‘วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย’ – หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งบอกเราไว้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง
บางครั้งเมื่อเราคิดถึงใครสักคน มันทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า ‘missing’ ได้อย่างลึกซึ้ง หลายๆ ครั้งที่เราคิดถึงใครมากๆ เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราได้ทำ ‘บางส่วน’ ของเราหายไป เชื่อว่าเราคงเคยสัมผัสกับความรู้สึกแบบนี้กันมาบ้าง ความคิดถึงชนิดรุนแรงที่ส่งผลและแสดงอาการในระดับร่างกาย เรารู้สึกโหวงๆ เหมือนหัวใจเกิดรูโหว่รอยรั่ว เหมือนในช่องอกมีอวัยวะบางชิ้นหายไป
‘ความคิดถึง’ – การนึกถึงห้วงเวลาเก่าๆ นึกถึงผู้คนที่เคยมีอดีต มีความชิดใกล้ มีห้วงเวลาดีๆ ด้วยกัน สิ่งที่ทำให้เจ็บปวดจาก – ก็ดูจะสอดคล้องกับคำพูดที่ว่า ในที่สุดแล้วความทรงจำนี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้เราแหลกสลาย แต่ว่าชีวิตเรามักจะยากแบบนี้เสมอ คือความทรงจำเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต เป็นสิ่งที่ก่อร่างตัวตนของเรา เป็นสิ่งดีๆ ที่ทำให้เราคิดถึง
แล้วเมื่อไหร่ ที่ความคิดถึงจะกลายเป็นความคิดถึงที่ดี เมื่อไหร่…ที่ความทรงจำจะเลิกทำร้ายเราเสียที เมื่อไหร่ที่เราคิดถึงใครหรืออะไรแล้วสิ่งที่ตามคือรอยยิ้ม หาใช่น้ำตา
เวลา – ความไม่เหมือนเดิมไม่นานก็เหมือนเดิม
‘เวลา’ และ ‘ทัศนคติ’ ดูจะเป็นสองสิ่งสำคัญที่ใช้รักษาบาดแผลใดๆ ในชีวิต ความรวดร้าวจากความทรงจำและความคิดถึงเองก็เหมือนกัน
วันแรกๆ ที่เราสูญเสียหรือร้างราจากใครสักคน ความเจ็บปวดเฉียบพลันคือ ‘ความไม่เหมือนเดิม’ อดีตอันใกล้ที่เราเคยคิดว่าวันนี้จะยังเหมือนเมื่อวานกลับกลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ใครอีกคน กิจวัตรและกิจกรรมที่คุ้นเคยกลับสูญหายกลายเป็นความกว้างเปล่า เราไขว่คว้าและปรารถนาให้ ‘ความไม่เหมือนเดิม’ ในวันนี้ กลับมาเป็นเหมือนเดิมอย่างที่เคย
จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ความคิดถึงในระยะแรกมีความรวดร้าวและรุนแรงมากกว่า ก่อนที่ความทรงจำสดใหม่นั้นจะค่อยๆ เจือจางและเลือนรางลงไป ความไม่เคยชินค่อยๆ กลายเป็นความเคยชินในระดับปกติ บางส่วนของหัวใจที่เคยหายไปค่อยๆ มีเนื้อเยื่อของความทรงจำและเรื่องราวใหม่ๆ มาเติมเต็ม วันหนึ่งเมื่อเราเข้าใจได้ว่าความทรงจำเป็นเพียงสิ่งที่ไว้หวนระลึกแค่ไกลๆ ไม่ใช่ไขว่คว้า วันนั้นความทรงจำจะเริ่มมีรสหวานเจือไปกับความขมของการสูญเสีย
สังคมวิทยาของความโหยหา 2 รูปแบบ
เวลาและการเยียวยาของบาดแผลดูเป็นอะไรที่สัมพัทธ์ เราไม่อาจรู้ได้ว่ากี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี ที่ความทรงจำจะไม่สามารถทำอะไรเราได้อีกต่อไป สิ่งที่สำคัญคือทัศนคติที่เรามีต่ออดีตนั้นๆ นักวิชาการทางวัฒนธรรมสนใจอาการหวนหาอดีตที่หลายครั้งความรู้สึกโหยหานี้เป็นสิ่งที่ส่งผลกับบุคคลในระดับความเป็นความตาย ความเศร้าหมองของการยึดติดกับอดีตส่งผลกับชีวิตและจิตใจในปัจจุบัน
Svetlana Boym แบ่งอาการโหยหาอดีต (nostalgia) ไว้สองรูปแบบคือ การโหยหาอดีตแบบย้อนคืน (restoration) กับแบบคิดคำนึง (reflective) ซึ่งการคิดถึงสองรูปแบบนี้เป็นคำอธิบายทัศนคติที่แตกต่างกันของความรู้สึกและการรับมืออดีตที่แตกต่างกัน แบบแรกเป็นแบบที่อดีตยังคงทำร้ายเราอยู่ และแบบหลังอดีตเป็นเพียงแค่การคิดคำนึงถึงด้วยความเข้าใจ
ความคิดถึงแบบย้อนคืน เป็นรูปแบบการการคิดถึงอดีตแบบที่เรายัง ‘ยึดติดอยู่กับอดีต’ เรายังมีภาพของอดีตบางอย่าง ของพื้นที่ ของถิ่นฐานบ้านเก่าอยู่ในหัว แล้วเรายังคงต้องการที่จะกลับไปสู่ภาพอดีตแบบที่เราจดจำมันไว้ (ใช้คำว่า restore คือพยายามดึงอดีตกลับมา) Boym บอกว่าอาการแบบนี้เหมือนกับอาการคิดถึงบ้าน แต่บ้านในที่นี้คืออดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว
ดังนั้นการที่เรามีอดีตแบบที่เป็นปลายทางของชีวิต เป็นสิ่งที่เราอยากให้ย้อนกลับมามีชีวิตใหม่ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ อดีตเป็นเหมือนบ้านที่เราอยากกลับไปแต่ไม่มีอยู่จริง Boym พูดถึงบางกรณี เช่นกรณีของทหารที่ออกจากบ้านไปนานๆ และมีอาการทรมานกับอาการคิดถึงบ้าน แต่พอทหารคนนั้นกลับถึงบ้านอาการกลับยิ่งแย่ลงจนเสียชีวิต ผลก็เพราะว่าความเจ็บป่วยของจิตใจไม่ใช่การคิดถึงบ้านในฐานะสถานที่ แต่กำลังคิดถึง ‘บ้าน’ ในฐานะอดีตที่ตัวเองโหยหา เมื่อกลับถึงบ้านในปัจจุบันที่ไม่มีอะไรเหมือนอดีตอีกต่อไป อาการจึงยิ่งทรุดหนักลง
ในทางกลับกันการโหยหาอดีตแบบคิดคำนึง (reflective nostalgia) เป็นความรู้สึกนึกถึงอดีตที่เข้าใจว่า ‘อดีตเป็นเพียงอดีต’ อดีตของเราเป็นเพียง ‘ห้วงเวลาพิเศษ’ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาและบริบทหนึ่งๆ ที่ผ่านพ้นไปแล้ว และในทุกวันนี้เราไม่อาจเหนี่ยวรั้งและสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง สิ่งที่เราทำได้คือรำลึกถึงความพิเศษและความสวยงามที่ได้เกิดขึ้นและจบลงไปแล้ว เก็บไว้เป็นความทรงจำที่ไม่ว่าจะเจ็บปวดหรือสุขสมให้เราได้หวนนึกถึง
เมื่อเราเข้าใจว่าอดีตเป็นแค่อดีต เป็นสิ่งเฉพาะที่จบลงไปแล้ว จุดนี้เองความทรงจำจึงมีแนวโน้มที่จะสวยงามมากขึ้น เมื่อเพลงเก่าๆ ของเราดังขึ้น เราจึงยิ้มให้กับห้วงเวลาดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น แทนที่จะร้องไห้และไขว่คว้าหาผู้คนที่ออกจากชีวิตเราไปแล้วเพราะอยากนำห้วงเวลาเหล่านั้นกลับขึ้นมามีชีวิตใหม่อย่างสิ้นหวัง
อดีตจะเริ่มสวยงามเมื่อเราเข้าใจว่ามันจบลงไปแล้ว
วันนั้นเอง ที่ความทรงจำจะไม่ทำให้เราแหลกสลาย หรืออย่างน้อยก็แหลกสลายน้อยลง
อ้างอิงข้อมูลจาก