เกริ่นนำ
พลันที่เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าประเทศสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามได้ทำการแบ่งเฉือนเยอรมนีเป็นตะวันออกและตะวันตก โดยมีกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนเยอรมนีตะวันออก ถูกแบ่งเป็นกรุงเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก
สหภาพโซเวียตคุมเยอรมนีและเบอร์ลินตะวันออก ปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาดูแลเยอรมนีและเบอร์ลินตะวันตก ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
หลังจบสงครามโลก รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกเริ่มทำการบูรณะซ่อมแซมประเทศ มีความต้องการเจ้าหน้าที่รัฐที่ชำนาญในส่วนต่างๆ มาช่วยดำเนินงานโดยเร็ว ดังนั้นจึงเกิดนโยบาย ‘นิรโทษกรรมและบูรณการ’ ทำให้สมาชิกนาซีระดับล่าง หรือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเคยรับใช้ระบบนาซี ต่างหวนกลับมาทำงานเป็นข้ารัฐการได้อีกครั้ง
คนเยอรมันอธิบายตัวเองว่า สิ่งที่เยอรมนีกระทำในสงครามโลกครั้งที่ 2 ความเลวร้ายทั้งหมดเป็นผลงานของพวกนาซีระดับหัวแถวที่มีคำสั่งโหดเหี้ยมออกมา คนเยอรมันทั้งหมดไม่ได้มีแนวคิดจะก่อเหตุเลวร้ายต่อเพื่อนมนุษยชาติแต่อย่างใด
เยอรมันตะวันตกจึงดำเนินการสร้างประเทศขึ้นใหม่จากเถ้าถ่านแห่งสงคราม ไม่มีใครกล่าวถึงช่วงสงครามโลก ปล่อยมันเป็นความลับที่ดำมืด ซึ่งต่อมาจะถูกตีแผ่ด้วยคนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาเอง
อดีตที่ตามหลอกหลอน
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลเยอรมันตะวันตกได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อจัดการดำเนินคดีกับอาชญากรสงครามทุกระดับในช่วงสงคราม (ซึ่งยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน) แต่การดำเนินการช่วงแรกนั้นติดขัดเป็นอย่างมาก หลายคดีถูกยกฟ้อง ไม่ได้รับความร่วมมือ อัยการที่ทำคดีก็ถูกข่มขู่คุกคาม เพราะไม่มีใครอยากเปิดเผยความลับและอดีตอันเลวร้ายนี้
แต่สุดท้ายมันก็สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้เป็นจำนวนมาก พวกเขาเหล่านี้ล้วนอ้างว่าที่ก่อเหตุเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์เพราะได้รับคำสั่งให้ทำ แต่การดำเนินคดีของอัยการกลับเจอความจริงว่า คนเหล่านี้ลงมือก่อเหตุเพราะเชื่อมั่นในระบบนาซีแบบสุดจิตสุดใจต่างหาก ทั้งที่กฎหมายหลายฉบับของนาซีมันอยุติธรรมเกินกว่าจะเป็นเป็นกฎหมาย แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้สงสัย กลับลงมือก่อเหตุได้อย่างปกติ
เรื่องราวการดำเนินคดีกับคนเหล่านี้เอง ทำให้เกิดข้อสงสัยกลั่นมาเป็นคำถามต่อเด็กๆ และเยาวชนที่โตมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะคนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่เคยรับรู้ว่า เยอรมนีกระทำการเลวร้ายอะไรในอดีต ไม่รู้ว่า พ่อแม่ญาติของพวกเขาข้องเกี่ยวกับนาซีอย่างไร
คนรุ่นใหม่ถูกปลูกฝังว่าความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กระทำโดยรัฐบาลนาซี เป็นผลงานอันวิปลาสของกลุ่มผู้นำทั้งนั้น ดังนั้นเรื่องราวการดำเนินคดีในเยอรมนี จึงสั่นคลอนความเชื่อที่พวกเขาได้รับรู้มาและนำไปสู่การหาว่าเรื่องราวในอดีตนั้นมันเป็นอย่างไรกันแน่
เมื่อยิ่งค้นหาข้อมูล
ก็ยิ่งค้นพบเรื่องราวอันดำมืดนี้
การดำเนินคดีกับอาชญากรสงครามยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในปี ค.ศ.1960 สายลับมอสสาดของอิสราเอลบินข้ามประเทศไปอุ้มอดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) ผู้ดำริจัดตั้งระบบการรมควันชาวยิว หลังสงครามไอค์มันน์หนีไปอาร์เจนติน่า และถูกอุ้มกลับมาดำเนินคดีในอิสราเอลก่อนถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในปี ค.ศ.1962
เหตุการณ์นี้ทำให้คนหนุ่มสาวเยอรมันตาสว่าง คนแบบไอค์มันน์ซึ่งดูเหมือนคนธรรมดาเหมือนพ่อแม่เราได้ทำเรื่องเลวร้ายแบบนี้ได้อย่างปกติ เพียงแค่อ้างว่าได้รับคำสั่งลงมา อาการตาสว่างนั้นมาสอดรับกับบรรยากาศยุค 60 ที่เยาวชนคนหนุ่มสาวทั้งโลกเกิดการลุกฮือแสดงความไม่พอใจต่อคนรุ่นเก่า
สาเหตุการลุกฮือนั้นเกิดจากสภาพสังคมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนรุ่นเก่าไม่สนใจฟังเสียงคนยุคใหม่ มองเด็กๆ ว่าดีแต่เต้น แต่งตัวโป๊ เมาเหล้าพี้ยา คาวโลกีย์ สนใจแต่เรื่องไร้สาระ แถมสังคมโลกในตอนนั้นกลับมีการใช้อำนาจนิยมกดขี่คนในสังคม มุ่งเน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจละทิ้งคนจำนวนมากในสังคม
ความไม่พอใจของประชาชนที่รู้สึกว่าสังคมกลวงเปล่านำไปสู่การค้นหาคำตอบ ความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ แนวคิดเสรีนิยมก่อเกิดเป็นกลุ่มซ้ายใหม่ ที่เรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม ทั้งเรื่องผู้หญิงและคนยากจน ยิ่งในช่วงนั้นเกิดสงครามเวียดนาม กระแสเรียกร้องสันติภาพไม่เอาสงครามจึงก่อตัวขึ้น
ในที่สุดคนหนุ่มสาวก็เกิดอาการไม่พอใจในสังคมดั้งเดิมเกิดการลุกฮือไปทั่วทั้งโลก รวมถึงที่เยอรมนีด้วย
แรงระเบิดเกิดขึ้น เมื่อคนหนุ่มสาวค้นพบว่า พ่อแม่ของพวกเขาต่างเคยร่วมในขบวนการนาซีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นำไปสู่การมีปากเสียง มิหนำซ้ำอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคน ที่สอนหนังสือก็มีชีวิตอย่างสุขสบายในยุคฮิตเลอร์เป็นผู้นำ แม้กระทั่งผู้นำประเทศก็ยังเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงมหาอาณาจักรไรซ์ที่ 3 มาด้วย
ในปี ค.ศ.1962 เกิดการบุกค้นสำนักงานและบุกจับกุมบรรณาธิการของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ แดร์ ชปีเกิล เพียงเพราะนำเสนอตีแผ่ข่าวจากเอกสารของ NATO ว่า กองทัพเยอรมันตะวันตกนั้นอ่อนแอและไร้ความพร้อมหากโดนคอมมิวนิสต์บุกก็คงพ่ายแพ้ โดยการกระทำนี้ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คำสั่งนี้ยิงตรงมาจาก รมว.กลาโหมเองที่กล่าวหาว่า สำนักข่าวแห่งนี้ชังชาติทรยศต่อประเทศ
คำว่าพอกันที! จึงเกิดขึ้น คนหนุ่มสาวลงถนนแห่ประท้วงสังคมอำนาจนิยมนี้ แม้สุดท้าย บก.แดร์ ชปิเกิลจะได้รับการปล่อยตัวออกมา และ รมว.กลาโหมจะต้องลาออกจากตำแหน่งหมดอนาคตทางการเมืองไปก็ตาม
แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งการให้มันจบลงที่รุ่นเราของคนหนุ่มสาวเยอรมันเท่านั้น
คนยุค 1968
ความเกรี้ยวกราดไม่พอใจของคนหนุ่มสาวยังดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ในปี ค.ศ.1966 เศรษฐกิจเยอรมันมีปัญหา รัฐบาลฝ่ายขวาได้ตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยซึ่งถือเป็นพรรคฝ่ายซ้ายเคยต่อต้านนาซีมาในอดีต โดยรัฐบาลผสมมีการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินใหม่ที่ให้อำนาจรัฐบาลอย่างมหาศาล และดำเนินการปฏิรูปมหาวิทยาลัยให้มุ่งเน้นผลิตนักศึกษาให้จบการศึกษาไวๆ จะได้เข้าสู่ระบบทุนนิยมทำงาน เพื่อเพิ่มแรงงานพัฒนาเศรษฐกิจ
ความไม่พอใจนี้นำไปสู่การประท้วงเพราะนักศึกษากลับไม่มีส่วนร่วมในการปฏิรูปมหาวิทยาลัย แถมรัฐบาลยังขยายอำนาจตัวเองผ่านทางกฎหมายพิเศษจนเหมือนจะเป็นรัฐตำรวจที่มีไว้ เพื่อปราบปรามการประท้วงโดยเฉพาะ
ต่อมาปี ค.ศ.1967 กลุ่มนักศึกษาชุมนุมประท้วงการเดินทางมาเยือนประเทศของพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องจัดการผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม (พระองค์จะโดนโค่นล้มในปี ค.ศ.1979) โดยพระเจ้าชาห์เดินทางไปชมโอเปร่าในกรุงเบอร์ลินตะวันตก กลุ่มนักศึกษาเตรียมมะเขือเทศและไข่ไว้ปาใส่ โดยตอนนั้นอิหร่านเป็นมหามิตรไม่กี่ประเทศในตะวันออกกลางกับเยอรมนีตะวันตก ดังนั้นรัฐบาลจึงหวังจะไม่ให้เกิดอะไรกระทบกระเทือนความสัมพันธ์นี้ การประท้วงจึงต้องถูกปราบปราม
ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อตำรวจนายหนึ่งควักปืนออกมายิงใส่ นายเบนโน โอเนซอก (Benno Ohnesorg) นักศึกษาศิลปะ วัย 27 ปีที่ท้ายทอยเสียชีวิตทันที หลังเกิดเรื่อง คนหนุ่มสาวเยอรมันจำนวนหนึ่งตัดสินใจว่า เมื่อประท้วงดีๆ ไม่ได้ ก็ต้องใช้อาวุธเข่นฆ่า จึงนำไปสู่การรวมกลุ่มตั้งหน่วยกองทัพแดง หรือแก๊งบาเดอร์-ไมน์ฮอฟ ตามชื่อผู้นำ เป็นองค์กรก่อการร้ายที่ไล่ฆ่าวางระเบิดสถานที่รัฐการ กว่าจะสลายตัวไปได้ก็ต้องรอถึงปี ค.ศ.1998 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีกลุ่มซ้ายจัดหัวรุนแรงไม่ใช่กลุ่มใหญ่ของคนหนุ่มสาว เมื่อผู้ใหญ่ไม่ยอมแม้แต่จะฟังเสียงเรียกร้อง การชุมนุมก็ดำเนินไปอีกขั้น มีการประท้วงเต็มท้องถนน ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรุ่นปัจจุบันกับคนรุ่นเก่าถ่างห่างขึ้น
ในปี ค.ศ.1968 ขณะที่การประท้วงยังคงแพร่กระจายไปทั่ว โฆษกสหภาพสังคมนิยมนักศึกษาเยอรมัน ชื่อ นายรุดี ดอยช์เคอะ (Rudi Dutschke) ถูกชายขวาจัดที่ถูกปลุกปั่นความเกลียดชังผ่านทางสื่อฝ่ายขวาอย่างบิลล์ ไชตุ้ง ยิง 3 นัดที่หน้าสำนักงานได้รับบาดเจ็บสาหัส แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ 11 ปีต่อมา เขาก็เสียชีวิตลงจากบาดแผลถูกยิงในวันนั้น
ความรุนแรงครั้งนี้ทำให้คนรุ่นใหม่รวมตัวประท้วงสำนักข่าวที่เสนอข่าวบิดเบือนว่า รุดีเป็นคอมมิวนิสต์เป็นพวกหัวรุนแรงผูกติดกับกลุ่มกองทัพแดง ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด การชุมนุมประท้วงของคนหนุ่มสาว ถูกโจมตีจากคนรุ่นก่อนที่มองว่า ควรจะเอาเวลาไปเรียนหนังสือมากกว่าจะทำแบบนั้น
การประท้วงถูกตอบโต้อย่างหนักหน่วง มีการใช้รถน้ำฉีดใส่ฝูงชน ถึงขั้นส่งตำรวจม้าเข้าสลายชุมนุม แต่ก็ไม่อาจหยุดการลุกสู้ของคนหนุ่มสาวได้ แม้กระทั่งลูกชายของ รมว.ต่างประเทศในตอนนั้นก็ยังมาชุมนุมและถูกจับกุมไปด้วย
สุดท้ายการชุมนุมของคนหนุ่มสาวในปี ค.ศ.1968 ไม่อาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ แต่ 1 ปีถัดจากนี้ชัยชนะของคนหนุ่มสาวกลับปรากฏขึ้นอย่างช้าๆ และงดงาม ท่ามกลางการพังทลายของโลกยุคเก่าที่เจือกลิ่นอำนาจนิยมแบบนาซี
การคุกเข่าที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์
แม้การต่อสู้ในปี ค.ศ.1968 จะไม่นำพาชัยชนะมาสู่คนรุ่นใหม่ แต่พอถึงปี ค.ศ.1969 พรรคฝ่ายซ้ายอย่างสังคมนิยมประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง ทำให้วิลลี บรันท์ (Willy Brandt) ได้เป็นผู้นำ เขาเคยลี้ภัยในยุคนาซีมาก่อน โดยในรัฐบาลก่อนเขาเป็น รมว.ต่างประเทศ ซึ่งลูกชายเขาไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษาและโดนจับกุมตัวไป
เมื่อชนะเลือกตั้ง วิลลีได้ริเริ่มปฏิรูปสังคมในทันที เขาส่งเสริมสิทธิสตรี ลดสังคมอำนาจนิยมประเภทเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ยอมรับการมีอยู่ของเยอรมนีตะวันออก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลังสงครามโลกไม่เคยทำ โดยรัฐบาลใหม่ได้ลงนามยอมรับดินแดนที่เสียไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศที่นาซีเคยก่อสงคราม
แต่ผลงานที่ทำให้เยอรมนีเปลี่ยนตัวเองอย่างมหาศาล นั่นก็คือในปี ค.ศ.1970 วิลลี บรันท์เดินทางไปโปแลนด์และได้ไปเยี่ยมวอร์ซอเกตโต อันเป็นสถานที่ซึ่งเกิดการลุกฮือต่อต้านการยึดครองนาซีของคนโปแลนด์ ที่หน้าสถานที่ประวัติศาสตร์นี้เอง ผู้นำเยอรมนีตะวันตกได้คุกเข่าลงและยอมรับการกระทำอาชญากรรมของนาซีทั้งหมด
ภาพถ่ายนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ตีพิมพ์เป็นหน้าปกของแดร์ ชปิเกิล คำขอโทษจากใจจริงของบรันท์ ถือเป็นการขออภัยต่อเหยื่อจากสงครามโลกที่นาซีก่อกรรมทำเข็ญ บาดแผลในใจได้ถูกชะล้าง หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เยอรมนีได้เผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ตัวเอง พวกเขาเพิ่มเรื่องราวในช่วงนาซีครองเมืองให้แก่คนรุ่นหลังได้รับรู้ ทำให้คนเยอรมันได้เข้าใจประวัติศาสตร์อันเลวร้าย
การคุกเข่าและเผชิญหน้ากับอดีตอันเจ็บปวดนี้ แม้จะทำให้ฝ่ายขวาในเยอรมนีตะวันตกไม่พอใจ แต่ความไม่พอใจก็จบลงที่ วิลลี บรันท์ชนะการเลือกตั้งอีกสมัยในปี ค.ศ.1972 โดยได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นด้วย
หลังจากวันนั้นเยอรมนี
ไม่เคยกลับไปสู่สังคมอำนาจนิยมแบบเดิมอีกต่อไป
ผ่านไปหลายปีภรรยาชาวอเมริกาของรุดีกล่าวไว้ว่า การที่คนหนุ่มและคนแก่ปะทะกันนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นปรากฏการณ์ที่มีมาอยู่เสมอ เมื่อระบอบอำนาจนิยมเกิดขึ้น คนรุ่นใหม่ก็จะออกมาต่อต้านเคลื่อนไหวอีกครั้ง
“พวกเขาเข้าร่วมรวมตัวกันเพื่อหวังจะสร้างโลกที่ดีงาม พวกเขานั่งลงและครุ่นคิดถึงวิธีการที่จะประสบความสำเร็จ มันยังคงเป็นวิธีการที่ใช้ได้ในปัจจุบัน นั่นคือเริ่มต้นพูดคุยกับคนอื่นๆ เพื่อหาดูว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นมันอยู่ตรงไหน”
สรุป
ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ การลุกขึ้นมาตั้งคำถามของเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ผลของการไม่รับฟังของคนรุ่นเก่าล้วนนำไปสู่ความสูญเสีย แต่แม้จะปราบปรามกดขี่เท่าใด แนวคิดความฝันถึงโลกที่ดีกว่า จะได้รับการส่งต่อสู่สังคมวงกว้างอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงเห็นตลอดประวัติศาสตร์โลก มีคนยุค 1968 เกิดขึ้นทั่วทุกดินแดน บ้างชนะ บ้างแพ้เต็มไปหมด
แต่ทุกครั้งที่พวกเขากล้าก้าวออกมา บทเรียนทางประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้วว่า ทุกการเคลื่อนไหว แม้มันจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่มันก็ไม่เคยจบลงที่ความล้มเหลว สุดท้ายสังคมก็จะดีขึ้น แม้ไม่ได้อย่างที่ฝัน แต่มันจะไม่มีวันเดินถอยหลังอย่างแน่นอน
นี่คือเรื่องราวที่เราจะเห็นตลอดยุคสมัย จากอดีตจนถึงปัจจุบันและในอนาคต จึงขอสดุดีความกล้าหาญของคนรุ่นใหม่ทุกคน
แรงบันดาลใจจาก
UPHEAVAL Turning Points for Nations in Crisis (การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จุดเปลี่ยนสำหรับนานาประเทศท่ามกลางวิกฤต) ของ Jared Diamond สำนักพิมพ์ยิปซี โดยเฉพาะบทที่ 6 ซึ่งพูดถึงเรื่องราวของเยอรมันโดยเฉพาะ