การแข่งขันวิ่งมาราธอนในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี ค.ศ.1904 อาจเป็นการแข่งขันที่แปลกประหลาดและบ้าบอที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ มีนักกีฬาเพียงครึ่งเดียวที่วิ่งจนจบการแข่งขัน ผู้เข้าเส้นชัยอันดับ 1 นั่งรถไปเกือบครึ่งระยะทางการแข่งขัน อันดับ 2 ใช้ยาพิษกับบรั่นดีและต้องหามเข้าเส้นชัย อันดับ 4 งีบหลับระหว่างการแข่งขันหลังจากทานแอปเปิ้ลเน่าไป ส่วนอันดับ 9 และ 12 ถูกสัตว์ป่าวิ่งไล่จนต้องวิ่งออกนอกเส้นทาง
การวิ่งมาราธอนอาจมีรากฐานมาแต่โบราณ การแข่งขันวิ่งระยะไกลอยู่หนึ่งในกีฬาโบราณของประเทศกรีซตั้งแต่ประมาณ 776 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง 393 ปีก่อนคริสตกาล แต่ที่มาของระยะทางการแข่งขันมาราธอนอย่างเป็นทางการในปัจจุบันนี้ที่ตั้งไว้ 26.2 ไมล์ หรือ 42.195 กิโลเมตร ไม่ได้มีมาตั้งแต่ยุคนั้น แรกเริ่มเดิมที โอลิมปิกได้กำหนดระยะทางไว้ที่ 40 กิโลเมตร และเริ่มวิ่งระยะนี้ครั้งแรกในการแข่งขันมาราธอนที่จัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของประเทศกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ.1896
ระยะทาง 40 กิโลเมตรนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานในช่วง 490 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อผู้ส่งสารชาวกรีกโบราณคนหนึ่งได้วิ่งจากกรุงมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์ที่ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรหรือเกือบ 25 ไมล์ เพื่อส่งข่าวชัยชนะครั้งสำคัญของกรีกจากการรุกรานของกองทัพชาวเปอร์เซีย หลังจากผู้ส่งสารที่เหนื่อยล้าคนนี้มาถึงกรุงเอเธนส์ เขาก็ได้ประกาศข่าวสำคัญนี้ก่อนที่จะทรุดตัวลงและเสียชีวิต
และเพื่อรำลึกถึงการวิ่งอันน่าทึ่งของเขา ระยะทางของการวิ่งมาราธอนโอลิมปิกในปี ค.ศ.1896 จึงตั้งไว้ที่ 40 กิโลเมตร ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนเป็น 26.2 ไมล์ หรือ 42.195 กิโลเมตรในโอลิมปิกปี ค.ศ.1908 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากพระราชินีอเล็กซานดราได้ขอให้ตั้งจุดเริ่มวิ่งที่ปราสาทวินด์เซอร์ เพื่อให้เชื้อพระวงศ์สามารถรับชมการวิ่งได้จากหน้าต่าง และขอให้สิ้นสุดตรงหน้าที่นั่งรับชมของเชื้อพระวงศ์ในสนามกีฬาโอลิมปิกด้วยเช่นกัน ซึ่งวัดระยะทางได้ที่ 26.2 ไมล์พอดี ตั้งแต่นั้นมาจึงใช้เลขนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
แต่ส่วนใหญ่เลขมาราธอนนี้นักวิ่งจะนึกถึงวีรกรรมของผู้ส่งสารเพื่อประเทศมากกว่าเพื่อตนเอง และชื่อของมาราธอนก็มีที่มาจากเมืองมาราธอนที่ผู้ส่งสารคนนั้นวิ่งนั่นเอง
แต่การแข่งขันโอลิมปิก 4 ปีก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเลขระยะทางนั้น อาจกลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำยิ่งกว่า มันคือมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 3 ประจำปี ค.ศ.1904 มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จัดขึ้นที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา การแข่งขันกีฬา 18 ประเภท กับระยะเวลาราว 3 เดือน และหนึ่งในนั้นคือการแข่งขันวิ่งมาราธอนระยะทาง 40 กิโลเมตรที่เต็มไปด้วยเรื่องบ้าๆ การแหกกฎเกณฑ์ สัตว์ป่า เส้นทางที่หฤโหด และความรู้และความเข้าใจในร่างกายแบบผิดๆ ที่ผสมผสานจนได้สร้างเรื่องราวที่ยังคงเล่าขานจนถึงปัจจุบันมาแม้จะผ่านไปร้อยกว่าปีแล้วก็ตาม
นักกีฬาที่ได้ลงแข่งมาราธอนในครั้งนี้ บางคนเป็นนักวิ่งมาราธอนอยู่แล้ว พวกเขาเคยลงแข่งวิ่งมาราธอนโอลิมปิกครั้งก่อน รวมถึงนักวิ่งชาวอเมริกันที่จบการแข่งขันบอสตันมาราธอน ไม่ว่าจะเป็น แซม เมลเลอร์ (Sam Mellor), อาร์เธอร์ นิวตัน (Arthur Newton), จอห์น ลอร์ดอน (John Lordan), ไมเคิล สปริง และ โทมัส ฮิกส์ (Thomas Hicks)
แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนน้อย เพราะผู้ลงแข่งในสนามส่วนใหญ่เป็นนักวิ่งที่แข่งขันวิ่งระยะกลาง ที่วิ่งตั้งแต่ 800 เมตร 1,500 เมตร ไปจนถึง 3,000 เมตร เท่านั้น ระยะทางยังห่างไกลก็คำว่ามาราธอนไปมากโข ไม่ว่าจะเป็นชาวกรีก 10 คนที่ไม่เคยวิ่งมาราธอนมาก่อน หรือกลุ่มคนที่ถูกมองว่า ‘แปลกประหลาด’ อย่าง เลน ทานเย (Len Taunyane) และ แจน มาสซียานี่ (Jan Mashiani) ชายชาวเผ่าสองคนที่พร้อมวิ่งด้วยเท้าเปล่าจากเผ่าซัวน่า ประเทศแอฟริกาใต้ที่ถูกเกณฑ์มาวิ่งในระหว่างร่วมงานในนิทรรศการเวิลด์แฟร์ของประเทศแอฟริกาใต้ที่มาจัดยังเมืองเซนต์หลุยส์พอดี
หรือเฟลิกซ์ คาร์บายัล (Felix Carvajal) บุรุษไปรษณีย์ทีมชาติคิวบาที่ระดมเงินมาที่แข่งยังสหรัฐอเมริกาด้วยการแสดงความสามารถในการวิ่งของเขาไปทั่วคิวบา เมื่อเขามาถึงนิวออร์ลีนส์ เฟลิกซ์กลับเสียเงินทั้งหมดไปกับเกมลูกเต๋าและต้องเดินเร่ร่อนและต้องโบกรถคนอื่นมายังเมืองเซนต์หลุยส์ เฟลิกซ์สูงเพียง 5 ฟุต หรือ 150 เซนติเมตร ชุดแข่งวิ่งของเขาคือเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวขนาดเกินไซส์ที่เทอะทะ กางเกงขายาวสีเข้มที่ดูยาวรุงรัง พร้อมหมวกเบเรต์ และรองเท้าคู่หนึ่ง เพื่อนที่แข่งโอลิมปิกด้วยคนหนึ่งรู้สึกสงสารในสภาพของเฟลิกซ์ เขาจึงนำกรรไกรมาตัดขากางเกงของเฟลิกซ์ให้สั้นเท่าหัวเข่าเพื่อให้ง่ายต่อการวิ่ง
วันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1904 เวลา 15:03 น. การแข่งขันได้เริ่มต้นขึ้น เดวิด อาร์. ฟรานซิส ประธานบริษัท Louisiana Purchase Exposition Company ผู้สนับสนุนการแข่ง ได้ลั่นกระบอกปืนส่งสัญญาณ นักวิ่ง 32 คนเริ่มวิ่งออกจากจุดสตาร์ท การแข่งขันการวิ่งมาราธอน 40 กิโลเมตรท่ามกลางความร้อนชื้นระอุที่อุณหภูมิราว 32 องศาเซลเซียสได้เริ่มต้นขึ้น สิ่งที่ยากพอกันกับระยะทางและความร้อนคือเส้นทางที่ไม่ได้ราบเรียบเส้นตรงอย่างที่ใครๆ หวังไว้ ขนาดที่คณะกรรมการจัดงานคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า “มันคือเส้นทางที่ยากที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะถูกให้วิ่ง”
เส้นทางที่เต็มไปด้วยหินแหลมคมพร้อมฝุ่นดินทรายจำนวนมาก เศษหินเกลื่อนกลาดถนน ผ่านเนินเขาทั้ง 7 แห่งซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 100 ถึง 300 ฟุต บางเนินมีทางขึ้นที่สูงชันอย่างไร้ความปราณี นักวิ่งแต่ละคนต้องหลบหลีกเกวียนส่งของ ทางรถไฟ สัตว์ป่า และผู้คนที่สัญจรไปมาในเส้นทางนี้ด้วยตนเอง ด้วยความร้อนและเส้นทางที่โหดมหันต์ขนาดนี้แต่กลับมีจุดที่เก็บน้ำจืดได้เพียงแค่ 2 จุดเท่านั้น นั่นคือที่อ่างเก็บน้ำตรงระยะทาง 6 ไมล์ (9.65 กิโลเมตร) และบ่อน้ำริมถนนที่ระยะทาง 12 ไมล์ (19.31 กิโลเมตร)
ทำไมถึงมีน้ำน้อยขนาดนี้? ก็เพราะหัวหน้าผู้จัดงาน เจมส์ ซัลลิแวน (James Sullivan) หัวหน้าผู้จัดงาน ต้องการทำวิจัยเพื่อทดสอบขีดจำกัดและผลกระทบของภาวะขาดน้ำ เขาจึงสั่งให้มีจุดเก็บน้ำน้อยที่สุดที่จะไม่ฆ่าใครตาย พร้อมทีมแพทย์ที่นั่งรถตามไปกับนักแข่ง
การเอารถวิ่งบนถนนที่แย่ได้สร้างฝุ่นตลบอบอวลจนนักวิ่งต่างไอและอาเจียนออกมาเพราะสูดหายใจเอาดินทรายเข้าไปมากเกินไป นั่นทำให้ วิลเลียม การ์เซีย (William Garcia) นักวิ่งจากแคลิฟอร์เนีย เกือบจะได้กลายเป็นนักวิ่งคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เสียชีวิตจากการวิ่งมาราธอนโอลิมปิก ฝุ่นจากเส้นทางวิ่งที่มหาศาลเข้าไปในร่างกายของวิลเลียม มันเกาะหลอดอาหารและไปทำให้เยื่อบุกระเพาะฉีก เขาล้มลงขณะที่กำลังวิ่ง โชคดีที่มีคนอยู่ใกล้และเห็นเหตุการณ์นี้ วิลเลียมถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการตกเลือด แพทย์กล่าวว่า วิลเลียมอาจเสียชีวิตได้หากเขาสลบไปโดยที่ไม่มีใครเห็นนานกว่าหนึ่งชั่วโมง
ส่วน จอห์น ลอร์ดอนนักวิ่งจากสหรัฐอเมริกาอาเจียนจากพิษของฝุ่นจนต้องขอยอมแพ้การแข่งขัน ด้านเลน ทานเย และ แจน มาสซียานี่ นักวิ่งชาวเผ่าสองคนจากแอฟริกาใต้ กลับต้องวิ่งหนีออกนอกเส้นทางไปหลายไมล์เนื่องจากถูกสุนัขป่าวิ่งไล่ตามกัด
เฟลิกซ์ คาร์บายัล บุรุษไปรษณีย์ทีมชาติคิวบาเจ้าของชุดวิ่งที่ถูกตัดขากางเกง เขาวิ่งเหยาะๆ ไปด้วยความสบายใจพร้อมรองเท้าที่ไม่เหมาะแก่การวิ่งและเสื้อเชิ้ตตัวปลิวของเขา เฟลิกซ์มักจะหยุดวิ่งรายทางเพื่อพูดคุยด้วยภาษาอังกฤษที่ไม่แข็งแรงนักกับผู้ที่กำลังดูการแข่งขันอยู่
ครั้งหนึ่งขณะที่เขากำลังวิ่ง เฟลิกซ์กลับเห็นรถคันหนึ่งซึ่งคนในรถกำลังกินลูกพีชอยู่ ด้วยความอยากกินเขาจึงวิ่งเข้าไปขอลูกพีช แต่กลับถูกปฏิเสธ เฟลิกซ์ไม่สนใจ เขารีบคว้ามา 2 ลูกกินและกินอย่างหน้าตาเฉยพร้อมกับวิ่งไปด้วย ถัดจากนั้นไปอีกไม่กี่ไมล์ เฟลิกซ์ได้เห็นสวนผลไม้ซึ่งเต็มไปด้วยต้นแอปเปิ้ลกับลูกสีแดงมากมายที่แสนสะดุดตา เฟลิกซ์ได้เข้าไปกินแอปเปิ้ลในสวน แต่ลูกที่เขากินนั้นมันกลับเน่าเสีย ไม่แน่ใจว่าด้วยผลฤทธิ์ของพีชหรือแอปเปิ้ล เฟลิกซ์กลับมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนวิ่งต่อไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจนอนพักเอาแรงใต้ต้นแอปเปิ้ล
แซม เมลเลอร์ ซึ่งตอนนี้เป็นผู้นำอันดับหนึ่ง ก็เกิดมีอาการตะคริวอย่างรุนแรงที่ขา เขาต้องหยุดวิ่ง เปลี่ยนเป็นการเดิน อาการบาดเจ็บเหนื่อยล้าทำให้เขาต้องเดินช้าลงเรื่อยๆ จนหยุดลงและยอมแพ้ในที่สุด
เฟรด ลอร์ซ (Fred Lor) หนึ่งในนักวิ่งชาวอเมริกันผู้ซึ่งไม่เคยวิ่งระยะไกลมาก่อนเกิดเป็นตะคริวที่ระยะทาง 9 ไมล์ เฟรดตัดสินใจหยุดวิ่งและโบกรถที่ขับมา จนในทีสุดเขาก็ได้ขึ้นรถ เฟรดโบกมือให้ผู้ชมและเพื่อนๆ นักวิ่งบางส่วนที่เขานั่งรถผ่าน ทำให้ทุกคนคาดการณ์ไปหมดว่าเฟรด ลอร์ซ คงไม่แข่งวันนี้ต่ออีกแล้ว
เพียง 7 ไมล์ (11.26 กิโลเมตร) ก่อนถึงเส้นชัย โทมัส ฮิกส์ กลับไม่มีแรงที่ขาอีกต่อไป เขาแทบลุกไม่ขึ้น ทีมงานและเทรนเนอร์ของโทมัสต้องแบกเขาคนละข้างเพื่อพาไปยังเส้นชัย โทมัสขอพวกเขาดื่มน้ำ แต่แทนที่จะให้น้ำเปล่า เทรนเนอร์ของกลับป้อนส่วนผสมของสตริกนินและไข่ขาวซึ่งถือว่าเป็นพิษร้ายแรงในยุคปัจจุบัน
สตริกนิน (Strychnine) เป็นสารประกอบประเภทแอลคาลอยด์ ซึ่งเป็นยาพิษทำให้คนตายได้หากบริโภคไปประมาณ 15-30 มิลลิกรัมขึ้นไป สตริกนินเป็นสารสกัดที่ได้จากเมล็ดของต้นแสลงใจ หรือ ตูมกาแดง ซึ่งในปัจจุบันคนนิยมนำมาใช้เป็นยาเบื่อหนู
ทำไมถึงใช้สตริกนิน? ในสมัยนั้นนักกีฬานิยมใช้เนื่องจากหากใช้สตริกนินในปริมาณน้อยจะมีผลเป็นยากระตุ้น และในขณะนั้นยังไม่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่ง คุณสามารถทานอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ชัยชนะ นี่ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างแรกของประวัติศาสตร์การใช้ยาในโอลิมปิก ทีมงานของโทมัสยังถือบรั่นดีฝรั่งเศสอยู่ 1 ขวด หากการกระตุ้นครั้งแรกไม่ได้ผล พวกเขาจะป้อนบรั่นดีให้แก่โทมัสโดยพวกเขากล่าวว่ามันเป็นการกระตุ้นร่างกายอีกทาง
ในขณะเดียวกันเฟรด ลอร์ซ ที่นั่งชมวิวอยู่ในรถ ก็เริ่มฟื้นตัวเรี่ยวแรงกลับมา อาการตะคริวหายไป เขานั่งรถไปราว 11 ไมล์ (17.7 กิโลเมตร) จากเส้นทางวิ่งของเขา เฟรดตัดสินใจแอบกลับมาวิ่งต่อ แต่หนึ่งในทีมงานของโทมัส ฮิกส์ กลับเห็นเขาและตะโกนสั่งให้เฟรดออกจากสนาม แต่เฟรด ลอร์ซไม่ฟัง เขาวิ่งต่อไปจนเข้าเส้นชัยจนเข้าเป็นอันดับที่ 1 ด้วยระยะเวลาไม่ถึงสามชั่วโมง
ฝูงชนผู้ไม่รู้ที่ยืนอยู่มองดูเฟรด ลอร์ซวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอับดับหนึ่ง พวกเขาจึงต่างตะโกนด้วยความดีใจว่า “ชาวอเมริกันชนะ!” อลิซ รูสเวลต์ (Alice Roosevelt) ลูกสาววัย 20 ปีของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ผู้มอบรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้ ปรบมือด้วยความดีใจ พวกเขาถ่ายรูปร่วมกัน
และในขณะที่เธอกำลังจะคล้องเหรียญทองที่คอของ เฟรด ลอร์ซ ก็กลับมีเสียงตะโกนมากมายจากผู้ที่มองเห็นความจริง พวกเขาตะโกนว่าลอร์ซเป็นคนหลอกลวง และเล่าความจริงให้ทุกคนรอบข้างได้ฟัง เสียงเชียร์เฟรด ลอร์ซ ทั้งหมดกลับกลายเป็นเสียงโห่ทันที ลอร์ซเมื่อเห็นสถานการณ์ไม่ดีก็รีบปฏิเสธไม่รับรางวัลทันที และอ้างว่าเขาไม่เคยตั้งใจที่จะรับรางวัลนี้อยู่แล้ว เขาจบการแข่งเพียงเพื่อเห็นแก่ “เรื่องตลก”
ในฝั่งของโทมัส ฮิกส์ ร่างของเขายังคงดำเนินเคลื่อนไหวต่อไปอย่างโซซัดโซเซด้วยแรงจากสตริกนินที่ไหลรินผ่านเลือดของเขา เมื่อเขาได้ยินว่าลอร์ซถูกตัดสิทธิ์ ฮิกส์ก็เริ่มมีแรงฮึดขึ้น เพราะนั่นหมายถึงหากไม่มีใครแซงเขา ฮิกส์จะเข้าเป็นที่ 1 แทนที่ของลอร์ซ ฮิกส์เงยหน้าขึ้น ใช้แรงที่เหลืออยู่บังคับให้ขาของเขาเริ่มวิ่งเท่าที่จะทำได้ ทีมงานของเขาที่ตามมาเริ่มป้อนสตริกนินและไข่ขาวอีกหนึ่งโดส คราวนี้ทีมงานตามด้วยบรั่นดี จากนั้นเอาน้ำอุ่นมาราดตัวและศีรษะของเขา ดูเหมือนว่าฮิกส์จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ฝีเท้าของเขาเริ่มเร็วขึ้นเรื่อยๆ
“ตลอดสองไมล์สุดท้ายของถนน ฮิกส์วิ่งเหมือนกับชิ้นส่วนของเครื่องจักรที่มีการหล่อลื่นอย่างดี แต่ดวงตาของเขามัวหม่นหมอง สีหน้าและสีผิวของเขาซีดเผือดขึ้น แขนของเขาเหมือนหนักราวกับถูกน้ำหนักผูกเอาไว้ เขายกขาขึ้นแทบไม่ได้ ในขณะที่เข่าของเขาแทบจะแข็งทื่อ” ชาร์ลส์ ลูคัส เจ้าหน้าที่การแข่งขันเขียนบันทึกเอาไว้
ผลจากการใช้ยา ช่วงไมล์สุดท้ายก่อนถึงเส้นชัย ฮิกส์เริ่มเห็นภาพหลอน เขาเชื่อว่าเส้นชัยยังอยู่ห่างออกไปอีก 20 ไมล์ ฮิกส์ขอทีมงานนอนลงตรงพื้นแห่งนี้ เขาไปไม่ไหวแล้ว ทีมงานป้อนบรั่นดีพร้อมกับไข่ขาวอีก 2 ฟอง ฮิกส์กลับมามีแรงอีกครั้ง แต่เขาแทบจะลากขาเดินในสองเนินสุดท้าย เมื่อเห็นเส้นชัย ทีมงานผู้ฝึกสอนของเขาก็พยุงให้ขาของฮิกส์ลากพื้นจนเข้าเส้นชัย และโทมัส ฮิกส์ จากสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะอันดับ 1 ฮิกส์ล้มตัวนอนลงอย่างหมดสติทันที
ผลจากการใช้ยาและบรั่นดี ฮิกส์ต้องใช้หมอถึง 4 คนและเวลากว่า 1 ชั่วโมงถึงจะลุกขึ้นจากพื้นได้ เขาน้ำหนักหายไปราว 3.6 กิโลกรัมหลังการแข่งขัน
“ในชีวิตฉันไม่เคยวิ่งบนเส้นทางที่หฤโหดขนาดนี้มาก่อน
เนินเขาที่โหดร้ายสามารถฉีกคนออกเป็นชิ้นๆ ได้”
โทมัส ฮิกส์ กล่าวหลังจากการแข่งขัน เขาเข้าเส้นชัยแบบถูกต้องเป็นอันดับ 1 ด้วยเวลา 3:28:53 ชั่วโมง อันดับ 2 เป็นของ อัลเบิร์ต คอเรย์ จากประเทศฝรั่งเศส ด้วยเวลา 3:34:52 ชั่วโมง และตามด้วยอาเธอร์ นิวตัน จากสหรัฐอเมริกาด้วยเวลา 3:47:33 ชั่วโมง
ส่วน เฟลิกซ์ คาร์บายัล บุรุษไปรษณีย์ทีมชาติคิวบา หลังจากนอนงีบใต้ต้นแอปเปิ้ล เขาก็ตื่นขึ้นมาพร้อมอาการปวดท้องที่หายไป และวิ่งเข้าเส้นชัยแซงผู้เข้าแข่งขันคนอื่นที่เดินไร้เรี่ยวแรงเป็นอันดับที่ 4
สุดท้ายแล้วมีผู้เข้าเส้นชัยเพียง 14 คน จากทั้งหมด 32 คน ส่วนผู้แข่งขันที่ผู้ชมรู้สึกเสียดายที่สุดคือเลน ทานเย และ แจน มาสซียานี่ จากแอฟริกาใต้ พวกเขาวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 9 และ 12 ตามลำดับ ทำไมถึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังและน่าเสียดาย? ก็เพราะทั้งสองคนนี้อาจทำได้ดีกว่านี้ หรือเข้าเป็นอันดับ 1 ได้ หากไม่เจอสุนัขป่าวิ่งไล่ตามกัดออกนอกเส้นทางไปหลายไมล์ หลบหลีกหนีจนพ้น และต้องวิ่งกลับมาเข้ามาแข่งจนเข้าเส้นชัยอีกรอบ
มีการแข่งขันไหนที่บ้าบอมากกว่านี้ไหมในประวัติศาสตร์?
อ้างอิงข้อมูลจาก