สุขสันต์วันแม่แห่งชาตินะครับ ผมทราบดีว่ามีหลายคนที่อาจจะพูดว่า จะมีวันแม่ไปทำไมเรารักแม่ได้ทุกวันอยู่แล้ว? หรือ การกำหนดให้มีวันแม่แห่งชาติเป็นการอัดย่อความสำคัญของแม่ให้เหลือเพียงแค่ภาพสะท้อนผ่านวันๆ เดียวอะไรแบบนี้ ซึ่งหากจะคิดแบบนั้นก็คงไม่ผิดอะไร แต่พร้อมๆ กันไป การมีวันที่เป็นสากลมากๆ อย่างวันที่แทนความเป็นแม่นั้นก็คงไม่ผิด ที่ว่าสากลก็เพราะอย่างน้อยๆ จนถึงจุดนี้ มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเกิดมาโดยไม่มีแม่ในฐานะผู้ให้กำเนิดกันเสียก่อน
ฉะนั้นในแง่นี้ความเป็นแม่จึงเป็นสากล แม้ลักษณะนิสัย วิธีการปฏิบัติตัวของแม่แต่ละคนจะแตกต่างและเป็นปัจเจกมากก็ตาม ด้วยความเป็นสากลของมันนี้เอง แทบทุกที่ในโลกก็ล้วนแต่มีวันแม่ด้วยกันทั้งนั้น
ในแง่หนึ่งการมีอยู่ของวันแม่ยังค่อนข้างเป็นพื้นที่ให้เราอวดแม่ เบ่งแม่เราแข่งกับหมู่มิตรและประชาชีในสังคมได้ด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าไร้สาระ แต่ผมกลับมองว่ามันก็มีเสน่ห์ในแบบของมันนะครับ ในขณะที่ในโซเชียลขยันอวดหลัวอวดเมีย (ทั้งหลัวจริงเมียจริง และหลัวเมียมโน) แต่การจะอวดพ่ออวดแม่บ้างบางทีก็เฉพาะในช่วงจังหวะแบบนี้แหละที่จะเกิดขึ้นบ้างโดยที่เราไม่รู้สึกกระอักกระอ่วนหรือเขินอายนัก (ซึ่งก็ไม่รู้ทำไมอะนะครับ แต่เราเขินการอวดแม่มากกว่าอวดหลัวอวดเมียเสมอ ยกเว้นในวันแม่) โดยส่วนตัวผมเลยไม่รู้สึกว่าการมีอยู่ของวันแม่นั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่ดีอะไร ผมเห็นด้วยกับการมีอยู่ของวันนี้ และไม่มีปัญหาอะไรด้วยกับการจะอวยพรแม่ผ่านโซเชียลมีเดียหรืออวดแม่ผ่านเฟซบุ๊กกันอย่างที่หลายๆ คนมักกระแนะกระแหนว่า “มาโพสต์อะไรในเฟซบุ๊ก ไม่ไปบอกแม่มึงตรงๆ วะ?” … เอ๊า ก็แม่กูเล่นเฟซบุ๊ก และทำไมกูถึงจะบอกทั้งตรงๆ และบอกในนี้ไม่ได้ด้วย? บางทีอีพวกช่างแซะมันก็ว่างงานเกินไปน่ะครับ
ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ‘วันแม่ไม่ใช่วันของทุกคน’ แม้ความเป็นแม่จะมีความเป็นสากลเพราะไม่มีใครเกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ และผมเข้าใจว่ามนุษย์หลอดแก้วร้อยเปอร์เซ็นต์หรือการโคลนนิ่งมนุษย์ยังไม่เกิดขึ้น ทุกคนก็ต้องเกิดมาจากมดลูกของแม่ในความหมายว่าผู้ให้กำเนิดด้วยกันทั้งนั้น (อาจจะมีความซับซ้อนขึ้นหน่อยในกรณีการอุ้มบุญ แต่ขอยกไว้ก่อน) แต่แม้ว่าจะมีแม่ที่ให้กำเนิดเรามาด้วยมดลูกของนาง ก็ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีพอที่จะได้อยู่กับแม่ แน่นอนว่าทุกท่านรู้เรื่องกันดีอยู่แล้ว ทั้งคนที่แม่เสียชีวิต แม่ทิ้ง ครอบครัวแยกทาง หรืออยู่ไกลจากแม่ใดๆ ก็ตาม ในแง่นี้ วันแม่ในฐานะวันเฉลิมฉลองความสุขของการได้อยู่ร่วมกันและใช้ชีวิตกันมากับแม่นั้นจึงไม่ใช่วันของทุกคน และนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มันเป็นเรื่องที่พูดกันมาน่าจะหลายร้อยรอบแล้ว
อย่างไรก็ดี ผมเกริ่นมานี้ ไม่ได้จะมาบอกว่า “เฮ้ย มันมีคนที่ไม่ได้อยู่กับแม่อยู่นะเว้ย ฉะนั้นพวกมึงจงอย่ามาแสดงออกถึงความรักแม่กันเลย สงสารคนไม่มีแม่บ้าง” โนๆๆๆๆๆๆๆ อยากจะแสดงออกถึงความรักแม่อะไรในทางส่วนตัวของท่านก็ทำไปเถิดครับ และผมก็คิดว่าคนที่ไม่มีแม่แล้ว หรือไม่ได้อยู่กับแม่ก็พึงต้องเข้าใจด้วย และพยายามไม่รู้สึกดาวน์ไปการพบเห็นอะไรแบบนั้น เพราะแม้เราจะไม่ได้อยู่กับแม่แล้ว แต่คนอื่นก็มีสิทธิที่จะมีความสุขกับแม่ของเขาได้ นั่นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนพอจะเข้าใจกันได้ไม่ยาก
แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ ‘พื้นที่ทางการเชิงบังคับ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้’ ต่างหาก ว่ามันมีวิธีคิดเผื่อคนที่ไม่มีแม่หรือไม่ได้อยู่กับแม่อย่างไร?
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงพื้นที่อย่างโรงเรียน สถานที่ราชการต่างๆ นั่นแหละครับ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีเด็กจำนวนมาก ทั้งเด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กที่ได้อยู่กับแค่พ่อหรือแม่ และเด็กที่ไม่ได้อยู่กับทั้งพ่อทั้งแม่ แต่เมื่อถึงวันแม่ (หรือวันพ่อ) โรงเรียน และสถานที่ราชการต่างๆ ก็พากันบังคับทั้งให้ร่วมกันจัดทำบอร์ดบ้าง เขียนเรียงความถึงแม่บ้าง ออกมาเล่าเรื่องแม่บ้าง ร้องเพลงค่าน้ำนมบ้าง ถ่ายรูปกับแม่บ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราต้องเข้าใจไงครับว่า พื้นที่โรงเรียนหรือสถานที่ราชการอื่นๆ นั้นเป็นพื้นที่เชิงอำนาจที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้สำหรับคนที่อยู่ในระบบ มันไม่ใช่พื้นที่แบบที่คนไม่มีแม่หรือไม่ได้อยู่กับแม่จะ ‘หลีกเลี่ยง ไม่เข้าไปยุ่ง เพื่อให้วันนี้ไม่กระทบกับจิตใจของตนเองได้’ แบบพื้นที่อื่นๆ จะมีหรือไม่มีแม่ ก็ต้องเข้าไปเอี่ยวกับกระบวนการ ‘แสดงความสุขที่ได้อยู่กับแม่’ ในอำนาจของโรงเรียนนี้
ในหลายโรงเรียนยิ่งหาทางออกแบบหนักเข้าไปใหญ่ อย่างการให้เด็กพาแม่มาทำกิจกรรมที่โรงเรียนด้วยกัน แล้วประกาศว่า “คนที่ไม่ได้อยู่กับแม่หรือแม่มาไม่ได้ก็ไม่ต้องมาร่วมกิจกรรม” ซึ่งเหมือนจะเป็นความตั้งใจอันดีที่จะไม่ให้เด็กกระทบกระเทือนจิตใจ แต่การทำแบบนี้ ยิ่งเป็นการแบ่งแยกคนมีกับไม่มีแม่ออกจากกันอย่างเป็นทางการ (จากที่ปกติก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็เป็นปมในใจเด็กหลายๆ คนอยู่แล้ว) การทำแบบนี้มันจึงเป็นเรื่องที่อาจกระทบจิตใจมากยิ่งขึ้นไปอีก หากจะจัดกิจกรรมที่มีอำนาจเชิงบังคับแบบนี้มาเกี่ยวข้อง และมันหลีกเลี่ยงที่จะกระทบกับเด็กที่ไม่มีแม่หรือไม่ได้อยู่กับแม่จำนวนมากได้นั้น สู้ไม่ต้องจัดงานหรือกิจกรรมใดๆ ในโรงเรียนหรือสถานที่ราชการเลยไม่ดีกว่าหรือครับ? ปล่อยให้คนที่มีแม่ได้อยู่กับแม่ได้ไปแสดงความรัก ไปมีความสุขกับแม่ของพวกเขาด้วยตัวเอง ด้วยวิธีการของเขาเอง ในขณะที่คนไม่มีแม่ก็ไม่ต้องมาโดนบังคับให้ต้องเผชิญหน้ากับสภาพการณ์ที่ไม่เป็นการดีกับจิตใจพวกเขานัก
ว่าง่ายๆ ก็คือ ทำให้วันแม่วันพ่อมันกลายเป็น ‘วันหยุดที่ไร้กิจกรรมทางการ’ ก็คือแค่หยุด แล้วใครจะไปแสดงความรักหรือหลบหนีการแสดงความรักของพวกเขาอย่างไรก็ตามใจชอบ ไม่ใช่เรื่องที่หนักหัวรัฐหรือทางการอะไรไปยุ่ง และจบที่การไปกระทบจิตใจของคนอีกมากมายน่ะครับ
ในกรณีของประเทศไทยนี้ ผมมีข้อเสนอที่ลงลึกไปอีกอย่าง (ส่วนนี้อาจจะต้องอ่านระวังนิดนึง และโปรดอย่ารีบดราม่าเด้อ) คือ ปัญหาของกรณีวันแม่ (และวันพ่อ) ไทยนั้น มันอยู่ที่การผูกวันแม่เข้ากับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระราชินี (ในรัชกาลที่ 9) ครับ ทำให้ในทางหนึ่งทางการและสถานที่ราชการต้องจัดกิจกรรมแสดงออกอย่างยิ่งใหญ่ในวันเหล่านี้เสมอมา ผมจึงอยากจะบอกจริงๆ ครับว่า เราไม่ควรจัดวันพ่อหรือวันแม่เหล่านี้โดยผูกเข้ากับวันสำคัญของรัฐที่ทางราชการจะต้องเข้าร่วมด้วยเช่นนี้ครับ ว่าง่ายๆ ก็คือ ผมคิดว่าเราควรแยกออกมาเป็น 2 วันหยุดที่แยกขาดกันต่างหากครับ คือ วันแม่วันหนึ่ง กับวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินีอีกวันหนึ่ง (เช่นเดียวกันกับวันพ่อแห่งชาติ)
ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ตัววันแม่กลายเป็นวันหยุดโดยตัวมันเองได้ และสามารถเป็นวันหยุดที่ทางราชการเองไม่ต้องจัดกิจกรรมอะไรเป็นทางการได้ ปล่อยให้คนได้ไปรักแม่เขาในแบบของแต่ละคน ส่วนวันเฉลิมฯ ทางราชการก็จัดในส่วนการเฉลิมพระชนมพรรษาไป ก็ไม่ได้ไปกระทบกระเทือนจิตใจใครเป็นพิเศษ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่แปลกนะครับ การแยกวันเฉลิมฯ กับวันพ่อวันแม่นั้นเป็นเรื่องปกติมากๆ อย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลปัจจุบันเอง ก็แยกขาดออกจากการเป็นวันพ่อ คือ การเป็นวันแม่เอง ก็สามารถแยกขาดได้จากวันเกิดของประมุขแห่งรัฐได้นั่นเองครับ
หากวันแม่ และวันเฉลิมฉลองทางการของรัฐถูกแยกขาดกันอย่างชัดเจนแล้ว ผมคิดว่าก็ไม่มีเหตุผลอะไรอีกที่ทางโรงเรียนหรือสถานที่ราชการต้องมาจัดกิจกรรมเชิงบังคับที่อาจจะกระทบจิตใจคนไม่มีแม่ นั่นแปลว่า ในกรณีนี้หากยังคงมีกิจกรรมทางการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีก (ต่อให้ไม่ต้องเข้าร่วม แต่การต้องโดนบังคับให้ต้องไปยังสถานที่เหล่านี้อย่างไร้ทางเลือก ก็เป็นการบังคับแล้วนะครับ) ก็ต้องนับว่าโรงเรียนและราชการไทยนั้นอำมหิตเลือดเย็นไปมาก เหลือพื้นที่ให้กับคนที่เขาไม่มีแม่ในวันแม่บ้างเถอะครับ
มีความสุขในวันแม่กันมากๆ นะครับ ทั้งท่านที่มีแม่และท่านที่ไม่ได้อยู่กับแม่แล้ว โดยเฉพาะท่านในกลุ่มหลัง หวังว่าสังคมที่ให้พื้นที่กับคนไม่มีแม่ในวันแม่อย่างน้อยนิดเหลือเกินนี้ไม่กัดกินบั่นทอนจิตใจท่านๆ จนทนไม่ได้นัก
สุดท้ายผมคงจะบอกได้แค่ว่า Universal design society หรือสังคมที่ถูกออกแบบมาสำหรับทุกคน (หรือสากลมนุษย์) นั้น มันไม่ได้หมายถึงแค่ความสากลในทางกายภาพ อย่างการมีทางลาดให้คนพิการ การมีลิฟต์บริการคนแก่ การมีทางเท้าสำหรับคนตาบอดเท่านั้น แต่มันหมายถึงการเป็นสากลและคิดเผื่อถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะแบบเราในทางจิตใจด้วยน่ะครับ
อย่าให้ความสากลอยู่แต่ที่ร่างเนื้อเลยเนอะ เพราะไม่ได้มีแต่ร่างกายที่มันหลั่งเลือดหลั่งเนื้อเป็น จิตใจคนเราก็เช่นกัน