มันตอบโจทย์ของเนื้อหานั้นไหม มันขายได้ในปริมาณที่น่าพอใจรึเปล่า มันช่วยอธิบายตัวเนื้อหามากน้อยแค่ไหน
การทำงานของเราที่ผ่านมา เราพยายามหาคำตอบของสิ่งเหล่านี้ ว่าอะไรบ้างคือความรู้ เมื่อเรามองว่ามันเป็นความรู้ มันจะไม่เปลี่ยน แต่เรื่องความสวยงาม หรือไลฟ์สไตล์มันเปลี่ยนได้ สิ่งที่เราคิดว่ามันสวยในยุคเรา ถึงตอนนี้คนรุ่นนี้ก็อาจจะไม่แคร์อีกต่อไปแล้ว โลกสมัยใหม่มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
แต่กับความรู้ในวิชาชีพมันยังจริง และมันยังเป็นแกนที่เราใช้เรียนรู้ได้เสมอ การทำงานหนักของเรามันไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จอะไรเลย สิ่งเราทำมันคือความทุ่มเท การให้เวลา แล้วก็หาความรู้จากงานที่ทำ
ตามไปอ่านผลงานที่คัดเลือกจากการทำงานกว่า 20 ปีของ wrongdesign ได้จากหนังสือ WRONGDESIGN: A SELECTION OF COVER DESIGNS 2002-2020 รายละเอียดจากที่นี่นะ : https://store.minimore.com/salmonbooks
Photo by Asadawut Boonlitsak