ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าพรรคพลังประชารัฐได้เข้าสู่ช่วงความเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ โดยหากเรามองพัฒนาการของตัวพรรคเป็น “ช่วง” แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ช่วงแรกนั้นพรรคถูกบริหารโดยกลุ่ม ‘เทคโนแครต’ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ โดยเฉพาะที่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับประชารัฐโปรเจกต์ทั้งหลาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์และพวกพ้องดูจะมีบทบาทเป็นอย่างสูง ในขณะที่ประวิตร วงษ์สุวรรณเองดูเหมือนจะมีบทบาทที่ลดน้อยลงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาล คสช. แต่ในช่วงที่สองนั้นกลับเห็นได้ชัดว่ากลุ่มเทคโนแครตของสมคิดถอยร่นไป กลุ่มสามมิตรผนึกกำลังกับประวิตร และยึดพรรคได้ในที่สุด
การเมืองของพลังประชารัฐในช่วงที่สองนี้เอง เราอาจจะมองได้ว่าเป็นการเมืองของ ‘เจ้าพ่อหรือลูกพี่ใหญ่’ โดยแท้จริงอีกครั้ง การมีคนอย่างประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายโครงสร้างอำนาจพรรคนั้น ย่อมชัดเจนว่าอำนาจของค่ายฝั่งทหารในพรรคจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกหน ยิ่งผนวกกับนโยบายของรัฐบาลตอนนี้ที่ พรก. ฉุกเฉินยังคงทำงานอยู่แล้ว ก็ยิ่งน่ากลัวว่าจะนำไปสู่การเมืองภาพรวมของชาติแบบใด เพราะ พรก.ฉุกเฉินของประเทศนี้ไม่เคยไว้ใจอะไรได้อยู่แล้ว
หากจำกันได้ดี การรัฐประหารครั้งล่าสุดที่โค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงก็เริ่มต้นมาจาก ‘พรก.ฉุกเฉิน’ ที่หลายคนในเวลานั้นก็มองว่าไม่ใช่อะไรที่ต้องวิตกกังวลนัก จนกระทั่งถึงวันที่ทุกอย่างสายไปเสียแล้ว และประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำในสิ่งเดิมๆ กับที่ ‘ผู้ต้องหาการทำรัฐประหาร’ ทุกคนทำ นั่นก็คือ การผิดคำพูดตนเองว่า “ทหารจะไม่ทำรัฐประหาร” … คำพูดซึ่งไม่แม้แต่จะควรมีอยู่ให้นึกถึงแต่แรก
แม้โดยส่วนตัวผมจะไม่พอใจเป็นอย่างมากกับผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลังประชารัฐช่วงแรก กระนั้นในวันที่วิกฤติทางสาธารณสุขเริ่มเบาบางลง แต่มหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงจากไข้หวัด COVID-19 ซึ่งกระทบทั่วทั้งโลกกำลังจะโหมกระหน่ำมาถึงนั้น ตัวเลือกของพลังประชารัฐในการ ‘พัง’ ค่ายเทคโนแครตและนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการคลังของตนเองทิ้งไป และหันมาชูฝั่งทหารแทนนั้น ดูจะเป็นตัวเลือกที่แปลกประหลาดเหลือเกิน จนยากจะเข้าใจได้ว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนี้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของสังคมภาพรวมที่พรรคนี้เป็นผู้นำในการบริหารอยู่ได้จริงๆ หรือ? หรือมุ่งหวังแต่เพียงการควบรวมมุ้งและอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในมือของตน โดยเฉพาะในวันที่มี พรก.ฉุกเฉินอยู่ในมืออีกคราหนึ่ง? ในจุดนี้เองก็หวังว่าคงจะไม่ต้องถึงจุดที่ต้องภาวนาให้เพื่อนๆ ในเครือข่ายของประวิตรพากันมอบนาฬิกาให้เขายืม แล้วมีจุดจบแบบเดียวกันกับเพื่อนคนก่อนๆ ที่เคยให้ประวิตรยืมนาฬิกานะครับ
อย่างไรก็ดี ต่อให้จะไม่ชอบทีมบริหารในช่วงแรกของพรรคพลังประชารัฐรวมถึงผลงานของพวกเขาปานใดก็ตาม แต่หากมองในเชิงภาพใหญ่ ในแง่ของพัฒนาการโครงสร้างทางการเมืองแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า พลังประชารัฐช่วงแรกนั้นคือ การพัฒนาตัวเองในทิศทางที่ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงยุครัฐบาล คสช. ที่เป็นรัฐบาลทหารเต็มตัว เพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีฝั่ง ‘พลเรือน’ เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางของพรรค
ฉะนั้นแล้ว การเกิดขึ้นของช่วงที่สองของพลังประชารัฐนั้น
ย่อมนับเป็นการถอยหลังลงคลอง
พยายามกลับไปสู่การเมืองที่ใกล้เคียงกับยุค คสช. อีกครั้ง
เพียงแต่อยู่ในบริบทของการเลือกตั้งเท่านั้นเอง
ในแง่นี้ก็กล่าวได้ว่าการเมืองของเจ้าพ่อ และเหล่าผู้มีอิทธิพลทางการเมือง (political strongman) ทั้งหลาย จะกลับมาอีกครั้งหลังจากหมดสภาพลงไปมากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา
การพยายามสร้างเงื่อนไขทางการเมืองให้กลับไปเป็นแบบเดิมๆ เมื่อสามทศวรรษก่อนนั้น อาจเป็นสิ่งที่ทำได้สำเร็จมาแทบทุกครั้งสำหรับ ‘ทหารการเมือง’ ของไทย ที่หากทำตามตำราไม่สำเร็จก็ใช้อาวุธร้ายนอกตำราอย่างการรัฐประหารมาบังคับให้กลับคืนสู่สภาพนี้แทน กระนั้นผมคิดว่าในวันนี้ภูมิทัศน์ทางการเมืองโดยรวมมันเปลี่ยนไปมากแล้ว และการเข้าถึงข้อมูล (ซึ่งต้องขอบคุณพัฒนาการทางเทคโนโลยี) ได้มาสู่จุดที่รัฐบาลเองไม่สามารถจะจำกัดการรับรู้ได้อย่างอดีตแล้ว ไม่ได้สามารถบังคับให้ทีวีฉายภาพการ์ตูนให้เด็กๆ ในต่างจังหวัดดู ในขณะที่นักศึกษากำลังถูกไล่ฆ่าอย่างโหดเหี้ยมในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้อีกแล้ว ทีวีไม่ใช่ช่องทางหลักในการเข้าถึงข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว และการสื่อสารที่ไม่ได้เป็นทิศทางเดียว นำมาซึ่งพัฒนาการในการคิดวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เป็นอยู่ หรือความปกติแบบเดิมๆ ของสังคมโดยภาพรวมอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งพร้อมจะโต้กลับในทันที อย่างกรณีของ ฌอน บูรณะหิรัญ นั้นก็เป็นตัวอย่างอันดีให้เราได้เห็น ว่าการชมประวิตรเพียงคำเดียว (และประวิตรไม่คิดกระทั่งจะเหลียวแล) นำมาซึ่งเครดิตที่เขาสะสมมาทั้งชีวิตวายวอดไปหมดในชั่วข้ามคืน ทั้งๆ ที่คำพูดลักษณะเดียวกันนี้คงจะเป็นที่นิยมมากในช่วงเวลาที่ม็อบพันธมิตรครองเมือง หรือแค่เพียงไม่กี่ปีก่อน การมีคนดังออกมาพูดชมว่า “บิ๊กตู่เป็นคนน่ารัก” ก็ยังเป็นที่นิยมไม่น้อยและผลโต้กลับน้อยกว่าการชมประยุทธ์และประวิตรในวันนี้แน่นอน
จากเหตุผลทั้งมวลที่ว่ามานี้เอง ผมจึงคิดว่าเราพอจะสรุปได้ว่า การพยายามลากจูงสังคมไทยกลับไปสู่จุดเดิมๆ ดังเมื่อหลายทศวรรษก่อน ในวันที่ภูมิทัศน์การเมืองขยับไปข้างหน้าอย่างยากจะรั้งอยู่ได้แล้วนั้น จึงเป็น ‘การพัฒนาลง หรือ การพัฒนาไปสู่ความล่มสลายของตนเอง’ ของพรรคพลังประชารัฐโดยแท้ ในแง่นี้ใจหนึ่งผมจึงรู้สึกสนับสนุนทิศทางนี้ของพรรคพลังประชารัฐเหลือเกิน เพื่อว่ามันจะได้รี่เร่งไปสู่ความฉิบหายได้เร็ววันขึ้น
แนวคิดนี้คล้ายกับแนวคิดหนึ่งหนึ่งในโลกวิชาการที่เรียกว่า accelerationism ครับ (ที่มาจากคำว่า accelerate หรือการเร่งนั่นแหละ) โดยเริ่มแรกเป็นแนวคิดของฝ่ายซ้ายที่มองถึงพัฒนาการของระบบทุนนิยม โดยนักคิดฝ่ายซ้ายเหล่านี้ต่างมองว่าทุนนิยมมีปัญหามากมายใส่ตัวประสานักคิดฝ่ายซ้ายโดยรวมทั่วไป แต่พร้อมๆ กันไปพวกเขาก็เชื่อว่าทิศทางการดำเนินไปของระบบทุนนิยมนั้นจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบทุนนิยมเอง เพราะฉะนั้นแล้วหากคิดจะทำลายระบบทุนนิยมจริงๆ แล้ววิธีการที่เหมาะสมที่สุดจึงน่าจะเป็นการไปร่วมผลักดันให้มันเร่งพัฒนาไปตามทิศทางแห่งความล่มสลายอยู่นี้ให้มากยิ่งขึ้น (เพื่อจะได้ล่มสลายเร็วขึ้น) แทนที่จะไปสู้รบตบตีกับมันโดยตรงโดยหวังว่าจะชนะในศึกแบบซึ่งๆ หน้ากับโครงสร้างที่ฝังรากลึกอย่างมากแล้วสังคมทั้งโลก
จริงๆ ผมพูดมาแบบนี้ก็อาจจะเป็นการพูดแบบ “เลือกบอกความข้างเดียว” ไปสักหน่อย เพราะ accelerationism นั้นจริงๆ แล้วก็แบ่งได้เป็น 2 แบบ ที่มองกระบวนการชุดเดียวกัน แต่คาดการณ์หรือคาดหวังผลลัพธ์บั้นปลายที่แตกต่างกันไปน่ะครับ แบบที่ผมอภิปรายไปนั้นเรียกว่า left-accelerationism หรือแบบฝ่ายซ้ายนั่นแหละครับ ที่มุ่งหวังให้เกิดกระบวนการวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่สุดท้ายแล้วก้าวพ้นข้อจำกัดของระบอบทุนนิยม และสุดท้ายก็ทำลายระบบทุนนิยมเองดังที่ว่าไป แต่พร้อมๆ กันก็ยังมีฝั่งขวาอย่าง right-accelerationism อยู่ด้วย ซึ่งมุ่งหวังความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน แต่มุ่งหวังให้ไปสู่จุดที่เรียกว่า ‘สภาวะเอกฐานทางเทคโนโลยี’ (technological singularity) หรือก็คือสภาวะที่ระดับของเทคโนโลยีนั้นพัฒนาตัวเองไปจนก้าวหน้ามากเกินกว่าสติปัญญาความสามารถของมนุษย์จะทัดเทียมหรือควบคุมได้ และความก้าวหน้าที่ไม่อาจจะหาอะไรไปคัดง้างต่อสู้ได้นี้เองที่จะรักษาระบบทุนนิยมไว้ให้ยืนยงสถาพรอย่างมิมีวันสิ้นสูญ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีจุดยืนที่เอนเอียงไปทาง left-accelerationism อยู่ไม่น้อย ในแง่นี้หากผมนำหลักคิดเดียวกันนี้มาใช้กับกรณีของพรรคพลังประชารัฐ ‘ช่วงสอง’ แล้ว ผมก็คิดว่า ก็น่าจะเหมาะสมไม่น้อยที่ผมจะรู้สึกชื่นมื่นและสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เพราะผมเชื่อว่าการเร่งพัฒนาการในลักษณะนี้จะนำไปสู่ความล่มสลายของพรรคและระบบนี้ได้ในที่สุด
ทั้งผมยังมุ่งหวังที่จะเห็นพัฒนาการทางสังคมที่ผมเชื่อว่า
วิวัฒนาการทางความคิดของสังคมโดยองค์รวม ในท้ายที่สุดแล้ว
จะก้าวพ้นขีดความสามารถในการควบคุมของ
‘ระบบอำนาจรัฐแบบเดิมๆ’ ลงได้
กระนั้นก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ หรือกระทั่งจะเรียกว่าเป็นความคาดหวังลึกๆ ในทางหนึ่งของผมก็ไม่ผิด ทั้งแนวคิดเรื่อง accelerationism ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่พัฒนาการทางโลกวัตถุและเทคโนโลยีในความสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมนั้น ก็ใช่ว่าจะสามารถนำมาปรับใช้ได้แบบเป๊ะแน่นทุกประการกับกรณีนี้ด้วย แต่ผมก็คิดว่าต้องตรงกันเป็นส่วนใหญ่ทีเดียว พูดอีกอย่างก็คือ ตัวผมเองก็มีท่าทีแบบสองจิตสองใจในเรื่องนี้ คือ มีทั้งฝั่งที่รังเกียจความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เพราะมันคือความพยายามลากจูงประเทศกลับสู่ความล้าหลัง ไม่ต้องพูดถึงความชัดเจนของความรังเกียจที่ผมมีต่อรัฐบาลที่มีต้นธารมาจากทหาร คสช. ด้วย มันทำให้ใจผมฟากนี้เองก็ทนทำใจเห็นด้วยกับการขึ้นมาของประวิตรได้ไม่เต็มตัว แต่ในอีกใจหนึ่งก็เชื่อด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ในท้ายที่สุดแล้วมันจะทำให้พรรคนี้และการเมืองแบบนี้พังได้เร็วยิ่งขึ้น ก็อยากจะสนับสนุนด้วย ด้วยเหตุผลแบบนี้
ทั้งมวลนี้ผมเขียนขึ้นมาเพราะอยากจะอธิบายให้เหล่าลิเบอรัลไทยเข้าใจด้วยว่า ท่าทีและเหตุผลที่วางฐานอยู่บนจุดยืนแบบเสรีนิยมนั้นมันมีได้หลายรูปแบบ หลายๆ ครั้งบทสรุปของท่าทีอาจจะมีลักษณะที่ละม้ายคล้ายกับฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมได้ (อย่างฝ่ายเชียร์ทหาร ที่สนับสนุนการขึ้นมาของประวิตร เพราะอยากเห็นระบบทหารกลับมาครองเมือง) แต่เส้นทางของความคิด กระบวนการการใช้เหตุผล รวมไปถึงความมุ่งหวังในทางการเมืองนั้นเป็นคนละเรื่องกันกับฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมโดยสิ้นเชิงเลย พูดได้ด้วยซ้ำครับว่ามันมาจากฐานคิดที่เสรีนิยมมากพอๆ กันด้วย (หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ หากมองในแง่ practicality เป็นหลัก) ผมจึงอยากจะเชิญชวนลิเบอรัลไทยทั้งหลายให้บางทีหยุดสนใจเฉพาะแต่ตัวบทสรุปท่าทีเป็นสำคัญ ว่าจะต้องมีท่าทีแบบนี้เท่านั้นจึงจะนับว่าถูกต้อง ก้าวหน้า และเป็นผู้สมาทานจุดยืนแบบเสรีนิยม
จุดยืนความคิด และเหตุผลแบบเสรีนิยมนั้น มันนำไปสู่ท่าทีและคำตอบได้หลากหลายมากมายมาก และไม่มีคำตอบหรือท่าทีแบบใดแบบหนึ่งที่เหนือกว่าท่าทีอื่นๆ อย่างชัดเจน ตราบเท่าที่ที่มาทางความคิดมันวางรากฐานอยู่บนกรอบวิธีคิดอันเป็นเสรีนิยมและมีความมุ่งหวังว่ากระบวนการอันมาจากเหตุผลเหล่านั้นจะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้นของอุดมการณ์ชุดนี้ได้ เราพูดได้เสียด้วยซ้ำครับว่าระบบโครงสร้างของเสรีนิยมนั้น มันถูกออกแบบมาให้เกิดสภาวะดังว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะมันวางรากฐานอยู่บนความย้อนแย้งนานับประการด้วย ที่ผู้สมาทานแนวคิดนี้บ่อยๆ ครั้งเลือกที่จะทำเป็นมองไม่เห็น หรือเห็นแต่เมินไว้ก่อน ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ท่าทีการเป็นลิเบอรัลที่ดีเลย การพยายามเป็นเสรีนิยมรวมศูนย์ความถูกต้องหรือเสรีนิยมตาบอดข้างหนึ่งเนี่ย
ถ้าจะเป็นลิเบอรัล ก็มาเริ่มพยายามคิดถึงและทำความเข้าใจกับจุดยืนและความหลากหลาย ความย้อนแย้ง ข้อดีและข้อเสียของมันอย่างทั่วถึงก่อนจะดีกว่าครับ อย่าสักแต่เชียร์และคิดว่าท่าทีที่ถูกมีได้แต่เพียงรูปแบบเดียวเลย