ย้อนเวลาไปถึงปี 2446 ในวันที่ 25 ของเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ครอบครัว ‘พันธุ์กระวี’ ครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อยทั่วๆ ไป ในจังหวัดนครปฐม ได้ให้กำเนิดลูกคนโต ชื่อ ‘ละเอียด’ และด้วยเป็นครอบครัวชนชั้นกลางไม่กี่ครอบครัวในยุคนั้นที่เริ่มตระหนักว่าผู้หญิงก็ต้องได้รับการศึกษาเข้าโรงเรียน ครอบครัวเธอส่งไปเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ข้าราชการระดับล่างนิยมในขณะนั้นเพราะเก็บค่าเล่าเรียนปีละประมาณ 20 บาทขณะที่โรงเรียนราชินีเก็บปีละ 57 บาท โรงเรียนกุลสตรีวังหลังประมาณ 45 บาท[1]
แต่เนื่องจากต้องถูกฝากให้อาศัยตามบ้านญาติต่างๆ และต้องย้ายโรงเรียนตามถิ่นอาศัย ครั้งหนึ่งบ้านญาติของที่เธออยู่ด้วยไม่ยอมพาเธอเข้าเรียนหนังสือแต่จะไปฝากตัวในตำหนักชนชั้นสูงแทน เธอถึงกับร้องไห้ยืนกรานที่จะเรียนหนังสือในโรงเรียน
จนในที่สุดเธอได้มาเรียนโรงเรียนมิชชันนารีอเมริกัน ‘ผดุงนารี’ ที่พิษณุโลก เรียนด้วยสอนด้วยเพราะเธอเป็นนักเรียนชั้นสูงสุดเพียงคนเดียว และได้พบรักกับร้อยตรีแปลก ขีตตะสังคะ (ต่อมาก็คือจอมพล แปลก พิบูลสงครามนี่เอง) ที่เข้ามาประจำการเหล่าปืนใหญ่ในจังหวัดเดียวกัน ขณะนั้นละเอียดอายุ 14 ปี อวบและดูเป็นผู้ใหญ่
เนื่องจากโรงเรียนของเธอเป็นทางที่ร้อยตรีแปลกจะต้องพาทหารใหม่ออกไปฝึก ผ่านหน้าโรงเรียนเป็นประจำ เพื่อนๆ ของสาวละเอียดก็คอยแซวเธอ ล้อกันไปมาเมื่อหนุ่มๆ ยาตราผ่าน ไม่นาน 2-3 เดือน ร้อยตรีแปลกก็เขียนจดหมายรักฝากลูกศิษย์ส่งให้เธอ เธอได้แต่ขวยเขินไม่ยอมตอบจดหมาย เธอเล่าว่าตกใจเหงื่อแตก พอได้เห็นคำหวานๆ ใจคอมันหาย เขียนว่ารักเหลือเกินบ้าง ควักหัวใจให้ดูได้ก็จะควักให้เลยบ้าง ไม่เห็นหน้ากินข้าวไม่ลงบ้าง ขอได้เห็นหลังคาบ้านก็ยังดี เลยเอาจดหมายทั้งหมดให้พ่ออ่าน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อต้องเจอหน้ากันอีกขณะที่เธอเดินอยู่ แปลกกางเสื้อกั้นทาง เธอจึงวิ่งลอดใต้เสื้อ พอพ้นก็ชูกำปั้นใส่บอกว่า “เดี๋ยวฉันต่อยหน้าเลย” หนุ่มแปลกไม่ตอบ ได้แต่ยิ้ม แต่ดูเหมือนว่าจะทำให้ชายหนุ่มรักเธอยิ่งขึ้น[2]
ในที่สุดหนุ่มแปลกก็ได้ให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอ ทั้งคู่หมั้นกัน ระหว่างนั้นทั้งคู่ออกเดทไปไหนต่อไหนด้วยกันพร้อมกับผู้หลักผู้ใหญ่ญาติๆ เป็นคณะ ครั้งหนึ่งแปลกเอามือมาแตะแขนเธอ เธอบอกว่าทำเอาเธอเช็ดอยู่หลายวัน[3]
แต่ไม่ว่าอย่างไร สาวละเอียดก็เข้าพิธีสมรสสมรัก และยุติการเรียนการสอนย้ายไปเป็นแม่บ้านในบ้านทหาร มีลูกด้วยกัน 3 คน เมื่อสามีได้ทุนไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส (ซึ่งนั่นแหละที่สามีเธอมีโอกาสวางแผนปฏิวัติเพื่อให้ประเทศไทยจะได้มีรัฐธรรมนูญในการปกครอง) เธอร้องไห้หลายวัน วันคราวจากกันสามีเธอออกจากบ้านเพียงลำพัง ไม่ยอมให้เธอไปส่ง เธอเองก็ไม่อยากไปส่งเช่นกันเพราะกลัวจะร้องไห้ ในช่วงที่ทั้งคู่ต้องห่างกัน เธอก็จะคอยจดหมายที่สามีส่งมาทุกเดือน ในวันที่มีจดหมายมาเธอจะกุลีกุจอรีบกลับบ้านเพื่อไปอ่านจดหมาย[4] ระหว่างนี้เธอกลับมาสอนหนังสือที่พิษณุโลก และเอาลูกๆ เข้าโรงเรียนด้วย และเมื่อสามีกลับสยามเธอก็ลาออกมาใช้ชีวิตแม่บ้านตามเดิม และเรียนภาษาฝรั่งเศสจากสามี
ครั้งหนึ่งเธอสงสัยเมื่อเห็นจดหมายจากฝรั่งเศสมีผมเปียถักผูกริบบิ้นสอดมาด้วย เธอจึงค้นหาคำในดิกชันนารี คำที่ไม่รู้ก็ถามสามี แปลกก็ไม่เฉลียวใจ พอรู้ความบางอย่างเธอก็โกรธใหญ่ แปลกเลยต้องเผาจดหมายทิ้งหมด[5]
เธอมีสถานภาพเป็นแม่บ้านนายทหารปัญญาชนกับลูกทั้ง 4 คน (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีลูก 4 คน) เธอจึงเป็นแม่บ้านทั่ว ๆ ไปที่สามีทำงานนอกบ้านตั้งแต่เช้ากลับมาในยามเย็น ภรรยาคอยเตรียมกับข้าวทำความสะอาดดูแลบ้านเรือน แต่นั่นก็เป็นช่วงเวลาอันสั้น เพราะการผจญภัยครั้งใหญ่กำลังถูกตระเตรียมขึ้นอย่างเงียบๆ โดยคณะราษฎรที่สามีเธอเป็นสมาชิกคนสำคัญ เธอล่วงรู้ระแคะระคายการเคลื่อนไหวคร่าวๆ อย่างระแวงสงสัย จากการทำหน้าที่แม่บ้าน เพราะเพื่อนๆ สามีมักประชุมวางแผนกันที่บ้าน
สมาชิกคณะราษฎรบางคนเดินทางจากจังหวัดอื่นมากินนอนอาศัยที่บ้านเป็นเวลานาน แม้ไม่รู้อะไรมากนักแต่ละเอียดก็ได้เตรียมตัวเรียนปักจักรเย็บจักรเพื่อเป็นวิชาชีพติดตัว หากปฏิวัติไม่สำเร็จเธอวางแผนจะกลับไปสอนหนังสือตามเดิม ซึ่งกว่าสามีเธอจะบอกความเคลื่อนไหวต่างๆ ของคณะราษฎรก็คืนก่อนจะปฏิวัติในรุ่งเช้า[6]
เช้าแห่งการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 สำเร็จลุล่วงไปอย่างสะดวกโยธิน ไม่เพียงเปลี่ยนสถานภาพเธอเป็นพลเมืองหญิงที่เป็นเจ้าของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประชาชนทุกคน ยังทำให้เธอเป็นภรรยานักปฏิวัติ นักการเมือง และนายทหารคนสำคัญ โชคชะตาของเธอจึงขึ้นลงพลิกผันเรื่อยมาตามชีวิตสามี
เธอหมั่นสอดส่องระมัดระวังความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสามีถูกลอบสังหารหลายครั้ง ครั้งแรกแปลกถูกลอบยิงที่ท้องสนามหลวงเมื่อ 2477 ขณะที่ต้องนอนรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน เธอก็คอยดูแลตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้งที่ 2 ในปี 2481 เมื่อคนรับใช้ถูกจ้างให้มาไล่ยิงสามีของเธอภายในบ้านถึงห้องนอนซึ่งทั้งคู่ต่างกำลังแต่งตัวออกไปงานเลี้ยง เธอเกือบถูกลูกหลง แต่ทั้งคู่ก็ปลอดภัยและไปงานเลี้ยงกันต่อ และอีกครั้งหลังจากนั้น 1 เดือน ในมื้ออาหารกลางวันระหว่างครอบครัวของเธอกับพลทหารสำคัญ อาหารถูกวางยาสารหนู และขณะที่ทุกคนรีบรุดไปโรงพยาบาล เธอเป็นผู้ไปโรงพยาบาลหลังสุดเพราะมัวแต่ห่วงสั่งให้เก็บอาหารเอาไว้เป็นหลักฐานเพื่อตรวจสอบ[7]จากนั้นเธอก็เริ่มต้องระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารการกินทุกมื้ออย่างใกล้ชิด เธอลงมือปรุงอาหารเองจนเป็นที่กล่าวของลูกว่า “แม่ซาวข้าวเสียเล็บไม่เคยยาวเลย”[8]
ละเอียดมีบทบาททางสังคมการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามีของเธอยังมักพาทัศนาจรพร้อมกับคณะทุกวันอาทิตย์ตามเรือกสวนไร่นาต่างๆ
ถามสารทุกข์สุขดิบชาวบ้าน บางครั้งก็นำอาหารไปร่วมกินด้วย ซึ่งปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นระยะเวลานาน[9]และเมื่อสามีเป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง เธอจึงมีช่วยเหลือสามีทั้งจากในครัวและงานราชการ
ละเอียดดำรงตำแหน่งประธานสำนักงานวัฒนธรรมฝ่ายหญิงปรับปรุงวัฒนธรรมและสวัสดิภาพความเป็นอยู่สุขอนามัยของผู้หญิงเพื่อยกระดับสถานภาพให้ทัดเทียมกับผู้ชาย มีบทบาทสำคัญในวงการราชการ[10]ที่ต่างจากสมัยยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ระหว่างที่เป็นประธานก็ได้ริเริ่มหลักสูตรอบรมผลิตบุคคลทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ จนกลายเป็นคณะสังคมสงเคราะห์ภายหลัง[11]ในเวลาเดียวกันเธอยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย[12]ในคราวที่รัฐบาลปรับปรุงภาษาไทยลดความเยิ่นเย้อรุงรังเพื่อให้คนที่ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ได้เรียนรู้ฝึกหัดง่ายขึ้น
เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุด สามีเธอกลายเป็นอาชญากรและถูกคุมขัง ละเอียดก็วางแผนการโดยทันทีที่จะดูแลสามีในคุก เตรียมจัดหาทนาย เตรียมส่งอาหารให้ถึงห้องขังทั้งสามมื้อด้วยมือของเธอเอง และได้ตัดสินใจซื้อบ้านซอยชิดลมที่ใกล้กับคุก เธอไปส่งอาหารพร้อมกับลูกๆ วันละ 3 เวลา เว้นวัน แม้ว่าสามีขอร้องว่า วันละ 2 ครั้งเท่านั้น นางก็ไม่ยอม แม้ว่าจะนำไปสู่อุบัติเหตุกับรถสามล้อเครื่องที่เป็นพาหนะจนเธอบาดเจ็บ เธอเล่าว่า
“…ดิฉันถึงกับต้องขายของเก่ากิน มีอะไรก็ขายไป พอเช้าขึ้น เจ๊กก็มาถามว่ามีอะไรจะขายให้บ้าง ดิฉันจะจัดการขายไปเรื่อยๆ คิดเสียว่าสมบัตินอกกายไม่ตายหาใหม่ได้ ก็เก็บขายเรื่อยไป นอกจากเครื่องเพชรมีค่าชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้ขาย แต่เอาไปไว้กับธนาคารและได้บอกให้เช่าบ้านที่หลักสี่แก่บริษัทการบิน KLM ในราคา 5,000 บาทต่อเดือน นับว่าเป็นราคาสูงทีเดียวสำหรับสมัยนั้น ในตอนนี้เองที่ดิฉันได้ตระหนักดีถึงชีวิตของเมียนักการเมืองว่า บางครั้งก็ต้องลำบากระเหเร่ร่อนไปเมื่อสามีเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมา ชีวิตต้องขึ้นๆ ลงๆ ไม่ราบรื่นเช่นคนอื่น”[13]
สามีเธอยังคงเป็นผู้มีอิทธิพลทางทหารและอำนาจทางการเมืองเรื่อยมา ไม่ว่าพำนักที่ใดก็จะมีทั้งมิตรและศัตรูทางการเมืองมาเจรจาเสมอ ซึ่งละเอียดเธอก็จะต้อนรับขับสู้สร้างบรรยากาศที่ดีในฐานะแม่บ้านแม่เรือน ครั้งหนึ่งในปี 2487 ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ข่าวลือว่าแปลก ผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุดเตรียมทหารก่อการรัฐประหาร จึงเดินทางมาเยือนถึงบ้านเพื่อพูดคุย ละเอียดก็ต้อนรับเป็นอย่างดีทำอาหารเป็นสุกี้ยากี้ให้ทาน[14]และเมื่อผิน ชุณหะวัณ รัฐประหารในปี 2490 ในเบื้องแรกได้ชักชวนสามีเธอเป็นคณะรัฐประหารถึงที่บ้าน แต่แปลกก็แสดงท่าทีอิดเอื้อนนิ่งงันไม่เต็มใจ และเดินขึ้นบ้านทันที จนผินโกรธรุดเดินออกจากบ้านไป ไม่ได้ลาใครแต่ละเอียดซึ่งรู้เรื่องราวทั้งหมดเข้ามาไกล่เกลี่ย ด้วยการเข้ามายึดแขนแล้วบอกว่า “ป๋าทำไปเถิดท่านไม่ทิ้งดอกเล่นตัวไปอย่างนั้นเอง” ผินจึงลากลับบ้าน เก็บคำพูดมาทบทวนอยู่หลายวัน[15]
และในคราวที่แปลกประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2486 อันเป็นที่รับรู้ของสาธารณะผ่านประกาศจากวิทยุกรมโฆษณาการ ทว่าก็ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อนั้น ละเอียดเธอถูกพูดถึงอย่างชัดเจนว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามีประกาศลาออก แต่ไม่ว่าเรื่องจริงจะเป็นอย่างไร แม้ละเอียดจะมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจทางการเมืองของสามีหรือไม่ก็ตาม แต่การ ‘ลาออก’ ในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีก็สะท้อนว่าเธอมีอิทธิพลทางการเมืองต่อสามีในสายตาของชนชั้นนำในขณะนั้น แม้แต่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี[16]
เมื่อสามีเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งและเกือบเอาชีวิตไม่รอดอีกเช่นกันจากการก่อกบฏหลายครั้ง เธอก็ยังคงเป็นภรรยาที่ดูแลสามี แม่ของลูกทั้ง 6 คน วุฒิสมาชิกและสานต่อกิจการสังคมสงเคราะห์และการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของชาติ
สนับสนุนกลุ่มแรงงานกรรมกรหญิงก่อตั้งสหพันธ์กรรมกรหญิงซึ่งเธอทำหน้าที่อุปถัมภ์ เพื่อให้กรรมกรหญิงรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวเรียกร้องและรับสวัสดิการที่พึงได้ เธอยังเป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดงานวันกาชาดประธานกรรมการจัดงานวันแม่ และสร้างเครือข่ายกับมูลนิธิ Golden Rule Foundation ในอเมริกาเกี่ยวกับบทบาทแม่และเด็ก และในปี 2499 เธอได้รับการเลือกให้เป็นประธานของสหพันธ์สมาคมประชาชาติแห่งโลกที่กรุงเจนีวา
ต่อมาเธอได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนครนายก สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ก่อนจะมีรัฐประหารไม่นาน
รัฐประหารในครั้งนี้สามีเธอหมดอำนาจทางการเมืองสิ้นเชิงและต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เธอยังคงติดตามดูแลสามีอย่างดีเรื่อยมาจนกระทั่งสามีเธอเสียชีวิตลงอย่างปริศนาที่บ้านพักชานกรุงโตเกียว จากนั้นจึงเดินทางกลับประเทศพร้อมอัฐิสามี
ละเอียด พิบูลสงคราม ยังคงสืบสานเจตนารมณ์การปฏิวัติของสามีเรื่อยมาจนกระทั่งเธอเสียชีวิตลงในปี 2527 กลายเป็นตำนานของผู้หญิงแถวหน้าไปพร้อมกับหลังบ้าน ที่มีอิทธิพลและทิ้งมรดกให้กับประเทศอย่างที่ไม่เคยมีภรรยานายกรัฐมนตรีคนไหนทำได้เท่านับตั้งแต่เริ่มมี
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ยุพาภรณ์ แจ้งเจนกิจ. การศึกษาของสตรีไทย : ศึกษากรณีเฉพาะของโรงเรียนราชินี (พ.ศ.2447-2503) กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530, น. 79-80.
[2] จีรวัสส์ ปันยารชุน (บรรณาธิการ). ชีวประวัติและผลงานของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ด่านสุทธา,(จัดพิมพ์ในโอกาสครบรอบ 100 ปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม วันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2540) 2540, น. 7.
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 9.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 12.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 12.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 13-19.
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 21-24.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 19.
[9] เรื่องเดียวกัน, น. 24.
[10] ที่ระลึกวันเปิดสมาคม สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดสมุทรปราการ 22 พฤศจิกายน 2497. ธนบุรี:เสรีบรรณกิจ.
[11] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บันทึกผลงานรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499. กรุงเทพ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (พิมพ์ในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดครบ 5รอบ ของพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี 14 กรกฎาคม 2500), 2500.
[12] วรรนคดีสาร. ปีที่ 1 ฉบับปฐมฤกษ์ (สิงหาคม 2485).
[13] สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย.เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500. กรุงเทพฯ: นรามิตรการพิมพ์, 2516, น. 40-41.
[14] ณัฐพล ใจจริง, ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. อยากลืมกลับจำ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.
[15] สุพจน์ ด่านตระกูล. ปรีดี หนี. นนทบุรี: สันติธรรม, น. 42-43.
[16] พีระ เจริญวัฒนนุกูล. การลาออกแต่ไม่ยอมออกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2486. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2559), น.80-105.