16.20 น. ผมนั่งรออยู่ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ณัฐชนนค่อยๆ ย่างเท้าทีละก้าวขึ้นมาบนบันไดที่ลื่นและชื้นแฉะจากฝนที่ตกลงมาเมื่อครู่ ข้างกายเขามีหญิงสาวผมแดงคนหนึ่งเกาะอยู่ที่ไหล่คอยพยุงไม่ให้เขาลื่นไถลลงจากบันได
เขาใช้เวลานานพอควรในการเดินระยะ 20 เมตรจากบันไดมาเก้าอี้ที่ผมนั่งอยู่ เมื่อมาถึงเขาชิงทำหน้าที่ของผมก่อนว่า “รอนานไหมครับ?” ผมส่ายหน้าและเชิญให้เขานั่งลง
ณัฐชนน ไพโรจน์ คือนักสู้ นิยามตัวเขาถูกพูดผ่านแววตา สีหน้า น้ำเสียง และที่สำคัญความไว้วางใจจากเพื่อนฝูงที่มอบให้เขาตลอดมา ทั้งในฐานะหัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติ, แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) แต่เหมือนเขาจะรู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้กับเผด็จการที่อำมหิตมันมีราคาที่ต้องจ่าย
44 วันคือระยะเวลาที่ชายคนนี้อยู่ในเรือนจำ ครั้งแรก 6 วันจากหลายข้อหากรณีจัดกิจกรรมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่สองอีก 38 วันจากคดีสาดสีหน้า ตชด.ภาค 1
44 วันคือระยะเวลาที่ชายใส่ขาเทียมผู้นี้ต้องอยู่ในเรือนจำ และเขาพรรณาถึงมันว่า “ร่างกายครบยังลำบาก เป็นแบบนี้ (ใส่ขาเทียม) ต้องลำบากขึ้นแน่นอน”
เราอยากเรียกเขาว่า “นักสู้ขาเหล็ก” แต่ไม่ใช่เพียงเพราะร่างกายที่ต้องใส่ขาเทียมในการดำเนินชีวิตเท่านั้น แต่รวมถึงหัวจิตหัวใจที่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรมทั้งหลายเช่นกัน และนี่คือบทสนทนาถึงเรื่องราวในเรือนจำของนักสู้คนนี้ ชีวิตในเรือนจำที่ต้องใส่ขาเทียมเป็นอย่างไร ยากลำบากกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า และผ่านสายตานักสู้เช่นเขา กว่าจะได้มาซึ่งชัยชนะที่อำนาจกลับสู่มือประชาชนยังอีกอยู่ไกลแค่ไหน
เป็นอย่างไรบ้างรสชาติของอิสรภาพ
รสชาติอิสรภาพหอมหวานเสมอ แต่ ณ เวลานี้ เราอาจทักทายกันด้วยสภาพของเสรีภาพ แต่ในความเป็นจริงมันคือ เสรีภาพจอมปลอมอยู่ดี ถ้ามีเสรีภาพจริง ผมไม่เข้าคุกตั้งแต่แรกหรอก
ติดอยู่ในเรือนจำมากว่าหนึ่งเดือน เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมเป็นอย่างไรบ้าง
เข้าไปตอนแรก ข้างในห้องขังมี 8 คน ผม, เพนกวิน, ฮิวโก้, พี่ฟ้า, ไมค์, พี่บอย, พี่อานนท์, น้องปูน เราไปด้วยกันก็คุยกันว่าจะรักษากำลังใจกัน ให้ถือว่ามันเป็นการต่อสู้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ทยอยติด COVID-19 กันไปทีละคน สองคน ทำให้สุดท้ายเหลือผมอยู่คนเดียวก็เหงา วันๆ นึงแทบไม่ได้คุยกับใครเลย
บอกตัวเองทุกวันว่าการต่อสู้มันเป็นแบบนี้ เรารู้อยู่ว่ากำลังสู้กับใคร อำมหิตแค่ไหน ขนาดที่ว่าแม้แต่คนที่สนับสนุนเขาเอง เขายังประหัตประหารทางอ้อมได้เลย ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเวลาออกมา
บอกตัวเองทุกวันว่าการต่อสู้มันเป็นแบบนี้ เรารู้อยู่ว่ากำลังสู้กับใคร อำมหิตแค่ไหน ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเวลาออกมา
มีผู้ต้องขังห้องอื่นมาคุยด้วยบ้างไหม
มีครับ พอเขารู้ว่าเราทำม็อบไล่นายกฯ เขาก็บอกว่าสุดยอดเลยและให้กำลังใจเรา หลายคนพยายามเข้ามาคุยด้วย เรื่องบางเรื่องที่เขาไม่เข้าใจ เขาก็เข้ามาถาม ทำไมทำแบบนี้ เข้ามาแลกเปลี่ยนเหตุผลกัน
ตอนติดรอบก่อนหน้านี้ ผมก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ นักโทษด้วยกัน เช่น ถ้าผมต้องถอดขาปลอมเขาก็จะอาสาช่วยพยุงหรือหยิบนู้นนี่ให้ อะไรเล็กน้อยๆ ที่เขาทำได้ เขาก็จะช่วย อย่างตอนที่ติดครั้งแรกผมเครียดมาก ก็มีคนหนึ่งที่เป็นผู้ช่วย (นักโทษชั้นดี) มาถามว่าต้องการอะไรไหม แล้วเขาก็ไปหามาให้
สิ่งที่เรารับรู้กันคือ ปกติในคุกคดียาเสพติดมันจะเยอะใช่ไหม แต่ครั้งนี้ผมได้นั่งคุยกับคนที่เก็บข้อมูลคดี เขาบอกว่าจริงๆ คดียามันโดนแซงไปแล้ว ทุกวันนี้อันดับหนึ่งคือคดีลักทรัพย์ ซึ่งมันก็ไม่เหมือนการลักทรัพย์ในอดีตนะ ที่เสี่ยงชีวิตจะติดคุกทั้งที ต้องลักรถยนต์ ปีนเข้าบ้านหาของมีค่า แต่ที่ผมได้คุยด้วยคือ ติดเพราะขโมยของกินเล็กน้อยๆ อย่างกาแฟเซเว่น ซึ่งผมมองว่ามันไม่ได้จากความต้องการกระทำอาชญากรรมอย่างเดียว แต่มันคือความพยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
หรือพอเขารู้ว่าเราติดเพราะรัฐบาลชุดนี้นะ โอโห บางคนบอกเขาโดนเพราะไม่จ่ายส่วยเหมือนที่เคยทำ โดนเพราะเส้นสายของตำรวจ ทหารเล่นงานเอา เราได้ฟังก็เห็นภาพว่า สังคมมันกำลังพังลงยังไง
มันไม่ได้จากความต้องการกระทำอาชญากรรมอย่างเดียว แต่มันคือความพยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
การที่เราใส่ขาปลอม มันทำให้เรามีชีวิตในเรือนจำลำบากขึ้นไหม
เข้าไปในข้างในไม่ว่าคุณจะครบ 32 หรือไม่ครบ แม่งลำบากอยู่แล้วเว้ย แล้วพอเข้าไปด้วยสภาพนี้มันลำบากขึ้นแน่นอน
แต่ผมเข้าไป 2 ครั้งก็ได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ครั้งแรกที่ผมเข้าไป เขายึดขาปลอมผมไว้ข้างนอก เขาบอกว่ากลัวขาปลอมผมจะเป็นอาวุธ กลัวนักโทษจะเอาขาผมไปตีกัน เพราะมันเป็นเหล็กตีแล้วตายได้เลย แต่หลังจากนั้นเขาก็คืนขาให้เรานะ เขาบอกอยากให้เราใช้ชีวิตได้
หลายคนอาจคิดว่า มีขาเทียมมันก็คงเหมือนมีขาจริงแล้วนี่ แต่ผมอยากบอกว่ามันไม่เหมือนกันนะ ถึงแม้มันจะเปรียบเสมือนอวัยวะหนึ่ง แต่ข้อเท้าผมยังขยับไม่ได้ หรือถ้าผมใส่ขาปลอมเอียงนิดเดียวมันก็เปลี่ยนการเดินของเราไปเลย มันไม่มีทางเหมือนขาจริงที่เราเคยมี
ข้างในเรือนจำมันก็มีหลายอย่างที่ไม่เอื้อ เช่น บางทีเราก็ต้องถอดขาเทียมเพื่อให้เนื้อเจออากาศบ้าง แล้วถ้าตอนนั้นมีผู้คุมมาหาเรา เราก็ต้องลุกไปหาเขาเลย เช่น เช้าวันหนึ่งผู้คุมอยาก swab ตรวจ COVID-19 ผมบอกเขาว่ายังไม่ได้ใส่ขา แต่เขาก็กดดันบอกแปปเดียว ผมเลยต้องกระโดดเขย่งออกไปหาเขา หรือบางทีเราออกไปเดินเล่น มันก็มีล้มมีแผลอะไรบ้าง
แต่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผมเลยคือ ห้องน้ำ ห้องน้ำกับผมมันไม่ถูกกันอยู่แล้ว พื้นมันลื่น และยิ่งเป็นแบบนี้การทรงตัวของผมมันก็ไม่ปกติอยู่แล้ว ถึงบอกว่าเราจะใส่ขาเข้าห้องน้ำได้นะ แต่สุดท้ายแล้ว อาบน้ำยังไงก็ต้องถอดขาอยู่ดี ไม่งั้นมันจะขึ้นสนิม
ข้างในมันไม่มีที่จับสำหรับคนพิการหรอ
ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี มันเป็นสันกั้น แล้วมีอ่าง แบ่งเป็นบล็อคๆ วิธีการของผมคือ ยกตัวเองขึ้นมาหน่อยหนึ่งแล้วค่อยๆ เขย่งไป และถ้าลื่นทีนึงเราก็ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องระวังมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่บางทีมันระวังแล้วก็ยังมีพลาดลื่นบ้าง ผมลื่นหลายครั้งจนเล็บผมบิ่น หัวเข่าก็มีแผล
ผมไม่รู้เลยว่าครั้งหน้าถ้าไม่ใช่หัวเข่าหรือนิ้วเท้า มันจะเป็นอะไรได้อีก หัวผมจะแตก ขาผมจะบิดกว่าเดิมหรือเปล่า หรือจะเป็นชีวิตเลยหรือเปล่า
และห้องน้ำมันเป็นคอห่านอะ ผมไม่สามารถย่อห้วเข่าอีกข้างได้ ไม่ว่าผมจะใส่หรือไม่ใส่ขามันก็ลำบากอยู่ดี มันทรมาน
ไม่มีผู้คุมขึ้นมาช่วยดูแลเลยหรอ
ปกติผู้คุมเขาจะดูผ่านกล้องวงจรปิด แต่วันไหนเขาอยากมาเขาก็มา แต่วันหนึ่งเนี่ยหลังจากทุกคนติด COVID-19 แล้ว ผมจะเจอคนไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทำให้ผมต้องอยู่คนเดียวแทบจะตลอดเวลาและต้องระวังตัวเองมาก
ตัวขาเทียมเองก็เสี่ยงต่อการชำรุดด้วยไหม
ใช่ครับ ข้างในนั้นสภาพห้องขังมันชื้น ทั้งฝนตกและมีห้องน้ำที่อยู่ในนั้นด้วย เราก็ไม่รู้ว่าขาเราจะเป็นอะไรไหม
เห็นบอกว่าถูกแยงขังเดี่ยวด้วยหรอ
เขาไม่ได้แยกขังเดี่ยวหรอก มันเกิดจากคุกที่ผมอยู่มันเป็นคุกกักโรคก่อนไปลงแดน แต่พอเราเข้าไป คนที่มาด้วยกันติด COVID-19 ไปแล้ว 7 คน กลายเป็นว่าเหลือผมคนเดียวที่ไม่ติด และเขาจะเติมใครเข้ามา หรือย้ายผมไปอยู่กับใครก็ไม่ได้ ก็ต้องอยู่คนเดียวตรงนั้น
งงมากว่าทำไม 7 คนติดแล้วณัฐไม่ติด
ผมเคยติดมาแล้วตั้งแต่เข้าเรือนจำครั้งแรก ซึ่งจริงๆ ไมค์, แซม, พี่อานนท์ ก็เคยติดหมดแล้ว และผมได้เรียนรู้ว่า ถ้าเรารู้ว่าคนใกล้ตัวติด อย่าเพิ่งไปท้อว่าแย่แล้ว ติดแน่นอน แล้วเลิกป้องกัน ที่จริงมันยังมีโอกาสอยู่ที่จะไม่ติด ผมเลยพยายามล้างมือ ใส่แมสก์ และป้องกันตัวเองตลอดเวลา
การควบคุมโรคข้างในเป็นอย่างไรบ้าง
ทางเรือนจำมีแมสก์ มีเจลล์ และพยายามแยกนักโทษไม่ให้อยู่ด้วยกัน ตอนผมเข้าไปเหมือนเปิดคุกใหม่เลย และเขาก็เรียก swab บ่อยมาก ผมเข้าไปนี่โดนเป็นสิบที
แต่ผมว่าหลายอย่าง มันเป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ช่วยด้วยความรู้ที่ถูกต้อง เช่น เขาพยายามให้ฟ้าทะลายมาให้นักโทษกินเยอะมาก บางคนนี่ให้กินเป็น 7 เม็ดเลยเพื่อป้องกัน COVID-19 ซึ่งมันเป็นความรู้ที่ผิด และทำลายสุขภาพมากกว่าจะช่วยเหลือ ในพวกผมที่อยู่ด้วยกันในห้อง พี่แบงค์เป็นคนเดียวที่กิน แต่สุดท้ายก็ติดนะ
ผ่านสายตาเรา มองสภาพข้างในเรือนจำไทยเป็นอย่างไรบ้าง ลดทอนหรือให้คุณค่าความเป็นคนไหม
ผมว่ามันผิดตั้งแต่ตั้งชื่อแล้ว “ราชทัณฑ์” มันคือการลงโทษจากใคร แล้วมันเป็นการทำโทษหรอ สุดท้ายถูกทำโทษแล้วไง ชีวิตเขาก็พังทั้งชีวิตอยู่ดี หลายคนออกมาแล้วก็ต้องกลับเข้าไปใหม่ ผมมองว่าหลายคนที่เข้าไปอยู่ข้างในไม่ได้ทำผิดด้วยตัวเองขนาดนั้น แต่มันเป็นความผิดที่รัฐบังคับให้เขาทำด้วยส่วนหนึ่ง ถ้ามีงานดีๆ ให้ทำ เขาจะโกงคนอื่นทำไม ถ้ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เขาจะขโมยของทำไม ถ้าเขามีข้าวจะกิน นี่มันคือสิ่งสะท้อนว่าสังคมมันพัง ถ้าสังคมมันพัง ในนั้นก็พัง ก่อนเข้าไปก็พัง แลัวออกมาก็พังเหมือนเดิม
เรือนจำควรเป็นพื้นที่ให้โอกาสคนข้างในพัฒนาตัวเองเพื่อกลับมาสู่สังคมอย่างดีขึ้น แต่นี่กลับเป็นการทำโทษ และมันไม่ใช่แค่ราชทัณฑ์ไงที่มีมุมมองความคิดต่อการจัดการนักโทษแบบนี้ มันผิดตั้งแต่แรก ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเป็นนักโทษแล้ว นี่มันไม่ใช่กระบวนการที่จะทำให้สังคมพัฒนา และทำให้มันดีขึ้น
ตอนติดคุกครั้งแรก ผมเคยเจอผู้คุมเรียกผมไปนั่งคุยด้วยในห้อง พอผมเข้าไปก็ไปนั่งตรงเก้าอี้ตรงข้ามโต๊ะเขา เขามองผมแปลกๆ แล้วก็ถามว่าจะนั่งตรงนี้เลยหรอ? ผมก็ตอบใช่ครับ ผมก็งงว่าเขาถามแบบนี้ทำไม แล้วผมก็เห็นว่าผู้ช่วยคนอื่นนั่งกับพื้นหมด ผมก็เลยรู้ว่าที่จริงเขาไม่ได้เคารพความเป็นคนเท่ากันขนาดนั้น เขาก็เป็นคนที่ถูกกดขี่จากข้างบน แล้วก็มากดขี่ผู้ช่วยอีกที และผู้ช่วยก็มากดขี่นักโทษอีกที มันต่อยอดกันเป็นระบบ เวลาอยู่ในห้องผู้ช่วยต้องนั่งพื้น เดินไปไหนคนที่คุยด้วยก็ต้องนั่งพื้น และเขาก็จะมีกระบองใหญ่ๆ อันนึงไปด้วย มันเป็นภาพที่สลดใจ
หลายคนที่เข้าไปอยู่ข้างในไม่ได้ทำผิดด้วยตัวเองขนาดนั้น แต่มันเป็นความผิดที่รัฐบังคับให้เขาทำด้วยส่วนหนึ่ง เขาจะขายยาทำไม ถ้ามีงานดีๆ ให้ทำ เขาจะโกงคนอื่นทำไม ถ้ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เขาจะขโมยของทำไม ถ้าเขามีข้าวจะกิน
ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่ารัฐพยายามหว่านกฎหมาย หรือที่ปิยะบุตร แสงกนกกุลใช้คำว่า นิติสงคราม กับแกนนำและผู้ชุมนุม มองอย่างไรบ้าง
ผมว่ามันใช้คำว่า “สงคราม” ไม่ได้หรอก สงครามมันคือการสู้ระหว่างคนสองกลุ่ม แต่นี่ประชาชนโดนใส่อยู่ฝ่ายเดียว มันคือการย่ำยีประชาชนอยู่ฝ่ายเดียว
ผมมองว่า หนึ่ง มันเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง เราบอกว่าเรามีเสรีภาพในการชุมนุม การพูด วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่กลับกันคนที่วิพากษ์สถาบันการเมืองไม่ว่ารัฐบาล ศาล หรือสถาบันกษัตริย์ที่ควรจะวิจารณ์ได้ กลับถูกกฎหมายเล่นงาน ทุกคนที่ออกมาต่อสู้ได้รับผลกระทบทางกฎหมายทั้งสิ้น มันเป็นความพยายามปิดปากคนที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก
สอง ถึงแม้ปากเขาจะบอกว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางหนึ่งมันก็กระดากปากที่จะพูดแบบนั้น เพราะเรายังเห็นข่าวบัตรเขย่ง คนตายแล้วไปใช้สิทธิ รวมถึงรัฐธรรมนูญที่มานั่งเขียนกันเอง และขู่ประชาชนว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญจะไม่ให้เลือกตั้ง มันคือความไม่ชอบธรรมทั้งนั้นเลย ดังนั้น มันคือการลอกคราบทางการเมือง แต่แก่นเดิมที่เป็นเผด็จการก็ยังอยู่
และมันชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการใช้กฎหมายปราบปรามประชาชน อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่าขนาดคนที่สนับสนุนมันยังฆ่าได้ลงคอ นับประสาอะไรกับคนต่อต้านอย่างพวกเรา ดังนั้น ผมมองว่ามันเป็นหนทางหนึ่งของการต่อสู้ที่ต้องเจอคดีจากรัฐบาลไม่ชอบธรรมแบบนี้
แต่เมื่อมองในมิติการต่อสู้ การใช้กฎหมายหว่านใส่ผู้ที่ไม่ชอบธรรมแบบนี้ มันคือการพังลงของระบบกฎหมาย สมมุติว่าก่อนหน้านี้มีคนโดน ม.112 ยี่สิบคน แล้วถ้าวันหนึ่ง มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงหนึ่งแสนหรือหนึ่งล้านคน ระบบกฎหมายจะดำเนินต่อไปอย่างไร ทำคดีกันไหวหรอ คนกี่แสนต้องผลัดกันเวียนขึ้นศาล
และวันนี้อนาคตของชาติถูกมองเป็นภัยความมั่นคงของชาติเสียเอง ถ้าเป็นแบบนี้ชาติจะมีอนาคตอะไร มันไม่มีอนาคตเลย ดังนั้น การหว่านกฎหมายแบบนี้มันเป็นการทำลายเขาด้วยตัวเขาเอง เพราะความไม่มั่นคงในอำนาจที่สั่นคลอนต่างหาก ผมคิดว่าเรามาไกลมากขึ้นทุกวัน และเราใกล้แสงสว่างมากขึ้นทุกวัน
วันนี้อนาคตของชาติถูกมองเป็นภัยความมั่นคงของชาติเสียเอง ถ้าเป็นแบบนี้ชาติจะมีอนาคตอะไร
การหว่านกฎหมายแบบนี้ใส่ทั้งแกนนำและผู้ชุมนุม อย่างที่เราเห็นน้องๆ ที่ดินแดงเผชิญอยู่ มันมีผลต่อการเคลื่อนไหวไหม
ส่งผลอยู่แล้วล่ะครับ ไม่ว่าแกนนำหรือผู้ชุมนุม ในทางหนึ่งพอเราเจอกฎหมายมากๆ เราก็เสียเวลาไปหาตำรวจ ไปขึ้นศาล ไปทำเรื่องคดีต่างๆ มันดึงพลังงานเรา ทำให้มีเวลาพูดคุยกันน้อยลง ทำให้ต้องมานั่งคิดว่ามันลำบากไปหรือเปล่าวะ
แต่ในอีกทางหนึ่ง มันขยายคนเดือดร้อนให้เพิ่มขึ้น ถ้าเราอยากยกเลิก 112 แล้ววันนี้มีคนโดน 112 อยู่ 20 คน บวกญาติอีกคนละ 10 คน ก็มี 200 คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายตัวนี้ แต่ถ้าสมมุติมีคนโดน 112 สัก 10,000 คน รวมญาติพวกเขา มันอาจจะมีมากถึง 100,000 คนพร้อมแก้กฎหมายตรงนี้เพื่อช่วยครอบครัวตัวเอง และในความเป็นจริงมันไม่ใช่แค่คนที่โดนคดี แต่มันคือคนที่เห็นด้วยกับหลักการว่ากฎหมายตัวนี้มันไม่ถูกต้องอย่างไร
และการหว่านกฎหมายแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องดีกับเขาเลย มันไม่ช่วยให้เรื่องเงียบ แต่กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายนี้ทำให้คนเดือดร้อนจริง มันใช้กดหัวคนจริง และหลักการที่เราเสนอมันถูกต้องจริง
ต่อให้วันนึงคุณจับแกนนำไปหมด คุณคิดว่าคนที่ออกมาบนถนนเป็นหมื่นเป็นแสน เขาจะหยุดเดือดร้อนหรอ ไม่ใช่ พื้นที่ดินแดงเป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ถึงไม่มีชุมนุมกุก็จะไปอะ ก็กูเดือดร้อนอะ ความเดือดร้อนมันเป็นของจริง ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง ดังนั้น คุณจับใครไป มันก็ไม่จบ
มาถึงตอนนี้ มองว่ายุทธศาสตร์ไร้แกนนำยังใช้ได้อยู่ไหม
ผมมองว่าการต่อสู้แต่ละแบบมีเสน่ของตัวเอง จะให้มาทำเหมือนกันหมดมันก็ไม่ถูกใจทุกคน และกลับจะทำให้ศักยภาพของแต่ละคนไม่ถูกดึงมาใช้เต็มที่ด้วยซ้ำ ดังนั้น ผมมองว่าไม่ว่าจะมีหรือไม่มีแกนนำ มาวันหนึ่งสถานการณ์มันจะทำให้จำเป็นเอง อย่างก่อนหน้านี้เราไม่เคยเห็นการชุมนุมแบบที่ดินแดง แต่วันนี้เราเห็นแล้ว มันสะท้อนว่านี่คือความเดือดร้อนที่รอไม่ได้แล้ว มันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เลยว่าสังคมกำลังพังจริง คนเดือดร้อนจริง
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมกันของคนที่มองยุทธศาสตร์ต่างกันคือ ทุกคนไม่เอาประยุทธ์ มันคือความหลากหลายในการไล่รัฐบาล และอยากปฏิรูปสถาบันการเมืองที่มาจากทั่วทุกสารทิศ มันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ทำให้ประเทศชาติล่มจม เป็นประจักษ์จากสายตาประชาชน
ผมว่าเรื่องนี้ไม่แย่ แต่เราต้องพูดคุยกันมากขึ้นเท่านั้นเอง
ในกลุ่มเคลื่อนไหวได้ถอดบทเรียนร่วมกันบ้างไหม
กลุ่มเคลื่อนไหวคุยกัน แต่พอมันมีหลายกลุ่ม เหมือนเรามาเรียนในโรงเรียนมัธยมที่มีเป็น 10 ห้อง และแต่ละห้องเชื่อว่าต้องทำอะไรสักอย่างแน่นอน แต่เราไม่รู้ว่าควรจะคุยกับคนไหน ห้องไหนก่อน เพราะบางทีหากันไม่เจอ หรือไม่รู้ว่าใครทำอะไรบ้าง แต่ทุกครั้งที่หากันเจอเขาคุยกันเสมอ เพราะอยากให้ชาติดีขึ้น
ช่วงนี้ของปีที่แล้ว เราเห็นการปัดหมุกที่ท้องสนามหลวง เราเห็นการจัดปราศรัยในประเด็นที่หลากหลาย แหลมคม ปีนี้เราเห็นสิ่งเหล่านี้น้อยลง มันเกิดอะไรขึ้น
ในทางหนึ่ง ปีที่แล้วมันเป็นปีของการเริ่มต้น มันเป็นปีของการตั้งหลัก และการปราศรัยเป็นการสื่อสารประเด็นไปสู่มวลชน ถ้าเขาเห็นด้วยมันก็จะสะท้อนกลับมา แต่ตอนนี้มันมีปัจจัยที่ไม่เอื้อมากขึ้น เช่น เราตั้งเวทีทีหนึ่งก็เจอความรุนแรงจากรัฐทีหนึ่ง โดนกฎหมายเล่นงานทีหนึ่ง ทำให้การทำแบบเดิมมันยากขึ้น
สอง ผมรู้สึกว่าตอนนี้สังคมกำลังคุยกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้สิ่งที่คุยกันในปีที่แล้ว ทุกคนเข้าใจหลักการร่วมกันแล้ว แต่กำลังหาวิธีไปด้วยกัน
สิ้นปีนี้ มีเป้าหมายหรือหลักชัยอะไรที่ตั้งร่วมกันไว้ไหม
เราก็ตั้งไว้ อยากให้รัฐบาลที่ทำให้ประเทศชาติที่พังทลายลงรับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำ และสรรหาคนที่เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการทางประชาธิปไตย
คิดว่าตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะทำให้ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อสำเร็จคืออะไร
เจ้าของอำนาจที่เรียกว่าประชาชน เราจะชนะได้อย่างไร ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ เราจะชนะได้อย่างไร ถ้าประชาชนศิโรราบต่ออำนาจของรัฐที่ไม่เป็นธรรม เราจะชนะได้อย่างไร ถ้าประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจเห็นว่ามีการใช้อำนาจไม่ชอบธรรมต่อประชาชน แต่ยังไม่ยอมหยิบอำนาจคืนแล้วปล่อยให้เขาใช้ตามอำเภอใจ ดังนั้น ผมว่าประชาชนสำคัญที่สุด
จากประวัติศาสตร์โลกบอกเราว่า สักวันหนึ่งระบอบทาสจะพังทลาย และทุกวันนี้เราก็ไม่มีทาสจริงๆ สักวันหนึ่งชนชั้นศักดินาจะพังทลาย แล้วทุกวันนี้ก็ไม่มีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบศักดินาแล้ว สักวันหนึ่งระบอบเผด็จการจะล่มสลายด้วยตัวเอง และเราก็เห็นว่าแนวโน้มเป็นแบบนั้นจริงๆ ดังนั้น มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าเผด็จการในบ้านเราจะเป็นสนิมที่กัดกินตัวเองจนพังลง แต่สำคัญคือ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจต้องออกมาทำมันด้วยตัวเอง เราต้องเชื่อว่าอำนาจเป็นของเรา เราต้องเชื่อว่าเรามีความชอบธรรม เราต้องเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นของเรา และใดๆ ทั้งหมดที่เขาหลอกว่าเป็นของเขา มันเป็นของเรา และเราต้องเอาคืน
แต่การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเปิดแอร์เย็นๆ รอได้ มันต้องลงมือทำ และมันจะสำเร็จแน่ เพราะทุกวันนี้มันก็พังลงทุกวัน ทุกวันนี้มีใครพูดถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มันเขียนขึ้นไหม ทักวันนี้รัฐธรรมนูญที่มันเขียนยังถูกแก้ด้วยความเร็วระดับนี้ได้เลย มันสะท้อนว่ารัฐบาลกำลังมีความระส่ำระส่าย แค่นีมันก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เราไปถึงตรงนั้น นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะสิ่งที่เราสู้อยู่เพื่อให้ได้มา มันไม่ใช่แค่ของแกนนำ ของคนที่ไปประท้วงที่แยกดินแดง ไม่ใช่ของกลุ่มไหน แต่มันเป็นของทุกคน ดังนั้น ประชาชนต้องรู้สึกเป็นเจ้าของกับมัน
ถ้าออกไปต่อสู้ สิ่งเดียวที่ประชาชนจะเสียคือโซ่ตรวน แต่สิ่งที่จะได้มาคืออำนาจทั้งหมดกลับมาหาประชาชน
มองว่าสถานการณ์ตอนนี้ใกล้ถึงเป้าหมายหรือยัง
ใกล้ขึ้นทุกวัน
แล้วเป้าหมายไปถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันห่างหรือใกล้แล้ว
ไม่มีอะไรห่างเกินใจ
ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่ามีการใช้กระสุนจริง มีเด็ก 14 โดนยิงเข้าที่ก้านคอ สิ่งเหล่านี้มันน่ากังวลแค่ไหน
ผมกังวลนะ แต่ไม่ได้กังวลในฐานะว่าเราต้องหยุดการเคลื่อนไหว ผมกังวลว่าทำไมรัฐถึงรุนแรงกับประชาชนแบบนี้ ทั้งที่เขาเป็นแค่ประชาชนที่ออกมาพูดในสิ่งที่เขาอยากได้จากรัฐ เขาเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่งที่ชีวิตแย่ ไม่เหลือทางเลือกในชีวิต และอยากต่อสู้ อยากได้อำนาจที่จะกำหนดชีวิตตัวเองคืนมาบ้าง แต่รัฐไม่เคยให้ สิ่งที่ประชาชนได้กลับมาคือกฎหมาย ความรุนแรง กระสุนปืนตลอด ผมเป็นกังวลต่อสวัสดิภาพของประชาชนมาก ผมไม่อยากให้ประชาชนเจอแบบนี้ ผมโกรธ
การต่อสู้ของเรามันไม่ใช่แค่ให้ได้มาซึ่ง 1 นโยบาย แต่มันคือการริบทั้งหมดกลับมา อำนาจที่พวกเขาริบจากเราและสร้างมาอย่างยาวนาน ซึ่งวันที่เขาสั่นคลอนจนต้องใช้ปืนยิงใส่เรา เขาหมดความชอบธรรมทางการเมืองไปแล้ว ผมอยากบอกประชาชนว่า เขาไม่มีอำนาจเหลืออีกแล้ว เพราะกระสุนที่เขาตัดสินใจยิ่งเจ้าของอำนาจ
เมื่อปี 2553 คนเสื้อแดงสู้กับเป้าหมายที่เล็กกว่าตอนนี้มาก เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นแล้ว กลัวไหม
การต่อสู้ปี 53 ถึงมันจะจบแบบนั้น แต่ผมก็ต้องขอบคุณที่มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนที่ออกมาต่อสู้ในวันนี้ และถึงแม้เหตุการณ์นั้นจะน่ากลัวและไม่ควรเกิดขึ้น แต่ทุกวันนี้คนมันเห็น คนมันรู้จริงแล้วว่าปี 53 มันเป็นสิ่งทีไม่ชอบธรรมเลย
ถามว่าผมกลัวไหม ผมไม่กลัวครับ แต่รู้สึกเป็นห่วง และคิดว่ารัฐต้องชดใช้กับทุกสิ่งที่ทำมาตลอดไม่ว่าในปัจจุบัน, พฤษภา53, พฤษภา35 หรือในเดือนตุลาทั้งสองครั้ง มันเป็นเหตุการณ์ที่รัฐรับต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น ทุกอย่างต้องถูกรื้อขึ้นมาเพราะคนที่ถูกทำร้ายคือประชาชน
สิ่งที่เป็นเกาะคุ้มกันเรามาเสมอคือความชอบธรรม ดังนั้น เราต้องรักษาความชอบธรรมเพื่อรักษาขบวนการต่อสู้กับเขาให้นานที่สุด และแม้พวกเขาจะพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้เราหยุด แต่เราจะไม่หยุดเพราะถ้าเราหยุดเราจะเสียทุกอย่าง
Photograph By Channarong Aueudomchote
Illustrator By Waragorn Keeranan