ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง การคิดหาแผนรับมือเศรษฐกิจก็สำคัญเช่นกัน ล่าสุดภาคเอกชนร่วมหารือเพื่อเตรียมเสนอและผลักดันการเปิดเมืองปลอดภัยหรือโมเดล ‘กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์’ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ รวมทั้งพร้อมรองรับการกลับมาเปิดประเทศ โดยการหารือที่จะเตรียมไปนำเสนอกับ ศบค. นั้น ว่าด้วยข้อเสนอแนะเปิดกิจการนำร่อง รวมทั้งแนวทางปฏิบัติของฝั่งผู้ประกอบการและประชาชนที่จะให้บริการและใช้บริการ
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแแห่งประเทศไทย ได้ประชุมกับประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยประเด็นที่ร่วมหารือกันคือมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน รวมทั้งข้อเสนอแนะผ่อนคลายล็อกสำหรับผู้ประกอบการให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งจะนำเข้าเสนอต่อภาครัฐในการประชุมที่จะจัดขึ้นและหาข้อสรุปอีกครั้งเร็วๆ นี้
โดยข้อเสนอการผ่อนคลายล็อกต้องการทำเพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ยังดำเนินต่อได้ท่ามกลางสภาพการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดสูง อีกทั้งช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป เบื้องต้นอาจนำแนวทางมาตรการที่ใช้เปิดเมืองเมื่อปี ค.ศ.2563 มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงจากสายพันธุ์เดลต้า โดยอาจแบ่งออกเป็นกิจการสีขาว เขียว เหลือง แดง
นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะจัดทำ code of conduct รวมทั้งดูว่าจะให้เปิดธุรกิจไหนเป็นธุรกิจนำร่องบ้าง แล้วหากจะเปิดนั้นต้องมีมาตรการรองรับอย่างไร ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการของธุรกิจแต่ละกลุ่ม ครอบคลุมทั้งกระบวนการป้องกัน การรักษาความสะอาด ซึ่งร่วมกันทำกับ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งปรับใช้ดำเนินการแนวปฏิบัติ SHA + คู่มือสำหรับสถานประกอบการเล็ก กลาง ใหญ่ และการแบ่งกิจการที่จะเปิดตามประเภทต่างๆ
ในขณะเดียวกัน ก็อาจปรับใช้ COVID Status Check เพื่อช่วยตรวจสอบสถานประกอบการที่จะเปิดให้บริการและประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ เสริมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมทั้งเสนอให้ใช้ระบบ digital health pass เพื่อตรวจสอบว่าประชาชนที่เข้ามาใช้บริการนั้นได้รับวัคซีนหรือตรวจหาเชื้อแบบใดมาแล้ว (rapid test หรือ ATK ด้วยตนเอง) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกระบุและเชื่อมต่อเข้ากับระบบของกระทรวงสาธารณสุขอย่างหมอพร้อม หรือ MOPH IC
.
การทำโมเดล ‘กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์’ จะทดลองดำเนินการกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีความพร้อมก่อนและประชาชนที่มีข้อมูลการได้รับวัคซีนภายในระบบไทยร่วมใจ เพื่อนำไปขยายผลสู่การดำเนินการกับกิจการกลุ่มอื่นต่อไป
นอกจากนี้ ภาคการผลิตก็ถือว่าเป็นอีกกลุ่มธุรกิจสำคัญของเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มีส่วนในการเปิดประเทศ โดยก่อนหน้านี้ได้ผุดโครงการ Factory Sandbox เพื่อแก้ปัญหาการติดเชื้อภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนภาคการผลิตและส่งออกสินค้า
ล่าสุดโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเปิดรับสถานประกอบการเข้าร่วมได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งคาดว่าแรงงานจะได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 250,000 คน ส่วนการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางมาตรการอย่าง FQ, FAI และ bubble and seal อาจต้องให้ภาครัฐช่วยหนุนเรื่องค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK แก่โรงงานอุตสาหกรรม แต่การดำเนินการมาตรการบางอย่างก็ประสบข้อจำกัดและพ่วงเรื่องต้นทุนเข้ามาด้วย
แน่นอนว่าตอนนี้โครงการ ‘กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์’ เป็นการเตรียมข้อเสนอของภาคเอกชนเพื่อนำไปเสนอและประชุมหาข้อสรุปจาก ศบค. ในลำดับต่อไป ถึงอย่างนั้น ก็จำเป็นต้องวางแผนเกี่ยวกับแนวปฏิบัติคลายล็อกในพื้นที่ กทม. อย่างมีแบบแผนและครอบคลุม เพื่อให้ภาคธุรกิจยังเดินต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้
ที่สำคัญ ตัวแปรที่จะผลักดันโมเดลนี้ให้เป็นจริงได้นั้นต้องพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน โดยต้องดูว่าการแพร่ระบาดได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว รวมทั้งสัดส่วนการฉีดวัคซีนของประชากรมีเท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.prachachat.net/economy/news-743951
https://www.thairath.co.th/business/economics/2171067