ชีวิตบุคคลทางการแพทย์ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์นั้นปฏิเสธมิได้ถึงความน่าสนใจครามครัน ยิ่งที่เป็นผู้หญิงด้วยแล้วช่างชวนติดตามทีเดียว เชื่อเลยว่าไม่น่าเปล่าเปลืองเวลาและคงก่อประโยชน์อยู่บ้างต่อทุกสายตาที่จดจ่อเพ่งอ่าน หากผมนำเอาเรื่องราวของแพทย์หญิงคนแรกของไทยเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนซึ่งปริ่มๆ จะหล่นหายจากความทรงจำแห่งวันวานมาเปิดเผยให้สนุกสนานผ่านแต่ละบรรทัดถัดไปนี้
ช่วงทศวรรษ 2460 หญิงชาวสยามที่เดินทางไปศึกษาต่างประเทศหาได้มีจุดประสงค์เพียงแค่เรียนรู้ด้านการเรือนและการเข้าสมาคมเท่านั้นหรอก ยังปรากฏความพยายามของผู้หญิงอีกกลุ่มที่พวกเธอหมายมุ่งสู่เมืองนอกเพื่อแสวงหาความก้าวหน้าทางวิทยาการหรือหมายนำเอาความรู้พิเศษเฉพาะทางมาใช้ในการประกอบวิชาชีพซึ่งสังคมไทยขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ เฉกเช่นปลายทศวรรษนี้ มีผู้หญิงจำนวน 4 คนได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ให้ไปศึกษาต่อด้านการพยาบาล อันได้แก่ นางสาวศรีวิไล สิงหเนตร เข้าเรียน Peking Union Medical College กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน นางสาวเจริญ กฤษนัมพัก เรียนโภชนาการที่ฟิลิปปินส์ ขณะนางสาวสอิ้ง อดิเรกสาร และนางสาวอบ จาตุรงคกุล เรียนที่สหรัฐอเมริกา ใช่เพียงแค่นักเรียนพยาบาล หากมีหญิงไทยสนใจไปเรียนวิชาครูในต่างแดน เป็นต้นว่า นางสาวเกื้อ สาลิคุปต์ บุตรสาวพระยาภักดีนฤเบศร์ ภายหลังสอบไล่ได้ ม.8 จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยปีพุทธศักราช 2468 แล้ว เธอออกเดินทางไปศึกษาวิชาครูที่โรงเรียน Silliman ในประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลา 4 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น ห้วงเวลาเดียวกัน ผู้หญิงสยามคนหนึ่งตัดสินใจเลือกศึกษาวิชาพิเศษเฉพาะทางที่ไม่สามารถหาเรียนได้ในเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2460 อย่างวิชาแพทย์ ซึ่งยุคนั้นผู้สนใจศึกษาแขนงวิชานี้ต้องเดินทางไปร่ำเรียนในทวีปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา มิหนำซ้ำ เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ปริญญาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอนและย้อนกลับมาประกอบกิจการแพทย์ในประเทศไทย นามของเธอคือนางสาวมากาเร็ต ลิน เซเวียร์ หรือที่คนเรียกขานกันติดปากว่า ‘คุณหมอลิน’
แพทย์หญิงมากาเร็ต ลิน เซเวียร์ เป็นบุตรีของพระยาพิพัฒน์โกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์ หรือ C.M. Xavier) ปลัดทูลฉลอง กระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทอดเวลายาวนาน 25 ปี และต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิตาลี ส่วนมารดาของเธอชื่อนางกิมกี คุณหมอลินลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พุทธศักราช 2441 ณ บ้านเชิงสะพานพิทยเสถียร ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม ตำบลมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ทางด้านการศึกษา บิดาได้ส่งเธอไปเข้าโรงเรียน Convent of the Sacred Heart, Penang ครั้นพระยาพิพัฒน์โกษต้องไปรับราชการในยุโรปจึงได้ย้ายบุตรสาวไปเรียนที่ Clark’s Commercial College ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วจึงเข้าเรียนต่อ Matriculation Course หรือหลักสูตรสำหรับเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถัดจากนั้นเข้าเรียนวิชาแพทย์ที่ London School of Medicine for Women และที่โรงพยาบาล Royal Free ตามลำดับ จนได้รับปริญญา M.B., B.S., M.R.C.S. and L.R.C.P.
ครั้นหวนกลับคืนประเทศสยามราวต้นปีพุทธศักราช 2467 คุณหมอลินสมัครเข้าเป็นแพทย์หญิงในสภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้งได้ช่วยดำเนินงานแผนกความผาสุกของเด็กและทารก ในกองกลางหน่วยที่ 1 รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ประจำสุขศาลาบางรัก ครับ ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่เคยสัมผัสกับการมีแพทย์หญิงผู้สำเร็จวิชารักษาโรคแบบสมัยใหม่ นางสาวมากาเร็ต ลิน เซเวียร์วัย 26 ปีนับเป็นคนแรกของไทย แน่ล่ะ ชื่อเสียงของเธอหอมฟุ้งเลื่องลือไปทั่วพระนคร นอกจากนี้ สภากาชาดยังอนุญาตให้เธอประกอบโรคศิลป์โดยกิจการส่วนตัวได้ หมายความว่าแพทย์สาวคนแรกสุดของเมืองไทยจะเปิดคลินิกก็ได้ ซึ่งคุณหมอลินเปิดคลินิกชื่อ ‘อุณากรรณ’ เลขที่ 2058 ถนนสี่พระยา ณ คลินิกแห่งนี้มีเภสัชกรหญิงผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษเช่นกันคือ คุณฉัน พี่สาวของคุณหมอลิน
แพทย์หญิงแห่งตระกูลเซเวียร์เชี่ยวชาญด้านสูตินารีอันเกี่ยวข้องกับมารดาและทารกเป็นหลัก เธอจึงเป็นที่นิยมอย่างสูงจากบรรดาคนไข้สุภาพสตรี โดยเฉพาะการทำคลอด แทบจะเรียกได้ว่ามีทารกในพระนครจำนวนมากรายที่เคยผ่านมือคุณหมอผู้นี้
คงไม่แปลกถ้านางสาวมากาเร็ต ลิน เซเวียร์จะเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ ชาวสยาม กิตติศัพท์ความเก่งของเธอมีรึใครจะไม่อยากได้เป็นศรีภรรยา อย่างไรก็ดี ในที่สุด เธอสมรสกับพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) โดยพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีนฤนารถทรงเป็นเจ้าภาพประกอบพิธีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2469ณ ตำหนักเชิงสะพานเทเวศร์ ตรงปากคลองผดุงกรุงเกษมจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร ทั้งสองครองรักกันจนมีบุตรธิดา 3 คน
เจ้าคุณศรีวิสารวาจาเป็นบุตรชายนายอุ่นตุ้ยและนางทองคำ เจ้าของตึกซุยโห บริเวณเชิงสะพานพิทยเสถียรเช่นกัน เขาเคยผ่านการศึกษาจากประเทศอังกฤษทั้งในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนอินเตอร์เนชัลแนล คอลเลช (The International College) และโรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ซึ่งสถาบันแห่งหลังถึงขั้นจารึกนาม ‘T.L. Hoon’ ไว้ในหอประชุมเพราะเป็นนักเรียนผู้สอบได้ที่ 1 ตลอด ส่วนระดับมหาวิทยาลัย ท่านเจ้าคุณศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ทั้งปริญญาตรี (เกียรตินิยม) และปริญญาโทรวมถึงสอบผ่านเนติบัณฑิตอังกฤษ
มูลเหตุที่ชักนำให้พันเอกพระยาศรีวิสารวาจาและแพทย์หญิงมากาเร็ต ลิน เซเวียร์มาพบเจอกันกระทั่งไปสู่ประตูวิวาห์นั้น สืบเนื่องจากคุณนายทองคำรู้สึกสนอกสนใจคุณหมอลินและปรารถนาใคร่ได้เป็นลูกสะใภ้ จึงมาลอบเฝ้าดูพฤติกรรมบุตรีพระยาพิพัฒน์โกษาเนืองๆ ครั้นพอนายเทียนเลี้ยงบุตรชายสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ แล้วเข้ารับราชการจนได้บรรดาศักดิ์หลวงวิสารวาจา ท้ายที่สุดผู้ใหญ่เลยจัดแจงให้ชายหญิงได้แนบแน่นกลายเป็นทองแผ่นเดียว
ในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 พอชีวิตครอบครัวดำเนินมากว่าหกปี คุณหมอลินเริ่มป่วยหนักด้วยโรคมันสมองอักเสบรวมถึงไข้หวัดใหญ่เข้าแทรก ตอนนั้นบรรดานายแพทย์เลื่องชื่อหลายคนมาร่วมกันช่วยรักษา ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์ทอม นายแพทย์คอตลิชกี้ นายแพทย์โนเบิล นายแพทย์เฮอร์เมต นายแพทย์พระยาดำรงแพทยาคุณ นายแพทย์พระอัพภันตราพาธพิศาล และนายแพทย์หลวงนิตย์เวชชวิศิษฎ์ แต่กระนั้น ก็เกินกว่าเยียวยา มัจจุราชคล้องแขนคุณหมอลินวัย 34 ปีครึ่งโบกมืออำลาโลกไปได้สำเร็จในวันที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 นับแต่นั้น พระยาศรีวิสาวาจามิได้สมรสใหม่กับหญิงอื่นใดตราบกระทั่งสิ้นสุดลมปราณ
อีกเรื่องราวของคุณหมอลินอันน่าพาดพิงถึงเห็นจะมิพ้นกรณีที่เธอถูกสงสัยในฐานะผู้พัวพันกับคอมมิวนิสต์
กล่าวคือในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2467 ทางรัฐบาลอินเดียได้สืบทราบมาแบบลับๆ ว่านางสาวมากาเร็ต ลิน เซเวียร์รู้จักสนิทสนมกับตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์บางคนที่เคยพบกันตอนมีช่วงชีวิตในประเทศอังกฤษและคอนติเนนต์ยุโรป ซึ่งตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์คนนั้นกำลังอยู่ในประเทศอินเดีย ทางรัฐบาลอินเดียใคร่จะล่วงรู้ความเคลื่อนไหวของเธอ เลยแจ้งผ่านอัครราชทูตอังกฤษมายังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์จึงขอให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยช่วยเหลือในการสืบสวน ต่อมาไม่นานนัก เจ้าพระยายมราชก็รายงานตอบกลับเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศไป ดังใจความตอนหนึ่งว่า
“เหตุผลที่หม่อมฉันได้ความเพิ่มเติมที่ควรจะทูลให้ทรงทราบอีกอย่างก็คือ ตามทางสืบสวนได้ความว่า เมื่อนางสาวลิน.ซาเวียร์ออกไปอยู่ศึกษาวิชาในประเทศอังกฤษนั้น ได้เคยรู้จักกับแขกอินเดียคน ๑ ชื่อคลีเต็ช (เข้าใจว่า คลีเต็ชจะไปศึกษาวิชาในอังกฤษเช่นเดียวกัน) เวลานี้ทราบว่าคลีเต็ชก็ได้กลับมาอยู่ในอินเดียแล้วเหมือนกัน แต่ในระหว่างที่คลีเต็ชกลับมาอินเดีย แลนางสาวลิน.ซาเวียร์กลับเข้ามากรุงสยามแล้ว จะได้มีหนังสือไปมาถึงกันอย่างไรบ้างหรือไม่ การสืบสวนยังไม่ได้ความปรากฏ”
พร้อมทั้งรับรองเพิ่มเติม
“นางสาวลิน.ซาเวียร์เปนคนมีการเล่าเรียนในทางแพทย์ มีความรู้อย่างสูง เวลานี้โดยปรกติทำงานอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ได้เคยออกรับทำการประกอบโรคศิลปเปนส่วนตัวอีกทางหนึ่ง เท่าที่ดูก็เปนคนเรียบร้อยอยู่มาก.”
ล่วงผ่านจวบจนปลายเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2468 ทางรัฐบาลอินเดียยังมิคลายความเคลือบแคลง หนังสือจากนายฟิตซ์ มอริสถูกส่งมากระทรวงการต่างประเทศมีใจความให้ช่วยสืบและแจ้งข่าวว่านางสาวมากาเร็ต ลิน เซเวียร์จะเดินทางไปอินเดียบ้างหรือเปล่า คราวนี้ กระทรวงการต่างประเทศต้องขอให้สภากาชาดสยามต้นสังกัดของคุณหมอลินช่วยสอดส่อง พอต้นเดือนมกราคม อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยามคือสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้ตอบกลับว่า
“นางสาวแพทย์ลิน ซาเวียร์ทำงานอยู่กับสภากาชาดสยามเพียงเปนเวลา ไม่ตลอดวัน นอกนั้นก็ทำการงานทางอื่นโดยวิชชาชีพ สภากาชาดสยามไม่มีอำนาจและน่าที่ในกิจการเมือง แม้กระนั้นก็ดี ได้ให้เจ้าน่าที่สืบฟังในหมู่ผู้ทำการใกล้ชิดและผู้ที่สนิทชิดเชื้อกับนางสาวแพทย์ซาเวียร์ ไม่ได้ความว่านางสาวแพทย์ผู้นั้นได้เคยแสดงแพร่งพรายว่ามีความประสงค์จะไปอินเดียแต่ขณะใด ทั้งได้ความด้วยว่าตามนิสัยของนางสาวแพทย์ซาเวียร์ หากมีความปรารถนาสิ่งใด หรือคิดจะทำการสิ่งใด ก็มิใคร่จะปิดไว้ในใจได้ มักพูดออกมาให้คนทราบเสมอ การสืบสวนทางสภากาชาดทำได้เพียงเท่านี้ ไม่มีน่าที่และไม่มีเครื่องมือจะทำให้ยิ่งไปกว่านี้ได้ ถ้าต้องการจะทราบยิ่งกว่านี้ก็ควรท่านจะอาศัยเจ้าน่าที่ทางกระทรวงมหาดไทย ส่วนในกาละต่อไป แม้นางสาวแพทย์ลิน ซาเวียร์จะคิดไปอินเดียก็คงต้องบอกลาทางสภากาชาด ถ้าปรากฏเช่นนั้นก็จะได้แจ้งไปให้ทราบ เว้นแต่เมื่อนางสาวแพทย์ซาเวียร์จะได้พ้นไปจากน่าที่การงานทางสภากาชาดเสียแล้ว
อนึ่งนางสาวแพทย์ลิน ซาเวียร์ผู้นี้ สังเกตเห็นว่าเปนผู้ตั้งอยู่ในจริยาสงบเสงี่ยม ไม่เห็นเอาธุระต่อกิจการอะไรนอกจากวิชชาชีพของตน ตั้งแต่ทำการงานกับสภากาชาดได้เคยลาไปเที่ยวทางสหรัฐมลายูและสิงคโปร์ครั้งหนึ่งประมาณ ๑๕ วัน ในราวต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๗”
หลักฐานเท่าที่ค้นพบขณะนี้ ไม่ชัดเจนว่าแท้แล้วคุณหมอลินมีส่วนพัวพันกับพวกคอมมิวนิสต์หรือเปล่า แต่ถึงเธอจะเคยเป็นเพื่อนสนิทสนมกับชาวอินเดียผู้อาจจะเป็นตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จริงๆ ก็ดูเหมือนแพทย์หญิงคนแรกของไทยคงหาได้คล้อยตามแนวคิดแบบนี้เท่าไหร่นัก ทางรัฐบาลอินเดียน่าจะกังวลเสียมากไป ยิ่งพิจารณาบทบาทของพระยาศรีวิสารวาจาผู้สามีของเธอยิ่งกล่าวได้ว่าหลังแต่งงานเธอคงห่างเหินมิตรสหายชาวอินเดียนาม ‘คลีเต็ช’ ไปบ้างแน่ๆ
บทบาทสลักสำคัญของนางสาวมากาเร็ต ลิน เซเวียร์ ย่อมไม่แคล้วผู้เป็นแพทย์หญิงคนแรกของไทย แม้ปัจจุบันเธอจะไม่ค่อยมีใครรู้จักก็ตามที การนำเรื่องราวของคุณหมอลินมาเขียนบอกเล่าต่อคุณผู้อ่านจึงเป็นอะไรที่ผมมิอาจละเลยได้ แน่ล่ะ บุคคลเยี่ยงนี้ ควรอยู่ในความยากลืมเลือนมิใช่หรือ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
- หจช. กต.39/6 อินเดียสงสัยว่านางสาวมาร์เกริตลินซาเวียร์เกี่ยวข้องกับพวกคอมมูนิสต์ (พ.ศ. 2467-2468)
- ณัฏฐวดี ชนะชัย. สตรีในสังคมสมัยใหม่: ศึกษากรณีซึ่งประกอบอาชีพพยาบาล (พ.ศ. 2439-2485). วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530
- เทพศรีหริศทนายความ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา ป.จ., ม.
- ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มิถุนายน 2511. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2511
- เปรมสิรี ชวนไชยสิทธิ์. ผู้หญิงกับอาชีพครูในสังคมไทย พ.ศ. 2456-2479. วิทยานิพนธ์ปริญญา
- อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539
- ลาวัณย์ โชตามระ. ผู้หญิงระดับยอด. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2525