กิจกรรมชิคๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ชาวไทยสายบุญนิยมเข้าร่วมติดต่อกันมาหลายปีแล้วก็คือ ‘การสวดมนต์ข้ามปี’ ซึ่งปีนี้ก็มีให้เลือกไปเก็บแต้มบุนกันหลากที่ หลายแคมเปญ แล้วแต่ใครจะสะดวก หรือมีศรัทธาต่อวัดไหนเป็นพิเศษ
หรือถ้าการไปสวดมนต์ในวัดระหว่างช่วงที่ชาวโลกเขากำลังเคานท์ดาวน์กันจะยังฮิปไม่พอ ก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือห้างสรรพสินค้า ที่จัดเต็มให้ฟรีทั้งแคมเปญ และสถานที่สำหรับกระทำความสวดมนต์เสริมบารมี สร้างออร่า แถมยังกวาดแต้มบุนกันจนตุงกระเป๋าอย่างนี้อีกให้เพียบเลยนะครับ
และก็เป็นหน่วยงานเหล่านี้แหละ ที่ช่วยกันผลิตแคมเปญการสวดมนต์ข้ามปีในชื่อฮิปๆ เช่น สวดมนต์ข้ามปี ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ, สวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ (เอิ่มม สองชื่อนี้ คนละงาน และจัดกันคนละสถานที่นะครับ ถึงจะตั้งชื่องานคล้ายกันแบบแทบจะโขกออกมาจากบล็อกเดียวกันก็เถอะ), สวดมนต์ข้ามปี ตามวิถีพ่อ วิถีไทย และอีกสารพัดบลาๆๆๆ
ผมไม่แน่ใจนักว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะทรงเคยสวดมนต์ข้ามปีหรือเปล่า? หน่วยงานเขาถึงได้อ้างกันได้ง่ายจังเลยว่าเป็น ‘วิถีพ่อ’ (เอาน่า! สวดมนต์ข้ามปีอาจจะเป็นกลวิธีกล่อมเกลาจิตใจให้รู้จักพอเพียงก็ได้) แต่ที่ว่า ‘วิถีไทย’ นี่ไม่ใช่แน่
เพราะไอ้ปีที่ว่านี่มันคือการนับปีแบบสากลนะครับ ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะย้ายมานับเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น เรานับเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่มาก่อน เก่ากว่านั้นก็นับที่วันมหาสงกรานต์ (ราววันที่ 13-15 เมษายน ของแต่ละปี) ส่วนเก่าที่สุดก็คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนอ้าย เพราะเดือนอ้ายแปลว่า เดือนที่หนึ่ง หรือเดือนแรก ตามปฏิทินจันทรคติของอุษาคเนย์
พี่ไทยเราเพิ่งจะมานับเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ก็เมื่อ พ.ศ. 2484 หรือเมื่อ 76 ปีที่แล้ว
ตาม ‘ประกาศ ให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่’ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ตรงกับสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประกาศฉบับนี้ ดำรงตำแหน่งท่านผู้นำของประเทศนี้เท่านั้นเอง
แถมในประกาศฉบับนี้ ยังมีข้อความบางตอนระบุเอาไว้ด้วยว่า “…นานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆ ทางปลายบูรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่…” ซึ่งก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ประกาศฉบับนี้ไม่ค่อยจะรักความเป็นไทยเท่าไหร่หรอกนะครับ เห็นกันชัดๆ ว่าดูจะอยากโกอินเตอร์ซะมากกว่า
ที่จอมพล ป. ท่านเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม ก็เพราะอยากจะเอาอย่าง ‘นานาอารยประเทศ’ เขานี่แหละ
พูดง่ายๆ อีกอย่างด้วยก็ได้ว่า การนับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นมรดกตกทอดจากการฉีกทุกกฎในขนบธรรมเนียมเดิมของความเป็นไทยในยุคก่อน จอมพล ป. เลยต่างหาก
ดังนั้นผมเลยไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่า การสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันที่ 31 ธันวาคม แบบนันสต๊อปไปจนถึงเวลานับเริ่มวันใหม่ของวันที่ 1 มกราคม นี่มันจะเป็นวิถีไทยอย่างที่เขาเอามาตั้งชื่อแคมเปญกันนะครับ
ยิ่งแคมเปญไหนนับเอาเวลา 0.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม เป็นเวลาขึ้นปีใหม่ นี่ก็เป็นวิธีนับแบบฝรั่งชัดๆ เพราะวันใหม่ของพี่ไทยเราแต่โบราณเขานับเอาตอนฟ้าสางโน่น ไม่ได้สนใจเลขผานาทีอะไรแบบที่นับๆ กันตามอย่างธรรมเนียมฝรั่งในปัจจุบันนี้
บางคนก็อ้างว่า สวดมนต์ข้ามปีนี่แหละครับ ธรรมเนียมเดิมของไทยมาแต่โบราณ เพราะมีพระราชพิธีอยู่พิธีหนึ่ง ที่จะมีการสวดมนต์ตลอดทั้งคืนจนย่ำรุ่งเช่นกัน พระราชพิธีที่ว่านี้มีชื่อเรียกยากๆ ว่า ‘สัมพัจฉรฉินท์’ (อ่านว่า สำ-พัด-ฉะ-ระ-ฉิน)
‘สัมพัจฉร’ แปลตรงตัวว่า ‘ปี’ ส่วน ‘ฉินท์’ แปลว่า ‘ตัด’ หรือ ‘ขาด’ รวมความแล้วจึงหมายถึง พิธีตัดปี บางทีก็เรียกว่า ‘ตรุษ’ (ซึ่งก็แปลว่า ‘ตัด’ หมายถึงการ ‘ตัดปี’ เหมือนกัน) ฟังดูเผินๆ จึงน่าเชื่ออยู่เหมือนเพราะเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นปี
แต่ก็เท่านั้นแหละครับ เพราะเมื่อสืบลึกลงไปให้ละเอียดแล้วก็จะเห็นได้ชัด และบาดตาจนแทบจะบอดเลยว่า เป็นคนละเรื่องกันกับการสวดมนต์ข้ามปีในปัจจุบันนี้เลยนะสิ
อย่างแรกก็คือ คนโบราณถึงเขาจะตัดปีกันเรียบร้อยแล้ว แต่ทวดๆ บรรพชนของเราก็ยังไม่ได้มีปาร์ตี้ขึ้นปีใหม่กันซักหน่อย พระราชพิธีนี้จะทำการตัดปีกันที่เดือนสี่ ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งคือประมาณเดือนมีนาคม
แต่กว่าจะปีใหม่ก็ต้องรอวันมหาสงกรานต์ ราวๆ วันที่ 13-15 โน่นเลยแหละ ดังนั้นจะบอกว่า เป็นที่มาของการสวดข้ามปีนี่คุณพี่ก็เคลมแรงไปหน่อยนะครับ
เพราะถึงแม้ชื่อพิธีจะหมายถึงการตัดปี แต่ถ้าจะพูดกันถึงรายละเอียดภายในพิธีแล้ว ควรจะบอกว่าเป็นพิธีทำบุญ ปัดเสนียดจัญไร และสิ่งชั่วร้ายนานาชนิด ในช่วงเดือนสุดท้ายของปีเสียน่าจะตรงประเด็นมากกว่า
การสวดมนต์โต้รุ่งในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ไม่ใช่แค่ชื่อเรียกยาก พิมพ์ก็ยาก นี่พิมพ์เองผิดเองมาหลายรอบละ T^T) จะให้พระสงฆ์สวดอาฏานาฏิยสูตรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไปจนกระทั่งเช้า ประวัติในพระไตรปิฎกระบุเอาไว้ว่า นี่เป็นท้าวมหาราชทั้งสี่ แห่งสรวงสวรรค์ มาขออนุญาตพระพุทธเจ้าให้บรรดาพุทธสาวกจดจำเอาคาถานี้ไว้สำหรับปัดเป่าพวกอมนุษย์ทั้งหลายที่เข้ามารบกวนเมื่อไปบำเพ็ญเพียรในราวป่า หรือที่เปลี่ยวร้าง
แน่นอนว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสาวกจดจำเอาคาถานี้ไว้ใช้ ไม่อย่างนั้นเราก็คงไม่มีสวดกันในอยุธยา และกรุงเทพฯ หรอกนะครับ ซึ่งท้ายที่สุดพระราชพิธีนี้ก็จะพัฒนาไปเป็น การสวดภาณยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน ดังนั้นอาฏานาฏิยสูตรที่ว่านี่ ก็คงไม่มีวัดไหนเอามาให้ญาติโยมสวดกันเองในช่วงเคาน์ดาวน์วันปีใหม่กันแน่ๆ
และเมื่อเป็นการขับไล่ภูตผีอะไรอย่างนี้ จะให้อุบาสก อุบาสิกามาสวดมันก็คงจะไม่ขลังหรอกนะครับ พระราชพิธีนี้จึงต้องรบกวนบรรดาหลวงพี่ หลวงพ่อ หลวงลุง ไปจนกระทั่งหลวงปู่ทั้งหลาย มาทำงานกะดึกกันทั้งคืนนี่แหละ ไม่ใช่ว่าจะให้ใครที่ไหนไปนั่งสวดเหมือนการสวดมนต์ข้ามปีในปัจจุบันก็ได้เสียหน่อย ดังนั้นถ้าจะบอกว่าวิถีไทย ก็น่าจะเป็นไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ไม่ใช่ไทยที่มีมาแต่เดิมแน่
ส่วนจะเป็นวิถีพุทธหรือเปล่านี่ ผมก็ไม่แน่ใจนัก เพราะคำว่า ‘มนต์’ ในภาษาบาลี มาจาก ‘มนตร์’ ในภาษาสันสกฤต
ซึ่งประสมมาจาก ‘มน’ ที่แปลว่า ‘ใจ’ และ ‘ตฺร’ จากราก ‘ไตฺร’ ซึ่งแปลว่า ‘ปกป้อง’ รวมความแล้วคือ ‘เครื่องปกป้องจิตใจ’ (ขอบคุณคำอธิบายจาก ‘อ. เชฟหมี’ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง) เรียกง่ายๆ ว่า สวดแล้ว ‘ดีต่อใจ’
ถ้าใครจะสวดแล้วมุ่งหวังอะไรไปมากกว่าพระธรรมคำสอน หรือเพื่อเป็นสิ่งที่ดีต่อใจแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็น ‘วิถีพุทธ’ หรือ ‘วิถีผี’ กันแน่?
ในฐานะที่ไม่ใช่คนไทยสายบุญ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าสวดมนต์ข้ามปีแล้วดีกว่าสวดในวัน และเวลาอื่นยังไง? หรือจะได้แต้มบุนสูงกว่าสวดวันหรือเวลาอื่นหรือเปล่า? ถ้าสวดแล้วดีต่อใจ สร้างเสริมสมาธิ และอีกสารพัดคุณประโยชน์ ก็สวดกันไปเถอะครับ จะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเสียหน่อย