การหยิบเหล่าสรรพสัตว์มาเป็นตัวคาแรคเตอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เราสามารถเห็นตัวละครน้อนๆ ที่เป็นสัตว์ได้จากทั้งหนัง การ์ตูน อนิเมชั่น เกม หรือแม้แต่งานศิลปะในโลก NFT ที่เราพอจะเห็นความไฮป์ของการซื้อขายคาแรคเตอร์เป็นคอลเลกชั่นกันอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ใหญ่ของวงการอย่าง Cool Cats NFT หรือ Bored Ape Yacht Club ที่แต่ละชิ้นนั้นมีราคาพุ่งไปไกลกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้
เหล่าคาแรคเตอร์จึงเป็นที่นิยมจากทั้งฝั่งสายผลิตและฝั่งนักสะสม มีทั้งคาแรคเตอร์ที่เป็นคน หุ่นยนต์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือแม้แต่เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ถูกนำมาปรับแต่งตามสไตล์ผ่านมุมมองของศิลปิน ออกมาเป็นคอลเลกชั่นต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์โลกหลากชนิด ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้แบบอื่น จนเราได้เห็นสัตว์โลกในรูปแบบที่ถูกนำมาตีความตามไอเดียของศิลปิน
The MATTER ชวนมาทำความรู้จักเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ ที่มาจากไอเดียของครีเอเตอร์ NFT ไทย กับ 7 ศิลปิน NFT ที่หยิบสัตว์โลกมาปรับโฉม ในสไตล์ของตัวเอง มาดูกันว่า หากเหล่าสัตว์สามารถลุกขึ้นมาเป็นอะไรก็ได้แล้ว มุมมองของศิลปินแต่ละคนนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง
The Shrub
โดย Raareepaa
ผลงานคอลเลกชั่น The Shrub โดย ‘ลลิ Raareepaa’ ที่ไม่ได้อยู่ในสายงานอาร์ต แต่เป็นเภสัชกรประจำโรงพยาบาลที่อยากมีผลงานคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง หนึ่งในนั้นก็คือ The Shrub เหล่าสัตว์หน้าตาน่ารักที่อยู่ในรูปแบบของไม้ดัด จึงมีร่างกายสีเขียว แทรกแซมด้วยดอกไม้บ้างในบางตัว
The MATTER: คอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
เริ่มแรกเราอยากขายสินค้าที่มีคาแรคเตอร์ที่เราออกแบบเอง ถ้าออกแบบคาแรคเตอร์ที่มีความเป็นไทยก็น่าจะขายชาวต่างชาติได้ด้วย น้องช้างก็เลยออกมาเป็นตัวแรกค่ะ แต่ถ้าช้างธรรมดาสีผิวก็จะออกเทาๆ ใช่ไหมคะ อยากได้อะไรที่สดใสกว่านั้น เลยเป็นไม้ดัด ตัวสีเขียว แล้วตรงหูจะมีสีชมพู เป็นส่วนที่เป็นดอกไม้ค่ะ เราก็พยามลดทอนให้เป็นสไตล์การ์ตูนแบบที่เราชอบวาด แต่ COVID-19 มาพอดี ก็เลยพับโปรเจกต์ไป ไม่ได้ทำเป็นสินค้าออกมาขาย
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจนำผลงานที่พับไปมาสานต่อบน NFT
พอได้รู้จัก NFT ก็เลยลองเอาน้องช้างที่เคยวาดไว้มาลงขายดู ลงไปแค่ตัวเดียว ไม่ถึงอาทิตย์ก็มีคนมาซื้อไป พอขายออกก็มีกำลังใจค่ะ เลยคิดจะทำคอลเลกชั่นต่อ
อีกอย่างมันคืออนาคตค่ะ เรามองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวนะ ทั้งเหรียญคริปโต ทั้ง NFT มันเพิ่งเริ่มต้น เป็นโอกาสให้งานของเราที่เป็นเราจริงๆได้ออกสู่สายตาคนทั้งโลก เป็นงานที่สามารถทำตามใจได้ อยากวาดยังไงก็วาด ถ้าคนเคยรับคอมมิชชั่นมันจะมีมุมที่ต้องทำเอาใจลูกค้า ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่ตัวเรา แต่พอมาทำ NFT งานที่ออกมา คือตัวเรา 100% ค่ะ
The MATTER: กระแสตอบรับในตลาด NFT เป็นไงบ้าง?
กระแสตอบรับคิดว่าดีนะคะ คือไม่ได้ขายหมดแผงแบบคนดังๆ แต่ก็มีคนซื้อบ้าง ของพวกนี้มันอยู่ที่จังหวะและเวลาค่ะ เป็นการลงทุนระยะยาว วันนี้ยังขายไม่ออก แต่ภาพก็ไม่ได้เน่าเสีย สักวันคนที่ชอบงานเราอาจจะผ่านมาเห็นก็ได้ พอคอมมูนิตี้ช่วยแชร์งานกัน ก็มีคนเห็นงานเราเยอะ โอกาสที่จะมีงานเข้ามาก็เยอะตาม ไม่มีอะไรที่สูญเปล่าเลยค่ะ
ติดตามผลงานของ Raareepaa ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: instagram.com
Twitter: twitter.com
Himavanta Kiddo Club
โดย Foofluffy
ผลงานคอลเลกชั่น Himavanta Kiddo Club โดย ‘อิง Foofluffy’ นักวาดภาพประกอบอิสระ ที่ส่วนใหญ่แล้ว จะทำงานแนวนิทานเด็ก จึงได้เห็นผลงานในรูปแบบที่เน้นไปที่ความน่ารัก นุ่มฟู และชิ้นงาน NFT เลยเป็นสไตล์นี้ด้วย โดยตอนนี้มีสองคอลเลกชั่นคือ Himavanta Kiddo Club และ Cotton Candy Girl
The MATTER: คอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
Himavanta Kiddo Club เป็นเรื่องราวของสัตว์หิมพานต์ที่กินขนมมากเกินไป จนกลายร่างเป็นขนมค่ะ (ฮ่าๆ) อิงเรียนจบสาขาศิลปะไทยมา ตอนเรียนอาจารย์จะพาไปดูงานจิตรกรรมไทยตามวัด แล้วก็จะมีสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจอิงมากเลยก็คือน้องๆ สัตว์หิมพานต์ทั้งหลาย
มันว้าวมาก ที่ได้เห็นสกิลออกแบบคาแรคเตอร์ของช่างไทยโบราณที่จับนั่นนี่มาผสมกันได้ลงตัวมากๆ แล้วก็นึกสงสัยว่าถ้าน้องๆ สัตว์หิมพานต์ใช้ชีวิตอยู่ในโลกของขนมหวานจะวิ่งเล่นกันอย่างมีความสุขแค่ไหนนะ เลยกำเนิดเป็นคอลเลคชั่นนี้ขึ้นมาค่ะ
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาในตลาด NFT?
ตอนที่ลงตลาดนี้ยังไม่ค่อยได้คิดอะไรนะคะ รู้แค่ว่าอนาคตตลาด NFT จะกลายเป็นเรื่องสามัญที่ศิลปินต้องเกี่ยวข้องด้วยแน่ๆ ก็เลยลองศึกษาดูก่อน แต่พอเข้ามาแล้วถึงเข้าใจว่าโลกในนี้มันกว้างมาก อย่างตอนนี้ก็มีวางแผนไว้ในใจว่าอยากลองสร้างงาน AR หรือ VR ให้มันเชื่อมกับโลก metaverse ได้ด้วย
เห็นบางคนก็เอา NFT ไปผูกกับของที่ใช้ได้ในชีวิตจริง อารมณ์แบบสั่งกาแฟแล้วได้ทั้งกาแฟจริงๆแล้วก็กาแฟที่เป็น NFT ด้วย อิงว่ามันน่าสนุกมากที่จะได้เรียนรู้โลกนี้ ยังมีอะไรให้ได้ค้นหาอีกเยอะมากเลยค่ะ แล้วอีกอย่างคือเราผันตัวไปเป็นนักสะสมได้ง่ายมาก แค่กดซื้องานก็กลายเป็นนักสะสมได้แล้ว เหมือนเป็นการลงทุนในรูปแบบนึงค่ะ
The MATTER: กระแสตอบรับจากตลาดนี้เป็นไงบ้าง?
ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก็พอขายได้เรื่อยๆ ตอนนี้เหมือนคนนิยมงานที่เป็นคอลเลกชั่นน้อยลงแล้ว เลยคิดว่าจะหันไปทำงาน 1-1 บ้างค่ะ แต่ก็ยังถือว่า NFT เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้อยู่รอดได้นะคะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ด้วยความที่เป็นตลาดกระจายศูนย์ (decentralized) เลยรู้สึกว่าเป็นหนทางที่จะทำให้นักวาดหน้าใหม่ ลืมตาอ้าปากได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสกิลการตลาดด้วยอีกส่วนหนึ่ง เราต้องแอกทีฟ หาไอเดียใหม่ตลอดเวลา ถึงจะทำให้เราอยู่รอดในตลาดนี้ได้
ติดตามผลงานของ Foofluffy ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: instagram.com
Twitter: twitter.com
Meet the Adventure Dudes
โดย warawork
ผลงานคอลเลกชั่น Meet the Adventure Dudes โดย ‘ก็อด–วรากร กีระนันทน์’ กราฟิกดีไซเนอร์ ที่หยิบเอาลายเส้นแบบดรอว์อิ้ง มาเรียกความทรงจำในวันเก่า ให้เราได้หวนนึกถึงช่วงเวลาในวัยเด็ก ทั้งรูปแบบของลายเส้น และคาแรคเตอร์ที่พร้อมไปผจญภัยกับเราในวันวาน
The MATTER: คอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
แรงบันดาลใจก็มาจากความชอบส่วนตัวล้วนๆ เลยครับ เป็นคนชอบเล่นเกมมาก หลายเกมที่เล่นก็เป็นเกม RPG บวกกับอยากวาดอะไรที่มันแฟนตาซี แต่ก็เข้าถึงง่ายกับทุกคนไปด้วย และไม่แฟนตาซีจนเกินไป ความรู้สึกแรกที่เรานึกถึงคือ Peter Rabbit กับ Winnie the Pooh ที่ทุกคนเป็นเพื่อนกัน และเดินทางไปพร้อมๆ กัน แต่ละคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
The MATTER: ทำไมถึงเลือกใช้ลายเส้นดรอว์อิ้ง?
อยากให้มันดูคลาสสิก แต่ในขณะเดียวกันก็ดูร่วมสมัย ให้รู้สึก nostalgia เหมือนเพื่อนคนหนึ่งในวัยเด็ก ก็เลยผสมสานเส้นดรอว์อิ้งที่มันแตกต่างกันไปในแต่ละตัว บางตัวก็อาจจะดู comics หน่อย บางตัวก็ fairy tale ไปเลย
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาในตลาด NFT?
อยากตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง และทำในสิ่งที่เราอยากทำ ตอนนั้นก็มองว่าเป็นโอกาส เราก็ต้องปรับตัวและลองดูโดยที่ก็ไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าเราลองเข้ามาและตั้งใจทำมันอย่างจริงจัง เราจะมองภาพได้ชัดขึ้นกว่าการมองคนอื่นทำไปด้วย
The MATTER: แล้วกระแสตอบรับเป็นไงบ้าง?
กระแสตอบรับค่อนข้างโอเค ในแง่ที่มีคนเห็นงานและแสดงความรู้สึกกับผลงานของเรา ส่วนตัวค่อนข้างพอใจมาก รู้สึกดี รู้สึกมีความมั่นใจขึ้นมาก แต่ในแง่ของการลงทุน ส่วนของผมยังไม่ชัดมากเท่าไร ยังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะตอนเข้ามาก็เป็นช่วงที่ gas fee สูงพอสมควรแล้ว แต่เราก็ขายได้อยู่ เลยไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดนั้น แต่มันก็ผันผวนจริงๆ นะ
ติดตามผลงานของ warawork ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: instagram.com
Twitter: twitter.com
animal fighting
โดย CHUTCHAI
ผลงานคอลเลกชั่น Animal Fighting โดย ‘อั๋น CHUTCHAI’ นักเขียนการ์ตูน นักวาดภาพประกอบ และอาร์ตไดเรกเตอร์ ที่มีผลงาน NFT เป็นคาแรคเตอร์เเหล่าสัตว์โลกหลากหลายรูปแบบ อย่าง Animales Cyborg และ Animal Fighting ที่ทั้งคู่ต่างมีสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ยังคงเอกลักษณ์จากศิลปินได้เป็นอย่างดี
สำหรับ Animal Fighting เราจะได้เห็นเหล่าสัตว์น้อยใหญ่มาสวมวิญญาณนักสู้ ใส่นวมพร้อมลงสนาม มาพร้อมกับลายเส้นที่ดุดัน ที่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดไหนก็พร้อมปล่อยสัญชาตญาณนักสู้ออกมาให้เราเห็นได้ อย่างกระต่าย อัลปากา หรือแม้แต่โคอาลาขี้เซาก็สามารถมาใส่นวมพร้อมรบได้เช่นกัน
The MATTER: คอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
อยากเอาความเป็นไทยไปขายครับ เลยนึกถึงมวยไทย แต่จะวาดเป็นคนแบบปกติก็คงไม่สนุกเท่าไหร่ เลยจับสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายมาใส่นวมครับ แล้วจากประสบการณ์ที่ทำงานมา ผมใช้เทคนิกหลากหลายมากเลยครับ แต่หลักๆ สไตล์ก็จะเน้นการ์ตูน หรือ comics ที่ตัวเองถนัด
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาในตลาด NFT?
มันคืออนาคตที่มาเปลี่ยนวงการศิลปะ จริงๆ ครับ ต้องยอมรับเลย เราได้ขายงานกับคนซื้อโดยตรง ถึงขนาดคนซื้อมาทักทายพูดคุยด้วยเลยครับ ซึ่งมาจากทั่วโลกเลย เป็นเรื่องที่ดีมากๆ มันช่วยในการขายงานได้ดี หากเรามีไอเดียที่ดีพอ นักสะสม นักลงทุนจะเห็นมัน
ติดตามผลงานของ CHUTCHAI ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: instagram.com
Twitter: twitter.com
imbearsionism
โดย _whysogigi_
ผลงานคอลเลกชั่น imbearsionism โดย ‘จีจี้ _whysogigi_’ สถาปนิก และศิลปิน NFT เจ้าของผลงานที่หยิบเอาน้องหมีไปใส่ในภาพวาดชื่อดัง ที่ยังคงความเป็นตัวเองไว้ด้วยการเลือกใช้สีแสนละมุน รวมทั้งพื้นผิวที่ราวกับเราจะสามารถสัมผัสฝีแปรงผ่านหน้าจอได้
The MATTER: คอลเลdชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
มาจากส่วนตัวชอบศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และชอบไปพิพิธภัณฑ์ หรือ art gallery ค่ะ และชอบประวัติศาสตร์ เลยอยากเอาคาแรคเตอร์ที่ตัวเองออกแบบให้ไปโผล่ในภาพดัง ให้เป็นแนว parody เพราะคิดว่าคนทั่วไปจะรู้จักและรู้สึกเข้าถึงได้ ทำให้เสพงานศิลปะได้มากขึ้น และมีเรื่องราวน่ารักๆหลอนๆ ลงไปด้วยค่ะ
คาแรคเตอร์ที่วาดก็คือหมีค่ะ จริงๆ คิดหลายคาแรคเตอร์มาก ทั้งจิ้งจอก แมว อัลปากา ไดโนเสาร์ แต่ลองหมีหน้ามึนแล้วคิดว่าลงตัวที่สุด เลยผสมคำว่า bear กับ impressionism เพราะชอบงานสไตล์ impressionism และที่มาของศิลปะแนวนี้อยู่แล้วด้วยค่ะ เลยเอาลายเส้นแบบ crayon tattoo มาดัดแปลงลงในงาน มันน่ารัก และลายเส้นน่าจะเข้าถึงคนได้ทั่วๆ ไปมากๆ เพราะแทบทุกคนต้องเคยใช้สีเทียนแน่นอนค่ะ
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจเข้ามาในตลาด NFT?
มีความสนใจเรื่องคริปโตฯ อยู่แล้วด้วยค่ะ ช่วงปีนี้อยากลองวาดงานดิจิทัล เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เหมือนว่าทำให้ตลาดศิลปะมันกว้างขึ้นมาก ทำให้ได้เงินมาเทรดได้อีก คนทั่วไปที่ไม่สนใจมาก่อนก็มาสนใจมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนโนเนมได้เติบโตได้มากเลยค่ะ จากที่ศึกษาสักพักคิดว่าอนาคตน่าจะอยู่ได้ยาว บวกกับการมี metaverse มาอีก
แต่คิดว่าจะมีการปรับตัวของคนแทบจะตลอดเวลาค มันอาจจะปรับไปเป็นรูปแบบอื่น และคิดว่ามันเป็นการสร้างแบรนดิ้งในตัวเองได้ด้วย มันไม่ใช่แต่ในโลกของ NFT แต่เราเอาความสามารถตัวเองไปต่อยอดได้อีกมากจากโอกาสตรงนี้
The MATTER: กระแสตอบรับเป็นไงบ้าง?
ผลตอบรับดีกว่าที่คิดมากเลยค่ะ มีคนชอบงานเราเยอะมาก ยอดการมีส่วนร่วมเยอะเกือบทุกครั้ง การขายช่วงเดือนแรกค่อนข้างโอเค ด้วยคอลเลกชั่นของเราไม่ได้เป็นสายใหนักลงทุนมาปั่นราคา แต่มีนักสะสมมาซื้อเรื่อยๆ แต่พอ gas fee สูงมากๆ ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เราเองก็โนเนมมากๆ เราไม่เคยวาดรูปขายเลย พอมีคนซื้องานก็รู้สึกดีใจมากๆ เพราะเป็นงานที่เราคิดมาเอง และคนซื้อก็ต้องชอบจริงๆ ด้วย สร้างความมั่นใจขึ้นได้เยอะมากเลยค่ะ
ติดตามผลงานของ _whysogigi_ ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: instagram.com
Twitter: twitter.com
WTF what the fox
โดย animalparade
ผลงานคอลเลกชั่น WTF what the fox โดย ‘แจม animalparade’ กราฟิกดีไซเนอร์ และนักพัฒนา UX/UI ที่หยิบเอาสุนัขจิ้งจอกและแมวน้อยมารวมร่างกับอาหาร ที่ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่แจมชอบและถนัด เราเลยได้เห็นน้องแมวโอนิกิริ ขนมปังสุขนัขจิ้งจอก และอีกสารพัดเมนูที่ยิ่งเลื่อนเท่าไหร่ ยิ่งตัดสินใจยากว่าชิ้นไหนนั้นน่ากินกว่ากัน
The MATTER: คอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
เริ่มมาจากชอบวาดสัตว์ค่ะ มีสัตว์ที่ชอบเป็นพิเศษคือแมวกับสุนัขจิ้งจอก แมวได้มีวาดไปแล้วในคอลเลกชั่นเชน ETH เลยตัดสินใจมาวาดจิ้งจอกในเชน Polygon บวกกับชอบวาดพวกของกินด้วย เลยเอามารวมกันกลายเป็นคอลเลกชั่น WTF what the fox
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
เริ่มจากเห็นเพื่อนทำ แล้วรู้สึกว่าสามารถหาเงินจากการวาดรูปได้ บวกกับเราชอบวาดรูปอยู่แล้ว และ NFT สามารถหาเงินเยอะกว่าการรับจ้างวาดภาพประกอบทั่วไป ถ้าคุณประสบความสำเร็จในวงการนี้ได้ เงินมันเยอะมากจริงๆ ซื้อบ้าน ซื้อรถ ย้ายประเทศยังได้ แต่การที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ใช้หลายๆ ปัจจัย การตลาด สร้างแบรนด์ คอมมูนิตี้ บวกกับดวง
จริงๆ แจมเพิ่งเข้ามาในวงการได้ประมาณสองเดือน และไม่ได้เข้ามาในตอน NFT กำลังบูม แจมเข้ามาช่วงที่ NFT เริ่มซาแล้ว บวกกับค่าเงิน ETH ที่แพงขึ้น ค่า gas fee ก็แพงขึ้น คนซื้อ คนเทรดน้อยลง คอลเลกชั่นในเชน ETH จึงขายได้บ้าง จากนั้นเลยมาลองลงงานในเชน Polygon ซึ่งไม่เสียค่า gas fee ทำให้คนซื้องานเราได้ง่ายกว่าขายออกง่ายกว่า
ติดตามผลงานของ animalparade ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Twitter: twitter.com
WORLD WILD WAR
โดย wutikai
ผลงานคอลเลกชั่น WORLD WILD WAR โดย ‘วุด wutikai’ อาร์ตไดเรกเตอร์ ที่มีผลงาน NFT หลายต่อหลายคอลเลกชั่น ไม่ว่าจะเป็น Journey To The West In The Post Apocalypse World, When I Went To Japan I Found…, Yokai Squad และ WORLD WILD WAR ที่เราจะได้เห็นสัตว์ชนิดต่างๆ ลุกขึ้นมาจับอาวุธ พร้อมลงสนามรบแบบเต็มข้อ
The MATTER: คอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังยุค 2000 เรื่อง 12 Monkeys ครับที่มีองค์กรณ์พยายามทำลายมนุษย์เพื่อคืนโลกให้สัตว์ รวมกับหนังเรื่อง Planet of the Ape และน้อง เกรตา ธันเบิร์ก ครับ
โดยเทคนิกที่ชอบคือการใช้สีคู่ตรงข้ามในส่วนของทั้งเงาและพื้นหลัง และพยายามดีไซน์ภาพให้รู้สึกว่าเป็น still life ครับ อุปกรณ์ก็ Galaxy Tab ครับสะดวกดี วาดบนรถไฟฟ้าตอนไปทำงานก็ได้
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
มองว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้รู้ว่าเราเก่งจริงรึเปล่านะ ไอเดีย สกิลของเราโลกจะยอมรับรึเปล่า และถ้ามีรายได้เข้ามาก็ยิ่งดีเพราะอุตสาหกรรมโฆษณาก็มีความไม่แน่นอนสูงน่าจะเป็นรายได้ให้เราได้ อีกอย่างก็เป็นโอกาสให้เราได้ศึกษาโลกคริปโตฯ เผื่อรัฐบาลเราทำประเทศล่มสลายเราจะได้มีเงินทานข้าวครับ
ติดตามผลงานของ wutikai ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: instagram.com
Twitter: twitter.com