ด้วยความเป็นมนุษย์โสด อกหักรักคุดที่มากด้วยจิตริษยา ตอนแรกเลยกะจะเขียนเรื่องที่มาที่ไปของวันวาเลนไทน์ที่แสนสยองขนและนองเลือด อย่างเหตุการณ์สังหารหมู่นักบุญวาเลนไทน์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1929 ที่หากว่ากันตามตรงการแจกแมชชีนกันกับลูกตะกั่วใส่กันอาจจะถูกต้องทางประวัติศาสตร์มากกว่าการให้ช็อกโกแล็ต
และสีแดงของเลือดที่สาดย้อมแผ่นดินดูจะเหมาะมากกว่าสีแดงของกุหลาบ เผื่อว่ามันจะลดทอนความหวานชื่นชวนหงุดหงิดลูกตามนุษย์นกอย่างเราลงได้บ้าง แต่ความคิดสายโหดก็หยุดลงเพราะแลดูจะเป็นการพยายามฉาบย้อมวันวาเลนไทน์หวานๆ ของหลายๆ คน ด้วยจิตใจอกุศลไปสักนิด (แต่ยังหมั่นไส้อยู่ดี ฮึ่ยยยย!)
ในฐานะคนไร้คู่ในบรรยากาศวาเลนไทน์ เลยอยากพามารู้จักกับคอนเซ็ปต์หนึ่งซึ่งทั่วไปไม่พูดถึงนักแต่เริ่มพูดกันเยอะในหมู่วงวิชาการบางส่วน และนับอายุอานามก็ค่อนข้างใหม่ทีเดียว นั่นคือ ‘Lookism’ คำนี้เข้าใจว่ายังไม่มีการแปลไทย ความหมายของมันก็คือ ‘การเหยียดคนอื่นโดยมีพื้นฐานที่รูปลักษณ์ทางกายภาพภายนอก’ หรือหากแปลง่ายๆ แบบอาจจะลดทอนความหมายลงหน่อยก็คือ ‘การเหยียดรูป(ลักษณ์)’ แม้การเหยียดนี้จะไม่ได้ถูกจัดให้เป็นการเหยียดกลุ่มเดียวกันกับการเหยียดผิว เหยียดเพศ ฯลฯ แต่หลายคนก็เชื่อว่าปัญหานี้มีอยู่จริงและ มีผลทั้งในทางลบต่อคนที่ถูกมองว่าหน้าตาไม่ดีและผลบวกกับคนที่ถูกมองว่าหน้าตาดีกว่าด้วย อย่างจอห์น เอฟ แคเนดี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเองก็มีหลายคนเชื่อว่าได้รับอานิสสงค์ในการเลือกตั้งจากความที่หน้าตาที่ดีกว่าอีกฝ่าย หรือนักจิตวิทยาอย่าง แนนซี เอตคอฟ ซึ่งได้พยายามทำการพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยสิ่งที่เธอเชื่อว่าเป็นการพิสูจน์เชิงประจักษ์ ด้วยการทดลองผ่านการเฝ้าสังเกตเด็กแรกเกิดที่อายุเพียง 14 ชั่วโมง (เนื่องจากยังไม่ได้รับการใส่คุณค่าใดๆ ทางสังคม) ก็พบว่าเด็กเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะชอบจ้องมองดูรูปคนที่หน้าตาดี มากกว่าที่จะจ้องมองเด็กที่หน้าตาไม่ดี จนนำไปสู่ข้อสรุปว่าสิ่งเหล่านี้นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วย[2]
อย่างไรก็ดีการตัดสินหรือสรุปความดังกล่าวก็พอจะมีช่องโหว่อยู่ เพราะต่อให้ทารกเหล่านั้นจะยังคงไม่ได้รับอิทธิพลทางสังคมใดๆ แต่คนที่ตัดสินแต่แรกเริ่มสุดว่ารูปไหนคือรูปของคนหน้าตาดี และรูปไหนไม่ใช่นั้น ก็มาจากการคัดเลือกและสรุปความโดยคนซึ่งผ่านการกล่อมเกลาด้วยค่านิยม ‘ความงาม’ ของสังคมมาแล้วอยู่ดี ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของแนวคิดนี้ที่ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับเหมือนการเหยียดผิว เหยียดเพศด้วย ก็คือ มันอิงอยู่อย่างมากกับ ‘ความดึงดูด’ หรือ ‘ความงามทางกายภาพ’ (Physical Attractiveness/Beauty) ซึ่งความงามทางกายภาพที่ว่านี้มันมาจากหลายปัจจัยเหลือเกิน หลักๆ ผมคิดว่าต้องนับว่าประกอบด้วย 1. ยีนส์หรือเชื้อพันธุ์ที่ดี, 2. กำลังทรัพย์ที่ถือครอง, 3. ความผ่าเหล่าผ่ากอ (Mutation) – ในบางกรณี, 4. การรับรู้ทางธรรมชาติแต่กำเนิด (หากการทดลองดังกล่าวมีมูล), 5. การกำหนดคุณค่าความงามของสังคม และ/หรือ 6. รสนิยมส่วนบุคคลทั้งของตนเองกับคนมอง
การจะเป็นคนหน้าตาดีหรือไม่ดี ดึงดูดหรือไม่ดึงดูดนั้น อาจจะต้องการปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือมากกว่า 1 ปัจจัยผสมๆ รวมกันไป จนไปถึงทุกประการรวมกัน อย่างไรก็ดี ข้อ 1 – 4 ดูจะเป็นเงื่อนไขที่ยากจะไปยุ่มย่ามด้วยได้ เพราะอาจจะต้องดูที่สาแหรกตระกูลท่านว่าโครงหน้าเบ้าหน้ามากันดีไหม, มีกำลังทรัพย์มากพอจะไปปรับแต่งให้ดี(ขึ้น)ได้ไหม หรือในกรณีที่ต้นทางมาไม่ดีแต่เกิดออกมาอย่างแหกกฎพันธุกรรมได้หล่อฟริ้งสวยเว่อร์ไหม พวกนี้เป็นเรื่องปัจจัยของปัจเจกแต่ละคนแล้ว อย่างไรก็ดีปัจจัยที่มีผลโดยตรงกับช่องโหว่วของการทดลอง และพอจะคุยอะไรได้บ้างคือ ข้อ 5 และ 6 ก็ลองมาคิดตามดูกัน
อิทธิพลของสังคมในการกำหนดภาพของความงามความดึงดูดนั้นมีการพูดถึงมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ ทั้งลักษณะรูปร่าง รูปหน้า รวมไปถึงอวัยวะดึงดูดทางเพศต่างๆ ล้วนมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
ตั้งแต่ข้อเท้ายันเบ้าหน้า รูปร่างก็ตั้งแต่มีพุงเล็กๆ ไปจนถึงนิยมนางแบบไซส์ซีโร่ (คือร่างกระหร่อง) นิยมอกเล็กอกโตเปลี่ยนๆ กันไป ไม่เพียงกับเพศหญิง เพศชายก็มีแบบของความงามและดึงดูดทางเพศที่แตกต่างกันไปตลอดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่หน้าเข้มกล้ามใหญ่แปะเครานิดๆ ไปจนถึงหนุ่มหุ่นลีนหน้าสวยแบบกระแสหนุ่มเกาหลีคางแหลมในตอนนี้ ความละเอียดในเรื่องจุดดึงดูดต่างๆ นี้ไล่เรียงซอยลึกไปจนถึงกระทั่งขนาดและรูปร่างของอวัยวะเพศทีเดียว ขนาดและความดึงดูดของมันก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างกรีกโบราณนิยมขนาดที่เล็กและไม่เคยผ่านการขริบ ในขณะที่สาวๆ (และหนุ่มๆ) โรมันกลับชอบองคชาติไซส์ยักษ์ เป็นต้น ไม่ต้องนับว่าการรับรู้ ‘ขนาด’ ของแต่ละสังคมก็มีความสัมพัทธ์อีก จริงๆ ในอวัยวะเพศหญิงก็มีภาพแบบโรแมนติกเหล่านี้ แต่คิดว่าพอจะเห็นประเด็นที่จะต้องการจะสื่อกันแล้ว นั่นก็คือ (1) แบบของความงามมันไม่ใช่สิ่งที่มาตามธรรมชาติล้วนๆ ความจริงแล้วหลักๆ มันเกิดจากการปลูกสร้างผ่านคติและค่านิยมทางสังคมด้วยซ้ำ และ (2) สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทางประวัติศาสตร์ สำหรับคนที่อายุย่างๆ เข้าวัยสามสิบอย่างผม ในประเทศไทยเราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องกรอบของความงามมาบ้างแล้ว จากนิยมสาวฝรั่งผมบลอนด์ มาหาสาวญี่ปุ่นเกาหลี ทางฝั่งการมองผู้ชายก็ดูจะทำนองเดียวกัน
เมื่อค่านิยมมันไม่ตายตัว และมันมาจากอิทธิพลของกรอบสังคมเสียมาก ผมก็คิดว่าการทดลองดังกล่าวที่แม้ทารกจะไม่ได้รับอิทธิพลทางสังคม แต่ตัวผู้ทดลองเอง ซึ่งเป็นคนเลือกรูปหรือตัดสินความงามของบุคคลในรูปนั้น ก็ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลทางสังคมที่ว่าในการกำหนดรูปลักษณ์มาแล้วทั้งนั้น ฉะนั้นการทดลองที่ดูจะยืนยันความจริงแท้ของการมีอยู่ของ ‘การเหยียดรูป’ นี้ดูจะไม่เมกเซนส์นักสำหรับผม ไม่เพียงเท่านั้นเราต้องเข้าใจด้วยว่าภาพแบบของความงามหรือความดึงดูดของสังคม (ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อแนวคิดเรื่อง ‘การเหยียดรูป’) นั้น มันไม่ได้มาแบบชัดเจน หรือบ่งลักษณะอย่างจำเพาะ โดยมากมันมักมาเป็นกรอบกว้างๆ ที่คนในสังคมโดยมากยอมรับเป็นเกณฑ์คร่าวๆ ว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่ดูโอเค แต่ลักษณะที่ชอบเป็นการเฉพาะจริงๆ ก็มักจะมาตัดสินกันที่รสนิยมส่วนตัว หรือ อัตวิสัย (Subjectivity) ของแต่ละคนอยู่ดี อย่างถ้าถามผมว่าสำหรับผมแล้วใครเป็นคนที่ดูดี น่ารักที่สุดในประเทศไทย ผมก็คงตอบอย่างไม่ลังเลว่า ‘แพทตี้ อังศุมาลิน’ ในขณะที่มิตรสหายบางคนของผมอาจจะมีจิตใจหยาบช้ากว่าบ้าง ที่มองว่าแพทตี้เฉยๆ ไป (อันนี้ส่วนตัวล้วนๆ มันจะชอบยังไงก็เรื่องของมัน แต่ไม่พอใจที่ว่าแพ็ตตี้เฉยๆ 55) แล้วอาจจะชอบใหม่ ดาวิกามากกว่า ที่เขียนๆ มายาวยืดนี้ คือ ผมพยายามจะบอกว่า หากอิงตามประเด็นที่ว่ามานี้แล้ว การทดลองกับทารกที่ว่านั้น ไม่ได้ยืนยันการมีอยู่จริงๆ ของเรื่อง Lookism หรือการเหยียดรูปเลย หากมันจะยืนยันอะไรได้ก็คือ ทารกที่อยู่ในการทดลองชอบมองรูปของคนที่แนนซี เอตคอฟ (เจ้าของการทดลอง) คิดว่าดูดีเท่านั้น
อย่างไรก็ดีในระยะหลังๆ คำนี้ก็เริ่มได้รับการตอบรับในทางวิชาการมากขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเวลามีการยกประเด็นจำพวก ‘คนหน้าตาดีกำลังทำอะไร’ เช่น สิบหนุ่มหล่ออ่านหนังสืออะไร, สิบดาราสาวสวยตอนนี้ชอบฟังเพลงของใคร, ฯลฯ ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมเลือกปฏิบัติด้วยหน้าตาแบบนี้ อย่างงี้มันเหยียดรูปนี่น่า อะไรแบบนั้นไป (สังคม PC จ๋านี่มันอยู่ยากจริงๆ) โอเคหากจะบอกแบบนี้ เชื่อแบบนี้ว่านั่นคือการเหยียดก็ว่ากันไป แต่ผมคิดว่ามันน่าครุ่นคิดต่อไปด้วยว่า หากบอกว่าแบบนี้คือการเหยียด แล้ว ‘การเลือก’ แบบไหนบ้างที่ไม่นับเป็นการเหยียด? หากจัดลิสต์ ‘หนังสือที่ 10 นักวิชาการดังตอนนี้กำลังอ่านคืออะไร’ ขึ้นมาแทนลิสต์ ’10 หนุ่มหล่อ’ ก็อาจจะไม่โดนด่าแบบที่ว่ามา แต่สุดท้ายแล้วการเลือกแบบนี้ทั้งหมดมันก็อยู่ที่อัตวิสัยของคนจัดลิสต์นั้นๆ คัดสิบคนที่แต่ละคนคิดว่า ‘ดัง’ ก็คงไม่เหมือนกัน หรือคนที่ถูกมองว่าเป็นนักวิชาการในสายตาแต่ละคนเองก็ไม่เหมือนกันแน่ๆ
สุดท้ายแล้วหากมองการเลือกทุกอย่างในลักษณะนี้เป็นการเหยียดด้วยข้ออ้างว่า Lookism นี่ ทำอะไรก็คงจะเหยียดไปหมด และผมกลับมองว่าการไม่เคารพต่อการตัดสินใจ หรือ Individual Preference ‘ในเรื่องอันเป็นความคิดตามปัจเจกวิสัย’ ของคนอื่นต่างหากที่เป็นสัญญาณการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนในตัวคนที่ยีหน้าคนอื่นด้วยข้ออ้างแบบนี้
ที่ตลกขึ้นไปอีกคือ สุดท้ายในทางปฏิบัติจริงๆ เราทุกคนก็ขับเคลื่อนตัวเองด้วยกลไกที่ด่าๆ กันอยู่นี้หรือเปล่า? ออกจากบ้านสาวๆ ก็แต่งหน้า ก็ไม่ค่อยเห็นคนต้านการเหยียดรูปเดินหน้าสดออกจากบ้านไปทองหล่ออะไรนัก หรือเราเลือกหนัง AV ต่างๆ ก็ดูจากภาพปกอยู่ดี ไม่พอหากไส้ในต่างจากปกก็พร้อมใจจะด่ากันระนาว หรือรูปที่เอาขึ้นเป็นโปรไฟล์พิกเจอร์ในเฟซบุ๊กก็คัดแล้วคัดอีก บางทีผ่านแอพแต่งรูปมานับแอพไม่ถ้วน (ไม่ต้องพูดไปไกลถึงทินเดอร์) สุดท้ายหลายคนก็เป็นคนปั่นไฟให้กับกลไกที่ตัวเองกำลังต่อต้านเสียเอง ผมยกเรื่องเหยียดรูปขึ้นมา เพราะรู้สึกว่าหลังๆ มานี้สังคม PC หรือการแสดงความเห็นอย่างถูกต้องทางการเมืองนั้น มันครอบปากเราเสียแข็งกันไปหมด จนจะแข็งไปทั้งตัวรวมถึงความคิดด้วย ซึ่งมันอาจจะอันตรายกับสังคมมากกว่าการพูดไม่ PC เสียอีก และเรื่องเหยียดรูปก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในนั้น ยกเรื่องนี้มาเพราะเห็นว่าเหมาะกับบรรยากาศวาเลนไทน์ดี
สุดท้าย อาจจะมีคนแย้งว่า “ก็ที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเหยียดรูปที่พยายามต่อต้านนั้น มันยิ่งเป็นเครื่องยืนยันไงว่าการเหยียดรูปนั้นมีจริง ถึงต้องทำตัวเองให้ไม่ตกเป็นเหยื่อด้วย!” โอเค อาจจะจริง แต่มันก็ไม่ถูกต้องเอามากๆ ด้วยไง เหมือนกับคุณกำลังต่อต้านการเหยียดคนดำ พร้อมๆ กับการทำให้ผิวตัวเองขาวที่สุดเพื่อจะได้ไม่โดนเหยียด อย่างน้อยๆ ถ้าเห็นว่าปัจจัยนี้มีอยู่จริง ก็น่าจะมีกึ๋นที่จะแสดงออกให้เห็นกันได้ทั่วไปในสังคมด้วย คือ ผมคิดว่าตราบใดที่มันไม่ได้เกิดการเหยียดในระดับที่เกินกว่า ‘รสนิยมส่วนบุคคล’ ของแต่ละปัจเจก คุณไม่ได้ไปรุมกระทืบใครเพราะคนนั้นหน้าแย่, ไล่ฆ่าได้โดยไม่ต้องกลัวกฎหมายลงโทษเพราะคนที่โดนฆ่านั้นอ้วนเผละ, โดนตัดสิทธิทางการเมืองเพราะรูปทรงองคชาติไม่ดึงดูด คือ โดนแบบที่คนดำ (เคย) โดน และคนมุสลิมหลายคนกำลังโดน ก็ไม่ควรไปขยันอุดปากหรือประณามคนอื่นไปเสียทุกเรื่อง
ไม่เพียงเท่านี้ หากเราคิดว่าคนหน้าตาไม่ดี รูปร่างแย่ต้องเจอการเหยียดจากพฤติกรรมหมู่ของสังคมจริง ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าในสังคมเดียวกันนี้ คนหน้าตาดีก็ตกเป็นเหยื่อทั้งทางวจีกรรมและมโนกรรมอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ดังรูปด้านล่างที่ผมตัด ‘พาดหัวข่าว’ ของสำนักข่าวหนึ่งมาให้ดู คนหน้าตาดีเองก็ตกเป็นเหยื่อของสงครามฮอร์โมนเช่นกันครับ…นี่พูดเตือนในฐานะมนุษย์นกไร้คู่ในวันวาเลนไทน์เลย
Illustration by Namsai Supavong
[1] ผู้เขียนเข้าใจดีถึงความแตกต่างหลากหลายในแนวคิดเรื่องเพศ, เพศสภาพ และเพศวิถีในปัจจุบัน ที่บางสำนักเชื่อว่า ‘ร่างกาย’ ไม่มีความสำคัญใดๆ อีกต่อไปแล้ว หรือความหลากหลายเลื่อนไหลของเพศสภาพ (Sexuality) ซึ่งคิดว่าตัวเลขล่าสุดเหมือนจะปาเข้าไปถึง 29 รูปแบบแล้ว แต่เพื่อความสะดวกในการสื่อความและพื้นที่จำกัดมาก ก็ขอเขียนบนฐานของ ‘สองเพศ’ ตามที่คุ้นชินกัน
[2] ที่มา www.newscientist.com