เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่าความเหงาไม่เกี่ยวอะไรกับจำนวนคนที่อยู่รอบกาย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้จักและผูกพันกับคนเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน…
เมื่อมองย้อนกลับมายังตึกสูงในเมืองใหญ่ ไม่แปลกใจหากจะมีใครบอกว่ารู้สึกเหงา เพราะจะมีสักกี่คนที่รู้จัก ‘เพื่อนบ้าน’ ของพวกเขา ไม่ว่าจะบ้านข้างๆ ห้องข้างๆ หรือคนที่เดินสวนทางกันในละแวกบ้าน
เมื่อ ‘มิช–ฮามิช มัสอิ๊ด’ เริ่มมองเห็นปัญหานี้ บวกกับความชอบด้านการเขียน การเดินเล่น และความสนใจด้านประวัติศาสตร์ของย่านอารีย์ที่เขาอาศัยอยู่มาราวๆ เจ็ดปี มิชจึงชวน ‘โจ้–ประเสริฐศักดิ์ แก้วสง่า’ มาช่วยกันสานต่อไอเดียนี้ จนกลายเป็น ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ แม็กกาซีนออนไลน์ที่เล่าเรื่องราวของผู้คนย่านอารีย์
หนึ่งปีที่ผ่านมา ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ เต็มไปด้วยบทสนทนากับชาวอารีย์นับร้อยจากหลากหลายสาขาอาชีพ แถมยังมีอีเวนต์สนุกๆ ที่เชื่อมโยงกับผู้คนทั้งในและนอกย่าน ซึ่งล่าสุดคืออีเวนต์ Your Neighbor Clotheswap ที่ชวนคนมาแลกเสื้อผ้าและแลกเปลี่ยนบทสนทนากันในงาน
เมื่อพูดถึงย่านอารีย์ แวบแรกที่เรานึกถึงคือภาพของคนรุ่นใหม่ และเหล่าคาเฟ่ฮ็อปปิ้งที่แวะเวียนมาอย่างคึกคัก แต่ในมุมของ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ เรื่องราวของย่านนี้จะเป็นแบบไหน? ความสงสัยทำให้เรานัดหมายทั้งคู่มาพูดคุยกันท่ามกลางบรรยากาศแสนน่ารักของร้านกาแฟเล็กๆ ในย่านนี้
ว่าด้วยเรื่องความป็อปของย่านอารีย์
ช่วงหลังๆ เราจะเห็นย่านอารีย์เต็มไปด้วยคาเฟ่สวยๆ หรือร้านเก๋ๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรที่ทำให้ย่านนี้เริ่มป็อปปูลาร์ขึ้นมาโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งโจ้ให้คำตอบกับเราว่า
“ภาพที่เราเห็นเป็นคำตอบให้ได้ชัดมาก เพราะทุกวันโดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เราจะเจอเด็กวัยรุ่นมาเยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะคาเฟ่เกิดขึ้นเยอะ แล้วก็จริงอยู่ที่กลุ่มคนวัยรุ่นมาเพราะ instagrammable บ้าง ร้านก็สวย แต่ละร้านก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์ เราว่ามันก็ยังเป็นกระแสที่ดี เพราะอารีย์เป็นที่รู้จักในเรื่องหนึ่งหรืออาจจะมากกว่านั้น ถ้ามองจากฝั่งของเพื่อนบ้านอารีย์ เรารู้สึกว่า อารีย์มีรายละเอียด อย่างถ้าถามเจ้าของร้านเพิ่ม เราจะรู้ที่มาของกาแฟ หรือของทุกอย่างจะมีความใส่ใจที่ไม่ใช่การตามกระแสแค่เพราะหันไปซ้าย-ขวาก็เป็นคาเฟ่”
ส่วนมิชมองว่าคาเฟ่ที่อารีย์มีทั้งร้านที่เปิดมาอย่างยาวนาน รวมทั้งร้านที่หายไปตามกาลเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโมเดลธุรกิจที่ตั้งใจจะเปิดเพียงชั่วคราว และร้านที่จำเป็นต้องโบกมือลาเพราะค่าเช่าแพงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ความป็อปของอารีย์อาจเกิดจากคาแรคเตอร์ในพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความสนใจของคนรุ่นใหม่ๆ
“จริงๆ เรื่องของวัฒนธรรมวัยรุ่นด้วย รู้สึกว่าช่วงนี้เด็กมหา’ลัย เด็กอาร์ตๆ เขาจะชอบบ้านแนว midcentury modern บ้านเก่าๆ สไตล์ไทยผสมยุโรปเท่ๆ เมื่อก่อนเขาจะไปดูที่สุขุมวิท แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ขณะที่อารีย์ยังมีอยู่ แล้วบ้านเหล่านั้นมันมักจะถูกเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหาร หรือคาเฟ่ต่างๆ มันก็เลยทำให้คนสามารถมาเสพสิ่งเหล่านั้นได้”
แหล่งรวมพลของคนที่อยากจะ ‘ปล่อยของ’
นอกจากภาพย่านในเชิงพื้นที่แล้ว อาจเพราะอารีย์เป็นเหมือนพื้นที่สานฝันของคนที่หลงใหลอะไรอย่างจริงจัง เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คาแรคเตอร์ของอารีย์มีความเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากจะลองผิดลองถูกในสิ่งที่สนใจ
“เรารู้สึกว่าอารีย์เป็นพื้นที่ที่คนสามารถมาทำตัวแบบแหวกๆ แนวได้ มาแบบอาร์ตๆ ได้ เหมือนเป็นพื้นที่ปล่อยของ ใครมีโปรเจกต์อะไรแล้วมาขอทำที่นี่ หรือรู้จักร้านที่นี่ จะค่อนข้างได้รับการตอบรับมากกว่า”
สำหรับมิช เขามองว่าย่านอารีย์คล้ายคลึงกับคาแรคเตอร์ของนักร้องสาวที่ชื่อว่า ‘ญารินดา บุนนาค’
“เขาเป็นนักร้อง ทุกวันนี้เป็นสถาปนิก เขาดูเป็นผู้หญิงที่ฉลาด พูดเพราะ ดูมีชาติตระกูล ไม่อายที่จะทำอะไรติสต์ๆ อินดี้ๆ คือดูซับซ้อน แต่เราไม่รู้จักเขานะ เราเห็นจากโทรทัศน์แล้วมองเขาเป็นคนอย่างนั้น (หัวเราะ) เพราะคาแรคเตอร์ของอารีย์คือ ถ้าใครสนใจอะไรมากๆ โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งที่เป็นคุณภาพ หรือเจาะลึกด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะมาที่นี่กัน เหมือนเป็นที่ของความชอบอะไรอย่างจริงจัง”
ความใส่ใจและหลงใหลของร้านรวงในอารีย์ มีตั้งแต่ร้านหญิงศิตา ร้านอาหารไทยสุดประณีตที่รับลูกค้าคืนละโต๊ะและเตรียมวัตถุดิบตั้งแต่เช้าตรู่ (แม้ร้านนี้จะปิดไปแล้ว แต่ร้าน Flat Marble ที่มีเจ้าของเดียวกันยังคงเปิดอยู่) ร้านก๋วยเตี๋ยวของพี่จุ๋มซอย 1 ที่แม้จะต้องลดวัตถุดิบบางอย่างในช่วงหมูแพง แต่ก็ยังเพิ่มบางอย่างให้ลูกค้าที่พี่จุ๋มจำได้ว่าคนคนนั้นชอบกินอะไรเป็นพิเศษ แอพพลิเคชันอย่าง ‘Ari Around’ แพลตฟอร์มที่ตั้งใจมาเป็นคนกลางช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนในย่านอารีย์ หรือแม้แต่ผู้คนอย่าง ‘บาส’ ที่มาเดินเล่นเพื่อศึกษาระบบนิเวศน์ในอารีย์ ตั้งแต่ต้นไม้ นก ไลเคน วัชพืชต่างๆ ไปจนถึงคุณภาพอากาศ
“พอมันมีเครือข่ายที่รองรับความสนใจของคน ก็จะมีคนมาทำสิ่งเหล่านี้ เพราะเรารู้ว่าเราอยากทำอะไร อยากไปคุยกับใคร ตอนที่เราเริ่ม ก่อนหน้านั้นน่าจะยังไม่มีเครือข่ายอะไรด้วยซ้ำ แต่มันบังเอิญไปเริ่มพร้อมกันกับ Ari Around เลยกลายเป็นพลังที่สามารถรองรับคนอื่นได้ด้วย”
การออกแบบเมือง = ออกแบบวิถีชีวิต
ขณะที่เรากำลังมองภาพอารีย์เป็นเหมือนคนที่พร้อมมาทำอะไรใหม่ๆ โจ้กลับมองว่าอารีย์เหมือนกับแม่พลอยในสี่แผ่นดิน (แต่เป็นเวอร์ชันที่แต่งตัวชิกๆ เข้ากับยุคสมัย) เพราะจริงๆ แล้วอารีย์เป็นพื้นที่รุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์ ซึ่งมิชผู้ศึกษาเรื่องราวของอารีย์อย่างจริงจังก็มองแบบเดียวกัน
“ก่อนหน้านี้ไม่มีใครออกมาไกลขนาดนี้ การที่เขามาสร้างสนามเป้าแถวนี้ ถ้าเขามาสร้างสนามยิงปืนก็แสดงว่ามันค่อนข้างไกลพอสมควร แล้วข้างๆ สนามเป้าก็เป็นค่ายทหาร เลยมีบ้านทหารมาอยู่ตรงนี้เยอะ แล้วยุคหนึ่ง เขาสร้างสนามบินดอนเมือง พอลงจากเครื่องปุ๊บ รถก็จะวิ่งมาถนนพหลโยธิน ตรงนี้คือจุดที่มีความเป็นเมืองจุดแรกๆ ที่เขาจะได้เจอ มันเลยทำให้มีการเติบโตของย่านประดิพัทธ์ ถ้าไปดูก็จะเห็นว่าประดิพัทธ์มีตึกเก่าเยอะ มีร้านแลกเงิน มีโรงแรมเยอะ ประดิพัทธ์เลยค่อนข้างเป็นเมือง ส่วนอารีย์จะเป็นบ้านคนเงียบๆ ต่อมาความเจริญมันมาตามแนวรถไฟฟ้า สถานีอารีย์เป็นสถานีแรกๆ ที่เขาสร้าง วัฒนธรรมของชนชั้นกลางก็มาพร้อมกับรถไฟฟ้า”
มิชเล่าถึงภาพอารีย์ในอดีต แต่หากขยับไทม์ไลน์เข้ามาใกล้อีกนิด ช่วงราวๆ 6-7 ปีที่มิชเข้ามาอยู่ในอารีย์ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนอาจไม่ใช่หน้าตาของพื้นที่ แต่เป็น ‘ราคา’ ของสินค้าและค่าเช่าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ
“พออนุสาวรีย์กลายเป็นพื้นที่สำหรับการขนส่งจากเขตรอบเมือง เลยทำให้จุดที่อยู่ใกล้ๆ มีความเจริญตามขึ้นไปด้วย จะเห็นว่าเส้นหพลโยธินมันมีอาคารใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ ถัดมาคือเส้นอารีย์หรืออะไรที่ขนาบข้างกัน มันจะมีคอนโดสูงๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของออฟฟิศเหล่านี้”
การเติบโตของที่อยู่อาศัยบนตึกสูงๆ มาพร้อมกับค่าเช่าที่สูงตามไปด้วย เมื่อผู้คนมีกำลังซื้อ ราคาสินค้าและค่าครองชีพต่างๆ จึงค่อยๆ แพงขึ้น ผู้คนที่รายได้น้อยจึงถูกผลักออกจากพื้นที่นั้นไปทีละนิด
“ตอนนี้เราคุยกันบ่อยว่าอารีย์แพงไปแล้วหรือยัง เพราะยุคหนึ่งที่คนออกจากงานมาแล้วรู้สึกว่า ฉันสนใจใน specialty coffee คนที่ชอบอะไรแบบนี้ เขาก็จะย้ายมาอยู่ที่อารีย์เพราะว่าตอนนั้นมันยังไม่แพงมาก แล้วก็มีความเงียบสงบ เหมาะให้คนมากินกาแฟพักผ่อนได้ ส่วนคนที่หลงใหลในด้านต่างๆ เช่น ดีไซน์เนอร์ ช่างภาพ สายอาร์ตก็จะมาอยู่ที่นี่กันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ราคาค่าเช่า ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ อนาคตไม่ค่อยกังวลเท่าไร เพราะตอนนี้ค่อนข้างโอเคอยู่แล้ว แต่เราอยากให้อนาคต ‘ไม่’ เป็นยังไงมากกว่า เราไม่อยากให้มันถูก gentrified <การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการย้ายเข้ามาอยู่ของคนมีฐานะ> คือแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้วกลายเป็นว่าคนรายได้ไม่มากต้องไปอยู่ที่อื่น หรือคนที่อยู่มาก่อนต้องย้ายออก โดยเฉพาะคนที่ทำงานในสายศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นสายอาชีพที่ไม่ได้ทำเงินสูงตั้งแต่แรก โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มต้น”
“ถ้าเป็นที่อื่น ยกตัวอย่างปารีส มีโกดังอะไรเก่าๆ เขตสำนักงานของที่นั่นก็จะซื้อเลย ให้ศิลปินที่ทำงานด้านนี้ไปทำงานศิลปะ เปิดแกลเลอรี่แถวนั้นได้ โดยมีค่าเช่าที่ถูกลง เพราะเขตสนับสนุน เพราะเขาเห็นคุณค่าของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ เขามองว่าพื้นที่ตรงนี้มันรุ่มรวยตั้งแต่ตอนแรกก็เพราะสิ่งนี้”
ดังนั้น นอกจากการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่แล้ว ในแง่การวางผังเมือง หรือปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญต่อภาพของอารีย์ทั้งปัจจุบันและอนาคต
“เราว่าการเป็นย่านที่เดินได้ก็สำคัญ พอเราเดินได้ มันก็จะมีการสร้างเครือข่ายมีกิจกรรมอะไรให้ทำ เพราะคนจะใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น” เช่นเดียวกับอารีย์ตอนนี้ที่เราพบว่าเป็นย่านเดินสนุก บรรยากาศร่มรื่น และหากสังเกตดีๆ ที่นี่มีทั้งร้านรวงน่ารักๆ สถาปัตยกรรมเก่าผสมใหม่อย่างที่ทั้งคู่เล่าไปข้างต้น
“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้คนที่มาอารีย์ นอกจากมาคาเฟ่หรือมาแค่ร้าน เราอยากให้ลองเดิน ลองมาหลงทางนิดหนึ่ง แล้วจะพบว่ามันมีเสน่ห์ ทำให้เจอร้านที่ซ่อนตัวอยู่เยอะมาก เพราะหลายร้านตรงนี้มันแพง อาจจะขยับไปอีกนิดหนึ่ง ซึ่งมีหลายที่ที่คนไม่รู้ว่ามีตรงนี้ด้วยเหรอ คนทำก็หลงใหลกับมันพอสมควรเลย ถ้ายังไม่กล้าพูดคุยกับคน จะลองเดินก่อนก็ได้” โจ้กล่าวทิ้งท้ายไว้กับเรา
เรื่องราวของเพื่อนบ้านอารีย์ นอกจากจะทำให้เรามองเห็นเสน่ห์ของย่านสุดป๊อปแห่งนี้แล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนว่า การที่เมืองมีพื้นที่ที่เอื้อให้คนได้เปิดบทสนทนา และมีโอกาสได้เชื่อมต่อกันนั้น ไม่ได้มีความสำคัญแค่เรื่องของความรู้สึก แต่ยังทำให้ผู้คนภายในย่าน ได้พูดถึง รับฟัง และเข้าใจความต้องการของกันและกันก่อนจะไปสู่การพัฒนาเมืองๆ หนึ่งให้ตอบโจทย์ ‘ทุกคน’ ได้อย่างแท้จริง
Photo by Channarong Aueudomchote