ซอลลี่ นักแสดงวัย 25 ปี อดีตสมาชิกวง K-Pop หญิงชื่อดังอย่าง f(x) เป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคซึมเศร้ามานานหลายปี เป็นเป้าของการโจมตีด้วยคอมเมนต์ในแง่ลบมากมายออนไลน์เพราะสังคมที่เธออยู่นั้น ‘ไม่ยอมรับ’ ตัวตนและแนวคิดของเธอ เรื่องที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นการโพสต์ภาพตัวเองโดยไม่ใส่ยกทรงหรือ ‘no bra’ เธอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้บนรายการทีวีโชว์ว่า
“บรามีสายเต็มไปหมด มันไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่ใส่ก็สบายดี มันเป็นสิ่งที่สวยงามและเป็นธรรมชาติ สำหรับฉันแล้วบราก็เหมือนเครื่องประดับ ชุดบางชุดก็เข้ากัน บางชุดก็ไม่จำเป็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบางครั้งฉันก็ไม่ใส่บรา”
เธอตัดสินใจจากโลกนี้ไปเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ในปี ค.ศ.2017 เด็กหญิงชาวอเมริกันวัย 12 ปี ที่รัฐ New Jersey ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงหลังจากโดนกลั่นแกลงทางออนไลน์จากเพื่อนๆ ในห้องของเธอที่โรงเรียน Copeland Middle School นานหลายเดือน หนึ่งในสี่คนที่เป็นผู้กลั่นแกล้งเธอถึงกับถามเธอแบบตรงๆ เลยว่า “เมื่อไหร่จะฆ่าตัวเองตายซะที?” โดยที่พ่อแม่ของเธอนั้นเดินทางไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องการกลั่นแกล้งซึ่งลูกสาวของเธอเผชิญอยู่ แต่โรงเรียนก็เพิกเฉย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กที่แกล้งไม่เคยถูกลงโทษเลยสักครั้งเดียว
ทั้งซอลลี่และเด็กหญิงวัย 12 ขวบ
เป็นเพียงหยิบมือของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกกลั่นแกลงออนไลน์
เมื่อดูสถิติจาก bullyingstatistics.org จะพบตัวเลขที่น่าตกใจว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเยาวชนและวัยรุ่นเคยถูกกลั่นแกลงออนไลน์ และอีกอย่างที่น่าตกใจไม่แพ้กันก็คือว่า มีเด็กจำนวนเท่ากันที่เคยกลั่นแกล้งคนอื่นออนไลน์ด้วย สำหรับใครที่เคยเป็นฝ่ายถูกกลั่นแกล้งในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเด็กที่โรงเรียนจะรู้ดีว่ามันโหดร้ายต่อสภาพจิตใจ มากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและกลายเป็นปมในชีวิตไปเลยก็ได้ เพราะเยาวชนและวัยรุ่นนั้นกำลังเป็นช่วงวัยแห่งการค้นหาตัวเอง—เริ่มรู้ว่าตัวเองชอบอะไรไม่ชอบอะไร เมื่อต้องมาเจอเหตุการณ์เลวร้ายและโดนแกล้ง (ไม่ว่าจะทางวาจาหรือการกระทำ) ทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการโดนทรมานในห้องขังทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และมันสามารถนำไปสู่การเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และอาจจะถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ในที่สุด
cyberbullying เป็นปัญหาที่กำลังสร้างผลกระทบอย่างหนักกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ททุกคน อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไปอย่างเช่น
- ส่งข้อความกลั่นแกล้งหรือข่มขู่
- สร้างข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับบุคคลอื่น
- โพสต์หรือเขียนคำต่อว่าประจานในแง่ลบบนโซเชียลมีเดีย
- ขโมยเข้าบัญชีบุคคลอื่นเพื่อสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์
- ปลอมตัวเป็นคนอื่นเพื่อทำลายชื่อเสียง
- ถ่ายรูปบุคคลในขณะที่ดูแย่ๆ (หรือมีโอกาสสร้างภาพที่ไม่ดี) หรือขณะที่เขาไม่ต้องการ (แอบถ่าย) ของบุคคลนั้นแล้วกระจายบนอินเตอร์เน็ต
- การกระจายรูปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศของบุคคลนั้นบนอินเทอร์เน็ต
จากรายงานของ Pew Research Center บอกว่าในประเทศอเมริกา 75% ของผู้ใหญ่เคยพบเห็นการกลั่นแกล้งออนไลน์รอบๆ ตัวเอง และ 40% ของคนกลุ่มนี้บอกว่าเคยตกเป็นเหยี่อในบางครั้งด้วย
ในบ้านเราจากรายงานจากสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจบอกว่า
“กว่า 30% เคยแกล้ง-ถูกแกล้ง โดยมี 37.8% เคยถูกกลั่นแกล้ง และ 34.6% เคยแกล้งผู้อื่น ซึ่งเมื่อแยกตามเพศแล้ว เพศหญิงจะเคยแกล้งผู้อื่น 37% เคยถูกแกล้ง 40.8% ขณะที่เพศชาย 32% เคยแกล้งผู้อื่น และ 34.7% จะเคยถูกแกล้งทั้งยังมีถึง 39.1% ที่เคยแชร์หรือกดไลก์เวลาเห็นข้อความ รูปภาพ หรือคลิปของเพื่อนที่กำลังถูกแกล้งบนโลกไซเบอร์ (bystander)
“ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังถูก cyberbullying พบว่า มี 2.2% ที่จะไม่ไปโรงเรียน 6.6% ครอบครัวไม่เข้าใจ ตำหนิ ซ้ำเติม 8.3% เพื่อนเข้าใจผิดเลิกคบ 9% นอนไม่หลับ 18.6% ต้องการแก้แค้น 23.1% เศร้า เครียด วิตกกังวล และ 32.1% รู้สึกโกรธ”
ด้วยโจทย์ที่ยากในการวิเคราะห์หา cyberbullying ออนไลน์ จึงเริ่มมีคนสนใจว่าจะมีโอกาสไหมที่ AI หรือ สมองกล สามารถเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้ได้ เพราะด้วยรูปแบบของปัญหาที่ใช้พลังงานในการค้นหาเหมือนงมเข็มในกองฟางเป็นสิ่งที่ AI ชำนาญ โดย AI จะสามารถจำแนกความแตกต่างเล็กน้อยทางภาษาและจัดกลุ่มประโยคต่างๆ ได้จากข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างมีประสิทธิภาพโดยมนุษย์ไม่สามารถเทียบได้ และเมื่อมันได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพมากพอ ก็จะเริ่มฉลาดขึ้น บ่งบอกได้ว่าอันไหนคือการกลั่นแกล้งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้
ที่การแยก cyberbullying ออกจากการแสดงความเห็นอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญ ก็เพราะ cyberbullying ไม่เพียงแต่ทำให้ประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตของทุกคนเลวร้าย แต่ในหลายๆ เคสเกิดเหตุการณ์ที่น่ากลัวและไม่คาดคิดอย่างการสะกดรอยตาม (stalking) หรือ ทำร้ายร่างกายอีกด้วย งานศึกษาชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Florida Atlantic University เกี่ยวกับนักเรียนมัธยมปลายบอกว่า 83% ของเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งออนไลน์นั้นจะถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนด้วย แถมโรงเรียนจะพยายามไม่เปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ให้สื่อทราบหรือรายงานให้สำนักงานที่ดูแลเขตการศึกษานั้นๆ ด้วย ยิ่งไม่มีการกระทบกระทั่งแบบถึงเนื้อถึงตัวยิ่งทำให้การแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือจากตำรวจ การจับหรือเอาเรื่องผู้กระทำผิดกลั่นแกล้งผู้อื่นออนไลน์จึงเป็นเรื่องยากในหลายๆ กรณี
cyberbullying กลายเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปนั้น
เริ่มไม่ไว้วางใจโลกออนไลน์และเทคโนโลยีในภาพรวมๆ
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะว่าอินเทอร์เน็ตนั้น สามารถสร้างประโยชน์ต่อชีวิตเราและสังคมได้อย่างมากมาย มันทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น หาข้อมูลได้เพียงแค่ปลายนิ้ว เชื่อมโยงถึงกันได้ตลอดเวลา แต่พอมีเหล่านักเลงคีย์บอร์ดที่คอยจู่โจมคนอื่นด้วยแนวคิดด้านลบหรือคำพูดหยามเหยียดที่ดูถูกคนอื่นๆ ที่เห็นต่างจากตัวเอง ไม่แปลกใจที่หลายคนแนะนำว่าอย่าไปอ่านคอมเมนต์เลย เพราะหลายครั้งแทนที่มันจะเป็นกระทู้อภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผล มันกลับกลายเป็นแค่หลุมบ่อของอารมณ์และความคิดที่อยากด้านลบที่พยายามโจมตีคนอื่นๆ ที่คิดต่างจากตัวเองเพียงเท่านั้น จนตอนนี้กลายเป็นว่าเราพยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งและหนีห่างจากคนเหล่านี้เพราะมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับเรา ทั้งๆ ที่หลายพื้นที่ (เพจ/กระทู้/เว็บไซต์) นั้นมีอะไรที่น่าสนใจ มีข้อมูลที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์หลายๆด้าน แต่หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ก็เลือกที่จะไม่เข้าไปอ่านเพราะขี้เกียจเห็นคอมเมนต์บางอย่างที่ไม่สร้างสรรค์ พอเจอบ่อยๆ เข้าสุดท้ายเลิกเข้าไปอ่านเลยก็มี
ด้วยความที่เป็นโลกออนไลน์ cyberbullying จึงมีลักษณะที่แตกต่างจากการกลั่นแกล้งแบบเมื่อก่อน และด้วยความเป็นมันเป็นโลกเสมือน จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะป้องกันหรือหยุดเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย หลายๆครั้งมันแฝงมาในรูปแบบของ ‘มุกตลก’ ที่คนรับไม่ขำด้วย เพราะเขารู้ว่าเจตนาที่แฝงอยู่นั้นไม่ได้ใสซื่อไม่ว่าจะกลบเกลื่อนฉาบหน้าด้วยคำว่า ‘หยอกเล่น’ ก็ตามที หลายสถานการณ์ก็เป็นเรื่องยากที่จะปิดกั้นคนที่กลั่นแกล้งเราออนไลน์ด้วย (เช่นกลุ่มเพื่อนนักเรียนในห้องแชตออนไลน์) และสุดท้ายบางครั้งผู้ตกเป็นเหยื่อนั้นมองจากภายนอกดูไม่ออก พวกเขาจะตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการที่ผู้กลั่นแกล้งนั้นแอบอยู่ภายใต้หน้ากากของมุกตลกร้าย (แต่มุ่งโจมตี) หรือหลายคนที่เราไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเป็นใคร เหล่าผู้เคราะห์ร้ายก็เริ่มรู้สึกโทษตัวเองว่า “หรือเราผิดจริงๆ เลยโดนแบบนี้?” (ทั้งๆ ที่เขาไม่ผิด) และ “เราอ่อนไหวเกินไปไหม?”
ในปี ค.ศ.2016 บริษัท Identity Guard ได้ร่วมมือกับมูลนิธิ Megan Meier Foundation และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ cyberbullying เพื่อหาหนทางที่จะสร้างทางออกที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องเด็กๆ เยาวชนและวัยรุ่นโดยไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของพวกเขา ใช้ความสามารถของ IBM Watson เพื่อสร้าง AI ที่สามารถมอนิเตอร์โซเชียลมีเดียฟีดที่ผู้ปกครองและเด็กๆ ในครอบครัวอนุญาตให้เข้าไปดูได้ โดยเทคโนโลยีนี้จะพึ่งพา natural language processing (NLP – สาขาหนึ่งของเทคโนโลยี AI ที่ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการสื่อสารและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นภาษา) และ natural language classifiers (NLC – AI ที่ทำหน้าที่แบ่งแยกว่าประโยคไหนควรจัดอยู่กลุ่มไหนตามความเหมาะสมและที่ถูกฝึกมา) เพื่อคัดแยกว่าประโยคไหนที่เข้าข่าย ‘cyberbullying’ หรือมีความเสี่ยงที่คนเขียนอาจจะ ‘ทำร้ายตัวเอง’ ผู้ปกครองจะได้รับการแจ้งเตือนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นทันทีและสามารถเข้ามาช่วยเหลือก่อนที่ปัญหาจะบานปลายและเกิดความสูญเสียที่ร้ายแรง
ในปีเดียวกันเฟซบุ๊ก ได้ทำการสร้าง DeepText ที่สามารถเข้าใจข้อความและคัดแยกคอนเทนท์ได้แม่นยำพอๆ กับมนุษย์ในปริมาณหลายพันชิ้นในหนึ่งวินาที หลังจากนั้นไม่นาน อินสตาแกรมก็นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อใช้ในการลบสแปม ล่าสุดพวกเขาก็ใช้มันเพื่อต่อกรกับเหล่านักเลงคีย์บอร์ด (trolls) และภัยคุกคามทางออนไลน์ที่พบเจอบนแพลตฟอร์ม ส่วนเฟซบุ๊กเองก็ใช้เทคนิคผสมผสานระหว่างคนและ AI เพื่อควบคุมเรื่องเหล่านี้และลบบัญชีปลอมที่โผล่ขึ้นมาด้วยเช่นกัน
ในส่วนของกูเกิลเองก็ร่วมมือกับบริษัท Jigsaw บริษัทเครือญาติภายใต้บริษัทแม่อย่าง Alphabet ร่วมมือกันเพื่อลดความรุนแรงในส่วนของคอมเมนต์โดยสร้าง AI ขึ้นมาเพื่อคอยไล่ลบคอมเมนต์ที่เอนเอียงไปทางด้านลบออกจากบริการของพวกเขา CJ Adams โปรดักเมเนเจอร์ของ Jigsaw กล่าวว่า
“เพราะการโจมตีกันออนไลน์ หลายคนเลิกที่จะแชร์ความคิดของตัวเองออนไลน์หรือแค่พูดคุยกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับพวกเขาเท่านั้น”
พวกเขาสร้างโปรแกรมที่เรียกว่า ‘Perspective’ เพื่อให้คะแนนคอมเมนต์ต่างๆขึ้นอยู่กับความคล้ายคลึงกับคอมเมนต์ที่ถูกให้คะแนนไว้โดยมนุษย์ที่เป็นผู้รีวิว โดยการฝึกโปรแกรมนี้พวกเขาให้ AI อ่านคอมเมนต์หลายแสนคอมเมนต์ เพื่อให้คะแนนว่าคอมเมนต์ไหนที่มีโอกาสที่จะ ‘toxic’ หรือเป็นพิษเป็นภัย และอันไหนที่ปลอดภัย แพลตฟอร์มอย่างยูทูบเองก็ใช้ AI ตัวนี้เช่นเดียวกัน
ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามอย่างหนักในการใช้เทคโนโลยีอย่างสมองกลเข้ามาช่วยวิเคราะห์เสาะหาเหตุการณ์/คอมเมนต์ที่เข้าข่าย cyberbullying บนโซเชียลมีเดีย แต่ AI ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ การใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดตอนนี้ก็คือการผสมผสานใช้มันร่วมกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการคัดข้อมูลโดยมนุษย์เพื่อฝึกเหล่า AI หรือการตรวจสอบว่า AI ทำงานได้ถูกต้องรึเปล่า เพื่อให้เหล่า AI ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างในเคสของอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก บางครั้งก็เจอเคสที่ซับซ้อน เพราะนอกจากจะต้องดูทั้งคอนเทนต์ที่เป็นตัวหนังสือแล้ว ระบบยังต้องตรวจดูคอนเทนต์อื่นๆ อย่างภาพถ่ายหรือวีดีโออีกด้วย เพราะฉะนั้นเคสแบบนี้ AI เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนเท่าไหร่
มนุษย์จึงยังจำเป็นต่อกระบวนการทั้งหมดอยู่ดี
เทคโนโลยีจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคนใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งในผู้ใช้งานในกลุ่ม Generation Z ที่ดูจะเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่ารุ่นก่อนหน้าผู้เป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย พวกเขาจะใช้เวลาออนไลน์มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ การซ่อนอยู่ใต้หน้าจอแล้วโพสต์/เขียน/ด่าทอ/แซะโดยไม่คิดถึงความรู้สึกของอีกฝั่งเป็นเรื่องที่ง่าย แต่อย่าลืมว่าอีกฝั่งของหน้าจอนั้นก็เป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกและชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับเรา เราต้องรับผิดชอบทุกคำพูดและการกระทำของเราบนโลกออนไลน์เหมือนกับในชีวิตจริงนั่นแหละ
ในมุมของผู้ใช้งานมีบางอย่างที่เราช่วยกันทำให้สังคมออนไลน์น่าอยู่ยิ่งขึ้น เช่นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นคนที่กลั่นแกล้งผู้อื่นอยู่ก็พุดไปเลยว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ การกดปุ่ม report บนโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องยาก แต่เราต้องแน่ใจก่อนนะว่านั้นคือการกลั่นแกล้งจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเราเองที่กลั่นแกล้งผู้อื่น เรียนรู้เครื่องมือที่เราใช้ การ report/block คนอื่นบนแพลตฟอร์มเหล่านี้และใช้มันให้เกิดประโยชน์
อีกเรื่องหนึ่งที่ตัวเราทำได้ก็คือ ‘ทบทวนก่อนจะโพสต์’ การโพสต์เรื่องส่วนตัวต้องทำอย่างรอบคอบ รูปตลกๆ ที่เราอาจจะถ่ายด้วยความคึกคะนอง แล้วโพสต์ไปเพื่อความสนุกเฮฮาอาจจะกลายเป็นเรื่องน่าอับอายเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เวลาไปสมัครงานในตอนนี้หลายครั้งบริษัทเลือกที่จะเข้าไปดูโปรไฟล์ของผู้สมัคร ภาพเพียงภาพเดียว สเตตัสที่จู่โจมคนอื่น หรือคอมเมนต์ที่เป็นไปทางด้านลบเพียงอันเดียวสามารถปิดโอกาสของตัวเองได้เลยเช่นกัน
สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่นั้นต้องคอยคุยกับเด็กๆที่อยู่ในบ้านเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ สื่อสารกับพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำออนไลน์ มีอะไรที่ผิดปกติหรือรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นบ้างไหม หลายครั้งที่เด็กวัยรุ่นจะพยายามปิดกั้นพ่อแม่ของตัวเองออกจากโลกส่วนตัวที่พวกเขาสร้างขึ้นมา แต่นั้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่คนเป็นพ่อแม่จะไม่พยายามแสดงความรักความห่วงใยและทำให้เห็นว่าเราอยู่ตรงนี้เสมอ การสอนเขาถึงพฤติกรรมและมารยาทที่ควรกระทำต่อมนุษย์อีกคนออนไลน์เป็นเรื่องจำเป็นมากเหมือนกับโลกออฟไลน์นั้นแหละ
สุดท้ายคือขอให้เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง มนุษย์ทุกคนมีสิ่งนี้ติดตัวอยู่แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปเจอบางอย่างที่มันบอกว่าผิดที่ผิดทางและไม่ปลอดภัย บางคอมเมนท์ที่ดู “เฮ้ย!” มันก็อาจจะเฮ้ยจริงๆ ถ้าอยากให้ชัวร์อาจจะขอความคิดเห็นจากคนอื่นอีกสักสองสามคนว่าไม่ได้คิดไปเอง ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ที่คุณถูกโจมตีหรือกลั่นแกล้งออนไลน์ก็ต้องเก็บหลักฐานเอาไว้ แคปหน้าจอเก็บเอาไว้ไม่ใช่เรื่องยาก เหล่านักเลงคีย์บอร์ดบางครั้งก็พยายามไล่ลบหลักฐานที่จะผูกมัดตัวเอง เพราะถ้าเกิดมีการขึ้นโรงขึ้นศาลมาจริงๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เคสของคุณมีน้ำหนักมากขึ้น
cyberbullying เป็นเรื่องที่จะอยู่กับเราไปอีกนานตราบใดที่สังคมออนไลน์ยังมีอยู่ การที่จะทำให้สังคมที่อยู่นั้นน่าอยู่นั้นเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะคอยช่วยเหลือกัน AI สามารถเข้ามาช่วยสอดส่อง ช่วยเช็ก ช่วยแจ้งเตือนได้ในบางด้าน แต่ก็เหมือนกับตำรวจนั่นแหละ ไม่ว่าขุมกำลังจะใหญ่ขนาดไหน ก็อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึงและยังเป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่ต้องคอยช่วยเหลือกันด้วย
แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะกลายเป็นกฎหมายออนไลน์ เป็นคนไปตัดสินคนอื่นและกลั่นแกล้งกลับไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการสังเกตุและรายงาน เพื่อช่วยทำให้ AI นั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราพิจารณาแล้วว่าอันไหนควรระวัง ต่อไป AI ก็จะมีโอกาสป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อีก
การที่เราเชื่อในสัญชาติญาณของตัวเองแล้วบอกว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง ก็คือการแสดงจุดยืนว่า ‘cyberbullying’ นั้นไม่ควรเกิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่โลกออนไลน์ก็เหมือนโลกออฟไลน์ที่เราต้องใช้สังคมเพื่อสร้างสังคม การเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างกับการเหยียดด่าทอเป็นสองอย่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เราทุกคนรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโลกจะน่าอยู่ก็ต่อเมื่อสังคมช่วยกันดูแลและรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ร่วมกันทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก