ในอดีตกาลมนุษย์เป็นเจ้าชีวิตเหนือสรรพสัตว์ทั้งหลาย และสามารถทำอะไรกับพวกมันก็ได้ตามใจปรารถนา จะกดขี่ ใช้แรงงาน เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่นหรือเป็นอาหาร ไล่ล่าฆ่าฟัน หรือเชือดชำแหละเพื่อบูชายัญ บวงสรวงทวยเทพ หรือแม่แต่ศิลปินและนักสร้างสรรค์จะหยิบเอาเลือด เนื้อ กระดูก หนัง เขา เขี้ยว งา ของสัตว์นานามาทำเป็นศิลปะ ก็หาใช่เรื่องซีเรียสแต่อย่างใด
แต่ในยุคสมัยใหม่ จวบจนยุคสมัยปัจจุบัน เกิดกระแสเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย นอกจากกระแสเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่แพร่ขยายไปทั่วโลกแล้ว กระแสเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ก็เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน การที่ศิลปินในปัจจุบันจะหยิบเอาสัตว์มาปู้ยี่ปู้ยำกระทำเป็นงานศิลปะตามอำเภอใจได้อย่างในอดีตนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายอีกต่อไป ดังเช่นตัวอย่างล่าสุด ในนิทรรศการ Art and China after 1989: Theater of the World ในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก ปี 2017 ที่ถูกองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ประณามว่ามีการทารุณสัตว์ในงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ จนเกิดเป็นการประท้วงลุกลามใหญ่โตในวงกว้าง จนทำให้ทางพิพิธภัณฑ์ตัดสินใจถอดงานอันอื้อฉาวดังกล่าวออกในที่สุด
ในตอนนี้ เราจะขอกล่าวถึงศิลปินอีกคนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์มาอย่างยาวนาน ด้วยความที่เป็นศิลปินวึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักเล่นกับความตาย ไม่บอกก็คงพอจะเดาออกกันแล้วใช่ไหม ว่าศิลปินผู้นี้คือใคร ใช่แล้ว ศิลปินผู้นี้ก็คือ พ่อยอดชายนาย เดเมียน เฮิสต์ (Damien Hirst) นั่นเอง
ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษที่มีความโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Young British Artists (หรือ YBAs) ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการกําหนดทิศทางของวงการศิลปะอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1990 เขาเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นศิลปินที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ งานของเขามักจะพูดถึงความตาย และมักใช้ซากศพจริงๆ ของสัตว์มาทำงาน
ด้วยการทํางานศิลปะที่ล่อแหลม ทําให้หลายคนด่าว่าเขาบ้า วิปริต หัวรุนแรง บางคนก็กระแนะกระแหนว่าเขาอยากเด่นอยากดัง แต่จริงๆ แล้ว เขาเป็นศิลปินที่ฉลาดและมีความรู้รอบด้านมากที่สุดคนหนึ่ง ผลงานของเขาเป็นส่วนผสมอันกลมกลืนระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ความฉลาดกับความบ้าคลั่ง ความตายและการมีชีวิต
“ผมลุ่มหลงในความตาย แต่ผมคิดว่ามันเป็นเหมือนการฉลองของการมีชีวิตมากกว่าความผิดปกติทางจิตนะ”
– เดเมียน เฮิสต์
ล่าสุด หลังจากข่าวคราวเงียบหายจากวงการศิลปะไปสองสามปี แถมโดนปรามาสว่าไอเดียตีบตัน หมดมุขจะทำศิลปะเจ๋งๆ ไปแล้ว แต่ในเดือนเมษายนปี 2017 ที่ผ่านมา เดเมียน เฮิสต์ ก็คัมแบคมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง กับนิทรรศการศิลปะ Treasures from the Wreck of the Unbelievable ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Palazzo Grassi และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Punta della Dogana ที่เมืองเวนิส อิตาลี
แต่งานศิลปะในนิทรรศการล่าสุดของเขานี้ออกจะแหวกไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่หลายคนคุ้นเคยไปเสียหน่อย เพราะมันไม่มีองค์ประกอบที่สร้างชื่อเสียงอันโดดเด่นให้กับเขามาช้านาน นั่นก็คือ ร่างไร้ชีวิต หรือ ศพของสัตว์ที่ถูกนำมาทำเป็นงานศิลปะนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่ทำให้เขาโด่งดังเป็นพลุแตกอย่าง The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living (1991) – ความตายคือสิ่งที่มิอาจจับต้องได้ในจิตใจของผู้ที่ยังมีชีวิต – ที่หยิบเอาซากศพของฉลามเสือขนาดยักษ์มาลอยคอแยกเขี้ยวอยู่ในแทงก์กระจกใสใส่ฟอร์มาลีน จนเป็นที่ตื่นตะลึง อึ้งทึ่งเสียว แก่ผู้ชมงาน และเขย่าวงการศิลปะจนสะเทือนเลื่อนลั่น และส่งให้เขากลายเป็นไอคอนของวงการศิลปะอังกฤษและของโลก
หรือผลงาน Some Comfort Gained from the Acceptance of the Inherent Lies in Everything,1996 ที่ประกอบด้วยตู้กระจกใส 12 ใบ แยกกันบรรจุชิ้นส่วนซากศพของวัวตัวหนึ่งที่ถูกหั่นขวางในแนวดิ่ง ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ฉากอันลือลั่นในหนังไซไฟจิตวิทยาสยองขวัญอย่าง The Cell (2000) โดยถูกเอามานําเสนอใหม่อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในหนัง ด้วยการนำเสนอภาพม้าทั้งตัวถูกหั่นออกมาเป็นท่อนๆ ทั้งเป็น โดยที่หัวใจยังเต้นและอวัยวะ ภายในยังทํางานอยู่!
และถ้าซากฉลามและศพวัวในตู้กระจกของเฮิสต์ทําให้คนดูได้จ้องหน้ากับความตายในระยะประชิด ผลงาน A Thousand Years (1990) ของเขาก็ทําให้คนดูได้เป็นประจักษ์พยานวงจรชีวิต (และความตาย) ไปพร้อมๆ กัน ผลงานศิลปะจัดวางในแกลเลอรี่ Tate Modern ในลอนดอนชิ้นนี้ ประกอบด้วยตู้กระจกใสภายในบรรจุซากส่วนหัวของวัวที่ถูกตัดขาดวางจมกองเลือดนองอยู่บนพื้น ในตู้มีฝูงแมลงวันจํานวนนับไม่ถ้วนบินว่อน พวกมันไต่ตอมซาก วางไข่ ฟักตัวเป็นหนอนชอนไชหัววัวและเติบโตกลายเป็นแมลงวันรุ่นใหม่มาบินว่อนอยู่ในตู้กระจกแทนตัวเก่าที่ตายไปตามอายุขัย (ยกเว้นตัวที่ตายเพราะเครื่องดักแมลงที่แขวนอยู่ในตู้) เป็นวัฎจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่าในตู้ใบนั้นไปจนจบนิทรรศการ ผลงานชิ้นนี้ของเขากระตุ้นให้เกิดความตื่นตะลึงต่อสาธารณชนเป็นอย่างมาก
เดเมียน เฮิสต์ ใช้ความตายเป็นประเด็นหลักอันโดดเด่นในผลงานของเขาตลอดมา ด้วยการใช้ศพ (สัตว์) จริงๆ แสดงในหอศิลป์ และปล่อยให้ผู้ชมเผชิญหน้ากับสัจธรรมแห่งความตายอย่างไร้ความปราณี ในขณะที่อีกด้านของตลาดค้างานศิลปะ ผลงานของเขานับวันยิ่งทวีราคามหาศาล (ในปี 2008 บริษัทจัดการประมูลซัทเทบีส์ขายผลงานของเขาไปในราคา 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ผลงานศิลปะแห่งความตาย หรือที่เรียกขานกันในชื่อ Memento Mori* ของเขานี้มีราคาค่างวดพุ่งพรวดทะลุเพดานจนน่าขัน ราวกับว่าจะเป็นการเน้นย้ำถึงสิ่งที่เงินจำนวนเท่าไหร่ไม่สามารถซื้อหาได้ นั้นคือการหลีกหนีจากความตายนั่นเอง
*Memento Mori (ภาษาละตินแปลว่า “จําเอาไว้ว่า (คุณ) ต้องตาย) หรือปรัชญาการเจริญมรณานุสติของตะวันตก ซึ่งทําหน้าที่เป็นเหมือนสารแห่งการระลึกถึงความตายที่ส่งไปถึงคนดู
แต่จะมีสัตว์กี่ตัวที่สังเวยชีวิตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ของ เดเมียน เฮิสต์กันเล่า?
แน่นอนล่ะว่ามันมีจำนวนไม่น้อยแน่ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เหล่าองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ต่างโกรธแค้นและพากันรุมกันประณามศิลปินอื้อฉาวผู้นี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2017 นี้ องค์กรเรียกร้องสิทธิสัตว์ในอิตาลีอย่าง 100% Animalisti ก็ทำการประท้วงเขาด้วยการขนปุ๋ยคอกจำนวน 88 ปอนด์ (เกือบ 40 กิโลกรัม) ที่เก็บจากศูนย์พักพิงสัตว์ ไปเทกองให้เหม็นหึ่งหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Palazzo Grassi ที่จัดแสดงนิทรรศการล่าสุดของเขาในเวนิส พร้อมกับทิ้งป้ายที่มีใจความว่า “Damien Hirst Go Home! Beccati Questa Opera D’arte! 100% Animalisti.” (เดเมียน เฮิร์สต์ไสหัวกลับบ้านไป! เอาศิลปะนี่ไปแดกซะ!) โดยในเว็บไซต์ของ 100% Animalisti มีแถลงการณ์ประณามเฮิสต์ว่าเป็น ‘ศิลปินจอมปลอม’ เคียงคู่ไปกับศิลปินอย่าง เฮอร์มานน์ นิตช์ (Hermann Nitsch) และ มัวริซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) ที่พวกเขากล่าวหาว่า “สร้างความมั่งคั่งและชื่อเสียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวของตนจากการสตัฟฟ์ ชำแหละ และฆ่าสัตว์ในนามของศิลปะ”
มีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ จากสูจิบัตรผลงานและนิทรรศการต่างๆ ในเว็บไซต์ของ เดเมียน เฮิสต์ ว่าสัตว์น้อยใหญ่หลายตัวที่ถูกฆ่าเพื่อทำงานศิลปะ โดยส่วนใหญ่มักเป็นแมลงที่มีจำนวนมหาศาล จนมีบางคนหยิบเอาชื่อผลงานชิ้นโด่งดังของเขามาแปลงในเชิงล้อเลียนเสียดสีว่า The Physical Impossibility of Counting All the Dead Bugs (เหล่าแมลงตายที่มากมายก่ายกองจนไม่อาจนับจำนวนได้)
ตลอดอาชีพการทำงานศิลปะ เฮิสต์เสาะหาวัตถุดิบมีชีวิตเหล่านี้ด้วยวิธีการและแหล่งที่มาอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากนักล่าฉลามชาวออสซี วิก ฮิสลอป (Vic Hislop) หรือนักสตัฟฟ์สัตว์ชาวลอนดอน เอมิลี เมเยอร์ และจากตลาดปลาอันเลื่องชื่อในลอนดอนอย่าง บิลลิงส์เกต แน่นอนว่าสัตว์บางตัวตายแล้วก่อนที่เฮิสต์จะเอาไปทำงาน แต่บางตัวก็ถูกสั่งฆ่าเพื่อนำไปทำงานศิลปะของเขาโดยเฉพาะ
เฮิสต์เคยสั่งฆ่าผีเสื้อถึง 9,000 ตัวสำหรับใช้ในนิทรรศการศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ Tate Modern ในปี 2012 เช่นเดียวกับที่เขาสั่งให้นักล่าฉลามจับฉลามเสือมาฆ่า เพื่อนำมาทำเป็นผลงาน The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living อันลือลั่นของเขาโดยเฉพาะ
บรรดาสัตว์หลากหลายสายพันธุ์เหล่านี้ต่างมีชะตากรรมร่วมกัน นั่นก็คือการพลีร่างกายเป็นงานศิลปะ ดังคำกล่าวของเฮิสต์ที่ว่า “ถ้าผ่าพวกเราทั้งหมดเป็นสองซีก เราแม่งก็เหมือนๆ กันทั้งหมดนั่นแหละวะ”
เว็บไซต์ artnet ทำการคำนวณหาจำนวนโดยคร่าวๆ ของเหล่าบรรดาสัตว์ที่สังเวยชีวิตให้แก่งานศิลปะของ เดเมียน เฮิสต์ โดยแยกเป็นหมวดหมู่ตามสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกมาเป็นรายการได้ดังนี้
เหล่าปศุสัตว์ในฟาร์ม
ถูกใช้ในงานชุด : Natural History (1991–2014)
เหยื่อผู้พลีร่างกายเป็นงานศิลปะ : วัวพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน 7 ตัว, ลูกวัว 5 ตัว, วัวตัวผู้ 4 ตัว, ลูกม้า 3 ตัว (ที่ถูกติดเขาให้เป็นยูนิคอร์น), หมู 2 ตัว, หมีสีน้ำตาล 1 ตัว และม้าลาย 1 ตัว
จำนวนรวม : 36 ตัว
ผลงานชุดนี้ครอบคลุมวิชาชีพการทำงานศิลปะเกือบทั้งหมดของเฮิสต์ และถือเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุด รวมถึงเป็นผลงานที่มีความสำคัญที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย มันเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเชื่อของเขาที่ว่า คนเราต้องฆ่าสิ่งต่างๆ เพื่อทำความรู้จักกับมัน ในหมวดนี้นับรวมบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกใช้ทำเป็นงานศิลปะด้วยการแช่ในแทงก์กระจกใสใส่ฟอร์มาลีน ถูกผ่าครึ่ง ถลกหนัง หรือถูกชำแหละ โดยที่ยังคงมีเลือดเนื้อหลงเหลืออยู่ ส่วนที่เป็นโครงกระดูกหรือหัวกะโหลก จะถูกจำแนกไปอยู่ในหมวดอื่นๆ
เหล่าสิ่งมีชีวิตในทะเล
ถูกใช้ในงานชุด : Natural History (1991–2014), Fish in a Formaldehyde Tank (1994), Beautiful Inside My Head Forever (2008)
เหยื่อผู้พลีร่างกายเป็นงานศิลปะ : ฉลาม 17 ตัว และ ปลา 668 ตัว จากอย่างน้อย 38 สายพันธุ์
จำนวนรวม : อย่างน้อย 685 ตัว
มีสัตว์น้ำจำนวน 627 ตัว ที่ถูกแขวนอยู่ในแทงก์กระจกใสใส่ฟอร์มาลีน (ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ใช่กระจก แต่เป็นแผ่นอะคริลิกใสต่างหาก) สัตว์ต่างๆ เหล่านี้ถูกแสดงในระบบอนุกรมวิธาน (taxonomy) ศาสตร์ในการจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่ตามสายวิวัฒนาการที่เฮิสต์ลุ่มหลงมาโดยตลอด ตั้งแต่ผลงาน Here Today, Gone Tomorrow (2008) ที่ประกอบโครงกระดูกปลาจำนวน 41 ตัว ถูกวางโชว์เรียงเคียงกันอยู่บนชั้นในตู้กระจกใส (ผลงานชิ้นนี้ถูกประมูลไปในราคาราว 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ไปจนถึงผลงานเลื่องชื่ออย่าง The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living ที่แสดงในนิทรรศการ Sensation ปี 1997 ซึ่งเกิดความบกพร่องในการรักษาสภาพในตู้ ศพฉลามเสือในตู้จึงเกิดเน่าเปื่อยเสียหาย และนำตัวใหม่มาเปลี่ยนในปี 2006 (ซึ่งหมายความว่ามีฉลามต้องสังเวยชีวิตเพิ่มขึ้นอีก) สองปีให้หลัง ผลงานชิ้นนี้ถูกขายไปในราคา 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ว่ากันว่าเฮิสต์เก็บซากฉลามเสือสองสามตัวไว้ในห้องแช่แข็ง เผื่อมีเศรษฐีคนไหนเกิดอยากซื้องานชิ้นนี้อีก (อ่านะ!)
เหล่าสิ่งมีชีวิตที่ติดปีกโบยบิน
ถูกใช้ในงานชุด : Fly Paintings and Sculptures (2002–2008), Butterfly Colour Paintings (1989–2009), Entomology Cabinets and Paintings (2008–2012), Kaleidoscope Paintings (2001–2008)
เหยื่อผู้พลีร่างกายเป็นงานศิลปะ : แมลงวันบ้าน 850,000 ตัว 11 เจนเนอเรชั่น, แมลง 45,000 ตัวจาก 3,000 สายพันธุ์, ผีเสื้อ 17,000 ตัว และนก 5 ตัว
จำนวนรวม : 912,005 ตัว
สิ่งมีชีวิตที่ถูกใช้ในผลงานศิลปะของเฮิสต์เป็นหลักอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งมีชีวิตติดปีกตัวเล็กจิ๋วอย่างแมลงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพวาดจากผีเสื้อ หรือภาพวาดสีเอกรงค์ที่ทำจากแมลงวันบ้านสีดำ มีตั้งแต่ภาพวาดที่โปรยแมลงวันลงไปบนผืนผ้าใบอย่างเบาบาง ไปจนถึงภาพวาดที่อัดแน่นด้วยแมลงวันจำนวนนับไม่ถ้วนจนดำพรืด หรืองาน A Thousand Years ที่เป็นวงจรชีวิตของแมลงวันในตู้กระจก ที่วางไข่ กลายเป็นหนอน และเติบโตเป็นแมลงวันเต็มตัว ก่อนที่จะวนเวียนเป็นวงจรรุ่นแล้วรุ่นเล่า เมื่อคำนวณจากการที่แมลงวันตัวเมียจะวางไข่ในทุกๆ 6 วัน และงานชุดนี้ถูกแสดงเป็นจำนวน 10 ครั้ง นับเวลาได้ราวๆ 111 สัปดาห์ จึงน่าจะมีแมลงวันราวหกรุ่นที่วนเวียนเป็นวงจรชีวิตอยู่ในผลงานของเฮิสต์ชิ้นนี้ ส่วนผีเสื้อนั้นมี 1,629 ตัวที่ถูกสังเวยให้กับภาพวาดในชุด Kaleidoscope Paintings จำนวน 62 ภาพ ยังไม่นับรวมผีเสื้ออีก 9,000 ตัว ที่ถูกฆ่าในผลงานนิทรรศการย้อนหลังของเขาที่พิพิธภัณฑ์ Tate Modern ผลงานศิลปะของเฮิสต์ชุดนี้สังเวยชีวิตผีเสื้อจนมีคนนิยามว่ามันเป็น ‘ฮิโรชิม่าแห่งผีเสื้อ’ เลยทีเดียว (ไม่บอกก็คงรู้กันอยู่แล้วว่าฮิโรชิม่าเป็นเมืองที่เคยถูกทิ้งระเบิดปรมาณูจนมีคนตายนับแสน)
อื่นๆ อีกมากมาย
ถูกใช้ในงานชุด : Natural History (1991–2014), Innocence Lost, Lost Love/Love Lost” (2000)
เหยื่อผู้พลีร่างกายเป็นงานศิลปะ : หมูที่ถูกทำเป็นไส้กรอกหมู 46 ชิ้น, อวัยวะภายใน 624 ชิ้นจากวัว 8 ตัว, หัวกะโหลกวัว 16 หัว, โครงกระดูกปลา 41 ตัว, โครงกระดูกแมมมอธชุบทอง 1 ตัว
จำนวนรวม : 729 ตัว
ในประเภทอื่นๆ นี้นับรวมถึงวัตถุที่ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในผลงานศิลปะที่เป็นการจัดจำแนกอาณาจักรของสัตว์ของเฮิสต์ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายในของวัว 8 ตัว ที่ถูกเก็บไว้ในไหวางเรียงรายบนชั้นจนดูเหมือนกับตู้เก็บยาสยองขวัญ หรือแม้แต่ผลงาน Innocence Lost (2009) ที่ประกอบด้วยไส้กรอกหมูแช่แอลกอฮอล์เอาไว้ในขวดนมเด็กจำนวน 46 ขวด ก็น่าจะได้มาจากเนื้อของหมูจำนวนสองตัว (จากการคาดการณ์ของผู้ชำแหละหมู)
นับเป็นจำนวนรวมทั้งหมดได้ราว : 913,450 ชีวิต (เหยียบๆ ล้านเลยทีเดียว)
ในปี 1995 เดเมียน เฮิสต์ กล่าวคำปราศรัยในงานรับรางวัล Turner (ซึ่งเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการศิลปะอังกฤษ) ว่า “มันช่างน่าประหลาดใจที่เราสามารถทำอะไรที่อยู่ในระดับ E ในงานศิลปะระดับ A-Level* ได้ ก็แค่ใช้จินตนาการอันบิดเบี้ยว และเลื่อยยนต์อันหนึ่งเท่านั้นเอง” ซึ่งผลงานสำคัญที่ทำให้เขาได้รับรางวัลนี้ก็คือผลงาน Mother and Child Divided (1993) ที่ประกอบด้วยแทงก์กระจกใสใส่ฟอร์มาลีน 4 ใบที่ใส่ ซากศพผ่าครึ่งของแม่วัวและลูกของมันนั่นเอง
ในขณะที่ผลงานที่ได้รับรางวัลถูกแสดงในพิพิธภัณฑ์ Tate อยู่นั้น มันก็ได้รับเสียงก่นด่าสาปแช่ง และมีผู้คนเขียนจดหมายมาประณามไม่ขาดสาย มีคนหนึ่งเขียนมาบอกว่า ลูกสาวของเขาที่มาดูงานชิ้นนี้ในการทัศนศึกษาวิชาศิลปะ (ของหลักสูตร A-Level) แล้วกลับบ้านไปนอนฝันร้าย นอนไม่หลับ และกินเนื้อวัวไม่ได้ เพราะภาพที่เห็นมันทำให้เธอรู้สึกย่ำแย่เอามากๆ
*A-Level คือหลักสูตรการเรียน 2 ปีสุดท้าย (Year 12-13) ของระดับมัธยมศึกษาในสหราชอาณาจักร โดยนักเรียนจะต้องเลือกเรียน 3-4 วิชาจากจำนวนหลายวิชาของหลักสูตร A-Level ที่โรงเรียนเปิดสอน และมีการสอบวัดผลออกมาเป็นเกรด A B C D และ E เป็นเกรดต่ำสุด โดยคะแนนที่ได้จะถูกใช้ในการยื่นสมัครเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาต่อไป
บ้างก็ว่า ใครที่อุตริคิดว่าซากวัวสตัฟฟ์นั้นเป็นศิลปะได้น่าจะเป็นคนที่เป็นยิ่งกว่าพวกไร้การศึกษา และงานชิ้นนี้ทำลายชื่อเสียงอันยิ่งใหญ่ของเทอร์เนอร์ (ศิลปินที่ถูกนำชื่อมาใช้เป็นรางวัล) ด้วยความไร้ค่าและเปลืองพื้นที่ไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ของมัน
ในขณะเดียวกัน ฝั่งที่ชื่นชมก็กล่าวว่า ไม่มีใครที่เหมาะกับรางวัลนี้อีกแล้วนอกจากเฮิสต์ เขาสร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะอังกฤษมากกว่าศิลปินคนไหนๆ ในรุ่นเดียวกัน ถ้าเขาไม่ได้รางวัลนี้มันจะเป็นอะไรที่ผิดเอามากๆ …ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องนานาจิตตังแหละนะ
ส่วนคำถามที่ว่า การใช้สัตว์มาสังเวยชีวิตเพื่อการทำงานศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือควรค่าแล้วหรือไม่ อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจและวิจารณญาณของแต่ละคนน่ะนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก