เนื่องในวาระของฤดูกาลแห่งความรัก วาเลนไทน์วันนี้ เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของงานศิลปะ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักแบบตรงไปตรงมาตามตัวอักษร นั่นก็คือผลงานที่มีชื่อว่า ‘LOVE’ ของหนึ่งในศิลปินที่โดดเด่นที่สุดในวงการศิลปะอเมริกันนับแต่ปี 1960 ผู้เป็นหัวหอกของพัฒนาการศิลปะแนว แอสเซมบลาจ*, ฮาร์ด-เอดจ์ เพนต์ติ้ง**, และป๊อบอาร์ต (Pop art) อย่าง โรเบิร์ต อินเดียนา (Robert Indiana) นั่นเอง
อินเดียนาสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวที่สำรวจตัวตนของชาวอเมริกัน, ประวัติศาสตร์ส่วนตัว, พลังของนามธรรมและภาษา จนกลายเป็นมรดกอันสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปินร่วมสมัยรุ่นหลังๆ ที่ทำงานด้วยการใช้ถ้อยคำเป็นองค์ประกอบในศิลปะ โดยเขามักจะใช้ภาพศิลปะเชิงพาณิชย์ มาผนวกกับแนวคิดเชิงปรัชญา ซึ่งเขานิยามผลงานของตัวเองว่าเป็น ‘ประติมากรรมบทกวี’ (Sculptural Poems)
ผลงานของเขามักจะแสดงออกถึงภาพพจน์ที่ชัดเจน เรียบง่าย โดยมักจะประกอบด้วยรูปภาพของสิ่งที่เรียบง่าย ทรงพลัง และมีความเป็นสัญลักษณ์อย่าง ‘ตัวเลข’ (ซึ่งเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่าง หมายเลขถนน เลขที่บ้าน หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์ของวัฏจักรชีวิต โดยเขามองเลข 1 เป็นตัวแทนของการเกิด ที่ค่อยๆ ไล่เรียงไปจนถึงเลข 0 ที่เป็นตัวแทนของความตาย)
หรือถ้อยคำสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งอย่าง EAT, HUG, DIE, PEACE โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเขาอย่าง ‘LOVE’ ที่ประกอบด้วยพยัญชนะ LO (ที่ตัว O เอียงทำมุม 45 องศา) วางอยู่บน พยัญชนะ VE การจัดวางตัวเลขและตัวอักษรเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการวางองค์ประกอบและคู่สีอันโดดเด่นลงตัวแบบเดียวกับงานดีไซน์ และงานโฆษณา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นในแนวทางศิลปะของเขา
โรเบิร์ต ครีลีย์ (Robert Creeley) กวีและนักเขียนชาวอเมริกันกล่าวถึง โรเบิร์ต อินเดียนา ว่า “อินเดียนาทำให้รูปลักษณ์ของความเป็นอเมริกันอันเรียบง่าย กลายเป็นสุ้มเสียงเปี่ยมสีสันสดใส และกระตุ้นเร้าความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีใครทำได้ในยุคสมัยของเขา เขาใช้ภาพของภาษาและตัวเลขเพื่อสะท้อนแบบอย่างของอารมณ์มนุษย์อย่างไม่รู้จบ และทำให้คำว่า ‘รัก’ กลายเป็นภาษาสากลอันทรงพลังเหนือกาลเวลา และแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
แรกเริ่มเดิมที ผลงาน LOVE ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นการ์ดอวยพรวันคริสต์มาสของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ในปี 1964 ประจวบกับในช่วงนั้นเป็นเวลาที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามเวียดนามพอดี ดังนั้น ผลงานศิลปะที่ประกอบขึ้นจากประโยคสั้นๆ อย่าง ‘LOVE’ ที่แปลว่า ‘รัก’ คำนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและการต่อต้านสงครามไปในที่สุด
หลังจากนั้นไม่นาน ผลงานศิลปะแห่งถ้อยคำรักชิ้นนี้ ก็ถูกทำขึ้นเป็นงานจิตรกรรม และงานประติมากรรมในภายหลัง โดยตัวอักษรคำว่า LOVE แบนๆ ที่ว่านี้ ก็ถูกดึงหน้าตัดให้ยึดยาวออกมาเป็นรูปทรง 3 มิติ กลายเป็นผลงานประติมากรรม LOVE ที่ถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรกในพิพิธภัณฑ์ศิลปะอินเดียนาโปลิส ณ บ้านเกิดของเขา ในปี 1970
“ที่คำว่า ‘รัก’ เป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ เพราะผมมีความหลงใหลในความสมมาตรและการแบ่งสิ่งต่างๆ ออกมาเท่าๆ กัน ตัวอักษร 4 ตัวดูเหมาะลงตัวในรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้วยสีแดง ฟ้า และเขียว ที่ทำปฏิกิริยาในดวงตาอย่างเป็นธรรมชาติ และในทางกลับกันมันก็แทบจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสายตาอีกด้วย”
โรเบิร์ต อินเดียนากล่าวถึงผลงานศิลปะแห่งถ้อยคำ ‘รัก’ ของเขา
ในปี 1977 อินเดียนาทำประติมากรรม LOVE เวอร์ชั่นภาษาฮิบรู ที่ประกอบด้วยตัวอักษรสี่ตัว אהבה (อ่านว่า “AHAVA” ซึ่งแปลว่า LOVE ในภาษาฮิบรู) เพื่อติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสราเอล ที่กรุงเยรูซาเลม รวมถึงคำว่า HOPE (ความหวัง) อีกด้วย
ประติมากรรม LOVE ของอินเดียนา ถูกทำขึ้นติดตั้งในหลายต่อหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา และถูกสร้างใหม่ในหลากเวอร์ชั่น จนเป็นที่นิยมแพร่หลายไปปรากฏในหลายประเทศทั่วโลกในเวลาต่อมา รวมถึงในบ้านเราด้วย (ใครอยากเห็นผลงาน LOVE ชิ้นนี้ตัวจริงเสียงจริง ก็สามารถไปชมกันได้ที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ชั้น G กันได้ตามสะดวก) และถูกผลิตเป็นสินค้ามากมาย เช่น แสตมป์ ที่ทับกระดาษ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะป๊อบอาร์ตที่โด่งดังที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
ถึงแม้ว่าผลงาน LOVE จะทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีผลงานปรากฏในทั่วโลก แต่ตัวอินเดียนาเองก็มีความรู้สึกทั้งรักทั้งชังผลงานนี้ของเขาไปพร้อมๆ กัน เพราะเขาเองก็ไม่ปลื้มที่งานชิ้นนี้โด่งดังเสียจนกลบผลงานชิ้นอื่นๆ ที่เขาทำไปจนหมด
“ผลงานชิ้นนี้เป็นไอเดียที่น่ามหัศจรรย์ แต่มันก็เป็นข้อผิดพลาดอันใหญ่หลวงของผม เหตุเพราะมันโด่งดังมากเกินไป แล้วก็มีบางคนที่ไม่ชอบความโด่งดังขนาดนี้ สำหรับผม ความเป็นส่วนตัวและสันโดษนั้นดีกว่ากันเยอะ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงมาอยู่ในเกาะนอกชายฝั่งที่ห่างไกลของรัฐเมนน่ะนะ”
แต่อย่างไรก็ดี ผลงานชุดนี้ของเขาก็หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมสมัยนิยมอย่างกลมกลืน จนเป็นที่นิยมไปทั่วทุกหนแห่ง และกลายเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลก ผลงาน LOVE ของ โรเบิร์ต อินเดียนา แสดงให้เราเห็นว่า ถ้อยคำสั้นๆ ง่ายๆ คำนี้ ก็สามารถกลายเป็นผลงานศิลปะที่เปี่ยมความหมายยืนยงคงทนเหนือกาลเวลา เช่นเดียวกับความรักแท้ที่เราต่างใฝ่ฝันจะมีได้เช่นเดียวกัน
*แอสเซมบลาจ (Assemblage art) ลักษณะของการทำงานศิลปะที่เป็นการนำวัสดุ 3 มิติปะติดลงไปบนพื้นผิวสองมิติจนเกิดเป็นรูปทรงต่างๆ นูนออกมาจากภาพ แอสเซมบลาจมีลักษณะคล้ายกับงานคอลลาจ (Collage) ซึ่งเป็นเทคนิคทางศิลปะในการสร้างภาพจากการนำชิ้นส่วนเล็กๆ ของภาพ 2 มิตินำมาปะติดปะต่อกัน
**ฮาร์ด-เอดจ์ เพนต์ติ้ง (Hard-Edge Painting) ลักษณะของการทำงานจิตกรรมที่วาดภาพด้วยแม่สีโดดๆ บนพื้นที่รูปทรงเรขาคณิตแบนๆ อันเรียบง่าย ที่มีเส้นตัดคมกริบ ซึ่งผลงานจิตรกรรม LOVE ของเขาเองก็มีรูปแบบในลักษณะนี้นั่นเอง
อ้างอิงจาก