“เดือนที่ผ่านมา คุณจ่ายค่าไฟล่าช้า โดนหัก 5 คะแนน ข้ามถนนตอนไฟจราจรคนข้ามเป็นสีแดง โดนหัก 10 คะแนน โพสต์คำหยาบคายบนโซเชียลออนไลน์ โดนหักอีก 20 คะแนน คะแนนความประพฤติทางสังคมของคุณตอนนี้เหลือ 354 คะแนนค่ะ”
จะเป็นอย่างไรถ้าทุกๆ การกระทำของคุณถูกจับตามอง ? ข้อมูลและการกระทำถูกตีเป็นคะแนน ? หรือความผิดพลาดเล็กน้อยก็มีผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งระบบแบบนี้ ที่เคยจินตนาการภาพ หรือเห็นในหนังกำลังจะเกิดขึ้นจริง โดยมีจีนแผ่นดินใหญ่เป็นผู้ริเริ่ม และวางแผนจะใช้ระบบ Social Credit หรือคะแนนทางสังคมที่จะใช้จริงทั่วประเทศในปี 2020
เมื่อ Big data เชื่อมต่อกันโดยทั่ว และระบบเริ่มใช้จริง คงสั่นคลอนพฤติกรรมของประชาชน และระบบการปกครองไปไม่น้อย แต่คำถามคือ มันจะเปลี่ยนสังคมจีนอย่างไร เปลี่ยนในระยาวไหม และการเป็นคนดีที่ได้คะแนนในเกณฑ์ดี จะได้สิทธิพิเศษอะไร แล้วถ้าคะแนนลด ตกต่ำไม่ถึงเกณฑ์จะถูกลงโทษไหม
Social Credit และการสอดส่องจับตานี้มีมาแต่โบราณ
ระบบการให้คะแนน นับแต้ม หรือสอดส่องประชาชนอาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ แต่สำหรับประเทศจีน ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นศูนย์กลาง เหมือนพี่ใหญ่ที่คอยควบคุมทั้งประเทศนั้น กลับมีการทดลองและคิดหาระบบที่จะควบคุมสังคมในวิธีต่างๆ มาตั้งแต่ปี 1949 ที่พรรคเข้ามามีอำนาจ ทั้งเมื่อย้อนไปในสมัยราชวงศ์ซ่ง ในศตวรรษที่ 11 ก็มีระบบการให้ประชาชนควบคุมกันเอง ที่ให้ประชาชนจับกลุ่มในครัวเรือนย่อยๆ 5-25 คน จับตาดูพฤติกรรมกันและกัน รวมถึงมีอำนาจในการจับกุมเมื่อมีคนกระทำผิด
ระบบการสอดส่องกันและกันในจีน พัฒนาเรื่อยมาตามสถานการณ์การเมือง และสังคมที่เปลี่ยนแปลง ในยุคของ ปธน. เหมา เจ๋อตง ก็มีระบบคอมมูน เก็บเกี่ยวผลผลิต ที่ประชาชนอยู่กันเป็นกลุ่ม หรือที่เรียกว่า Danwei ปกครอง แบ่งทรัพยากร อาศัย สอดส่องกันในกลุ่ม และจะถูกจัดอันดับจากสถานะและจุดยืนทางการเมืองที่ ‘ดี’ และ ‘เลว’

cio.com.au
และในยุคที่อินเทอร์เน็ต และข้อมูลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในทศวรรษ 1990 รัฐบาลจีนเริ่มมีโปรเจ็กต์ที่ให้ข้อมูลของสำนักงานความมั่นคงสาธารณะทั่วประเทศทำงานบนระบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพและการควบคุม ซึ่งพัฒนาเรื่อยมาก และมีการก่อตั้งศูนย์วิจัยเครดิต ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในช่วงศตวรรษ 20 ที่ให้นักวิจัยได้คิดและออกแบบระบบคะแนนทางสังคมที่จะปรับใช้จริงในประเทศ ด้วยสโลแกนของระบบคะแนนทางสังคมว่า
‘อนุญาตให้คนที่เชื่อถือได้เดินทางไปทั่วใต้ท้องฟ้าและเป็นเรื่องยากของคนที่ไม่น่าเชื่อที่จะเริ่มต้นแม้แต่ขั้นตอนเดียว’
คะแนนมาจากไหน นับจากอะไร อยู่ในเกณฑ์ดีได้ เสียอะไรบ้าง ?
สิ่งที่เป็นคำถามมากที่สุดเกี่ยวกับระบบนี้ คงเป็นเรื่องระบบคะแนน ว่าตัดสินจากอะไร มีเกณฑ์คะแนนอย่างไร ซึ่งแม้จะยังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการออกมาแน่นอน แต่ก็มีการเปิดเผยถึงระบบในระดับหนึ่ง ว่ารัฐบาลจะเก็บข้อมูลพฤติกรรมของประชาชน และแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านการใช้จ่าย เช่น การจ่ายภาษี ชำระหนี้ จ่ายค่าบัตรเครดิต หรือการจ่ายค่าปรับ ฯลฯ
- ด้านสังคม เช่น การปฏิบัติตามกฎจราจร ประวัติอาชญากรรม จ่ายค่าขนส่งสาธารณะ ความกตัญญู หรือการเป็นอาสาสมัครในสังคม ฯลฯ
- ด้านออนไลน์ เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในโลกออนไลน์ การโพสต์ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์
ดังนั้นระบบเครดิตทางสังคมจึงจะไม่เก็บเพียงแค่ข้อมูลส่วนตัวของบุคคล แต่จะร่วมมือกับบริษัท E-Commerce อย่าง Alibaba ที่ได้เริ่มมีระบบเครดิตของตัวเอง ที่ชื่อว่า Sesame Credit ก่อนแล้วด้วย รวมถึงธุรกิจอื่นๆ อีก 7 แห่งที่ให้ข้อมูลและรวบรวมเป็น Big data ที่วิเคราะห์และแสดงผลของผู้บริโภค โดย Joe Tsai ผู้บริหารของ Alibaba ก็เคยกล่าวไว้ถึงการสร้างโปรไฟล์ออนไลน์ของคนหนุ่มสาวว่า “เราต้องการให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องนี้ เพื่อให้พวกเขามีความประพฤติที่ดีขึ้น”

The Wall Street Journal
รัฐจะนำข้อมูลของเอกชนรวมเข้าด้วยกัน ตัดสินพฤติกรรมต่างๆ ออกมาเป็นคะแนน รวมถึงเพิ่มและหักลบตามการกระทำ และแบ่งเกณฑ์ว่าคุณเป็นคนดีในเลเวลไหน ทั้งจากการนำร่องทดลอง ระบบนี้จะมีการให้คะแนนในเกณฑ์ A+++ ไปจนถึง D โดยมีรายงานว่าการทำความผิดร้ายแรงครั้งเดียว เช่น การเมาแล้วขับ อาจทำให้คะแนนที่ดีลดลงมากลายเป็นเกรด C ได้ในครั้งเดียวด้วย
เกณฑ์คะแนนนี้ ก็ย่อมมีผลต่อการใช้ชีวิต และเข้าถึงสิทธิต่างๆ โดยคนที่มีคะแนนในเกณฑ์ ‘คนดี’ ก็จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การได้รับทุนการศึกษา เข้าถึงบริการทางสังคม ประกันสังคมระดับพรีเมี่ยม เครื่องบินหรือรถไฟความเร็วสูง อินเทอร์เน็ต หรือบริการยิบย่อย เช่น ลดราคาเครื่องทำความร้อนในฤดูหนาว หรือเช่าจักรยานฟรีแบบไม่ต้องจ่ายเงิน ในทางตรงกันข้ามผู้ที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ หรือมีประวัติในบัญชีดำ ก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงบริการบางอย่างจากธนาคาร หรือ จากระบบราชการได้
เมืองนำร่อง และตัวอย่างของระบบคะแนนทางสังคม
แม้จะประกาศว่าจะเริ่มระบบนี้ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการในปี 2020 แต่อย่างที่เล่าไปแล้วว่าพรรคคอมมิวนิสต์ได้หาวิธี ทดสอบการควบคุมประชาชนมาโดยตลอด
ในปี 2010 เมืองชุ่ยหนิงในมณฑลเจียงซู ได้เปิดตัวโครงการนำร่อง โดยมีหลักเกณฑ์สอดส่องประชาชนเช่น ระดับการศึกษา พฤติกรรมในโลกออนไลน์ และการปฏิบัติตามกฎจราจร ประชาชนจะได้รับคะแนนเมื่อดูแลสมาชิกครอบครัวที่สูงอายุ หรือช่วยคนยากจน แต่จะถูกหักคะแนนเมื่อทำผิดกฎจราจรเล็กน้อย หรือทำผิดกฎหมายอื่นๆ ซึ่งสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่มีคะแนนสูงคือจะได้การเลื่อนขั้นในตำแหน่งหน้าที่การงาน เข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนชั้นนำ ในขณะที่ผู้มีคะแนนน้อยจะถูกจำกัดใบอนุญาต และการเข้าถึงบริการสังคมต่างๆ
สุดท้ายโครงการนี้ก็ล้มเหลว และถูกยกเลิกไป เพราะการคิดคะแนนจาก Data นั้นกระท่อนกระแท่น ไม่สม่ำเสมอ ขณะที่สำนักข่าว China Youth Daily ได้วิจารณ์ระบบนี้ว่าเป็นการใช้ Data ทางการเมือง เพราะแทนที่ประชาชนจะเป็นคนให้คะแนนข้าราชการและรัฐบาล กลับกลายเป็นประชาชนที่ถูกรัฐบาลให้คะแนน ด้านสำนักข่าว Beijing Times เปรียบเทียบระบบนี้ว่า เหมือนโครงการใบรับรอง ‘พลเมืองดี’ ที่ออกโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จีนถูกยึดครอง
แม้จะล้มเหลว ไม่บรรลุผล แต่รัฐบาลจีนก็ไม่ยอมแพ้ ยังประกาศใช้โครงการนำร่องกับอีก 30 เมืองท้องถิ่นในช่วงปี 2013 และเมืองที่มีที่ท่าว่าประสบความสำเร็จมาที่สุด คือเมืองหยงเฉิง ในมณฑลซานตง ซึ่งเป็นเมืองที่มีประมาณ 5,100 ครัวเรือน แต่มีการแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 300 ครัวเรือนดูแลบริหารกันและกัน และระบบเครดิตของเมืองนั้นมีขั้นตอนไม่มาก มีการเพิ่มการลงโทษในการเผยแพร่ศาสนาอย่างผิดกฎหมาย การละทิ้งสมาชิกในครอบครัว และการทำให้คนอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียงในโลกออนไลน์
มีข้อมูลว่า 90% ของเมืองนี้มีคะแนนอยู่ในระดับ A และคนที่ได้คะแนนดีหรือมีผลงานโดดเด่นก็จะได้รับการยกย่องในป้ายกระดานของเมือง ส่วนผู้ที่มีคะแนนน้อยก็จะมีรายชื่อเช่นกัน

foreignpolicy
สิ่งที่ทำให้ระบบเครดิตใช้ได้สำเร็จกับเมืองนี้ นักสังคมวิทยา Zhang Lifan ได้วิเคราะห์ไว้ว่า เพราะประชาชนในเมืองปรับการกระทำมาใช้กับชีวิตประจำวัน พวกเขาไม่ได้ทำเพราะรัฐบาลบังคับ หรือร้องขอ ซึ่งสอดคล้องชาวบ้านที่เล่าว่า ระบบนี้ ‘ทำให้’ พวกเขาประพฤติตัวดีขึ้นทุกๆ วัน พวกเขาทำตามระเบียบเพราะเคยชิน และไม่ได้รู้สึกว่าต้องกังวลเรื่องการโดนหักคะแนน
ซึ่งแม้ระบบนี้จะเกี่ยวโยงกับการสร้างวินัย และการทำความดีในสังคม แต่สุดท้ายมันก็เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและระบบของพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย นอกจากระบบให้คะแนนแล้ว ทางการยังมีการทำลิสต์รายชื่อ ‘Red list’ ของผู้เป็นตัวอย่างต้นแบบ ที่จะเชิดชูคนทำดี และในทางตรงข้ามก็มีรายชื่อ ‘Gray list’ ของบุคคลที่ประพฤติไม่ดี เช่นทำผิดกฎหมาย ทิ้งขยะจากหน้าต่างลงมาในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงว่านักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลจีน ก็อาจถูกนำชื่อมาอยู่ในลิสต์นี้ได้โดยง่าย และแม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดระบบใช้จริง แต่ก็มีคนที่เคยถูกจำกัดสิทธิต่างๆ แล้วเช่นกัน
Liu Hu นักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เคยถูกฟ้องจากการรายงานข่าว ในปี 2013 ซึ่งในตอนนั้นเขาแพ้คดี และต้องจ่ายค่าปรับให้กับผู้เสียหาย ซึ่งภายหลังต่อมาเขาพบว่าคดีนั้นมีผลให้เขาติดในรายชื่อบัญชีดำของศาลสูงสุดและไม่สามารถจองตั๋วเครื่องบินได้ด้วย เพราะความผิดพลาดในการจ่ายค่าปรับให้ผิดบัญชีธนาคาร แม้เขาจะพยายามแก้ไขปัญหา ติดต่อกับศาล และสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินได้อีกครั้ง แต่เหมือนกับว่าชื่อของเขาก็ไม่สามารถถูกลบออกจากบัญชีดำได้
ส่วนในไทย แม้อาจจะยังไปไม่ถึงระบบโซเชียลเครดิต ช่วงหลังมานี้ ก็มีการสังเกตว่า นักเคลื่อนไหวหลายคนถูกสอดส่องและจับตาจากรัฐ รวมถึงมีการนับแต้มให้คะแนนพฤติกรรมกับคนที่ถูกจับตามอง จนเริ่มมีความกลัวกันว่า รัฐอาจเพิ่มความเข้มข้นในวิธีการเช่นนี้ในอนาคตรึเปล่า
อ้างอิงจาก
Life Inside China’s Social Credit Laboratory