หากเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน ถ้าเราอยากอ่านนิยายสักเรื่อง ก็คงหาซื้อเป็นเล่มๆ ตามร้านหนังสือ ห้องสมุด หรือไม่ก็คงยืมเพื่อนสักคนมาอ่าน
แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายได้พลิกโฉมหน้าการอ่านนิยายที่เราคุ้นเคยไป นิยายไม่จำเป็นต้องมีรูปเล่มหนังสือ นิยายดังไม่จำเป็นต้องมาจากนักเขียนชื่อดังๆ เพียงไม่กี่คน ใครๆ ก็สามารถแต่งนิยายในแบบของตัวเอง และมีนักอ่านอีกจำนวนมากที่เข้าถึงผลงานเหล่านี้ได้
จากที่กว่าจะเป็นนิยายเล่มหนึ่ง ทั้งนักอ่านและนักเขียนต้องผ่านตัวกลางอย่างสำนักพิมพ์ ทว่าการมีนิยายออนไลน์ทำให้ผลงานของคนเขียนไปถึงคนอ่านได้ง่ายขึ้น นักอ่านเองสามารถเลือกเสพนิยายได้หลากหลายแนวมากขึ้น นักเขียนก็มีพื้นที่แสดงผลงานของตนเพิ่มขึ้น โอกาสที่นิยายของตัวเองจะเป็นที่รู้จักก็ง่ายกว่าเดิม นักเขียนจึงสามารถหารายได้จากนิยายบนออนไลน์ของตัวเองได้อีกหนึ่งช่องทาง และน่าสนใจว่าเส้นทาง 10 กว่าปีของนิยายออนไลน์ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของผู้อ่าน ผู้เขียน และสำนักพิมพ์ไปอย่างไร
ความเป็น ‘หนังสือนิยาย’ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ หน้าตาของหนังสือนิยาย ก่อนหน้านี้นิยายสักเล่มจะต้องตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ใดสำนักหนึ่ง ผ่านกระบวนการ ‘บรรณาธิกร’ คือ ได้รับการตรวจพิสูจน์จากบรรณาธิการทั้งความเหมาะสมของเนื้อหาและความถูกต้องของภาษา
หนังสือนิยายแต่ละเล่มจากสำนักพิมพ์จะได้กระบวนการตรวจพิสูจน์หลายขั้นตอนจากบรรณาธิการเพื่อให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของสำนักพิมพ์ ซึ่งข้อถกเถียงหนึ่งของการทำนิยายกับสำนักพิมพ์ คือ แต่ละสำนักพิมพ์ไม่ได้มีพื้นที่ให้กับนิยายทุกสไตล์ จะมีเนื้อหา พล็อตเรื่อง ภาษาที่ใช้บางอย่างที่สำนักพิมพ์แต่ละที่เลือกจะตีพิมพ์ ทำให้นิยายอื่นที่ไม่ตรงกับสไตล์ของสำนักพิมพ์ อาจตกหล่นและไม่มีโอกาสได้ไปสู่สายตานักอ่าน
แต่เมื่อมีอินเทอร์เน็ตก็ทำให้เกิดนิยายออนไลน์ คนอ่านสามารถอ่านนิยายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปเล่มที่จับต้องได้ ซึ่งสิ่งที่มากกว่าแค่รูปเล่มที่หายไปคือ พื้นที่ที่เปิดกว้างขึ้นของวงการนิยาย คนอ่านมีทางเลือกในการอ่านมากขึ้น คนเขียนเองก็มีอิสระในการรังสรรค์ผลงานให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองชอบ จึงทำให้ศาสตร์และศิลป์ของนิยายขยายกว้างออกไป มีความหลายหลายมากขึ้น
ตัวหนังสือนิยายเองก็ไม่จำเป็นต้องมาจากสำนักพิมพ์เสมอไปอีกแล้ว นิยายออนไลน์ได้เปิดโอกาสให้นักเขียนอิสระรวมเล่มนิยายของตน แล้วทำเป็นรูปเล่มเพื่อขายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์ และก็มีกลุ่มคนอ่านจำนวนไม่น้อยที่ซื้อและเสพผลงานเหล่านี้ แม้บางครั้งจะยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณภาพของนิยายที่ออกมา แต่ก็นับเป็นการขยายทางเลือกของนิยายให้มากขึ้น
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตคนอย่างมาก นิยายได้ขยับขยายช่องทางไปในโทรศัพท์ ทำให้ผู้อ่านและผู้เขียนสามารถเข้าถึงนิยายได้ทุกที่ทุกเวลา รูปแบบนิยายเองก็มีการคิดรูปแบบนิยายใหม่ๆ ที่เข้ากับเครื่องมือการอ่านนิยายแบบใหม่อย่าง Joylada แอพพลิเคชั่นที่นำเสนอนิยายในรูปแบบของแชทในโทรศัพท์มือถือ เป็นรูปแบบในการแต่งนิยายแบบใหม่ที่รอคอยนักเขียนนิยายเข้ามาสร้างสรรค์ต่อยอดมิติใหม่ๆ ของนิยายต่อไป
ใครๆ ก็เป็นนักเขียนได้
แต่ก่อนหากนักเขียนอยากจะทำให้นิยายของตัวเองมีคนอ่าน ทางเดียวคือส่งผลงานของตัวเองไปที่สำนักพิมพ์ และรอให้นิยายของตัวเองเข้าตาสำนักพิมพ์สักแห่ง จากนั้นก็นิยายก็จะได้รับการตรวจ ปรับแก้ตามแต่ที่สำนักพิมพ์นั้นเห็นควร ซึ่งนักเขียนบางคนรู้สึกว่าสไตล์บางอย่างของตัวเองหายไป จินตนาการบางอย่างที่ใส่ลงไปในนิยายของนักเขียนก็ไม่ได้ตีพิมพ์
แต่หลังจากมีนิยายออนไลน์ นักเขียนก็ไม่ต้องพึ่งพาแค่สำนักพิมพ์ ให้เป็นช่องทางเดียวที่ส่งนิยายไปสู่สายตาของผู้อ่าน นักเขียนมีช่องทางการลงนิยายของตัวเอง มีอิสระเต็มที่ในการเขียนแบบที่ตนต้องการ เปิดกว้างทั้งด้านเนื้อหาและภาษา
อย่างช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่มาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างนิยายในรูปแบบแชทในสมาร์ทโฟนก็เป็นมิติใหม่ของการเขียนนิยาย ที่ท้าทายคนเขียนให้แต่งนิยายในแบบใหม่ๆ ขยับขยายพรมแดนของนิยายให้กว้างขึ้น
นิยายออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ที่นักเขียนได้ลงงานเขียนของตัวเองเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นช่องทางรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำของนักเขียนได้อีกด้วย อย่าง อแมนด้า ฮอกกิ้ง นักเขียนชาวอเมริกันที่โดนปฏิเสธผลงานจากสำนักพิมพ์มากมาย แต่เมื่อเธอพับลิชงานแบบออนไลน์ลงเว็บ Amazon ก็มียอดซื้อนิยายถึง 1.5 ล้านฉบับ ทำรายได้กว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ ยิ่งไปกว่านั้นผลงานชิ้นต่อๆ มาของเธอก็ได้เงินส่วนแบ่งจาก Amazon 70% ต่อนิยายหนึ่งเรื่อง ต่างจากการตีพิมพ์เป็นเล่มกับสำนักพิมพ์ทั่วไปที่นักเขียนจะได้ส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 10-15%
แม้ว่าจะมีข้อกังขาอยู่ว่านิยายเหล่านี้อาจมีคุณภาพที่ไม่ทัดเทียมกับสำนักพิมพ์ แต่นักเขียนอิสระก็ยืนยันว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะอย่างน้อยๆ พวกเขาก็มีคนอ่านเป็นผู้คัดกรอง ทั้งจำนวนคนอ่าน ทั้งการแสดงความคิดเห็นโดยตรงจากคนอ่านที่ทำได้ง่ายขึ้น เพราะคนอ่านกับคนเขียนสื่อสารกันได้ง่ายดาย สิ่งนี้เองจะเป็นตัวคัดกรองงานและช่วยพัฒนางานของคนเขียน
ในขณะเดียวกันบางสำนักพิมพ์ก็มีการปรับตัว ใช้นิยายออนไลน์ในการทำให้ผลงานเป็นที่รู้จัก เพื่อดึงให้คนอ่านมาซื้อนิยายที่เป็นรูปเล่ม หรือในอีกทาง สำนักพิมพ์ก็ใช้วิธีการค้นหาว่านิยายออนไลน์เรื่องไหนที่คนอ่านเยอะ คนเขียนคนไหนเป็นที่นิยม ก่อนจะดึงเข้ามาตีพิมพ์กับทางสำนักพิมพ์
ไม่กี่ปีมานี้วงการนิยายก็มีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อมีเว็บไซด์และแอพพลิเคชั่นนิยายจำนวนไม่น้อยก็เปิดพื้นที่ให้นักเขียน ไม่ว่ามืออาชีพหรือมือสมัครเล่น เข้ามาเขียนนิยายอะไรก็ได้ โดยนักอ่านก็จ่ายเงินเพื่ออ่านเนื้อหาในแต่ละตอน กลายเป็นช่องทางทำรายได้ของนักเขียนที่ตัวนักเขียนเองก็ไม่ต้องลงทุนแม้กระทั่งรวมเล่มด้วยซ้ำ เช่น dek-d Fictionlog Joylada เป็นความก้าวหน้าของวงการนิยายที่เปิดช่องให้คนอ่านเข้าถึงนิยายได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้น
คนอ่านกับทางเลือกที่มากขึ้น
อิทธิพลของนิยายออนไลน์ที่มีต่อวงการนิยายอย่างยิ่งคือ การมีนักอ่านจำนวนมากอยู่ในแพลตฟอร์ม อย่างเว็บนิยาย dek-d มีนิยายหลายเรื่องที่ได้รับการเปิดอ่านเป็นล้านครั้ง กระแสตอบรับเป็นในทางบวก มีนักอ่านจำนวนมากที่กระโจนเข้ามายังช่องทางนี้ หรือในอย่างประเทศจีนก็มีนักอ่านนิยายออนไลน์ถึง 333 ล้านคน หรือประมาณ 45.6% ของคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั้งหมดในประเทศ
การมีนิยายออนไลน์ทำให้นักอ่านสามารถเลือกอ่านให้ตรงกับความชอบของตัวเอง ซึ่งนิยายหลายเรื่องในออนไลน์ ก็สามารถอ่านได้ฟรีอีกด้วย
แม้อาจจะแลกมากับการได้อ่านบางงานที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานไปบ้าง (เช่น มีคำผิด) เพราะคลังนิยาออนไลน์มีนิยายจำนวนมหาศาลก็จริง แต่เล่มที่คนอ่านจะรู้สึกว่าเรื่องสนุกโดนใจก็ต้องเสาะแสวงหากันอยู่
นอกจากจำนวนนิยายมหาศาลที่คนอ่านมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแล้ว การมีนิยายออนไลน์ยังทำให้พฤติกรรมการอ่านของคนเราเปลี่ยนไปด้วย ช่วงระยะเวลาการอ่านต่อเนื่องมีแนวโน้มจะสั้นลง เพราะอุปกรณ์ที่ใช้อ่านอย่างเช่นสมาร์ทโฟนไม่ได้มีไว้เพื่ออ่านโดยตรง คนอ่านจึงถูกรบกวน ทำให้หลุดจากการอ่านได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้นักเขียนเองก็ต้องปรับการแต่งนิยายให้สั้นลงในแต่ละตอน หรือปรับรูปแบบนิยายให้เป็นการเล่าเรื่องผ่านแชทในสมาร์ทโฟนที่ใช้คำน้อยลง และหน้าจอในการอ่านเหมาะกับอุปกรณ์พอดี
ภายในเวลาไม่กี่สิบปี นิยายออนไลน์ได้เปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมของผู้อ่าน ผู้เขียน และสำนักพิมพ์ไปอย่างมาก ขณะเดียวกันทั้งผู้อ่านและนักเขียนก็มีส่วนกำหนดทิศทางของนิยายออนไลน์ด้วยเช่นกัน จึงน่าติดตามว่าหน้าตาของนิยายออนไลน์จะเปลี่ยนไปอีกอย่างไรในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงงาน ผลกระทบของนิยายทำมือต่อนิยายสำนักพิมพ์ ของวิชาการสื่อสารมวลชนเบื้องต้น คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโดย นายบัญชา ขันทา นางสาวปรารถนา บุญมี นางสาวปุณยภา ประสานเหลืองวิไล และนางสาวพลินพร กรุดพันธ์