“ฉันจะไม่พูดประเด็นอะไรทั้งนั้น นอกจากเรื่องลมฟ้าอากาศนะคะ”
คำพูดหลังจาก มากาเร็ต แธตเชอร์ (Magaret Thatcher) ทราบผลว่าเธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปว่าเธอใน ค.ศ.1979 เดินทางกันมาถึงซีซั่นที่ 4 แล้วสำหรับ The Crown ซีรีส์จำลองชีวิตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Elizabeth II) โดยเนื้อเรื่องหลังของซีรีส์ในซีซั่นนี้ วางอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 โดยเป็นช่วงชีวิตของพระราชินีในวัย 50 กลางๆ ที่ถูกขับเคี่ยวให้เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะในฐานะของการเป็นแม่ และภรรยา ตลอดจนการเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แธตเชอร์ ผู้ที่จะกลายเป็นหนึ่งในตัวละครหลัก ที่ขับเคลื่อนเรื่องราวของ The Crown ในซีซั่นนี้
แต่แน่ล่ะว่า ในซีรีส์ย่อมมีการเสริมเติมแต่งบางฉากบางตอน เพื่ออรรถรสของผู้ชม แต่จะดีกว่าไหม หากเราดูการฟาดฟันระหว่างพระราชินี กับนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักรในซีรี่ส์เสร็จแล้ว แล้วเราจะมาดูข้อเท็จจริงระหว่างความสัมพันธ์ของผู้หญิงทั้งสองคนนี้ว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
*คำเตือน : บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาส่วนหนึ่งของซีรีส์
หญิงคนเดิมกับหญิงคนแรก: เกลียดแต่แรกพบ?
ตอนต้นของซีรีส์เปิดมาด้วยฉากการเข้าเฝ้าของแธตเชอร์ที่ดูจะวางท่าทีกับพระราชินี ตามมาด้วยความรู้สึกขุ่นมัวระหว่างผู้หญิงสองคน พระราชินีมีนัดพบกับนายกรัฐมนตรี ในทุกๆ วันอังคาร เพื่อฟังถวายรายงานจากหัวหน้าคณะรัฐบาล ความรู้สึกที่สะท้อนผ่านซีรีส์ระหว่างสมเด็จพระราชินี กับนายกรัฐมนตรี อาจมีหลายช่วงหลายตอนที่บ่งบอกถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างสตรีสองคนนี้ ท่ามกลางการบริหารประเทศที่พวกเธอถูกรัฐธรรมนูญอังกฤษกำหนดบทบาทเอาไว้
แธตเชอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ.1979-1990 เป็นเวลากว่า 11 ปี ที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 มีแธตเชอร์เป็นหัวหน้ารัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม สิ่งที่ทำให้แธตเชอร์แตกต่างจากนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ อย่างรัฐบุรุษสงคราม วิสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) หรือหัวหน้าพรรคแรงงานดูดไปป์อย่าง ฮาโรด์ วิลสัน (Harold Wilson) และนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ คือ เธอเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง และเธอเป็น ‘ผู้หญิง’
“คุณนายแธตเชอร์” “ใต้ฝ่าละอองพระบาท”
บรรยากาศอันตึงเครียดและความไม่พอใจเล็กๆ ที่ทั้งสองมีให้ต่อกันในช่วงแรก อาจเริ่มขึ้นจากการเข้าเฝ้าถวายรายงานของแธตเชอร์ในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อพระราชินีในทุกๆ สัปดาห์ โดยข้อเท็จจริงจากสารคดี ‘The Queen and Her Prime Ministers’ เคยเล่าไว้ว่า แธตเชอร์มักเดินทางมาถึงพระราชวังบักกิงแฮมก่อนเวลาประมาณ 15 นาทีเสมอ แต่พระราชินีกลับต้องทำให้เธอรอก่อนการเข้าเฝ้าอยู่เป็นประจำเช่นกัน สารคดียังอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองว่า ‘เป็นความรู้สึกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’
ยังไม่นับรวมถึงการวิจารณ์ของแธตเชอร์ที่มีต่อการแปรพระราชฐานของพระราชินีไปยังบัลมอรัล (Balmoral) จากตอนต้นของซีรีส์ที่วาดภาพว่าเป็นบททดสอบต่อแธตเชอร์ เช่นเดียวกับความเป็นจริง แธตเชอร์เองก็มองว่าการไปบัลมอรัลนั้นไม่ต่างไปจากการไปอาศัยอยู่ใน “สถานที่ที่วิญญาณรับโทษทัณฑ์ก่อนขึ้นสวรรค์”
ลมหนาวอันเยือกเย็น: จากบ้านเลขที่ 10 ถึงวังบักกิงแฮม
ผู้หญิงทั้งสองคนไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักในเชิงอายุ อย่างที่แธตเชอร์ได้บอกพระราชินีขณะเข้าเฝ้าในซีรีส์ตอนหนึ่ง แธตเชอร์เกิดก่อนพระราชินี เพียงแค่ 6 เดือน แต่สิ่งที่ต่างกันของผู้หญิงทั้งสอง คือ ตามบทบาทของการเป็นประมุข พระราชินีทรงมีหน้าที่ในการรวบรวมอังกฤษเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
ในขณะที่แธตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม ด้วยแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ที่เน้นเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปรับอัตราการเก็บภาษีที่ตายตัว เพื่อลดบทบาทของรัฐที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเอกชน ในทางตรงกันข้าม นโยบายดังกล่าวกลับส่งผลกระทบต่อสวัสดิการของแรงงานเป็นวงกว้าง ซึ่งในซีรีส์ก็มีความพยายามสื่อให้เราได้เห็นว่า พระราชินีไม่ได้ทรงโปรดแนวคิดของแธตเชอร์มากนัก
ตามรายงานข่าวจริงนั้น ความแตกแยกในอังกฤษระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นแรงงานปะทุออกมาในช่วง ค.ศ.1984-1985 มีคนงานเหมืองกว่า 187,000 คน ลาออกจากงานของพวกเขา ซึ่งนับว่าเป็นความขัดแย้งในภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง แธตเชอร์ไม่ค่อยสนใจไยดีต่อเรื่องดังกล่าวเท่าไหร่นัก เธอกลับใช้นโยบายที่ลดการต่อรองทางอำนาจของสหภาพการค้าลง จากการวาดภาพของแธตเชอร์ในซีรีส์ ที่ด้านหนึ่งเธอเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อกลับบ้านมา เธอก็ยังคงทำงานบ้านเหมือนภรรยาทั่วๆ ไป เธอเพียงคาดคิดแค่ว่า หากคนงานมีอำนาจในการต่อรองน้อยลง ภรรยาของพวกเขาคงจะกดดันให้พวกเขากลับมาทำงาน แต่ในทางกลับกัน พระราชินีกลับทรงแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อภรรยาของคนงานเหล่านั้น
“หากหม่อมฉันฟังไม่ผิด นั่นดูเหมือนเป็นคำสั่ง”
เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีรีส์ ความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นระหว่างทั้งสองเริ่มถูกพูดถึงอย่างหนาหู เมื่อ ค.ศ.1986 หนังสือพิมพ์ The Sunday Times รายงานว่า พระราชินีทรงถูกแธตเชอร์เมินเฉยต่อพระองค์ จากกรณีที่รัฐบาลของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้มีนโยบายการแบ่งแยกสีผิว (apartheid) แต่แธตเชอร์กลับปฏิเสธการคว่ำบาตรรัฐบาลแอฟริกาใต้ ด้วยท่าทีที่ ‘ไม่ไยดี’ ‘ก้าวร้าว’ และ ‘แตกหัก’ ซึ่งทำให้พระราชินีรู้สึกถึงความตึงเครียดระหว่างผู้นำในเครือจักรภพด้วยกัน ตามมาด้วยการจำลองภาพการถกเถียงเชิงบังคับที่พระราชินีแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายที่เน้นแต่เรื่องการค้าของแอฟริกาใต้กับสหราชอาณาจักร โดยที่ไม่สนใจไยดีกับเรื่องการแบ่งแยกสีผิวของแธตเชอร์ในซีรีส์
อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ได้บอกเล่าว่า พระราชินีทรงสั่งให้แธตเชอร์เซ็นเอกสารร่วมคว่ำบาตรแอฟริกาใต้ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น พระราชินีมิเคยได้ทรงบังคับแธตเชอร์ เพราะพระองค์อยู่ในฐานะของประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ทรงไม่มีอำนาจสั่งการรัฐบาล นอกเสียจากให้ได้แต่คำแนะนำส่วนพระองค์ จากข้อเขียนของผู้แต่งหนังสือพระราชประวัติของพระราชินี กล่าวว่า ทรงเพียงใช้แต่การพูดคุยกับแธตเชอร์ด้วยอำนาจอย่างอ่อน (Soft power) เพื่อโน้มน้าวให้แธตเชอร์วางท่าทีที่แข็งกร้าวลง
ข้อเท็จจริงต่อมา คือ สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีกับนายกรัฐมนตรีว่า “พระราชินีทรงประทับใจกับความสัมพันธ์และทรงมีความมั่นใจอย่างแนบแน่นต่อนายกรัฐมนตรี คุณนายแธตเชอร์” ก่อนที่นักข่าวจาก The Sunday Times จะออกมาวิจารณ์ข้อแถลงดังกล่าวว่า “สิ่งที่ถูกพูดในที่สาธารณะ กับเรื่องส่วนตัวที่เกิดขึ้นจริงของทั้งสอง มีความแตกต่างกันอยู่ และสำนักพระราชวังควรวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองให้ดี” โดยหลังจากเรื่องทั้งหมดได้เกิดขึ้น มีรายงานว่าพระราชินีทรงโทรศัพท์หาแธตเชอร์ เพื่อขอโทษเธอจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการส่วนพระองค์
สตรีเหล็ก-กษัตรี: ความแตกต่างที่ไม่บรรจบกัน
พระราชินีทรงมีมุกตลกแบบชนชั้นสูง ชนิดที่ว่าพระองค์สามารถตำหนิผู้อื่น ด้วยคำพูดที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกตลกขบขันไปในเวลาเดียวกัน ก่อนที่พวกเขาจะเอะใจว่าพระองค์ทรงตำหนิพวกเขาหรือเปล่าเมื่อพวกเขาแยกตัวออกมาจากพระองค์ ในขณะที่แธตเชอร์ไม่ได้เป็นผู้หญิงที่มีอารมณ์ขันมากนัก ในทางกลับกัน แธตเชอร์ กลับมีความทะเยอทะยานสูงเป็นพิเศษ เธอมักพูดอยู่เสมอว่าเธอต้อง “เดินต่อไป และต่อไป” ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ เธอสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 สมัย กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดของอังกฤษ
ในความเป็นจริง รัฐมนตรีหลายคนมีความเห็นว่าแธตเชอร์เป็นคนที่ไม่มีมุกตลกเอาเสียเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คนเขียนสุนทรพจน์ประจำตัวของแธตเชอร์ แนะนำให้เธอใช้มุกแซวเปรียบเทียบพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democrat) ว่าเป็น ‘นกแก้วตาย’ ซึ่งเป็นมุกจากรายการตลก มันตี้ ไพธอน (Monty Python) หลังจากที่พรรคของพวกเขาปรับตราสัญลักษณ์พรรคเป็นรูปนกแก้วสีเหลือง แธตเชอร์ไม่เข้าใจมุกดังกล่าว ก่อนจะกระซิบถามว่า “มันตี้ ไพธอน หรอ? เขาคือคนของเราหรือเปล่า?” เพราะเอาเข้าจริง เธอไม่รู้จักรายการนี้ด้วยซ้ำ ในขณะที่พระราชินีมักใช้มุกตลกร้าย แซวสำเนียงของแธตเชอร์ว่าเหมือน “โรงละครรอยัลเชกสเปียร์ ที่ออกเสียงสะกดคำเหมือนหลุดออกมาจากทศวรรษที่ 1950”
ในซีรีส์ดูจะวาดภาพของความแข็งขืนและคำวิพากษ์วิจารณ์แรงๆ ที่แธตเชอร์มีให้แด่พระราชินี แต่ดูเหมือนแธตเชอร์ในความเป็นจริง จะให้ความเคารพต่อพระราชินีเป็นอย่างมาก ในสารคดี ‘The Queen and Her Prime Ministers’ ยังได้เปิดเผยถึงคำสัมภาษณ์ของอดีตนักข่าวสำนักพระราชวัง จูดี้ เวด (Judy Wade) อีกว่า แธตเชอร์มักพยายามสอบถามข้อมูลการแต่งกายของพระราชินีอยู่เสมอเมื่อทั้งสองต้องออกงานพร้อมกัน เพื่อที่เธอจะได้ไม่ไป ‘แย่งซีน’ พระราชินี
ในขณะที่สำนักพระราชวังตอบกลับเธอว่า “อย่าวิตกกังวลไปเลย พระราชินีไม่เคยทรงสังเกตการแต่งตัวของผู้หญิงคนอื่นอยู่แล้ว” ทั้งนี้ เบอร์นาร์ด อิงแฮม (Bernard Ingham) อดีตเลขาธิการการข่าวของแธตเชอร์ยืนยันว่า แธตเชอร์ให้ความเคารพอย่างสูงสุดต่อพระราชวงศ์ อีกทั้งเธอยังตรงต่อเวลาเสมอเมื่อต้องเข้าพบพระราชินี
Independent ยังรายงานว่า ไม่ใช่พระราชวงศ์ทุกคน ที่อาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นกับแธตเชอร์ แต่พระมารดาของพระราชินี สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Elizabeth The Queen Mother) กลับเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนแธตเชอร์ ซึ่งความอึดอัดที่พระราชินีทรงมีต่อแธตเชอร์ อาจเกิดขึ้นจาก ‘ความเจ้าระเบียบ’ ของแธตเชอร์ เมื่อเวลาเข้าเฝ้า แธตเชอร์มักจะจดหัวข้อที่จะทำการพูดคุยกับพระราชินีมาเป็นข้อๆ อย่างชัดเจน เธอไม่ค่อยสบายตัวมากนัก และมักนั่งที่ขอบเก้าอี้ เวลาอยู่ใกล้ๆ พระราชินี ในทุกครั้งที่เธอเข้าเฝ้าถวายรายงาน เช่นเดียวกันภาพในซีรีส์ที่ถูกวาดออกมา
ในทางกลับกัน มิใช่ว่าพระราชินีจะไม่ได้ทรงโปรดแธตเชอร์ไปเสียทุกเรื่อง แธตเชอร์เคยเขียนข้อความเอาไว้ในบันทึกลับส่วนตัวของเธอว่า หลังจากที่เธอทราบข่าวการได้รับชัยชนะของอังกฤษในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Faulkland Islands) ที่ทำกับอาร์เจนตินาใน ค.ศ.1982 แล้วนั้น เธอ “เดินทางไปพบพระราชินีที่พระราชวังวินด์เซอร์ เพื่อแจ้งข่าวอันสุดแสนจะน่ายินดีให้พระองค์ด้วยการส่วนตัวว่า เกาะเกาะหนึ่งของพระองค์ได้ถูกเอากลับคืนมาได้แล้ว”
ซึ่งในซีรีส์พูดถึงสงครามฟอล์กแลนด์เช่นกัน แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกนำไปโยงเกี่ยวกับความรู้สึกของแธตเชอร์ ที่มีต่อเหตุการณ์การหายตัวไปของลูกชายของเธอ มาร์ค (Mark) โดยในความเป็นจริง มาร์คหายตัวไปเพียงแค่ 6 วัน ในช่วงเดือนมกราคม ค.ศ.1982 ซึ่งเกิดก่อนเหตุการณ์ที่จะมีกลุ่มคนงานเศษเหล็กของอาร์เจนตินาลุกล้ำพื้นที่เกาะของอังกฤษในเดือนมีนาคม ค.ศ.1982
ถึงแม้ว่าพระราชินีจะไม่สามารถแสดงความเห็นเป็นการส่วนตัวพระองค์ในเรื่องการเมืองและความขัดแย้งทางการทูตได้ แต่ท่าทีของแธตเชอร์ที่รีบเดินทางไปแจ้งข่าวนี้ต่อพระราชินี คงทำให้พระองค์พอพระทัยกับ ‘ข่าวอันสุดแสนจะน่ายินดี’ นี้ได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม สำนักพระราชวังก็แอบอดตะขิดตะขวงใจเอาไว้ไม่ค่อยได้ เมื่อในวันฉลองชัยชนะ แธตเชอร์กลับกลายเป็นผู้ได้รับการวันทยาหัตถ์จากทหารในพิธี แทนพระราชินี ซึ่งต่างออกไปจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พระบิดาของพระราชินี พระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI) ทรงได้รับวันทยาหัตถ์จากกองทหาร ไม่ใช่เชอร์ชิล
มิตรจิตมิตรใจ: จากวันจากเป็น ถึงวันจากตาย
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ภายหลังจากที่แธตเชอร์ถูกบีบจากคณะรัฐมนตรีให้เธอลาออกในปีที่ 11 ของการเป็นนายกรัฐมนตรี จากนโยบายช่วงท้ายๆ ที่เธอละเลยชนชั้นแรงงานจากการจัดการอัตราภาษีที่พวกเขามองว่าไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกันกับในซีรีส์ พระราชินีทรงรู้สึกเสียพระทัยต่อการลาออกของแธตเชอร์ไม่มากก็น้อย ยิ่งกว่านั้น ในความเป็นจริง ทรงส่งคำเชิญเข้าร่วมชมงานแข่งม้าไปยังแธตเชอร์ เพื่อหวังว่าพระองค์จะได้พบกับเธอ แต่แธตเชอร์ปฏิเสธคำเชิญดังกล่าว
เพื่อนคนสนิทของแธตเชอร์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เหตุที่แธตเชอร์ปฏิเสธคำเชิญของพระราชินี เกิดจากการที่แธตเชอร์ ‘ยังไม่มีกะจิตกะใจจะไปร่วมงาน’ เท่าไหร่ แต่แธตเชอร์เองก็รู้สึกซาบซึ้งใจจากน้ำพระทัยของพระราชินี ต่อคำเชิญที่สร้างความน่าประหลาดใจต่อเธอเป็นอย่างมาก
ภายหลังจากที่แธตเชอร์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงสองสัปดาห์ เป็นไปตามที่เราได้เห็นกันในซีรีส์ พระราชินีได้ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์กิตติคุณ (Order of Merit) ให้แก่แธตเชอร์ ในฐานะที่เธอทำคุณงามความดีให้แก่อังกฤษ และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำงานภายใต้การครองราชย์ของพระองค์นานที่สุด และหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แธตเชอร์ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นบารอนเนส และได้มีที่นั่งบนสภาขุนนาง (House of Lords) ในท้ายที่สุด
มุมความรู้สึกดีๆ ที่พระราชินีมีให้แก่แธตเชอร์นับได้ว่ามีอยู่ไม่น้อย เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมอาวุโสคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “พระราชินีทรงเข้าพระทัยประเด็นของ มากาเร็ต แธตเชอร์ อยู่ตลอด พระองค์ทรงเห็นว่าแธตเชอร์เป็นคนที่สำคัญคนหนึ่ง”
“ตามประสาผู้หญิงด้วยกัน เพราะอย่างไรเสีย เราก็เป็นคนวัยเดียวกัน”
แธตเชอร์ได้เคยเขียนลงในอัตชีวประวัติส่วนตัวของเธอ เอาไว้ในบทแรกว่า “จริงอยู่ว่า ภายใต้สภาพการณ์ต่างๆ เรื่องราวความขัดแย้งต่างๆ ของ ‘ผู้หญิงสองคน’ นั้นย่อมดีเกินกว่าที่จะถูกแต่งขึ้น แต่โดยทั่วไป มีหลายสิ่งหลายอย่างถูกเขียนขึ้นอย่างไร้สาระ อาทิ สิ่งที่คนอื่นเรียกมันว่า ‘ตัวแปรของความเป็นผู้หญิง’ ในขณะที่ฉันยังคงอยู่ในตำแหน่ง มากกว่าที่จะเขียนถึงเรื่องอื่นๆ” โดยเธอแทบจะไม่กล่าวถึงพระราชวงศ์มากนัก ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนั้น จะความยาวหนาเตอะก็ตาม
แธตเชอร์เสียชีวิตลง ด้วยอาการอุดตันของเส้นเลือดสมอง เมื่อ ค.ศ.2013 ในวัย 87 ปี พระราชินีทรงแหกกฎสำนักพระราชวังอีกครั้ง ด้วยการเสด็จไปร่วมงานศพของแธตเชอร์ หลังจากที่พระองค์เคยเสด็จไปร่วมงานศพของเชอร์ชิลเมื่อ ค.ศ.1965 นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สอง และอาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้าย ที่พระราชินีทรงให้เกียรติเสด็จไปร่วมพิธีศพด้วยพระองค์เอง
ความไม่ลงลอยกันของทั้งสองคนอาจเป็นเรื่องลับที่ดูไม่ลับมากนัก ถึงแม้จะมีความเห็นต่างกันอยู่บ้าง แต่มนุษย์ทุกคนย่อมมีหัวจิตหัวใจของ ความรัก ความเมตตา ต่อกันและกัน ตัวอย่างของจุดเริ่มต้นที่เยือกเย็น กับจุดจบอันสมเกียรติระหว่างชีวิตการเป็นนายกรัฐมนตรี ของมากาเร็ต แธตเชอร์ กับการดำรงพระยศเป็นพระราชินี ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 อาจเป็นตัวอย่างของพลวัตทางความสัมพันธ์ของมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีให้กับมนุษย์อีกคนหนึ่ง ไม่มากก็น้อย
อ้างอิงจาก