ปี 2020 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยสภาพที่สมบุกสมบันกันไปแทบจะถ้วนหน้า ด้วยสารพัดประดามีที่ทศวรรษใหม่นี้ได้เปิดศักราชมา ‘รับน้อง’ มนุษยชาติอย่างพวกเราชนิดไม่ให้พักหายใจหายคอ กระนั้นเมื่อกำลังจะเข้าสู่ ‘ปีใหม่’ เราก็ดูท่าจะตื่นเต้นกับมันอีกครั้งหนึ่งและหลายๆ คนก็พร้อมจะหายใจเฮือกใหญ่ๆ เข้าไปตั้งหลักกันใหม่อีกครั้ง ว่าจะได้เห็นวันใหม่ การเริ่มต้นใหม่ ที่ดีขึ้นสักที ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่แสนจะปกติและไม่ได้ผิดอะไรในตัวมันเองครับ (ผมเองก็เป็นหนึ่งในมนุษย์อย่างที่ว่ามานี้) แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว วันนี้อยากจะมาชี้ให้เห็นถึงกลไกและความสำคัญของการมีอยู่ของวันปีใหม่สักนิด เพื่อที่แม้จะตื่นเต้นไปกับมัน มีความหวังอะไรไปกับมัน ก็จะได้ทำอย่างรู้เท่าทันมันพร้อมๆ กันไปนั่นเอง
เวลาที่เราพูดถึงการแนวคิดหรือโลกทัศน์เกี่ยวกับเวลาแล้ว หลายท่านคงจะทราบกันดีว่ามีค่อนข้างจะมากมายหลายแบบครับ รูปแบบหลักที่ถือกันว่าเป็นมาตรฐานสากลในปัจจุบันก็คือ เวลาแบบเส้นตรงที่ไหลไปเรื่อยๆ จากอดีตสู่อนาคต ที่ดูจะไร้จุดสิ้นสุด (infinite linear timeline) นอกจากนี้เวลารูปแบบอื่นๆ ที่เราพอจะเชื่อมโยงได้ไม่ยากนัก ก็เช่น เวลาแบบหมุนวน (cyclical timeline) อย่างวิธีคิดเรื่องวัฏสังสาร ในศาสนาพุทธหรือพราหมณ์, เวลาแบบเป็นเส้นตรงที่มีจุดสิ้นสุด (finite linear timeline) อย่างในคติแบบคริสต์ที่เชื่อในวันสิ้นโลก, หรือ เวลาแบบเป็นจุดเฉพาะที่เชื่อมโยงกันของเหตุการณ์ แบบที่วอลเธอร์ เบนจามินเรียกว่า Now-Time เป็นต้น ผมเขียนย่อหน้านี้ขึ้นมาด้วยความต้องการจะบอกให้ทราบว่ามีโลกทัศน์เกี่ยวกับเวลามีมากมายหลายแบบ แต่ในครั้งนี้จะขอโฟกัสกับเวลาแบบมาตรฐาน หรือเวลาแบบที่เป็นเส้นตรงและไร้จุดสิ้นสุดเป็นหลักนะครับ
อีกส่วนหนึ่งที่อาจจะต้องขอปูเรื่องก่อนนั้นก็คือ การรับรู้กับมโนทัศน์ของตัวเรากับเวลา ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายแบบอีกเช่นกัน แต่หลักๆ แล้วจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะหลัก คือ (1) เส้นเวลาอยู่นิ่งๆ และตัวเราเองเป็นคนที่เคลื่อนที่ไปบนเส้นเวลาอันไม่มีจุดสิ้นสุดนั้น (ego-moving perception) และ (2) ตัวเราอยู่นิ่งโดยมีเส้นเวลาไหลผ่านไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดสิ้นสุด (time moving perception) หากนึกภาพตามง่ายๆ เป็นหน้าปัดแสดงผลที่ใช้วัดอะไรบางอย่างก็ได้ครับ แบบแรกนั้นก็เสมือนหน้าปัดแสดงผลที่มีตัวเลขขีดกำกับเอาไว้อยู่แล้ว และมีตัวเข็มที่วิ่งไปมาเพื่อชี้บอกเราว่าเราอยู่ตรงไหนของหน้าปัด (นึกถึงหน้าปัดบอกความเร็วรถยนต์ที่เป็นระบบเข็มชี้ ส่วนมากก็จะประมาณนี้ครับ) เพียงแค่ในกรณีของตัวเรากับเวลานั้น มันจะวิ่งไปทิศทางเดียวเป็นหลัก ในแบบที่สองนั้น ก็เหมือนกับหน้าปัดชนิดที่ตัวเข็มนั้นตั้งอยู่นิ่งๆ กับที่ แล้วเป็นฝั่งตัวเลขที่วิ่งไปมาแทน (ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปแบบหนึ่งก็คือ เครื่องชั่งน้ำหนักในบ้านยุคก่อนที่จะเป็นดิจิตัลนั่นแหละครับ)
มโนทัศน์หรือการจินตนาการภาพของตัวเรากับเวลาที่ต่างกันนี้เองมีผลที่ต่างกันในการรับรู้ของเวลาได้ด้วย และหลายๆ ครั้งในคนหนึ่งคนนั้นก็จะรับรู้เวลาทั้งสองระบบนี้แต่ใช้ในรูปแบบที่ต่างกัน อย่างในชีวิตประจำวันการรับรู้ดูจะเป็นไปในแบบแรกมากกว่า และในการมอง ‘เวลา’ แบบภาพกว้างภาพยาวแล้ว มักจะมีแนวโน้มที่จะใช้งานมโนทัศน์แบบหลังเป็นสำคัญ หรือในสิ่งที่เราตื่นเต้นและรอคอยการมาถึงของมัน เรามักจะใช้การรับรู้แบบแรก ในขณะที่เมื่อเป็นเรื่องที่เราไม่อยากจะให้มาถึงหรือไม่อยากเผชิญ เรามักจะใช้การรับรู้อย่างหลัง (ลักษณะที่ว่านี้ เกิดขึ้นกับโลกของภาษาแบบ anglo-saxon มากเป็นพิเศษด้วย)
ที่ผมเขียนอภิปรายมานี้ เพราะผมจะบอกว่า การรับรู้ถึงเวลาในช่วงเทศกาลลักษณะนี้นั้นมันมีความน่าสนใจในตัวมันเองสูงมากน่ะครับ เพราะมันดูจะรวมเอาลักษณะของการรับรู้ทั้งสองแบบมารวมกันไว้ในร่างเดียวอย่างพิกล คืออย่างนี้ครับ ในโลกของภาษา (ซึ่งกำหนดการรับรู้และมโนทัศน์ของเราอีกทีหนึ่ง) ที่เกี่ยวข้องกับเวลานั้น จะมีสิ่งที่เรียกว่า fictive motion หรือ time reference point อยู่ ว่าง่ายๆ ก็คือ ‘จุดอ้างอิงทางเวลาซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับตัวเราเอง’ เช่น สิ้นฤดูร้อนก็จะเป็นฤดูฝน หรือ หลัง 24.00 น. ก็จะขึ้นวันใหม่ เป็นต้น
จุดอ้างอิงเหล่านี้เองที่เป็นจุดอ้างอิงทางเวลา
ที่ไม่ได้สัมพันธ์กับตัวเรา ซึ่งมันมักจะส่งผล
ให้เกิดการรับรู้แบบเราอยู่นิ่ง แล้วเวลาเคลื่อนที่มาหา
ซึ่งวันคริสต์มาส หรือปีใหม่อะไรทั้งหลายนั้นเองก็มีลักษณะของการเป็น time reference point ในตัวเองอยู่ด้วย แต่พร้อมๆ กันไป เราก็เฝ้ารอการมาถึงของมันอย่างใจจดจ่อ วางแผนทำนู่นนี่นั่นเพื่อวันนี้ด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของการรับรู้ของเวลาในลักษณะแบบ ego-moving perception นั่นเอง ในแง่นี้ เราจึงจะพบได้ว่า วิธีคิดที่มีต่อวันปีใหม่นั้น จะเห็นได้ทั้งสองรูปแบบคือ “ใกล้จะถึงวันปีใหม่แล้ว” (แบบแรก คือ เราเคลื่อนที่เข้าไปหาวันปีใหม่) และ “ปีใหม่ใกล้จะมาถึงแล้ว” (แบบหลัง คือ ปีใหม่วิ่งเข้ามาหาเรา)
อย่างไรก็ดี สถานะทางการรับรู้แบบนี้เองหมายความว่ามันมีลักษณะพิเศษที่ส่งผลถึงคนจำนวนมาก ทั้งในแง่ที่มันเป็น time reference point ที่ “ไม่ผูกติดกับตัวเรา” และทั้งเป็นจุดที่เรารอคอยและเฝ้าจะเอาตัวเองไปผูกติดกับมัน เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้น (point of departure) ของการเริ่มต้นใหม่ ที่ว่าไว้แต่แรกนั่นเอง
ร่ายยืดยาวมามากมาย เพื่อจะอภิปรายประเด็นที่เป็นจุดรากฐานของบทความปิดปีของผมชิ้นนี้นี่แหละครับ ว่าทำไมเราจึงต้องอยากเอาตัวเราไปผูกอยู่กับวันปีใหม่เล่า? อะไรเป็นกลไกที่ทำให้เราอยากเอาตัวเองไปผูกอยู่กับ time reference point ตัวนี้กัน? เพราะไม่ใช่ทุกจุดอ้างอิงจะมีคนอยากเอาตัวไปผูกด้วย และพร้อมๆ กันไปวันปีใหม่ก็ไม่ใช่วันเดียวที่คนต้องการจะเอาไปผูกในลักษณะนี้ มันเกิดขึ้นตลอดนั่นแหละครับ วันเกิด วันหวยออก วันสงกรานต์
ซึ่งผมกำลังจะอภิปรายว่าถึงที่สุดแล้วมันวางฐานอยู่บนกลไกโครงสร้างเดียวกันกับกรณีของวันปีใหม่ แต่ผมเลือกยกวันปีใหม่มาเป็นกรณีตัวอย่างเพราะวันนี้ดูจะเป็นจุดตัดสำคัญที่สากลที่สุด เพราะไม่ได้ผูกติดสัมพันธ์กับความเชื่อหรือศาสนาใดเป็นการเฉพาะ ทั้งยังถูกออกแบบมาให้เล่าเรื่อง ‘การเริ่มต้นใหม่’ โดยตรงอีกด้วย เพราะเป็นวันแรกของการขึ้น ‘ศักราชใหม่’ นั่นเอง
ทีนี้มาถึงส่วนกลไกของวันปีใหม่สักที ผมต้องอธิบายอย่างงี้ก่อนนะครับว่า กลไกการเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของวันปีใหม่นั้นมีมานานแล้ว ก่อนการกำเนิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าทุนนิยมเสรีอะไรใดๆ แน่นอน เพียงแค่ว่า (1) ตอนนี้ชีวิตหลักของเราอยู่ในโลกทุนนิยมเสรี ฉะนั้นก็จะขอกล่าวถึงกลไกของวันปีใหม่โดยสัมพันธ์กับสภาวะความเป็นอยู่ของเราในตอนนี้ และ (2) แม้วันปีใหม่จะมีมานานแล้ว แต่การกำหนดวันปีใหม่ที่เป็นสากล (universal) อย่าง 1 มกราคมนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะใหม่มาก
แม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถูกใช้มาตั้งแต่
สมัยโรมันแล้วก็ตาม แต่มันไม่เคยมี
คุณลักษณะที่เป็นสากลเลย
จนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 16 ที่พระสันตะปาปาเกรกกอรีที่ 13 ได้ประกาศการใช้ปฏิทินใหม่ และเริ่มกระจายไปในหมู่รัฐคาธอลิก แต่กว่าจะแพร่หลายในประเทศอื่นๆ อย่างประเทศโปรเตสแตนท์ก็อีกนานเลยครับ อย่างอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา (ที่ตอนนั้นเป็นรัฐอาณานิคมอยู่) ก็เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อปี ค.ศ. 1752 นี้เอง และประเทศอื่นๆ ในโลกก็ค่อยๆ ทะยอยเปลี่ยน หลังสงครามโลก สงครามเย็นที่ปรับตัวตาม ‘คุณค่าสากล’ นั่นเอง
คือ ในระบบทุนนิยมนั้นมีประเด็นทางเวลาเรื่องหนึ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตเราโดยตรงครับ นั่นคือคำอธิบายที่เรียกว่า time discipline ซึ่งมาจากงานของ E.P. Thompson ในผลงานชิ้นสำคัญของเค้าที่ชื่อ Time, Work Discipline, and Industrial Revolution (1967) ซึ่งเค้าเสนอ (โดยสังเขป) ว่า เวลาที่อิงกับเวลาของนาฬิกา (clock time) นั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นมาได้ และทั้งทุนนิยมเสรีและรัฐสมัยใหม่ในยุโรปคงยากจะเกิดขึ้นมาได้ หากขาดซึ่งปัจจัยนี้นั่นก็คือ “การมีเวลาที่อยู่ภายใต้หน่วยการนับแบบเดียวกันและเชื่อมโยงการรับรู้ของทุกคนอย่างเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน” (synchronized time) โดยงานของธอมสันกลายเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาทำความเข้าใจงานด้านสังคมวิทยาอีกจำนวนมากจวบจนปัจจุบัน ที่แม้หลักฐานบางส่วนของเขาอาจจะถูกท้าทายไปบ้างแล้ว แต่ตัวข้อเสนอนั้นยังคงอยู่
เวลาตามนาฬิกานั้นทำหน้าที่เชื่อมโยงการรับรู้ร่วมเกี่ยวกับเวลาทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน ว่ากันอีกแบบก็คือ แม้ว่าเวลาจะถูกเข้าใจหรือจินตนาการถึงอย่างเป็นอัตวิสัย (subjective) อย่างที่ว่าไปก่อนหน้านี้ แต่มันถูกวัดอย่างเป็นวัตถุวิสัย (objectively) กล่าวคือ 1 วินาที, 10 นาที, หรือ 100 ชั่วโมง ไม่ว่าที่ไหนในโลกภายใต้เงื่อนไขของ clock-time นั้น ‘เท่ากัน’ และหากบอกว่าเวลาบ่าย 2 จะพูดขึ้นที่ไทย ที่สหรัฐอเมริกา หรือที่เกาหลีเหนือนั้นก็เข้าใจตรงกันว่ามันคือเวลาที่ล่วงเลยเที่ยงวันมาแล้ว 2 ชั่วโมงนั่นเอง เงื่อนไขที่เป็นวัตถุวิสัย ไม่อิงอยู่กับการตีความของปัจเจกแต่ละคนนี้เองที่ทำให้เวลาของนาฬิกามันสามารถมีคุณสมบัติอันเป็นสากลได้ ในภาษาทางวิชาการสักหน่อย ก็คงต้องกล่าวว่า การจะมีความสากล (universality) ได้นั้น มันจำเป็นที่จะต้องยืนยันถึงการมีองค์ประกอบอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดที่ไม่ขยับปรับเปลี่ยนไปตามการตีความใดๆ อยู่ด้วยนั่นเอง (essentiality)
ความเป็นสากลของเวลานาฬิกาแบบทุนนิยมนี้เอง
ที่เข้าควบคุมชีวิตของเราในฐานะมนุษย์
ในสังคมทุนนิยมอย่างเป็นสากลด้วย
เราถูกกำหนดด้วย ‘เวลา’ ในทุกบริบทของชีวิต เวลาเข้าเรียนออกเรียน เข้างานออกงาน วันทำงาน วันหยุด เวลานอนขั้นต่ำและที่ควรจะเป็น ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาการทำงานที่โลกทุนนิยมดูจะให้ความสำคัญเสียเหลือเกิน เพราะเวลาถูกแปลงค่าให้เป็นหน่วยของมูลค่า หรือเงิน กล่าวอีกอย่างก็คือ หน่วยของการผลิตและตอบแทนถูกกำหนดและผูกติดอยู่กับเวลา เช่น ค่าจ้างรายชั่วโมง, เงินรายสัปดาห์, เงินเดือน หรือปันผลรายปี จะเห็นได้ว่าเวลาสากลในโลกของทุนนั้นได้สร้างโลกที่หมุนวนเป็นรอบที่ไหลเวียนซ้ำๆ อย่างไม่สิ้นสุดขึ้นมาด้วย กล่าวคือ เราถูกผลักให้อยู่ในกลไกของรอบเวลา (เช่น รอบเดือน) ที่ทำงานซ้ำๆ วนๆ ไป จนครบเดือนเพื่อได้รับค่าตอบแทนต่อแรงงานของเรา แล้วก็วนซ้ำเช่นนั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของเวลาอันเป็นมาตรฐานของยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะของโลกทุนนิยมเสรีนั้นเป็นเส้นตรงที่ไร้จุดสิ้นสุด มิหนำซ้ำสิ่งที่ทุนนิยมเสรีพยายามจะ ‘เล่า’ ให้กับผู้ศรัทธาฟังนั้นคือ เรื่องของโอกาส มันเป็นเรื่องเล่าของการเดินทางที่หากพยายามมากพอหรือมีความสามารถมากพอ เอาชนะคู่แข่งมาได้แล้วก็จะมีโอกาสคว้าเอาชีวิตที่ดีกว่ามาได้ ว่าอีกแบบก็คือ เรื่องเล่าของทุนนิยมเสรีนั้นเองก็วางอยู่บนฐานของเวลาที่เป็นเส้นตรงและไม่สิ้นสุดนี้ เพราะเวลามีให้เราวิ่งตามได้เสมอ โอกาสใหม่ๆ จึงมีให้เราได้ตามหา ได้ไขว่คว้าอยู่เสมอด้วยตราบเท่าที่เรายังไม่เลิกศรัทธา ไม่หยุดที่จะมองหามัน คำพูดลักษณะนี้เองก็คือสิ่งที่เราได้ยินกรอกหู เป็นคำคมบ้าง คำสอนบ้าง กวีบ้าง หรือคำปั้นแต่งของไลฟ์โค้ชอะไรบ้างนั่นเอง
อย่างไรก็ตามชีวิตที่ทุนนิยมเสรีมอบให้กับมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นกลับตรงกันข้ามกับเส้นทางการผจญภัยและความแปลกใหม่ที่รอคอยการค้นหา ที่เรื่องเล่าของทุนนิยมเล่าย้ำซ้ำๆ มาโดยตลอด มันสร้างชีวิตที่วนลูป จำเจ ทุกรอบวัน รอบเดือน รอบปี จนกระทั่งเราถูกกำหนดด้วยเวลาอีกครั้งว่า ‘หมดระยะทำงาน’ แล้ว หรือก็คือ วัยซึ่งเราถูกตีความอย่างเป็นสากลว่าศักยภาพต่อผลิตภาพของเรานั้นไม่คุ้มทุนที่จะจ้างต่อไปอีกแล้วนั่นเอง หรือก็เรียกเสียว่าวัยเกษียณอายุ
การทำงานในระบบของเวลาทุนนิยมนั้นจึงกลายเป็น
การสร้างชีวิตที่วนซ้ำไปมา บนเรื่องเล่าที่มุ่งไปข้างหน้าและ
โอกาสแปลกใหม่ที่มีอยู่เสมอแทนเสียอย่างงั้น
ความย้อนแย้งที่ว่านี้เองที่ทำให้จุดอ้างอิงอย่างวันปีใหม่นั้นสำคัญ เพราะมันถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่เป็นจุดของการเริ่มต้นใหม่ในรอบเวลาอันจำเจแบบทุนนิยมที่โผล่มาปีละครั้ง เพื่อบอกให้เราหลงลืมความเลวร้าย ไม่จมปลักกับความจำเจทั้งมวลที่ผ่านมาตลอดปี แล้วพร้อมจะเริ่มต้นใหม่ กลับไปปลื้มปีติหรือกล่อมตัวเองด้วยคำคมของระบบทุนนิยมและภาพของการวิ่งแข่งบนเส้นเวลาอันไร้ที่สิ้นสุดและโอกาสใหม่ๆ ที่จะโผล่มาให้คว้าไว้ได้สักวันหากพยายามมองหามันมากพอ กล่าวอีกแบบก็คือ วันอย่างวันปีใหม่นี่แหละครับที่ด้วยกลไกของมันแล้ว มันทำให้เราไม่เหม็นเบื่อกับทุนนิยมเสรีจนเกินทน และสามารถทนอยู่ต่อไปกับมันได้อีกสักปี อีกสักปี และอีกสักปี ซ้ำๆ วนไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ทุนนิยมเขี่ยเราทิ้ง เพราะผลิตภาพของเราลดทอนลงตามกำลังสังขาร และไม่คุ้มที่จะอยู่ในกระบวนการผลิตต่อไป
พูดอีกอย่างก็คือ วันอย่างวันปีใหม่นั้น ทำหน้าที่ในการรักษามโนทัศน์ของเราต่อการผลิตในระบบทุน (ซึ่งโยงอยู่กับเวลา) ให้อยู่ในวิถีแบบ ego-moving perception ได้ ทำให้เราเห็นว่าตัวเองเป็นผู้วิ่ง เป็นผู้ไขว่คว้าโอกาสอันไม่สิ้นสุดในระบบนี้ต่อไป ไม่ให้เราเบื่อหน่ายกับสิ่งที่ต้องทำอยู่ กลัวการมาถึงของมันจนเกินไป และมองเห็นว่าตนเองเพียงแต่วนอยู่กับที่ตามเดิม ทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ ภายใต้เวลาและประวัติศาสตร์รอบตัวที่ค่อยๆ ขยับไป เพราะการรับรู้และเข้าใจสภาพความเป็นจริงในอย่างหลังมากจนเกินไปนักนั้น ไม่เป็นเรื่องน่าสบายใจสักเท่าไหร่นักของระบบทุนนิยมเสรีเอาเสียเลย
ปีใหม่ ค.ศ.2021 ที่กำลังจะมาถึงนี้เองก็เช่นกัน ได้กลายมาเป็นหมุดของความหวังหลังจากความเน่าเฟะทั้งปี ค.ศ.2020 ได้ทิ้งไว้ให้เรา และบอกกับเราว่า “เฮ้ อย่าเพิ่งท้อน่า ปีถัดไปยังมีหวัง” แน่นอนหากเรามองตัวเองเป็นคนวิ่งบนลู่วิ่งของเวลาอันไร้ขีดจำกัดก็คงจะมีความสุขขึ้นบ้างที่จะคิดแบบนั้น แต่หากเรามองเวลาเป็นดั่งสายน้ำที่พัดมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุดแล้วล่ะก็ เราก็จะทราบดีว่ามันไม่มีสิ่งที่เป็นจุดตัดของการสิ้นสุดและการเริ่มต้นใหม่ใดๆ ที่การกำหนดค่าชี้วัดสากลแบบเวลานาฬิกามันวาดไว้หรอก ไม่มีการหมดวัน หมดเดือน หมดปี และเริ่มใหม่ เพราะมันเป็นกระแสที่ต่อเนื่องชนิดไร้รอยต่อใดๆ อย่างที่ว่า การกำหนดจุดตัดของความต่อเนื่องที่ไม่มีอยู่จริงอย่างวันปีใหม่นั้นจึงเป็นเพียงกลไกการกล่อมเกลาที่ยิ่งใหญ่และเป็นสากลของเวลาและทุนนิยมเสรีนั่นเอง (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ผิดอะไรใดๆ ที่จะนิยมชมชอบหรือรู้สึกดีไปกับมัน)