ตอกบัตรเข้างาน ชงกาแฟมานั่งที่โต๊ะทำงาน…เปิดคอมฯ เอามือถือวางบนโต๊ะ มือวางบนเมาส์ มองหน้าจอเตรียมเข้าโหมดทำงาน…
“ติ๊ง!” (Line เข้า…พิมพ์ตอบ)
“ติ๊ง!” (อีเมลโฆษณามา นั่งอ่าน กดดูเว็บไซต์…)
“ติ๊ง!” (คอมเม้นท์บน Facebook…พิมพ์ตอบ)
“ติ๊ง!…” (Instagram เด้ง บอกว่าคนที่เรา follow เพิ่งโพสต์รูป…กดดู)
อ้าว…เที่ยง! ไปกินข้าวก่อนละกัน เดี๋ยวบ่ายค่อยกลับมาปั่นจริงๆ จังๆ ซึ่งเอาเข้าจริงก็วนลูปด้านบนแต่เป็นเวอร์ชั่นตอนบ่ายที่คั่นกลางด้วยกาแฟร้อนตอนบ่ายสาม
การสั่นของสมาร์ทโฟนหรือเสียงเตือนของ notification นั้นอย่างดีที่สุดก็คงรบกวนสมาธิ และอย่างแย่ๆ ที่สุดก็เป็นต้นเหตุของความเครียดและความกระวนกระวาย แอพพลิเคชั่นใหม่อย่าง Aloe Bud เลยอยากจะเปลี่ยนเจ้า notifications เหล่านี้ให้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้รับรู้สึกดีมากขึ้น โดยการแจ้งเตือนนั้นคล้ายกับการมีเพื่อนซี้คอยบอกให้ ‘ดูแลตัวเองและทำสิ่งที่ควรทำ’ ซึ่ง Aloe Bud จะช่วยทำให้ผู้ใช้ผ่อนคลาย พักสายตาจากหน้าจอ ขยับร่างกาย หลับตาพัก จดจ่อสมาธิกับลมหายใจเข้าออก เตือนให้กินยา ฯลฯ
คนกลุ่ม Millennials หรือคนกลุ่ม Gen Y นั้นค่อนข้างที่จะหลงใหลกับการดูแลตัวเอง ซึ่งตอนนี้กำลังจ่ายดอกผลให้กับผู้สร้างแอพพลิเคชั่นในกลุ่มสุขภาพและการดูแลตัวเอง จากสถิติของบริษัทดูแลข้อมูลอย่าง Sensor Tower มีรายงานว่ากลุ่มแอพพลิเคชั่นเหล่านี้กำลังเห็นการเติบโตที่ค่อนข้างชัดเจน โดยในไตรมาสแรกของปี 2018 สิบอันดับแรกของ ‘self-care’ แอพทั่วโลกนั้นสร้างรายได้มากถึง 27 ล้านเหรียญรวมกันทั้ง iOS และ Android ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากถึง 170% จากปีก่อนหน้านี้ อีกบริษัทเก็บสถิติอย่าง AppTopia ก็เห็นการเติบโตที่มากขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน ทั้งในจำนวนการดาวน์โหลดจากผู้ใช้และจำนวนแอพที่เพิ่มขึ้นในตลาด ซึ่งเป็นการคอนเฟิร์มซึ่งกันและกันว่าแอพพลิเคชั่นในกลุ่มนี้กำลังเติบโตอย่างชัดเจน โดย Apple ชี้ว่าแอพพลิเคชั่นในกลุ่มนี้ได้ขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 4 เทรนด์ที่กำลังมาแรงในปี 2017 โดยบอกว่า
“มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อนถึงการเติบโตของแอพที่โฟกัสเกี่ยวกับสุขภาพจิต สมาธิ และการลดความเครียด”
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงเหตุผลที่ทำให้แอพพลิเคชั่นหมวดหมู่นี้กำลังได้รับความนิยมในหมู่กลุ่มคน Gen Y มีหลายอย่าง หนึ่งคือการเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการดูแลรักษาตัวเองจากอินเทอร์เน็ตที่มากมาย สองคือวิถีการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยข่าวสารอัดแน่นตลอดเวลา รวมกับธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่สามารถทำให้ผู้ใช้เกิดอาการซึมเศร้ามากเกินไป เครื่องมือเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา และแน่นอนว่าฝ่ายนักเลงคีย์บอร์ดที่ชอบเหน็บแนมก็จะบอกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y นั้นเป็นกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของตัวเองมาเป็นอันดับแรกมากกว่ายุคก่อนๆ ซึ่งเทรนด์การเติบโตของแอพสำหรับดูแลตัวเองก็เป็นตัวพิสูจน์ข้อสันนิษฐานที่ยอดเยี่ยม
แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยเช่นวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป คนกลุ่มนี้เลือกที่จะแต่งงานช้ากว่าเดิมมาก จึงทำให้ไม่ต้องมีภาระทางบ้านมากเหมือนคนรุ่นก่อน จึงสามารถโฟกัสเวลาที่มีให้กับการดูแลตัวเองมากขึ้น และความคิดเห็นด้านลบเกี่ยวกับการดูแลรักษาอาการป่วยทางจิตก็ลดลง ทำให้คนเริ่มเปิดใจและหันมาใช้แอพเหล่านี้มากยิ่งขึ้น (แต่ถ้าเป็นอาการป่วยที่ค่อนข้างรุนแรง แอพเหล่านี้ก็ไม่ได้มีประโยชน์เท่ากับการไปพบแพทย์โดยตรงอยู่ดี)
Aloe Bud เป็นแอพสตาร์ทอัพน้องใหม่ล่าสุดที่กำลังเข้ามาร่วมระบบนิเวศน์ของตลาดแอพ ‘self-care’ โดยถูกสร้างมาเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอายุน้อยที่สามารถจัดการกับแรงกดดันของในชีวิตประจำวันได้ดีกว่า ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะจัดสรรเวลาในแต่ละวันเพื่อดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น การทำสมาธิ ผ่อนคลาย และฝึกการใช้เทคนิคเกี่ยวกับการเจริญสติ (Mindfulness) เพื่อพัฒนาความรู้สึกตัวเอง ซึ่งกลุ่มคนที่อายุมากกว่าอย่างรุ่นพ่อรุ่นแม่อาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ อาจมองว่าเด็กยุคนี้มัวแต่ใช้เวลาเพื่อตัวเองโดยไม่สนใจคนอื่นในสังคม
แน่นอนว่าจากหลักฐานสถิติแล้วเราเห็นได้ว่ามีความต้องการในตลาดของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จริงๆ แต่ถ้าเอาแอพเหล่านี้มาวางเรียงกันจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วโฟกัสไปที่การทำสมาธิและเทคนิคการทำให้จิตใจสงบ ซึ่งไม่ใช่การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ และนั่นเป็นที่ว่างที่ทำให้ Aloe Bud พยายามแทรกตัวเข้ามาเพื่อเติมเต็ม ถ้าโหลดแอพมาดู (เป็นแอพ freemium ที่สามารถโหลดมาใช้ได้แต่ต้องจ่ายเพิ่ม $4.99 หากต้องการใช้ฟีเจอร์ทั้งหมด) ก็คงต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าแอพพลิเคชั่นนี้ทำมาได้น่ารักน่าชัง สีพาสเทลบวกการใช้ไอคอนพิกเซลแตกๆ เพื่อเอาใจกลุ่มหลงใหลความเรโทรโดยเฉพาะ
อย่างแรกที่สังเกตุเห็นเลยคือขั้นตอนการใช้นั้นง่ายมาก ไม่ต้องสมัครสมาชิก ไม่ต้องเลือก username password ใส่อีเมล เบอร์โทร ฯลฯ ไม่มีฟังก์ชั่น ‘หาเพื่อน’ บนโซเชียลมีเดีย ไม่มีฟีเจอร์เพื่อให้แข่งขันกันเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเปิดขึ้นมาปุ๊บก็เข้าไปหน้าการใช้งาน ก็จะเจอปุ่มให้กดอย่าง ‘hydrate’ ‘breathe’ หรือ ‘motivate’ และเซ็ตเวลาที่คุณต้องการอยากให้แอพนี้เตือนว่าต้องทำตอนไหน (อย่างเช่นเตือนให้ดื่มน้ำทุกสองชั่วโมง ฯลฯ) หรือจะใช้ Aloe Bud โดยไม่มีการตั้งเตือนก็ได้เช่นเดียวกัน แค่เข้าไปเช็กว่าวันนี้ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว คล้ายเป็นเช็คลิสต์ว่าเป้าหมายวันนี้ได้ทำอะไรบ้าง หรือแม้แต่จะใช้มันเพื่อเป็นการจดโน้ตความคิดต่างๆก็ได้เช่นกัน
ไอเดียของ Aloe Bud นั้นเริ่มต้นจาก Amber Discko เขาต้องการสร้างแอพที่มีคุณลักษณะในการสร้างความสดชื่นเหมือนกับว่านหางจระเข้ (Aloe Plant) โดย Discko นั้นเคยผ่านการทำงานมาแล้วหลายด้าน ทั้งเป็นคนดูแลบัญชี Twitter ของร้านอาหารเชนชื่อดังอย่าง Denny’s เคยเป็นนักวางกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ของ Tumblr เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้ง Femsplain และล่าสุดทำงานในฝ่าย digital organizing team ของ Hillary Clinton ระหว่างการออกหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งความตึงเครียดหลังจากงานสุดท้ายนี้เองที่เป็นตัวจุดประกายให้เขาเริ่ม Aloe Bud เพราะตัวเขาเองต้องการใช้แอพเพื่อกลับมาดูแลตัวเองและต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจอย่างจริงจัง (ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของจำนวนผู้ใช้งานแอพที่ช่วยเยียวยาสภาพจิตใจก็เป็นได้ ) โดยเขากล่าวว่า “ผมรู้สึกเหมือนตัวเองแตกสลายทางสภาพจิตใจหลังจากการเลือกตั้งจบลง ผมไม่ได้ออกจากบ้านเลย ผมต้องการหาบางอย่างเพื่อดึงตัวเองกลับมาอีกครั้ง”
ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ทดลองใช้แอพต่างๆ ในตลาด แต่ก็เหมือนกับว่าไม่มีอันไหนที่ถูกจริตของเขาเลยสักอันเดียว “ผมไม่ค่อยรู้สึกอยากกลับไปใช้มันเรื่อยๆ ถ้าไม่ลืมใช้ไปเลยก็รู้สึกอายที่จะใช้มัน จนสุดท้ายก็ต้องลบมันทิ้งไป ผมแค่รู้สึกว่ามันไม่ได้ตอบสนองความต้องการทั้งหมด ผมเป็นคนที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนทำงานได้ดีกับพลังงานด้านบวกและความคิดเชิงบวกที่อยู่รอบๆ ตัว”
Aloe Bud เกิดขึ้นมาเพราะความหงุดหงิดใจดังกล่าว แต่เริ่มต้นเป็นเพียงกลุ่มสังคมออนไลน์ที่คนสามารถเข้ามาเช็กอินในกิจกรรมดูแลตัวเองที่พวกเขาทำอยู่ แต่ความต้องการที่บอกว่าให้ทำแอพพลิเคชั่นออกมาได้แล้ว ก็กลายเป็นแคมเปญระดมเงินบน Kickstarter ที่มีคนสนับสนุนถึง 1,538 คนด้วยเงินจำนวนมากถึง 50,000 เหรียญ (1.6 ล้านบาท)
หนึ่งปีหลังจากนั้น Aloe Bud ก็เปิดตัวสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ โดยได้ทีมผู้พัฒนาอย่าง Lickability (ผู้สร้างแอพ Houseparty, Jet และ Meetup) มีลูกค้า pre-order เกือบพันคนและวันเปิดตัวมีการดาวน์โหลดถึง 5 พันครั้ง ด้วยความที่มันใช้งานง่ายแต่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายละเอียดและการวิจัยหลายๆ เรื่องถูกนำมาใช้ในการพัฒนาแอพนี้ Discko ต้องเข้าไปปรึกษานักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับคำปรึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งคำศัพท์ต่างๆ ที่เลือกใช้ก็ต้องคัดมาเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านลบด้านใดด้านหนึ่งต่อผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่นการแจ้งเตือนให้กินข้าวไม่ได้ใช้คำว่า ‘food’ (อาหาร) ที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพ แต่เลือกใช้คำว่า ‘fuel’ (พลังงาน) แทน
แน่นอนว่า Aloe Bud ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคนบนโลกใบนี้ แต่มันสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนที่เห็นความสำคัญของการเตือนเล็กๆ น้อยๆจ ากเพื่อนว่า ‘ดูแลตัวเองด้วยนะเว้ย’ อย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆ สูดลมหายใจลึกๆ ผ่อนคลายบ้าง หลับตาพักผ่อน ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี มันจะเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับคนที่ทำงานประจำอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ งานออนไลน์ที่มีความเคร่งเครียดตลอดเวลา Discko บอกว่า
“ผมได้รับแต่ notifications ที่ไร้สาระและทำให้เสียเวลา มันทำให้ผมเสียสมาธิและแทบบ้าไปช่วงหนึ่งเลยทีเดียว ผมลบ Twitter ออกจากมือถือและแทนมันด้วย Aloe Bud และอยากให้หลายๆ คนทำเหมือนกัน”
“ติ๊ง!” (Aloe Bud บอกว่าให้หยุดพักสายตาและปิดคอมพิวเตอร์ได้แล้ว)