โลกเมื่อกว่า 60 ปีก่อน คุกรุ่นด้วยสงครามเย็น การชิงอำนาจกันระหว่างสหภาพโซเวียตแห่งระบอบคอมมิวนิสต์กับสหรัฐอเมริกาแห่งระบอบเสรีนิยม ดุเดือดเลือดพล่านจนไม่เพียงกระทบกับโลกกลมๆ ทุกหย่อมหญ้าเท่านั้น มันยังสะเทือนลือลั่นไปถึงนอกโลกอีกด้วย
ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ.1957 สหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จ นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่แห่งการเดินทางสู่อวกาศ จากนั้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนปีเดียวกัน สหภาพโซเวียตสานต่อยอดความสำเร็จทางอวกาศ ด้วยการส่งสิ่งมีชีวิตไปอวกาศร่วมกับดาวเทียมโคจรรอบโลก สิ่งมีชีวิตนั้นคือสุนัขสายพันธุ์ฮัสกี้ ที่พบได้ตามปกติในดินแดนสหภาพโซเวียต
มนุษย์ตั้งชื่อให้มันว่า ไลก้า (Laika)
เป็นเกียรติและหมุดหมายสำคัญของการเดินทางไปอวกาศ ความตายจากการเดินทางไปนอกโลก ได้ทำให้ตัวไลก้าเองเกิดใหม่กลายเป็นตำนานเล่าขานจวบจนถึงปัจจุบัน
ก่อนเดินทางไปอวกาศ
ในปี ค.ศ.1957 นั้น ประธานาธิบดีนิกิต้า ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ต้องการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิวัติบอลเชวิก อันเป็นการกำเนิดสหภาพโซเวียต รัฐคอมมิวนิสต์แห่งแรกของโลก ความทะเยอะทะยานทางอวกาศเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองนี้ เมื่อดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จ โครงการดาวเทียมสปุตนิก 2 ก็เริ่มขึ้นในเวลาไม่ถึงเดือน โดยคราวนี้มีการทดลองที่จะส่งสิ่งมีชีวิตไปโคจรร่วมกับดาวเทียมด้วย
การทดลองส่งสัตว์ขึ้นไปในอวกาศนั้น เป็นการทดลองเตรียมการก่อนที่จะส่งมนุษย์สักคนไปนอกโลก ฟากสหรัฐอเมริกานั้นเริ่มโครงการส่งสัตว์ขึ้นฟ้ามาก่อน และพวกเขาเลือกลิง ซึ่งขึ้นไปที่สุดขอบฟ้า บางตัวก็ตาย แต่บางตัวก็รอดมาในสภาพพิกลพิการ
เมื่ออเมริกาเลือกลิง โซเวียตจึงหันไปเลือกสุนัขแทน ประมาณว่าจะได้ไม่ซ้ำสัตว์กัน โดยเน้นสุนัขจรจัดในมอสโกที่หาจับมาได้ง่าย ๆ
สำหรับสาเหตุที่เลือกสุนัขจรจัดนั้น ก็เพราะว่าสุนัขเหล่านี้จะมีคุณสมบัติทรหด
เนื่องจากการเร่ร่อนจรจัดในกรุงมอสโกนั้นจะต้องทนหิวทนอดทนอยาก แถมยังต้องทนกับสภาพอากาศที่หนาวจัดอีกด้วย
ก่อนหน้าไลก้าจะไปบุกอวกาศนั้น โซเวียตมีการทดลองส่งสุนัขขึ้นกับจรวดมาก่อนแล้วประมาณ 30-50 ตัวด้วยกัน บางตัวตาย แต่บางตัวก็รอดกลับมาได้จากเส้นขอบฟ้า
คราวนี้โซเวียตสร้างดาวเทียมที่ดีกว่าสปุตนิก 1 และเริ่มเตรียมการส่งสุนัขขึ้นไปยังห้วงอวกาศอันเวิ้งว้าง 1 สัปดาห์ก่อนจะเริ่มส่งจรวด ทางการไล่จับสุนัขจรจัดในเมืองมอสโก ไลก้าคือสุนัขเพศเมียวัย 3 ปีที่ถูกจับมาและเตรียมการทดลองคัดเลือกว่าจะส่งขึ้นดาวเทียมดีไหม
พวกเขาจับไลก้ามาใส่ในกรงขังเล็ก ๆ ร่วมกับสุนัขจรจัดตัวอื่น ๆ และให้ทดลองกินเจลอาหารที่เตรียมไว้ในอวกาศ ซึ่งทางการโซเวียตก็ค้นพบคุณสมบัติน่าสนใจของไลก้าที่เหมาะควรจะขึ้นไปกับดาวเทียมอย่างมาก นั่นก็คือ ตัวมันเล็กมาก แต่ไม่เล็กเกินควร เหมาะกับการใส่ไปกับดาวเทียม และคุณสมบัติสำคัญคือ มันดูนิ่งสงบสยบทุกความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้มันถูกเลือกขึ้นไปกับดาวเทียมสปุตนิก 2 นี้
โดยเทคโนโลยีในขณะนั้น ทุกคนรู้ดีว่า ไลก้าถูกเลือกให้ไปตาย เพราะมันยากยิ่งที่จะรอดกลับมามีชีวิตในการเดินทางไปอวกาศครั้งนี้ได้ ดังนั้นก่อนจะถูกส่งไปอวกาศ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้พาไลก้ากลับไปให้ลูกๆ ที่บ้านเล่นด้วย
“ไลก้าเป็นสุนัขเงียบๆ แต่มีเสน่ห์ ผมอยากทำอะไรดีๆ ให้สักหน่อย เพราะเธอจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว”
การเสียสละ
ช่วงเย็นของวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1957 ที่ฐานทัพลับในเมืองคาซัคสถาน ดาวเทียมสปุตนิก 2 ก็ขึ้นไปในอวกาศ โคจรรอบโลกด้วยความเร็วที่ดีกว่าดาวเทียมสปุตนิก 1 และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้น เพราะดาวเทียมดวงนี้มีสุนัขชื่อว่าไลก้าขึ้นไปด้วย นับเป็นก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์โลก
ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อทราบข่าวความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในการส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นในห้วงอวกาศ ก็เร่งรัดโครงการทางอวกาศในทันที เพื่อเป็นการป้องกันภัยคุกคามความมั่นคง ที่บัดนี้มันกินพื้นที่ไปยังนอกโลกเสียแล้ว
เรื่องตลกอย่างหนึ่งคือตอนไลก้าขึ้นไปนอกโลก สื่อตะวันตกสับสนไม่รู้ว่าจะเรียกชื่อสุนัขตัวนี้ว่าอย่างไรดี จึงมีหลายชื่อปรากฏมากมาย เช่น คูไดรยาก้า (เจ้าขนหยิกน้อย) หรือว่าจะเป็น ลิมอนชิก (เจ้ามะนาวน้อย) ดามก้า (แม่สาวน้อย) จวบจนทางการโซเวียตต้องประกาศว่าสุนัขตัวนี้ชื่อว่า ไลก้า (ซึ่งแปลว่า ‘จอมเห่า’) อย่างไรก็ดี สื่อตะวันตกบางฉบับยังคงตั้งชื่อพิเศษให้ว่า Muttnik ล้อไปกับชื่อดาวเทียมสปุตนิกด้วย
สปุตนิก 2 เดินทางโคจรรอบโลก 5 เดือน ก่อนที่จะร่วงตกลงในสภาพถูกเผาไหม้เละเป็นจุณกลางทะเลแคริบเบียน พร้อมกับความตายของไลก้า
ระหว่างการวงโคจรไปรอบโลกของดาวเทียมสปุตนิก 2 นั้น สื่ออังกฤษได้รายงานข่าวการเสียชีวิตของไลก้า ทำให้สถานทูตโซเวียตประจำอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นกำลังเฉลิมฉลองความสำเร็จของการส่งสิ่งมีชีวิตโคจรไปกับดาวเทียม ต้องออกมาให้ข่าวแก้ต่างความตายของไลก้าว่า
“คนรัสเซียนั้นรักหมา เรื่องนี้ไม่ใช่ความโหดร้ายทารุณ แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ”
โดยทางการโซเวียตยืนยันว่า ไลก้านั้นเสียชีวิตอย่างไม่เจ็บปวดรวดร้าว
หลังจากขึ้นเดินทางไปกับดาวเทียมได้หลายวัน
ความสำเร็จและความเสียสละของไลก้านี้เอง ที่ปลุกให้เกิดการส่งสุนัขอีกหลายตัวขึ้นไปในอวกาศ รวมไปถึงการปรับปรุงเทคโนโลยีของดาวเทียม จนทำให้สุนัขที่ถูกส่งขึ้นไปในห้วงอวกาศกับดาวเทียมของโซเวียตในเวลาต่อมา มีชีวิตรอดกลับมาได้ ไม่ต้องตาย ศพโดนเผาไหม้แหลกละเอียดเหมือนไลก้าอีกต่อไป
เป็นการเสียสละของสุนัขตัวหนึ่งที่ทำให้สุนัขตัวอื่นรอดมาได้
และมันเป็นการปูทางสู่การพามนุษย์ไปห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกของโลกในปี ค.ศ.1961 หรือ 4 ปีหลังจากที่ไลก้าถูกส่งไปนอกโลก
ว่ากันว่า ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) มนุษย์ที่เดินทางไปอวกาศเป็นคนแรก ถึงกับปล่อยมุกระหว่างการเดินทางไปนอกโลกว่า “นี่ผมเป็นมนุษย์คนแรกในอวกาศ หรือเป็นสุนัขตัวล่าสุดกันแน่”
นับเป็นคุณูปการครั้งสำคัญของไลก้าที่เจ้าตัวไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำไปว่า ความตายของตัวเองนั้นทำให้เทคโนโลยีอวกาศก้าวหน้ามากขึ้นไปขนาดไหน
นี่พอจะเรียกว่า เป็นการเสียสละของสิ่งมีชีวิตเพื่อคุณประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติได้หรือไม่
ความจริงเปิดเผย
เอาเข้าจริงเรื่องความตายของไลก้า เป็นเรื่องที่สหภาพโซเวียตปิดบังมาตลอด จนต่อมาประเทศล่มสลายกลายเป็นรัสเซีย ระบอบคอมมิวนิสต์จางจาก กลายเป็นระบอบเลือกตั้งผู้แทน ในปี ค.ศ.2002 ภายหลังการเดินทางไปตายนอกโลกของไลก้า 45 ปี ทางรัสเซียได้ชี้แจงว่า ความจริงแล้ว ไลก้ามีชีวิตรอดหลังจากดาวเทียมขึ้นไปนอกโลกได้ไม่ถึงชั่วโมงเอง
สาเหตุการเสียชีวิตนี้เกิดจาก ความตื่นตกใจของตัวไลก้าเอง ประกอบกับความร้อนของดาวเทียมในการฝ่าทะลุชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดอุณหภูมิที่สูงมาก ในที่สุดไลก้าก็ทนความร้อนนี้ไม่ไหว เสียชีวิตในเวลาต่อมา
สำหรับคนที่รักสัตว์ เรื่องราวของไลก้านั้นเป็นสิ่งที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง เพราะเธอเป็นสุนัขจรจัดที่ถูกจับมาทดลองเลี้ยง แล้วอยู่ดีๆ ก็ถูกส่งไปตายนอกโลก แม้แต่ศพก็ไม่มี ความตายของไลก้านั้นเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนตะวันตกในตอนนั้นค่อนข้างจะรับไม่ได้อยู่เหมือนกัน
เอาเข้าจริงแล้วการส่งไลก้าไปอวกาศนั้นถือเป็นความสำเร็จที่มีนัยทางการเมืองมาด้วย เพราะการส่งดาวเทียมขึ้นไปนอกโลก สร้างความตื่นตะลึงให้กับสหรัฐอเมริกา เพราะนั่นเท่ากับว่าสหภาพโซเวียตมีโอกาสสูงมากที่จะส่งระเบิดนิวเคลียร์ไปนอกโลกแล้วให้มันพุ่งลงมาใส่แผ่นดินอเมริกาได้
ดังนั้นสารของการเดินทางของไลก้า
จึงเป็นสารเรื่องการข่มขู่คุกคามในช่วงสงครามเย็นเช่นกัน
แต่สำหรับทางสื่อของโซเวียตนั้น ไลก้ากลายเป็นวีรชนของชาติและระบอบคอมมิวนิสต์ในทันที ไลก้ากลายเป็นดาวเด่นในโซเวียต มีการทำของที่ระลึกไลก้าทั้งกล่องไม้ขีดไฟ โปสการ์ด แสตมป์ บุหรี่ ยังไม่นับการสร้างอนุสาวรีย์ในเวลาต่อมาด้วย ทั้งนี้ขอย้ำว่าตัวสุนัขไลก้านั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลกับยี่ห้อกล้องไลก้า (Leica) อันแสนแพงแต่อย่างใด
ภายหลังการขึ้นไปอวกาศของไลก้านั้น มนุษย์ยังได้ทดลองส่งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขึ้นไปในห้วงอวกาศทั้ง หนู ปลา กบ แม้กระทั่งแมงมุมก็ล้วนถูกส่งไปผจญภัยในห้วงอวกาศกับเขาด้วยเหมือนกัน
แต่สิ่งที่ควรรำลึกถึงคือ เพราะการที่ผู้นำโซเวียตยุคนั้นเร่งให้มีการจัดส่งดาวเทียมขึ้นไปเฉลิมฉลองการปฏิวัติบอลเชวิก ทำให้การสร้างดาวเทียมนั้นเป็นไปอย่างรีบเร่งจนผู้สร้างไม่มีเวลาจัดการกับความร้อนขณะดาวเทียมจะทะลุไปนอกชั้นบรรยากาศ และทำให้ไม่มีการติดตั้งเทคโนโลยีด้านความเย็นขึ้นมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไลก้าต้องจบชีวิตลง
สรุป
ทุกวันนี้เรื่องราวของอวกาศพัฒนาขึ้นไปมาก การเดินทางไปท่องเที่ยวในอวกาศใกล้จะกลายเป็นเรื่องจริงสำหรับมนุษย์มากขึ้น แม้กระทั่งการไปก่อตั้งอาณานิคมบนดาวดวงอื่นก็ไม่ใช่แค่เรื่องราวในภาพยนตร์หรือในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป เพราะมันมีความเป็นไปได้ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ
ผลพวงนี้ถือเป็นความสำเร็จจากความตายของไลก้า ที่กลายเป็นตำนานและมรดกตกทอดให้กับความสำเร็จของมวลมนุษยชาติในเวลาต่อมา ทางสำนักข่าวนิวยอร์กเกอร์ชี้ให้เห็นว่า บทเรียนความตายของไลก้านั้น คือเรื่องที่ว่าการสำรวจอวกาศนั้นไม่ควรต้องทำร้ายจักรวาล โดยนิวยอร์กเกอร์อธิบายว่า การสำรวจอวกาศโดยเน้นมิติเรื่องการทหารมักจะละเลยความเจ็บปวดของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยยกตัวอย่างไลก้ามาว่า สุนัขเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่อยู่กับเรามาตั้งนมนาน เดินทางอพยพไปกับเราด้วยเสมอ
และพวกมันไม่เคยละทิ้งเรา ทั้งที่เราละทิ้งและทำร้ายมัน ดังนั้นขณะที่เราห่วงใยอวกาศ ขอให้เราจดจำไว้ด้วยว่า สุนัขนั้นมันก็ห่วงใยเรา
เรื่องราวความเสียสละที่มนุษย์กระทำแก่ไลก้า ควรได้รับการจดจำและเป็นบทเรียนว่าสัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิต รักตัวกลัวตายเหมือนกับเรา ไลก้าไม่รู้ภาษาคน ไม่มีโอกาสได้พูดกับมนุษย์ และมันคงไม่มีโอกาสรู้เรื่องราวและความตายของมันนั้นจะเป็นการส่งต่อความสำเร็จทางอวกาศแก่มวลมนุษยชาติ
แม้มันจะไม่รู้เรื่องราว แต่มนุษย์เรารับรู้ ขอเพียงไม่ลืมมัน และจดจำความตายของมัน พร้อมทั้งดูแลเมตตาสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
บางทีมันอาจทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้นสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธ์ุอย่างแน่นอน