1
ชายคนแรกที่ไม่ใช่คนอเมริกัน แต่ได้รับเกียรติประกาศชื่ออยู่ในหอเกียรติยศอุตสาหกรรมกีฬาแห่งอเมริกา (National Sporting Goods Industry Hall of Fame) ในปี ค.ศ.1978 คือ อดิ ดาสเลอร์ (Adi Dassler)
ฟังชื่อของเขาแล้ว คุณนึกถึงคำว่าอะไร?
ใช่แล้ว—‘อดิ’ และ ‘ดาส’ (เลอร์) เมื่อนำมารวมกัน มันก็คือ ‘อดิดาส’ (Adidas) นั่นเอง
นั่นก็คือชื่อย่อและนามสกุลย่อของชายผู้สร้างสรรค์แบรนด์นี้ขึ้นมา
แต่กว่าจะเป็น Adidas ทั้งหมดไม่มีอะไรง่ายเลย—เพราะอดิต้องแลกมาด้วยความสัมพันธ์กับพี่ชาย ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้าดังอีกแบรนด์หนึ่งอย่าง—พูม่า (Puma)
และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ก็เกี่ยวพันกับขบวนการนาซีเยอรมันอย่างลึกซึ้งด้วย
2
อดิ แดสเลอร์ เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1900 ที่เมืองเล็กๆ ห่างจากเมืองนูเร็มเบิร์ก (Nuremberg) ไปไม่ไกลนัก เขาเป็นลูกชายคนที่สาม และเป็นลูกเล็กสุด โดยมีพี่ชายคนสำคัญคือ รูดอล์ฟ (Rudolf)
ที่จริง อดิมีชื่อเต็มๆ ว่า อดอล์ฟ (Adolf) เขาเรียนจบไฮสกูลในปี ค.ศ.1913 และเริ่มต้นฝึกงานในร้านอบขนมก่อน นั่นเป็นสิ่งที่พ่อของเขาอยากให้เขาลองทำดู แต่อดิรู้ดีว่าเขาไม่ได้ชอบงานอบขนม สิ่งที่เขาชอบมากกว่าก็คือกีฬา เขามีเพื่อนคู่หูคนหนึ่งชื่อ ฟริตซ์ เซห์ลีน (Fritz Zehlein) ทั้งคู่เป็นสหายนักกีฬาที่หลงใหลในการเล่นกีฬาและกรีฑาแทบทุกอย่าง ตั้งแต่การวิ่ง กระโดดไกล ฟุตบอล ต่อยมวย ฮอกกี้น้ำแข็ง ไปจนถึงการพุ่งแหลน เล่นสกี และกระโดดสกี
ด้วยเหตุนี้ เมื่อการฝึกงานในร้านขนมเสร็จสิ้นลง อดิจึงตัดสินใจไม่เดินทางสายขนม แต่หันมาเรียนรู้วิธี ‘เย็บหนัง’ กับพ่อของเขาแทน พ่อของเขาทำงานเป็นช่างย้อมและเย็บผ้าอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาตั้งแต่ต้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอดิ
อดิไม่ได้เย็บหนังตามแบบโบราณเท่านั้น สิ่งที่เขามีอยู่ในตัวคือความเป็นนักสังเกตที่ละเอียดอ่อน เมื่อประกอบเข้ากับความรักในกีฬา อดิเห็นว่ารองเท้าของนักกีฬาในยุคโน้นมีปัญหาหลายอย่าง เขาจึงพยายามปรับปรุงมันขึ้นมาด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะการหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้
แต่ไม่นานนัก เขาถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จึงต้องพักจากงานรองเท้าชั่วคราว เมื่อกลับจากสงคราม เขาพบว่าสงครามได้ทำลายล้างธุรกิจของครอบครัวไปจนสิ้น แม่ของเขาเลิกกิจการซักรีดที่ทำมานาน อดิจึงคิดว่าเขาจำเป็นต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
และงานที่เขาเลือกทำ ก็คือสิ่งที่เขาฟูมฟักมาก่อนหน้าจะไปเป็นทหาร
นั่นก็คือการทำธุรกิจรองเท้า
3
อดิไม่ได้ทำงานคนเดียว เขาจับมือกับพี่ชาย คือรูดอล์ฟ ร่วมมือกันพยายามทำธุรกิจ ‘สตาร์ทอัพ’ ขึ้นมา เริ่มต้นด้วยการเปิดร้านรับซ่อมรองเท้าขึ้นในเมืองก่อน
นั่นคือยุคหลังสงครามในเยอรมนี ยุคที่หาวัสดุต่างๆ ยากเย็นแสนเข็ญ แต่อดิก็ไม่ย่อท้อ สิ่งที่เขาทำก็คือการไปขุดคุ้ยค้นหาในกองซากปรักหักพังตามชนบทเพื่อหาซากวัสดุจากสงคราม มีตั้งแต่หมวก กล่องใส่ขนมปัง หนัง ร่ม และอื่นๆ วัสดุเหล่านี้กลายมาเป็นตัวรองเท้าบ้าง ส้นรองเท้าบ้าง รวมไปถึงเชือกผูกรองเท้า
พูดได้ว่า อดิมี ‘วิสัยทัศน์’ มาตั้งแต่ต้น เขาช่างดัดแปลง และเก่งกาจกับการคิดค้นผลิตสิ่งต่างๆ
โชคดีอีกอย่างหนึ่งที่ครอบครัวของเพื่อนรัก ฟริตซ์ เซห์ลีน เป็นครอบครัวนักตีเหล็ก ดังนั้น เมื่ออดิคิดสร้างรองเท้าสำหรับฟุตบอลที่เป็นหนามแหลมขึ้นมา ครอบครัวของเซห์ลีนจึงเข้ามาช่วยเหลือในด้านการผลิต จนออกมาเป็นรองเท้ากีฬาในแบบที่อดิต้องการ
เขาทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น หนังฉลามหรือหนังจิงโจ้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์รองเท้าที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง
ที่เหมาะเจาะอีกเรื่องหนึ่งก็คือรูดอล์ฟ พี่ชายของเขาซึ่งเดิมทีตั้งใจไว้ว่า เมื่อสงครามเลิกแล้วจะกลับมาเป็นตำรวจ (เขาถูกเกณฑ์ไปรบเช่นเดียวกัน) เกิดเปลี่ยนใจขึ้นมา เขาเห็นวี่แววว่าอดิจะไปได้สวย จึงหันมาจับมือร่วมงานกับอดิ ในปี ค.ศ.1923 ทั้งคู่ทำธุรกิจร่วมกัน โดยมีครอบครัวของเซห์ลีนให้การสนับสนุน
รูดอล์ฟเก่งเรื่องการเงินและบัญชี เขาจึงเข้ามาเป็นส่วนเสริมให้น้องชายได้เป็นอย่างดี ในขณะที่น้องมุ่งมั่นไปกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พี่ชายก็ช่วยดูแลด้านการเงิน ในที่สุด ทั้งคู่จึงสามารถเปิดโรงงานทำรองเท้าขึ้นมาได้ เป็นโรงงานที่ชื่อว่า ‘โรงงานรองเท้ากีฬาของพี่น้องแดสเลอร์’ (Dassler Brothers Sports Shoe Factory) เปิดขึ้นที่เมืองบ้านเกิดนั่นเอง
แล้วจากโรงงานเล็กๆ ในชนบทเยอรมนี สองพี่น้องแดสเลอร์ก็แผ้วถางทางขึ้นมาจนกลายเป็นโรงงานรองเท้าระดับนานาชาติได้ด้วยกีฬาโอลิมปิก เมื่อ โจเซฟ ไวต์เซอร์ (Josef Waitzer) ซึ่งเคยเป็นอดีตโค้ชของทีมกรีฑาเยอรมนี เกิดสนใจรองเท้าของพวกเขาขึ้นมา และเดินทางจากมิวนิกมายังโรงงานเพื่อดูผลงานโดยเฉพาะ นั่นทำให้อดิได้ ‘เข้าถึง’ นักกีฬาในงานโอลิมปิกที่เบอร์ลินปี ค.ศ.1936 และสร้างสรรค์รองเท้าใหม่ๆ ออกมาอีก
แต่แค่นั้นยังไม่พอ มีอีกปัจจัยสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บริษัทของสองพี่น้องพุ่งทะยานสู่ระดับนานาชาติ ในทศวรรษ 1930s คือยุคที่พรรคนาซีขึ้นครองอำนาจ และนาซีเห็นว่า กีฬาคือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เยอรมนีจะเป็นชาติยิ่งใหญ่เหนือชาติอื่นได้ก็ด้วยเหรียญทองในการแข่งขันกีฬา และแน่นอน—รองเท้ากีฬาย่อมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
แล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1933 สามพี่น้องดาสเลอร์ก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซี ตอนนั้นฮิตเลอร์ขึ้นเป็นผู้ปกครองประเทศสูงสุดแล้ว ว่ากันว่า รูดอล์ฟคือคนที่กระตือรือร้นที่สุดที่จะได้เข้าร่วมพรรคนาซี แต่อีกกระแสหนึ่งก็บอกว่า เป็นอดินี่แหละที่อยากเข้าไปช่วยงานในขบวนการเยาวชนฮิตเลอร์ เพราะจะผลิตสินค้าออกมามากๆ อดิไม่ได้สนใจเรื่องรายได้มากเท่าการมีคนมาทดลองใช้สินค้า เพื่อจะได้นำผลลัพธ์ที่ได้ไปสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมา
หลายคนอาจสงสัยว่า พี่น้องดาสเลอร์คิดอะไรอยู่ถึงได้เข้าร่วมกับพรรคนาซี แต่ที่จริงถ้ามองย้อนกลับไป ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีถัดมา ในตอนนั้น การร่วมกับพรรคนาซีดูเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในหลายทาง ทั้งได้แสดงความรักชาติ ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ได้สร้างชื่อเสียง และสร้างรายได้ด้วย
ไม่มีใครคิดหรอกว่า—นั่นจะเป็นการเริ่มต้นของจุดจบ
จุดจบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง
4
ต้นทศวรรษ 1930s อดิไปเรียนในสถาบันเทคนิคด้านรองเท้าโดยเฉพาะ ที่นั่น เขาได้พบกับอาจารย์คนหนึ่ง และกลายเป็นแขกประจำของบ้านอาจารย์คนนี้ ใช่แล้ว—เขาไปติดพันลูกสาวของอาจารย์ ผู้มีชื่อว่า คาธี มาร์ตซ์ (Käthe Martz)
อดิแต่งงานกับคาธีในปี ค.ศ.1934 แล้วจากนั้น เรื่องระหองระแหงกับรูดอล์ฟก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
คาธีไม่เหมือนภรรยาของรูดอล์ฟที่อยู่เงียบๆ แต่เธอเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานต่างๆ ในบริษัทด้วย หลายปีต่อมา รูดอล์ฟยอมรับว่า รอยร้าวระหว่างตัวเองกับน้องชายเริ่มขึ้นเมื่อน้องชายแต่งงานนี่เอง เพราะคาธีพยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัวด้วย ในยุคโน้น ผู้หญิงมักไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้เท่าไหร่ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของสองพี่น้องจึงค่อยๆ แย่ลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกันนั้น โรงงานรองเท้าของสองพี่น้องดาสเลอร์กลับพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด เพราะไวต์เซอร์เองไว้วางใจให้นักกีฬาใส่รองเท้าของดาสเลอร์ รองเท้าของสองพี่น้องยังเป็นที่นยิมไปไกลถึงนักกีฬาอเมริกันด้วย โดยนักกีฬาอเมริกันอย่าง เจสซี โอเวนส์ (Jesse Owens) ที่เป็นนักกระโดดไกลใส่รองเท้าของสองพี่น้องดาสเลอร์ และมีส่วนสำคัญทำให้รองเท้าของพวกเขาโด่งดังจากชัยชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
แต่แล้วสงครามโลกครั้งที่สองก็เริ่มขึ้น
เมื่อเกิดสงคราม ความสามารถในการทำกำไรของดาสเลอร์ลดน้อยถอยลง สงครามไม่ได้ทำลายแค่ชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่ยังกวาดล้างทุกสิ่ง ทำลายธุรกิจ และทำแม้กระทั่งส่งหมายเรียกเกณฑ์ทหารมายังสองพี่น้องดาสเลอร์ ซึ่งอายุอานามไม่ใช่น้อยๆ แล้ว
ทั้งคู่ต้องเข้าไปรับใช้กองทัพนาซี อดินั้นเข้าไปในฐานะช่างเทคนิควิทยุอยู่ช่วงสั้นๆ ไม่ถึงหนึ่งปี แต่รูดอล์ฟเข้าไปทำงานให้กับกองทัพนาซีนานกว่านั้น
เราไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในระหว่างนั้น สงครามอาจบีบเค้นกดดัน ทำให้รอยร้าวของสองพี่น้องที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งปริแตกกดดันมากขึ้น นั่นจึงทำให้เหตุการณ์หลังสงครามยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
ท้ังคู่ถูกสอบสวน ต้องเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า denazification หรือการตรวจสอบดูว่าใครมีความเป็นนาซีมากน้อยแค่ไหน โดยมีการจัดลำดับขั้นออกมาเลยว่าใครเคยทำอะไรมาบ้าง ถูก ‘ติดป้าย’ ว่าเป็นอย่างไร มันคือกระบวนการที่หนักหนาสาหัส ทั้งคู่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้เข้าร่วมกับนาซีเพราะเป้าหมายแบบเดียวกับฮิตเลอร์ ขั้นตอนนี้ไม่ง่าย มีการอุทธรณ์อยู่หลายครั้ง ทำให้การจัดลำดับความเป็นนาซีที่ร้ายแรง ค่อยๆ ถูกลดทอนลงมา จนในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว
ทว่าแม้ทั้งคู่จะได้รับการปล่อยตัวออกมา ไม่ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นนาซีหรือมีความเกี่ยวพันกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ทั้้งคู่ก็โกรธกันและกันอย่างหนัก เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายให้การในทางที่เป็นโทษกับตัวเอง โดยเฉพาะรูดอล์ฟ
นั่นนำมาสู่การแยกขาดกันอย่างสิ้นเชิง
แล้วสองพี่น้องที่เคยก่อตั้งโรงงานรองเท้าดาสเลอร์มาด้วยกัน—ก็ไม่ได้พูดจากันอีกต่อไปแม้แต่คำเดียว…จนตาย
5
ในระหว่างต่อรองกันเพื่อแยกทาง รูดอล์ฟและอดิให้พนักงานเลือกเองว่าใครจะอยู่กับใคร
อย่างที่บอก—รูดอล์ฟนั้นเก่งเรื่องการเงินและการขาย ในขณะที่อดิสนใจเรื่องการออกแบบและเทคโนโลยี ดังนั้น พนักงานขายและฝ่ายบริหารเกือบทั้งหมดจึงเลือกไปอยู่กับรูดอล์ฟ ในขณะที่ช่างเทคนิคและฝ่ายผลิตและพัฒนาเลือกอยู่กับอดิ นั่นแปลว่า อดิได้พนักงานเก่าไปราวสองในสาม ส่วนรูดอล์ฟได้ไปแค่หนึ่งในสาม
ไม่ใช่แค่พนักงาน แต่ในครอบครัวเองก็มีการ ‘เลือกข้าง’ ด้วยเหมือนกัน แม่ของทั้งคู่เลือกอยู่กับรูดอล์ฟ ในขณะที่น้องสาวเลือกอยู่กับอดิ ทั้งสองฝ่ายแบ่งโรงงานกันคนละโรง ส่วนทรัพย์สินที่เหลือนำมาเลือกกันทีละอย่างๆ จนสุดท้ายก็แยกจากกันแบบขาดสะบั้นจนสิ้น
ไม่มีใครไม่เจ็บปวด—แต่บางครั้งชีวิตก็เป็นอย่างนี้เอง, จบสิ้นกับอะไรบางอย่างเพื่อเริ่มต้นใหม่
ทั้งคู่ไม่สามารถใช้แบรนด์ดาสเลอร์ได้อีก แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลักการในการตั้งชื่อรองเท้าแบรนด์ใหม่ของทั้งคู่นั้นเหมือนกันอย่างยิ่ง
รูดอล์ฟเลือกใช้ชื่อ ‘รู’ กับ ‘ดา’ ซึ่งมาจากคำย่อของชื่อและนามสกุลของตัวเอง กลายมาเป็น ‘รูดา’ (Ruda) แต่ไม่นานนักก็เปลี่ยนไปเป็น Puma อันเป็นแบรนด์ที่เราคุ้นหูและโด่งดังอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ส่วนอดิ แรกทีเดียวเขาเลือกใช้ Ad กับ Das กลายเป็น Addas ก่อน แต่เนื่องจากชื่อนี้มีคนเคยใช้แล้ว ตอนหลังอดิจึงเติมตัว i ลงไป ทำให้กลายเป็น Adidas ขึ้นมา
ทั้งคู่ต้องหา ‘ส่วนเติมเต็ม’ ใหม่ รูดอล์ฟไม่ได้อยากยิ่งใหญ่อะไร เขาคิดจะเป็นโรงงานรองเท้าเล็กๆ ในภูมิภาคเล็กๆ ของเยอรมนี แต่ในตอนหลังก็เป็นลูกชายของเขา ที่ทำให้พูม่ากลายเป็นบริษัทยิ่งใหญ่ในระดับโลกขึ้นมา
แต่อดิไม่ได้เป็นอย่างนั้น คาธีเข้ามาช่วยดูแลด้านการเงินให้ ปล่อยให้อดิมุ่งมั่นตั้งใจไปกับการค้นคว้าทดลองใหม่ๆ และพยายามผูกมิตรเข้าหาคนในวงการกีฬา รองเท้าของอดิจึงแพร่หลาย มีชื่อเสียง และด้วยความที่อดิชอบทดลองอะไรใหม่ๆ รองเท้าของเขาจึงก้าวล้ำนำหน้า กลายเป็นรองเท้าที่นักกีฬานิยมใช้กัน โดยเฉพาะในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ.1954 ที่ทีมเยอรมันตะวันตกใช้รองเท้าแบบใหม่ที่อดิออกแบบ และมีส่วนทำให้ชนะการแข่งขันไปได้อย่างมหัศจรรย์ จนผู้คนขนานนามเหตุการณ์ในวันแข่งขันกันว่า Miracle in Bern ถือเป็นการสร้างชื่อให้กับแบรนด์รองเท้าของอดิ ในฐานะรองเท้าที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งยุค
พูดได้ว่า ทั้ง Puma และ Adidas ต่างคือแบรนด์รองเท้าที่โด่งดังและประสบความสำเร็จในระดับโลกทั้งคู่
นี่คือเรื่องมหัศจรรย์โดยแท้
6
หลังได้รับการประกาศเกียรติ มีชื่ออยู่ในหอเกียรติยศไม่กี่เดือน ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ.1978 อดิก็เสียชีวิตลงหลังล้มป่วยเพียงไม่นาน
ก่อนหน้านั้นสี่ปี รูดอล์ฟ ดาสเลอร์ พี่ชายของเขาเสียชีวิตในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1974 ด้วยโรคมะเร็งปอด
ทิ้งไว้แต่คาธี ผู้จากไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลวหลังการตายของอดิ 16 ปี—ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1984
แม้ผู้ก่อตั้งและมีส่วนร่วมสร้างสรรค์แบรนด์รองเท้ากีฬาเหล่านี้จะจากไปทั้งหมด แต่ธุรกิจรองเท้ากีฬาในระดับโลกยังคงอยู่
แม้รอยร้าวระหว่างพี่น้องจะถูกโลกลืมเลือน แต่การแข่งขันของธุรกิจรองเท้ากีฬายังคงเข้มข้น
จากจุดเริ่มต้นที่ชิดใกล้กันมากมาย ได้เติบใหญ่แยกย้ายไปตามเส้นทางที่แตกต่าง,
โลกอาจเป็นเช่นนี้เอง