“Build a Government Residents Can Count On” เป็น Tagline ของโครงการ What Works Cities โดย Bloomberg Philanthropies และน่าจะเป็นแนวคิดของ ‘เมืองในฝันที่อยากอยู่’ ของใครหลายๆ คน
ใครล่ะ.. จะไม่อยากได้ผู้นำหรือผู้บริหารเมือง รัฐ ประเทศ ที่เราไว้ใจและพึ่งพาได้ โดยเฉพาะในยามวิกฤตแบบนี้ What Works Cities จึงพยายามสนับสนุนให้เมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ เข้าร่วมโครงการเพื่อผลักดันการเก็บและใช้ข้อมูลในการบริหารเมืองอย่างเป็นระบบ ออกแบบและวัดความสำเร็จของมาตรการและนโยบายต่างๆ ผ่านข้อมูลและความต้องการของประชาชน รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างจริงใจ
ในทุกๆ ปี What Works Cities จะมีการคัดเลือกเมืองที่ทดลองลงมือทำและพิสูจน์แล้วว่าใช้ข้อมูลในการบริหารเมืองจริงๆ ซึ่งน่าสนใจมากว่า หลายๆ ปัญหาที่กระทบกับชีวิตประชาชนในเมืองอย่างร้ายแรง บางทีเกิดและแก้ได้จากจุดเล็กๆ ที่แค่มีข้อมูลเพียงพอ ก็หาทางออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น
- San Jose ใน California พยายามแก้ปัญหาเรื่อง Digital Divide มาหลายปีแล้ว โดยส่งทีมเข้าไปสำรวจว่าย่านต่างๆ ในเมือง มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากน้อยแค่ไหน ความเร็วเท่าไหร่ แล้วเอามาสร้าง Heatmap ให้เห็นว่าส่วนไหนของเมืองที่ต้องการอินเทอร์เน็ตมากกว่านี้ จากนั้นจึงเอาข้อมูลชุดนี้ ไปทำงานร่วมกับบริษัทเทเลคอมต่างๆ เพื่อจัดการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ให้ประชาชนมาโดยตลอด ทีนี้พอมาถึงช่วง COVID-19 เทศบาลก็ใช้ข้อมูลและเครือข่ายเดิมที่เคยช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้มาแล้ว เข้าไปจัดการสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถกระจายอินเทอร์เน็ตให้กว่า 13,000 ครัวเรือนทั่วเมืองได้ในระยะเวลาอันสั้น
- Cincinnati ใน Ohio พยายามแก้ปัญหาว่าเวลาคนแจ้งเหตุฉุกเฉินแต่ละที (ไม่ว่าจะเรียกตำรวจ ดับเพลิง หรือรถพยาบาล) ทำไมเจ้าหน้าที่จึงเข้าไปแก้ปัญหาช้านัก ก็พบว่ามันมีช่องว่างในการสื่อสารอยู่ เช่น ยังไม่มีระบบการแชร์ข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ หรือช่องทางการประสานระหว่างเขตเมืองยังไม่ดีพอ นั่นทำให้ช่วงเวลาระหว่างการรับแจ้งเหตุและการตัดสินใจส่งทีมไปจัดการเหตุฉุกเฉินนานเกินจำเป็น เทศบาลเมืองจึงให้ทีมหน่วยฉุกเฉินต่างๆ พัฒนาระบบการแชร์ข้อมูลและแผนจัดการเหตุฉุกเฉินผ่านชุดข้อมูลเหล่านั้น จนตอนนี้ สามารถตอบรับ 90% ของเหตุฉุกเฉินที่แจ้งมาได้ภายใน 10 วินาที
- Little Rock ใน Arizona ทำการสำรวจแล้วพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความปลอดภัยในชุมชนมากที่สุดคือ ‘ไฟถนนที่พัง’ เทศบาลเมืองจึงทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อสร้างระบบที่ประชาชนสามารถรายงานไฟถนนที่อาจจะพังหรือไม่สว่างในย่านของตัวเอง ปรากฏว่าจริงๆ แล้ว มีจำนวนไฟถนนพังที่ประชาชนรายงานเข้ามามีมากกว่าที่เทศบาลสำรวจเจอเองถึง 5 เท่า แล้วข้อมูลชุดนี้ก็ทำให้เทศบาลสามารถเข้าไปซ่อมแซมไฟได้อย่างรวดเร็ว ลดต้นทุนในการออกไปสำรวจเอง ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง รวมถึงเทศบาลเองก็สามารถสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้กับประชาชนในเมืองมากขึ้นด้วย
- Phoenix ใน Arizona ต้องการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ/ลี้ภัยในย่านต่างๆ ในช่วง COVID-19 เพื่อสร้างความเข้าใจและบอกช่องทางการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ แต่เข้าใจว่าอาจมีข้อจำกัดด้านภาษาและสื่อที่ใช้ เทศบาลจึงใช้ฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจและประชากรศาสตร์ที่เก็บไว้อย่างมีระบบอยู่แล้ว พยายามสื่อสารกับกลุ่มผู้อพยพ/ลี้ภัยเหล่านั้น เช่น การทำวิดีโอเป็นภาษาสเปนเพื่อเปิดตามร้านสะดวกซื้อที่มีกลุ่มคนเหล่านี้อาศัยอยู่มาก หรือการทำแคมเปญหลายภาษาผ่านทางช่องโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นของเมือง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนได้รับข้อความที่ต้องการส่งถึง หลังพยายามออกแบบวิธีการสื่อสารผ่านฐานข้อมูลของเมือง กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ก็ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
- Cambridge ใน Massachusetts ต้องการแก้ปัญหาสารปนเปื้อนจากกระบวนการรีไซเคิล แต่อันรับแรกต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อน เทศบาลจึงพัฒนาระบบติดตามและเก็บข้อมูลสารปนเปื้อนในแต่ละกรบวนการ จากนั้นก็เอาข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นแผนเพื่อออกแบบกระบวนการรีไซเคิลของเมืองใหม่ ล่าสุด สามารถลดอัตราการปนเปื้อนลงได้จาก 11% เป็น 4% ทำให้เมืองกลายเป็นผู้นำด้านระบบการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะและดูแลสิ่งแวดล้อมได้ถึง $100,000 ต่อไป
รายงาน Closing the Data Gap: How Cities Are Delivering Better Results for Residents โดย Monitor Institute by Deloitte เขียนถึงผลลัพธ์ของ Data-Driven City ในภาพรวมพบว่าเมืองที่ผู้นำใช้ข้อมูลในการตัดสินใจมาตรการและนโยบายต่างๆ สามารถระบุความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้มากกว่า และเลือกใช้มาตรการและนโยบายที่สร้างอิมแพคได้ดีกว่าจริงๆ ลองดู Use Case เมืองอื่นๆ ได้ที่ https://medium.com/what-works-cities-certification
แม้จะดูเป็น ‘คอมมอนเซนส์’ ว่า การใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องตัดสินใจแทนคนเยอะๆ แต่ทำไมบางเมือง บางรัฐ หรือบางประเทศถึงยังไม่ทำ? ต้องบอกว่าความท้าทายหลักๆ ในการเก็บ ใช้ และเปิดข้อมูลกับการตัดสินใจเชิงนโยบายนั้นมีอยู่ 3 ด้านหลักๆ
- รัฐ/เมือง ยังไม่มีแนวคิดที่จะใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งอันนี้เป็นความท้าทายที่เข้าใจไม่ได้และอันตรายที่สุด
- รัฐ/เมืองยังไม่มีการลงทุนกับแนวคิดและกระบวนการสำหรับการจัดการข้อมูล (Data Governance) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากรหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
- รัฐ/เมืองยังไม่สามารถสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับภาคเอกชนและประชาชนได้
แต่ความท้าทายเหล่านี้ ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ลงมือทำ หากแต่เป็น ‘เช็กลิสต์’ ที่ต้องคิดและออกแบบเพื่อให้การลงมือทำนั้นมีประสิทธิภาพและครอบคลุมความต้องการมากที่สุด
เมืองเมืองหนึ่งไม่ได้ถูกสร้างได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน เมืองที่ตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล บนพื้นฐานของข้อมูล และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ก็ไม่ได้มาจากการทำแอพฯ ใดๆ ในเวลา 3 เดือนเหมือนกัน แต่มันเริ่มได้ด้วยการตั้งใจเริ่ม เราต่างก็อยากอยู่ในสังคมที่เป็นเหตุเป็นผลกันทั้งนั้น และเราก็คงอยากได้ผู้นำ/ผู้บริหารเมืองที่ไม่ได้ขายแต่ฝันหรือให้แต่คำสัญญาลมปาก ที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงใดๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก