Radical Thinkers เป็นชุดหนังสือขนาดกะทัดรัดของสำนักพิมพ์ Verso ที่รวบรวมเอาผลงานชิ้นสำคัญของนักคิด-นักทฤษฎีปีกซ้าย ทั้งร่วมสมัยและคลาสสิกมาจัดพิมพ์ ปัจจุบันดูเหมือนจะล่วงเลยมาถึงชุดที่ 18 แล้ว โดยหนึ่งในผลงานที่ถูกคัดเลือกมาเล่มล่าสุดก็คือ ‘On Ideology’ ของหลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) นักปรัชญาและนักมาร์กซิสม์คนสำคัญชาวฝรั่งเศส อดีตอาจารย์ปรัชญาผู้โด่งดังประจำสถาบัน École normale supérieure (ENS)
หลุยส์ อัลธูแซร์คือผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดการอ่านตีความผลงานของมาร์กซ์ (Marx) และการสัมมนาแลกเปลี่ยนในหมู่นักวิชาการอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยปัญญาชนชั้นนำตั้งแต่ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) อแล็ง บาดียู (Alain Badiou) ฌาคส์ ร็องซิแยร์ (Jacques Rancière) เรจีส์ เดอเบรย์ (Régis Debray) จนถึงเอเตียน บาลิบาร์ (Étienne Balibar) ต่างก็เคยร่ำเรียนมากับเขาด้วยกันทั้งสิ้น แม้กระทั่งมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ลูกศิษย์และกัลยาณมิตรที่เหมือนจะยืนอยู่ตรงข้ามทางทฤษฎีก็ยังถือว่าได้รับอิทธิพลความคิดจากอัลธูแซร์ทั้งทางตรงและอ้อม
อัลธูแซร์เกิดที่ Birmendreïs ในประเทศอัลจีเรีย ตระกูลของเขาสืบเชื้อสายมาจากแคว้น Alsace ที่เป็นพรมแดนเชื่อมต่อระหว่างประเทศฝรั่งเศสเยอรมัน เขาและครอบครัวได้ย้ายมายังเมือง Marseille ฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1930 อัลธูแซร์สอบเข้า ENS ได้ในปี ค.ศ.1939 แต่ยังไม่ทันเข้าเรียน เขาก็ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาประจำอยู่หน่วยทหารคาธอลิก ภายหลังจากกองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่เยอรมัน อัลธูแซร์ก็ถูกคุมขังในฐานะเชลยสงครามเป็นเวลานานกว่า 5 ปี
ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง เขาได้พบรักและแต่งงานกับเอแล็น รีต์ม็อง (Hélène Rytman) นักสังคมวิทยา อดีตสมาชิกหน่วยต่อต้านฝรั่งเศส ที่เขาได้ฆาตกรรมเธอด้วยการบีบคอในปี ค.ศ.1980 สืบเนื่องจากภาวะทางจิต
อัลธูแซร์สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกที่ ENS โดยมีกัสตง บาชลารด์ (Gaston Bachelard) นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ภายหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้สมัครสมัครเข้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาที่ ENS พร้อมๆ กับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส
แม้โดยพื้นฐาน อัลธูแซร์จะเป็นผู้ศึกษาแนวคิดและผลงานของมาร์กซ์ในแบบเคร่งครัดรัดกุม แต่เขามัดก็ถูกจัดเป็นนักมาร์กซิสม์สายโครงสร้างนิยม (Structural Marxism) หรือพวกหลังมาร์ซิสม์ (Post-Marxism) เนื่องจากได้รับอิทธิพลความคิดจากทั้งบาชลารด์ โคล้ด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ และฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส หรืออาจด้วยเพราะกรอบอธิบายของเขามีมุมมองที่ซับซ้อน อีกทั้งเขายังเชื่อว่าความคิดทฤษฎีของมาร์กซ์และเอ็งเกิลส์ (Engels) นั้นเปิดรับเครื่องมือวิเคราะห์ใหม่ๆ ซึ่งถือได้ว่ามีความแปลกและแตกต่างจากนักมาร์กซิสม์กระแสหลักในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส
ในขณะที่อัลธูแซร์ดำรงตำแหน่งฝ่ายวิชาการของพรรค เขาได้นำเสนอกรอบการวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ขบวนการมาร์กซิสม์นั้นต่อต้านความเป็นมนุษยนิยม ซึ่งต้องถือว่าเป็นข้อเสนอที่หักล้างความเชื่อเดิมที่มีอยู่ในขบวนการอย่างชนิดถอนรากถอนโคน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้คณะกรรมการกลางของพรรคได้ประชุมปรึกษากันและออกมติสวนทางว่า ขบวนการมาร์กซิสม์นั้นยังคงเป็นมนุษย์นิยมอยู่ ซึ่งเป็นการล้มข้อเสนออัลธูแซร์และลดลดบทบาทความสำคัญในพรรคของเขาลงหลังจากนั้น
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อัลธูแซร์ถอดใจ
เพราะเขาก็ยังคงยึดมั่นในความเป็น
มาร์กซิสต์จวบจนสิ้นชีวิต
Idéologie et appareils idéologiques d’Etat (ค.ศ.1970) หรือ Ideology and Ideological State Apparatuses ที่ได้รับการแปลในเป็นไทยในชื่อว่า ‘อุดมการและกลไกทางอุดมการของรัฐ’ โดย กาญจนา แก้วเทพ ถือเป็นข้อเขียนชิ้นสำคัญที่ได้รับการศึกษามากที่สุดชิ้นหนึ่งของอัลธูแซร์ ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือ On Ideology ที่จัดพิมพ์ร่วมกับข้อเขียนอื่นๆ อาทิ Reply to John Lewis, Freud and Lacan และ A Letter on Art in Reply to André Daspre ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เขียนออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน Idéologie et appareils idéologiques d’Etat ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร La Pensée (ฉบับที่ 161 มิถุนายน ค.ศ.1970) ก่อนจะถูกนำไปรวมและจัดพิมพ์ออกมาเป็นเล่มในชื่อ Positions (ค.ศ.1964-1975) โดยสำนักพิมพ์ Les Éditions sociales
แม้ Idéologie et appareils idéologiques d’Etat จะเป็นตัวบทที่มีอายุมากถึงครึ่งศตวรรษไปแล้ว แต่การได้อ่านงานชิ้นนี้ในท่ามกลางบรรยากาศการเมืองปัจจุบัน ย่อมทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่อัลธูแซร์ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ในเรื่องของรัฐ กลไกทางอุดมการณ์ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ก็ยังเป็นประเด็นที่เฉียบคมแยบคายและไม่ตกสมัยไป
ว่าด้วยรัฐและอุดมการณ์
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอัลธูแซร์ต้องการจะต่อเชื่อมทฤษฎีของมาร์กซิสม์เข้ากับเครื่องมือวิเคราะห์ใหม่ๆ ดังนั้นทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐที่มาร์กซ์ เลนิน หรือนักมาร์กซิสม์คลาสสิกคนอื่นๆ ได้เสนอไว้เช่นว่า 1) รัฐคือกลไกที่กดขี่ข่มปราบ 2) เราจำเป็นต้องแยกอำนาจและกลไกของรัฐออกจากกัน 3) เป้าหมายของการต่อสู้ทางชนชั้นนั้นสัมพันธ์กับอำนาจรัฐและผลกระทบต่อเนื่องจากการใช้กลไกรัฐโดยชนชั้นหนึ่งๆ เพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ในชนชั้นของตน 4) กรรมาชีพจะต้องยึดกุมอำนาจรัฐเพื่อทำลายกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ และทดแทนด้วยกลไกแบบกรรมาชีพ ก่อนจะทำลายรัฐและกลไกทั้งปวง ก็ยังคงต้องการเครื่องวิเคราะห์บางอย่างที่ทำให้ทฤษฎีแบบพรรณนา (Descriptive Theory) กลายเป็นทฤษฎีที่เป็นจริง (Theory As Such)
อัลธูแซร์ได้เสนอว่า ลำพังการจำแนกความแตกต่างระหว่างอำนาจรัฐและกลไกของรัฐนั้นยังคงไม่เพียงพอ ตราบเท่าที่เรายังมองไม่เห็นความแตกต่างของสิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างในนั้นที่เขาเรียกว่า กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological State Apparatuses) หรือ ISAs ซึ่งวางอยู่ตรงกันข้ามกับกลไกด้านข่มปราบของรัฐ (Repressive State Apparatus)
อัลธูแซร์ได้แจกแจงให้เห็นว่า
‘กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ’
นั้นดำรงอยู่ในสถาบันต่างๆ ทางสังคม
ตั้งแต่สถาบันทางศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว สถาบันกฎหมาย สถาบันการเมือง สถาบันสื่อสารมวลชน สถาบันทางวัฒนธรรม และสหภาพแรงงานต่างๆ ความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่าง ‘กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ’ กับ ‘กลไกทางการข่มปราบของรัฐ’ จึงอยู่ที่อันแรกมีความหลากหลาย และไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดเอกภาพขึ้นเมื่อไหร่ ในขณะที่อันหลังมีความเป็นเอกภาพ และดำรงอยู่ในขอบเขตที่เป็นสาธารณะ (public) ทั้งหมด ซึ่งตรงข้ามกับแบบแรกที่มักอยู่ในขอบเขตของเอกชน (private)
สิ่งที่อัลธูแซร์เน้นย้ำก็คือกลไกทุกแบบที่กล่าวมาต่างสามารถกระทำการผ่านอุดมการณ์และความรุนแรงด้วยกันได้ทั้งสิ้น แม้ ‘กลไกทางการข่มปราบของรัฐ’ จะใช้กำลังปราบปรามเป็นด้านหลัก แต่ทั้งนี้ก็ยังจำเป็นต้องมีการใช้อุดมการณ์ควบคู่ไปด้วย เช่นเดียวกับโรงเรียนที่มีการลงโทษที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง
ด้วยเพราะเหตุนี้เองเราจึงเห็นได้ว่ากลไกทั้งสองแบบที่ดูเหมือนจะอยู่ตรงกันข้ามกันนั้นจึงสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้อง ภายใต้กระบวนการดังกล่าว ชนชั้นปกครองจึงย่อมจะยังคงรักษาบทบาทความสำคัญของตนต่อไป ตราบเท่าที่อุดมการณ์แบบชนชั้นปกครองยังสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งปัจจัยชี้วัดสำคัญสูงสุดในมุมมองของอัลธูแซร์ก็คือระบบการศึกษา
การศึกษาคือโซ่ตรวน
สำหรับอัลธูแซร์แล้ว ไม่มีกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐอันใดจะสามารถผูกให้เด็กสามารถนั่งอยู่กับโต๊ะได้วันละหลายชั่วโมงเป็นเวลา 5-6 วันในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งถ้าจะมีก็คงเป็นเพียงโรงเรียนเท่านั้น
โรงเรียนไม่เพียงเป็นกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญแทนวัดหรือศาสนา แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการกดให้บรรดาปัจเจกทั้งหลายยอมรับรูปแบบและโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่
อัลธูแซร์เชื่อว่า ความแตกต่างของคนในสังคมที่จริงมาจากการกำหนดคุณสมบัติในวิถีการผลิต (mean of production) และพลังการผลิต (productive force) ที่แตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนี้มาจากการแบ่งงานกันทำ การกำหนด ‘งาน’ และ ‘ตำแหน่ง’ ซึ่งสำหรับเขาแล้วมันไม่เพียงผูกโยงกับเงื่อนไขทางด้านปัจจัยการผลิต เครื่องมือ วัตถุดิบ หรือแรงงาน แต่ยังคงยึดโยงกับกลไกด้านการศึกษา
ดังที่เขาได้ชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนได้นำเด็กๆ จากทุกชนชั้นออกมาจากอ้อมอกของพ่อแม่ บ่มเพาะเด็กๆ เป็นเวลาหลายปี และห้วงเวลาเหล่านี้ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ เขาได้เริ่มสั่งสมความเข้าใจเรื่องของการไต่เต้า ลำดับชั้น และการถูกส่งไปยังหน่วยย่อยต่างๆ เพื่อหล่อหลอมอุดมการณ์ และบทบาทที่ทุกคนต้องแสดงในฐานะผู้ขูดรีด ผู้ถูกขูดรีด หรือความเป็นพลเมืองที่ดีในสายตาของชนชั้นปกครอง การเคารพ เชื่อฟังคำสั่ง การอ้างหลักการ และคุณธรรมความดี
จะเห็นได้ว่า โรงเรียนในกรอบอธิบายของอัลธูแซร์นั้นจึงไม่ใช่ที่ปลอดอุดมการณ์ หรือความเป็นการเมือง แต่เป็นพื้นที่ลึกเร้นของกลไกต่างๆ ที่ทำหน้าที่รักษาอำนาจของชนชั้นแห่งตนเอาไว้ แม้อัลธูร์แซร์จะเชื่อมั่นว่ามีครูจำนวนหนึ่งที่พยายามต่อสู้อย่างห้าวหาญ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องพ่ายแพ้และยอมจำนนต่อระบบ ซึ่งก็ทำให้เราสามารถพูดได้ว่า แม้การศึกษาจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ยากที่สุด แต่ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลรุนแรงอย่างที่สุด
ดังที่เราทราบกันว่า Idéologie et appareils idéologiques d’Etat เป็นเพียงบทเสนอที่อัลธูแซร์พยายามที่จะใช้เวลาปรับแก้และพัฒนาโดยตลอดทั้งชีวิต เพียงแต่เขาได้ล้มป่วยและสิ้นลมหายใจไปเสียก่อน ดังนั้นความคิดที่อยู่ในผลงานชิ้นนี้จึงคงเป็นเพียงต้นร่างที่รอคอยการต่อยอดและพัฒนาต่อด้วยเครื่องมือใหม่ๆ หรือกระทั่งถูกอ่านด้วยสายตาคู่ใหม่ๆ