หลังจากทำกิจกรรมนอกบ้านมาทั้งวัน ขอเล่นมือถือสักหน่อยแล้วจะไปนอน แต่ทำไมรู้ตัวอีกทีเป็นเวลาตีสาม และไม่มีท่าทีว่าเราจะหยุดปัดขึ้นเพื่อไปยังวิดีโอถัดไปเลยนะ
ถ้าใครเป็นผู้ใช้แอพฯ TikTok น่าจะเคยมีประสบการณ์นี้กันเกือบทุกคน มีหลายปัจจัยที่ทำให้เราเสพติด TikTok และสิ่งที่น่าแปลกใจคือคอนเทนต์ที่เราเสพบนนั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ทำให้เกิดความเสพติดนั้น แต่อีกครึ่งหนึ่งคือการออกแบบของแอพฯ เองมากกว่า
ทุกโซเชียลมีเดียมีความต้องการดึงให้ผู้ใช้อยู่ในแอพฯ หรือเว็บไซต์นานที่สุด และวิธีที่ TikTok ใช้คือดีไซน์ที่เข้าถึงง่ายโดยแทบไม่มีกำแพงขวางกั้น เริ่มตั้งแต่การการลงชื่อเข้าใช้ที่เพียงแค่เชื่อมต่อกับโซเชี่ยลมีเดียอื่นไม่ต้องคิดพาสเวิร์ดใหม่ แล้วเลือกความสนใจให้อัลกอริทึมรู้ว่าจะป้อนคอนเทนต์อะไรให้กับเราบ้าง แค่นั้นเราก็สามารถเข้าถึงลูปการเข้าชมวิดีโอที่เสพติดและง่ายเพียงปัดนิ้ว และลูปนั้นนำไปสู่การหลั่งสารโดปามีนไม่รู้จบ
ลูปของการกระทำง่ายๆ เพื่อแลกเอามาเพื่อสิ่งที่ทำให้หลั่งสารโดปามีนนั้นเป็นการออกแบบที่มาจากการทดลองในอดีตชื่อ Skinner’s Box โดยนักจิตวิทยา บีเอฟ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) ที่ขังหนูหรือนกไว้ในกล่องเล็กๆ ในกล่องนั้นมีเครื่องเครื่องกลสองอย่าง เครื่องแรกหากกดแล้วสัตว์ในกล่องจะได้รับอาหาร นั่นคือสิ่งเสริมแรง และเครื่องที่สองหากกดแล้วจะถูกไฟช็อต หรือที่เรียกว่าการลงโทษ
หนึ่งในการค้นพบของการทดลองนี้คือสิ่งมีชีวิตจะทำในสิ่งที่เสริมแรงเนื่องจากมันจะนำมาซึ่งผลตอบแทนแง่บวก และแม้ว่ามนุษย์จะไม่ใช่หนู และความต้องการของเราไม่ได้อยู่ที่การกินอาหารเพื่อเอาตัวรอดอย่างเดียว ผ่านการเลือกความสนใจ และอัลกอริทึมที่จับตาดูทุกการกระทำของเราบน TikTok แอปก็รู้แล้วว่าอะไรคือตัวเสริมแรงของเราแต่ละคน
จูลี่ อัลไบรท์ (Julie Albright) นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใต้กล่าวว่า การทำงานของแอพฯ นี้ให้ผลคล้ายคลึงกับการเล่นการพนัน ‘มันเหมือนกับตอนที่อยู่ๆ คุณอยากจะดึงตู้สล็อต… เราเรียกมันว่าการเสริมแรงแบบสุ่ม (Random Reinforcement) ที่ทำให้คุณอยากกลับมาเล่นอีก’ เพราะนอกจากมันจะไล่วิดีโอที่เราอยากดูมาให้แล้ว บางวิดีโอที่ไม่ตรงกับความสนใจของเราก็อาจทำให้เราคิดว่า ‘อันต่อไปต้องเป็นอันที่ฉันชอบแน่ๆ’ ได้
และไม่ต่างกับการพนัน ความเสพติดใน Skinner’s Box นี้ไม่ใช่แค่ ‘ก็เลิกเล่นสิ’ น้อยครั้งนักที่การลบแอพฯ ออกจากเครื่องจะไม่นำไปสู่การโหลดกลับมาใช้ใหม่ แล้วเราจะหลุดพ้นจากมันได้หรือเปล่า?
เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการติดแอพฯ แต่เป็นการติดความรู้สึกหลังร่างกายได้หลั่งสารโดปามีน และสิ่งที่ทำให้การหยุดเสพติด TikTok นั้นยากยิ่งกว่าเดิมไปอีกก็คือสิ่งที่ทำให้เราเข้าถึงแอพฯ นั้นได้อย่างเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเรา ส่งผลให้การหักดิบไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไหร่
ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือการกำหนดเวลาให้กับตัวเองว่าเล่นได้ครั้งละกี่นาที หรือใช้โทรศัพท์ได้เวลาไหนถึงเวลาไหน และหากิจกรรมที่ให้ความรู้สึกของการเสริมแรงแก่ตัวเราเองเพื่อมาแทนมันให้เป็นก้าวแรกในการหลุดพ้นจากกล่อง Skinner ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก