มวลหมู่ดอกไม้สีสันสดใสหลากสายพันธุ์บานสะพรั่งอยู่ในพื้นที่ 4 ไร่เศษ ด้านหนึ่งของสวนแห่งนี้ ห้อมล้อมด้วยปราการกำแพงสีขาวที่มีร่องรอยความเก่าแก่ปรากฎให้เห็นอยู่บ้าง ขณะที่อีกฝากฝั่ง มีสายน้ำจากลำคลองไหลวนเป็นแนวกั้น
สถานที่แห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า ‘สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ’
ช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่งไปเยี่ยมชมสวนดังกล่าว พร้อมกับเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม ‘ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง’ เพื่อถ่ายรูปกับดอกไม้ที่จะบานไปจนถึงต้นปีหน้า
แต่เบื้องหลังของสวนแห่งนี้ กลับต้องแลกมาด้วยคราบน้ำตา และการต่อสู้อันยาวนานถึง 26 ปีของ ‘ชาวป้อม’ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนในชุมชนชานกำแพงพระนครที่เหลืออยู่แห่งสุดท้ายของเกาะรัตนโกสินทร์
1
“เราต่อสู้กันมา 26 ปี เป็นเวลาที่นานมาก คนส่วนใหญ่ก็อยู่กันมานานหลายรุ่น อย่างต่ำก็เป็น 30 ปีขึ้นไป” สมบูรณ์ พวงไชโย หรือ เล็ก หนึ่งในผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้กล่าว
เล็กเล่าว่า พวกเขาเริ่มทราบกันว่าจะต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งอื่น ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ที่ระบุถึงการเวนคืนที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ เพื่อนำมาจัดทำสวนสาธารณะ โดยมีใจความว่า
“โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ”
หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ต้องการให้ผู้คนย้ายออกไป เพื่อจะจัดทำสวนสาธารณะ และรักษาพื้นที่แห่งนั้นเอาไว้
เล็กอธิบายให้ฟังว่า รัฐบาลจ่ายเงินก้อนหนึ่งมาให้ แล้วบอกให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ของโครงการที่รัฐบาลจะจัดสรรให้ ซึ่งอยู่บริเวณ ถ.ฉลองกรุง เขตลาดกระบัง อันเป็นย่านชานเมืองของกรุงเทพฯ
แรกเริ่มเดิมที พวกเขาก็ยินดีที่จะทำตามคำสั่งจากภาครัฐ ชาวชุมชนผ่อนเงินส่งให้โครงการไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2537 ความตื่นเต้นระคนกังวลเป็นแรงผลักให้หลายคนพากันระดมเงินเช่ารถ เพื่อไปสำรวจดูพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งจะกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขา แต่แล้วสภาพของพื้นที่อันรกร้างและความเจริญยังเข้าไม่ถึงของฉลองกรุงเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ก็ทำให้ความตั้งใจของพวกเขาสลาย
“เราเหมือนโดน กทม.หลอก เลยมารวมตัวกันคุยว่า เฮ้ย เราไปแล้วมันตายนี่หว่า เอายังไงดี อยู่ตรงนี้แล้วร่วมกันสู้ไหม พอดีช่วงนั้นมันคาบเกี่ยวเข้าปี 39 พอปี 40 เศรษฐกิจตก ฟองสบู่แตก ทีนี้ ทุกคนก็เริ่มมีปัญหาเรื่องการส่งเงิน ก็เลยมานั่งคุยกันจริงจังขึ้น”
หลังจากพูดคุย และศึกษาการต่อสู้ของชุมชนอื่นๆ ที่ถูกไล่รื้อ พร้อมกับความช่วยเหลือจากสถานศึกษา นักวิชาการ และภาคีต่างๆ ทั้งสมาคมสถาปนิกสยาม กลุ่มสถาปนิกผังเมืองจิตอาสา รวมถึงอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดเป็น ‘มหากาฬโมเดล’ อันเป็นแนวทางแห่งความหวังที่จะได้อยู่ในพื้นที่เดิมได้อย่างสอดรับกับแผนการพัฒนาเมือง
เมื่อรัฐต้องการให้พื้นที่แห่งกลายเป็นสวน เป็นพื้นที่สีเขียว มหากาฬโมเดล ก็พยายามหาจุดร่วมเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ด้วยกันได้ โดยชุมชนจะขอใช้พื้นที่ร่วมกับโครงการเป็นจำนวน 1 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ 300 ตารางวา เพื่อใช้พักอาศัย โดยที่จะอนุรักษ์รักษาบ้านเรือนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และรักษาวิถีชีวิตชุมชนไป พร้อมกับเข้าไปดูแลรักษาสวนสาธารณะที่ทาง กทม.จะจัดสร้างขึ้นด้วย
“แต่เสนออะไรไป กทม.เขาก็ไม่ยอม เสนอแบบแปลนไปว่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ เราจะตลบให้พี่น้องเรามาอยู่ด้วยกัน เพราะที่เหลือมันเต็มแล้ว เขาก็ไม่เอา”
เล็กเล่าอีกว่า พวกเขาจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ แล้วไปดูว่าที่ไหนมีปัญหา ก็จะมาจัดใช้กับชุมชน จากนั้นก็ไปจัดตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรคนจนเมืองที่โดนไล่รื้อ เพื่อจะมาร่วมด้วยช่วยกัน จึงเป็นที่มาที่ไปว่า พวกเขาไม่ได้อยู่ในชุมชนโดดเดี่ยว หากโดนไล่รื้อ ก็จะมีเครือข่ายชุมชนช่วยกันเจรจาต่อรอง
นอกจากนี้ ยังมีช่วงหนึ่งที่พวกเขาต้องจัดเวรยาม เฝ้าพื้นที่รอบชุมชน ทั้งกลางวันกลางคืน เพราะหวาดกลัวภัยอันตรายจากการบังคับรื้อไล่ที่จากภาครัฐ
“แต่ผลสุดท้าย สู้ยังไงก็สู้ไม่ได้”
เล็กมองต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในสวน เพื่อใช้เป็นหลักในการมองดูผืนดินที่ตัวเองเคยอยู่ ก็จะยกมือขึ้นชี้ว่า จากด้านหน้ามาถึงกลางป้อม เป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ประกาศว่า ให้ผู้คนอาศัยอยู่ไม่ได้ จะให้เหลือไว้เพียง ‘บ้านไม้โบราณ’ ที่อยู่ในสวนเท่านั้น
“ไม่ใช่คนนะ เขาบอกว่า บ้านไม้โบราณอยู่ได้ พวกเราเองก็ทึกทักว่า คนที่อยู่บ้านไม้โบราณจะได้อยู่ ทำให้พวกที่อยู่ด้านนอกอาณาเขตก็จะต้องออกไป เป็นการแบ่งแยกประชากรทั้งหมดออกไป” เล็กกล่าวถึงกลยุทธ์ที่ภาครัฐใช้ เพื่อให้พวกเขาต้องออกจากพื้นที่ป้อม
แล้วเมื่อปี 2559 เล็กและชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งก็ตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่ของชุมชน ไปอาศัยอยู่ในสถานที่ที่รัฐบาลจัดสรรไว้ให้ พร้อมกับรอยร้าวของชุมชนป้อมมหากาฬที่เริ่มแตกออก
2
“ขอบคุณที่คืนพื้นที่ป้อมมหากาฬ โบราณสถานอันล้ำค่าของทุกคน”
ข้อความที่ปรากฏอยู่บนป้ายผ้าใบผืนใหญ่ ริมรอบกำแพงของป้อมมหากาฬ ซึ่งจัดทำโดย กทม. เพื่อขอบคุณชาวชุมชนป้อมมหากาฬในวันที่พวกเขาถูกบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว
“ยอมคืนหรือคุณปล้นฉันไป?” ธวัชชัย วรมหาคุณ หรือ กบ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ
ถามด้วยน้ำเสียงโกรธเคือง เขาเป็นหนึ่งใน 5 ครัวเรือนสุดท้ายของชาวชุมชนป้อมที่ต่อสู้อยู่จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2561 อันถือได้ว่าเป็นวันที่ชุมชนป้อมมหากาฬแตกพ่ายอย่างราบคาบ
ชายวัย 62 ปี เล่าว่า เงินเยียวยาที่พวกเขาได้รับ เป็นเพียงเงินชั่วคราวที่ไม่ได้ตอบโจทย์การดำรงชีวิตเลยแม้แต่น้อย หากผู้คนไร้ซึ่งบ้านและถิ่นที่อยู่ ซึ่งทั้งหมดก็กลับมาที่เรื่องของหนี้สิน โดยเงินช่วยเหลือส่วน 75% คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของกบเคยได้รับไปแล้ว ชาวชุมชนรุ่นต่อมา จึงจะได้อีก 25% กับค่ารื้อถอนหลักหมื่น
“ถามว่าหลักหมื่นกับค่ารื้อถอนส่วนที่เหลือ 25% กับการดำรงชีวิตอย่างที่ไม่มีบ้าน ไม่มีอาชีพ ค่าใช้จ่ายเพิ่ม เงินหลักหมื่นจะอยู่ได้ซักเท่าไหร่ แล้วกับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองด้วยนะ นี่แหละคือสิ่งที่แสนสาหัส และทำให้เราไม่มีวันลืมความเจ็บปวด เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเรา”
“อย่าใช้คำว่ายอมคืนพื้นที่ ต้องบอกว่า คุณปล้นพื้นที่ไปจากเรา”
ยิ่งกว่านั้น การดูแลหรือให้เงินเยียวยา ก็ดูจะไม่ตอบโจทย์การดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน สำหรับชาวป้อมมหากาฬที่กลายเป็นกลุ่มคนไร้ที่อยู่อาศัย ถึงขั้นที่กบใช้คำว่า “กลุ่มชาวบ้านถูกถีบหัวส่งให้ออกไปจากพื้นที่ แล้วก็จบ”
ชาวชุมชนป้อมมหากาฬกลุ่มสุดท้ายออกจากพื้นที่ไปราว 2 ปีก่อน จากนั้นบริเวณดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนหญ้า โดย กทม.เปิดเผยงบประมาณในการจัดสวนอยู่ที่ 69 ล้านบาท แล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ก็เพิ่งเริ่มนำดอกไม้และของตกแต่งมาวางประดับรอบสวนให้คนเยี่ยมชม
กบตั้งคำถามว่า มูลค่า 69 ล้านบาทที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนนั้น คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่? เมื่อดอกไม้นานาพันธุ์นี้ ต้องแลกมาด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการสูญหายของพื้นที่ให้เรียนรู้ชุมชนชานกำแพงพระนคร
“คุณลองไปขุดดินดูสิ ซากปรักหักพังกับคราบน้ำตาของพี่น้องชาวป้อม มันยังฝังอยู่ใต้ดินที่พวกเขากลบเอาไว้อยู่เลย”
ความเศร้าโศกที่ต้องจากแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่ชาวป้อมมหากาฬต่างต้องพบเจอ เช่นเดียวกับ สมพร อาปะนนท์ หรือ ยายเฮง หญิงสูงวัยผู้อาศัยอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬมานาน ซึ่งเมื่อถามว่า รัฐบาลได้ดูแลหรือเยียวยาพวกเขาเพียงพอหรือไม่ ยายเฮงก็ส่ายหน้าทันทีเมื่อได้ยินคำถาม
“เขาไม่มาดูแลอะไรเราเลย เหมือนออกไปแล้วก็จบ นี่พอย้ายออกมาก็ต้องเข้าโรงพยาบาลไปสองรอบแล้ว แต่โรงพยาบาลก็ไกลมาก เสียค่าเดินทางอีกหลายบาท ตอนนี้ก็ไปไม่ไหวแล้ว”
ยายเฮงกล่าวถึงอาการเจ็บป่วยบริเวณขาของตัวเอง ซึ่งทำให้เธอเดินได้อย่างลำบาก พลางนำทางเราไปพูดคุยกันในบ้านพัก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนกัลยาณมิตร บางซื่อ ภายในเป็นห้องพักสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่เต็มไปด้วยข้าวของมากมาย และมีเจ้าสัตว์สี่เท้าตัวน้อยออกมาต้อนรับทันทีที่บานประตูเปิดออก
“แม้แต่หมาแมวก็เดือดร้อน” ยายเฮงบอกพลางมองไปยังแมวตัวน้อยที่กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยง หลังจากที่หลานชายของเธอขอให้พามาอยู่ที่แห่งนี้ด้วย เพราะพื้นที่ป้อมที่ถูกรื้อไป ทำให้ชาวชุมชนหลายคน พาสัตว์เลี้ยงไปด้วยไม่ได้ พวกมันจึงกลายเป็นสัตว์จรกันไปเสียหมด
กลายเป็นว่า การรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ ทำลายชีวิตทั้งคนและสัตว์ไปมาก เหลือไว้แต่ดอกไม้ที่ถูกขนมาประดับพื้นที่เท่านั้น
3
ทางเดินในสวนถูกปูด้วยพื้นที่ถูกลาดยางใหม่เอี่ยม ตามทางมีป้ายสีขาวปักบอกตำแหน่งของสิ่งที่ ‘เคยมี’ อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ทั้งตรอกกรงนก ตรอกถ่าน ตรอกลิเก และอื่นๆ อีกมาก
หากแต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ มีเพียงแต่ป้ายเท่านั้น
“ความจริงไม่อยากรื้อฟื้นแล้ว พวกเราทำใจแล้ว” เสียงจากยายเฮง หญิงชราผู้อาศัยอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬนานกว่า 30 ปี บอกเล่าด้วยสีหน้าสะเทือนใจ
เธอกล่าวว่า เดิมทีเธอประกอบอาชีพค้าขาย โดยเปิดพื้นที่บริเวณหน้าบ้านให้เป็นร้านค้า หากมีใครแวะเวียนไปมา ก็สามารถซื้อของจากร้านเธอได้ แต่เมื่อต้องย้ายออกมาจากพื้นที่แห่งนั้น กลายเป็นว่า ชุมชนที่รัฐให้เธอย้ายมาอาศัยเป็นตึกทาวน์โฮมที่ไม่สามารถเปิดหน้าบ้านพูดคุยกับใครได้ เนื่องด้วยความไม่คุ้นชิน แปลกถิ่น และความไม่ปลอดภัย
“แต่ก่อน เราเปิดบ้านมา แบ่งข้าวกินกัน (กับคนในชุมชน) ทุกวัน แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว”
ขณะเดียวกัน พื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเคยเป็นแหล่งที่มีการทำกรงนกอันโด่งดังมาก่อน แต่เมื่อถูกไล่รื้อถอนที่ ชาวชุมชนที่ทำกรงนกก็ต้องย้ายออกไป โดยตอนนี้ต้องไปอยู่แถวตลิ่งชัน และเปลี่ยนไปประกอบอาชีพค้าขาย เพราะไม่มีลูกค้าซื้อขายกรงนกแล้ว ดังนั้น ความเป็นชุมชนก็ค่อยๆ สูญหายไปด้วย
ขณะที่ สุภาณัช ประจวบสุข หรือ ดาว หญิงวัย 57 ปีที่เคยประกอบอาชีพสอนนาฏศิลป์อยู่ในชุมชนป้อม เล่าว่า เธอเคยเป็นนางรำประจำ เวลาที่มีการทำพิธีสมาป้อมฯ ซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงสิ่งที่ปกป้องแผ่นดินในบริเวณนั้น ทั้งยังถูกสอนให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนั้นมาโดยตลอด ดังนั้น การต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สะเทือนใจเธออย่างมาก
ดาวกล่าวอีกว่า ในชุมชนแห่งนี้ ผู้คนประกอบอาชีพหลากหลายกันไป ตั้งแต่การค้าขายสินค้าพื้นเพ ไปจนถึงการทำถ่าน ทำกรงนก ปั้นเศียรพ่อปู รวมไปถึง ‘วิกลิเกพระยาเพชรปาณี’ วิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5
อีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของชุมชนแห่งนี้ สังเกตได้จากทิศทางการตั้งบ้านเรือน เมื่อกบเล่าให้ฟังว่า หากเรายืนมองจากฝั่งกำแพงของป้อมฯ ชุมชนแห่งนี้จะอยู่นอกเมือง เพราะสมัยก่อนบ้านของผู้คนจะหันเข้าคลอง เนื่องจากยังไม่มีถนน ต้องสัญจรกันทางน้ำ ดังนั้น เมื่อภาครัฐบอกว่า ชาวชุมชนป้อมมหากาฬบุกรุกเขตโบราณสถาน กบจึงแย้งอย่างหนักว่า ไม่มีทางเป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของป้อมมหากาฬนั้น ก็ขึ้นเพียงแค่ตัวป้อม กับกำแพงเท่านั้น แต่พื้นที่ของชุมชนป้อมมหากาฬไม่ใช่จุดที่ได้ขึ้นทะเบียนด้วย ดังนั้น การบอกว่าพวกเขาเป็นผู้บุกรุกเขตโบราณสถานจึงไม่ใช่ความจริง
“จริงๆ ที่ดิน 20% ของตรงนี้ก็เป็นที่ดินของวัดราชนัดดา ซึ่งเขากำหนดว่าเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ แล้ว กทม.เอามาสร้างสวนได้อย่างไร มันเกี่ยวอะไรกับพุทธศาสนา” กบถาม
ขณะเดียวกัน กว่า 60% ของที่ดินแห่งนี้ก็เป็นพื้นที่พระราชทานให้เป็นบ้านพักอาศัยของข้าราชบริพารมาหลายยุคหลายสมัย จึงเป็นพื้นที่ที่สั่งสมประวัติศาสตร์ และคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสืบต่อมายาวนาน
นอกจากนี้ กบยังพูดถึงบ้านไม่โบราณแห่งหนึ่ง ที่เคยอยู่ในพื้นที่ชุมชน ซึ่งมีบ่อน้ำบาดาลโบราณอยู่ในพื้นที่บ้านด้วย โดยกบเล่าว่า นี่เป็นหลักฐานว่า บ้านหลังนี้ถูกสร้างมานานหลายชั่วอายุคน เพราะการสร้างบ่อน้ำนี้ แปลว่าสมัยนั้นบ้านเมืองยังไม่มีน้ำประปาใช้ และน้ำประปาก็เริ่มมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นแปลว่า บ้านหลังนี้สร้างขึ้นก่อนรัชกาลที่ 5 นั่นเอง
แต่ทุกวันนี้ การถอดรื้อบ้านเรือนและชุมชนป้อมมหากาฬออกไปนั้น ก็ทำให้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เลือนหายไปด้วย แม้จะมีป้ายปักเอาไว้เพื่อบอกสิ่งที่เคยมีอยู่ในอดีต แต่เมื่อไม่มีของจริงให้เห็น ก็ยากที่จะเห็นภาพตามได้
“ประวัติศาสตร์ร้อยกว่าปี คุณเอาย่อส่วนเหลือแค่ป้าย ไปปักเอาไว้ในสวน แล้วถามว่า ถ้าคุณไปอ่านป้าย คุณจะงงไหม ป้ายบอกว่า ‘ตรอกถ่าน’ อ่าว แล้วไหนถ่านวะ บอกว่ามีบ้านโบราณ แล้วบ้านไปไหนวะ เห็นแต่ต้นหญ้ากับดอกไม้ ของมันมีจริงอยู่ แต่คุณกลับไปทำให้มันเป็นนามสมมติขึ้นมา”
4
“บ้านผมก็กลายเป็นห้องน้ำไปแล้ว” เล็กเอ่ยขึ้นมา ขณะเดินผ่านกลางสวนป้อมมหากาฬ ซึ่งมีห้องน้ำตั้งอยู่
เป็นเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ที่เล็กและชาวชุมชนป้อมมหากาฬกว่า 20 ครัวเรือน พากันย้ายออกจากพื้นที่ป้อมมหากาฬไปใช้อาคารสูง 6 ชั้น แถวการประปานครหลวงเก่า แยกแม้นศรี เป็นสถานที่พักพิง แม้จะยังไม่ห่างไกลจากแหล่งทำกินเดิมมากนัก แต่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนจากบ้านเป็นตึกก็สร้างความไม่คุ้นชินกับพวกเขาไม่น้อย
เล็กเล่าว่า เขาเคยทำอาชีพปั้นฤาษี แต่พอต้องย้ายไปอยู่ที่การประปานครหลวงเก่า ก็เริ่มปั้นน้อยลง จนท้ายที่สุดต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพค้าขาย เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวสามารถเอาชีวิตรอดไปได้
แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนัก พวกเขาก็โดนไล่ให้ไปหาที่อยู่อาศัยใหม่อีกครั้ง โดย กทม.บอกว่า หมดระยะเวลาแล้ว พร้อมกับให้เงินเยียวยามาก้อนหนึ่ง ก่อนจะปล่อยให้ผู้คนหลายครัวเรือนกระจัดกระจายกันไปอย่างไร้ที่พักพิง
เล็กกล่าวว่า พวกเขาได้กู้เงินจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มา 8 ล้านบาท แล้วนำไปหารตามจำนวนชาวชุมชน ซึ่งจะได้คนละประมาณ 200,000 บาท เป็นค่าเช่าที่และสร้างบ้าน โดยจะต้องต้องผ่อนจ่ายกับ พอช. คนละประมาณ 2,000 บาท/เดือน และจะนำไปรวมกับเงินสหกรณ์ที่เก็บจากชาวบ้าน เพื่อใช้สร้างทาวน์โฮมแห่งใหม่ บนผืนดินของกรมธนารักษ์ บริเวณหลังรัฐสภา แถววัดแก้วฟ้าจุฬามณี เกียกกาย
เล็กบอกอีกว่า จะมีชาวชุมชนป้อมมหากาฬบางส่วนย้ายมาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ โดยสามารถอยู่ได้ 32 ครัวเรือน ซึ่งเป็นจำนวนที่วางเผื่อเอาไว้สำหรับการขยายครอบครัวอยู่แล้ว โดยที่บ้านหลังใหม่นี้ยังอยู่ในเขตเมือง และไม่ห่างจากป้อมมหากาฬมากนัก ทั้งยังเป็นสถานที่ที่สามารถประกอบอาชีพค้าจายได้ นั่นเป็นความหวังให้พวกเขาสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
ตามกำหนดเดิม บ้านแห่งใหม่นี้จะต้องเสร็จสมบูรณ์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ชะลอทุกอย่างให้ช้าลงกว่าเดิม ทำให้กำหนดการล่าช้าไปอีก แต่เล็กก็คาดว่า บ้านแห่งใหม่จะพร้อมต้อนรับพวกเขาช่วงต้นปีหน้า
อย่างไรก็ดี การมาของ COVID-19 ไม่เพียงแต่กระทบกับการก่อร้างสร้างบ้านเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการประกอบอาชีพของผู้คนจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งเล็กที่ผันเปลี่ยนมาค้าขาย และต้องแบกรับสารพัดปัญหาจากการโยกย้ายที่อยู่อาศัย ก็ถูกพิษเศรษฐกิจนี้อัดกระแทกเข้าไปอีกแรงหนึ่ง
ความเงียบสงบเข้าครอบคลุมการสนทนาไปชั่วขณะ เล็กทอดมองพื้นที่สวนซึ่งกลายเป็นที่อยู่ของดอกไม้และผืนหญ้าด้วยแววตาเศร้าโศก ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่า
“จริงๆ ไม่อยากกลับมาเลย กลับมาแล้วมันสะเทือนใจเหลือเกิน”
5
เศษซากสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว ถูกทิ้งให้เห็นประปรายอยู่ตามทาง ความแออัดของบ้านเรือนเบียดเสียดออกมาให้สังเกตได้อย่างชัดเจน .. นี่คือพื้นที่ของชุมชนกัลยาณมิตร บางซื่อ
ชุมชนกัลยาณมิตร บางซื่อ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงกัลยาณมิตร มีพื้นที่ 6 ไร่ มีรั้วปูนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นรายล้อมอยู่รอบนอก แต่ภายในเป็นห้องแถวที่หันหน้าชนกัน โดยมีทางเดินเล็กๆ คอยเชื่อมซอกซอยต่างๆ
หลังจากต่อสู้กันจนเหลืออยู่เพียงกลุ่มสุดท้าย ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬทั้ง 5 ครัวเรือน ก็ต้องโยกย้ายมาอยู่ที่พื้นที่แห่งนี้แทน ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาได้ปีกว่าแล้ว แต่พวกเขาก็มองว่า ตัวเองยังเป็นพวกแปลกถิ่นอยู่เสมอ
ยิ่งกว่านั้น บ้านพักที่พวกเขาอาศัยในชุมชนกัลยาณมิตรนี้ ก็ต้องเสียเช่าบ้านเดือนละ 1,500 บาท ซึ่งถ้าหากผู้ปล่อยเช่ามาขอที่คืน พวกเขาก็ต้องหาห้องใหม่ เหมือนที่ดาวเล่าว่า เธอเคยถูกเจ้าของห้องมาทวงที่พักคืน ทำให้เธอต้องโยกย้ายจากจากซอยหนึ่ง ไปอยู่อีกซอยหนึ่งแทน ตอกย้ำความรู้สึกว่า สถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่บ้านของพวกเขาหนักขึ้นไปอีก
เช่นเดียวกับ ดาว ที่รู้สึกว่า ตัวเองเป็นผู้แปลกถิ่นอยู่ตลอดเวลา ซ้ำการต้องพักในบ้านที่ฉาบด้วยปูน ก็ไม่ช่วยให้เธอสงบใจได้ เหมือนกับตอนที่เธออยู่ในบ้านไม้ตรงป้อมมหากาฬ โดยเธอบอกด้วยว่า เธอยังคงจำวันที่ต้องย้ายออกจากป้อมฯ ได้อย่างชัดเจน เพราะวันนั้นเป็นวัดเกิดของเธอเอง
“พูดแล้วก็จุกไปหมด เราขอร้อง ขออยู่ต่ออีกแค่วันเดียว เขาก็ไม่ให้” ดาวพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
ขณะที่ พรเทพ บูรณบุรีเดช หรือ แต อดีตรองประธานชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวว่า การเอาพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬไปทำสวนสารธารณะ เป็นสิ่งที่ทำลายคน ทำลายจิตใจ และทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเยอะ
“มันไม่ใช่แค่บ้าน ไม่ใช่แค่วิถีชีวิต แต่มันคือการทำลายคนที่อยู่กันเป็นครอบครัว เอาง่ายๆ ครอบครัวของผมแตกสลาย เหลืออยู่คนเดียว นี่แค่ย้ายบ้านมาปีสองปีนะ”
อย่างไรก็ดี แตก็เล่าว่า หลังจากที่อยู่ในชุมชนกัลยาณมิตรมาได้ 2 ปี ตอนนี้ พวกเขาได้ตกลงเซ็นสัญญาเรื่องบ้านใหม่ บริเวณพุทธมณฑลสาย 2 โดยตั้งเป้าว่าจะทำพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และนำเอาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวป้อม ไปปรับเป็นกิจกรรมของพื้นที่แห่งใหม่นั้นด้วย เพื่อเป็นการรื้อฟื้นให้เรื่องราวของชุมชนป้อมมหากาฬกลับมามีลมหายใจอีกครั้งหนึ่ง
การย้ายถิ่นฐานครั้งถัดไปนี้ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้แต่คาดหวังว่า เมื่อย้ายไปอยู่ในพื้นที่แห่งนั้นแล้ว พวกเขาจะไม่ถูกรื้อไล่ กีดกัน หรือต้องรู้สึกแปลกแยกแบบที่เคยพบเจอมาอีกแล้ว
6
“เมืองไม่ได้ต้องการความสวยเพียงแค่อย่างเดียว เราไม่ใช่ดิสนีย์แลนด์ แต่เมืองของเรา คือเมืองที่เกิดจากประวัติศาสตร์ เกิดจากรากเหง้าของบรรพบุรุษเราที่มาก่อร่างสร้างเมือง” กบ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าว
หากย้อนกลับไปที่ต้นตอของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ อาจต้องเริ่มจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ ที่ร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2502 อันเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ภาครัฐต้องรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะ
แต่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจึงเสนอทางออกให้แบ่งปันพื้นที่กันและกัน
เมื่อไม่สามารถรื้อถอนออกได้เสียที กทม. จึงเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ซึ่งทางฝั่ง กทม.ก็พยายามที่จะรื้อถอนชุมชนโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.ฎ. อีกหลายครั้งเช่นกัน โดยมองว่า พื้นที่นี้จะต้องทำเป็นสวนสาธารณะอย่างเดียวเท่านั้น
“ถามจริงๆ เถอะ ไปเอากฎหมายเมื่อปี 35 ที่ผ่านเลยมาเกือบ 30 ปีมาใช้ คุณปรับปรุงไม่ได้เหรอ? ทั้งที่เมืองมันเปลี่ยนแล้ว แต่คุณจะยืนกรานในวัตถุประสงค์ตามที่ออกกฎหมายเวนคืนตั้งแต่ปี 35 โดยไม่เปลี่ยนตามเมืองเลย”
ท้ายที่สุด เมื่อปี 2561 ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก็แตกพ่าย กระจัดกระจายกันไปตามสถานที่ต่างๆ หลังจากถูกบีบให้ออกจากพื้นที่ พร้อมด้วยคำกล่าวว่า เป็นไปเพื่อพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้นให้ดียิ่งขึ้น ตามแผนที่ต้องการให้กรุงเทพฯ กลายเป็นมหานครที่ปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียว และเป็นเมืองสำหรับคนทุกชนชั้น
แต่จะกลายเป็นเมืองสำหรับคนทุกชนชั้นได้อย่างไร หากภาครัฐยังลืมใครเอาไว้ข้างหลัง?
“ถึงเราจะดูยากจนในสายตาคุณ ถึงคุณจะตีค่าว่าเราคือสลัม แต่อย่างน้อยที่สุด สลัมไม่ใช่หรือที่เป็นองค์ประกอบชีวิตรอบๆ ตัวของคุณ คนสลัมไปช่วยให้เมืองมันขับเคลื่อนได้โดยใช้แรงงานขนาดหนัก” กบกล่าว
ขณะที่ เล็กกล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาเมืองอย่างทำใจว่า หากคิดในแง่ดี เมื่อเมืองต้องพัฒนา พวกเขาก็ต้องพัฒนาตัวตามเมือง เพื่อวิ่งให้ทันและเอาชีวิตรอดให้ได้ จึงไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ แต่ส่วนตัวก็ยังมองว่า การพัฒนาที่ดี ไม่ควรจะทอดทิ้งชีวิตของผู้คนเอาไว้ข้างหลัง แล้วพัฒนาแต่ตัวเมืองที่ไร้ซึ่งชีวิต
พอถามว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว รัฐควรมีมาตรการอย่างไร ชายวัยกลางคนก็ตอบว่า กทม.ต้องทำวิจัยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุนชน จำนวนประชากร และอาชีพของชุนชน แล้วลงมาถามความเดือดร้อนของผู้คน ถ้าต้องย้ายออกนอกพื้นที่ ก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะให้พวกเขาย้ายไปไหน
เขายังมองว่า นี่คือสิ่งที่ กทม.ไม่กล้าตอบ ไม่กล้าลงมาพูดคุยกับชาวบ้านที่พวกเขาไล่รื้อที่ แล้ว กทม.ก็เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีที่เป็นของตัวเอง แต่มีอำนาจในการต่อรองกับพื้นที่ หาพื้นที่ให้ผู้คน ถึงจะห่างไกลกับแหล่งที่ทำกิน แต่ต้องให้เขามีบ้าน โดยที่เขามีกำลังผ่อน ไม่งั้นก็แก้ปัญหากันอย่างไม่รู้จบ
“นี่คือวิธีแก้ปัญหา กทม.ต้องหาพื้นที่ซัพพอร์ทด้วย ไม่ใช่ไล่เสร็จแล้วก็ไม่มาดูดำดูดี”
7
เนินหญ้าที่มีดอกไม้วางกระจุกรวมกันเป็นพุ่ม ของประดับที่ถูกจัดวางไว้เป็นการตกแต่งพื้นที่รอบสวน นี่คือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของชุมชนป้อมมหากาฬให้กลายเป็นสวนสาธารณะตามที่ภาครัฐวางเอาไว้
“สวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ในกรณีสังคมไทย มันถูกฝังความคิดเอาไว้นานมากว่ามันเป็นพื้นที่สาธารณะที่ดีสำหรับคนทุกคน เหมือนเป็นสากล เป็นอากาศที่ต้องหายใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สวนสาธารณะที่เป็นหญ้าเขียวๆ มันควรเป็นเพียงออฟชั่นหนึ่ง ซึ่งถูกสร้างเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิตของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ สนองไลฟ์สไตล์ของคนชั้นกลาง คนเมือง เท่านั้น”
คำกล่าวจาก ชาตรี ประกิตนนทการ ศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“พื้นที่การพักผ่อนย่อนใจของคนมันมีหลากหลาย แต่กรณีประเทศไทยมันกลายเป็นเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”
อ.ชาตรีมองว่า เวลาพัฒนาเมือง มันเหมือนจะกลายเป็นสูตรสำเร็จไปเสียแล้ว ว่าจะต้องมีสวนสาธารณะที่มีหญ้าเขียวๆ อยู่ในแผนพัฒนานั้นด้วย แม้ว่าในกรณีเมืองร้อนแบบไทย พื้นที่สวนสาธารณะจะมีข้อจำกัดในการใช้งานมาก ด้วยเงื่อนเวลาในการใช้เพียงแค่เช้าจนถึงก่อนจะสายเล็กน้อย แล้วก็เย็นก่อนจะค่ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี อ.ชาตรีย้ำว่า เขาไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของสวนสาธารณะ แต่สำหรับประเทศไทย สวนสาธารณะถูกมองในลักษณะสูตรสำเร็จ เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นเหมือนทุกอย่างในการแก้ไขปัญหาเมือง ซึ่งจากกรณีของป้อมมหากาฬนี้ ทำให้ อ.ชาตรีมองว่า เราควรกลับไปทบทวนเรื่องสวนสาธารณะสีเขียวกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
“เวลาเราพูดถึงเมืองสีเขียว ผมคิดว่าเราต้องแยก เรายังมีภาพจำระหว่างสวนสาธารณะที่มีหญ้าเขียวๆ กับการที่เป็นเมืองสีเขียวที่มีต้นไม้เยอะๆ ที่เป็นปอดของเมือง”
อ.ชาตรีเล่าอีกว่า ก่อนที่จะทำเป็นสวนเปิดโล่ง พื้นที่แห่งนี้เคยมีปริมาณต้นไม้ใหญ่เยอะกว่าที่เป็นอยู่อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้พัฒนาไปเพื่อให้มีต้นไม้ใหญ่ แล้วเป็นปอดให้กับเมือง ก็คงจะไม่ถูกมานัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้นไม้ที่เหลืออยู่ในสวน มีจำนวนน้อยกว่าสมัยที่ชาวชุมชนอาศัยอยู่ด้วยซ้ำ
ดังนั้น สวนสาธารณะป้อมมหากาฬจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการใช้งานซักเท่าไหร่ อีกทั้งลักษณะของพื้นที่ที่ปิดทึบ ถูกห้อมล้อมด้วยกำแพงเมือง คูน้ำ และป้อม มีประตูเข้า-ออกเล็กๆ เพียงไม่กี่ช่อง ทำให้ค่อนข้างอันตรายในเวลากลางคืน และใช้งานยาก
“ผมคิดว่าเราต้องแยกปอดของเมืองออกจากการที่มีสนามหญ้าสีเขียวออกจากกัน เพราะว่ามันไม่เท่ากัน”
นอกจากนี้ อ.ชาตรียังกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนป้อมมหากาฬ ยังแสดงให้เห็นวิธีคิดแบบบนลงล่าง หรือ top-downgovernment ค่อนข้างชัดเจน เพราะเห็นได้ชัดว่า กทม. และคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์มีบทบาทสูงมากในการเลือกว่าพื้นที่ไหนใน กทม. โดยเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นไหน ควรจะเป็นพื้นที่อะไร โดยที่ไม่ฟังเสียงจากภาคส่วนอื่นๆ
“นักวิชาการจำนวนมาก ภาคประชาสังคม NGO เห็นว่า ควรใช้ป้อมมหากาฬโมเดลแบบที่ชาวชุมชนเสนอ แต่ก็ทักท้วงไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า กระบวนการทำงานที่มีลักษณ์ top-down แบบนี้ ยังมีฝังรากลึกอยู่ในการกำหนดนโยบายสาธารณะของสังคมไทย”
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) บทสรุปสำหรับผู้บริหาร