เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราได้ข่าวศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ตัวแม่อย่าง มารินา อบราโมวิค
(Marina abramović) ทำผลงานศิลปะเชิงทดลองในรูปแบบของของกินที่เป็นขนมหวานสุดหรูสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง มาการง ที่เธอกล่าวว่ามันมีรสชาติเหมือนตัวเธอเอง ซึ่งทาง Life Matter ได้เขียนถึงข่าวนี้ไปแล้ว ก็ไปหาอ่านกันได้ที่นี่
ในตอนนี้ผมเลยขอนำเสนอเรื่องราวของงานศิลปะที่หยิบเอาของกิน หรือ อาหาร มาใช้เป็นสื่อในการสร้างสรรค์ผลงาน มาเล่าสู่ให้ฟังกันแทนก็แล้วกัน
มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ อาหารมักจะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับศิลปะอยู่เสมอ ตั้งแต่ในยุคหินที่ใช้น้ำที่คั้นจากพืชผักและไขมันสัตว์เป็นตัวยึดเกาะในส่วนผสมของสีของภาพวาดบนผนังถ้ำ และชาวอียิปต์ก็แกะสลักภาพสัญลักษณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารและขนมปังลงไปบนแผ่นจารึกเฮียโรกลิฟฟิก หรือในยุคเรอเนสซองส์ กุยเซปเป้ อาร์ชิมบอลโด (Giuseppe Arcimboldo) จิตรกรแห่งราชสำนักในกรุงเวียนนาและกรุงปราก ก็วาดภาพใบหน้าของคนอันพิสดารพันลึก ที่ประกอบขึ้นจากผลไม้ พืชผัก และดอกไม้
หรือในยุคทองของศิลปะดัชต์ (Dutch Golden Age) กับภาพวาดหุ่นนิ่ง (Still lifes) ของอาหารนานาชนิด ตั้งแต่นกเป็ดน้ำขนเลื่อมเป็นมัน บนถาดเงินแวววาว กับภาชนะเครื่องแก้วเครื่องเงินวาววับ กุ้งหอยปูปลา ขนมปัง ผลไม้สดฉ่ำ ขนมหวานอย่างพายไส้ผลไม้เชื่อม ไปจนถึงซากวัวชำแหละเลือดโชก ของศิลปินอย่าง อับราฮัม ฟาน แบร์เยเรน (Abraham van Beijeren), ยาคอบ คิลเลียค (Jacob Gillig), วิลเลียม คลาสซูน เฮดา (Willem Claeszoon Heda), ยาน เดวิตซ์. เดอ ฮีม (Jan Davidsz. de Heem) และศิลปินชั้นครูอย่าง เรมบรันด์ (Rembrandt) ภาพของอาหารเหล่านี้ถูกบรรจงวาดขึ้นให้เหมือนจริงอย่างมากเพื่อขับเน้นให้ผู้ดูภาพรู้สึกราวกับมีงานเลี้ยงเกิดขึ้นตรงหน้า
ในช่วงปี 1600 ภาพวาดเหล่านี้แสดงออกถึงความมั่งคั่งและภูมิปัญญาของเจ้าของภาพ ภาพวาดของอาหารแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์อันสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงข้อความในพระคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนั้นยังเป็นการจับเอาห้วงขณะหนึ่งของเวลาอันไม่จีรังของสรรพสิ่งที่เสื่อมสลายไปตามกาลให้หยุดนิ่งเอาไว้ในภาพวาดอีกด้วย
ในขณะที่ศิลปินในยุคศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ในลัทธิศิลปะโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionist) อย่าง ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) ก็มักจะวาดภาพหุ่นนิ่งของเหล่าผลไม้และภาชนะบนโต๊ะอาหาร แต่แทนที่จะวาดออกมาในรูปแบบเหมือนจริงอย่างศิลปินในอดีต เขากลับให้ความสำคัญกับสีสันสดใสและฝีแปรงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาและอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า
ในยุคของป๊อปอาร์ต อาหารกลายเป็นเครื่องมือในการแสดงอุปมาทางสังคม ศิลปินป๊อปอาร์ตอย่าง เวย์น ไทห์โบด (Wayne Thiebaud) วาดภาพขนมหวานอย่าง พาย ไอศครีม และขนมเค้ก ด้วยสีสันพาสเทลสดใสนุ่มนวล จนทำให้นึกไปถึงภาพถ่ายเมนูในภัตตาคาร มากว่าจะเป็นอาหารที่คนทั่วไปกินกันในบ้าน ผลงานของเขาเป็นการเสียดสีวัฒนธรรมบริโภคนิยมอันล้นเกินของสังคมอเมริกัน
หรือแม้แต่เจ้าพ่อป๊อปอาร์ตอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) เอง ก็หยิบเอาอาหารบรรจุกระป๋องอย่าง ซุปกระป๋องยี่ห้อ Campbell มาสร้างเป็นผลงานชุดที่โด่งดังและเป็นที่จดจำมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาขึ้นมาในปี 1962 เขากล่าวว่า เขากินซุปกระป๋องของ Campbell เป็นอาหารกลางวันติดต่อกันทุกวันมาเกือบ 20 ปี นอกจากจะเป็นอาหารโปรดของเขาแล้ว ภาพกระป๋องซุปแคมเบลล์ที่ถูกวางเรียงรายกันอย่างสวยงามบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เขาเคยเห็นเป็นประจำยังติดตาตรึงใจจนเขาต้องถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบในที่สุด ต่อมาภาพวาดซุปกระป๋อง Campbell ชุดนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในภาพเขียนที่ถูกหมายปองมากที่สุดจากนักสะสมงานศิลปะ หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก และมีราคาประมูลสูงกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว เรียกว่าเป็นซุปกระป๋องที่มีราคาแพงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้!
ในช่วงเวลาต่อมา แทนที่จะวาดรูปอาหารอย่างเดียว ศิลปินเริ่มหยิบเอาอาหารจริงๆ มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดังเช่นในปี 1970 ศิลปินนักเสียดสีสังคมชาวสวิส-เยอรมัน ดีเตอร์ รอธ (Dieter Roth) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Dieter Rot (เน่า) ทำงานศิลปะที่มีชื่อว่า Staple Cheese (A Race) ซึ่งเป็นการเล่นคำล้อเลียนคำว่า steeplechase ที่แปลว่า การขี่ม้าข้ามสิ่งกีดขวาง ผลงานศิลปะที่ประกอบด้วยกระเป๋าเดินทาง 37 ใบ ที่ใส่ชีสข้างในจนเต็มแน่น ส่วนชีสที่เหลือถูกบดบี้กับผนังห้องแสดงงานเพื่อให้มัน (แข่งกัน) ไหลหยดย้อยลงสู่พื้นห้อง สองสามวันหลังจากนิทรรศการเปิด ห้องแสดงงานก็อบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นสุดจะทานทน ในหอศิลป์เต็มไปด้วยหนอนเน่ายั้วเยี้ยยุ่บยับ และแมลงวันบินว่อนเป็นฝูง จนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องมาสั่งให้ปิดนิทรรศการ แต่ตัวศิลปินประกาศว่า อันที่จริง หนอนแมลงเหล่านี้นี่แหละ ที่เป็นผู้ชมที่แท้จริงของงานชุดนี้ของเขาต่างหาก (อ่านะ!)
ในช่วงยุค 1990s นิโกลาส์ บูริโยด์ (Nicolas Bourriaud) ภัณฑารักษ์และนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส พัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง (Relational Aesthetics) ที่เป็นการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการชมงานศิลปะจากรูปแบบเดิมๆ รวมถึงเปิดโอกาสและกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและผู้ชมงานศิลปะ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รายรอบ เช่น เวลา สถานที่ สถานการณ์ ประสบการณ์ รวมถึงกิจกรรมธรรมดาสามัญในวิถีชีวิตประจำวันอย่าง การกิน ก็ถูกมองว่าเป็นศิลปะในรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน
หนึ่งในตัวอย่างอันโดดเด่นที่สุดของแนวคิดนี้ คือผลงานที่มีชื่อว่า ผัดไทย (Pad Thai) ของศิลปินไทย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (Rirkrit Tiravanija) ที่ทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี (1990) ในหอศิลป์ Paula Allen ในนิวยอร์ก โดยแทนที่เขาจะวาดรูปแขวนให้คนเข้ามาดูมาชมในหอศิลป์เหมือนที่ศิลปินปกติทั่วไปเขาทำกัน เขากลับเข้าไปทำอาหารแจกให้คนที่เข้ามาดูงานกินกันฟรีๆ แทน โดยยกครัวเข้าไปตั้งในหอศิลป์และทำผัดไทยเสิร์ฟคนดูในแกลเลอรีที่นิวยอร์ก และทิ้งหม้อ กะทะ จาน ชามเปรอะเปื้อนคราบอาหารเอาไว้ในหอศิลป์ ให้คนเข้ามาชมหลังจากวันเปิด ผลงานชิ้นนี้สร้างความงุนงงสงสัยให้กับคนดูที่หวังว่าจะได้ดูงานศิลปะในหอศิลป์ แต่กลับได้กินอาหารกันฟรีๆ แทน โดยหารู้ไม่ว่าไอ้ที่ตัวเองกำลังกลืนลงท้องเข้าไปนั่นแหละคืองานศิลปะ! ภายหลังเขาตั้งชื่องานชิ้นนี้ใหม่ว่า Untitled (Free) (1992/1995/2007/2011)
นอกจากผัดไทยแล้ว ฤกษ์ฤทธิ์ยังทำงานศิลปะในรูปแบบของอาหารอย่างอื่นๆ อีก เช่นในปี 1992 เขาแจกแกงกะหรี่ฟรีในแกลเลอรีที่นิวยอร์กทุกวันในระหว่างที่แสดงนิทรรศการ หรือในเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 45 ในปี 1993 ที่เมืองเวนิส อิตาลี เขาเอาบะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูปและหม้อต้มน้ำไปวางไว้ในเรือแคนูสแตนเลสให้คนดูได้ทำบะหมี่กินกันเองในห้องแสดงงาน ส่วนในปี 2010 เขาทำแกงแดง (แกงเผ็ด) แกงเหลือง และแกงเขียวหวาน แจกให้ผู้เข้าชมนิทรรศการ (who’s afraid of red, yellow, and green) ที่แกลเลอรี 100 Tonson ในกรุงเทพฯ กินไปพลาง และชมภาพวาดสีถ่านบนฝาผนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปพลาง ซึ่งสีของแกงเหล่านี้แทนนัยยะของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสีเสื้อที่ร้อนแรงในช่วงนั้นนั่นเอง
หรือศิลปินลูกครึ่งอิตาเลียน/อังกฤษอย่าง วาเนสซา บีครอฟท์ (Vanessa Beecroft) ก็เอากิจกรรมการกินอาหารมาทำเป็นงานศิลปะเช่นกัน อย่างเช่นในผลงานศิลปะแสดงสดชื่อ VB52 (2003) ที่ให้ผู้หญิงจำนวน 30 คน ที่มีทั้งนางแบบที่แต่งกายกึ่งเปลือยและผู้หญิงธรรดา (รวมถึงแม่ของศิลปินด้วย) นั่งรับประทานอาหารบนโต๊ะกระจก
อาหารจะถูกเสิร์ฟโดยแยกเป็นสีต่างๆ โดยเสิร์ฟเป็นสีเดียวกันทั้งโต๊ะในแต่ละมื้อ เช่น สีเหลือง, สีส้ม, สีแดง, สีม่วง, สีน้ำตาล, สีขาว, สีเขียว ฯลฯ ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากสภาพชีวิตที่อดอยากแร้นแค้นและหิวโหยจนต้องควบคุมความอยากอาหารในครั้งวัยเยาว์ รวมถึงความทุกข์ทรมานจากโรคบูลิเมีย และความวิตกกังวลกับการลดน้ำหนักในช่วงวัยรุ่น จนทำให้เธอติดนิสัยในการเขียนไดอารีที่บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอกินมาเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงความหมกมุ่นเกี่ยวกับการเลือกกินอาหาร โดยช่วงหนึ่งเธอมักจะเลือกกินแต่อาหารที่มีสีเดียวกันซ้ำๆ เช่น สีแดง สีเขียว สีส้ม หรือสีขาว เพียงอย่างเดียวติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานๆ เหตุเพราะเธออยากทดสอบว่าการกินเช่นนี้จะส่งผลออกมาทางร่างกายของเธอไหม
หรือในผลงานศิลปะแสดงสดชื่อ VB65 (2009) ที่มีชายแอฟริกันอพยพ 20 คน สวมดินเนอร์สูท (แต่บางคนนั่งตีนเปล่าไม่ใส่รองเท้า) นั่งเรียงหน้ากระดานบนโต๊ะกระจกยาว 12 เมตร ก้มหน้าก้มตารับประทานไก่ ขนมปัง และน้ำ ด้วยมือเปล่าโดยไร้ภาชนะหรือช้อนส้อมใดๆ อย่างเงียบงันเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งภาพนี้เป็นการเลียนแบบภาพวาด อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระคริสต์ หรือ The Last Supper อันโด่งดังนั่นเอง
หรือผลงานของศิลปินไทย อริญชย์ รุ่งแจ้ง (Arin Rungjang) อย่าง Oceans/ Golden Tear Drop (Thong Yod) (2012) ที่ร่วมกับศิลปินชาวเมืองบรองซ์ นิวยอร์ก เชื้อสายเปอร์โตริกัน อาตุย รามอส-เฟอร์มิน (Hatuey Ramos-Fermin) ทำโครงการศิลปะที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างขนมหวานไทยและการเต้นรำของเปอร์โตริโก โดยใช้ประวัติศาสตร์ส่วนตัวของศิลปินและความทรงจำร่วมในการเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน
โดย อริญชย์ เลือกเครื่องปรุงอาหารอย่าง ‘น้ำตาล’ ในการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของเปอร์โตริโกที่เป็นสถานที่ที่โปรตุเกสใช้ผลิตน้ำตาลเป็นที่แรก เชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์ของสำนักคอนแวนต์ในโปรตุเกสในยุค 1500 ที่ใช้ไข่ขาวจำนวนมากในการลงแป้งเสื้อและหมวกของแม่ชี จนเหลือไข่แดงจำนวนมาก จึงนำไปดัดแปลงเป็นขนมที่มีชื่อว่า โอโวส โมเลส (Ovos Moles) ซึ่งเดินทางผ่านกาลเวลานับศตวรรษมายังดินแดนสยาม และวิวัฒนาการมาเป็นขนมหวานของสยาม จากการประดิษฐ์คิดค้นของสุภาพสตรีชาวโปรตุเกสที่มีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายอย่าง มารี กีมาร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ท้าวทองกีบม้า จนกลายเป็นขนมหวานสัญชาติไทยอย่าง ทองหยอด ในที่สุด
อริญชย์เสาะหาจนพบร้านขนมไทยในนิวยอร์กชื่อ น้ำตาล ซึ่งมีผู้หญิงชาวไทยที่ทำขนมทองหยอดอยู่ เขาจึงไปขอถ่ายทำวิดีโอกระบวนการทำขนม และนำขนมทองหยอดของเธอมาเสิร์ฟในวันเปิดงาน รวมถึงจัดเวิร์กช็อปให้เด็กๆ ชาวเมืองบรองซ์ ได้ลองทำทองหยอดกันในศูนย์เยาวชน THE POINT Community Development Corporation ในเมืองบรองซ์
ในเวลาต่อมาผลงานชุดนี้ของเขาถูกพัฒนาเป็นผลงานศิลปะจัดวาง ประติมากรรมและวิดีโออาร์ต ที่จัดแสดงในศาลาไทยในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 55 ในชื่อ Golden Teardrop (2013) ที่ส่งให้ชื่อของอริญชย์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะร่วมสมัยของโลกในที่สุด
ปัจจุบัน ศิลปินร่วมสมัยใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินเฟมินิสต์), เศรษฐกิจ และสังคม บางคนเปิดภัตตาคารที่เป็นรูปแบบของโครงการทางศิลปะ บางคนทำศิลปะการแสดงสดที่เตรียมและเสิร์ฟอาหารในแกลเลอรี บางคนทำประติมากรรมอันละเอียดอ่อนซับซ้อนขึ้นจากวัตถุดิบที่รับประทานได้อย่าง ช็อกโกแลต และชีส
กลับมาที่ มารินา อบราโมวิค บ้าง โปรเจ็กต์ศิลปะมาการงของเธอนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะเชิงทดลองที่ก่อตั้งขึ้นโดย ราฟาเอล กัสโตริอาโน่ (Raphaël Castoriano) ในปี 2009 ที่มีชื่อว่า Kreëmart ที่นำพาเหล่าศิลปินให้ก้าวออกจากกระบวนการทำงานศิลปะในรูปแบบเดิมๆ ด้วยการใช้ ‘น้ำตาล’ เป็นสื่อกลางในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยไม่จำกัดรูปแบบ ด้วยความร่วมมือของเชฟขนมหวานชั้นเยี่ยมในการผลิต ‘ขนมหวานศิลป์’ ในรูปแบบของตัวเองขึ้นมา
นอกจากมาการงของ อบราโมวิค ยังมีผลงานขนมหวานศิลป์ของศิลปินร่วมสมัยมากหน้าหลายตา อาทิ วิก มิวนิส (Vik Muniz), เทอร์เรนซ์ โกห์ (Terence Koh), คัลลัพ ลินซี (Kalup Linzy), เอนเซล์ม รีลลี (Anselm Reyle), ริชาร์ด ทัทเทิล (Richard Tuttle) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินชื่อดังของโลกอย่าง เมาริสซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) และ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช อีกด้วย
โดยคัตเตลานทำขนมหวานศิลป์ที่มีชื่อว่า Bubble Gum Cigarettes หรือ หมากฝรั่งบุหรี่ (แบบเดียวกับที่เราเคยกินเล่นกันตอนเด็กๆ นั่นแหละ) ผลงานชิ้นนี้ของเขากระตุ้นเร้าและตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิง โดยนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับบุหรี่ขึ้นมาใหม่ ในฐานะที่มันเป็นเครื่องประดับที่นำสมัยและเปี่ยมแฟชั่น
ส่วนฤกษ์ฤทธิ์ทำขนมหวานศิลป์ที่มีชื่อว่า untitled 2015 (tomorrow is on our tongue, as today pass from our lips) ที่เป็นขนมปังเวเฟอร์ทรงกลม ที่ทำออกมาในรูปลักษณ์คล้ายกับขนมปังศักดิ์สิทธิ์ในคริสตศาสนา โดยขนมปังแต่ละแผ่นที่มีรสชาติแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง จะถูกเสิร์ฟจากภายในห้องกระจกใส โดยนักแสดงที่รับบทบาทบริกรที่อยู่ภายในห้องจะคอยคีบขนมปังป้อนให้ผู้ชมงานที่เข้าแถวรอ ผ่านรูทรงกลมบนผนังห้องกระจกทั้งสี่ด้าน โดยที่ผู้ชมไม่สามารถเลือกได้เลยว่าจะได้รับรสไหนไป โดยห้องกระจกนี้เป็นอุปมาเกี่ยวกับบริบททางการเมืองและสังคมที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจในการเลือกที่แท้จริงของประชาชน และไม่ว่าปฏิกิริยาที่ได้รับจะเป็นความพึงพอใจ ความไม่อร่อย ความสับสน ผลงานชิ้นนี้ก็จะกระตุ้นผู้ชมด้วยรสชาติ และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาให้ตื่นขึ้นมา ด้วยประสบการณ์และรสชาติที่ได้รับอย่างไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่คนเดียว ชมวิดีโอผลงานชิ้นนี้ได้ที่นี่
งานศิลปะในรูปแบบของอาหารการกิน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความเป็นศิลปะอย่างใกล้ชิดสนิทสนม ถึงน้ำถึงเนื้อ (และถึงเส้น) เหล่านี้ นอกจากจะเป็นการทำลายเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับชีวิตประจำวัน ทำให้งานศิลปะเข้าถึงง่าย ไม่แปลกแยกเหินห่างกับผู้ชมแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “มันแดกได้” ด้วยน่ะครับ ท่านผู้อ่าน!
อ้างอิงข้อมูลจาก
ข้อมูลจาก หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ สำนักพิมพ์แซลมอน