ช่วงนี้กลับบ้านเร็วเป็นพิเศษ เพราะติดละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ (2561) แม้จะดูย้อนหลังได้แล้วก็ตาม ที่ได้กลายเป็นละครเรตติ้งสูงสุดเมื่อเทียบกับละครพีเรียดในช่วงเวลาเดียวกัน เฉลี่ยทั้งประเทศ 4 ตอนได้ไป 5.93 เล่นเอาละครงบ 150 ล้านอย่าง ‘ศรีอโยธยา’ (2560) ลาจออย่างกระอักเลือดด้วยเรตติ้งสูงสุดเพียง 0.2 แถมน่าจะเป็นเรตติ้งที่มาจากผู้ชมชาวท่าแซะเพื่อจับผิดมากกว่าแฟนคลับละครจริงๆ จังๆ
นอกจากมีกฤษฎาภินิหารย้อนอดีตไปถึงอาณาจักรอยุธยา Agenda ของละครทั้ง 2 เรื่องยังไม่ได้แตกต่างอะไรกันเท่าไร คือสนองแฟนตาซีของผู้ชมโหยหาอดีต อยากย้อนยุคไปสู่ ‘ครั้งบ้านเมืองยังดี’ เพียงแต่ ‘บุพเพสันนิวาส’ ปลุกชาตินิยมไม่ขึงขังฟูมฟายเท่า ‘ศรีอโยธยา’ ทว่าแสนจะกุ๊กกิ๊กพาฝันเอาใจคนรุ่นใหม่ อยากจะเป็นสาววัยใสนักศึกษาโบราณคดี ได้เจาะเวลาหาอดีตไปชม้ายชายตากระเง้ากระงอดพี่หมื่นสุดหล่อที่เป็นถึงเจ้าขุนมูลนาย ได้ไปอยู่ในร่างสาวงามอย่างแม่หญิงการะเกดทำตัวกระโตกกระตากแสนซนในสภาพที่ต้องเคร่งขรึมสงบเสงี่ยม หรืออย่างน้อยที่สุดได้แต่ง ‘ชุดไทยย้อนยุค’ แต่มีจริตสมัยใหม่
ย้อนแย้งแบบนี้เก๋ดีจะตาย…
นั่งดูไปก็เคลิ้มไป พี่หมื่นดุทีก็อมยิ้มที แถมไม่ว่ามองไปทางไหนของกรุงศรีอยุธยาก็มีแต่ภาพวัดวังเรืองรอง ชาวบ้านธรรมชาติงามตา เป็นเมืองศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าแสนเจริญรุ่งเรือง (กราฟิกไม่เนียนก็ไม่เป็นไร กำลังอิน) คราคร่ำไปด้วยผู้คนชาติพันธุ์หลากหลายมากหน้าหลายตา แถมมีบ่าวไพร่คอยใช้สอย
เอาเข้าจริง หากมองจากสายตาปัจจุบัน สายตาที่รู้จักสิทธิมนุษชน อยุธยาคือเมืองเถื่อนดีๆ ที่ยังแบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 ชนชั้น ชนชั้นมูลนายที่มีอำนาจปกครองคอยดุด่าเอ็ดตะโรจิกหัวใช้ กับชนชั้นที่ไม่ใช่มูลนายก็บรรดาไพร่ ทาส อย่างพี่ผิน พี่แย้ม นางปริก นางจวง ไอ้จ้อย ถูกเกณฑ์ให้มารับใช้รองมือรองตีน[1]
การจะย้อนอดีตไปใช้ชีวิตสุขสบายมีบ่าวไพร่ไว้ใช้สอย คอยนวดเฟ้น แจวเรือ ขัดสีฉวีวรรณ ถวายอาหารให้ก็เลิกฝันไปได้เลย เพราะพวกเราถ้าย้อนกับไปก็กลับไปเป็นไพร่ ที่มีปริมาณมากสุดในกรุงศรีอยุธยาเปรียบเทียบได้กับประชาชนในยุคปัจจุบัน สมัยนู้นยังไม่มีชนชั้นกลาง การเกณฑ์ไพร่ในอโยธยาไม่ได้งดงามโรแมนติกแบบในละคร ไพร่ต้องถูกเกณฑ์ให้มารับใช้มูลนายตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ได้รับค่าจ้างและอาหาร เพราะบ้านเมืองยังเถื่อน ตำรวจไม่มี ต้องใช้ความจงรักภักดีแลกเปลี่ยนเป็นค่าคุ้มครอง สังกัดใครก็ต้องไปสักที่ร่างกายเป็นรหัสว่าสังกัดใคร
แล้วหนุ่มๆ กรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ได้หล่อเหมือนพี่โป๊ป หรือล่ำมีซิกแพคแบบปั้นจั่น ไม่ใช่คนแก่แล้ว sexy แบบอาหนิง นิรุตติ์ แน่นอนไม่มีทางสวยแบบแม่หญิงจันทร์วาด
เพราะจากบันทึกซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ทูตพิเศษราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่มากรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ที่วิญญาณเกศสุรางค์หลุดลอยมาสิ่งร่างแม่การะเกดนั้น อธิบายหน้าตาชาวสยามไว้ว่า (ลองวาดรูปตามนะ)
ชาวสยามอยุธยามีจมูกสั้นและปลายมน ใบหูใหญ่ ผมเส้นหยาบและเหยียด ทั้งสองเพศไว้ผมสั้นมาก และ “วงหน้าของชาวสยามทั้งชายและหญิง กระเดียดไปข้างรูปขนมเปียกปูน (หรือข้าวหลามตัด) มากกว่าที่จะเป็นรูปไข่ ใบหน้ากว้าง ผายขึ้นไปทางเหนือโหนกแก้ม แล้วทันใดก็ถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง อนึ่งนัยน์ตาซึ่งหางตาตาค่อนข้างจะยกสูงขึ้นไปข้างบนนั้นเล็กและไม่สู้แจ่มใสไวแววนัก และตาขาวซึ่งควรจะขาวนั้นก็ออกสีเหลืองๆ แก้มของพวกเขานั้นตอบ ค่าที่โหนกแก้มสูงเกินไปนั่นเอง ปากนั้นกว้าง ริมปากหนาซีดๆ และฟันดำ ผิวนั้นหยาบ สีน้ำตาลปนแดง”[2]
ไงล่ะ ออเจ้าอยากได้เป็นผัวสักคนมั้ย?
แล้วถ้าวาสนาดีมีผัวเป็นถึงขุนน้ำขุนนางนี่ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องกิ๊กเลย เพราะเค้าไม่แอบกิ๊กกันหรอก เค้ามีหลายเมียอย่างเปิดเผยเลยจ้า ไม่มาขวยเขินจนต้องสร้างคำใหม่อย่าง ‘กิ๊ก’ เพื่อ pasteurize พฤติกรรมแต่อย่างใด แล้วไม่ต้องคิดแผนร้ายไปใช้ใครล่มเรือเพราะหึงหวงหรอก ผู้ชายชนชั้นมูลนายเค้าแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมียเป็นเรื่องปรกติ
เพราะวัฒนธรรมชนชั้นเจ้านาย ถือว่าเพศชายเป็นเพศที่สูงส่งยิ่งใหญ่มีอำนาจบารมี เพศหญิงเป็นเพียงทรัพยากรอย่างหนึ่งเท่านั้นมีไว้สะสมใช้สอย เพื่อพักผ่อนบันเทิง สนองความพึงพอใจ[3] ไปจนถึงแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และประคับประคองอำนาจทางการเมือง เพราะการมีลูกมากๆ แต่งงานกับลูกหลานเจ้านายข้าราชการด้วยกันให้เป็นเครือญาติ ยิ่งดองกันไว้ยิ่งสร้างฐานอำนาจ รักษาเสถียรภาพทางการเมือง
ดังนั้นพฤติกรรม ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ จึงเป็นที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตา สะท้อนถึงความมั่งคั่งและความสามารถในการเลี้ยงดูบริวารไพร่พลได้[4]
ด้วยเหตุนี้สำนึกในหมู่ชนชั้นนำสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น “พวกขุนนางถือว่าการมีเมียน้อยได้หลายคนนั้นเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาอย่างสูง ขุนนางคนใดไม่มีเมียน้อยก็ถือกันว่าเป็นคนอัตคัดเต็มที”[5] แต่กับชนชั้นไพร่ผู้ชายไม่มีเมียมากกันเพราะไม่ได้มีเงินทอง
แล้วด้วยระบบมูลนายและไพร่เองก็ทำให้ผู้หญิงมีชนชั้นที่ต่างกันและก็มีบทบาทสถานภาพในครอบครัวที่ต่างกันตามสถานภาพของสามี ศักดินาของผู้หญิงมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานะของสามี เช่นหากหมื่นสุนทรเทวามีเมียมาก เมียหลวงหรือเมียพระราชทานให้ถือศักดินากึ่งหนึ่งของผัว เมียน้อยให้ถือศักดินากึ่งหนึ่งของเมียหลวง และเมียหลวงถือว่ามีสิทธิและอำนาจเหนือเมียคนอื่นๆ ตามกฎหมาย
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) เจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา มากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ่อของสมเด็จพระนารายณ์) ระหว่างปี 2172 – 2177 บันทึกว่า การแต่งงานของชนชั้นขุนนางมักเป็นตามการยินยอมหรือความเห็นชอบของกษัตริย์ พ่อแม่ มิตรสหาย การแต่งงานนั้นไม่มีพิธีทางศาสนาจะมีแต่ดนตรีการเลี้ยงฉลอง นอกจากนี้กษัตริย์สามารถส่งหญิงหม้ายของขุนนางที่ตายลงหรือถูกลงอาญาให้แก่ขุนนางคนอื่นได้ ซึ่งพวกเธอก็จะไม่หาสามีใหม่เนื่องจากเกรงกลัวอำนาจกษัตริย์ ส่วนภรรยาน้อยต้องเชื่อฟังภรรยาหลวง ลูกของภรรยาหลวงย่อมได้มรดกมากกว่า นอกจากนี้ผู้หญิงที่ทำผิดประเวณีได้รับบทลงโทษอย่างสยดสยอง[6]
เช่นเดียวกับที่นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) หนึ่งในผู้ติดตามคณะเผยแพร่ศาสนาเมื่อปี 2224-2229 ในรัฐบาลสมเด็จพระนารายณ์ เขาพรรณนาบรรยากาศกรุงศรีอยุธยาจากการที่ได้อาศัยอยู่เป็นเวลา 4 ปีและจากการอ่านหนังสือภาษาสยามในขณะนั้น ได้เล่าว่า หญิงที่เป็นภรรยาก็มักจะเรียบร้อยซื่อสัตย์ต่อสามี ไม่เจ้าชู้เพราะอาจด้วยโทษระวางรุนแรง สำหรับภรรยาน้อยรับเข้ามาอยู่ในบ้านโดยไม่มีพิธีรีตอง เมื่อสามีเริ่มเบื่อไม่พอใจก็ส่งกลับบ้านไป ลูกที่เกิดหากเป็นชายให้พ่อเลี้ยงดู หากเป็นหญิงให้แม่เลี้ยงดู ตามปรกติภรรยาน้อยมักเลื่อนขั้นมาจากนางทาส จึงอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของภรรยาหลวงอีกที ซึ่งถ้าภรรยาหลวงจับได้ว่าภรรยาน้อยมีชายชู้ นางก็จะเร่ไปฟ้องสามีให้ลงโทษอย่างรุนแรง และจับโกนหัวเพื่อประจานและเป็นเครื่องหมายแห่งความอัปยศ[7]
ขณะที่ชนชั้นไพร่นั้นพ่อแม่มักให้ลูกออกเรือนตั้งแต่ 12 ปีหรือต่ำกว่านั้น ด้วยเชื่อว่าผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว แต่พ่อแม่ก็มักห้ามลูกสาวยุ่งเกี่ยวกับชายหนุ่มหรือทำอะไรตามอำเภอใจ ทว่าลูกสาวก็มักหนีตามผู้ชายไปเสมอๆ การแต่งงานมักเริ่มจากถ้าผู้ชายเป็นที่พึงพอใจของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ก็จะชวนฝ่ายชายมาอยู่บ้านด้วยราว 5 – 6 เดือน เพื่อใช้งาน ดูอัธยาศัย พิจารณาทดสอบว่าเหมาะสมที่จะเป็นเขยหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสมควรพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายจึงพบปะเพื่อตกลงการแต่งงาน พิธีแต่งงานจะจัดขึ้นในบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวต้องเป็นธุระปลูกโรงพิธีขึ้นโดยเฉพาะ และเรือนหอตามฐานะทางเศรษฐกิจ ภายในบริเวณบ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง มีการนำสิ่งของต่างๆ มาให้คู่สมรส คู่บ่าวสาวจะอยู่เรือนหอ 3-4 เดือน แล้วจึงสามารถแยกไปปลูกต่างหากได้ตามใจชอบ[8]
จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ หมู่ราษฎรสามัญชนมักอยู่กินโดยปราศจากพิธีแต่งงานก็ได้ เมื่อต้องการหย่าร้างกันก็แค่แยกกันอยู่ ต่างฝ่ายก็แยกเอาสิ่งของของตนกลับไป การหย่าร้างก็เป็นเรื่องปรกติของราษฎรสามัญชน แม้ผู้ชายมีสิทธิยอมหรือไม่ยอมหย่าได้ แต่ก็มักไม่ปฏิเสธความต้องการหย่าของฝ่ายหญิง หลังหย่าผู้หญิงสามารถแต่งงานใหม่ได้อย่างเสรี แม้แต่ในวันที่หย่ากับสามีเก่า โดยไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับลูกคนแรกที่จะเกิดมากับสามีใหม่ ว่าเป็นลูกที่เกิดจากสามีเก่าติดท้องมา เพราะเชื่อตามที่ภรรยาบอก[9]
เหมือนสังคมชายเป็นใหญ่ทั่วๆ ไป กฎหมายครอบครัวอยุธยานั้นให้อำนาจและสิทธิผู้ชายมากกว่า เนื่องจากอำนาจทางการเมืองและการปกครองอยู่ในมือของผู้ชาย การจัดเก็บผลประโยชน์ก็ผ่านผู้ชาย
เช่นการเกณฑ์แรงงานและส่วย การจัดกองทัพ ซ้ำการศึกษาก็ผ่านการบวชเรียนที่วัดที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้นได้เรียน ผู้หญิงจึงทรัพยากรทรัพย์สินของสามีตามกฎหมาย และการแต่งงานก็เป็นการการโอนอำนาจปกครองผู้หญิงจากพ่อไปยังผัว สามารถลงโทษ ขาย ไปจนถึงจำนองได้โดยไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุด ยกเว้นเมียหลวงที่ผัวขายไม่ได้หากไม่ได้รับการยินยอมเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การข่มขืนจึงเป็นการละเมิดพ่อแม่ของผู้หญิง หรือผัว ไม่ใช่ร่างกายจิตใจของผู้หญิง แม้ว่ากฎหมายอย่างพระอัยการลักษณะผัวเมียจะให้สิทธิเมียขอหย่า แต่ก็เกิดขึ้นการหย่าร้างน้อย และฝ่ายหญิก็ต้องเผชิญเงื่อนไขมากกว่า สิทธิในทรัพย์สินก็น้อยกว่า[10]
และด้วยระบบไพร่กับมูลนาย ผู้ชายไพร่ถูกเกณฑ์ไปรับใช้มูลนายทำงานถวายรัฐ หญิงชั้นไพร่จึงรับภาระหน้าที่หนักอึ้ง กลายเป็นแรงงานหลักในการผลิตและประกอบกิจกรรมต่างๆ ต้องออกไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว หุงหาอาหาร หากับข้าวกับปลามาจุนเจือพ่อแม่พี่น้องลูกผัว เมื่อผัวถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานให้มูลนาย 6 เดือนต่อ 1 ปีหรือมากกว่านั้น พวกเธอก็ต้องทำอาหารไปส่ง เมื่อพ้นกำหนดเกณฑ์แล้วกลับมาบ้าน พวกผู้ชายก็ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เพราะไม่ชำนาญอะไรสักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตอนถูกเกณฑ์ไปใช้งานต่างๆ ก็ตามอำเภอใจของเจ้าชีวิต ไม่ได้ไปฝึกวิชาชีพ เมื่อกลับมาจึงนั่งๆ นอนๆ ให้เมียเลี้ยง บ้างก็สูบยาสนทนาพาทีกับเพื่อนบ้าน บ้างก็ไปบ่อนพนัน ผู้หญิงจึงต้องทำไร่ไถนาเลี้ยงหมูดูหมา แจวเรือไปขายของในตลาด ด้วยเหตุนี้แม้พวกเธอจะมีบทบาททางเศรษฐกิจสูงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีสถานะสูงกว่าผู้ชาย[11]
ขณะที่หญิงชั้นมูลนายก็ต้องอยู่แต่ในเรือน ไม่ได้ออกเพ่นพ่านไปไหนต่อไหนได้ นอกเสียจากไปหาญาติหรือไปวัด เพราะถือว่าเป็นหญิงสูงศักดิ์ มีเกียรติสามีหวง ไม่สามารถปรากฏตัวตามที่สาธารณะเหมือนอย่างหญิงไพร่ได้หรอก จะทำอย่างแม่หญิงการะเกดในละครเที่ยวตะลอนๆ ในตลาด ร่องเรือชมเมืองไม่ได้
พูดกงๆ เลยนะ จะให้เจาะเวลาหาอดีตแบบในละครไม่เอาหรอก ไหนจะต้องอาบน้ำในท่า ขี้ในทุ่ง ไฟฟ้า wifi อะไรก็ไม่มีใช้ ขอย้อนอดีตวิถีไทยแบบ event แต่งคอสเพลย์ชุดไทยไปชอปปิ้งถ่ายรูปชิๆ แชะๆ ซาบซึ้งเป็นพิธี ก็พอมั้งออเจ้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2546). อยุธยายศยิ่งฟ้า : ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : มติชน, น. 191-194.
[2] ลาลูแบร์, ซิมอง เดอ; สันต์ เทวรักษ์ โกมลบุตร (ผู้แปล).(2548) จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ; ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, น. 97-98.
[3] Tamara Lynn Loos (2005) “Sex in the Inner City : The Fidelity between Sex and Politics in Siam”, The Journal of Asian Studies, Vol. 64,No.4Nov.,2005. pp. 890-891.
[4] Ibid.
[5] แชรแวส, นิโกลาส. (สันต์ ท. โกมลบุตร ผู้แปล). (2550). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช),นนทบุรี: ศรีปัญญา, น. 93.
[6] ฟอน ฟลีต, เยเรเมียส; นันทา วรเนติวงศ์, วนาศรี สามนเสน (ผู้แปล); นันทนา ตันติเวสส, ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์, พรพรรณ ทองตัน (บรรณาธิการ). (2546). รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต วัน วลิต). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, น. 131-133.
[7]นิโกลาส์ แชรแวส; สันต์ เทวรักษ์ โกมลบุตร (ผู้แปล). (2550). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). นนทบุรี : ศรีปัญญา,น. 70, 93-95.
[8] ลาลูแบร์, ซิมอง เดอ; สันต์ เทวรักษ์ โกมลบุตร (ผู้แปล).(2548) จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ; ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, น. 162-164.; นิโกลาส์ แชรแวส; สันต์ เทวรักษ์ โกมลบุตร (ผู้แปล). (2550). ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). นนทบุรี : ศรีปัญญา.
[9] เรื่องเดียวกัน, น. 167-169.
[10] สายชล สัตยานุรักษ์. (2556). ครอบครัว เครือญาติ และความสัมพันธ์ระหว่างเพศในสังคมอยุธยา ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ) ด้วยรัก: เล่มที่ 3 ความเป็นครอบครัวและชุมชนในสังคมไทย, รวมบทความในโอกาส ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อายุ 72 ปี. กรุงเทพ : สร้างสรรค์, น. 11 – 88.
[11] เรื่องเดียวกัน.