พี่ๆ ตำรวจเขาเพิ่งจะ ‘งานเข้า’ พร้อมกันทั้งกรม เพราะนายเหนือโดยตรงของพวกพี่ๆ เขาอย่าง ท่าน ผบ.ตร. เพิ่งจะมีคำสั่งกำชับให้ ตำรวจฝ่ายปฏิบัติการพื้นที่ทุกนาย ‘แต่งกาย’ และ ‘ตัดผมสั้น’ ให้เรียบร้อยเหมือนกันหมดทั้งประเทศ
การตัดผม และแต่งกายอย่างถูกระเบียบนี้ จะถูกนำไปเพิ่มเติมเป็นหนึ่งในหัวข้อประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปีอีกด้วย (อ้างอิงจาก www.khaosod.co.th) เรียกได้ว่าถ้านำไปเทียบกับการเรียนของน้องๆ นักเรียนแล้วล่ะก็ ต่อไปนี้พี่ๆ ตำรวจเขาก็จะมีอะไรที่เรียกว่า ‘คะแนนจิตพิสัย’ แล้วเลยนะครับ
และก็เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักเรียนเหมือนกันทั้งประเทศนั่นแหละว่า ไอ้เจ้า ‘คะเนนจิตพิสัย’ นี้ก็คือ คะแนนที่ได้มาจากอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนเลยสักนิด
ดังนั้นไม่ว่าน้องๆ หนูๆ คนนั้นจะห่วยแตก หรือกากสัสวิชาเลขคณิตเสียจนบวกลบคูณหารยังไงก็ผิดขนาดไหนก็เหอะ แต่ถ้าน้องๆ เข้าเรียนครบ ไม่มีขาด ไม่เคยสาย ส่งการบ้านตรงตามเวลา (แม้ว่าจะลอกเพื่อน หรือไปซื้อแนวเฉลยการบ้านมาลอกส่งคุณครู ไปจนกระทั่งทำมั่วๆ ให้มีส่งไปงั้นนั่นแหละ) และอีกสารพัดบลาๆๆๆ ตามแต่จะเป็นที่พออกพอใจของคุณครูแล้วล่ะก็ คุณน้องก็จะได้คะแนนช่วยชีวิต อีกเกือบๆ 10 คะแนน (หรือถ้าคุณครูท่านปราณีหนูสักหน่อย ก็เต็ม 10 ไปฟรีๆ เล้ยย) พอจะกลายเป็น ‘แต้มบุญ’ ให้ไม่ต้องไปสอบซ่อมวิชาที่ตนเองไม่ถนัดกันให้เสียเวลา (เอิ่มม.. อันนี้ก็นับเฉพาะคุณน้องนักเรียนที่ไม่กากในวิชานั้นเสียจนต่อให้มีคะแนนจิตพิสัยช่วยแล้ว ก็ยังสอบตกนะ)
แน่นอนว่า บรรดา ‘แต้มบุญ’ ต่างๆ ที่คุณครูเขาจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการให้ ‘คะแนนพิศวาส’ ระดับนี้ จะต้องเกี่ยวข้องกับอะไรที่เป็น ‘ระเบียบ’ ของสถานศึกษาอยู่เสมอ ซึ่งก็ย่อมจะหนีไม่พ้นเรื่องของเสื้อผ้าหน้าผม คือผมที่สั้นเกรียน หรือสั้นเสมอติ่ง กับความเป๊ะเว่อร์ของเครื่องแบบนักเรียนไปได้หรอกครับ
(ถ้ายังนึกไม่ออกก็ลองย้อนเวลากลับไปนึกภาพคาบวิชาของคุณครูพละ ควบตำแหน่งอาจารย์ฝ่ายปกครองสุดเฮี้ยบ ที่ชวนให้ปวดกะโหลกเวลาที่คุณหมดโควต้าขาดเรียน แต่ยังไม่อยากตัดผมสั้น ถูกต้องตามระเบียบดูก็แล้วกัน)
อะไรที่เรียกว่า ‘แต้มบุญ’ จึงเป็น ‘บุญ’ ที่ได้มาจากการสมยอมต่ออำนาจ ที่พร้อมจะเอนเอียงไปทางฝั่งใครที่เซ่นได้ดี และพลีได้ถูกอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงแล้ว ก็คงไม่มีใครเข้าใจที่มา และที่ไปของการทำให้อะไรอย่างเครื่องแบบ และทรงผม กลายเป็น ‘ผลบุญ’ ให้ต้องมาสะสมแต้มกันอย่างชัดเจนเลยสักนิด
ตัวอย่างชัดๆ ก็มาจากการที่น้องๆ นักเรียน (และนาทีนี้อาจจะต้องลามไปถึงพี่ๆ ตำรวจ) ต้องไถผมจนเกรียนเป็นลานบินนี่แหละครับ เพราะถึงแม้ว่าเราพอจะสรุปได้อย่างคร่าวๆ ว่า การที่เด็กนักเรียนชายไทยเต็มขั้นนั้นต้องไถผมตรงเลี่ยน เตียน และโล่งขนาดนี้ เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เราก็ไม่อาจจะสรุปลงไปอย่างชัดเจนได้เลยว่า แล้วไง? ทำไมต้องตัดผมทรงนี้ด้วยอะยูว์?
บางเหตุผลระบุว่า เป็นเพราะเหาระบาดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้นำแปลก พิบูลสงคราม ก็เลยไม่อยากให้เหาไประบาดในโรงเรียนของเด็กๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ตอนนี้ก็ไม่มีเหาระบาดแล้วนี่เนอะ เรื่องมันผ่านมาเฉียดๆ จะ 80 ปียู่รอมร่อแล้ว จากทรงผมหนีเหา ทำไมถึงกลายเป็นระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้เก็บเป็นแต้มบุญไปแลกเป็นคะแนนจิตพิสัยได้อย่างทุกวันนี้มันเสียอย่างนั้น?
คำอธิบายที่น่าสนใจยิ่งกว่าจึงมาจากการที่ท่านผู้นำแปลกคนดี และคนเดิม ไปเอาทรงผมเกรียนนี่ มาพร้อมๆ กับเครื่องแบบของทหารญี่ปุ่น แล้วจับยัดให้เป็นเครื่องแบบนักเรียนของไทย เพื่อกล่อมเกลาให้เด็กๆ มีจิตใจแบบทหาร
แน่นอนว่า ท่านผู้นำก็เป็นทหารนะครับ แถมยังเป็นทหารยศสูงระดับ ‘จอมพล’ ที่กุมอำนาจทั้งกองทัพเอาไว้ใต้รองเท้าบูทของท่าน ซ้ำร้ายในยุคสมัยนั้นยังเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กับสงครามโลกครั้งที่ 2
กลิ่นตุๆ ที่กำลังเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 (ซึ่งเริ่มวอร์กันเมื่อ พ.ศ. 2482) นี่แหละทำให้รัฐสยาม (ที่จะต่อเนื่องมาเป็นประเทศไทยในสมัยจอมพล ป.) เตรียมพร้อมสำหรับสงคราม ดังปรากฏข้อความใน ระเบียบทหารบก ที่ 1/7742 ดังนี้
“ด้วยทางราชการทหารได้พิจารณาความผันแปรเหตุการณ์ของโลกปัจจุบัน (พ.ศ. 2478) รู้สึกเป็นที่แน่ใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องเกิดสงครามขึ้นอีก รูปของสงครามคราวต่อไปจะร้ายแรงกว่าที่แล้วๆ มาเป็นอันมาก เพราะด้วยความเจริญแห่งอาวุธและวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประหัตประหารกัน จะมิใช่ทหารรบกันเท่านั้น จะต้องเป็นชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน เพราะเมื่อเกิดสงครามขึ้น เครื่องบินรบอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามเอาลูกระเบิดต่างๆ มาทิ้งไว้ในที่ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง”
ข้อความในระเบียบทหารบกที่ 1/7742 ที่ผมยกมาข้างต้น คือระเบียบว่าด้วยนักเรียนที่เข้ารับการฝึกทหาร ซึ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 โดยความในระเบียบข้อนี้ที่ระบุว่า “ชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน” จึงทำให้ไม่แปลกอะไรที่รัฐจะเห็นว่า การนำใครที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาฝึกทหารนั้นเป็นสิ่งอันสมเหตุสมผล เพราะถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ใครทุกคนในชาติก็ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามร่วมกันหมดอยู่แล้ว การฝึกเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไว้จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย แถมยังเป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า หากว่าโลกเกิดจะวอร์กันขึ้นมาจริงๆ
แน่นอนว่า ‘ทหาร’ ในที่นี้ไม่ใช่นายทหารอาชีพ เพราะในสมัยโน้นเค้าเรียกอะไรทำนองนี้ว่า ‘ยุวชนทหาร’ ต่างหาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกอะไรเลยสักนิด ถ้าท่านผู้นำแปลกจะอยากกล่อมเกลาให้เด็กๆ มีจิตใจแบบทหารนะครับ โดยเฉพาะเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงที่จอมพลแปลกขึ้นมาดำรงตำแหน่งท่านผู้นำของประเทศอย่างพอดิบ พอดี
เอาเข้าจริงแล้ว ทั้ง ‘ระเบียบ’ และ ‘วินัย’ ของเด็กไทย จึงตั้งอยู่บนฐานของสถานการณ์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มาตั้งแต่ครั้งนั้น จนกระทั่งถึงในปัจจุบันนี้ เด็กไทยจึงยังเก็บแต้มบุญจาก ทรงผมเตรียมพร้อมรบได้ทั้งๆ ที่ ไม่ได้จะไปรบกับใครเขาเสียหน่อย ซึ่งอะไรทำนองอย่างนี้ก็กำลังจะถูกตรวจเข้ม เพื่อนำมาใช้เป็นอะไรคล้ายๆ กับ ‘คะแนนจิตพิสัย’ เมื่อกำลังจะถูกใช้เป็นหนึ่งในหัวข้อประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปี ของพี่ๆ ตำรวจเขาด้วยนะครับ
และถ้าจะว่าไปแล้ว ‘สีกากี’ บนเครื่องแบบของพี่ๆ ตำรวจเขาก็แสดงให้เห็นถึงอะไรทำนองนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะเครื่องแบบตำรวจสีนี้ คงจะได้แบบอย่างมาจากรัฐในอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ที่ข้าราชการชาวพื้นเมืองต้องสวมชุดสีกากี ส่วนข้าหลวงจากอังกฤษนั้นก็แน่นอนว่าจะไม่สวมใส่สีเดียวกันนี้
เรื่องของเรื่องมันมาจากการที่ ‘สีกากี’ เป็นเครื่องแบบของพวกทหารชาว ‘กุรข่า’ ซึ่งเป็นทหารรับจ้าง ของพวกอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่รบในพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่า สีที่ใช้ในการพรางตัวที่ดี จึงควรที่จะเป็นสีกากี หรือ ‘khaki’ ในภาษาของพวกกุรข่า ซึ่งก็แปลว่า ‘สีดิน’ หรือ ‘สีโคลน’ (หรือที่พี่ไทยเอามาบิดเสียจนสีข้างถลอกว่า ‘สีของแผ่นดิน’ นั่นแหละ)
ดังนั้น พวกอังกฤษแท้ๆ จึงไม่สวมเครื่องแบบสีกากีกันหรอกนะครับ เพราะเป็นสีของพวกทหารรับจ้าง หรือคนพื้นเมืองที่พวกพี่ๆ ที่ยกตัวเองว่าเป็นผู้ดีเขาจ้างเอาไว้ใช้งานต่างหาก
และก็ควรจะสังเกตด้วยว่า ต้นกำเนิดของกรมตำรวจไทย ในรัฐแบบสมัยใหม่ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ตอนนั้น เรียกกันว่า ‘กองโปลิศ’ มีกัปตัน แซมมวล โจเซฟ เบิร์ด เอมส์ (Captian Samuel Bird Ames, พ.ศ. 2375-2444) หรือ ‘หลวงรัถยาภิบาลบัญชา’ เป็นผู้ก่อตั้ง
ที่สำคัญก็คืออีตาหลวงกัปตันคนนี้ถึงจะมารับราชการในประเทศสยาม แต่ดูจากชื่อก็น่าจะรู้ได้ไม่ยากว่าแกเป็นฝรั่ง แถมยังเป็นชนชาวอังกฤษอีกด้วย
อันที่จริงแล้ว ทั้งสีกากีของเครื่องแบบ และทรงผมที่ตัดสั้นเกรียนของพี่ๆ ตำรวจเขา จึงเป็นอะไรที่แฝงเอาไว้ด้วยกลิ่นอายของอำนาจมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วนะครับ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรหรอกที่อยู่ๆ เจ้าของอำนาจนั้นจะลุกขึ้นมาคุมเข้มกับระเบียบ ที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของตนเอง พร้อมๆ กับที่ตบรางวัลให้กับคนที่ปฏิบัติตามระเบียบอันนั้นอย่างเคร่งครัด
ก็บอกแล้วว่า ถ้าเป็นศัพท์ของพวกเด็กนักเรียนเค้าก็จะเรียกกันว่า ‘คะแนนจิตพิสัย’ นั่นแหละ