ราว 4 ปี ก่อน อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความที่ชื่อ ‘ทหารมีไว้ทำไม’ ลงในติชนสุดสัปดาห์ และนำมาซึ่งกระแสการถกเถียง รวมถึงความหัวร้อนไปทั่วทุกหัวระแหงโดยเฉพาะจากฝั่งกองทัพที่พยายามจะออกมายืนยันในความจำเป็นของตน ทั้งยังค่อนขอดไปยังคนที่ตั้งคำถามี้อีกว่าถามอะไรพล่อยๆ หรือสิ้นคิด แต่มาวันนี้ในสถานการณ์ที่ชัดเจนแล้วและเรากำลังเผชิญกับมันอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังไม่อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถสู้ได้ด้วยการ “ลืมๆ มันไป” ในวิกฤตของความมั่นคงแบบใหม่นี้เอง การกลับไปสำรวจคำถามที่ อ.นิธิ เคยตั้งไว้ ดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย
ในบทความของ อ.นิธิ นั้นอาจพอกล่าวได้ว่าแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่อธิบายถึงรากเหง้าที่มาของสิ่งที่เรียกว่า ‘ทหาร’ ในความเข้าใจปัจจุบัน คือ การเป็นกองทัพของรัฐที่อยู่ประจำการ ทำเป็นอาชีพ สิ่งนี้เรียกว่าเป็นประดิษฐกรรมทางการเมือง (political innovation) ที่ใหม่มาก อย่างของไทยก็เพิ่งเริ่มเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง กล่าวอีกแบบก็คือ เราอยู่กันมาในโลกที่ไม่มีทหารหรือกองทัพ (ตามความเข้าใจปัจจุบัน) นานมากกว่าช่วงเวลาที่มีอยู่มากๆ และเราก็อยู่กันมาได้ เช่นนั้นแล้ว กองทัพมันจำเป็นจริงๆ หรือ? โดยเฉพาะกับประเทศที่กองทัพดูจะสร้างปัญหามากกว่าผลงานอย่างกรณีของไทย
ในส่วนที่สอง อ.นิธิ อภิปรายถึงกลไกการควบคุมความมั่นคงในระบบโลก ว่ามันไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว นับแต่สนธิสัญญาเวสฟาเลียเป็นต้นมา ระบบระหว่างประเทศนั้นมีความ ‘ขึ้นต่อกันและกัน’ (interdependence) และการรักษาดุลยภาพทางอำนาจระหว่างกันอยู่ นำมาซึ่งองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐมากมาย ที่ทำให้การรบพุ่งมุ่งสงครามนั้นเกิดขึ้นได้ลำบากมาก เมื่อโลกมีกลไกในการควบคุมสงครามมากขึ้นขนาดนี้แล้ว ขนาดที่ยุคก่อนๆ ไม่เคยมีมาก่อน เรายังจำเป็นจะต้องมีกองทัพกันอยู่หรือ?
การย้อนกลับมาทบทวนคำถามของ อ.นิธิ ในครั้งนี้ ผมอยากจะเพิ่มเติมประเด็นต่างๆ ขึ้นด้วย ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ วาระเรื่อง ‘ภัยความมั่นคงใหม่’ ที่หลายๆ คนอาจจะได้ยินผ่านหูกันมาบ้างในวิกฤต COVID-19
ว่าแต่จริงๆ แล้วภัยความมั่นคงใหม่มันคืออะไรกันแน่?
ผมคิดว่าหากจะพูดให้ถูกแล้ว ภัยนี้ไม่ใช่ ‘ภัยที่เกิดขึ้นใหม่’ อะไรในเซนส์นั้นหรอกครับ เพียงแต่เป็นภัยที่ “เพิ่งจะถูกนับว่าเป็นเรื่องความมั่นคงด้วย” จะถูกต้องกว่า ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เราก็เคยเจอมาหลายครั้งแล้ว อย่างภัยการก่อการร้าย ภัยแล้ง (ความมั่นคงน้ำ) หรือภัยฝุ่น (ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม) หรือการเห็นข่าวความอดอยากของคนในพื้นที่ต่างๆ และอาจจะรวมถึงคนในพื้นที่สลัมของไทยเองด้วย (ความมั่นคงทางอาหาร) ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ล้วนอยู่ในหมวดของสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงใหม่ทั้งสิ้น แต่ภัยเหล่านี้ว่ากันตรงๆ ก็คือมีลักษณะที่ ‘ลืมง่าย ผ่านไปเร็ว’ หรือมีผลกระทบที่อาจจะไม่ได้ทั่วทุกจุดบ้าง ทำให้คนแต่ละพื้นที่มีประสบการณ์ร่วมที่ไม่เท่ากัน แต่พอเกิดกรณี COVID-19 ขึ้น (ความมั่นคงทางสาธารณสุข/สุขภาพ) ผลกระทบแทบจะทั่วถ้วนใกล้เคียงกันไปหมด และทุกคนต้องระวังมันกันทั้งนั้น ทุกคนได้รับผลกระทบจากมันทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น เราเลยอาจจะฉุกนึกถึงความมั่นคงใหม่นี้ได้มากขึ้น เป็นประเด็นมากขึ้น แม้ในความเป็นจริงเราจะเผชิญหน้ากับมันมานานปีดีดักแล้วก็ตาม
ผมขอเริ่มการอธิบายจากสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงเก่า-ความมั่นคงใหม่นี้ก่อนนะครับว่ามันคืออะไรกันแน่ ในทางความมั่นคงศึกษาแล้ว มีการแบ่งจาก 2 เกณฑ์หลักๆ เกณฑ์แรกแบ่งตาม ‘หน่วยอ้างอิงทางความมั่นคง’ (referent object) กล่าวคือ ใครคือคนที่เราจะต้องมอบหรือประกันความมั่นคงให้ หรือก็คือ เวลาเราพูดถึงความมั่นคงนั้นเราพูดถึงความมั่นคงของใคร ซึ่งเกณฑ์นี้หลักๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ (state security) และ ‘ความมั่นคงมนุษย์’ (human security) ด้วยเกณฑ์นี้ ความมั่นคงรัฐถือได้ว่าเป็นความมั่นคงเก่าครับ ในขณะที่ความมั่นคงมนุษย์เป็นความมั่นคงใหม่ (เดี๋ยวผมจะมาลงรายละเอียดต่ออีกที)
อีกเกณฑ์หนึ่งก็คือ การอภิปรายผ่านกลไกหรือเครื่องมือในการมองความมั่นคง หรือก็คือความมั่นคงที่อิงตามกำลังทางกายภาพ กับความมั่นคงที่ไม่ได้อิงกับกำลังทางกายภาพ ซึ่งเราจะเรียกกันในทางความมั่นคงศึกษาว่า ‘ความมั่นคงตามแบบแผน’ (traditional security) กับ ‘ความมั่นคงไม่ตามแบบแผน’ (non-traditional security) โดยอย่างแรกนั้นก็มักจะถูกนับว่าเป็นความมั่นคงเก่า และอย่างหลังคือความมั่นคงใหม่นั่นเอง ซึ่งความมั่นคงตามแบบแผนนั้นจริงๆ แล้วก็อิงอยู่กับนิยามของรัฐตามแบบของ มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ที่บอกนิยามรัฐว่าคือ ผู้ซึ่งมีความชอบธรรมในการใช้กำลังทางกายภาพในเขตแดนที่อ้างอิงถึง นั่นเอง
ความมั่นคงตามแบบแผนจึงจะพิจารณาผ่านกำลังของกองทัพ เทคโนโลยีการสงคราม ยุทธศาสตร์การรบ กำลังการเข้าถึงทรัพยากร ภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ ในขณะที่ความมั่นคงไม่ตามแบบแผนมักจะอิงกับเรื่องที่ไม่เชิงกายภาพนัก อย่างการสาธารณสุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อาหาร น้ำ ฯลฯ ในแง่นี้เราจึงจะพบว่า ‘ความมั่นคงรัฐ’ กับ ‘ความมั่นคงตามแบบแผน’ ที่อิงกับกลไกการใช้กำลังทางกายภาพที่อิงอยู่กับนิยามรัฐและถือว่าเป็นประเด็นความมั่นคงเก่าทั้งคู่นั้นมีความคล้ายกัน จนเสมือนหนึ่งว่าคืออย่างเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วสองอย่างนี้ไม่ได้เหมือนกันโดยสิ้นเชิงอย่างแนบสนิทนะครับ ก็มีจุดต่างอยู่บ้าง อย่างภัยการก่อการร้ายนั้น หากอิงตามการจัดประเภทของ UN แล้ว นับเป็นภัยความมั่นคงมนุษย์อย่างหนึ่ง เพราะเป้าหมายนั้นคือ มนุษย์ (แบบสุ่มเหยื่อด้วย) แต่พร้อมๆ กันไป การก่อการร้ายก็จัดอยู่ในหมวดความมั่นคงตามแบบแผนด้วย เพราะเป็นการใช้กำลังทางกายภาพ (แต่มันก็ไปมีส่วนแยกย่อยที่แตกต่างจากรูปแบบความมั่นคงของกำลังทางกายภาพกระแสหลักอีกทีหนึ่งคือเรื่องอย่างสงครามแบบสมมาตรและอสมมาตร ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเกณฑ์ที่กำลังอภิปรายอยู่นี้)
กลับมาที่ความมั่นคงของรัฐกับความมั่นของมนุษย์อีกสักนิดนะครับ คือ เอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้ว่าภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ นอกเหนือจากพวกสงครามหรือกำลังทางกายภาพที่ยกตัวอย่างไปนั้นจะสร้างปัญหาให้กับมนุษย์มาแต่เนิ่นนานแล้ว แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่เคยถูกมองในฐานะภัยความมั่นคงเลย
เพราะช่วงก่อนทศวรรษ 1990 นั้น ประเด็นทางความมั่นคง
จะนับเอาเฉพาะเรื่องที่นำมาซึ่งภัยซึ่งอาจจะลบล้างตัวตนของรัฐลงไปได้
ว่าอีกแบบก็คือ การที่เศรษฐกิจพัง ภัยแล้งมา เกิดความอดอยาก หรือจะมีคนตายสักหลายร้อยหลายพันคนขึ้นบ้าง ก็ไม่ได้ทำให้ “รัฐนั้นๆ สูญสลายไป” ฉะนั้นหากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ภัยเหล่านี้มันจึงไม่ใช่ภัยระดับที่ทำให้ตัวตนของรัฐสูญสลายลงได้ (State’s existential crisis) รัฐเคยผ่านประสบการณ์ลักษณะนี้มามากแล้วที่ประชากร “ตายจำนวนมาก แต่รัฐยังไม่สูญสลาย” ฉะนั้นในแง่นี้ประเด็นนอกเหนือจากพวกสงครามใหญ่ๆ ที่จะกลืนกินรัฐให้หายไปได้หรือทำให้อำนาจอธิปไตยต้องตกไปอยู่ในมือคนอื่น จึงไม่เคยถูกมองในฐานะวาระหลักของความมั่นคงเลย และนั่นทำให้ ‘ทหารและกองทัพ’ กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาเรื่องความมั่นคง ซึ่งก็ตรงตามที่ อ.นิธิได้อภิปรายไว้ ถึงการเกิดขึ้นของ กองทัพที่มีการประจำการประจำ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับรัฐชาติสมัยใหม่ ในฐานะกลไกการปกป้องตัวรัฐ ให้ตัวรัฐไม่สูญสลายไป
อย่างไรก็ตามนับแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา สำนักโคเปนเฮเกน (Copenhagen School) นำโดย Ole Wæver ได้นำเสนอทฤษฎีทางความมั่นคงที่เรียกว่า securitization theory ที่เปลี่ยนหน่วยในการพิจารณาความมั่นคง จากที่จำกัดอยู่เฉพาะแต่กับตัวรัฐ ให้มีการขยับขยายไปได้ ทั้งเล็กลง ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ชุมชน ไปจนถึงตัวปัจเจกบุคคล หรือทางที่ใหญ่ขึ้น อย่างระบบระหว่างประเทศ ทวีป ข้ามรัฐชาติ หรือโลกทั้งใบ เป็นต้น โดยแนวคิดนี้มีลักษณะเป็น ‘วิธีการ’ (methodology) มากกว่าเป็นทฤษฎีแนวคิดโดยตัวมันเอง คำอธิบายสำคัญก็คือ เราสามารถเปลี่ยนหน่วยที่จะอ้างอิงความมั่นคงถึง (referent object) เป็นอะไรก็ได้ และมองหาสิ่งที่เรียกว่าภัยความมั่นคงของมันผ่านปัจจัยอันจะนำมาซึ่งการสูญสลายของตัวตนหรือระบบโครงสร้างที่เป็นอยู่ลงไป
อย่างเวลาที่เราพูดถึง ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ ก็คือ มีระบบเศรษฐกิจเป็นหน่วยอ้างอิง และเมื่อมองบนฐานคิดนี้ ก็จะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่ทุกปัญหาทางเศรศฐศาสตร์จะนับเป็นปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อย่างการที่เกิดเงินฝืด เงินเฟ้อที่มากกว่าปกติเล็กๆ น้อยๆ นั้นไม่อาจนับได้ว่าเป็นประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ เพราะไม่ได้จะนำมาซึ่งความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจได้ เวลาพูดถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงเป็นการพูดถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจในระดับที่มีโอกาสจะทำให้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เดิมสูญสลายลง อย่าง The Great Depression, วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (ซึ่งหากนับจริงๆ อาจจะต้องถือว่าเป็นเพียงระดับภูมิภาคเสียด้วยซ้ำ), Hamburger Crisis เป็นต้น หรืออย่างการพูดถึงความมั่นคงทางสาธารณสุข ก็คือ วิกฤตที่อาจจะนำมาซึ่งความล่มสลายของระบบสาธารณสุขได้ อย่างกรณี COVID-19 นี้ที่ถล่มระบบสาธารณสุขของอิตาลีจนแทบจะพังไม่เป็นท่า หรือท้าทายความอยู่รอดในอีกหลายๆ ที่ ทั้งสหรัฐอเมริกา สเปน อังกฤษ เป็นต้น ไม่ใช่แต่เพียงการเกิดขึ้นของโรคใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางสาธารณสุขเล็กๆ น้อย กล่าวก็คือ ปัจจัยตัดสินสำคัญว่าคือเรื่องความมั่นคงหรือไม่อยู่ที่ความเป็นไปได้อย่างมีนัยยะสำคัญที่จะทำให้ตัวตนของหน่วยอ้างอิงล่มสลายลง
เมื่อคิดดังนี้เอง จึงเกิดกระแสการพิจารณาถึงความมั่นคงของมนุษย์ หรือวิกฤตที่จะนำมาซึ่งความล่มสลายของมนุษย์ได้ ทั้งในความหมายของมนุษย์ในฐานะปัจเจก และมนุษย์ในความหมายของมนุษยชาติด้วย โดยองค์การสหประชาชาติได้แบ่งความมั่นคงมนุษย์ออกเป็น 7 หมวดหลักๆ ดังนี้ ชุมชน (community), อาหาร (food), สิ่งแวดล้อม (environment), (ในทาง) ส่วนตัว (personal), เศรษฐกิจ (economics), สุขภาพ (health), และการเมือง (political) ว่าอีกแบบก็คือ ความมั่นคงจากประเด็นทั้ง 7 หมวดหลักนี้ได้ขึ้นมาเป็นความท้าทายใหม่ต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ที่ก้าวพ้นพรมแดนของตัวรัฐ
‘รัฐ’ ในกรอบของความคิดในด้านความมั่นคงสมัยใหม่
จึงไม่ได้มี “กองทัพ ทหาร และกำลังทางกายภาพ”
เป็นตัวแสดงหลักอีกต่อไป
แน่นอน ไม่ได้แปลว่า ‘กองทัพและทหาร’ จะหมดบทบาทในฐานะตัวแสดงบนเวทีความมั่นคงโลกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่มีแนวนโยบายที่พยายามจะควบคุมความสงบเรียบร้อยของโลกและเข้าแทรกแซงการทำงานของรัฐอื่นๆ กองทัพและการทหารที่เหนือกว่ารัฐอื่นมากๆ อาจจะจำเป็น แต่ก็อย่างที่ อ.นิธิ เขียนไว้นั่นแหละครับ ด้วยระบบระหว่างประเทศในปัจจุบัน นอกจากภัยอย่างการก่อการร้ายแล้ว สงครามไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะระหว่างรัฐขนาดย่อมด้วยกัน เพราะโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศอย่างที่ อ.นิธิ พูดถึงมันไม่เอื้อให้เกิดสงครามง่ายๆ ได้ นอกเสียจากว่าเราจะเป็นรัฐมหาอำนาจที่ไม่ต้องแยแสองค์การโลกระดับบิ๊กเบิ้มมากนัก อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา, จีน หรือรัสเซีย เป็นต้น
พูดอีกแบบก็คือ สงครามระหว่างรัฐในสเกลเดียวกันกับไทยนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และหากมหาอำนาจที่จะสามารถก่อสงครามได้โดยไม่ต้องสนใจระบบระหว่างประเทศอะไรนักคิดจะถล่มไทยจริงๆ คิดว่าเป็นไปได้หรือที่รัฐอย่างไทยจะไปสู้อะไรได้ จินตนาการกองทัพสหรัฐอเมริกา หรือจีนถล่มไทยดูสิครับ ต่อให้เราเพิ่มงบประมาณให้กองทัพและกลาโหมอีกสิบเท่าก็ตาม ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ว่าง่ายๆ ก็คือ บทบาทของกองทัพไทยในฐานะ ‘ผู้ปกป้องความอยู่รอดของรัฐชาติในกรณีที่มีศึกสงครามใหญ่จริงๆ นั้น’ มันไม่มีประโยชน์และไม่ก่อผลในทางปฏิบัติ (impractical) ตั้งแต่รากฐานทางความคิดแล้วนั่นเอง คำถามว่า “มีทหารไว้ทำไม” มันจึงมีน้ำหนักมากในบทความของ อ.นิธิ
และยิ่งมาในเวลานี้ ที่ ‘โรค’ ได้ทำให้เห็นแล้วว่าภัยความมั่นคงหลักของโลก มันไม่ใช่กำลังทางกายภาพอีกแล้ว มันคือเรื่องอื่นไปนานแล้ว คนเราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ ความอดอยาก การกดขี่ของระบบเศรษฐกิจ ปัญหาในชุมชนและครัวเรือน และอื่นๆ มากกว่าการเสียชีวิตด้วยภัยสงครามมานานแล้ว กระทั่งต่อให้ยึดติดกับเรื่องความล่มสลายของรัฐ เราก็พอจะพูดได้ด้วยซ้ำว่า ‘รัฐที่ตัวตนล่มสลายเพราะสงคราม’ นั้น ก็ไม่มีให้เห็นมาหลายทศวรรษแล้ว คือ รัฐที่แพ้สงครามนั้น ‘มี’ แต่ตัวตนของรัฐไม่ได้สูญสลายไปด้วย ฉะนั้นความจำเป็นของทหารและกองทัพในสงครามเพื่อความอยู่รอดของรัฐตามหน่วยอ้างอิงทางความมั่นคงแบบเดิม (รัฐ) ก็ไม่ได้เหลือที่ทางอะไรในภูมิทัศน์ความคิดด้านความมั่นคงแล้ว กองทัพและทหารก็ดูจะเหลือหน้าที่หลักอย่างเดียวคือ การประกันความอยู่รอดของมนุษย์ หรือประชากรในรัฐ แทน ซึ่งก็นั่นแหละครับ อย่างที่ว่าไปก่อนหน้านี้ ว่ามันก็ไม่เมกเซนส์แล้ว เพราะโครงสร้างความมั่นคงโลกปัจจุบันไม่ได้ทำให้การที่รัฐเล็กรัฐน้อยอย่างไทยมีกองทัพไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมามากนัก นอกเหนือไปจากกดขี่ ข่มเหง เอาเปรียบและฉ้อโกงประชาชนของชาติตนเอง ทั้งที่ควรจะมีหน้าที่ปกป้องมากกว่า
หากมองตามมุมมองของเรื่องความมั่นคงมนุษย์หรือสนามความมั่นคงใหม่ บริบทเดียวที่กองทัพอาจจะยังพอที่จะเมกเซนส์ที่จะมีอยู่นั้น อาจจะเป็นเรื่องการต่อต้านภัยก่อการร้าย แต่การต่อสู้กับภัยการก่อการร้ายไม่เคยต้องการกองทัพขนาดมโหฬาร หรือนายพลเป็นร้อยอะไรเลย ตรงกันข้ามจะยุบกองทัพออกไปเลยทั้งหมดยังได้ แล้วเอางบมาสร้างระบบข่าวกรองสมัยใหม่ที่ดีขึ้น พัฒนาอุปกรณ์และระบบตรวจจับภัยธรรมชาติที่ดีขึ้น พัฒนาระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็งและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น พัฒนาระบบการจัดการขยะ ไอเสียและอื่นๆ ให้ดีขึ้น นำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนภาษีส่วนที่ขาดไปจากการใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันถ่านหิน และ/หรือ ระบบการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต (อย่างการสื่อสารกับสาธารณะ การฝึกอบรมสังคมในการรับมือสภาวะวิกฤตต่างๆ ฯลฯ) เป็นต้น เสียยังจะดีกว่ามาก พูดอีกแบบก็คือ หากชั่งน้ำหนักกับภัยความมั่นคงใหม่ ในภูมิทัศน์ทางความมั่นคงใหม่ นี้แล้ว กองทัพ หรือทหารนั้น ไร้ความจำเป็นโดยสิ้นเชิง จะให้ผมพูดตรงๆ ว่าเป็นเห็บตัวโตของทรัพยากรชาติก็ว่าได้
และเหล่าคนที่พยายามจะออกมาปกป้องกองทัพว่า ในเวลาวิกฤต กองทัพก็ออกมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะน้ำท่วม เย็บหน้ากาก หรืออะไรต่อมิอะไรนั้น ก็บอกตามตรงนะครับว่าสำหรับผมแล้วเป็นข้อโต้แย้งที่อ่อนเสียเหลือเกิน เพราะด้วยงบประมาณเดียวกันนี้ เราสามารถสร้างองค์กรที่มาทำหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ได้โดยตรง ครอบคลุมระยะยาว และมีประสิทธิภาพมากกว่ากองทัพเข้ามาช่วยเหลือตั้งไม่รู้เท่าไหร่
ข้ออ้างนี้จึงเป็นข้ออ้างที่อยู่บนฐานของการใช้การได้หน้านิดๆ หน่อยๆ
มาสมอ้างความไร้ประสิทธิภาพก้อนใหญ่กว่ามากๆ เกินความจำเป็นมากๆ
ของตนเองเอาไว้นั่นเอง
เทียบให้เห็นภาพก็คงเหมือนกับการลงทุนซื้อปืนบาซูก้ามาฆ่ามด ที่นอกจากจะเป็นอะไรที่สิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุแล้ว มันยังเป็นการลงทุนอย่างไม่ตรงจุดด้วย เพราะของที่ใช้นั้นมันไม่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ควรจะนำมาจัดการ ฉะนั้นบาซูก้าราคาแพงอาจจะจัดการมดไม่ได้เสียด้วยซ้ำ กองทัพไทยที่มีมูลราคาแพงแสนแพงก็เช่นกัน มันไม่ใช่องค์กรที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานลักษณะนี้เลย มันจึงเป็นการใช้จ่าย ที่อ้างเอาเองโดยกองทัพว่า “ฉันมีประโยชน์ๆ” ทั้งๆ ที่ประโยชน์ที่ได้มานั้นน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับเงินที่ลงทุนไป
จึงไม่แปลกที่เราจะตลก เมื่อเห็นภาพพลเอกอภิรัตช์สวมชุดกันเชื้อมาพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรนัก ยังสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามยึดครองพื้นที่ของภูมิทัศน์ความมั่นคงให้อยู่ในมือตนต่อไปให้ได้ โดยเฉพาะในเวลาที่ COVID-19 บุกโหมกระหน่ำและภาพของบุคลากรทางการแพทย์เริ่มเข้ามาแทนที่ทหารในเวทีความมั่นคงในฐานะ ‘นักรบชุดขาว’ กองทัพจึงยิ่งจะต้องดิ้นรนอย่างเต็มที่ที่จะแสดงภาพออกมาให้เห็นว่าพวกตนก็มีส่วนช่วยในการรับมือภัยความมั่นคงใหม่นี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ว่าง่ายๆ ก็คือ ยิ่งกองทัพดิ้นรนมาก มันก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นมากขึ้นไปด้วยถึงความไม่เหลือที่ทาง ไม่มีอะไรที่มันมีสาระที่จะทำได้แล้วจริงๆ สำหรับกองทัพ ในภูมิทัศน์ความมั่นคงใหม่นี้
ฉะนั้นผมจึงอยากจะถามคำถามเดิมที่ อ.นิธิ เคยถามไว้อีกครั้งว่า “ทหารมีไว้ทำไม” หรือหากจะเอาให้ชัดขึ้นไปก็คือ “จะยังมีทหารและกองทัพไว้ทำไม” ในเมื่อมันสร้างโทษมากกว่าประโยชน์
แต่คนที่ดูจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้น อ.ธงชัย วินิจจะกูล ที่เพิ่งมีปาถกฐาไปเมื่อเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ว่ากองทัพและทหารนั้นยังคงมีต่อไป เพื่อรักษาโครงสร้างของ ‘ไพร่’ ให้คงอยู่ต่อไปได้ เป็นการยืนยันการดำรงไว้ซึ่งระบบไพร่ทาสสมัยใหม่ให้อยู่รอดนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าไวรัส COVID-19 ไม่ได้แต่เพียงท้าทายความอยู่รอดของระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่มันยังท้าทายความอยู่รอด หรือสร้างคำถามต่อความจำเป็นในการมีอยู่ของทหารและกองทัพไทยด้วย ว่าในเมื่อมันไม่มีประโยชน์ใดๆ แล้ว ภัยความมั่นคงใหม่ไม่ได้ต้องการเครื่องมือในการรับมือแบบเดิมที่อาศัยกำลังทางกายภาพแบบทหารและกองทัพแล้ว จะมีกองทัพและทหารไปทำพรื้อ!!!