ย่างเข้าปีที่สี่หลังจากที่ผมกับคนรักเปลี่ยนสถานะสู่สามีภรรยา ผมยังจำได้ดีถึงงานแต่งงานขนาดกะทัดรัด จัดขึ้นอย่างง่ายๆ โดยเชิญเฉพาะญาติใกล้ชิด เป็นหนึ่งในวันที่ผมมีความสุขที่สุดในชีวิต แต่การตัดสินใจครั้งนั้นยังทำให้ผมรับรู้ด้วยตนเองว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องของคนสองคน ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะญาติสนิทมิตรสหาย แต่ยังเกี่ยวพันกับ ‘รัฐบาล’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องการให้ชีวิตคู่ของเราสองคนถูกกฎหมาย
การแต่งงานจึงเป็นสัญญาสามทางระหว่างคนสองคนกับรัฐบาล อ่านแล้วก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยนะครับว่าทำไมรัฐจะต้องมาจุ้นจ้านชีวิตส่วนตัวของประชาชน นอกจากจะมากำหนดเงื่อนไขว่าใครแต่งงานกับใครได้แล้ว ยังมาบังคับไปจดแจ้งให้รัฐอนุมัติเสียก่อนจึงจะเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย แถมในกรณีที่เลิกราก็ยังต้องไปจบเรื่องที่หน่วยงานรัฐซึ่งมีการกำหนดไว้เสร็จสรรพว่าจะแบ่งสมบัติการอย่างไร และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม จะมีเหตุผลใดบ้างที่สามารถฟ้องร้องให้ศาลมีคำสั่งบังคับคนเคยรักให้แยกทางกันได้
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ารัฐและศาลทำตัวไม่ต่างจาก ‘คุณพ่อรู้ดี’ ในเรื่องการแต่งงาน คอยกำหนดระเบียบวิธีว่าคนจะรักหรือจะเลิกกันต้องทำอย่างไร นับวันกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะยิ่งล้าสมัยและตามไม่ทันกับรสนิยมทางเพศที่เปิดกว้างและหลากหลายยิ่งขึ้น กลายเป็นกฎหมายกีดกันสิทธิและสวัสดิการของคู่รักซึ่งไม่ได้เข้ากรอบตามที่กฎหมายกำหนดโดยปริยาย
ย้อนอ่านประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในบรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัวที่ใช้กันมาเนิ่นนานกว่า 40 ปีก็จะเห็นวิธีคิดที่เชยแสนเชย ตั้งแต่คนรักจะต้องเป็นชายกับหญิง ฝ่ายชายต้องรับผิดชอบของหมั้นและสินสอดแก่ครอบครัวฝ่ายหญิง ทั้งที่ในปัจจุบันโลกหมุนไปสู่การรณรงค์ให้ชายหญิงเท่าเทียมกันและความรักไม่ถูกจำกัดโดยเพศสภาพ นำไปสู่คำถามที่ว่าทำไมประชาชนถึงต้องถูกลิดรอนสิทธิในการเลือกคู่ครองให้เป็นไปตามที่ ‘รัฐ’ อนุญาตเท่านั้น
หลายเสียงเสนอว่าเราควรแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยและเปิดกว้างยิ่งขึ้น แต่ผมขอเสนออีกทางเลือกหนึ่งคือการเปิดเสรีการแต่งงานให้เป็นเรื่องของประชาชนโดยที่รัฐไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามายุ่มย่าม หรือแนวคิดที่ชื่อว่า การเปลี่ยนการแต่งงานให้เป็นเรื่องของภาคเอกชน (marriage privatization)
ค่านิยมใหม่ในเรื่องการแต่งงาน
สถาบันการแต่งงานเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งในอดีตเพราะไม่ต่างกับเป็น ‘ใบอนุญาตโดยรัฐ’ สำหรับให้คู่รักสามารถมีเซ็กซ์และเลี้ยงดูบุตรได้อย่าง ‘ถูกต้องตามกฎหมาย’ พร้อมทั้งสามารถอยู่ใต้ชายคาเดียวกันได้โดยไม่ถูกป่าวประณาม นับเป็นแนวคิดที่แสนจะล้าสมัยเพราะในปัจจุบันการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องแต่งงานถือเป็นเรื่องแสนสามัญธรรมดา การเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรสก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร
อีกหนึ่งสาเหตุที่รัฐต้องเข้ามากำกับดูแลเรื่องการแต่งงาน คือ การป้องกันไม่ให้สถาบันครอบครัวแตกสลายผ่านกระบวนการหย่าร้างที่ยุ่งยากน่าเหนื่อยหน่าย แน่นอนครับว่ากุศโลบายดังกล่าวอาจสอดคล้องกับปัญหาในการควบคุมตัวเอง (self-control problem) ของหลายคนที่มักใช้อารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ และพร้อมจะเลิกราทันทีที่อีกฝ่ายเริ่มพูดจาไม่เข้าหู
การแต่งงานจึงการันตีว่าสถาบันครอบครัวจะมีเสถียรภาพได้ในระดับหนึ่ง เพราะขั้นตอนของข้าราชการที่เชื่องช้าเอื่อยเฉื่อยจะทำให้คู่รักที่ตัดสินใจเลิกราคิดทบทวนใหม่ถึงวันเวลาอันหวานชื่นและเปลี่ยนใจกลับมาคืนดีอีกครั้ง การศึกษาพบว่าครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้ายังดีต่อการเลี้ยงดูเด็กๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ดีกลยุทธ์ดังกล่าวดูจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากอัตราการหย่าร้างที่สูงลิ่วทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ในปี พ.ศ.2560 พบว่าคู่สมรสเกือบครึ่งหนึ่งตัดสินใจแยกทางโดยในแต่ละวันมีคนมาจดทะเบียนหย่าร้างเฉลี่ย 333 คู่
การสมรสในปัจจุบันแทบจะสิ้นไร้ความศักดิ์สิทธิ์ดั่งเช่นอดีต คนรุ่นใหม่ในหลายประเทศมองว่าการจดทะเบียนสมรสไม่มีความจำเป็น เช่นผู้หญิงชาวฝรั่งเศสอายุ 30- 34 ปีเพียง 43 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แต่งงาน นับว่าลดลงอย่างน่าใจหายหากเทียบกับเมื่อราวห้าทศวรรษก่อนที่ผู้หญิงในวัยเดียวกันกว่า 87 เปอร์เซ็นต์ได้เข้าพิธีวิวาห์
อีกหนึ่งมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญคือความคิดที่ว่าเราเป็นพ่อแม่คนได้แม้ไม่ต้องผูกพันกันผ่านการสมรส เช่นคุณแม่ชาวอเมริกันของเด็กที่เกิดในปี พ.ศ.2558 ราว 2 ใน 3 ไม่ได้แต่งงาน ส่วนในประเทศฝรั่งเศสสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 59 เปอร์เซ็นต์ โคลัมเบียอยู่ที่ 84 เปอร์เซ็นต์ วัยรุ่นชาวอังกฤษกว่า 79 เปอร์เซ็นต์ก็มองว่าคนที่จะมีลูกด้วยกันไม่เห็นจำเป็นจะต้องแต่งงานกัน
สัญญาณการถดถอยของสถาบันการแต่งงานสะท้อนให้เห็นว่าการเข้ามาจุ้นจ้านเรื่องของคนสองคนโดยรัฐเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยและไม่มีความจำเป็น การแต่งงานจึงควรเป็นเรื่องของคนสองคนในการออกแบบความสัมพันธ์ โดยรัฐควรทำหน้าที่เพียงออกกฎ ‘ทั่วไป’ เพื่อปกป้องทั้งสองฝ่ายที่ทำสัญญาว่าจะใช้ชีวิตคู่ รวมถึงคุ้มครองดูแลเด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการที่รัฐเข้ามากำกับการแต่งงานตั้งแต่ต้น
สัญญาระหว่างคนสองคน
เดวิด โบอาส (David Boaz) นักคิดฝั่งเสรีนิยมชาวอเมริกันนับเป็นคนแรกๆ ที่เสนอแนวคิดการแต่งงานโดยภาคเอกชนในห้วงเวลาที่ข้อถกเถียงเรื่องการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันกำลังเข้มข้นในสหรัฐอเมริกา เขาเสนอว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามายุ่ง เพราะนี่คือสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่จะตัดสินใจสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนอีกคนหนึ่งเช่นเดียวกับ ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และ แคส ซันสไตน์ (Cass Sunstein) ที่มองว่าการสมรสควรเป็นเรื่องของเอกชน และการกำกับดูแลสถาบันครอบครัวโดยรัฐในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกินจำเป็น
เป้าหมายของการเปลี่ยนการแต่งงานให้เป็นเรื่องของภาคเอกชนคือการทำให้การแต่งงานไม่ต่างจากสัญญาทั่วไปที่เนื้อหา รายละเอียด และเงื่อนไขต่างๆ สามารถกำหนดกันขึ้นมาเองระหว่างสองฝ่าย หากคู่สามีภรรยาต้องการครอบครัวแบบที่คุ้นเคยก็สามารถตั้งเงื่อนไขแบ่งหน้าที่ให้ฝ่ายชายหารายได้ ฝ่ายหญิงทำงานบ้าน แต่หากแยกทางก็ต้องมีการจ่ายค่าดูแลและแบ่งสินทรัพย์ระหว่างสมรสให้ฝ่ายหญิงซึ่งถือเป็นฝ่ายเสียเปรียบ หรือหากคู่รักตกลงปลงใจว่าไม่ต้องการให้สินทรัพย์มาปะปนกัน เพียงจะร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ย่อมได้ โดยรัฐเพียงดูแลไม่ให้ฝ่ายใดถูกเอาเปรียบหรือถูกหลอกลวง
จะว่าไปก็คงคล้ายกับการทำสัญญากู้ยืมเงินที่รัฐให้อิสระในการกำหนดเงินต้น เงินงวด ระยะเวลาในการผ่อน รวมถึงอัตราดอกเบี้ย ส่วนหน้าที่ของรัฐมีเพียงกำกับดูแลไม่ให้ดอกเบี้ยดังกล่าวเกินเพดานตามกฎหมาย คุ้มครองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ลงชื่อโดยเข้าใจผิดในสาระสำคัญ รวมถึงคอยคุ้มครองในกรณีที่สัญญาดังกล่าวขัดต่อกฎหมายฉบับอื่น
เมื่ออำนาจในการออกแบบการแต่งงานถูกถ่ายโอนไปยังเอกชน แน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่ชื่อว่าการแต่งงานยอมผลิบานแตกกิ่งก้านเป็นสารพัดรูปแบบ บ้างอาจเป็นคู่รัก LGBTQ+ บ้างอาจยอมรับความสัมพันธ์แบบพหุรัก บ้างต้องการแต่งงานกับสิ่งของหรือสัตว์เลี้ยง ความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่รัฐจะต้องกังวล ทั้งนี้รัฐอาจอำนวยความสะดวกโดยการทำ ‘สัญญามาตรฐาน’ เป็นทางเลือกตั้งต้นพร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดง่ายๆ ทางอินเทอร์เน็ตสำหรับคู่รักสามัญธรรมดาที่กลัวว่าอีกฝ่ายจะซุกซ่อนเงื่อนไขแปลกแปร่งไว้ในรายละเอียด
ในเมื่อรัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ผู้เขียนจึงไม่เห็นความจำเป็นของรัฐที่จะมากำหนด ‘สูตรสำเร็จ’ ในความสัมพันธ์ของประชาชนผ่านกฎหมายการแต่งงานซึ่งนับวันจะด้อยความสำคัญและไม่ตอบโจทย์การสร้างเสถียรภาพของครอบครัวอีกต่อไป และในขณะเดียวกันก็ล้าสมัยโดยจำกัดสิทธิผู้รสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากสูตรสำเร็จดังกล่าว
สำหรับใครที่มองว่าการเปิดเสรีอาจดูเป็นสิ่งที่สุดลิ่มทิ่มประตูเกินไปและอาจทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันครอบครัวหรือการสมรสตามนิยามดั้งเดิม รัฐก็อาจนิยมความสัมพันธ์ใหม่ เช่น การนำคำว่า ‘คู่ชีวิต’ มาใช้ไปพลางๆ โดยเปิดรับรสนิยมในการครองรักที่หลากหลายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ให้สิทธิและความรับผิดชอบเทียบเท่ากับการแต่งงานตามกฎหมายเดิม
จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศไหนใจกว้างพอที่จะเปิดเสรีการแต่งงาน สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเพราะโครงสร้างสวัสดิการหลายอย่างผูกติดอยู่กับแนวคิดสถาบันครอบครัวหรือคู่สามีภรรยาในรูปแบบเก่า การยกเลิกทั้งหมดก็คงไม่ต่างจากการรื้อแล้วสร้างใหม่ซึ่งอาจยุ่งยากและขัดอกขัดใจเหล่าอนุรักษ์นิยม
เราคงต้องทนกับรัฐบาลที่คอยกำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขการแต่งงานไปอีกนาน แต่โปรดอย่าลืมนะครับว่าเรามีทางเลือกอื่นซึ่งไม่ได้ยุ่งยาก และสามารถตัดปัญหาตามแก้กฎหมายเพื่อวิ่งไล่รูปแบบความรักที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นั่นคือการปล่อยให้การแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคนโดยที่รัฐไม่ต้องมาเอี่ยว
อ่านเพิ่มเติม
The state of marriage as an institution
Illustration by Sutanya Phattanasitubon