เมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวฮือฮาในบ้านเราเกี่ยวกับการจับกุมนักทำคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ หรือ ‘เซ็กซ์ครีเอเตอร์’ ผู้โด่งดังในโลกออนไลน์จากการนำเสนอคอนเทนต์ทางเพศในเว็บไซต์ OnlyFans ด้วยความผิดในหลายข้อหา โดยเฉพาะข้อหาการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างยิ่งในสังคมที่เปี่ยมด้วยศีลธรรมอันดีงาม (แต่แอบถือสากในมือ) ของประเทศนี้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง กิจกรรมทางเพศ หรือ เซ็กซ์ นั้นเป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามหรือน่ารังเกียจรังงอนจนต้องซ่อนเร้นให้มิดชิดไปได้
ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะที่สำรวจประเด็นเกี่ยวกับ เซ็กซ์ หรือ กิจกรรมทางเพศ กันอย่างลึกซึ้ง แล้วก็ไม่ใช่แค่การนำเสนออย่างห่างเหินในรูปของภาพวาดหรือประติมากรรมแต่อย่างใด หากเป็นอะไรที่ใกล้ชิดแนบเนื้อ ถึงขนาดที่ศิลปินบางคนถึงกับทุ่มตัวลงไปกระทำกิจกรรมที่ว่านี้ด้วยตนเองกันเลยทีเดียว
เริ่มต้นกันที่ศิลปินร่วมสมัยตัวพ่อชาวอเมริกันอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ผู้นำเอาวัตถุและข้าวของที่พบเห็นเกลื่อนกลาดดาษดื่นในวัฒนธรรมป๊อปมาผลิตซ้ำในรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงอื้อฉาวให้กับเขาที่สุดชุดหนึ่งคือ ผลงานที่พิพิธภัณฑ์วิทนีย์และภัณฑารักษ์รับเชิญ มาร์วิน ไฮเฟอร์แมน (Marvin Heiferman) เชื้อเชิญคูนส์ให้ทำงานศิลปะเกี่ยวกับสื่อบนบิลบอร์ดสำหรับนิทรรศการ ‘Image World: Art and Media Culture’ ในปี ค.ศ.1989 ซึ่งเป็นนิทรรศการที่สำรวจความเชื่อมโยงของศิลปินกับวัฒนธรรมสื่อสารมวลชน
คูนส์จึงไหว้วาน อิโลนา สตัลเลอร์ (Ilona Staller) ภรรยาของเขาในขณะนั้น ซึ่งเป็นอดีตดาราหนังโป๊ชาวฮังกาเรียน-อิตาเลียนผู้มีฉายาในวงการว่า ซิเคียวลินา (Cicciolina) (นอกจากแสดงหนังโป๊แล้ว อิโลนายังเป็นนักร้องออกอัลบั้มเพลง แถมยังเล่นการเมืองด้วย โดยเธอชนะการเลือกตั้งเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภาอิตาเลียน ในปี ค.ศ.1987) ให้มาร่วมโพสท่าเป็นนางแบบถ่ายภาพคู่กับเขา จนกลายเป็นผลงาน Made in Heaven (1989–1991) ซีรีส์ภาพถ่ายขนาดมโหฬารที่แสดงภาพคูนส์และอิโอนาในชุดวันเกิด โพสท่าประกอบกิจกามอันสุนทรีย์กันอย่างโจ๋งครึ่มจะแจ้งหลากท่วงท่า โดยตั้งชื่อแต่ละภาพอย่างน่าหวาดเสียวอย่าง Dirty Ejaculation (หลั่งเลอะเทอะเหยอะแหยะ) หรือ Ilona’s Asshole (รูดากของอิโลนา) เป็นต้น
ถึงแม้จะฟังดูลามกโจ๋งครึ่ม แต่คูนส์ก็อ้างว่าผลงานชุดนี้ของเขาอ้างอิงไปถึงภาพวาดของศิลปินในยุคบาโรกและโรโกโก และศิลปินในช่วงต้นยุคโมเดิร์นอย่าง เอดูอาร์ มาเนต์ หรือ กุสตาฟ กูร์แบ เพื่อเป็นการสำรวจที่ทางของเรื่องเพศในวัฒนธรรมทางสายตา อย่างงานทัศนศิลป์ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา คูนส์ยังกล่าวว่าภาพ ‘รูดากของอิโลนา’ ของเขาเป็นเสมือนหนึ่งบทสนทนาอันงดงามกับภาพวาด ‘โฟกัสน้องจิ๋ม’ หรือ The Origin of the World (1866) อันสุดอื้อฉาวของกูร์แบนั่นเอง ผลงานชุดนี้ของเขายังถูกทำต่อเนื่องเป็นซีรีส์ศิลปะในรูปแบบภาพวาด งานเครื่องแก้ว และประติมากรรมอีกด้วย
ผลงานชุดนี้ของคูนส์ทำให้ผู้เข้าชมงานทั้งหลายตกตะลึง อึ้ง ทึ่ง เสียวไปตามๆ กัน ในขณะเดียวกันเขาก็สร้างสุนทรียะอันโดดเด่นที่เชื่อมโยงกับความเย้ายวนใจที่ปรากฏในสื่อทั้งหลาย เขาลบเลือนพรมแดนระหว่างศิลปะและสื่อลามก และท้าทายขนบธรรมเนียมของรสนิยมทางศิลปะ กระตุ้นให้คนดูตัดสินใจด้วยตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขารับได้ เหนืออื่นใด เขาต้องการสื่อสารกับผู้คนให้ยอมรับและโอบกอดตัวตนของตัวเองด้วยการใช้ร่างกายอันเปล่าเปลือยและท่วงท่าอันเปิดเผยของกิจกรรมทางเพศเพื่อลดทอนระยะห่างระหว่างผู้คนกับร่างกายของตัวเอง คูนส์ต้องการใช้งานศิลปะของเขาเป็นเครื่องมือในการขจัดความรู้สึกผิดและความอับอายของผู้คนที่มีต่อร่างกายและเรื่องเพศของตน
ไม่เพียงศิลปินเพศชายเท่านั้นที่ใช้กิจกรรมการร่วมเพศเป็นงานศิลปะ ศิลปินเพศหญิงเองก็ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน แถมยังต่อยอดไปอีกระดับด้วยการขยับจากการนำเสนอภาพนิ่งมาเป็นภาพเคลื่อนไหว อย่างเช่นผลงานของ แอนเดรีย เฟรเซอร์ (Andrea Fraser) ศิลปินหญิงชาวอเมริกันเจ้าของผลงานศิลปะแสดงสดสุดฉาว เร้าอารมณ์ และชวนช็อก ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ สังคม หรือแม้แต่ความแสเสร้งจอมปลอมของวงการศิลปะ
ในผลงานที่อื้อฉาวที่สุดของเฟรเซอร์อย่าง Untitled (2003) ที่จัดแสดงในแกลเลอรี ฟรีดริก เพตเซล ในนิวยอร์ก ปี ค.ศ.2004 งานศิลปะในสื่อวิดีโอความยาว 1 ชั่วโมง ที่ฉายภาพเฟรเซอร์กำลังมีเซ็กซ์กับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นนักสะสมงานศิลปะผู้ยอมจ่ายเงินจำนวน 20,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศ(ในนามของศิลปะ)ร่วมกับเธอ เฟรเซอร์กล่าวว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่การมีเซ็กซ์ หากแต่เป็นการประกอบกิจกรรมทางศิลปะต่างหาก
วิดีโอเริ่มต้นด้วยภาพของเธอและเขาเข้ามาในห้องพักโรงแรมแห่งหนึ่ง พวกเขานั่งพูดคุยกันอยู่บนเตียงสักพัก เขาเริ่มสัมผัสต้นขาเธออย่างกระดากอาย เธอจูบเขา ถอดกางเกงของเขาออก และถอดชุดของตัวเอง เธอปลุกเร้าเขา จากนั้นทั้งสองก็ประกอบกิจกรรมทางเพศ (หรืออันที่จริง ‘กิจกรรมทางศิลปะ’ ตามคำกล่าวของเธอ) กันแทบจะในทุกท่วงท่าลีลาที่เราสามารถจินตนาการได้ จนกระทั่งทั้งสองสำเร็จกิจ หลังจากนั้นทั้งสองก็นอนพักบนเตียง พูดคุย เคล้าเคลียคลออยู่สักพักก็แยกย้ายกันไปคนละฝั่งของกล้อง ซึ่งบันทึกภาพกิจกรรมทางศิลปะของทั้งคู่อยู่ทางมุมด้านบนของห้องอย่างเงียบเชียบแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ไม่มีเสียงครวญครางหรือดนตรีประกอบแบบที่หนังโป๊ทั่วๆ ไปมักจะทำกัน วิดีโอดังกล่าวถูกทำก๊อปปี้เป็นดีวีดีเอาไว้แค่เพียง 5 แผ่นเท่านั้น และแน่นอนว่าถูกขายไปในราคาที่แพงลิบลิ่ว 3 แผ่นถูกซื้อไปโดยนักสะสมที่ไม่ออกนาม แผ่นหนึ่งถูกซื้อไปโดยนักสะสมงานศิลปะคนที่เข้าร่วมในกิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้ของเธอนั่นแหละ
ด้วยผลงานชิ้นนี้ เฟรเซอร์ตั้งคำถามในเชิงกระทบกระเทียบถึงความใกล้เคียงกันระหว่างศิลปะกับการค้าประเวณี และแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าศิลปะกลายเป็นสินค้าได้อย่างไร “ระหว่างการที่ฉันมีเซ็กซ์กับผู้ชายคนนึงแลกเงิน กับการที่ฉันขายส่วนหนึ่งของตัวตนของฉันในฐานะงานศิลปะ อะไรเป็นการ ‘ขาย’ มากกว่ากัน?” เฟรเซอร์ใช้งานศิลปะของเธอวิพากษ์วิจารณ์วงการศิลปะ รวมถึงคนในแวดวงศิลปะอย่างภัณฑารักษ์ นักสะสมงานศิลปะ ผู้ชม หรือแม้แต่ศิลปิน ซึ่งรวมถึงตัวเธอเองด้วย
หลังจากผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงก็สร้างความอื้อฉาวและส่งแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงไปทั่ววงการศิลปะ มันได้รับทั้งเสียงก่นด่าและคำชื่นชม บางคนเรียกเธอว่าเป็นกะหรี่ในวงการศิลปะ แต่บางคนก็ออกมาปกป้องและชื่นชมเธอว่าเป็นคนที่ขยายพรมแดนใหม่ๆ ทางศิลปะ และกล่าวว่าเธอควรได้รับคำชื่นชมจากการกระทำที่กล้าหาญครั้งนี้ ในขณะเดียวกันคนในวงการศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ก็มองว่าเธอล้ำเส้นไปไกลเกินขอบเขต ด้วยการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับหนังโป๊ ซึ่งเป็นอะไรที่มากเกินกล้ำกลืนสำหรับคนในวงการศิลปะอเมริกันส่วนใหญ่ที่ยังคงมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ ซึ่งต่างกับในยุโรปที่ออกจะชื่นมื่นกับงานศิลปะอันอื้อฉาวชิ้นนี้ของเธอด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงและความสำเร็จในผลงานชิ้นนี้ของเธอไม่ว่าจะในแง่ไหนก็ตาม เกิดจากการที่ผลงานอันอื้อฉาวทางเพศของศิลปินหญิงผู้นี้นอกจากจะสร้างความหงุดหงิดไม่เพียงต่อคนในและนอกวงการศิลปะ แต่ยังสร้างความหงุดหงิดและปั่นป่วนให้กับโลกศิลปะที่เพศชายยังคงถือครองอำนาจเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย
หรือผลงานของ มิโล มัวเร่ (Milo Moiré) ศิลปินคอนเซปชวลสาวชาวสวิส ลูกครึ่งสโลวักและสเปน ผู้เป็นที่รู้จักจากงานศิลปะแสดงสดด้วยร่างเปลือยมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 ไม่ว่าจะเป็นผลงาน The PlopEgg – A Birth of a Picture (2014) ศิลปะแสดงสดกึ่งจิตรกรรมที่เธอทำบริเวณหน้างาน ART COLOGNE เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในเมืองโคโลญ ด้วยการยืนเปลือยกายล่อนจ้อนบนพื้นยกสูงที่ทำจากบันไดเหล็กสองอัน กางขาเบ่งไข่ที่ยัดเอาไว้ในช่องคลอดของเธอให้ร่วงหล่นลงมาแตกบนผืนผ้าใบด้านล่างฟองแล้วฟองเล่า จนหมึกและสีอะคริลิคหลากสีที่บรรจุอยู่ภายในไข่กระจายไหลเลอะผ้าใบสีขาวเป็นวงกว้าง หรือผลงาน MIRROR BOX (2016) ศิลปะแสดงสดที่เธอแสดง ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ ลอนดอน และอัมสเตอร์ดัม โดยสร้างกล่องกระจกเงารูปสี่เหลี่ยมคางหมู สวมปกคลุมร่างกายท่อนบนและท่อนล่างเหมือนกับเสื้อและกระโปรง ตัวกล่องมีช่องเปิดด้านหน้าที่ปิดเอาไว้ด้วยผ้าม่านสีแดง เธอถือโทรโข่งป่าวร้องเชิญชวนให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาล้วงมือเข้าไปสัมผัส ลูบไล้ เคล้นคลึง หรือล้วงควักอวัยวะพึงสงวนในร่มผ้าท่อนบนและท่อนล่างของเธอในกล่องได้ตามใจชอบเป็นเวลา 30 วินาที ผลลัพธ์จากศิลปะแสดงสดอันสุดอื้อฉาวเหล่านี้ทำให้เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวในข้อหากระทำอนาจารในที่สาธารณะหลายต่อหลายครั้ง
นอกจากทำงานศิลปะแสดงสดด้วยร่างเปลือยของตัวเองแล้ว มัวเร่ยังผลิตหนังโป๊และสื่อทางเพศเต็มรูปแบบ โดยเธอรับบทนักแสดงนำด้วยตัวเอง และทำการแสดงร่างเปลือยและอวัยวะซ่อนเร้นอย่างจะแจ้ง หรือแสดงกิจกรรมทางเพศต่างๆ ทั้งการเปลือยกายในที่สาธารณะ สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง และเซ็กซ์ทอย หรือมีเซ็กซ์กับคู่ขาทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน โดยเผยแพร่เป็นตัวอย่างแบบซอฟต์ๆ ในแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @MiloMoire หรือขายผลงานแบบอันเซ็นฯ (เห็นหมด) ให้ผู้ชมสมัครเข้าไปดูแบบเสียสตางค์ในเว็บไซต์ unlimitedmuse.com
ด้วยการทำเช่นนี้ มัวเร่จงใจวางสถานะของตัวเองให้กำกวมก้ำกึ่งอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะและสื่อลามกอนาจารอย่างหนังโป๊ ระหว่างศิลปินและนักธุรกิจทางเพศ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า “ศิลปะไม่ควรมีข้อจำกัด และความตายเป็นเพียงข้อจำกัดเดียวที่เธอยอมรับได้ ศิลปะสามารถเป็นหนังโป๊ได้ และหนังโป๊ก็สามารถเป็นศิลปะได้ด้วยเช่นกัน”
หรือผลงานของ เอ็มมา ซัลโควิชซ์ (Emma Sulkowicz) ศิลปินแสดงสดชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินผู้ทำงานศิลปะสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ อย่าง Ceci N’est Pas Un Viol (2015) (นี่ไม่ใช่การข่มขืน) วิดีโอความยาวแปดนาทีที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.cecinestpasunviol.video ที่แสดงภาพซัลโควิชซ์กำลังมีเซ็กซ์กับชายไม่ทราบชื่อในห้องพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในฉากปรากฏภาพของซัลโควิชซ์กำลังมีเซ็กซ์กับชายคนหนึ่งที่ใบหน้าถูกเบลอเอาไว้เพื่อปกปิดตัวตนของเขา ในตอนแรกดูเหมือนจะเป็นการมีเซ็กซ์กันตามปกติ แต่ในเวลาต่อมา ชายคนดังกล่าวเริ่มใช้ความรุนแรงกับเธอ โดยเขาตบหน้าเธอสองครั้ง บีบคอเธอ ถอดถุงยางอนามัยออก และบังคับมีเซ็กซ์ทางทวารหนักกับเธอโดยไม่ป้องกัน โดยที่เธอต่อต้านและร้องขอให้เขาหยุด แต่ก็ไม่เป็นผล ก่อนที่เขาจะผละจากเธอและเก็บเสื้อผ้าเดินออกไปจากห้อง ปล่อยให้เธอนอนอยู่ตามลำพัง
ซัลโควิชซ์เน้นย้ำว่าเหตุการณ์ทั้งหมดในวิดีโอคือการแสดง และเขาไม่ได้ข่มขืนเธอจริงๆ แต่ที่แน่ๆ คือทั้งสองมีเซ็กซ์กันจริงๆ โดยไม่มีสลิง เอฟเฟกต์ หรือตัวแสดงแทนแต่อย่างใด ในเว็บไซต์มีข้อความเกริ่นนำจากซัลโควิชซ์ เน้นย้ำว่าเหตุการณ์ที่เห็นในวิดีโอเกิดจากความยินยอมพร้อมใจทั้งหมด แม้ว่าในตอนท้ายของวิดีโอจะแสดงให้เห็นถึงความรุนแรง การใช้กำลัง และการต่อต้านขัดขืนจากเธอก็ตาม
นอกจากเขียนสคริปต์ของวิดีโอชิ้นนี้แล้ว ซัลโควิชซ์ยังเป็นคนเลือกมุมกล้องในการถ่ายทำ โดยมีศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน เท็ด ลอว์สัน (Ted Lawson) ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดงของวิดีโอ ภาพของวิดีโอถูกถ่ายด้วยกล้องวงจรปิดสี่จอไปพร้อมๆ กัน โดยในแต่ละจอกำกับวันเวลาเอาไว้เป็นวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.2012 โดยเริ่มต้นในเวลา 02:10 นาฬิกา และจบลงที่ 02:18 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันเวลาเดียวกับเหตุการณ์ที่เธอถูกข่มขืน ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นการจำลองเหตุการณ์ที่เธอถูกข่มขืนขึ้นมาใหม่ แต่ซัลโควิชซ์ชี้แจงว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการสำรวจธรรมชาติของการมีเพศสัมพันธ์โดยยินยอมพร้อมใจ และไม่ใช่การจำลองเหตุการณ์ที่เธอถูกข่มขืนแต่อย่างใด
ที่น่าสังเกตก็คือ ถ้าศิลปินเพศหญิงหันมาทำผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ พวกเธอมักจะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงรุนแรงกว่าศิลปินเพศชายมาก (ลองเปรียบเทียบระหว่างผลตอบรับในผลงานของพวกเธอกับผลงานของศิลปินเพศชายอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ เป็นตัวอย่างดูก็ได้) นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สังคมที่ดูจะก้าวหน้าและทันสมัยอย่างวงการศิลปะร่วมสมัยในโลกสากลเองก็ยังไม่ค่อยเปิดใจยอมรับความเท่าเทียมทางเพศกันสักเท่าไหร่
ไม่เพียงแค่การร่วมเพศแบบเป็นคู่หนึ่งต่อหนึ่งตามปกติ แต่กิจกรรมการร่วมเพศในนามของศิลปะยังขยับขยายไปสู่การร่วมเพศกันแบบหมู่คณะอีกด้วย ดังเช่นในผลงานของ ซานติอาโก เซียร่า (Santiago Sierra) ศิลปินชาวสเปนผู้ทำงานศิลปะแสดงสดและศิลปะจัดวางสุดอื้อฉาวที่กระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม เขามักจะว่าจ้างเหล่าบรรดาคนชายขอบและคนด้อยโอกาสทางสังคมที่ตกเป็นเหยื่อและเบี้ยล่างในโลกทุนนิยมอย่างแรงงานพลัดถิ่น โสเภณี หรือผู้ลี้ภัย มาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แสดงงานศิลปะ โดยมากมักเป็นกิจกรรมอันไร้ประโยชน์และน่าอดสู (ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบทุนนิยม) ในบรรดานั้นคือกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่แสร้งว่ารังเกียจเดียดฉันท์ แต่จริงๆ แล้วแอบชอบกันทั้งนั้น อย่างการร่วมเพศ ดังเช่นในผลงาน Los Penetrados (The Penetrated) (2008) ของเขา ภาพยนตร์ความยาว 45 นาที ประกอบด้วยการแสดงแปดองก์ ที่ถ่ายทำในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2008 หรือวัน Día de la Raza (Day of the Race) วันหยุดประจำชาติสเปนที่เฉลิมฉลองวาระที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรก
ในภาพยนตร์ประกอบด้วยฉากล้อมรอบด้วยกระจกเงา พื้นปูด้วยผ้าห่ม บนนั้นมีแรงงานที่ถูกว่าจ้างมา ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ผิวขาวและผิวดำ กำลังประกอบกามกิจทางทวารหนักกันอยู่ ทั้งแบบชายผิวขาวกับหญิงผิวขาว ชายผิวขาวกับชายผิวขาว ชายผิวดำกับหญิงผิวดำ ชายผิวดำกับชายผิวดำ ชายผิวขาวกับหญิงผิวดำ ชายผิวดำกับหญิงผิวขาว ชายผิวดำกับชายผิวขาว โดยใบหน้าของพวกเขาถูกบดบังด้วยเซ็นเซอร์โมเสก
ด้วยการเลือกวันถ่ายทำอย่างเฉพาะเจาะจง เซียร่าสร้างความเชื่อมโยงเชิงเปรียบเทียบระหว่างการค้นพบและยึดครองทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคมของสเปน เข้ากับการล่วงล้ำทิ่มแทงทางเพศที่ปรากฏในหนัง การร่วมเพศทางทวารหนักที่ว่านี้เชิญชวนให้ผู้ชมสำรวจแง่มุมทางจิตวิทยาเชิงวัฒนธรรมของการครอบงำและการยอมจำนนของผู้ล่าอาณานิคมและผู้ตกอยู่ใต้อาณานิคม รวมถึงตรวจสอบความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคทางอาชีพ ชาติพันธุ์ เพศสภาพ และชนชั้น และปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในโครงสร้างสังคมร่วมสมัยของสเปนได้อย่างแสบสันเป็นอย่างยิ่ง โดยเซียร่ากล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์และผู้ลี้ภัยในผลงานนี้ของเขาว่า
“ความหวาดระแวงดั้งเดิมที่คนผิวขาวมีต่อคนผิวดำ หรือคนยุโรปมีต่อคนแอฟริกันนั้นเชื่อมโยงกับความหวาดกลัวว่า ไม่ช้าก็เร็ว พวกเรา (คนผิวขาว) จะต้องจ่ายค่าชดใช้ต่อความผิดบาปในความละโมภโลภมากที่พวกเรากระทำในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงกับความอิจฉาริษยาในขนาดขององคชาติของคนผิวดำ จนทำให้ผู้หญิง (หรือผู้ชาย) ผิวขาวตกหลุมรัก จนทำให้คนผิวขาวถูกกดข่มทางเพศจนด้อยกว่า สิ่งนี้น่าหวาดกลัวกว่าการถูกแย่งงานทำเสียอีก แง่มุมทางการเมืองเช่นนี้อาจดูป่าเถื่อนกว่าที่เราคิด เพราะพฤติกรรมการแบ่งแยกชาติพันธุ์ของมนุษย์เรานั้น ไม่ต่างอะไรกับการแบ่งแยกสายพันธุ์ของสัตว์ เพราะอันที่จริงเราเองก็เป็นสัตว์ประเภทนึงนั่นแหละ”
หรือผลงานของกลุ่มศิลปินแสดงสดการเมืองหัวขบถชาวรัสเซีย ไวนา (Voina) (แปลว่า ‘war’ หรือ ‘สงคราม’ ในภาษารัสเซีย) อย่าง Fuck for the heir Puppy Bear! (2008) ที่สมาชิกกลุ่มจำนวนเกือบ 20 คน ทำการบุกรุกเข้าไปใน พิพิธภัณฑ์ชีววิทยาแห่งชาติ Timiryazev ในกรุงมอสโคว์ และปฏิบัติการศิลปะแสดงสดด้วยการเปลื้องผ้าจนเปลือยเปล่าและทำการร่วมเพศหมู่กันหน้าตู้กระจกที่จัดแสดงหมีสตัฟฟ์อยู่ภายใน (หนึ่งจำนวนในนั้นคือ นาเดียซดา ทะละคอนนิโควา (Nadezhda Tolokonnikova) สมาชิกวงดนตรี Pussy Riot ผู้กำลังตั้งครรภ์อยู่) พวกเขาทำกิจกรรมร่วมเพศหมู่อันท้าทายกฎหมายและศีลธรรมครั้งนี้เพื่อต่อต้านการสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียของ ดมีตรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ในปี ค.ศ.2008 ระหว่างการแสดงสดร่วมเพศหมู่พวกเขาชูธงที่มีคำขวัญในภาษารัสเซียที่แปลว่า “Fuck for the heir Puppy Bear!” (ซั่มทายาทตุ๊กตาหมี) ซึ่งเป็นการเล่นคำถึงนามสกุลของเมดเวเดฟ ที่พ้องกับคำว่า ‘มีดเวียด’ (medved) หรือ ‘หมี’ ในภาษารัสเซียนั่นเอง
ด้วยการแสดงสดอันสุดอื้อฉาวเช่นนี้ Voina ใช้กิจกรรมทางเพศแสดงนัยยะเสียดเย้ยสถานการณ์ทางการเมืองของรัสเซีย ดังคำแถลงการณ์ของพวกเขาว่า “พวกเราคิดว่ารัฐบาลกำลังเอา(เปรียบ)ประชาชน โดยที่พวกเราก็ยินยอมพร้อมใจ เราก็เลยทำการแสดงสดนี้ขึ้นเพื่อแสดงสภาวะก่อนการเลือกตั้งที่ทุกคนต่างเอากันเองโดยมีตุ๊กตาหมีกำลังมองอยู่ด้วยความรังเกียจชิงชัง”
หลายคนอาจคิดว่าศิลปินเหล่านี้ใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องมือสร้างความช็อก หรือเรียกร้องความสนใจของผู้คน (ซึ่งก็อาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ได้) แต่ในทางกลับกัน ผลงานศิลปะของพวกเขาก็เป็นการแสดงให้เราเห็นว่าเรื่องเพศที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องต้องห้ามหรือน่ารังเกียจรังงอนนั้น อันที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติที่เราควรจะพูดถึงและแสดงออกได้ อย่างน้อยที่สุดก็ในโลกของศิลปะ เพราะท้ายที่สุดแล้ว พรมแดนแห่งศิลปะควรจะเป็นพื้นที่ที่มนุษย์เราสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี มิใช่หรือ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ, ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. สำนักพิมพ์ SALMON
Art & Agenda: Political Art and Activism, Silke Krohn