ช่วงเวลานี้มีข่าวคราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศของคนในวงการศิลปะบ้านเราออกมาอย่างหนาหู ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ มีกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศออกมาอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกัน ราวกับเป็น #MeToo ในวงการศิลปะไทยก็ไม่ปาน ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยผู้หนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องและน่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เอ็มมา ซัลโควิชซ์ (Emma Sulkowicz)
ซัลโควิชซ์คือศิลปินแสดงสดชาวอเมริกัน เธอเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินผู้ทำงานศิลปะสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานศิลปะแสดงสดชื่อ Mattress Performance (Carry That Weight) (2014-2015) ที่ซัลโควิชซ์ทำขึ้นเพื่อประท้วงเหตุการณ์ที่เธอถูกเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยข่มขืนในหอพักของเธอเอง แต่เขากลับลอยนวลพ้นผิด
โดยในเดือนเมษายนปี ค.ศ.2013 ซัลโควิชซ์ที่ขณะนั้นเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ได้ยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่เธอศึกษาอยู่ให้ลงโทษ พอล นุงเกสเซอร์ (Paul Nungesser) เพื่อนนักศึกษาชาวเยอรมัน ให้พ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษา เธอแจ้งว่าเขาได้ทำการข่มขืนเธอในหอพักในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.2012 เธอกล่าวว่าในตอนแรกทั้งคู่เริ่มต้นมีเพศสัมพันธ์กันโดยความสมัครใจ แต่ต่อมาเขากลับใช้ความรุนแรง และทำร้ายร่างกายเธอโดยที่เธอไม่ยินยอม โดยเขาตบหน้า บีบคอเธอจนสำลัก และข่มขืนเธอทางทวารหนัก แต่สุดท้ายเขากลับพ้นผิดจากข้อกล่าวหาในการสอบสวนของมหาวิทยาลัย เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
ต่อมาในปี ค.ศ.2014 ซัลโควิชซ์แจ้งความดำเนินคดีนุงเกสเซอร์กับกรมตำรวจนครนิวยอร์ก แต่หลังจากเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการเขตได้สอบปากคำเธอและนุงเกสเซอร์ กลับพบว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อการดำเนินคดี และปฏิเสธที่จะรับแจ้งความ
ในที่สุดซัลโควิชซ์ก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะแจ้งดำเนินคดีต่อไป เธอกล่าวว่าเจ้าหน้าที่เพิกเฉยและปฏิบัติต่อเธออย่างเลวร้าย เธอจึงตัดสินใจทำผลงานศิลปะแสดงสดชุดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นงานศิลปนิพนธ์สำหรับเรียนจบ และยังเป็นการประท้วงและป่าวประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ
ในตอนแรกซัลโควิชซ์ทำงานชิ้นนี้เป็นวิดีโอบันทึกภาพของเธอที่กำลังรื้อเตียงนอน ประกอบกับเสียงบทสนทนาระหว่างเธอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เธอบันทึกไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือในขณะกำลังแจ้งความ ก่อนที่เธอจะใช้เตียงที่ว่านั้นทำงานศิลปะแสดงสดแทน เตียงนอน (หรืออันที่จริงคือ ‘ฟูกที่นอน’) ที่ใช้ในการแสดงสดของเธอเป็นฟูกที่นอนสีน้ำเงินเข้ม ขนาดยาวเป็นพิเศษ และมีน้ำหนักถึง 50 ปอนด์ (23 กก.) มันเป็นฟูกเตียงนอนที่ใช้ในหอพักของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ฟูกแบบเดียวกับที่เธอถูกข่มขืน
โดยเธอเขียนสิ่งที่เรียกว่า “กฎการปะทะ” (rules of engagement) บนผนังสตูดิโอทำงานของเธอในมหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า “เธอต้องแบกฟูกที่นอนนี้กับตัวเอาไว้ตลอดเวลาที่เธอไปไหนมาไหนในพื้นที่มหาวิทยาลัย เธอยังไม่ได้รับอนุญาตให้ร้องขอความช่วยเหลือในการแบกที่นอนนี้จากใครก็ตาม เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะยื่นมือมาช่วยเหลือเธอเอง” เธอกล่าวว่าการทำเช่นนี้เป็นประสบการณ์ที่ทรมานร่างกายเอามากๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำสำหรับเธออย่างยิ่ง
“ในความคิดของฉัน ที่นอนเป็นตัวแทนของพื้นที่ส่วนตัวที่มีเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวเกิดขึ้นมากมาย การที่ฉันนำเอาชีวิตส่วนตัว หรือข้าวของบางสิ่งบางอย่างที่เป็นส่วนตัวออกมาแสดงให้สาธารณชนได้เห็นนั้น เป็นการสะท้อนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของฉันที่ผ่านมา ที่นอนเป็นตัวแทนของภาระส่วนตัวของฉัน เพราะสิ่งที่เคยเกิดขึ้นบนนั้นเปลี่ยนให้ความสัมพันธ์ของฉันกับเตียงกลายเป็นอะไรที่เลวร้ายและอันตราย”
ซัลโควิชซ์พัฒนาแนวคิดในการทำงานผลงานศิลปะแสดงสด ‘แบกที่นอน’ ชุดนี้ ร่วมกับศิลปินอเมริกัน จอห์น เคสส์เลอร์ (Jon Kessler) อาจารย์ที่ปรึกษางานศิลปนิพนธ์ของเธอ โดยได้แรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินแสดงสดอย่าง มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramović), อูไลย์ (Ulay) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : thematter.co), คริส เบอร์เดน (Chris Burden) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : www.matichonweekly.com), และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินแสดงสดระดับปรมาจารย์อย่าง เฉีย เต๋อชิ่ง (Tehching Hsieh) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : thematter.co) ศิลปินที่ต่างใช้ร่างกายท้าทายขีดจำกัดความอดทนของมนุษย์อย่างสุดขีดคลั่ง
การแสดงสดของซัลโควิชซ์ในครั้งนั้น รวมถึงประเด็นที่เธอต้องการจะสื่อสาร ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมากจนสื่อขนานนามว่า “หญิงสาว(ผู้แบก)ที่นอน” ซัลโควิชซ์กล่าวว่าเธอจะยุติการแสดงชุดนี้ก็ต่อเมื่อนุงเกสเซอร์ผู้ข่มขืนเธอถูกลงโทษให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา หรือไม่ก็ออกจากมหาวิทยาลัยไปเอง และเธอจะแบกที่นอนไปในพิธีรับปริญญา (ถ้าจำเป็น)
ท้ายที่สุดซัลโควิชซ์ก็แบกฟูกที่นอนมางานรับปริญญาของเธอในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2015 โดยไม่ใส่ใจกฎข้อบังคับที่ว่า “นักศึกษาต้องไม่นำวัตถุขนาดใหญ่ที่อาจขัดขวางการดำเนินพิธีเข้ามาในการรับปริญญา” โดยมีเพื่อนนักศึกษาหญิงหลายคนที่ร่วมรับปริญญาช่วยกันแบกที่นอนเข้ามาท่ามกลางเสียงเชียร์สนั่นของเพื่อนนักศึกษาที่เหลือ ในขณะที่อธิการบดีผู้แจกปริญญาบัตรไม่ยอมจับมือแสดงความยินดีกับเธอ โดยทางมหาวิทยาลัยอ้างว่าเป็นเพราะถูกฟูกที่นอนขวางทางอยู่ (อะนะ!) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ : www.youtube.com)
หลังจบการศึกษา ซัลโควิชซ์กล่าวว่า เธอกะอยู่แล้วว่ามหาวิทยาลัยคงไม่ลงโทษนุงเกสเซอร์ให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา เธอจึงทำการแสดงสดแบกที่นอนต่อเนื่องเป็นเวลาเก้าเดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับการตั้งครรภ์ของผู้หญิง โดยเธอกล่าวว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลงานชุดนี้
“สำหรับฉัน ผลงานชุดนี้นำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ชายคนหนึ่งทำสิ่งที่เลวร้ายกับฉัน และฉันเปลี่ยนประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นให้กลายเป็นสิ่งที่งดงาม”
ในขณะที่ตัวผู้ก่อเหตุอย่าง พอล นุงเกสเซอร์ เองก็ทำการฟ้องร้องประธารกรรมการบริหารของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและอาจารย์ที่ปรึกษาของซัลโควิชซ์ ในข้อหาที่พวกเขาอำนวยความสะดวกให้ซัลโควิชซ์ทำโครงการศิลปะที่คุกคามทางเพศต่อเขาและทำให้เขาตกเป็นจำเลยสังคม แต่คดีก็ถูกยกฟ้องไปในที่สุด
ในขณะที่ผลงานศิลปะแสดงสดแบกที่นอน หรือ Mattress Performance (Carry That Weight) เป็นการประท้วงต่อต้านการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ ในเวลาหลังจากนั้นไม่นานเธอก็ทำผลงานศิลปะแสดงสดอีกชิ้นที่เป็นเหมือนการทบทวนและตั้งคำถามต่อประสบการณ์อันเลวร้ายที่เธอได้รับ โดยในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2015 ซัลโควิชซ์และศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน เท็ด ลอว์สัน (Ted Lawson) ร่วมกันเผยแพร่ผลงานชื่อ Ceci N’est Pas Un Viol (2015) (นี่ไม่ใช่การข่มขืน) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ประกอบด้วยวิดีโอความยาวแปดนาที ที่บันทึกภาพซัลโควิชซ์กำลังมีเซ็กส์กับชายไม่ทราบชื่อในห้องพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ : www.cecinestpasunviol.video)
ในเว็บไซต์มีข้อความเกริ่นนำจากซัลโควิชซ์ เน้นย้ำว่าเหตุการณ์ที่เห็นในวิดีโอเกิดจากความยินยอมพร้อมใจทั้งหมด แม้ว่าในตอนท้ายของวิดีโอจะแสดงให้เห็นถึงความรุนแรง การใช้กำลัง และการต่อต้านขัดขืนจากเธอ โดยในฉากปรากฏภาพของซัลโควิชซ์กำลังมีเซ็กส์กับชายคนหนึ่งที่ใบหน้าถูกเบลอเอาไว้เพื่อปกติตัวตนของเขา ในตอนแรกดูเหมือนจะเป็นการมีเซ็กส์กันตามปกติ แต่ในเวลาต่อมา ชายคนดังกล่าวเริ่มใช้ความรุนแรงกับเธอ โดยเขาตบหน้าเธอสองครั้ง บีบคอเธอ ถอดถุงยางอนามัยออก และบังคับมีเซ็กส์ทางทวารหนักกับเธอ โดยที่เธอต่อต้านและร้องขอให้เขาหยุด แต่ก็ไม่เป็นผล ก่อนที่เขาจะผละจากเธอและเก็บเสื้อผ้าเดินออกไปจากห้อง ปล่อยให้เธอนอนอยู่ตามลำพัง ซัลโควิชซ์เน้นย้ำว่าเหตุการณ์ทั้งหมดในวิดีโอคือการแสดง และเขาไม่ได้ข่มขืนเธอจริงๆ แต่ที่แน่ๆ คือทั้งสองมีเซ็กส์กันจริงๆ โดยไม่มีสลิง เอฟเฟกต์ หรือตัวแสดงแทนแต่อย่างใด
นอกจากเขียนสคริปต์ของวิดีโอชิ้นนี้แล้ว ซัลโควิชซ์ยังเป็นคนเลือกมุมกล้องในการถ่ายทำ โดยลอว์สันทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดงของวิดีโอ ภาพของวิดีโอถูกถ่ายด้วยกล้องวงจรปิดสี่จอไปพร้อมๆ กัน โดยในแต่ละจอกำกับวันเวลาเอาไว้เป็นวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.2012 โดยเริ่มต้นในเวลา 02:10 นาฬิกา และจบลงที่ 02:18 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันเวลาเดียวกับเหตุการณ์ที่เธอถูกข่มขืน
ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นการจำลองเหตุการณ์ที่เธอถูกข่มขืนขึ้นมาใหม่ แต่ซัลโควิชซ์ชี้แจงว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการสำรวจธรรมชาติของการมีเพศสัมพันธ์โดยยินยอมพร้อมใจ และไม่ใช่การจำลองเหตุการณ์ที่เธอถูกข่มขืนแต่อย่างใด (ถึงแม้จะดูเหมือนก็ตาม) เธอยังกล่าวในภายหลังว่า ผลงานชิ้นนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผลงานศิลปะแสดงสด Mattress Performance (Carry That Weight) แต่อย่างใด
นอกจากคำชี้แจงดังกล่าวแล้ว ในเว็บไซต์ยังมีชุดคำถามที่เธอทิ้งเอาไว้ให้ผู้ที่เข้ามาชมผลงานชิ้นนี้อ่านก่อนชมงาน อย่าง “คุณกำลังค้นหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์อะไรกันแน่?” “คุณกำลังมองหาวิธีที่จะทำร้ายหรือช่วยฉันกันแน่?” “คุณกำลังมองหาอะไรอยู่?” “คุณต้องการความพึงพอใจไหม?” “หรือคุณอยากรู้สึกขยะแขยง?” แล้วมันขัดต่อความรู้สึกพึงพอใจโดยไม่รู้ตัวของคุณไหม?” “คุณต้องการอะไรจากประสบการณ์ครั้งนี้?” เป็นต้น
เธอยังกล่าวในข้อความว่า “คุณอาจสงสัยว่าทำไมฉันถึงต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงแบบนี้ ฟังนะ ฉันต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ และมันเริ่มต้นที่ตัวคุณ ลองมองตัวเอง ว่าถ้าคุณดูวิดีโอนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากฉัน ฉันหวังว่าคุณจะไตร่ตรองถึงเหตุผลที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการข่มขืนฉัน ไม่อย่างงั้นคุณก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการทำให้ผลงานชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณอยากให้เป็น นั่นคือการข่มขืน ได้โปรดอย่ามีส่วนร่วมในการข่มขืนฉันอีกเลย โปรดดูด้วยใจที่เมตตาเถิด”
ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดย ลอว์สัน ผู้กำกับผลงานชิ้นนี้กล่าวว่า Ceci N’est Pas Un Viol เป็นงานที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและสื่อโซเชียลมีเดีย เขากล่าวว่าหัวใจสำคัญของผลงานชิ้นนี้คือปฏิกิริยาจากผู้ชมออนไลน์ จากมหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสารอันปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องแสดงความเห็นของเว็บไซต์
หลังจากเผยแพร่ไปเพียงห้าวัน มีชาวเน็ตเข้าไปแสดงความเห็นถึง 2,700 ข้อความ โดยส่วนใหญ่เป็นข้อความในแง่ลบและเย้ยหยันซัลโควิชซ์ ทั้งการดูถูกเหยียดหยามทางเพศ เชื้อชาติ และข่มขู่ด่าทอถึงรูปลักษณ์ เชื้อชาติ และสุขภาพจิตของเธอ และยังกล่าวว่าเธอหิวแสงและเรียกร้องความสนใจ บ้างก็ว่าเธอสมควรโดนกระทำอย่างที่เห็นในวิดีโอ และกล่าวว่าสิ่งที่เห็นดูไม่เหมือนการข่มขืนตรงไหน บางคนคัดลอกวิดีโอของเธอไปโพสต์ลงเว็บไซต์ลามก และยังถูกโจมตีและปิดการเข้าชมโดยแฮ็กเกอร์หลายครั้ง ซัลโควิชซ์กล่าวถึงเสียงเย้ยหยันเหล่านี้ว่า
“ตอนแรกฉันก็รู้สึกแย่นะ แต่หลังจากฉันพลันคิดได้ว่า สิ่งที่เจ๋งเกี่ยวกับการอยู่ในจุดยืนของคนที่ถูกล่าแม่มดเสียบประจานก็คือ ยิ่งฉันถูกคนเกลียดเท่าไหร่ ฉันยิ่งได้รับพลังอำนาจของแม่มดมากขึ้นเท่านั้น ทุกคำดูถูกที่พวกคุณมีให้ฉัน ยิ่งส่งเสริมให้การแสดงของฉันเข้มแข็งและทรงพลังยิ่งขึ้น ฉันเพิ่งตระหนักรู้เมื่อไม่นานนี้ถึงแนวคิดเกี่ยวกับการได้รับพลังอำนาจจากการถูกบั่นทอน มันร้ายกาจมาก เพราะความเกลียดชังที่พวกคุณมอบให้ทั้งหมดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของมนต์สะกดของฉัน”
อนึ่ง ชื่อของผลงานชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากข้อความในภาพวาดของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ระดับตำนาน เรอเน มากริตต์ (René Magritte) อย่าง The Treachery of Images (1929) ที่เขียนว่า “Ceci n’est pas une pipe” (นี่ไม่ใช่กล้องยาสูบ) นั่นเอง
ในปี ค.ศ.2017 ซัลโควิชซ์ทำผลงานศิลปะแสดงสดชื่อ The Ship Is Sinking ที่ดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ต่อผู้คนที่ดูถูกเหยียดหยามเธอ โดยเธอสวมชุดบิกีนีสีขาวที่ประดับด้วยโลโก้ Whitney ซึ่งเป็นชื่อของพิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันชื่อดัง และถูกศิลปินมัดเชือก S&M มืออาชีพนาม Master Avery ผู้สวมบทบาทเป็น “มิสเตอร์วิทนีย์” ทำการแสดงที่ประกอบด้วยการมัดเชือกล่ามเธอเข้ากับคานไม้ที่แขวนลงมาจากเพดาน แล้วทรมาน เฆี่ยนตี และดูถูกเธอเป็นระยะ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของเธอทั้งสิ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ : vimeo.com)
ด้วยผลงานชุดนี้ ซัลโควิชซ์แสดงการเสียดสีกลับต่อผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์เธอว่าหิวแสงและเรียกร้องความสนใจ โดยเธอกล่าวว่า
“หลายคนมักจะกล่าวหาว่าฉันเป็นกะหรี่หิวแสง เรียกร้องความสนใจ ฉันเลยแสดงออกมาให้เห็นในงานชิ้นนี้เสียเลย ในระหว่างการแสดง มิสเตอร์วิทนีย์พร่ำพูดกับฉันว่า ‘เป็นยังไงล่ะ ได้แสงพอหรือยัง? อยากให้คนสนใจนักนี่?’ แล้วก็เฆี่ยนตีฉัน ด้วยการแสดงนี้ ฉันต้องการแสดงให้เห็นว่า เมื่อเหยื่อที่ถูกข่มขืนออกมาเปิดเผยตัว แล้วทุกคนบอกว่า เธอก็แค่เรียกร้องความสนใจ แล้วพวกคุณคิดว่าความสนใจห่ะเช็ดแบบไหนที่เหยื่อที่ถูกข่มขืนต้องการได้รับวะ? ความสนใจจากพวกเกรียนถ่อยๆ ที่ส่งข้อความมาข่มขู่เธอน่ะเหรอ? คุณคิดผิดแล้วล่ะ ฉันทำงานแสดงสดชุดนี้ที่สร้างคู่เปรียบระหว่างตัวฉันที่ถูกกล่าวหาว่าเรียกร้องความสนใจ กับตัวฉันที่ถูกเฆี่ยนตี เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกคนที่กล่าวหาว่าฉันเรียกร้องความสนใจ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ข่มขืนและล่วงละเมิดฉันด้วยตัวเองนั่นแหละ”
ผลงานชุดนี้ของเธอยังเป็นการตั้งคำถามถึงบทบาทและอำนาจของเพศชายผิวขาวในโลกศิลปะตะวันตกที่มีต่อมาตรฐานทางสังคมและค่านิยมเกี่ยวกับความงามของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมถึงสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความยินยอมพร้อมใจ (consent) ในเรื่องเพศที่อยู่นอกเหนือขนบทางสังคมตามปกติอีกด้วย
“ฉันคิดว่าคนเรามีแรงกระตุ้นเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แล้วคุณจะแสดงความรุนแรงเหล่านี้ิออกมาได้ยังไงล่ะ? คุณอาจระบายมันอย่างซาดิสต์กับเหยื่อที่ไม่เต็มใจ หรือคุณอาจหาคนที่ยินยอมพร้อมใจเล่นสนุกแบบนี้กับคุณได้ และมันก็จะเป็นการใช้ความรุนแรงได้อย่างยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย ฉันรู้สึกว่าถ้าคนที่ชอบข่มขืนรู้วิธีที่จะตอบสนองความปรารถนาอันดำมืดของตัวเองได้โดยมีการยินยอม (consent) เราก็อาจจะลดการข่มขืนลงได้บ้าง ไม่มากก็น้อย นั่นเป็นโครงการศิลปะที่ฉันและเพื่อนๆ กำลังร่วมทำขึ้นเกี่ยวกับการให้ความรู้คนในเรื่องนี้”
นอกจากทำงานศิลปะเพื่อต่อต้านการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในกรณีของตัวเองแล้ว ซัลโควิชซ์ยังทำงานศิลปะเพื่อต่อต้านประเด็นการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในวงการศิลปะอีกด้วย โดยในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2018 เธอทำงานศิลปะแสดงสดเชิงประท้วงต่อศิลปินระดับตำนานชาวอเมริกันอย่าง ชัค คโลส (Chuck Close) ผู้ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวหลายคน ด้วยการเปลื้องเสื้อผ้าจนเหลือแต่ชุดชั้นในสีดำ แปะเทปกาวเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายดอกจัน ( * ) ลงไปบนตัวจนลายพร้อย และยืนโพสท่าอยู่หน้าผลงานของ ชัค คโลส รวมถึงผลงานของศิลปินผู้มีชื่อเสียเกี่ยวกับการกดขี่และล่วงละเมิดผู้หญิงตัวพ่ออย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำอย่าง Metropolitan Museum of Art และ Museum of Modern Art (MoMA)
“ดอกจัน เป็นเครื่องหมายวรรคตอนเล็กๆ ที่เน้นย้ำถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่การล่วงละเมิดทางเพศมีต่อผู้หญิงเหล่านั้น การต้องเปลื้องผ้าจนเกือบเปลือยเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์นักสำหรับฉัน แต่ฉันต้องการเน้นย้ำให้เห็นถึงประสบการณ์อันเลวร้ายของเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยเครื่องหมายดอกจันเหล่านี้” ซัลโควิชซ์กล่าว
เธอยังกล่าวว่าเธอได้แรงบันดาลใจจากศิลปินหญิงผู้ทำงานศิลปะแสดงสดในเชิงต่อต้านทางเพศแบบกองโจรอย่าง แอนเดรีย เฟรเซอร์ (Andrea Fraser) ที่แสร้งมีเพศสัมพันธ์กับเสาในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลเบา ในผลงาน Little Frank and His Carp (2001) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ : vimeo.com) หรือศิลปินหญิงชาวลักเซมเบิร์ก เดโบราห์ เดอ โรเบอร์ทิส (Deborah De Robertis) ที่เข้าไปนั่งเปิดหวออ้าซ่ากางขากว้างเอามือแหวกโชว์น้องจิ๋มอล่างฉ่างเบื้องหน้าภาพ Origin of the World (1866) ของ กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) ในพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Musée d’Orsay) กรุงปารีส ในปี ค.ศ.2014 (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : thematter.co) เธอกล่าวว่าศิลปินหญิงเหล่านี้เปิดเผยร่างกายของตัวเองในการแสดงสดอย่างทรงพลัง
ถึงแม้จะมีภาพลักษณ์เป็นศิลปินนักต่อสู้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ แต่ซัลโควิชซ์ก็ยืนยันว่าเธอไม่ใช้ศิลปินหัวการเมือง ตอนที่เธอทำงานแสดงสด Mattress Performance (Carry That Weight) เธอยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแนวคิดสตรีนิยมหรือเฟมินิสม์นั้นคืออะไร เธอแค่แสดงเรื่องราวของตัวเองออกมาเท่านั้นเองแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่หลายครั้งก็เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แบบนี้ได้เหมือนกันแหละนะ จริงไหมครับ ท่านผู้อ่าน?.
อ้างอินข้อมูลจาก