[หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง]
ในช่วงเวลานี้คงไม่มีหนังเรื่องไหนกลายเป็นที่ถกเถียงจนกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์มากเท่ากับ Nope (2022) ผลงานเรื่องล่าสุดของ จอร์แดน พีล (Jordan Peele) ผู้กำกับชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานหนังเขย่าขวัญเลื่องชื่ออย่าง Get Out (2017) และ Us (2019)
Nope เล่าเรื่องราวของ โอ.เจ. เฮย์วูด ชายหนุ่มผิวดำผู้รับช่วงต่อกิจการฟาร์มฝึกม้า สำหรับเข้าฉากหนังฮอลลีวูดต่อจากพ่อของเขาที่ตายด้วยอุบัติเหตุปริศนา โดยมีน้องสาว เอมเมอรัลด์ ‘เอ็ม’ ผู้ใฝ่ฝันจะไปแสวงหาชื่อเสียงเงินทองในฮอลลีวูด มาเป็นผู้ช่วยอย่างไม่อินังขังขอบนัก ในขณะที่กิจการกำลังย่ำแย่ ภารกิจนำม้าไปเข้าฉากในกองถ่ายล้มเหลวจนถูกเลิกจ้าง โอ.เจ.เข้าตาจน จนต้องเอาม้าไปขายให้ ริคกี้ ‘จู๊ป’ พาร์ค หนุ่มอเมริกันเชื้อสายเอเชีย อดีตนักแสดงเด็กจากละครซิทคอมชื่อดังในอดีตอย่าง Gordy’s Home ที่มีตัวเอกเป็นลิงชิมแปนซีอัจฉริยะชื่อ กอร์ดี้ ร่วมแสดงกับคนอย่างน่ารักน่าชัง แต่วันหนึ่งกลับเกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่จู่ๆ กอร์ดี้ก็เกิดคลุ้มคลั่งอาละวาดทำร้ายนักแสดงและทีมงานในกองถ่ายจนบาดเจ็บล้มตายเป็นแถบๆ มีแต่ริคกี้เท่านั้นที่รอดมาได้ราวกับปาฎิหารย์ และเติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าของสวนสนุกสไตล์คาวบอยที่อยู่ไม่ไกลจากฟาร์มของโอ.เจ.
หลังจากนั้น โอ.เจ. ก็ประสบกับปรากฏการณ์แปลกประหลาดน่าพิศวงบนท้องฟ้า ที่เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตนอกโลก ทำให้เขาและเอ็มวางแผนการณ์บางอย่างเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตลึกลับนี้ นัยว่าเพื่อกอบกู้สถานภาพของฟาร์ม และตามความฝันในการเป็นคนโด่งดังและร่ำรวยจากการถ่ายภาพวัตถุบินลึกลับจากต่างดาวหรือ UFO อย่างจะแจ้งเพื่อขายให้รายการทอล์กโชว์ชื่อดัง
นอกจากจะเล่าเรื่องราวเขย่าขวัญด้วยลีลาแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น แฝงอารมณ์ขันตลกร้าย เหน็บด้วยประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองระหว่างสีผิวได้อย่างแสบสันแหลมคมแล้ว Nope ยังเป็นเหมือนจดหมายรักถึงภาพยนตร์ ที่พีลทำการสดุดี ยั่วล้อ ไปจนถึงอ้างอิงไปถึงภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงถึงผลงานของ เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ (Eadweard Muybridge) อย่าง The Horse in Motion (1878) ภาพถ่ายคนขี่ม้าที่ถูกนำมาฉายเรียงต่อเนื่องจนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว ที่เป็นเหมือนต้นกำเนิดของภาพยนตร์ในภายหลัง (หนังยังตั้งคำถามถึงการหายไปของนักขี่ม้าผิวดำที่ถูกลบทิ้งไปจากประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อย่างมีนัยยะสำคัญ)
Nope ยังอ้างอิงภาพยนตร์คลาสสิคอย่าง Buck and the Preacher (1972) หนังคาวบอยที่มีพระเอกเป็นคนผิวดำ (ที่อาจทำให้หลายคนนึกไปถึง Django Unchained (2012) ของเควนติน ทารันติโน อย่างช่วยไม่ได้) ไปจนถึงอนิเมะเรื่องดังอย่าง Neon Genesis Evangelion (1995 – 1996) และ Akira (1988) หรือแม้แต่หนังแอ็คชั่นผจญภัยอย่าง The Scorpion King (2002) อีกด้วย
แต่ที่ถูกอ้างอิงหรือสดุดีอย่างจะแจ้งชัดเจน เห็นจะเป็นหนังของผู้กำกับระดับตำนาน เจ้าของฉายา ‘พ่อมดแห่งฮอลลีวูด’ อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) โดยตัวผู้กำกับ จอร์แดน พีล เคยให้สัมภาษณ์ว่า หนังไซไฟคลาสสิคอย่าง Close Encounters of the Third Kind (1977), E.T. the Extra-Terrestrial (1982) หรือแม้แต่หนังบล็อกบัสเตอร์ระดับตำนานอย่าง Jaws (1975), Raiders of the Lost Ark (1981) และอีกหลายเรื่องของสปีลเบิร์ก นั้นเป็นแรงบันดาลใจสำคัญเบื้องหลังหนังเรื่องล่าสุดของเขา
ด้วยความที่คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะ ในคราวนี้เราจึงขอนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างการอ้างอิง และสดุดีหนังคลาสสิคของหนังเรื่อง Nope กับงานศิลปะชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์กัน ซึ่งความเชื่อมโยงที่ว่านี้อยู่ในฉากเหตุการณ์หลังจากที่กอร์ดี้ลิงชิมแปนซีอาละวาดทำร้ายฆ่าคนกลางการถ่ายทำ และหันมาเห็นเด็กชายริคกี้ที่แอบซ่อนตัวอย่างหวาดกลัวใต้โต๊ะ แต่แทนที่จะปราดเข้ามาทำร้ายริคกี้ กอร์ดี้กลับยื่นกำปั้นโชกเลือดเข้ามาหมายจะชนหมัดทักทายกับริคกี้ตามอัธยาศัยที่เคยคุ้นกัน ซึ่งฉากนี้น่าจะทำให้แฟนหนังของสปีลเบิร์กหลายคนนึกถึงโปสเตอร์หนังไซไฟสุดคลาสสิคอย่าง E.T. ที่เป็นภาพมือของ เด็กชายเอลเลียต ตัวละครเอกในหนังกำลังยื่นนิ้วไปสัมผัสกับนิ้วของ อี.ที. สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากอวกาศที่พลัดหลงมาบนโลก ซึ่งโปสเตอร์ที่ว่านี้นี่เองที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกอย่าง The Creation of Adam (1508 – 1512)
ภาพจิตรกรรมฝ้าเพดาน รูปพระผู้เป็นเจ้าประทานชีวิตให้แก่ ‘อดัม’ มนุษย์คนแรกของโลก หนึ่งในบรรดาภาพวาดบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ในนครรัฐวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่เล่าเรื่องราวการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้าตามหนังสือปฐมกาล (Book of Genesis) ผลงานชิ้นเอกของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองส์อย่าง ไมเคิลแองเจโล หรือ มีเกลันเจโล (Michelangelo) ผลงานชิ้นนี้เป็นงานจิตรกรรมแบบปูนเปียก (Fresco) ที่ใช้สีฝุ่นผสมน้ำแล้ววาดลงบนผนังฉาบปูนปลาสเตอร์ที่ยังไม่แห้งเอาไว้บางๆ เมื่อปูนแห้ง ก็จะทำให้สีซึมลงในเนื้อปูนและติดแน่นทนนานบนผนังอย่างถาวรเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยไม่ต้องเคลือบสีแต่อย่างใด
มีเกลันเจโลวาดภาพนี้จากประโยคในพระคัมภีร์ที่ว่า “พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น” ปฐมกาล 1:27 เขายังได้แรงบันดาลใจจากเพลงสวดในยุคกลางอย่าง Veni Creator Spiritus ที่กล่าวสรรเสริญถึงนิ้วมือขวาของบิดา ภาพวาดนี้ยังถูกตีความว่าซ่อนสัญลักษณ์ของภาพตัดขวางสมอง หรือแม้แต่มดลูกของมนุษย์เอาไว้ ในส่วนของฉากหลังที่เป็นผ้าคลุมของพระเจ้าและเหล่าเทวทูตอีกด้วย
ว่ากันว่า มีเกลันเจโลรับมอบหมายการทำงานจิตรกรรมชุดนี้จากพระสันตปาปาจูเลียสที่ 2 อย่างไม่เต็มใจนัก (เพราะเขาคิดว่าตนเองเป็นประติมากร ไม่ใช่จิตรกร) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะผู้ว่าจ้างเป็นองค์สันตปาปาผู้ทรงอำนาจ เลยต้องยอมทำให้ด้วยความหงุดหงิดคับข้องใจ แต่สุดท้ายก็ทำเสร็จตามที่รับมอบหมายจนได้ และก็ทำออกมาให้ยอดเยี่ยมจนน่าทึ่ง ต่อมาภายหลัง ภาพวาดเพดานโบสถ์น้อยซิสทีนแห่งนี้กลายเป็นผลงานชิ้นเอกอันมหัศจรรย์ที่สุดชิ้นหนึ่งของมีเกลันเจโล และเป็นงานศิลปะอันล้ำค่าที่สุดของโลกจวบจนถึงปัจจุบัน
จอห์น อัลวิน (John Alvin) นักวาดโปสเตอร์หนัง เจ้าของผลงานภาพวาดโปสเตอร์หนังระดับตำนานอย่าง Blade Runner, Lord of the Rings, Harry Potter, Pirates of the Caribbean, Jurassic Park และ The Lion King ทำการออกแบบและวาดภาพโปสเตอร์หนัง E.T. โดยหยิบยืมแรงบันดาลใจมาจากภาพวาด The Creation of Adam ของมีเกลันเจโลโดยตรง โดยใช้มือของลูกสาวของเขาเป็นต้นแบบแทนมือของเด็กชายเอลเลียต ตัวละครเอกในเรื่อง เรื่องราวในหนัง E.T. เองก็ถูกตีความว่าซ่อนเร้นประเด็นทางจิตวิญญาณในศาสนาคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความตาย และการฟื้นคืนชีพในหนัง โดยแฟนหนังบางคนถึงกับเปรียบเจ้ามนุษย์ต่างดาวตัวจิ๋วอีทีในหนังว่าเป็นภาพแทนของพระเยซูคริสต์ไปโน่นเลย ซึ่งตัวผู้กำกับอย่างสปีลเบิร์ก (ผู้เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว) ก็ออกมาปฏิเสธทฤษฎีที่ว่านี้ในภายหลัง แต่ก็ยังอดหยอดยาหอมไม่ได้ว่าเขาเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความหนังของเขาได้อย่างอิสรเสรีอะนะ
จะว่าไป การ(เกือบ)สัมผัสกำปั้นระหว่างเด็กชายริคกี้กับลิงชิมแปนซีกอร์ดี้ในหนังเรื่อง Nope เองก็แฝงนัยยะแห่งปาฏิหาริย์และการมอบชีวิตใหม่เช่นเดียวกัน (ถ้ามองว่าการไว้ชีวิตคือการให้ชีวิตน่ะนะ) ตัวริกกี้เองก็ได้รับพลังแห่งความมั่นใจอันแรงกล้าบางอย่างจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้จะเป็นความมั่นใจผิดๆ ก็ตามที
นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังโปสเตอร์หนัง E.T. และเป็นแรงบันดาลใจ (ทางอ้อม) ให้หนัง Nope ของ จอร์แดน พีล แล้ว ภาพวาด The Creation of Adam ยังเป็นแรงบันดาลใจให้หนัง (หรือโปสเตอร์หนัง) อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Creation (2009), Bruce Almighty (2003), Deadpool 2 (2018) หรือแม้แต่ซีรีส์ทริลเลอร์สัญชาติเกาหลีอย่าง Squid Game (2021) อีกด้วย
แบบนี้สินะ ที่เขาเรียกกันว่า ศิลปะมักส่องทางให้แก่กัน จริงๆ อะไรจริง!
ข้อมูล
Illustration by Kodchakorn Thammachart