ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าถึงการหยิบเอาข้าวของเก็บตกเหลือใช้ หรือของสำเร็จรูป อย่างโถฉี่ เก้าอี้ หรือโถส้วม มาทำให้กลายเป็นงานศิลปะแสดงในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือการเปลี่ยนพื้นที่ที่อาจจะดูสกปรกในสายตาของคนทั่วๆ ไปอย่าง ‘ส้วม’ มาเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะกันไปแล้ว
ในตอนนี้ผมขอเล่าถึงการหยิบเอาวัตถุข้าวของเก็บตก เหลือใช้ หรือของชำรุดเสียหายที่ไม่ต่างอะไรกับ ‘ขยะ’ ในสายตาของคนทั่วไป มาทำให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ หรือ ‘หอศิลป์’ กันบ้าง ซึ่งวัตถุข้าวของเหล่านี้บางอย่าง ถ้าพูดไปแล้ว บางคนอาจจะสงสัยว่า ไอ้เจ้าหม้อบาร์บีคิวเก่าๆ, แก้วน้ำสแตนเลส, ถังพลาสติกเก่า ไปจนถึง ท่อระบายน้ำ เหล่านี้มันจะกลายเป็นหอศิลป์ไปได้ยังไง ถ้าใครอยากรู้คำตอบ ก็ลองมาฟังเรื่องราวจากผู้ก่อตั้งพื้นที่ทางศิลปะเหล่านี้ที่มีชื่อว่า ‘BBQ International Gallery’ กัน
BBQ International Gallery (BIG) เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนๆ ผู้เป็นทั้งศิลปินอิสระและคนทำงานเบื้องหลังในวงการศิลปะอย่าง กวินวัชร์ โรจน์บุณยศิริ, ยิ่งยศ เย็นอาคาร และ ปัญจพล นาน่วม ที่รวมตัวกันเปิดพื้นที่แสดงงานศิลปะทางเลือกอันแปลกแหวกแนวขึ้นมา
“BBQ International Gallery เริ่มต้นขึ้นจากการที่พวกเราอยากจะมีพื้นที่แสดงงาน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้แสดงในพื้นที่แสดงงานหลักอย่างหอศิลป์ทั่วๆ ไป เราก็เลยคิดกันว่าจะทำพื้นที่แสดงงานขึ้นมากันเอง ตอนแรกกะว่า จะเอามอเตอร์ไซค์เก่าของพวกเรามาทำ คุยไปคุยมาเห็นมีเตาบาร์บีคิวเก่าที่กำลังจะทิ้งเอาไว้วางอยู่ใกล้ๆ ก็คุยกันเล่นๆ ว่า หรือจะแสดงงานกันในเตานี้ดี? คุยไปคุยมาก็ตกลงลองทำกัน ก็เลยออกแบบเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะขึ้นมา และให้ชื่อว่า BBQ International Gallery คือ International Gallery เนี่ย เป็นเหมือนนามสกุล ชื่อหน้าก็จะเปลี่ยนไปตามวัตถุที่เรานำมาดัดแปลงเป็นพื้นที่แสดงงาน แต่ละพื้นที่เราก็ให้ชื่อและความหมายที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นวัตถุเก็บตกจากที่เขาทิ้งแล้วเอามาปรับปรุงใหม่”
เริ่มต้นด้วยพื้นที่แสดงงานศิลปะรูปกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว ที่มีช่องหน้าต่างเล็กๆ เปิดให้ดูผลงานภายในที่มีชื่อว่า Junk lie International Gallery
“พื้นที่แสดงงานอันนี้จริงๆ ชื่อ ‘จัญไร’ (หัวเราะ) แต่เราเปลี่ยนให้ซอฟต์ลงหน่อยเป็น ‘Junk lie’ เดิมทีมันเป็นแท่นวางผลงานเก่าที่กำลังจะถูกทิ้ง ให้กลายเป็นขยะ (Junk) เราเอามาดัดแปลงให้มันกลับมาใช้งานเป็นพื้นที่แสดงงานอีกครั้ง”
ผลงานที่จัดแสดงงานในพื้นที่ Junk lie คราวนี้ มีชื่อว่า Box views โดย ณภัสสร โทนุบล นักศึกษาศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่บอกเล่าถึงสถานการณ์ของแรงงานพลัดถิ่นที่อยู่รอบๆ พื้นที่ที่ศิลปินอยู่อาศัย ผ่านผลงานวิดีโอที่ต้องดูจากมุมมองผ่านช่องลมสี่เหลี่ยม ที่มองลงไปแล้วจะเห็นแคมป์คนงานก่อสร้างที่เพิ่งถูกรื้อไปเนื่องจากถูกนายทุนเลิกจ้าง จากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 โดยแสดงคู่กับประติมากรรมเสาปูนจำลองที่สื่อถึงสถานที่ก่อสร้างของคนงานเหล่านั้น บนเสาก็จะมีข้อเขียนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ศิลปินสนใจติดอยู่
หรือพื้นที่แสดงงานที่เป็นกล่องเหล็กที่ติดตั้งจัดวางในท่อระบายน้ำที่มีชื่อว่า Venice International Gallery
“ด้วยความที่พื้นที่แสดงงานถูกวางอยู่ในท่อระบายน้ำ เราเลยตั้งชื่อล้อเลียนกับเทศกาลศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ที่แสดงในเมืองแห่งคลองอะไรแบบนี้”
นิทรรศการที่จัดแสดงงานในพื้นที่ Venice คราวนี้ มีชื่อว่า Save light โดย วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ที่แสดงรูปแรกหัวฟิลม์ (ภาพแรกสุดของฟิล์มที่มักจะโดนแสงตอนใส่ฟิล์มเข้ากล้อง) ที่บันทึกภาพรัฐสภาแห่งใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของย่านเกียกกายและย่านใกล้เคียงให้กลายเป็นย่านอสังหาริมทรัพย์ทำเลทองที่เนื้อหอมที่สุดอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้วยการมาถึงของโครงการคมนาคมขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งมวลชนให้สะดวก แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนอีกกลุ่มก็ต้องถูกเวนคืนและพลัดพรากจากที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของตัวเอง
(ซึ่งในวันเดียวกัน วิริยะเองก็มีงานเปิดนิทรรศการแสดงหลักของเขาใน Gallery VER ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันอีกด้วย)
ในนิทรรศการครั้งล่าสุดของพวกเขาครั้งนี้ ยังมีพื้นที่ที่ทำขึ้นใหม่อย่าง ‘ร้อยต้นหญ้า’ 100 Tonya International Gallery
“‘ร้อยต้นหญ้า’ คือกระถางต้นไม้ที่เราดัดแปลงให้มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ด้านบน และมีพื้นที่แสดงงานด้านล่าง โดยแสงไฟที่ส่องให้เห็นผลงานที่แสดงอยู่ภายใน เป็นหลอดไฟที่ได้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลที่ติดอยู่กับกระถางต้นไม้ที่วางรับแสงอาทิตย์อยู่กลางแจ้ง”
ผลงานที่แสดงในพื้นที่ร้อยต้นหญ้า มีชื่อว่า Someday we are strong like a bullet โดย สุรเจต ทองเจือ ซึ่งเป็นแผ่นอลูนิเนียมที่ตัดให้เป็นรูปทรงคล้ายกับผักชีโลหะ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านแข็งขืนต่อความฉาบฉวยของการบริหารและการจัดการที่รัฐ (และอำนาจเหนือรัฐ) ปฏิบัติกับประชาชน ด้วยสวัสดิการรัฐแบบผักชีโรยหน้าที่ไม่เคยตอบสนองคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
(ผลงานชุดนี้ยังถูกแสดงในพื้นที่ ‘แก้วจ๋า’ Kaew – Jah International Gallery ซึ่งดัดแปลงจากแก้วดื่มน้ำสแตนเลสเหลือใช้อีกด้วย)
และ Tang Gallery พื้นที่แสดงงานที่ดัดแปลงถังพลาสติกให้กลายเป็นเครื่องฉายภาพเคลื่อนไหวและวิดีโอ รวมถึงเป็นพื้นที่แสดงงานไปด้วยพร้อมๆ กัน
“Tang Gallery เป็นถึงสีเก่าที่ใช้ทาผนังห้องแสดงงานของหอศิลป์ ที่เรานำมาดัดแปลงให้เป็นพื้นที่แสดงงานที่สามารถฉายวิดีโอและแสดงตัวงานศิลปะไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะศิลปินบางคนไม่ได้ทำแต่งานวิดีโออย่างเดียว แต่มีตัวงานที่เป็นวัตถุด้วย เราเลยอยากให้เขาแสดงทั้งสองอย่างไปได้พร้อมๆ กัน”
ผลงานที่แสดงในพื้นที่ Tang Gallery คือ Dillated Puplis โดย ธนเทพ น้อยรอด ผลงานภาพเคลื่อนไหวที่ได้แรงบันดาลใจจากสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสมอง และขยายความหมายของจิตใต้สำนึก อันส่งผลต่อการการมองเห็น การสัมผัส การได้ยิน ตลอดจนการแยกแยะความเป็นจริง ผ่านการแสดงออกของสีสันและรูปทรงอันแปลกประหลาด
ส่วนพื้นที่ BBQ International Gallery หรือหอศิลป์ในเตาบาร์บีคิวเก่า ที่เคยแสดงผลงานของศิลปินอย่าง เถกิง พัฒโนภาษ มาแล้วนั้น ในนิทรรศการครั้งนี้ มันถูกนำกลับไปใช้เป็นเตาบาร์บีคิวสำหรับทำอาหารเลี้ยงผู้ชมในงานเปิดนิทรรศการอีกครั้งหนึ่ง
“เราอยากลองว่าถ้าเราใช้งานมันในสถานะของพื้นที่แสดงงานแล้ว เราจะนำมันย้อนกลับไปยังสถานะเดิมของมันได้ไหม พอเราเอามาใช้งานครั้งนี้เสร็จแล้ว รอบหน้าเราอาจจะเอามันกลับไปเป็นพื้นที่แสดงงานอีกครั้งก็ได้”
“แนวคิดของ BIG คือการหยิบเอาของที่เคยผ่านงานแสดง หรือผ่านการใช้งานจากพื้นที่แสดงงานศิลปะ หรือแกลเลอรี และกลายเป็นของพังๆ ที่ไม่ใช้งานแล้ว และกำลังจะถูกทิ้ง เราก็เก็บเอามาซ่อมแซม ดัดแปลงให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานได้ นอกจากเก็บวัตถุข้าวของเหล่านี้เอาจากพื้นที่ใกล้ตัวแล้ว เราก็เริ่มเสาะหามาจากที่อื่นด้วย”
นอกจากนี้ กลุ่ม BBQ International Gallery ยังมีโครงการศิลปะนอกสถานที่ที่เข้าร่วมในกิจกรรม ACT สิ ART ของกลุ่ม ศิลปะปลดแอก ที่จัดขึ้นที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในชื่อ BBQ BURNING GALLERY / FREE ART : ACT สิ ART โดยจัดขึ้นในแกลเลอรีเคลื่อนที่สองแห่งอย่าง ‘ABCD – ABNORMAL CENTRE D GALLERY’ และ ‘Baby BBQ International Gallery’ ซึ่งเป็นโครงการที่เราทำร่วมกับกลุ่มศิลปะ Tokyo Hot (โตเกียวฮอท) เป็นคิวเรเตอร์รับเชิญของพื้นที่สองแห่งนี้
“ABCD – ABNORMAL CENTRE D GALLERY เป็นพื้นที่แสดงงานที่ทำขึ้นจากยางรถยนต์กองซ้อนกันขึ้นไป เวลาดูงานให้ดูจากด้านบน พื้นที่นี้เราได้แรงบันดาลใจจากยางรถยนต์ที่ถูกนำมากองเป็นบังเกอร์ในการชุมนุมทางการเมือง ส่วนชื่องานเราตั้งล้อเลียนชื่อของหอศิลป์กรุงเทพฯ หรือ BACC วงยางของล้อรถยนต์ก็ล้อไปกับตัวสถาปัตยกรรมทางเดินเวียนภายในหอศิลป์ด้วย ที่จัดแสดงผลงาน ‘The other within’ โดย ธานี บุญรอดเจริญ ที่สำรวจภววิทยาระหว่างมนุษย์กับสัตว์ โดยการเลือกมุมมองของภาพแทนในสัตว์สปีชี่ส์ที่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์ ด้วยการตั้งคำถามถึงเหตุแห่งการวิวัฒนาการและการดำรงซึ่งเผ่าพันธุ์ ที่มี ‘แสง’ เป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต
ส่วน Baby BBQ International Gallery เป็นเตาบาร์บีคิวอันเล็กๆ กึ่งปิคนิค ที่ถูกนำไปไปดัดแปลงให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานขนาดเล็ก ที่จัดแสดงผลงาน ‘Being there (ชีวิตที่เป็นแบบนี้ คงไม่ว่ากัน)’ โดย อดิศักดิ์ โชคส่องแสง ที่ทดลองใช้วัตถุต่างๆ ที่ดูไร้ชีวิต สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รายล้อมรอบตัว มาทดลองสร้างผลงาน ด้วยการเข้าไปใช้ชีวิตในที่ใดที่หนึ่งไม่ว่าจะเวลานานหรือสั้น และนำสิ่งของที่อยู่ภายในบริเวณพื้นที่นั้นนำมาต่อเรียงกันเป็นประติมากรรมชั่วคราว แล้วบันทึกเป็นภาพถ่ายเก็บเอาไว้ หลังจากนั้นจะนำสิ่งของเหล่านั้นกลับไปเก็บให้เป็นปกติเหมือนเดิม
“แนวคิดของ BBQ BURNING GALLERY คือเราออยากให้พื้นที่แสดงงานทั้งสองอันหลุดออกจากฟังก์ชั่นของเป็นพื้นที่แสดงงาน ให้ออกไปอยู่ในพื้นที่ภายนอก ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกรอบสี่เหลี่ยมหรือพื้นที่ทางศิลปะเท่านั้น
ด้วยความที่เราเป็นพื้นที่แสดงงานเล็กๆ เราก็ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำให้มันเป็น moblie space หรือพื้นที่แสดงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไปอยู่ตรงโน้นที ตรงนี้ที เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ได้ หรือเวลาเปิดงาน เราก็เลือกวันที่พ่วงไปกับงานเปิดนิทรรศการของแกลเลอรีหลักในพื้นที่ต่างๆ และจัดการให้เวลาเปิด ปิด และช่วงเวลาแสดงงานพร้อมกันกับแกลเลอรีเหล่านี้ เพื่อให้เขาช่วยดึงคนดูมาให้เราด้วย อีกอย่าง เราก็สามารถประหยัดค่าอาหารและเครื่องดื่มวันเปิดงานไปในตัว (หัวเราะ)
โดยส่วนตัว พวกเราเองก็เป็นศิลปินอิสระ ที่มีอาชีพเสริมเป็นคนทำงานเบื้องหลังให้พื้นที่แสดงงานศิลปะต่างๆ ทั้งเทคนิคเชียนของแกลเลอรี, ผู้ช่วยศิลปิน, คนติดตั้งงาน หรือเป็นคนทำอาหารงานเลี้ยงวันเปิดนิทรรศการ พื้นที่เหล่านี้ก็เป็นเหมือนพื้นที่สนับสนุนให้พวกเรามีที่แสดงผลงาน หรือเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่มีโปรไฟล์ ยังไม่เคยแสดงงานที่ไหนมาก่อน ก็สามารถมาเริ่มต้นแสดงงานที่นี่ได้ เราหวังว่าถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ สักวันเราก็อาจจะพัฒนาให้โปรเจ็กต์นี้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานจริงๆ ขึ้นมาได้”
ซีรีส์นิทรรศการของ BBQ International Gallery จัดแสดงผลงานตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน -24 ตุลาคม ค.ศ.2020 ที่โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15), นิทรรศการ BBQ BURNING GALLERY / FREE ART : ACT สิ ART จัดแสดงวันเดียวที่ 12 กันยายน ค.ศ.2020 ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร, ดูหมายกำหนดการแสดงาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Page Facebook BBQ International Gallery
ข้อมูลอ้างอิงจาก
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก กลุ่ม BBQ International Gallery