อาชีพนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย นับเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีการแข่งขันสูงในประเทสไทย ก่อนปี 2540 การจ้างงานยังคงเป็นระบบราชการอาจารย์มหาวิทยาลัยตลอดจนเจ้าหน้าที่มีการจ้างผ่านระบบราชการ แม้จะไม่ได้ค่าตอบแทนสูงแต่ก็มีระบบสวัสดิการแบบราชการ จำนวนมหาวิทยาลัยที่มีจำกัดทำให้ตำแหน่งในมหาวิทยาลัยกลายเป็นอภิสิทธิ์และมีอิทธิพลด้านการชี้นำสังคมทั้งต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้าในประเทศไทยมามากกว่า 50 ปี
แม้หลังปี พ.ศ.2540 การแปรสภาพมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ การขยายตัวของหลักสูตรพิเศษ และมหาวิทยาลัยเอกชนทำให้ตลาดแรงงานในมหาวิทยาลัยขยายตัว แม้ค่าตอบแทนจะมากขึ้นการแข่งขันภาวะความกดดันมากขึ้นแต่สถานะการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ยังคงนับว่าเป็นอาชีพที่มีความสัมพันธ์กับสื่อมวชน อำนาจรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น พรรคการเมือง ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในการทำงานมหาวิทยาลัยที่นอกจากการกดดันจากกระแสเสรีนิยมใหม่ และการทำให้เป็นสินค้าของการศึกษา ก็ยังคงมีประเด็นสำคัญคือความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาวะ หรือประเด็นที่เรียกว่า “เพดานล่องหน” ที่ส่งผลให้นักวิชาการที่ไม่ใช่ผู้ชายประสบกับสภาวะการเลือกปฏิบัติโดยอ้อม
เนื่องในสัปดาห์วันสตรีสากล ผู้เขียนขอใช้พื้นที่นี้ขยายให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติงานในโลกวิชาการที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ อันมีความเกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำในประเทศที่ระบบสวัสดิการไม่ดีและทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับความเหลื่อมล้ำนั้นแม้ในการทำงานสายวิชาการก็ตาม
จากสถิติ ศูนย์สารสนเทศอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2563 ระบุว่ามีบุคลากรปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ทุกมหาวิทยาลลัยทั้งรัฐ เอกชน ในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ฯลฯ 73,945 คน เป็นผู้หญิง 38,671 คน เป็นผู้ชาย 35,274 คน สัดส่วนผู้หญิงต่อผู้ชายเป็นร้อยละ 52:48 ซึ่งนับว่าสะท้อนความเสมอภาคทางเพศในลักษณะปกติ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคืออัตราส่วนนี้เริ่มแย่ลงเมื่อพิจารณาตำแหน่งวิชาการ กล่าวคือสำหรับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัตราส่วนยังคงเป็น 48:52 แต่ในตำแหน่งรองสาสตราจารย์จำนวนผู้ชายที่ดำรงตำแหน่งอยู่ที่ร้อยละ 52 และเมื่อพิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์ อัตราส่วนชายต่อหญิงกลายเป็น 67: 33
ซึ่งแปลว่า แม้ผู้หญิงจะเริ่มต้นทำงานจากตำแหน่งอาจารย์ในอัตราส่วนที่สูงกว่า แต่การได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์อันเป็นตำแหน่งวิชาการสูงสุดซึ่งใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี จากการเริ่มทำงานกลับกลายเป็นผู้ชายที่มีอัตราส่วนสูงถึงกว่าสองเท่า สถิตินี้ปรากฏกับทุกประเภทของมหาวิทยาลัยในแนวโน้มเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนกลางหรือภูมิภาค รัฐหรือเอกชน
คำถามสำคัญคือเกิดอะไรขึ้นกับนักวิชาการผู้หญิงระหว่างทางของอาชีพ
ที่ผู้หญิงที่ผ่านคุณสมบัติการเป็นอาจารย์มากกว่า แต่มีเพดานล่องหน
ในการกดดันด้านงานวิชาการ ชีวิตและความสัมพันธ์มากกว่านักวิชาการผู้ชาย
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ผู้หญิงไม่ใช่แค่การละเมิดทางเพศ หรือเลือกปฏิบัติเท่านั้น (ที่ยังคงมีอยู่เช่นกัน) จากประสบการณ์ของผู้เขียน เริ่มแรกแม้แต่การสัมภาษณ์เรียนต่อในระดับปริญญาเอก เมื่อศาสตราจารย์ หรือกรรมการหลักสูตรที่คุณสมบัติครบเป็นผู้ชายจำนวนมาก ผู้สมัครเรียนที่เป็นผู้หญิงก็ต้องเริ่มต้นในการเป็นผู้หญิงที่สุภาพเรียบร้อย ตามขนบของผู้หญิงที่พึงเป็นการแต่งกาย การพูดจา การรับฟังและถ่อมตัว แม้จะไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือคอขาดบาดตาย แต่ว่ามันก็กลายเป็นจุดเริ่มของการกดขี่และการเลือกปฏิบัติที่มองไม่เห็นมากขึ้น
ผู้เขียนได้รับฟังประสบการณ์ของเพื่อนอาจารย์ผู้หญิงที่พวกเขาเผชิญความกดดันจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงจากนักศึกษา นักศึกษามักวิพากษ์วิจารณ์ต่ออาจารย์ผู้หญิงที่เข้มงวดต่อการเรียนมากกว่าอาจารย์ผู้ชาย ในการปฏิบัติและร้องเรียนแบบเดียวกันอาจารย์ผู้หญิงสามารถต่อรองได้น้อยกว่า ในสายมนุษย์ศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ อาจารย์ผู้หญิงที่เรียกร้องต่อรอง หรือแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อเงื่อนไขการทำงาน มักมีประสบการณ์ที่เผชิญคำถามจากผู้บริหารว่า “ถ้าไม่เป็นอาจารย์ แล้วจะทำงานอะไร” แน่นอนว่าคำถามนี้อาจารย์ผู้ชายไม่ค่อยมีประสบการณ์แบบนี้เพราะ ตลาดแรงงานในภาพรวมก็ยังเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนงานของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แรงงานหญิงในตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงถูกสร้างภาพจำว่า อดทน เรียบร้อย มีสัมมาคารวะ เป็นที่รัก และ ทำงานหนัก
เงื่อนไขสำคัญอีกด้านหนึ่งคือการไร้สวัสดิการในช่วงชีวิต ผู้หญิงวัยทำงานเผชิญเงื่อนไขสำคัญในการรับแรงกดดันในการเป็นแรงงานอารมณ์ที่บ้าน พร้อมกับการเป็นแรงงานในที่ทำงาน การกดดันให้ทำให้ที่บ้านอยู่ในสภาวะปกติ ทั้งความสัมพันธ์กับสามี คนรัก พ่อแม่ ลูก หรือแม้กระทั่งกับเพื่อนฝูง พร้อมกับการที่ต้องทำงานให้ได้ผลที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบเกินจริงและรักษาสถานะงานไว้ จึงกลายเป็นผลสองทางคือทำให้นักวิชาการผู้หญิงถูกกดดันให้ทำงานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น มาตรฐานสูงขึ้น เพื่อเป็นเกราะกำบังต่อการเลือกปฏิบัติและความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์การจ้างที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ในทางวิชาการสูงมาก
และกลายเป็นเงื่อนไขกดดันการทำงานทั้งภายนอก
และภายในบ้านให้มีความสมบูรณ์ที่สุด
เมื่อการเงียบและตั้งใจทำงานกลายเป็นทางออก ทางเลือกการวิพากษ์ก็ถูกจำกัดลงไป ผมมีโอกาสสนทนากับผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการหลากหลายมหาวิทยาลัยที่เผชิญกับภาวะความซึมเศร้า แม้ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ กลั่นแกล้ง หรือคุกคามทางเพศ นักวิชาการผู้หญิงเผชิญความกดดันสูงในการที่ต้องแสดงออกซึ่งความสมบูรณ์ ความเครียดและความซึมเศร้ากลายเป็นภัยเงียบในวิชาชีพ เรื่องเหล่านี้เกี่ยวพันกับการแสดงออกทางการเมือง การดำเนินโครงการ การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่นักวิชาการผู้หญิงก็จะถูกเฝ้าระวัง ตรวจสอบและเข้าแทรกแซง ขณะที่นักวิชาการผู้ชายแม้จะโดนเฝ้าระวัง ตรวจสอบ แต่ก็ยังมีพื้นที่หรือช่องทางสาธารณะอื่นๆ ที่สามารถทดแทนได้ แต่นักวิชาการผู้หญิงเมื่อพ้นจากที่ทำงาน ก็ต้องเผชิญแรงกดดันการเป็น ลูก เมีย แม่ ที่สมบูรณ์อีก และจุดนี้ก็ส่งต่อความไม่เท่าเทียมไปอีกต่อหนึ่ง
แม้แต่ในงานเสวนาวิชาการที่ไม่ใช่เรื่องด้านเพศ เด็ก สวัสดิการ ความสมดุลของเพศวิทยากร มักมีปัญหาเมื่อพูดถึงประเด็นที่ถูกจัดว่า “เป็นทางการมากขึ้น” ก็ถูกควบคุมโดยนักวิชาการชายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านแรงงาน นโยบายเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ นโยบายต่างประเทศ ตัวแทนของผู้หญิงยังเป็นไปอย่างจำกัด หรือไม่ก็ต้องอาศัยผู้หญิงที่มีการแสดงออกที่ล้อกับความเป็นชาย หรือปวารนาตัวเองกับค่านิยมที่ใกล้ชิดกับชาย ไม่ต่างจาก อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง มาร์กาแร็ต แท็ตเชอร์ ที่เธอได้รับการยอมรับในหมู่ผู้ชายเพราะการรับค่านิยม อนุรักษ์นิยมทางสังคม ทุนนิยม ตลาดเสรี ที่ผู้ชายที่มีอำนาจในช่วงเวลานั้นยึดถือ เพื่อให้เธอได้รับการยอมรับและแม้จะมีบทบาททางสาธารณะ นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เธอผลักดันก็ไม่ได้ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศลดลงตรงกันข้ามการทำลายรัฐสวัสดิการ ยิ่งเป็นการทำลายความเสมอภาคระหว่างเพศที่เคยมีมาเสียอีก จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่โลกวิชาการภายใต้ค่านิยมชายเป็นใหญ่ ภายใต้กระแสเสรีนิยมไทยในปัจจุบันก็ยิ่งกดดันให้ นักวิชาการหญิงต้องยอมรับค่านิยมทั้งชายเป็นใหญ่ การแข่งขัน และความสมบูรณ์แบบไปพร้อมกัน
แม้การทำงานในทางวิชาการจะดูเปิดกว้างเทียบกับลักษณะงานองค์กรประเภทอื่นแต่เมื่อวิเคราะห์ลักษณะทั้งหมดตามที่ได้พิจารณา หากไม่ได้เป็นนักวิชาการหญิงที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูง หรือชนชั้นสูง ความเครียดและการกดดันภายใต้เงื่อนไขเสรีนิยมใหม่ กลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง ผู้เขียนโอกาสร่วมงานเสวนาครั้งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเป็นวิทยากรด้วย ในช่วงท้ายมีการตั้งคำถามจากผู้ชม เขาเรียกผู้เขียน (นักวิชาการผู้ชาย) ว่า “อาจารย์” และเรียก วิทยากรผู้หญิงอีกท่านว่า “น้องอาจารย์ผู้หญิง”
คำถามนั้นค่อนข้างยืดเยื้อไร้สาระ และมีส่วนหนึ่งที่วิจารณ์เนื้อหาที่นำเสนอ ผู้เขียนตอบโต้ไปในการตอบคำถาม แต่พบว่าเพื่อนนักวิชาการได้แต่ขอบคุณคำถามและรับฟัง ผู้เขียนได้ถามว่าเหตุใดจึงไม่อธิบายว่าคำถามนั้นไร้สาระในทางวิชาการเพียงใด ซึ่งเพื่อนนักวิชาการผู้หญิงอธิบายว่า หากเธอโต้แย้งไม่เห็นด้วย คนฟังจะมองว่าเธอใช้อารมณ์และไม่รับฟังและจะนำไปพูดต่อ ต่อไปก็จะไม่มีคนเชิญเธอเข้าร่วมการเสวนา เธอไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต่อรองแบบนั้นเพราะมีอาชีพ และงานต่างๆ ต้องดูแล และรับสภาพแรงกดดันต่อไปเมื่องานจบไม่ได้ แต่เวลานักวิชาการชายโต้เถียงด้วยหลักการทางวิชาการ เธอบอกว่าคนจะมองว่ากล้าหาญทางวิชาการ น้อยคนที่จะถูกมองว่าก้าวร้าว
โดยสรุปแล้วเราจะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงานสามารถปรากฏได้ทั่วไป ยิ่งสภาพสังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้นแรงกดดันระหว่างเพศในอาชีพก็มากขึ้น แม้แต่ในโลกวิชาการที่เปิดกว้า ประเด็นสำคัญที่ต้องนำสู่การขบคิด คือการนำแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้การศึกษาและการปฏิบัติงานของคนทำงานกลายเป้นสินค้าอย่างเข้มข้น อันสร้างแรงกดดันเพื่อแสวงหากำไรในธุรกิจการศึกษาออกไป จะเป็นก้าวแรกสู่การสร้างความเท่าเทียมในโลกวิชาการ ควบคู่กับการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ลักษณะทางเพศสภาวะคลี่คลายลงและลดแรงกดดันการเป็นแรงงานทางอารมณ์ของผู้หญิง ที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ เรียบร้อย เก่ง ทำงานหนัก ละเอียด มากกว่าผู้ชาย
เพดานที่มองไม่เห็นกลายเป็นกลไกสร้างความเหลื่อมล้ำตั้งแต่วันแรกจนช่วงปลายของอาชีพนักวิชาการผู้หญิง