นอกเหนือจากพระเมรุที่สร้างด้วยไม้ หรือวัสดุที่ไม่ได้ปลูกขึ้นเพื่อใช้อย่างถาวรอย่าง พระเมรุมาศ ที่ใช้สำหรับถวายพระเพลิงพระศพ หรือพระบรมศพของเจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์ หรือพระมหากษัตริย์แล้ว ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการทำ ‘เมรุถาวร’ ที่สร้างขึ้นจาก ‘ปูน’ อีกด้วย
เมรุปูนที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคต้นกรุงเทพฯ ก็คือ เมรุปูนที่วัดสระเกศ ซึ่งตามประวัติเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายช่างสร้างเมรุที่สร้างขึ้นด้วยก่ออิฐถือปูนเป็นพิเศษแห่งนี้ เพื่อใช้สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพสำหรับเจ้านาย และศพของข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่
แต่เมรุปูนแห่งนี้ยังอาจจะไม่ใช่เมรุปูน (หรือเมรุถาวร) แห่งแรกนะครับ เพราะตามประวัติยังว่ากันอีกด้วยว่า เมรุแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นให้พร้อมเพรียงสมบูรณ์ และวิจิตรตระการตา ยิ่งกว่าเมรุปูนที่วัดอรุณฯ และวัดสุวรรณาราม ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรีทั้งสองแห่ง
น่าเสียดายที่ไม่มีประวัติที่ชัดเจนพอจะสืบค้นได้ว่า เมรุปูนที่ถูกอ้างถึงทั้งสองแห่งที่ว่านี้สร้างขึ้นเมื่อไหร่แน่? แต่เฉพาะเมรุปูนที่วัดสุวรรณารามนั้น มีการกล่าวอ้างว่า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เพื่อใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และขุนนาง (และรวมไปถึงการเผาศพประชาชนทั่วไป ซึ่งค่อนข้างน่าสงสัยใจ เพราะไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับไพร่ที่มีมาแต่เดิม? จึงอาจเป็นเรื่องที่คนในยุคหลังซึ่งเผาศพที่เมรุกันเป็นปกติ เข้าใจผิดกันไปในเองในภายหลัง) ด้วยเช่นกัน แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน มากกว่าที่จะเป็นการอ้างอิงอย่างน่าเชื่อถือนัก
หลักฐานที่พอจะน่าเชื่อถือยิ่งกว่าจึงยังคงเป็น เมรุปูนจากวัดสระเกศ อยู่นั่นเอง เพราะมีร่องรอยเหลืออยู่ว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ตัดถนนสระปทุมต่อจากถนนบำรุงเมือง ถนนนี้ได้พาดผ่านระหว่างกุฏิวัดสระเกศกับเมรุปูนแห่งที่ว่า พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลา และเมรุปูนให้เข้ากับถนนที่ตัดใหม่
อย่างไรก็ตาม การที่เมรุหลังนี้ต้องถูกย้ายมาอยู่ติดกับอาคารบ้านเรือนและถนนนี้ ก็ทำให้ไม่ค่อยจะเหมาะสมสำหรับใช้ในการฌาปนกิจศพ จนทำให้ยุบและเลิกใช้เมรุปูนนี้เสีย แต่ก็ยังมีความทรงจำเกี่ยวกับเมรุปูนนี้อยู่ จนทำให้บริเวณที่ตั้งของเมรุปูนดังกล่าวของวัดสระเกศในปัจจุบันนั้น ถูกเรียกว่า ‘แยกเมรุปูน’ เลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้ว ยังมีประวัติอีกด้วยว่า ทางวัดสระเกศได้มอบพื้นที่บริเวณที่เคยเป็นเมรุปูนนั้น ให้ตั้งเป็นโรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร หรือที่ยกฐานะเป็น ‘วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร’ ในปัจจุบัน
กล่าวกันว่า เมื่อมีการซ่อมพื้นของแผนกช่างยนต์ที่วิทยาลัยแห่งนี้ ได้มีการขุดพบบันไดเมรุที่ทำขึ้นจากปูนลากยาวไปทางด้านทิศตะวันออกอีกด้วย นับเป็นหลักฐานสุดท้ายของเมรุปูนในยุคต้นกรุงเทพฯ ที่ว่ากันว่าวิจิตรตระการตาที่สุดเลยทีเดียว
สำหรับความวิจิตรตระการตา หรือพร้อมเพรียงสมบูรณ์ของเมรุปูนวัดสระเกศ ที่มักจะถูกอ้างถึงนั้น ก็คือการที่รอบเมรุแห่งนี้มีทั้งพลับพลา โรงธรรม โรงครัว โรงมหรสพ ตลอดจนพุ่มกัลปพฤกษ์ และระทาจุดดอกไม้ไฟ ที่ก่อขึ้นจากอิฐและปูนแบบสำเร็จรูป แทบจะเป็นการจำลองแบบย่อส่วนมาจากพระเมรุมาศเลยทีเดียว จึงไม่น่าจะเป็นที่ประหลาดใจนักที่ พระเมรุแห่งนี้จะถูกนับว่าเป็น ‘เมรุเกียรติยศ’ หรือ ‘เมรุพระอิสริยยศ’ ที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ
อีกเหตุผลหนึ่งที่เมรุปูนวัดสระเกศค่อยๆ หมดความสำคัญลงจนถูกยุบและเลิกใช้ไปในที่สุดนั้น ก็เกิดมาจากการที่เมื่อ พ.ศ. 2436 (ตรงกับ ร.ศ. 112 ที่เกิดวิกฤตเรือปืนของฝรั่งเศสเข้ารุกสยามจากทางปากน้ำ) รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้สร้างเมรุปูนถาวรขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีพระประสงค์ให้ใช้ปลงศพผู้คนได้ทุกชั้นบรรดาศักดิ์ (แน่นอนว่า รวมไปถึงประชาชนทั่วไป แต่นี่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกเมื่อเทียบกับประวัติที่เล่าสืบต่อกันมาของเมรุปูนวัดสุวรรณาราม เมื่อคำนึงถึงการเลิกไพร่ และทาส ในรัชกาลที่ 5) สุดแต่จะได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษเป็นสำคัญเช่นกัน
เมรุปูนใหม่แห่งนี้ ทั้งไม่ติดกับบ้านเรือนผู้คนและถนน ทั้งยังเป็นเมรุพระอิสริยยศไม่ต่างไปจากเมรุปูนวัดสระเกศ จึงทำให้เป็นที่นิยมมากกว่าเมรุปูนแห่งเดิมนั่นแหละครับ
(กล่าวกันว่า เหตุผลที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างเมรุปูนขึ้นมานั้นเป็นเพราะว่า ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นมีเจ้านาย และเชื้อพระวงศ์เป็นจำนวนมากพอสมควร ที่จะได้รับพระราชทานพระเมรุ ซึ่งก็ทำให้มีการสร้าง และรื้อถอนกันอยู่บ่อยครั้ง พระองค์จึงทรงเล็งเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง ดังนั้นจึงโปรดให้มีการสร้าง ‘เมรุ’ ถาวรขึ้นจากปูน เพื่อช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เมรุปูนต่างๆ ในยุคก่อนหนัาของพระองค์ก็ควรที่จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ด้วย)
หนึ่งปีต่อมาหลังจากการสร้างเมรุปูนใหม่แห่งนี้คือ พ.ศ. 2437 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ทำการปลงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ (พระราชโอรสในพระองค์ กับเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เกสร สินทวงศ์ ซึ่งขณะที่สิ้นพระชนม์มีพระชนมายุรวมได้เพียง 4 พรรษาเท่านั้น) ขึ้นที่เมรุปูน ณ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นครั้งแรก
และในงานพระศพครั้งนั้นเอง รัชกาลที่ 5 จึงทรงสร้างที่ตั้งพระศพขึ้นเป็นพลับพลาถาวร โดยพระราชทานนามตามพระนามของพระราชโอรสพระองค์นั้นของพระองค์เอาไว้ด้วยว่า ‘พลับพลาอิศริยาภรณ์’
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมรุปูนถาวรแห่งแรกนั้นจึงถูกเรียกต่อกันมาว่า ‘เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์’ สิริรวมจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ได้ 123 ปีพอดิบพอดีแล้วเลยทีเดียว
ในจากนั้นในช่วงใกล้ๆ เรือน พ.ศ. 2500 ได้เริ่มมีเมรุเผาศพแพร่กระจายไปตามอยู่ตามวัดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ แต่ยังไม่ใช่เมรุปูนทั้งหมด หลายแห่งยังเป็น ‘เมรุลอย’ ถอดได้ (แบบ knock-down) ทำด้วยไม้ชิ้นเล็กๆ ซึ่งก็ย่อส่วนมาจากเมรุหลวงของเจ้านายนั่นแหละนะครับ
แน่นอนว่าเมรุแบบนี้ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบเมรุหลวเพื่อเผาศพขุนนาง และคนที่มีฐานะมั่งคั่ง ในขณะที่คนที่มีฐานะรองลงมาก็ยังคงเผาศพบนเชิงตะกอนที่ประดับประดาด้วยด้วยเครื่องแกะสลักด้วย จักกล้วย หรือแทงหยวก จนกระทั่งค่อยๆ กลายเป็นเผาด้วยเมรุปูนที่ทำขึ้นอย่างถาวร เหมือนกันเกือบจะหมดทั้งประเทศเช่นในปัจจุบันไปในที่สุด