ใครเป็นผู้ที่ต้องจ่ายราคาของสงคราม?
ไม่กี่วันมานี้ข่าวของสงครามรัสเซียกับยูเครนกินพื้นที่ทั้งหมดของชีวิตในโลกออนไลน์ของเรา โดยไม่ต้องพูดอะไรมาก สงครามเป็นเรื่องแย่ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะสงครามส่งผลลบต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่เศรษฐกิจจนถึงสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะจากภาคพลเรือน หรือตัวทหารเอง
หนึ่งในวิธีการเข้าใจผลของสงครามและผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ย่อยง่ายที่สุดคือผ่านสื่อที่คัดกรองและขัดเกลามันในระดับที่ย่อยได้แล้วเช่นภาพยนตร์ ฉะนั้นเราจะชวนทุกคนไปดูภาพยนตร์ต่อต้านสงคราม 5 เรื่อง ที่โฟกัสไปหาว่าใครเป็นผู้ที่ต้องจ่ายราคานั้น และที่สำคัญคือจ่ายด้วยอะไร
Jarhead : ผลของแนวคิดการฝึกให้ทหารเป็นเครื่องกลสังหาร
เมื่อพูดถึงความสมจริงในหนังสงคราม หลายๆ ครั้งเรามักนึกถึงการถ่ายทำที่สมจริง เทคนิคพิเศษที่เหมือนผู้กำกับพากองถ่ายเข้าไปตั้งอยู่ในสนามรบจริงๆ แต่ความสมจริงของ Jarhead นั้นมาจากความรู้สึกที่มันให้ ความรู้สึกที่ทหารผ่านศึกหลายๆ คนใช้อธิบายสงคราม น่าเบื่อ จำเจ ตึงเครียด และเต็มไปด้วยการรอ
Jarhead เป็นหนังที่สร้างขึ้นมาจากอัตชีวประวัติของแอนโทนี สวอฟฟอร์ด อดีตนาวิกโยธินสหรัฐผู้ถูกส่งไปประจำการที่คาบสมุทรอาหรับ ในสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี ค.ศ.1991 หนังเล่าถึงประสบการณ์ตั้งแต่ชีวิตประจำวัน การฝึกซ้อม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหารในค่าย และผลต่อสุขภาพจิตระยะยาวเมื่อแนวคิดสอนให้ทหารเป็นเครื่องจักรสังหารนั้นถูกปลูกฝังให้กับคนจริงๆ
แม้จะมีฉากปะทะอยู่ประปราย โฟกัสของหนังอยู่กับผู้คนที่ถูกกัดกินและหลอมขึ้นใหม่โดยแนวคิดทางการฝึกทหารของสหรัฐ พอๆ กันกับเหตุการณ์เลวร้ายที่สงครามนำพามา ความเบื่อหน่ายของการไม่ได้ต่อสู้ การถูกสอนให้ฆ่าจนเป็นความปรารถนาเดียวของพวกเขา การฝึกที่ไม่ได้นำไปใช้เสียที ในทะเลทรายห่างไกลจากผู้คน กับมนุษย์ที่พวกเขาเกลียด สถานการณ์เหล่านี้สามารถพาให้ใครก็ตามสติหลุดไปได้
In this corner of the world : ผลกระทบของสงครามต่อภาคพลเรือน
หนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองนั้นโดยมากมักมาจากมุมมองของคนฝั่งพันธมิตร และมุมมองบนสนามรบ หลายครั้งเป็นเรื่องเกียรติ หรือความเสียสละ แต่หากเราพูดถึงมุมมองที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือมุมของพลเรือนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม แต่มักไม่ค่อยถูกพูดถึง แต่ In this corner of the world นำชีวิตความเป็นอยู่มาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง
การ์ตูนเรื่องนี้เล่าเรื่องชีวิตประจำวันของ โฮโจ ซูซุ ผู้หญิงคนหนึ่งและครอบครัวกับเพื่อนบ้านของเธอเมื่อสงครามคืบคลานเข้าใกล้เมืองอีบะ ไม่ไกลจากฮิโรชิมา และเมื่อมันมาถึงเราเห็นปัญหาที่พลเรือนต้องเจอทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารขาดแคลน ต้องหลบหนีระเบิด และการพรากจากกันของคนรัก ไม่ว่าจากการไปเป็นทหาร หรือจากความตาย ทั้งหมดถูกเล่าออกมาด้วยน้ำเสียง slice of life ที่เรียบง่าย ไม่ทำให้สงครามหรือฝ่ายใดน่ายกย่อง เล็งไปหาความเจ็บปวดและความอดทนของพลเรือนล้วนๆ
Jojo Rabbit :โฆษณาชวนเชื่อขโมยวัยเด็ก
ครึ่งหนึ่งของสงครามไม่ได้เกิดขึ้นบนสนามรบ แต่ในความคิดของคนในชาติ Jojo Rabbit เป็นหนัง Comedy เสียดสีผ่านมุมมองของเด็กชายวัยสิบขวบที่ถูกปลูกฝังโฆษณาชวนเชื่อนาซีมาตั้งแต่เล็ก ซึ่งมาในรูปแบบฮิตเลอร์ในจินตนาการที่คุยกับเขาตลอดเรื่อง ก่อนเขาจะเจอเข้ากับความลับที่ซ่อนอยู่ในบ้านของตัวเอง
แม้ว่าภาพหนัง เรื่องนี้จะมีความสดใสและมีอาร์ตดีไซน์กับคอสตูมที่เซอร์เรียล และบทที่หยอกล้อกับคนดูโดยตรง อาจจะเพราะมันถูกเล่าในมุมมองของเด็กคนหนึ่ง แต่นั่นคือความงดงามของมัน เพราะมุมมองของเด็กที่อยู่ใต้ความเชื่อเผด็จการมาทั้งชีวิตนั้นไม่ใช่มุมที่เราจะได้เห็นบ่อยนัก
และแม้ว่าหนังจะหยิบยื่นความเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดที่ง่ายกว่าที่เราจะสามารถทำได้ในชีวิตจริงให้แก่ผู้ชม เนื้อหาของเรื่องนอกจากจะบอกว่าการคุยกันให้เข้าใจในฐานะมนุษย์นั้นสำคัญ แต่เกี่ยวกับการเข้าใจคนผ่านสภาพแวดล้อมและการรับรู้ของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะกับเด็ก
Son of Saul : สวมรองเท้าของคนในค่ายกักกัน
ในตัวของมันเอง หนังเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องที่เรียบง่าย นั่นคือซอว์ ตัวละครเอกผู้เป็นยิวในค่ายกักกัน ทำงานเก็บของมีค่าออกจากศพยิวคนอื่นพร้อมทำความสะอาดห้องรมแก๊สหลังใช้เสร็จ เขาพบเด็กชายคนหนึ่งที่ใกล้เสียชีวิตในห้องนั้น และพยายามจะนำเด็กคนนั้นไปทำพิธีศพให้ได้ ต่างจากเรื่องอื่นที่พยายามเล่าเรื่องของอะไรสักอย่าง ทหาร สงคราม พลเรือน Son of Saul ถูกออกแบบมาเพื่อไม่ใช่เพื่อ ‘เล่า’ แต่เพื่อให้ผู้ชม ‘เป็น’ คนที่อยู่ในเหตุการณ์
“ประสบการณ์ของคนในค่ายวางอยู่บนฐานของข้อมูลที่จำกัด ไม่มีใครรู้หรือเคยเห็นมากขนาดนั้น เราจะสื่อสารมันออกมายังไง?” ลาซโล เนเมช ผู้กำกับกล่าว แต่เราเห็นคำตอบของเขาผ่านมุมกล้องที่แทบไม่ออกห่างจากตัวเอกทั้งเรื่อง สัดส่วนภาพที่เล็กแคบกว่าหนังทั่วไปมากโข และการใช้ลองเทคเล่าในการถ่ายทำสร้างความรู้สึกของการถูกจองจำและความอึดอัด ให้ใกล้เคียงกับความรู้สึกที่นักโทษในค่ายกักกัน Auschwitz รู้สึกมากที่สุด ฉะนั้นหนังไม่ได้ให้เราแค่ดูและเข้าใจว่าพวกเขากำลังเจออะไร แต่เล็งให้เกิดประสบการณ์และอารมณ์ร่วมไปกับตัวเอก แล้วทิ้งไว้ที่การตีความสิ่งที่รู้สึกนั้น
Waltz with Bashir : ราคาของสงครามที่ทหารและประชาชนเป็นผู้จ่าย
Waltz with Bashir เป็นภาพยนตร์สารคดีกึ่งเรื่องแต่งที่เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง แต่ตัวละครที่อยู่ในเรื่องนั้นมีจริงแต่ถูกปกปิดและเปลี่ยนแปลงชื่อ โดยเรื่องเล่าผ่านผู้กำกับชาวอิสราเอล อาริ โฟลแมน พยายามตามหาความทรงจำที่ขาดหายไปของเขาเมื่อตอนเขาเป็นทหารอายุ 19 ปีในเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ซาบราและชาทิลาเมื่อค.ศ. 1982 การตามหานี้พาเขาไปคุยกับอดีตทหารที่เคยอยู่กับเขาตลอดสงครามครั้งนั้น ยิ่งคุยกับคนมากขึ้นเท่าไรภาพความทรงจำของเขาค่อยๆ ประกอบร่างกลับขึ้นมาเป็นภาพใหญ่ขึ้นและชัดเจนขึ้น
แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะดำเนินเรื่องผ่านอนิเมชั่น ความโหดร้ายของเหตุการณ์ไม่ลดลงเลย นอกจากความทรงจำที่ถูกกดทับของอาริแล้ว ในเรื่องเรายังเห็นผลกระทบอื่นๆ ที่ทหารคนอื่นพบเจอ เช่น ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต PTSD ภาพหลอนและความฝันถึงสิ่งที่ตัวเองทำใหนสงครามทุกวันกว่ายี่สิบปี โดย Waltz with Bashir ใช้งานภาพอนิเมชั่นของตัวเองให้เป็นประโยชน์โดยวาดภาพเหล่านั้นอย่างชัดเจนจนขนลุกจากคำให้การของผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคน
“เขาว่ากันว่าในสงครามคุณมักไม่เห็นภาพใหญ่ ยิ่งเป็นคนใหญ่คนโตยิ่งแล้วใหญ่” โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าวในรีวิวภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่องราวที่ถูกเล่าจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความนิ่งนอนใจและความไม่ใยดีของผู้มีอำนาจ ต่อประชาชน และต่อทหาร
อ้างอิงข้อมูลจาก