วันก่อนระหว่างที่นั่งคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่เคยทำงานโรงแรม เขาระบายว่าหลังจากที่ช่วงต้นปีถูกระงับงานชั่วคราวก็ยังพอจะมีความหวังเล็กๆ ว่ามันคงเป็นช่วงเวลาแค่สั้นๆ สักสองอาทิตย์ก็คงกลับไปทำงานได้ตามปกติ อย่างมากก็ไม่น่าเกือนหนึ่งเดือน ตอนแรกรู้สึกเหมือนได้พักผ่อน นอนเล่นอยู่บ้าน ตื่นสาย ดู Netflix สั่งข้าวเดลิเวอรี่มาทานที่บ้านอย่างมีความสุข
แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากเดือนกลายเป็นสองกลายเป็นสาม ผ่านสงกรานต์ที่ไม่ได้เล่นน้ำไปแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าเขาจะได้กลับไปทำงานสักที เงินในบัญชีก็เริ่มร่อยหรอ ความเครียดและวิตกกังวลเริ่มเข้ามาแทน ปัญหาตอนนี้อาจจะใหญ่กว่าที่เขาคาดคิดเอาไว้ จนสุดท้ายผ่านเดือนที่สี่ก็มีอีเมลมาจากที่หัวหน้า รายละเอียดในนั้นไม่ใช่การแจ้งวันกลับมาเริ่มงาน แต่เป็นการบอกลาว่าธุรกิจโรงแรมที่เขาเคยทำได้ปิดตัวลงแล้วแม้จะพยายามยื้อมานานได้สักพัก
เรื่องราวชวนหดหู่แบบนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เราได้ยินกันอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะจากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือจากคนที่เรารู้จักใกล้ตัวก็ตาม ไม่ใช่แค่ธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ COVID-19 สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างกับธุรกิจทุกอย่างในแทบจะทุกอุตสาหกรรม ต้องมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด จนผ่านมาถึงตอนนี้เรียกได้อย่างเต็มปากเลยว่าเราอยู่ในยุค ‘New Normal’ กันเรียบร้อยแล้ว เราใช้ชีวิตในแบบที่พึ่งพาเทคโนโลยีรอบตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งการเสพข่าวผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ การเชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัว ความบันเทิงที่มาในรูปแบบใหม่ การซื้อของใช้เข้าบ้าน การสั่งอาหารมาทาน การทำงานแบบ WFH ที่ตามมาด้วยปัญหาเรื่องของน้ำหนักตัวที่พุ่งเหมือนติดจรวด คลาสสอนออนไลน์สำหรับการพัฒนาตนเองไปจนถึงลูกหลานที่ต้องเข้าเรียนแบบมีผู้ปกครองนั่งเฝ้าข้างๆ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นกับชีวิตเราในปี ค.ศ.2020 และมันก็เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของเราโดยมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวในแทบทุกด้านเลยก็ว่าได้
หน้าจอกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การตามงานตอนเช้าในไลน์กรุ๊ป ตอบแชตครอบครัวสวัสดีวันจันทร์ ทำงานผ่าน spreadsheets/powerpoints/docs รับชมความบันเทิงในที่พักอาศัย binge watching ซีรีส์บน Netflix ค่ำยันเช้า รับอัพเดทข่าวสารประเด็นความเคลื่อนไหวร้อนๆ บน Twitter เรากลายเป็นมนุษย์ที่มีหน้าต่างมองสู่โลกภายนอกผ่านหน้าจอมือถือเล็กๆ ในมือ มีรายงานอันหนึ่งที่ทั้งน่าสนใจและน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกันจาก Vision Direct บอกว่าผลสำรวจจากผู้ใช้อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกในอังกฤษและอเมริกากว่า 2,000 คนพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาบนหน้าจอ (รวมกันหลายๆ หน้าจอ) กว่า 13-17 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
ซึ่งถ้าพฤติกรรมของมนุษย์ยังไม่เปลี่ยนแปลงล่ะก็ ช่วงเวลาเฉลี่ยที่เราจะใช้บนหน้าจอ (แล็ปท็อป, สมาร์ตโฟน, ทีวี ฯลฯ) ตลอดชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตายในอายุเฉลี่ยคนปกติสูงถึง 58 ปีเลยทีเดียว (อายุเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 72 ปี) อาชีพหนึ่งที่น่าสนใจในอนาคตและความต้องการน่าจะสูงขึ้นไปอีกอาจจะเป็น ‘จักษุแพทย์’ ก็ได้
ถ้ามีเทคโนโลยีอันหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตของเรามากที่สุดคงหนีไม่พ้น Zoom ด้วยความที่เจ้าไวรัส COVID-19 ทำให้การสุงสิงอยู่ใกล้คนอื่นมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย จึงทำให้การอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนอย่างที่ทำงาน โรงเรียน หรือโดยสารสาธารณะเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง การพึ่งพาอาศัยใบบุญของ Zoom เลยกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน มันทำให้ห้องนั่งเล่นของเรากลายเป็นโรงเรียนของลูกๆ โซฟาห้องนอนกลายเป็นออฟฟิศนุ่มๆ หลักฐานง่ายๆ เลยคือตัวเลขผู้ใช้งานจาก 10 ล้านคนบน Zoom ก่อนไวรัสระบาด มาเป็น 300 ล้านคนภายในเดือนมีนาคมก็พอ
เข้าใจได้ว่าทำไมคำศัพท์อย่าง ‘Zoom Fatigue’
หรือการเหนื่อยล้าอาการ Zoom นั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
นอกจากการใช้หน้าจอที่เยอะและมีอาการ Zoom Fatigue แล้ว เรายังมีการใช้หน้าจอเพื่อเจอคุณหมอหรือปรึกษาทางการแพทย์เข้ามาเพิ่มอีกด้วย ‘Telemedication’ หรือ ‘Teletherapy’ กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผู้ป่วยนั่งอยู่ที่บ้าน กดเปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อเข้าเจอหมอ หลังจากตรวจเสร็จมียามาส่งถึงหน้าบ้านภายใน 30 นาทีเลย
รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ เราเห็นคลาสสอนตั้งแต่แบบ live streaming เพื่อเช็คชื่อการเข้าห้องเรียน ไปจนถึงการอัดเป็นคลิปแล้วให้นักเรียนมาไล่ตามกันทีหลังได้ ความนิยมของคลาสสอนหรือคลาสเรียนที่เป็นแนวความคิดสร้างสรรค์ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เราเห็นแอพพลิเคชั่นอย่าง Coursera, Masterclass หรือ Domestika ที่เติบโตอย่างมาก (Coursera มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 400% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน, Masterclass เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าและใช้เวลาบนระบบมากขึ้นเท่าตัว) คลาสสอนแบบอิสระบน Social Media อย่างเฟซบุ๊กก็ไม่แพ้กัน เราเห็น workshop สอนทำคราฟต์โซดา, สอนวาดรูป, ระบายสีน้ำ ไปจนถึงงานฝีมืองานไม้ต่างๆ เพราะสิ่งที่ทุกคนมีคือเวลาและการอยู่บ้านเฉยๆ ก็เป็นเรื่องน่าเบื่อ จึงไม่แปลกใจที่คลาสเหล่านี้ได้รับความนิยมและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
คลาสเรียนแบบ one-way นั้นบางทีก็ดูน่าเบื่อเกินไป มีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เรียกว่า ‘Virtual Field Trips’ ที่พยายามทำให้เด็กๆ ‘เสมือนว่า’ กำลังอยู่ในที่ตรงนั้นจริงๆ อย่างเช่นการการไปเดินทัวร์ใน New York’s Metropolitan Museum of Art หรือการชม Live Stream ของเพนกวิน แพนด้า กับ หมีขั้วโลกโดยตรงจาก San Diego Zoo พิมพ์แชตสดโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ของ Denali National Park หรือถ้าอยากออกสนุกกว่านั้นก็ไปดูดาวอังคารแบบ 360 องศาผ่านยานคิวริออสซิตี้ (Curiosity Rover) ของ NASA เลย
การจัดอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตก็กลายเป็น virtual อยู่ออนไลน์เช่นเดียวกัน (แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะออกมาแบบไม่ค่อยดีนักก็ตาม) ส่วนตัวมีโอกาสได้ไปเปิดบูธแบบ Virtual Booth ที่งาน Corporate Innovation Summit 2020 (CIS 2020) เพราะไปพิชชิ่งแล้วได้รางวัลมา ซึ่งปกติแล้วงานนี้ถูกวางไว้ที่ประเทศเกาหลี มีการเชิญนักพูดชื่อดังอย่าง Eric Ries, Patty Mccord และ Andreas Weigend มาในงานด้วย แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ถูกจัดให้อยู่บนโลกออนไลน์ ต้องอัดวีดีโอแนะนำบริษัทเข้าไป ทางระบบก็จะเอาเราไปวางไว้เป็นจุดๆในแผนผัง พอวันงานจริงๆแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีใครคลิ๊กเข้าไปดูเลยด้วยซ้ำ หรือแม้แต่งานคอนเสิร์ตต่างๆ แม้ว่าการจัดแบบออนไลน์จะทำให้เราเหมือนนั่งอยู่แถวหน้าสุดของเวที แต่พอได้ถามเพื่อนๆ ที่เป็นสายงานคอนเสิร์ตจริงๆ ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า “ก็ดีกว่าไม่มี แต่มันไม่สุดเลย”
มาถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการหาคู่ออนไลน์หรือการออกกำลังกาย ทุกอย่างก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทั้งสิ้น Bumble ได้ออกฟีเจอร์ Video Chat ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีการใช้งานมากขึ้นถึง 70% และมีการสำรวจต่อว่าหลังจากที่โรคระบาดถูกควบคุมได้แล้ว ส่วนใหญ่ก็น่าจะยังใช้ฟีเจอร์นี้ต่อไปอยู่ หรืออย่างเรื่องการออกกำลังกาย ในเมื่อยิมไม่สามารถเปิดทำการได้ สตาร์ทอัพสายสื่อและอุปกรณ์การออกกำลังกายที่มีชื่อเสียงอย่าง Peloton มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวจาก 1.4 ล้านคนเป็น 3.1 ล้านคนในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งพวกเขาให้บริการคลาสออกกำลังกายแบบ On-Demand สมาชิกใช้เวลาว่างที่มีเพื่อออกกำลังกายมากขึ้นและบ่อยขึ้น จากประมาณ 12 นาทีต่ออุปกรณ์ต่อเดือนไปเป็น 24 นาทีต่ออุปกรณ์ต่อเดือน
การคมนาคมรูปแบบใหม่อย่าง e-Bike เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เท่าไหร่ แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่าง New York หรือ Washington D.C. มีเพิ่มขึ้นมากขึ้น 96% ในช่วงเดือนมีนาคมกับเมษายน เหตุผลคือคนพยายามหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่แคบๆอย่างรถไฟใต้ดิน บริษัท Vanmoof ผู้ผลิต e-Bike สัญชาติดัตช์มียอดขายเพิ่มขึ้น 397% ทั่วโลกและ 91% ในอเมริกาเริ่มต้นเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ยอดขายนี้อาจจะเกิดในอีก 5 ปีข้างหน้า แทนที่จะเป็น 5 เดือนในเวลานี้
อย่าลืมเรื่องช้อปปิ้งออนไลน์และการสั่งอาหารออนไลน์เป็นอันขาด
มันกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว
อยากได้อะไรเปิด shopee, lazada อยากกินอะไรเปิด grab, foodpanda เรากดสั่งซื้อจนแทบจะกลายเป็น reflex ไปแล้วโดยไม่ต้องคิด แม่ยายที่อายุ 70 กว่าที่บ้านยังกดให้แกร็บมาส่งเย็นตาโฟถึงหน้าบ้านได้ นี่คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ แม้แต่ 7-11 ก็มีการปรับตัวให้พนักงานของร้านเดลิเวอรี่สินค้าไปยังบ้านลูกค้าในระแวกใกล้เคียง ทำให้ช่วยเพิ่มยอดขายจากที่คนไม่ยอมออกบ้านเพราะกลัวความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือร้านอาหารเหล่านี้เริ่มเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นจุดขาย อย่างเช่นการใช้พวก e-Menu หรือการจองผ่านระบบเว็บไซต์ของร้านโดยลดการสัมผัสให้น้อยที่สุด สั่งไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วขับรถไปเอาที่ร้านเลย Online Payment, QR Code หรือ Prompt Pay เป็นเครื่องมือที่จำเป็นไปแล้ว สังคมไร้เงินสดดึงแอพธนาคารออกมาแสกนจ่ายถือเป็นสิ่งที่ทำตลอดทั้งวัน
เราใช้เวลาเพื่อความบันเทิงมากยิ่งขึ้น หนังสืออิเลคโทรนิคหรือ e-book ได้รับความนิยมและยอดขายเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 39% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับปีก่อนจากรายงานของ Good E-Reader และถ้าเทียบกับช่วง 10 เดือนของทั้งปีเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 16.5% เลยทีเดียว หมวดหมู่ที่ขายดีจะเป็นหนังสือเด็กและ Young Adult
บริการสตรีมมิ่งมีเดียอย่าง Netflix, HBO Max และ Disney Plus ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน แค่ในอเมริกาเองมีการเปิดใช้งานและรับชมคอนเทนต์เพิ่มขึ้นถึง 4 พันล้านชั่วโมง เมื่อเทียบกันปีต่อปี นำพามาซึ่งยอดขายทีวีขนาดใหญ่กว่า 65 นิ้วนั้นกระโดดขึ้นไป 77% ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
Online Gaming และ Gaming Console กลับมาได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย เชื่อว่าใครที่ไม่เคยรู้จัก Nintendo Switch มาก่อน น่าจะได้ยินชื่อของเจ้าคอนโซลแบบพกพาที่ได้รับความนิยมจนของขาดตลาด ขายหมดเกลี้ยงชั้น โรงงานที่ญี่ปุ่นผลิตไม่ทัน มีการปั่นราคาขึ้นไปสูงเกือบสองเท่าจากราคาปกติที่ขายกัน แผ่นเกมส์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอย่าง Animal Crossing : New Horizon ก็กลายเป็นสินค้าที่หายาก ราคาถูกปั่น แต่คนก็ยอมจ่ายกันเพราะรู้สึกว่าได้เล่นแล้วผ่อนคลายเหมือนได้มีโอกาสไปเที่ยวบนเกาะไกลๆ ตัวคอนโซลเองยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 37% ในช่วงเดือนสิงหาคม แม้ว่ามันจะเปิดตัวมาแล้วกกว่าสามปีก็ตาม
สิ่งที่กระทบหนักสุดคงหนีไม่พ้นการเดินทางท่องเที่ยว สายการบินปิดตัว ขาดทุน โรงแรมเจ๊งกันระนาว สถานที่ท่องเที่ยว กรุ๊ปทัวร์ ไกด์ ร้านอาหาร ทุกอย่างที่อยู่ในสายระบบนี้ล้มเป็นโดมิโนที่ไม่รู้เลยว่าปลายทางจะไปหยุดที่ตรงไหน เห็นความพยายามของหลายๆ สายการบินที่ออกโปรแกรมให้คนมาขึ้นเครื่องบินและบินวนกลับมาลงสนามบินเดิมเพื่อลดการคิดถึงการท่องเที่ยว หรือแม้แต่สายการบินไทยเราก็เห็นโปรแกรมทัวร์บินผ่านวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แน่นอนว่ามันอาจจะดูการพยายามที่อาจจะไม่สร้างรายได้อะไรกลับมามากนัก แต่อย่างน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง
แน่นอนว่าเทรนด์เหล่านี้บางอันอาจจะอยู่ได้ไม่นาน อย่างพวก e-Book หรือ เกมส์คอนโซลที่ขาดตลาด หรือแม้แต่การเดินทางท่องเที่ยว เพียงแต่รอเวลาให้ทุกอย่างนั้นคลี่คลายลงกว่านี้เท่านั้น
ตอนนี้ใกล้สิ้นปีแล้ว 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง บางอันน่าตื่นเต้น บางอันน่าหดหู่ เทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของเราไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามที่ชีวิตก็ยังคงต้องเดินต่อไปข้างหน้า เราไม่มีทางรู้หรอกว่าปีหน้าทุกอย่างจะดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ที่แน่ๆก็คือวิถีชีวิตของเราจะไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป
===========
อ้างอิง