สัปดาห์ที่ผ่านมา เราน่าจะได้เห็นข่าวที่ absurd กันเยอะแยะไปหมดเลยนะครับ
ข่าวที่หลายคนอาจรู้สึกว่าตลกขบขันปนเศร้า ก็คือเรื่องของลิงแสมบ้าง เรื่องของการตั้งข้อกล่าวหาเด็กอายุไม่กี่ขวบบ้าง, ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไปทำลายเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติ
ถ้าไม่ประสาทรับประทานกันจนเกินไป ใครๆก็คงรู้นะครับ-ว่าทั้งเด็กและทั้งสัตว์นั้น ถึงอย่างไรก็ไม่มี ‘เจตนา’ จะทำลายเอกสารเหล่านั้นด้วยเหตุผลทางการเมืองเพราะมีใครมาจ้างวานหลอกใช้ให้ทำหรอก (จ้างด้วยกล้วยหรือไง!) แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผมตีความเป็นอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลยนะครับ นอกจากรู้สึกว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้มี ‘ความกลัว’ บางอย่างฝังอยู่ในใจ
เป็นความกลัวตามแบบของคนที่อยู่ในลดหลั่นแห่งอำนาจนิยมเสียจนคุ้นชิน เป็นความกลัวของการยืนกุมเป้าต้อนรับ ‘อำนาจ’ ที่ไหลเทลงมาจากเบื้องบนตามแนวดิ่ง เป็นความกลัวของคนที่ถูกแส้แห่งอำนาจโบยตีจนหลังไหล่มีแต่แผลปูดโปนทั้งสดใหม่เก่าทรามของความจำยอม เป็นความกลัวแบบเดียวกับปศุสัตว์น่าสงสารจมูกถูกร้อยด้วยห่วงที่ยอมถูกเจ้าของลงปฏักอยู่เสมอเพื่อควบคุมให้อยู่ในอำนาจ
การจำยอมต่ออำนาจแบบนี้ ถ้าจำกัดการจำยอมอยู่เฉพาะตัวก็ไม่กระไรหรอกนะครับ ใครอยากจะเป็นไพร่ทาสอยู่ในอำนาจนิยมอย่างไรก็เป็นไปเถอะ ชอบกินข้าวจากกระทะใบบัวที่คนเจ้าของบ้านทำมาเลี้ยงกำลังพล ชอบบีบนวดท่านเจ้าคุณ ชอบแลบลิ้นเลียอำนาจนิยมอย่างไรก็ทำไป ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหาเลยสักนิด ถ้าหากว่ามันเป็นเรื่อง ‘เฉพาะตัว’
แต่ปัญหาก็คือ คนที่ค้อมหัวหลังไหล่ลีบให้กับอำนาจนิยมพวกนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะ ‘จำลอง’ รูปแบบลดหลั่นของอำนาจนิยม แล้วเอา ‘เศษอำนาจ’ ที่ตัวเองได้รับ มาฟาดโบยต่อกับคนที่ตัวเองคิดว่ามีอำนาจน้อยกว่า
บอกตรงๆ-นี่เป็นภาพที่น่าสังเวช!
น่าเศร้า ที่เราพบเห็นภาพแบบนี้ได้บ่อยครั้งเกินไปในสังคมไทย เช่นภาพการให้อภิสิทธิ์ต่อคนบางกลุ่มเหนือคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งแท้จริงควรจะเป็นคนรับใช้ประชาชนทั่วไป แต่คนเหล่านี้จำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกนะครับ) กลับใช้เศษอำนาจนั้นมาทำท่าเผยอผยองพองขนกดข่มคนอื่นที่โดยทั่วไปเป็นผู้จ่ายภาษีเลี้ยงดูตัวเอง
การค้อมหัวให้อำนาจนิยมแบบเป็นลำดับช้ันลดหลั่นกันไปราวกับน้ำตกไทรโยค-เลยมีผลทำให้สังคมนี้บิดเบี้ยวไปมา แถมยังยักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก จะก้าวไปเป็นสังคมสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยก็ไปไม่ได้ แต่จะไม่ไปหรือ-สันดานค้อมหัวต่ออำนาจนิยมก็ทำงานอีกชั้นหนึ่งให้หวาดกลัวต่ออำนาจของความสมัยใหม่และอำนาจตะวันตกตามสำนึก Provincialism ที่ผนึกแน่นอยู่ในกมล ทั้งที่ตัวเองชอบประกาศอยู่ปาวแล้วปาวเล่าว่าไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร การทำงานของลัทธิค้อมหัวให้อำนาจนิยมจึงซับซ้อนน่าเวียนหัว และส่งผลให้หลายคนตั้งคำถามว่า-จะเอายังไงแน่วะ, อยู่เสมอ เพราะเดี๋ยวก็อยากก้าวหน้า เดี๋ยวก็อยากย้อนยุค สรุปก็คือมักเกิดอาการก้าวหน้าอย่างย้อนยุคขึ้นมาบ่อยๆ
อำนาจนิยมลักลั่นแบบนี้ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคนระดับ ‘ชั้นผู้ใหญ่’ แค่ไหน บ่อยครั้งก็จะสำแดงอาการ ‘สลัดแอกไพร่ไม่หลุด’ ให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงบทความที่เคยเขียนเอาไว้ในเนชั่นสุดสัปดาห์เมื่อสองปีก่อน ว่าด้วยเหตุการณ์ในสหราชอาณาจักร ที่มีการถกเถียงกันว่าคนอังกฤษนั้นมีความเป็น Subject หรือเป็น Citizen มากกว่ากัน
บอกกันไว้ตั้งแต่ตรงนี้นะครับ ว่าสิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมดัดแปลงมาจากบทความเก่าบทความนั้น เพราะไม่รู้ว่าจะเขียนใหม่ทั้งหมดอีกทำไม จะบอกว่าเป็น Self-Plagiarized ก็คงไม่ผิดนะครับ
ก่อนอื่น ต้องบอกเสียก่อนว่าผมจะไม่แปลคำว่า Subject กับ Citizen เป็นภาษาไทย (แม้ว่าจะอธิบายแนวคิดของสองคำนี้) เพราะหากแปลออกมา อาจมีการนำ ‘ต้นทุน’ ทางสัญญะที่มีต่อคำนั้นๆ มาสร้าง ‘ความหมาย’ บางอย่างใน ‘ภาษาไทย’ ให้กับแต่ละคำ-จนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความต้องการจะสื่อสารได้ (เช่น ไม่อยากแปล Citizen ว่า ‘พลเมือง’ หรือแปล Subject ว่า ‘อาณาประชาราษฎร์’ เป็นต้น) ทั้งนี้ก็เพราะเรื่องที่อยากจะเล่าให้ฟังนั้น มี ‘ราก’ มาจากเรื่องทางการเมืองของคนตะวันตก (โดยเฉพาะอังกฤษและอเมริกา) แต่อยากให้สองคำนี้เป็นกระจกที่จะ ‘สะท้อน’ ส่องดูสำนึก สันหลัง และตัวตนอันถ่องแท้ของเรา เพราะฉะนั้นจึงจะใช้คำว่า Subject กับ Citizen ไปจนตลอดบทความนี้
เรื่อง Subject กับ Citizen เป็นปัญหาของคนอังกฤษมานานแล้ว พวกเขาถามว่าตัวเองเป็น Subject หรือเป็น Citizen กันแน่ เพราะแม้จะมีการยกเลิกการใช้คำว่า British Subject อย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ปี 1983 แต่กระนั้นก็ยังมีคำถามตกค้างเหลืออยู่ ‘ในสำนึก’ ของคนอีกไม่น้อย ว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่
ในปี 2005 เคยมีบทความของ BBC ที่ตั้งชื่อตรงไปตรงมาว่า Are we subjects or citizens? บทความนี้พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ โดยบอกว่าถ้าให้ตอบแบบสั้นๆ ก็ต้องบอกว่าคนอังกฤษนั้น ‘ยัง’ เป็นทั้งสองอย่าง ขึ้นอยู่กับแต่ละคน
ว่าแต่อะไรคือ Subject และอะไรคือ Citizen กันแน่?
ถ้าดูคำว่า Subject เราจะพบว่ามักหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของ ‘อำนาจ’ บางอย่างที่ใหญ่โต เช่นในบริบทอังกฤษ British Subject หมายถึงคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อังกฤษ (Dominion of British Monarchy) เช่นคนจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่เกิดก่อนปี 1949 หรือกลุ่มคนที่เคยอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษมาก่อน แต่พอประเทศนั้นๆประกาศอิสรภาพ คนเหล่านี้ไม่อยากเป็น Citizen ของประเทศนั้นๆ ยังอยากเป็น ‘คนของพระราชินี’ อยู่ จึงมีสถานะเป็น Subject ของอังกฤษ ไม่ใช่ Citizen แต่สถานภาพนี้จำกัดอยู่เฉพาะตัว ไม่สามารถส่งผ่านไปให้ลูกหลานได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติ British Subject จึงเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่รอวันหมดไปเมื่อคนที่เป็น Subject นั้นเสียชีวิตลง เพราะว่า Subject นั้นถือว่าหมดไปแล้วในปี 1983 ซึ่งมีการยกเลิกสถานะนี้ไปอย่างเป็นทางการ
บทความของ BBC ชิ้นดังกล่าวอธิบายว่า Citizen ไม่เหมือน Subject เพราะ Citizen คือคนที่มี ‘สิทธิ’ ต่างๆ และ ‘ตระหนัก’ ถึง ‘สิทธิ’ ต่างๆ ของตน อันจะเป็นรากฐานให้กับการกำหนด ‘หน้าที่’ ขึ้นมาภายหลัง ในขณะที่ Subject คือคนที่ต้อง ‘ทำ’ ในสิ่งที่ ‘ถูกบอก’ ว่าให้ทำ ดังนั้นในอีกนัยหนึ่ง Subject จึงเป็นคนที่มี ‘หน้าที่’ ตามที่ถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่า แต่ไม่ได้มีสำนึกในเรื่อง ‘สิทธิ’ ของตัวเองมาเป็นเบื้องต้น แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่า British Subject จะมีสิทธิหรือเสรีภาพที่ต่ำต้อยกว่า Citizen ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะอังกฤษเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
พูดให้เข้าใจง่ายๆ Subject ไม่ใช่ทาส แต่หากเทียบกันกับสังคมไทยโบราณ ก็อาจเข้าข่าย ‘ไพร่’ ได้นั่นแหละครับ!
ทีนี้ถ้าหันมาดูในฝั่งอเมริกาบ้าง ในปี 2010 เคยมีข่าวหนึ่งเรื่องความ ‘ประหลาดใจ’ ของคนอเมริกันเกี่ยวกับคำประกาศอิสรภาพของโธมัส เจฟเฟอร์สัน เพราะมีการค้นพบว่า ในคำประกาศอิสรภาพที่ร่างโดยโธมัส เจฟเฟอร์สัน นั้น เดิมทีไม่ได้ใช้คำว่า Citizen เรียกคนอเมริกัน มีการใช้คำอื่นมาก่อน คนอเมริกันทั่วไปคิดว่าอาจเป็นคำว่า Resident (ผู้อยู่อาศัย) หรือ Patriot (ผู้รักชาติ) แต่ปรากฏว่าหอสมุดรัฐสภา (Library of Congress) แห่งสหรัฐอเมริกา ออกมายืนยันว่าไม่ใช่ เจฟเฟอร์สันเคยใช้คำว่า Subject ต่างหากเล่า
เรื่องนี้ทำให้คนอเมริกันถึงกับ ‘อึ้ง’ มาก เพราะคำว่า Subject นั้น เป็นคำของอังกฤษ (ที่อเมริกาต่อสู้ปลดแอกมา) การใช้คำว่า Subject บ่งเป็น ‘นัย’ ว่าคนอเมริกันจะต้องตกอยู่ใต้อาณัติของรัฐบาลในแบบเดียวกันกับที่คนอังกฤษอยู่ใต้อาณัติของราชวงศ์ ซึ่งขัดแย้งกับปรัชญาของคำประกาศอิสรภาพที่ยืนยันถึงความเสมอภาค ดังนั้นในภายหลังจึงต้องเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Citizen เพื่อให้ ‘นัย’ ของคำนั้นสอดรับกับปรัชญาของประเทศ
จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ อย่าง (ที่จะใช้คำว่า) ‘สมบูรณ์’ (ก็ได้) นั้น, ผู้คนในประเทศจะต้องมีลักษณะที่เป็น Citizen (หรือเป็น People ที่ตระหนักถึง Citizenship ของตัวเอง) มากกว่าเป็นแค่ Subject ที่ไม่มีสำนึกทางการเมืองเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของตัวเอง
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าในโลกปัจจุบัน คำว่า Subject มีความหมายซับซ้อนกว่าเดิมมาก เพราะแม้ในด้านหนึ่ง ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะพยายามสร้างความเป็น Citizen ให้ผู้คน แต่ก็มีความพยายามจากหลากหลายวิธีคิดเช่นกัน ที่จะพยายามทำให้ผู้คนเป็น Subject อยู่ เช่น 1) ด้วยการพยายาม ‘รักษา’ ความเป็น Subject ของผู้คนเอาไว้กับวิถีความคิดแบบเก่าๆ เดิมๆ เพราะเชื่อว่าคนที่เป็น Subject นั้น ย่อม ‘ถูกปกครอง’ ได้ง่ายกว่าพวก Citizen ที่มีความคิดความเชื่อของตัวเองอันหลากหลาย หรือ 2) ด้วยการหาวิธีมา ‘ลวง’ คนที่คิดว่าตัวเองเป็น Citizen เพื่อให้คนเหล่านั้นถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ (โดยไม่รู้ตัว) จนในความเป็นจริงแล้วก็เป็นได้แค่ Subject ที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรอยู่ในมืออย่างแท้จริงแต่คิดว่าตัวเองมี ชีวิตถูกพัดพาไปตามแต่กระแสการตกลงร่วมมือกันของ Elite หรือผู้มีอำนาจกลุ่มต่างๆ หรือแม้กระทั่งนโยบายประชานิยมบางอย่างที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง
ผมคิดว่า-สังคมไทยมีทั้งข้อ 1) และ 2) อยู่ครบถ้วนบริบูรณ์เชียวแหละครับ!
ในบทความของ BBC ข้างต้นนั้น ได้นำความเห็นของคนอังกฤษทั่วไปเกี่ยวกับ Subject และ Citizen มาตีพิมพ์ประกอบด้วย เราจะพบว่าต่อให้เป็นยุคปี 2005 ในบทความ ก็ยังมีหลายคนที่คิดว่าตัวเองเป็น Subject และมีอีกไม่น้อยที่เห็นว่าตัวเองเป็น Citizen
คนหนึ่งคือ Fraser Irving ซึ่งอาศัยอยู่ในเชฟฟิลด์ บอกว่า “ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ผมเป็น Subject ไม่ใช่ Citizen ผมลองนึกถึงฉากหนึ่งซึ่งอาจเป็นไปได้ หากผมและพระราชินีติดอยู่ในบังเกอร์ร่วมกันหลังเกิดสงครามนิวเคลียร์ แล้วพระราชินีทรงยืนยันว่า พระองค์มีเนื้อกระป๋องอยู่กระป๋องเดียวซึ่งจะเก็บไว้สำหรับพระองค์เอง หากผมไม่เชื่อฟัง ในฐานะที่เป็น Subject ผมก็คงเป็นกบฏ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าพระองค์คงไม่ไร้เหตุผลจนไม่แบ่งเนื้อให้ผมกินบ้างหรอก การคิดแบบนี้ทำให้ผมเป็น Citizen หรือเปล่าครับ หรือว่าเป็น Subject ที่เนรคุณ”
อีกคนหนึ่งชื่อ Andrew Beacham (ไม่ได้บอกว่ามาจากเมืองไหน) ให้ความเห็นไว้ว่า “ผมมีปัญหากับการมองว่าตัวเองเป็น Subject ของพระราชินีนะครับ แม้ว่าผมจะชื่นชอบการปกครองในระบอบกษัตริย์ก็ตาม แต่ผมดีใจที่ได้ออกเสียงเลือกตั้งรัฐบาลของตัวเอง และดีใจด้วยที่มีเสรีภาพในการพูด”
ผมคิดว่า ถ้าเราอยากเป็นประชาธิปไตย ‘ที่สมบูรณ์’ ดังที่ทุกฝ่ายกล่าวอ้างกัน (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน) สิ่งแรกที่เราต้องทำ ก็คือการสร้างความเป็น Citizen ที่แท้จริงขึ้นมาแทนที่การเป็น Subject ให้ได้เสียก่อน นี่ไม่ใช่การ ‘ตามก้น’ อังกฤษและอเมริกา ถ้าจะเป็นการตามก้นอะไร ก็คงเป็นการตามก้นหลักการ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่คำว่า Subject นั้นซับซ้อนมากขึ้นกว่าสมัยก่อนมากๆ ทำให้คำว่า Subject ไม่ได้หมายถึงคนไร้การศึกษาเท่านั้น แต่มันหมายถึง ‘สำนึก’ ลึกๆ อยู่ข้างในของ ‘คน’ ว่าตัวเอง ‘สยบยอม’ ต่ออำนาจนิยมมากน้อยแค่ไหน โดยอำนาจนิยมที่ว่าก็เปลี่ยนรูปให้ซับซ้อนขึ้นด้วยจนคนจำนวนมากแทบไม่รู้ตัวว่าตัวเองถูกลดรูปเหลือแค่ Subject ในโครงสร้างอำนาจแบบที่ถูกกดมา แล้วก็เอาเศษอำนาจที่พอจะได้รับมาบ้างไปกดคนอื่นอีกต่อหนึ่ง
พวกที่ ‘คิด’ ว่าตัวเองมีการศึกษา มีคุณธรรมความดีเหนือคนอื่น เป็นคน ‘ชั้นผู้ใหญ่’ นี่แหละครับตัวดี เพราะที่จริงอาจเป็น Subject ได้ง่ายๆ โดยไม่รู้ตัว และอาจมีความพยายามทำให้คนอื่นเป็น Subject ตามตัวไปด้วย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ความเป็น Subject ที่ ‘สลัดแอกไพร่ไม่หลุด’ ทำให้เราเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่ง (เน้นย้ำว่าไม่ใช่ทั้งหมด) มีพฤติกรรมเป็นที่น่าหาวเรอของประชาชนเป็นอันมาก เพราะนอกจากคนเหล่านี้จะทำตัวเป็น Subject แล้ว ยังคิดว่าประชาชนทั่วไปก็ต้องทำตัวเป็น Subject เหมือนตัวเองด้วย
โปรดอย่าลืมนะครับว่า Citizen ที่แท้จริง จะยอมรับ Subject ในตัวคนอื่นได้ แต่ Subject นั้นมักจะยอมรับ Citizen ไม่ได้-แม้กระทั่งความเป็น Citizen ในตัวเอง!
เอาเข้าจริง อาการกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะตั้งข้อหาลิงแสมหรือเด็กนั้น ลึกๆแล้วมันแสดงให้เห็นอาการ ‘กลัว’ ในระดับ ‘ลนลาน’ ต่ออำนาจที่ตวาดแว้ดๆ ใส่หัวหูมากกว่าจะเป็นการอยากสำแดงอำนาจของตัวเองออกมาด้วยซ้ำ คนเหล่านี้จึงน่าสงสาร เพราะตกอยู่ในภาวะ ‘จำยอม’ ร่วมตกบันไดพลอยโจนเป็นผู้สร้างความ Absurd ต่างๆนานาออกมาให้ชาวโลกได้เห็น
ความ Absurd ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา (และเชื่อว่าจะเกิดเรื่องพิลึกพิลั่นเหล่านี้ขึ้นได้อีกในอนาคต) จึงเป็น ‘อาการ’ ที่น่าชวนเราย้อนกลับไปดูว่า ต้นเหตุแห่ง ‘โรค’ ทั้งหลายที่เราเป็นอยู่นั้นมันคืออะไรกันแน่ สังคมไทยจึงน่าจะย้อนกลับมา ‘ตรวจสอบ’ ตัวของเราเองให้ถ่องแท้และสม่ำเสมอ ว่าในยุคที่เรียกว่า ‘ศตวรรษที่ 21’ นี้ ตัวเราเองนั้นเป็น Citizen ที่มีสำนึกของความเป็นประชาชนที่แท้จริง-หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว, เรายังเป็นแค่ Subject ที่นั่งสันหลังงุ้มงอรอให้อำนาจใหญ่ๆมาโปรดพร้อมกับใช้เศษอำนาจของตัวเองกดคนที่คิดว่าต่ำกว่าเราลงไปเป็นชั้นๆกันแน่
เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง ก็น่าเสียใจนะครับที่จะต้องบอกว่า-เรายังสลัดแอกไพร่กันไม่หลุด!