นานๆ ทีจะมาชวนคุยเรื่องสบายๆ เปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง เพราะรอบนี้จะมาคุยกันเรื่องละครทีวีญี่ปุ่น ที่มักสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อยู่เรื่อยๆ แม้ญี่ปุ่นจะมีละครรีเมคบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับละครเนื้อเรื่องใหม่ๆ ถึงช่วงหลังจะขาดแคลนละครออริจินัลเพราะชอบหยิบเอามังงะเรื่องดังๆ มาทำเป็นละคร แต่ก็มีเรื่องที่จับกระแสสังคมในช่วงนั้นเอาประเด็นมาเล่นได้อย่างน่าสนใจและสะท้อนยุคสมัยได้ตลอด
และในปัจจุบัน ก็คงไม่มีปัญหาไหนที่ชวนให้ชาวญี่ปุ่นเป็นห่วงได้มาเท่ากับปัญหา 少子化 หรือ จำนวนเด็กลดลง พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่มีเด็กเกิดใหม่ ทำให้ประชากรหดตัว แถมคนแก่ยังอายุยืน กลายเป็นสังคมชราภาพอย่างรุนแรง แถมยังเจอดาบสองซ้ำ เพราะด้วยสังคมยุคใหม่ที่มีชายกินพืช ไม่สนใจเรื่องเพศตรงข้าม รวมถึงชาวโอตาคุหรือฮิคิโคโมริ ชอบอยู่ติดบ้านและใช้เงินไปกับกิจกรรมที่สนใจอย่างเดียว ทำให้อัตราการแต่งงานลดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นประเด็นที่เขาหยิบมาทำละครทีวีเรื่อง オトナ高校 Otona Koukou หรือ โรงเรียนมัธยมปลายสำหรับผู้ใหญ่ ละครชุดยาว 8 ตอนที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายปีก่อนนี่เอง
ไอเดียของเรื่องจัดว่าพิลึกนิดนึง คือ เล่นกับปัญหาเด็กเกิดน้อยด้วยการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าปัญหานี้รุนแรงขึ้นทุกวัน จึงผุดโปรเจกต์ใหม่ขึ้นมาลับๆ นั่นคือ การศึกษาภาคบังคับรอบสอง หรือโรงเรียนมัธยมปลายสำหรับผู้ใหญ่
โดยรวบรวมเอาชายหญิงที่อายุเกิน 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศแม้แต่ครั้งเดียวมาเข้าเรียนด้วยวิธีการบังคับ โดยในชั้นเรียนจะสอนเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นในการคบหาเพศตรงข้าม ตั้งแต่เรื่องเพศศึกษา มารยาทสังคม และเทคนิคการเข้าหาเพศตรงข้าม นักเรียนทุกคนยังถูกบังคับให้เรียนนอกเวลาทำงาน โดยใส่เครื่องแบบเหมือนนักเรียนมัธยมกันหมด เพื่อให้ได้สัมผัสบรรยากาศของวัยรุ่นอีกครั้ง และเงื่อนไขในการจบการศึกษาคือ ต้องมีเพศสัมพันธ์ให้ได้ มีปุ๊บ ก็จบปั๊บ ไม่ต้องทนเรียนต่อ
ตัวเอกของเรื่องรับบทโดยดาราชายชื่อดัง Miura Haruma ในบทบาทหนุ่มพนักงานธนาคารใหญ่หน้าตาดี วัย 30 ต้นๆ แถมเรื่องงานก็รุ่งสุดๆ มีแววจะได้เป็นผู้บริหารในไม่ช้า แต่จริงๆ แล้ว ลึกๆ เขาคืออดีตเด็กเรียนที่วันๆ เอาแต่เรียนหนังสือ อ่านตำรา เลยไม่มีเพื่อน ไม่ต้องพูดถึงแฟนหรอกครับ พอเรียนจบก็มัวแต่ทำงาน แถมยังสนใจแต่เรื่องของตัวเอง เรียกได้ว่าหลงตัวเองและมีความจูนิเบียว <คนที่มีพฤติกรรมคล้ายเด็ก> คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเองอยู่ด้วย เพราะแบบนี้ ต่อให้หล่อเหลาการงานรุ่งแค่ไหน ก็ยังเป็นหนุ่มซิงไม่เคยผ่านการใช้งาน พอจู่ๆ โดนเรียกเข้ามาร่วมโปรเจกต์ลับ สิ่งแรกที่เขาคิดคือ “ทำไมถึงรู้ว่ายังซิง?” แต่ก็นั่นล่ะครับ รัฐบาลเขาก็จัดการทำฐานข้อมูลไว้เป็นอย่างดี
พอตัวเอกของเราเข้าเรียนแล้ว ด้วยความที่โรงเรียนไม่ใช้ระบบชื่อจริง ทำให้ตั้งฉายากันตามความเหมาะสม การโวยวายว่าทำไมคนหล่อการงานดีแบบเขาต้องมาทำอะไรแบบนี้ จึงได้ชื่อว่า เชอรีตโตะ เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า Cherry Boy หรือหนุ่มซิง กับคำว่า Elite เอรีตโตะ รวมๆ เป็นพ่อหนุ่มอีลิตซิงๆ นั่นเอง แถมเพื่อนร่วมชั้นแต่ละคนก็น่าสนใจครับ มีทั้งสาวฟุโจชิ+ฮิคิโคโมริ ไม่เคยออกจากห้องไปไหน แต่อ่านมังงะและจินตนาการถึงความรักแสนหวาน พ่อหนุ่มหน้าตาดีใสสะอาดแถมเป็นมิตรและเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ แต่กลับยังไม่เคยผ่านงานอย่างน่าสงสัย ที่หนักเข้าไปอีกคือ มีพนักงานสาวร่วมธนาคารของพ่อหนุ่มเชอรีตโตะ แต่เธอดันไปชอบหัวหน้างานที่มีครอบครัวแล้ว และหัวหน้าของตัวเชอรีตโตะเอง ที่ภาพลักษณ์ภายนอกดูเหมือนเป็นคนที่สนิทกับสาวๆ หลายต่อหลายคน แต่ก็มีความลับที่ทำให้เขายังไม่เคยผ่านงานเช่นกัน แถมอาจารย์ที่เข้ามาสอน ดันเป็นพนักงานสาวดาวรุ่งอีกคนหนึ่งในธนาคารเดียวกับทั้งสามคน ทำให้เรื่องซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก กลายเป็นศูนย์รวมของสถานการณ์ฮาๆ บ้าบอคอแตก
สิ่งที่น่าทึ่งคือเขาเอาประเด็นเรื่องการเกิดน้อย มาโบลด์ให้ใหญ่ได้ขนาดกลายเป็นละครทีวีเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว แถมในเรื่อง แม้จะเป็นละครเฮฮา เหมือนจะไม่มีสาระ แต่มันก็เป็นการตั้งคำถามกลับไปยังตัวคนดูได้เหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้ว มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องว่าจะให้มีเพศสัมพันธ์ให้ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา ตัวเอกของเรื่องก็พยายามจะมีเพศสัมพันธ์ให้ได้ เพื่อจะได้จบการศึกษาและออกไปทุ่มเทกับงาน ไม่อย่างนั้นเขาก็จะพลาดโปรเจกต์สำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ แต่เรื่องก็พาเราไปถึงประเด็นของการมีความสุขในการคบหากันอย่างยืนยาวอีกด้วย จะว่าเป็นมุมมองที่เชยไปหน่อยก็ว่าได้ แต่ในสังคมที่คนสนใจแต่เรื่องของตัวเองจนหันหลังให้กับเพศสัมพันธ์ เรื่องราวแบบนี้ก็อาจจะจำเป็นบ้างก็ได้เช่นกัน
และที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ เรื่องนี้ยังพูดถึงมุมมองของความรักในคนรักร่วมเพศแบบตรงๆ โดยมีตัวละครหนึ่งในโรงเรียนเป็นชาวรักร่วมเพศ
ที่พอความจริงปรากฎ กลับกลายเป็นว่า โรงเรียนยินดีให้นักเรียนคนนั้นจบการศึกษาได้แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน แม้จะไม่ได้ก่อให้เกิดการมีบุตร แต่อย่างน้อยก็สร้างครอบครัวเพิ่มขึ้นได้ เป็นมุมมองที่ผมเองก็คิดไม่ถึงว่าจะได้พบจากละครญี่ปุ่น เพราะไม่คิดว่าเรื่องของรักร่วมเพศจะกลายเป็นจุดสนใจใหญ่ในเรื่องได้ขนาดนี้ และถ้าจะพูดถึงการสะท้อนสังคมกับละครเรื่องอื่น ในช่วงไตรมาสนี้ก็มีละครเรื่องใหม่ที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตครอบครัวหลายๆ คู่ และหนึ่งในนั้นก็คือคู่รักเกย์ (หนึ่งในสองคนคือพระเอกจากเรื่อง ตับอ่อนเธอนั้น ขอชั้นเถอะนะ) แถมเดือนมีนาคมนี้ทางช่อง NHK BS Premium (ช่องพิเศษแบบเสียเงินดู) ก็ยังจะมีละครพิเศษเรื่อง Otooto no Otto หรือ สามีของน้องชาย ที่ดัดแปลงมาจากมังงะเรื่องราวชีวิตของชาวรักร่วมเพศชื่อดังอีกเรื่อง ก็น่าสนใจดีนะครับว่า ละครจะสร้างภาพลักษณ์แบบไหนให้กับชาวรักร่วมเพศในสังคมญี่ปุ่นบ้างนะครับ
ละครทีวีหรือสื่อบันเทิงต่างๆ บางทีก็เหมือนจะไม่มีสาระอะไร แต่ถ้าลองนั่งวิเคราะห์หรือมองย้อนกลับมาดูอีกที ก็จะเห็นภาพสังคมในช่วงเวลานั้นสะท้อนในเรื่องราวต่างๆ ได้ จะว่าเป็นบันทึกของสังคมก็ว่าได้ครับ