ภาพของรถแบลโฮสีส้มเคลื่อนเข้าไปในซากปรักหักพังที่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนต์สกาลา คงบีบหัวใจใครหลายคนที่เคยหนีบป็อปคอร์นเข้าไปนั่งดูหนังสักเรื่องตอนโดดคาบบ่าย หรือเคยจูงมือสาวไปเดินดูดาวบนเพดานโถงอย่างโรแมนติก เพราะไม่มีที่ดีกว่านี้ไปแล้ว
อันที่จริง ทุกคนคงเคยได้ยินว่าสกาล่าจวนเจียนเต็มทีแล้วที่จะต้องปิดตัวลงเพราะขาดทุน แต่ตามที่คุยกันไว้ก่อนหน้านี้ หรือเท่าที่สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจอ้างแหล่งข่าวของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (ผู้ชนะประมูล) ว่า “โครงสร้างเก่าเป็นโรงหนังสกาลา เราจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าไว้ให้มากที่สุด” ดังนั้น การตัดสินใจทุบทิ้งชนิดเหี้ยนเตียนทั้งโรงหนังและอาคารพานิชย์ 79 คูหาบริเวณนั้นจึงสร้างความตกใจให้ถึงที่สุด ไม่เว้นแม้แต่กับคนงานรับเหมา
แม้การจากไปของสกาลาแง่หนึ่งเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจ แต่ชาตรี ประกิตนนทการ ศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ชวนคิดลงไปให้ลึกกว่านั้นถึงคุณค่าที่แท้จริงของสกาลาทั้งในฐานะสถานที่บรรจุความทรงจำ และในฐานะหลักทางบรรจุประวัติศาสตร์ของสามัญชนคนธรรมดาที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่ปี 2512 และอีกคำถามสำคัญที่สุดว่า..
ถ้าสกาล่าขาดทุน มันจะไม่มีคุณค่าอะไรเลยหรือ?
อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างตอนนี้
จริงๆ ผมกับสกาลาไม่ได้มีความทรงจำกันมากนัก มีแค่ช่วงหนึ่งที่ได้ไปเรียนที่จุฬาฯ เคยดูหนังอยู่ที่นั่นประมาณ 3-4 ครั้งมั้ง เพราะช่วงที่ผมไปคลุกคลีอยู่แถวนั้น โรงหนัง Multiplex ก็เริ่มบูมแล้ว และถ้าจะย้อนกลับไปสมัยมัธยมที่ที่สกาลาขึ้นถึงจุดพีคจริงๆ ก็ไม่ค่อยได้ไปเพราะแถวนั้นมันเป็นย่านที่จะไปต้องเตรียมตัว มันเป็นแลนมาร์คของความเจริญ (หัวเราะ)
มองอย่างไรบ้างกับการที่สุดท้ายผู้ที่ประมูลก็ตัดสินใจทุบโรงหนัง
ผมคิดว่ามันเสียคุณค่ามากมายเลย อย่างแรกคือการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องมองเป็นอื่นไม่ได้เลยว่าตัดสินใจบนฐานของธุรกิจเป็นสำคัญ เพราะอาคารหลังนี้ไม่ใช่อาคารพานิชย์หรือสถานบันเทิงทั่วไป มันมีคุณค่าอย่างน้อย 4 ด้าน
คุณค่าทางสถาปัตยกรรม ผมพูดในหลายที่ว่าสกาล่าคือโรงหนัง Standalone (โรงภาพยนต์ที่ตั้งเป็นอาคารเดี่ยวโดดๆ ไม่รวมกับสถานที่อื่น – ผู้เขียน) ที่พิเศษมากๆ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สวยที่สุดในประเทศไทย ก่อนที่กิจการจะเลิกไปมันเป็นโรงภาพยนต์ที่มีองค์ประกอบแบบดั้งเดิมครบสมบูรณ์ที่สุด มีการปรับเปลี่ยนบ้าง แต่ยังคงลักษณะแรกเริ่มได้สมบูรณ์มากกว่า 80% ดังนั้น มันคือตัวแบบทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนยุคสมัยนั้นๆ นี่คือคุณค่าที่สูงมากๆ ทางสถาปัตยกรรม
คุณค่าทางศิลปกรรม การตกแต่งภายในที่อลังการมาก เป็นอาณาจักรภาพยนต์ (Movie Palace) ซึ่งในไทยแทบจะไม่มีเลย เพราะต้องใช้งบประมาณเยอะ รูปแบบตกแต่งภายในผสมผสานศิลปะหลายแนวเพื่อให้เกิดความอลังการทั้งโมเดิร์น, อาร์ตเดโค, ศิลปะไทย, ศิลปะบาลี และศิลปะญี่ปุ่น บนเพดานจะมีพิณไม้ใหญ่ลวดลายอาร์ต เดโคผสมศิลปะคลาสสิก ดาวบนเพดานที่ทำจากสังกะสี และที่สำคัญฝ้าภายในที่โค้งขึ้นมาจนให้ความรู้สึกเลื่อนไหล โค้งไหวไปมาได้อารมณ์ความอลังการมากๆ เวลาเข้าไปยืนข้างใน
ไม่มีโรงหนัง Standalone ในประเทศไทยทำได้เท่านี้มาก่อน และผมคิดว่าโรงหนัง Multiplex ก็ยังไม่มีที่เทียบเท่าได้ นี่คือคุณค่าสำคัญเช่นกัน
คุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคม อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 2509 และเสร็จในปี 2512 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับสงครามเย็น และเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ต่อสู้กันคือภาพยนต์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ สกาลาก็ทำหน้าที่ส่งต่อความคิดสนับสนุนโลกเสรีและต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปด้วยในตัวเอง ผมคิดว่านี่คือประวัติศาสตร์สังคมที่แฝงอยู่ในสกาลาที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก แต่มันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญทีเดียว
คุณค่าในแง่ความทรงจำ ตรงนี้ชัดเจนเลย เราจะเห็นว่าตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีก่อนทที่มีข่าวจะรื้อโรงหนังแห่งนี้ มันเริ่มมีการเผยความทรงจำของผู้คนที่มีต่อสกาลา ไม่ว่าเคยพาแฟนมาดูหนังครั้งแรกที่นี่ หรือเคยพาเพื่อนมาดูหนังกันที่นี่ มันเต็มไปด้วยประสบการณ์และความผูกพันธ์ของคน ซึ่งมีไม่กี่อาคารเท่านั้นที่มีสถานะนี้ แต่สกาลาทำได้และบรรจุความทรงจำของคนในทศวรรษ 2510-2530 ได้อย่างมากทีเดียว
ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์เขียนไว้ในบทความที่ลงในมติชนรายสัปดาห์คือ สกาลาจะถูกทุบทิ้งไหมอยู่ที่ว่าสังคมไทยกระแสหลักมอบคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้มันไหม
เวลาพูดแบบนี้ผมมักจะย้ำเสมอ ไม่ใช่สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ แต่สังคมไทยให้ความสำคัญกับ “ประวัติศาสตร์มหาบุรุษ (The Great Man History)” มากกว่าต่างหาก
หรือประวัติศาสตร์ที่มองความเปลี่ยนแปลงผ่านการกระทำของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น พระมหากษัตริย์หรือทหาร
ที่จริงทุกสังคมมีแนวโน้มมองประวัติศาสตร์แบบมหาบุรุษ เพียงแต่ประวัติศาสตร์แบบนี้มันครอบงำสังคมไทยหนักมากจนไม่เปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์กระแสอื่น เช่น ประวัติศาสตร์สังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, เพศสภาพ หรือคนเล็กคนน้อยเลย และพอประวัติศาสตร์พวกนี้ไม่ถูกสอน (ประวัติศาสตร์กระแสอื่น – ผู้เขียน) ไม่ถูกอธิบายว่ามีความสำคัญ ทำให้เพดานความคิดทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทยมองไม่เห็นประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ว่าในรูปแบบวัตถุ สิ่งของ อาคารว่ามีคุณค่า และนั่นแหละคือแรงผลักเบื้องหลังนอกจากมิติทางธุรกิจของทำเลตรงนั้น
ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์แบบมหาบุรุษในสังคมไทยให้หน่อยได้ไหม
ลองเปิดหนังสือประวัติศาสตร์สมัยมัธยมหรือประถมจะเห็นได้ง่ายมากเลย เราอธิบายประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา สุโขทัย หรือรัตนโกสินทร์ผ่านการกระทำของพระมหากษัตริย์องค์นู้นองค์นี้ พระเจ้าอู่ทองสถาปนาอยุธยา สุโขทัยได้เอกราชจากเพราะอัจฉริยภาพของพ่อขุนรามฯ หรืออยุธยาไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (เมียนมาร์ – ผู้เขียน) ก็เพราะพระนเรศวร ทุกอย่างมันถูกอธิบายผ่านการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตลอด
แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ที่แท้จริง มันไม่มีบุคคลไหนเป็นตัวผลักดันประวัติศาสตร์ได้มากขนาดนั้นหรอก มันมีเงื่อนไขสลับซับซ้อนทั้งเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม ผู้คน ทุกอย่างต่างเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยในการขับเคลื่อนให้สังคมเป็นอย่างทุกวันนี้ ถามว่าพระนเรศวรคนเดียวทำได้หรือเปล่า มันต้องมีไพร่ราบ ทหารเลว ขุนนาง พ่อค้า ที่ช่วยกันทำให้สำเร็จ
ในโลกสมัยใหม่ นับวันทฤษฎีมหาบุรุษนับวันยิ่งไม่มีสมเหตุสมผลมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยยังยึดติดกับประวัติศาสตร์แบบนี้อยู่
นอกจากสกาลาเรามีประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกทำลายทิ้งแบบนี้อีกไหม
เยอะแยะครับ ถ้าให้นึกเร็วๆ ก็ชุมชนเก่าอย่างชุมชนป้อมมหากาฬเป็นการรื้อทำลายชุมชนชาวพระนครแห่งสุดท้ายในกรุงรัตนโกสินทร์
กรณีที่สอง เมรุวัดไตรมิศที่ถูกรื้อไปกว่า 10 ปีแล้ว เมรุแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2483 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ให้เป็นเมรุสำหรับเผาศพสามัญชนเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้สามัญชนแบบเราๆ ท่านๆ จะถูกเผาเชิงตะกอนคือ เอาไม้ฟืนมาขัดกับตารางสี่เหลี่ยม วางศพไว้ข้างบนแล้วจุดเผาไฟกลางแจ้งเลย คือทั้งเหม็น ทั้งอุจาดตา ทั้งไม่ถูกสุขอนามัย แต่ก็ถูกรื้อไปแล้วและแทบไม่มีใครรู้ว่านี่คือประวัติศาสตร์เมรุแห่งแรกของสามัญชน
กรณีที่สาม อาคารไม้ออฟฟิศของบอมเบย์เบอร์มา ในจังหวัดแพร่ ตรงนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในการค้าไม้ในภาคเหนือของไทยสมัยอาณานิคมของฝรั่ง และทั้งที่อายุมากกว่า 120 ปี แต่ก็ไม่มีใครสนใจและถูกปล่อยรื้อทิ้งหมด จนมาสร้างใหม่ทีหลังมันก็ขาดร่องรอยของความเดิมแท้ไปหมดเแล้ว
กรณีสุดท้ายที่นึกออก ตึกแถวในซอยวังหลีข้างวัดยานนาวาที่ถูกรื้อไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน บริเวณนั้นเป็นท่าเรือเก่าที่ชาวจีนโพ้นทะเลมาขึ้นเทียบท่า ข้างทางก็จะมีตึกแถวไว้เก็บสต็อกสินค้าและเป็นที่อยู่ของกุลีแรงงานที่มากับเรือ ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญให้กับเศรษฐกิจสยามในสมัยนั้น แต่ก็ถูกรื้อเปลี่ยนเป็นที่จอดรถไปแล้ว
เหตุผลหนึ่งที่เซ็นทรัล (บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา – ผู้เขียน) ให้เหตุผลในการทุบทิ้งคือ มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจแบบที่เขาต้องการได้ ความท้าทายอย่างหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้คือทุนนิยมด้วยหรือเปล่า
ใช่ครับ เพราะโลกสมัยใหม่กับอาคารเก่ามันไม่ใช่ปัญหาแค่ในไทย แต่มันเป็นปัญหาโลกแตกไปทั่วโลก
ถ้าฟังเหตุผลจากกลุ่มผู้ประมูลเขาบอกว่ามันเก็บโครงสร้างไว้ลำบากเพราะสร้างอาคารสูงยาก ผมคิดว่าเป็นคำตอบที่ถูก แต่ไม่จริงไม่เสมอไป ที่ผ่านมาเราคิดอยู่แค่ 2 ตัวเลือกคือ เก็บหรือรื้อทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าผมและคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่รณรงค์ให้รักษาสกาล่าไว้ก็ไม่เห็นด้วยทั้งสองแนวทางนั้น เพราะเข้าใจว่าอาคารมันไม่เวิร์คในแง่ธุรกิจอีกต่อไป
แต่ปัญหาคือคนที่เรียกร้องให้อนุรักษ์พยายามพูดถึงทางเลือกที่ 3, 4 และ 5 ที่ทำให้การพัฒนาสมัยใหม่สามารถอยู่กับโครงสร้างเก่าบางส่วนที่มีคุณค่าได้ เพียงแต่การจะเลือกทางเลือกนี้จำเป็นต้องเสียงบประมาณมากขึ้น มันเลยย้อนกลับมาถามว่าทำไมเจ้าของที่ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ผู้เขียน) และผู้ประมูล (บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา – ผู้เขียน) ไม่คิดจะลงทุนในการผสมผสานโครงสร้างใหม่เก่าให้อยู่ร่วมกันได้
เป็นเพราะพวกเขาให้คุณค่ากับสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าอย่างเม็ดเงิน
ใช่ครับ อย่างแรกคืออาคารหลังนี้ไม่มีคุณค่ามากพอตามเพดานประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเข้าใจ พอคิดแบบนี้เขาคงไม่คิดลงทุนเพื่อหลบหลีกโครงสร้างเดิมบางส่วน เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเสียเปล่าทางธุรกิจ
มันมีงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท สาขาสถาปัตยกรรมจุฬา เขาเขียนวิทยานิพนธ์เสนอวิธีการเก็บโครงสร้างเก่าเหล่านี้หลากหลายรูปแบบเลย แต่ผมไม่เห็นพวกเขาจะลงไปถกเถียงกับข้อเสนอเหล่านั้น และอธิบายให้เห็นว่ามันทำไม่ได้ เพราะอะไรยังไง
เรียกว่ามันเป็นความความพ่ายแพ้ของสกาลาต่อโลกทุนนิยมได้ไหม
แน่นอนว่านี่คือภาพสะท้อนของสังคมไทยที่พ่ายแพ้ต่อทุนนิยม แต่มันไม่ใช่แค่นั้น มันยังสะท้อนถึงความพ่ายแพ้ของประวัติศาสตร์สังคมต่อประวัติศาสตร์มหาบุรุษ และเป็นความพ่ายแพ้ของสุนทรียภาพสมัยใหม่ต่อสุนทรียภาพแบบก่อนศตวรรษที่ 20 ด้วย
อาจารย์ว่าด้านไหนน่าเศร้าน่าหดหู่ที่สุด
ตัวผมเองคิดว่าเป็นความพ่ายแพ้ของประวัติศาสตร์สังคมต่อประวัติศาสตร์มหาบุรุษ เพราะทุนนิยมมันโหดร้ายก็จริง แต่เรายังพอเข้าใจบริษัทที่ประมูลได้อยู่ว่าเขาต้องหาประโยชน์ที่สุด ไม่เห็นด้วยแต่พอเข้าใจได้ ส่วนความพ่ายแพ้ของสุนทรียภาพสมัยใหม่ต่อสุนทรียภาพแบบก่อนศตวรรษที่ 20 มันก็พอเข้าใจได้ว่าสุนทรียภาพแบบสมัยใหม่มันเข้าใจยากอยู่พอสมควร
แต่ความพ่ายแพ้ของประวัติศาสตร์สังคมต่อประวัติศาสตร์มหาบุรุษเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจจริงๆ ทำไมสังคมไทยถึงไม่ยอมมองเห็นความสำคัญของคนด้วยกันเอง ในฐานะที่ขับเคลื่อนประเทศชาตินี้ด้วยกัน
ย้อนกลับไปในอดีต มีช่วงไหนบ้างที่ประวัติศาสตร์ของสามัญชนเริ่มมีที่ทางขึ้นมาได้บ้าง
ในประวัติศาสตร์สังคมไทยยังไม่มีช่วงไหนที่ชัดเจน แต่ต้องยอมรับว่า 15 ปี หล้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นช่วงที่เปิดพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์สามัญชนมากที่สุดแล้ว เพราะลดทอนความสำคัญของบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่เชิงเป็นประวัติศาสตร์ของสามัญชนขนาดนั้น เพราะคณะราษฎรก็แค่เปลี่ยนจากการยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นทหารหรือมหาบุรุษในแบบอื่นๆ แทน
มากที่สุดแล้วหรอครับ หมายถึงว่ามากกว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนครับ ถ้าใกล้เคียงหน่อยอาจจะเป็นช่วงหลัง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 เป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์สามัญชนได้มีพื้นที่มากที่สุดอีกช่วงหนึ่งแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่แสนสั้น
นอกเรื่องนิดหนึ่ง และอย่างชาวบ้านบางระจันนี่ถือเป็นประวัติศาสตร์สามัญชนไหม
ใช่ แต่มันซับซ้อนหน่อย เพราะเริ่มต้นมันคือการยกย่องคนธรรมดาทั่วไป แต่พอไปเรื่อยๆ แทนที่ใช้ชาวบ้านบางระจันเป็นตัวขับเคลื่อนว่าคนธรรมดาก็เป็นฮีโร่ของชาติได้ มันก็ไปจบที่การให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลอย่างนายจันทร์หนวดเขี้ยว หรือนายทองเหม็นไปอีก
คงต้องถามนิดนึงว่าการที่สังคมเราเชิดชูประวัติศาสตร์แบบมหาบุรุษกับการที่สังคมเราไม่เป็นประชาธิปไตยเกี่ยวกันไหม
เกี่ยวแน่นอน ประชาธิปไตยโดยอุดมคติเชื่อมั่นว่าทุกคนฉลาด มีดุลยพินิจ และวิจารณญาณมากพอจะกำหนดอนาคตตัวเองได้ แต่ประวัตศาสตร์แบบมหาบุรุษให้ความสำคัญกับบุคคลเพียงกลุ่มเล็กๆ ว่า คนเหล่านี้มีสิทธิ์ชี้ขาดที่จะนำพาประเทศไปทางซ้ายขวาหน้าหลัง
ถ้าสังคมไหนมีลักษณะเปิดกว้างและมองประวัติศาสตร์ว่าเป็นผลจากแรงขับเคลื่อนหลายมิติทั้งผู้นำ คนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง ผู้หญิง พระสงฆ์ สังคมใดคิดแบบนี้ก็จะเอื้อให้เกิดแนวคิดแบบประชาธิปไตย
เมื่อปีที่แล้ว เคยมีความพยายามขอขึ้นทะเบียนสกาลาเป็นโบราณสถาน
เมื่อ 1-2 ปีก่อน สมาคมสถาปนิกสยามยื่นเรื่องไปกับกรมศิลปากร ขอขึ้นทะเบียนสกาลาให้เป็นโบราณสถาน แต่กรมศิลปากรส่งจดหมายตอบกลับมาว่าไม่เข้าข่าย ซึ่งผมอ่านจดหมายแล้วก็ตกใจมากเพราะการตีความหรือนิยามคุณค่าทางศิลปะของกรมศิลปากร มันยึดติดกับสุนทรียภาพแบบก่อนศตวรรษที่ 20 ทั้งนั้นเลย ที่ต้องเพริศแพร้วอลังการไปด้วยลายประดับตกแต่ง ปูนปั้น แกะสลักไม้วิจิตรพิสดาร
นอกจากเราจะมีเพดานประวัติศาสตร์สังคมที่ต่ำมาก เรายังมีเพดานความคิดทางสุนทรียศาสตร์ที่คับแคบด้วย
แต่เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 มันได้เกิดสุนทรียภาพแบบใหม่คือ สุนทรียภาพแบบเครื่องจักรกล หมายถึงเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมันงามได้ไม่แพ้งานแกะไม้โบราณ มันคือความงามที่เรียบเกลี้ยง ไม่หวือหวาแต่เล่นกับแสงเงาที่ตกกระทบพื้นผิว มันคือสุนทรียภาพแบบยุคสมัยใหม่
แต่เพดานการอนุรักษ์ของสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับมัน เห็นคุณค่าของตึกต่อเมื่อมันมีลายเพริศแพร้ว บัวหัวเสา ลายแกะสลัก ช่อฟ้าใบระกา ซึ่งตึกทรงโมเดิร์นแบบสกาลา ตัวอาคารมันเรียบเกลี้ยง เล่นกับคุณลักษณะของคอนกรีตสมัยใหม่ที่โค้งเว้าพริ้วไหว จึงเป็นที่มาว่าทำไมกรมศิลปากรถึงมองว่าสกาล่าไม่เข้าข่ายเป็นโบราณสถาน
แล้วคุณค่าความงามแบบกรมศิลป์มักจะดำรงอยู่ที่ไหน
วัด วัง ป้อม คลอง สิ่งเหล่านี้แหละจะได้รับความสำคัญมาก คุณลองดูชื่อของวัด วัง ป้อม คลอง ไม่เคยมีคนธรรมดาสามัญอยู่ในนั้นเลย
อาจารย์เคยเสนอวิธี Adaptive Reuse ขยายความหน่อยได้ไหม และนอกจากทางนี้มีทางอื่นอีกไหม
ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นแนวโน้มที่เหมาะสมที่กับสกาลาในกรณีที่ไม่รื้อ แต่ถ้าไม่รื้อข้อเสนอของหลายคนซึ่งผมก็เห็นด้วยคือ Adaptive Reuse ยอมให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่หรือโครงสร้างบางส่วนของอาคารเก่า เพื่อให้เอื้อต่อการใช้งานแบบใหม่ได้
ภายใต้ทิศทางนี้ สกาลาทำได้หลายแบบมาก ถ้าคิดว่าหนังทางเลือกยังเป็นทางรอดหนึ่งจะรักษาพื้นที่สำหรับดูภาพยนต์ไว้ก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าไม่ไหว จะปรับให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นช็อปปิ้งมอลล์ หรือคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดเล็กระดับ 2-3 ชั้นก็ได้ หรือจะเป็น Co-Working Space ก็ได้ เพราะตรงนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของสถานศึกษาทั้งจุฬาฯ โรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถมเยอะแยะเต็มไปหมด การสร้างพื้นที่แบบนี้ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่เจ๊ง
ผมคิดว่ามันมีทางเลือกมากที่จะทำได้โดยไม่ขาดทุน แต่แน่นอนว่าทางเลือกเหล่านี้จะไม่นำไปสู่กำไรสูงสุด ดังน้ัน การทุบสกาลาจึงทำให้หลายคนเลยโมโหมาก เพราะมันเป็นการตัดสินใจที่พุ่งเป้าสู่กำไรสูงสุด
คำถามสำคัญคือ พื้นที่ที่สถาบันศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นเจ้าของเนี่ย ควรไหมที่จะพุ่งไปสู่กำไรสูงสุด ซึ่งในมุมของผมมันไม่ควรแน่นอน
และถ้าจะให้ดีที่สุดควรเปิดให้ คณาจารย์และนักศึกษาจุฬาฯ มีส่วนร่วมให้ช่วยกันหาทางออกว่าควรจะเป็นฟังก์ชันอะไรได้อีกมากที่ทั้งสร้างสรรค์ และทำเงินได้ โดยยังรักษาคุณค่าสถาปัตยกรรมไว้ได้
ที่ผ่านมาเรามีตัวอย่างของการใช้ Adaptive Reuse บ้างไหม
เยอะแยะมากมายนะ อย่างในฝรั่งเศสที่เขาปรับสถานีรถไฟกลายเป็นแกลลอรี่ขนาดใหญ่ เพราะสถานีมันไม่ฟังก์ชันแล้ว หรืออย่างประเทศไทยเราก็มีล้ง 1901 ที่เคยเป็นบ้านพักของกุลีสมัยรัชกาลที่ 5-6 และถูกทิ้งร้างอยู่นานจนมาปรับเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ และอาร์ตแกลลอรี่เล็กๆ จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องใหม่และทำกันเยอะมาก เลยทำให้งงว่าทำไมสกาลาไม่เลือกแนวนั้น
เราควรทำอย่างไรบ้างที่จะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ที่ประวัติศาสตร์ของสามัญชนถูกแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่
เป็นคำถามที่ตอบยากมากก ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงวิชาการ เราทำได้เพียงอย่างเดียวคือให้ความรู้และทัศนะสมัยใหม่ที่สากลโลกให้การยอมรับมากขึ้น และชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์มันไม่ได้มีด้านเดียว และการเทน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้สังคมบิดเบี้ยว
Illustrator By Kodchakorn Thammachart
Photograph from Chatri Prakitnonthakan