1.
ย้อนเวลาไป 200 ปี ในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.1820 ที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ครอบครัวสกุลไนติงเกล อันมีฐานะและเป็นชนชั้นนำผู้ร่ำรวยของอังกฤษได้ให้กำเนิดลูกสาวคนที่สองระหว่างเดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองนี้ ด้วยความงามและน่าจดจำ ทำให้ทั้งสองตัดสินใจตั้งชื่อลูกตามชื่อเมืองนี้ว่า ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale)
แม่ของฟลอเรนซ์นั้นชอบเป็นให้คนมาสนใจ ขณะที่ฟลอเรนซ์นั้นกลับแตกต่าง เธอไม่ชอบการเป็นจุดศูนย์กลางให้คนมาสนใจ เลี่ยงได้เลี่ยง บ่อยครั้งที่แม่ลูกคู่นี้มักจะเห็นต่างกัน โดยแม่ของฟลอเรนซ์จะเข้ามาบังคับควบคุมในทุกเรื่องของลูกสาวทั้งสองคน จนทำให้เธอกับแม่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กันเรื่อยมา
ตรงข้ามกับพ่อที่เป็นมหาเศรษฐี มีบ้านเนื้อที่มากมายมหาศาล และชอบจัดงานพบปะกับปัญญาชนที่มักจะมาถกเถียงแนวคิดปรัชญาประเด็นการเมืองกันในบ้านของเธออยู่เป็นประจำ ฟลอเรนซ์และพี่สาวได้รับการสั่งสอนจากพ่อในวิชาคณิตศาสตร์ วรรณกรรมคลาสสิก รวมถึงภาษาต่างประเทศ วิชาโปรดของเธอ คือคณิตศาสตร์และสถิติ ซึ่งฟลอเรนซ์จะชอบเก็บข้อมูลแล้วนำมาใช้ทางสถิติเพื่อหาสาเหตุของโรคตอนที่เป็นพยาบาลในเวลาต่อมาด้วย
ตั้งแต่เด็ก ฟลอเรนซ์เป็นคนใจบุญสุนทานมาก ชอบบริจาคข้าวของทรัพย์สินให้กับคนยากไร้ เมื่ออายุได้ 16 ปี เธอก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางว่าจะเป็นนางพยาบาล เรื่องนี้สร้างความตกตะลึงให้กับครอบครัวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแม่ของเธอนั้นคัดค้านอย่างมาก เพราะสมัยนั้นอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพต่ำต้อยเหมาะกับหญิงชนชั้นล่างมากกว่า
อีกทั้งช่วงที่ฟลอเรนซ์มีชีวิตอยู่นั้นคือยุคสมัยวิกตอเรีย ผู้หญิงถูกสอนสั่งให้ดำเนินตามเส้นทางแห่งกุลสตรี แต่งงานกับสุภาพบุรุษสักคน เป็นแม่บ้านอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน พี่สาวเธอเลือกเส้นทางดังกล่าว แต่กับฟลอเรนซ์นั้น ตอนอายุ 17 ปี เธอปฏิเสธที่จะรับหมั้นสุภาพบุรุษที่แม้จะยกย่องความฉลาดเฉลียวของเธอ แต่ตอนนั้นฟลอเรนซ์ต้องการค้นหาอะไรบางอย่างในชีวิต
นั่นทำให้เธอเลือกเส้นทางอาชีพพยาบาล
โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของครอบครัว
และยุคสมัยแต่อย่างใด
“แท้จริงแล้วพี่น้องทั้งสองคนแห่งตระกูลไนติงเกลต่างถูกขังอยู่ในกรงทองตลอดชีวิต แต่มีเพียงฟลอเรนซ์คนเดียวเท่านั้นที่แหกกรงทองนั้นมาได้”
2.
เมื่อเลือกเส้นทางสายนี้ ฟลอเรนซ์จึงเดินทางไปทั่วทวีปยุโรปเพื่อศึกษาด้านพยาบาล เธอไปเรียนกับสถาบันพยาบาลอันโด่งดังในเยอรมัน ซึ่งตอนนั้นในยุโรปอาชีพพยาบาลไม่ได้ถูกมองว่าต่ำต้อยเหมือนในอังกฤษแต่อย่างใด เมื่อเธอกลับมาก็เข้าเรียนต่อในอังกฤษและเข้าทำงานในสถานพยาบาลด้วยความขยันขันแข็งเป็นที่ประทับใจจนได้รับการเลื่อนให้เป็นหัวหน้าหลังทำงานไปได้ปีเดียว พอถึงปี ค.ศ.1853 มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค เธอก็ได้เข้าไปดูแลรักษาโสเภณีให้พ้นจากโรคดังกล่าวด้วย
ในตอนนั้นฟลอเรนซ์ ได้ริเริ่มแนวคิดการทำความสะอาดขจัดสิ่งสกปรกและดูแลสถานพยาบาลแล้ว ผลของมันก็คือทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาอหิวาตกโรคหายป่วยและมีชีวิตรอดเป็นจำนวนมาก
แต่การทำงานหนักเพื่อทำให้สถานพยาบาลสะอาดนั้น
ก็ส่งผลต่อสุขภาพของเธอ
ซึ่งจะเป็นเรื่องปกติในชีวิต
ของหญิงสาวหัวก้าวหน้าคนนี้
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1853 เกิดสงครามไครเมียขึ้น กองทัพจักรวรรดิอังกฤษถูกส่งไปทะเลดำเพื่อรบต่อกรกับมหาอาณาจักรรัสเซียที่ขยายดินแดนเข้ามา ทหารหนุ่มจำนวนมากถูกส่งไปรบ มีผู้บาดเจ็บเกือบ 2 หมื่นคนเข้ารักษาในโรงพยาบาลทหาร
ในตอนนั้นไม่มีพยาบาลผู้หญิงที่โรงพยาบาลของกองทัพแม้แต่คนเดียว ทางกองทัพอังกฤษมองข้ามปัญหาเรื่องการรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ทำให้อุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ มิหนำซ้ำโรงพยาบาลของกองทัพยังสกปรก ไม่มีสุขอนามัยใดๆ ทั้งสิ้นเพราะไม่มีใครดูแลสนใจ ส่งผลให้ทหารที่บาดเจ็บไม่สามารถฟื้นตัวได้ บางคนเสียชีวิต ทำให้กองทัพสูญเสียทรัพยากรทางทหารอย่างยิ่ง
เรื่องนี้ได้รับการรายงานไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงสงครามของอังกฤษ นักการเมืองจึงได้ส่งจดหมายถึงฟลอเรนซ์ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเสียงแล้วให้ช่วยจัดหาทีมพยาบาลไปดูแลรักษาทหารหน่อย พลันที่รับจดหมายในปี ค.ศ.1854 ไนติงเกลรวบรวมพยาบาลได้ 38 คนลงเรือมุ่งหน้าสู่ทะเลดำในเวลาเพียง 2-3 วันหลังได้รับจดหมาย
การเดินทางครั้งนั้น ฟลอเรนซ์และทีมงานไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ และไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่จะไปพบนั้นเลวร้ายขนาดไหน ที่โรงพยาบาลทหารในสงครามไครเมีย ทุกอย่างขาดแคลนหมด แม้กระทั่งน้ำ สบู่ หรือผ้าพันแผลก็มีไม่เพียงพอ ทหารจำนวนมากติดเชื้อป่วยเพราะโรงพยาบาลไร้ซึ่งสุขอนามัย หนอน แมลงบินว่อน ทหารจำนวนมากล้มหายตายจากทั้งๆ ที่ป่วยบาดเจ็บด้วยอาการที่ไม่หนักหนามากนัก
เมื่อไปถึงฟลอเรนซ์ก็เริ่มงานทันที เธอย้ายผู้ป่วยที่อยู่นอกโรงพยาบาลจำนวนมาก ให้มาอยู่ในโรงพยาบาลให้หมด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ดูแลรักษาโรงพยาบาลให้สะอาด ขจัดสิ่งสกปรก ไนติงเกลเน้นย้ำว่าอาหารที่เอามาดูแลผู้ป่วยต้องได้รับการปรุงให้สุกเท่านั้น ต้องมีเนื้อและขนมปังสด เธอเริ่มการซักเสื้อผ้าและเตียงผู้ป่วยให้สะอาด สร้างห้องนั่งเล่นและห้องสมุดแก่คนป่วยเพื่อสร้างความผ่อนคลาย รวมถึงสั่งย้ายศพม้าที่ตายออกไปจากพื้นที่โรงพยาบาลป้องกันการปนเปื้อนในน้ำ ซึ่งเป็นเหตุให้ทหารตายกันเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้เธอยังให้คำแนะนำกับพยาบาลว่า ต้องหมั่นล้างมือให้บ่อยครั้งเข้าไว้ จะให้ดีล้างหน้าควบคู่ไปด้วย คำแนะนำนี้มีขึ้นเพื่อให้พยาบาลป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค ผ่านไป 200 ปี มนุษย์ทุกคนต่างเอาคำแนะนำของไนติงเกลกลับมาปฏิบัติใช้กันอย่างเคร่งครัดอีกครั้งเพื่อป้องกันตัวเองจาก COVID-19
ไนติงเกลเขียนประสบการณ์การดูแลรักษาโรงพยาบาลในสงครามไครเมีย กลายเป็นหนังสือที่กระทรวงสงครามของอังกฤษนำไปใช้ปรับปรุงแก่โรงพยาบาลทหารทุกเหล่าทัพอีกด้วย
ทั้งนี้ในระหว่างสงครามไครเมีย เธอจะออกตรวจถามไถ่อาการคนไข้ทุกคน ในเวลากลางคืนฟลอเรนซ์จะถือตะเกียงหมั่นเช็กอาการของคนไข้ด้วยความเป็นห่วงจากใจจริง
สิ่งที่ทำนั้น สร้างความประทับใจให้กับทหารอย่างยิ่ง พวกเขาเรียกเธอว่า ‘หญิงสาวที่มาพร้อมกับตะเกียง’ บ้างก็เรียกเธอว่า ‘นางฟ้าแห่งไครเมีย’ แต่ไม่ว่าจะเรียกเธอว่าอะไร สิ่งที่เธอทำนั้นเห็นผลอย่างยิ่ง เพราะมันลดการเสียชีวิตของทหารได้ถึง 2 ใน 3 เลยทีเดียว จากสถิติทหารเสียชีวิตในโรงพยาบาล ก่อนเธอมาถึงนั้นสูงถึงร้อยละ 42.7 แต่เมื่อฟลอเรนซ์และทีมงานเดินทางมา อัตราการเสียชีวิตของทหารที่เข้ารับการรักษาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.2 เท่านั้น
ฟลอเรนซ์ปฏิบัติหน้าที่ถึง 1 ปีครึ่งจนเมื่อสงครามไครเมียยุติลง จึงได้เดินทางกลับบ้านในฤดูร้อน ปี ค.ศ.1856 ทุกคนต่างรับรู้เรื่องราวของเธอ และยกย่องวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ความมีชื่อเสียงของฟลอเรนซ์ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (
สงครามไครเมียนับเป็นสงครามครั้งแรกๆ ของโลกที่มีการส่งสื่อมวลชนรายงานข่าว ทำให้เรื่องราวของฟลอเรนซ์ถูกเล่าขานผ่านทางสื่อมวลชน หลังเสร็จสงคราม ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลนำเสนอความเลวร้ายของสงครามเรียกร้องทางการเมืองให้มีการปรับปรุงบูรณะยกระดับสถานพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น เธอได้ผลักดันเรื่องนี้จนนักการเมืองในสภาต้องออกกฎหมายให้โรงพยาบาลต้องดูแลสุขอนามัยในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
นับเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญโดยผู้หญิง
ที่ทำให้ชีวิตนับล้าน
รวมถึงอายุขัยของคนอังกฤษสูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังสนับสนุนให้ผู้หญิงจำนวนมากได้รับการศึกษามากกว่าเดิม สนับสนุนสตรีเพศออกมาประกอบอาชีพให้มากขึ้นด้วย อาชีพพยาบาลที่เคยถูกดูถูกว่าเป็นงานของหญิงชนชั้นล่างที่ไม่เป็นโสเภณีก็พวกติดเหล้ามักจะไปทำกัน แต่เพราะไนติงเกล ทำให้หญิงสาวจำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจและตัดสินใจเลือกอาชีพนี้ หญิงจากสกุลสูงศักดิ์ต่างเข้าเรียนโรงเรียนฝึกหัดพยาบาลเพราะต้องการเดินตามรอยของฟลอเรนซ์อีกด้วย
ไม่เพียงเป็นการปฏิวัติเกี่ยวกับคุณภาพของโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลยังปฏิวัติวิถีชีวิตทางเพศที่ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกดขี่ให้แหกขนบกล้าขบถต่อมาตรฐานแห่งยุคสมัยอีกด้วย
3.
นอกจากนี้เธอเองยังได้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดพยาบาลในอังกฤษ พร้อมทั้งเขียนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจำนวนหลายสิบเล่ม อีกทั้งยังเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเพื่อก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดพยาบาล เพื่อให้ออกไปทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยเหมือนดังที่เธอเคยทำมาในสงครามไครเมียอีกด้วย
อย่างไรก็ดีผลจากสงครามไครเมีย ทำให้ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลล้มป่วยออดๆ แอดๆ จากสงคราม และไม่เคยหายจากโรคอย่างเด็ดขาดเลย หลายครั้งเธอป่วยจนลุกจากเตียงไม่ได้ แต่ก็ยังทำงานเขียนหนังสือบนเตียงต่อไป
แต่แม้จะป่วยออดๆ แอดๆ แต่ฟลอเรนซ์กลับมีอายุยืนยาว ในปี ค.ศ.1908 ขณะอายุได้ 88 ปี เธอได้รับยกย่องจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII) พระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียที่สืบราชสมบัติต่อ รวมถึงเมื่อถึงวันเกิดอายุครบ 90 ปี พระเจ้าจอร์จที่ 5 (George V) อันเป็นพระอัยกาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) กษัตริย์องค์ปัจจุบันของอังกฤษ ก็ได้ส่งพระราชสาส์นอำนวยพรในวันเกิดเธอด้วย
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลมีชีวิตยืนยาวในอังกฤษผ่านการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินถึง 3 แผ่นดินด้วยกัน จวบจนเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1910 เธอได้ล้มป่วยลง แม้จะมีอาการดีขึ้น แต่ในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1910 ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลได้เสียชีวิตลงในบ้านพักของเธอ
ปิดฉากชีวิตอันทรงพลังด้วยวัย 90 ปี
เดิมทีฟลอเรนซ์ต้องการให้งานศพของเธอนั้นเรียบง่ายไม่หวือหวา อันเป็นนิสัยในวัยเด็กที่ไม่ต้องการเป็นที่สนใจแก่ใครๆ แต่เจตจำนงค์ของเธอนี้ได้รับการปฏิเสธจากสาธารณชน งานศพของเธอถือเป็นงานระดับชาติ มีผู้เข้าร่วมงานมากมาย ผลงานของเธอได้รับการสานต่อ เรื่องราวของเธอได้รับการเล่าขาน
ผ่านไป 200 ปี ตำนานของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
ไม่เคยตายไปจากโลกใบนี้
บทสรุป
เดิมทีหากไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วทั้งโลกได้เตรียมการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีของฟลอเรนซ์ไว้แล้ว แต่เพราะโรคระบาด จึงทำให้การเฉลิมฉลองต้องถูกงดจัดไป นี่แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ของเธอนั้นยังคงได้รับการสานต่อจากบุคลากรการแพทย์และมนุษย์จำนวนมากที่พยายามทำให้โลกกลมๆ ใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม
เพราะอุดมการณ์เหล่านี้ไม่เคยจางหาย แม้เวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใด มันยังคงได้รับการสืบทอดจากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ความอนาทรห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์จึงยังได้รับการปฏิบัติสานต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าฟลอเรนซ์ ไนติงเกลจะจากโลกไปนานแล้ว แต่โลกใบนี้ยังมีคนอย่างเธอมากมายเกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า