ศิลปะคืออะไร?
ฟังดูเป็นคำถามเชิงปรัชญา ประมาณว่านี่ว่างหรือถึงได้คิดอะไรฟุ้งซ่านแบบนี้ แปลว่าศิลปะสำหรับเรามันเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ได้พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่นานๆ ทีเราจะไปเจอ ประมาณว่าเดินหลงจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติเข้าไปในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (แค่ชื่อยังยากเลย ที่อยู่ตรงมาบุญครองแถวๆ ทางเชื่อมรถไฟฟ้านั่นแหละ)
พอพูดคำว่าหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ห้องจัดแสดงภาพ ได้ยินแล้วก็ต้องทำตัวลีบๆ ฟังดูเป็นพื้นที่อะไรซักอย่างที่ยิ่งใหญ่
ด้วยความยิ่งใหญ่ของ ‘ความเป็นศิลปะ’ ใน ‘พื้นที่’ ของศิลปะ มันเลยทำให้อะไรก็เกิดขึ้นได้จนทำให้เรางงว่า ‘อย่างนี้ก็ได้หรอ’ แล้วสิ่งที่เราเห็นอยู่นี้มันใช่ศิลปะมั้ย
ลองนึกภาพตัวเราเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์โล่งๆ แล้วเจอ ‘แว่นตา’ หนึ่งอันวางอยู่บนพื้น…จะงงมั้ย เราจะทำยังไงกับมันดี จะเข้าไป ‘เสพ’ มันในฐานะงานศิลปะชิ้นหนึ่งดีรึเปล่า สรุปว่าผู้คนในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งซานฟรานซิสโกพากันเข้าชื่นชมแว่นตาที่วางอยู่เฉยๆ แบบงงๆ พินิจพิเคราะห์ถึงสารที่ศิลปินกำลังสื่อสาร … ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นการเล่นตลกของหนุ่มน้อยวัย 17 (เรียกอย่างไทยๆ ว่าเกรียนก็คงไม่ผิดนะ) ที่นึกสนุกเอาแว่นตาอันหนึ่งวางไว้แล้วผลก็คือ
สรุปว่า แว่นตาอันเดียวที่น้อง TJ Khayatan วางไว้ ได้กลายสภาพตัวเองเป็นงานศิลปะไปเฉยๆ มีคนมายืนมุงดู บางคนถึงขนาดเอากล้องใหญ่มาถ่ายไอ้แว่นตาเจ้าปัญหาอันนี้ แน่นอนว่าน้องต้นคิดได้แอบติดตามผลงานมาลงทวิตเตอร์เรียบร้อย (คงจะถ่ายไปหัวเราะไปสินะ)
จากความกวนเท้าของเด็กน้อย นอกจากความน่าตบกะโหลกจากการแกล้งชาวบ้านแล้ว เลยกลับมาที่คำถามเชิงปรัชญาที่ใหญ่โตที่พูดถึงไปในตอนแรก
แล้วแบบนี้ศิลปะมันคืออะไรอะ มันคืออะไรก็ได้ที่ถูกจัดแสดงอยู่ใน ‘พื้นที่เชิงศิลปะ’ รึเปล่า หรือความประสาทจากการแกล้ง (prank) ของนายทีเจจะนับว่าเป็นศิลปะกับเขามั้ยนะ (คือมันก็มีคนเสพ พินิจพิเคราะห์ไอ้แว่นตาคู่เดียวอันนี้ด้วยอะนะ อาจจะมีใครค้นพบสัจธรรมจากความกวนตีนของน้องเขาก็ได้)
ไอ้การตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นศิลปะ’ หรืออะไรก็ตามที่ควรจะถูกเรียกว่าศิลปะ คือมีค่าควรชื่นชม (และเอามาจัดแสดง) จริงๆ แล้วในโลกของศิลปินก็มีการล้อเล่นพร้อมๆ กับตั้งคำถามยากปนกวนอยู่เสมอเหมือนกัน
ตัวพ่อของวงการศิลปะสมัยใหม่ที่โลกจารึก (จริงๆ นะ) ก็คือผลงานชื่อ น้ำพุ (Fountain) ของ มาเชล ดูชอมป์ (Marcel Duchamp) ไอ้น้ำพุที่ว่านี้คือคุณพี่เขาเอาโถฉี่ผู้ชายมาตั้งขึ้น แล้วก็เซ็นคำว่า “R.Mutt” ลงไป ประมาณว่านี่แหละคือผลงานศิลปะของคุณพี่เขาล่ะ ซึ่งไอ้น้ำพุเนี่ยถูกปฏิเสธไม่ให้จัดแสดงในนิทรรศการของศิลปินอิสระ (exhibition of the Society of Independent Artists) ที่จัดขึ้นที่หอจัดแสดงแกรนด์เซ็นทรัลพาเลซในนิวยอร์คในปี 1971 (เป็นอาคารใหญ่โตสำหรับจัดนิทรรศการ สเกลประมาณอิมแพคบ้านเราได้)
จริงๆ แล้วงานของคุณพี่เขาก็เป็นไปตามกฏ (แค่จ่ายตังค่าสมัครก็จัดแสดงได้แล้ว) แต่นั่นแหละ คณะกรรมการไม่ยอมให้เอาโถฉี่นี้ไปอยู่ร่วมกับงานศิลปะอื่นๆ ผลคือไอ้โถฉี่อันนี้เลยถูกเอาไปจัดแสดงและถ่ายภาพที่สตูดิโอแห่งหนึ่ง ภายหลังภาพถ่ายน้ำพุของดูชอมป์ก็ถูกเอาไปจัดแสดงอีก
นักทฤษฎีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคหลังถือว่างานโถฉี่ของดูชอมป์เป็นหมุดหมายสำคัญของศิลปะในศตวรรษที่ 20 (เรียกหลวมๆ ว่าศิลปะสมัยใหม่)
ทำไมแค่โถฉี่ฟังดูเป็นประเด็นสำคัญ ลองนึกถึงคำว่างานศิลปะในยุคก่อนๆ (เรียกหลวมๆ ว่าศิลปะคลาสสิก) งานศิลปะจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ สูงส่ง มีความวิจิตรบรรจง ทีนี้พอมาถึงยุคสมัยใหม่ ประเด็นสำคัญคือการเล่นกับเส้นแบ่งทั้งหลายโดยเฉพาะความสูงส่งกับความสามัญ เจ้าโถฉี่ที่ถูกเอามาพลิกด้านแล้วเซ็นชื่อ ดูๆ ไปมันก็ดูเป็นชิ้นงาน (art piece) อยู่เหมือนกัน แต่ไอ้ความเป็นโถส้วม แถมงานก็ดูไม่เห็นสื่ออะไร แต่มันกลับโยนคำถามว่า ตกลงแล้วศิลปะคืออะไร อย่างนี้ใช่มั้ย ทำไมถึงไม่ใช่ อะไรคือสิ่งที่ใช้วัดหรือประเมินค่า
หลังจากนั้นก็เลยเกิดกระแสใหม่ๆ เกิดงานศิลปะสมัยใหม่แบบใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย เช่น ศิลปะแนว
ป็อบของแอนดี้ วอลฮอลล์ (Andy Warhol) เป็นสไตล์ที่เราคุ้นตาเช้นภาพกระป๋องแคมเบล (Campbell’s Soup Cans) หรือภาพป็อบไอคอนอย่าง มาริรีน มอนโร (Marilyn Diptych) ไอ้การตั้งคำถามหรือความกวนตีนมันจุดให้เกิดอะไรใหม่ๆ เหมือนกัน เช่น กลายไปเป็นอิทธิพลในศิลปะแขนงใหม่ เช่น โฆษณา หรืองานเชิงสถาปัตยกรรมที่ผสานฟังก์ชั่นเข้ากับความสวยงามในนิยามใหม่ๆ
ไม่เช่นนั้น คำว่าศิลปะก็จะหยุดนิ่งตายตัว ถูกโยงเข้ากับอะไรที่สูงส่งอย่างเดียว ไม่ได้พัฒนาแตกแขนงออกไปอย่างทุกวันนี้
กลับไปที่นายทีเจวัย 17 ถึงเจตนาจะดูเน้นแกล้งชาวบ้าน แต่พออ่านบทสัมภาษณ์ที่น้องคุยกับ Buzzfeed แหม่น้องได้พูดอะไรที่… โอ้โหนี่มันเป็นปรัชญา มันเป็นศิลปะ คมกว่านี้ก็มีดแล้ว คือน้องบอกว่า
“ผมก็เห็นด้วยว่าศิลปะสมัยใหม่บางทีมันก็ตลกนะ แต่ศิลปะมันคือทางนึงที่ใช้แสดงความคิดสร้างสรรค์ของเรา บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นแค่มุก แต่บางคนอาจจะเจอความหมายทางจิตวิญญาณอะไรในนั้น แต่สุดท้าย สิ่งที่ผมเห็นก็คือ ความสวยงามของคนที่มีใจที่เปิดกว้างและก็ยังมีจินตนาการอยู่”
“I can agree that modern art can be a joke sometimes, but art is a way to express our own creativity,” he said. “Some may interpret it as a joke, some might find great spiritual meaning in it. At the end of the day, I see it as a pleasure for open-minded people and imaginative minds.”