หลังจากมีข่าวว่าไอดอลคนหนึ่งน่าจะใช้สินค้าที่ปลอมแปลงมาจากสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงยี่ห้อหนึ่ง นำมาสู่การถกเถียงและวิพากษ์ กระทั่งก่นด่าต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการด่าตัวผู้ซึ่งใช้สินค้าปลอมเหล่านั้น ผมซึ่งตามดูการถกเถียงนี้แบบห่างๆ ก็มีความรู้สึกหลายอย่างที่ทำให้ตัวเองรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกพอสมควร
ความคิดหนึ่งที่กระเด้งออกมาระหว่างที่ติดตามข่าวการตบตีกันเรื่องนี้ก็คือ “เออ เหมือนกูได้ดู Parasite (ชนชั้นปรสิต) รอบที่ 3 เลยว่ะ” (หมายเหตุ : ผมดูมาแล้ว 2 รอบน่ะครับ) เพราะคิดมาตลอดเลยว่าหากจะพูดในมุมของ ‘ชนชั้น’ แล้ว ชนชั้นที่เรื่อง Parasite จิกกัดที่สุดสำหรับผมนั้นไม่ใช่คนร่ำรวยชนชั้นสูงหรือคนจนผู้ยากไร้อะไรเลย แต่เป็นคนชนชั้นกลางนี่แหละครับ โดยเฉพาะชนชั้นกลางรายได้ต่ำการศึกษาสูง ผู้พยายามเคลมความมีวัฒนธรรมอย่างน้อยก็ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งผมหมายรวมตัวเองเข้าไปไว้ในกลุ่มนี้ด้วย จึงค่อนข้างรู้สึกว่าหนังมันจิกกัดตัวเองเหลือเกิน และกระอักกระอ่วนไม่น้อยในการพูดเรื่องของปลอมนี้
ผมคิดว่าตัวเองเป็นเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ คนที่ได้ดูเรื่อง Parasite (หากยังไม่ได้ดูก็ควรไปดูก่อนนะครับ เพราะผมคงจะต้องมีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์อย่างไม่ดูตาม้าตาเรือแน่ๆ) คือ ดูแล้วรู้สึกจุกอกกับความเหลื่อมล้ำที่ถูกแสดงออกมาในเรื่อง จุกเสียดกับการเหม็นสาบคนจนที่แลดูจะเป็น ‘อาการทางธรรมชาติ’ ที่ไม่ได้เสแสร้งทำ เหมือนคนเกลียดกลิ่นทุเรียนโดยธรรมชาติที่แม้ไม่ได้คิดอยากจะเกลียดผลไม้นี้แต่ก็สู้กลิ่นมันไม่ได้จริงๆ หรือการที่ดูแล้วรู้สึกเข้าอกเข้าใจในความจำเป็นของบ้านสกุลคิมที่ต้องปลอมความรวยเข้าไปบ้าง กระทั่งมองเห็นความพยายามต่อสู้ทางชนชั้น ฟาดฟันกับอำนาจที่เหนือกว่า บ้างเห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบแบบไร้ซึ่งความรู้เนื้อรู้ตัวของชนชั้นสูงที่มีต่อชนชั้นล่าง บ้างมองเห็นความแตกต่างของสิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญหา’ เมื่อถูกนำมาวางในสเกลของชนชั้น อย่างบ้านสกุลปาร์คผู้ไฮโซ วิตกกังวลแทบบ้ากับเรื่องการจัดวันเกิดให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตน ราวกับเป็นปัญหาอันจะนำมาสู่ความล่มสลายของโลกได้ ในขณะที่พร้อมๆ กันไป คนจนอย่างบ้านสกุลคิมกำลังเผชิญกับ ‘ปัญหา’ ของพวกเขาอย่างการโดนน้ำท่วมบ้านพังจนแทบจะไร้ที่อยู่อาศัย บางคนถึงกับเชื่อมโยงประเด็นนี้ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญหาแบบประเทศโลกที่ 1’ หรือ first world problem เสียด้วยซ้ำ หรือบางคนกระทั่งตั้งคำถามกลับว่า “ใครกันแน่ที่เป็นชนชั้นปรสิต?” เป็นคนจนอย่างบ้านสกุลคิม หรือว่าเป็นคนรวยที่อิ่มเอิบบนความทุกข์ยากนานาของคนอื่นๆ ในสังคมอย่างบ้านสกุลปาร์คต่างหาก? (เวรี่มาร์กซ์)
ผมเองก็เช่นกันกับคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นภาพเหล่านี้ใน Parasite และถึงได้รู้สึกว่าหนังมันช่างดีเสียนี่กระไร ช่างจุกอก ช่างรวดร้าวเสียเหลือเกิน ในเบื้องแรกผมรู้สึกว่าหนังมันเล่าเรื่องได้เก่งและเรียลเสียเหลือเกิน เพราะมันไม่ได้สร้างภาพแฟนตาซีสวยหรูให้กับใคร มันไม่ได้วาดภาพให้ชนชั้นล่างเป็นคนดีจิตใจบริสุทธิ์ไร้ซึ่งพิษภัยและความสามารถในการพยายามจะ ‘สู้กลับ’ และพร้อมๆ กันไป มันก็ไม่ได้โบ้ยความผิดหรือความเป็นผู้ร้ายให้กับเหล่าผู้มีอันจะกินราวกับเป็นยักษ์มารปีศาจอะไรนัก เรายังได้เห็นความ ‘เมตตากรุณาต่อผู้ซึ่งอยู่ต่ำกว่า’ ของบ้านสกุลปาร์คที่มีต่อบริวารของเขา หรือกระทั่งการเหม็นสาบคนจนที่เป็นกิมมิกหลักนั้น ก็ไม่ได้ถูกเล่าในฐานะที่เป็นเรื่องผิดบาปจากความจงใจจงเกลียดจงชังอะไร แต่อย่างที่บอก มันดูราวกับเป็นอาการตามธรรมชาติที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงหรือต้านทานได้ ราวกับจะบอกว่าคนที่เขาเกิดมาแล้วรวยหรือหาเงินมาได้จนรวยก็ไม่ได้ผิดอะไรในตัวพวกเขาเองกระมัง และผลพวงที่ตามมาก็ดูจะเป็นสภาวะตามธรรมชาติของคนกลุ่มนี้
สุดท้ายแล้วผมเลยคิดว่าหนังต้องการจะอธิบายถึงสภาวะที่เรียกว่า ‘อาการซึมเศร้าอย่างจำยอมหมู่ของฝ่ายซ้าย’ หรือ left-wing melancholia มากกว่าการวิพากษ์ชนชั้นโดยตัวมันเอง
พูดอีกแบบก็คือ ความต่างทางชนชั้นของหนังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฉายภาพสภาวะความซึมเศร้าและจำยอมนี้ มากกว่าที่จะเป็นเป้าหมายโดยตัวมันเอง ซึ่งความซึมเศร้าอย่างจำยอมที่สุดที่เห็นได้คงจะมาจากตอนจบที่ คิม กีอู ยอมรับว่าวิธีการต่อสู้ ‘แบบชนชั้นล่าง’ ไม่มีทางจะเอาชนะโครงสร้างอำนาจแบบทุนนิยมเสรีได้แล้ว การปลอมความรวยเพื่อไปแว้งกัดคนรวยจริงๆ มันไม่เวิร์ก เขาพ่ายแพ้ และมีแต่ต้องเอาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมเสรีจึงจะมีสิทธิชนะอะไรได้ เขาจึงต้องรวย เพื่อจะได้บ้านหลังนั้นมาอย่างแท้จริง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไปด้วย ปัญหาที่เขาเจอจึงจะจบลง
แต่พอดูหนังรอบที่สองจบ จากที่ตอนแรกผมคิดว่าหนังดูจะไม่ได้จิกกัดใคร ก็เริ่มรู้สึกตัวว่า “ไม่หรอก หนังมันมีคนที่มันจงใจจะจิกกัดอยู่” เพียงแค่ว่าชนชั้นที่มันจงใจจิกกัดนั้นเป็นชนชั้นซึ่งถูก ‘จงใจละเว้น’ (the omitted class) ไปจากเรื่องเลยต่างหาก หรือหากจะมีก็คงจะเป็นเพียงเพื่อนของคิม กีอู ที่ไปเรียนต่อเมืองนอกซึ่งโผล่มาเพียงเล็กน้อยในฉากแรกๆ เท่านั้น ใช่ครับ มันคือชนชั้นกลางผู้ไร้อำนาจทางเงินตรา แต่พยายามไต่เต้าทางลำดับชั้นด้วยการสร้างจริตในทางวัฒนธรรมหรือองค์ความรู้บางประการอย่างผมและใครอีกหลายๆ คนนี่แหละ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว นี่คงนับได้ว่าเป็นชนชั้นที่ ‘ปลอมที่สุด’ และ ‘ปากว่าตาขยิบ’ ที่สุดด้วย
เมื่อสำเหนียกถึงเรื่องนี้ ผมจึงยิ่งรู้สึกจุกอกขึ้นไปอีกจากเรื่อง Parasite เพราะระหว่างที่เราเข้าอกเข้าใจในความจำเป็นของครอบครัวคิม กระทั่งเห็นใจพวกเขาที่ต้อง ‘ปลอมความรวย’ หลายคนกระทั่งยกย่องในฐานะการต่อสู้การเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น เราอิ่มเอิบกับหนัง เราจุกอกออกมาจากโรงภาพยนตร์ แล้วในทันใด เราก็บ่นทัวร์จีนที่ทำตัวไร้วัฒนธรรม ด่าทัวร์อินเดียว่าไม่รู้จักมารยาทสากล ด่าคนใช้ของแบรนด์เนมปลอมว่าน่าสมเพชต่างๆ นานา เราคนเดียวกันกับในโรงภาพยนตร์เมื่อตะกี๊นี้เลย แต่อาการต่างกัน… ไม่พอ หลังจากด่าเขาเสร็จ เราก็กลับบ้านโหลตบิต หาไฟล์สตรีมหนังโป๊เถื่อน ไล่หาเว็บดูบอลหลบลิขสิทธิ์ หรือหากเป็นนักวิชาการก็อาจจะเข้าไปหาโหลดหนังสือใน LibGen กันไปเรื่อย เพราะราคาของ ‘รสนิยม วัฒนธรรม และความรู้’ เพื่อจะได้ไปมองเหยียดคนกลุ่มก่อนหน้าที่ว่านั้นก็แพงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสตางค์ในกระเป๋าของเรา (แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ เราไม่เผลอ ‘เหยียด’ ตัวเองไปด้วยหรอก เพราะเรามักจะตาบอดกับตัวเองเสมอ)
ที่น่ารันทดใจไม่น้อย คือ การที่ได้เห็นคนชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาสูงและคร่ำหวอดอยู่ในโลกโซเชียลจำนวนมาก จะเป็นจะตายกับประเด็นเรื่องการใช้ของก๊อปที่เกิดขึ้น ทั้งที่ในหลายๆ กรณีคนกลุ่มเดียวกันนี้เองก็เพิ่งจะเห็นอกเห็นใจครอบครัวสกุลคิมมาเอง หรือกระทั่งทำแบบนั้นเองด้วย ว่ากันอีกแบบก็คือ ทำปากว่าตาขยิบไปจงเกลียดจงชัง ‘ความปลอม’ นี้ ทั้งที่ตัวเราๆ เองนั้นก็ไม่ได้ห่างไกลอะไรจากความปลอมเลย เป็นส่วนหนึ่งของความปลอมเลยเสียด้วยซ้ำ และแม้จะเห็นหลายท่านยกเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญามาอ้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและต้องอภิปรายมากกว่าที่พยายามยกมากันมาก และผมคงพูดได้ไม่เต็มที่ว่า ‘ฝ่ายไหนถูก’
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่ามีแนวโน้มที่น่าสนใจบางอย่างของการ ‘ลอกแบบ’ นี้อยู่ คือ เรามักจะพร้อมเห็นอกเห็นใจแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เราชื่นชอบเวลามีข่าวของการใช้ของเถื่อนของปลอม ทั้งที่ตัวเขาเองมีทั้งอำนาจทุนและทรัพยากรต่างๆ ล้นหลามมากกว่าตัวเราเองหรือผู้ที่ละเมิดตั้งไม่รู้กี่เท่า แต่พร้อมๆ กันไปเรามักจะไม่รู้สึกถึงแนวคิด หรือของต่างๆ ในชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่กลายไปเป็นแรงบันดาลใจหรือกระทั่งถูก ‘ลอกแบบไปใช้งาน’ โดยแบรนด์ใหญ่ๆ เลยว่า คนเหล่านี้เองก็โดนละเมิดด้วยหรือไม่ อย่างกระเป๋าถุงกระสอบที่มีมานานแล้ว และไปปรากฏอยู่บนแคทวอล์กของค่ายบาล็องเซียกา เมื่อปี ค.ศ. 2016 นั้น นับเป็นการ ‘ลอกแบบ’ ไหม? ถ้าใช่และซีเรียสเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างที่สมอ้างกันจริงๆ แปลว่าชาวบ้านในละแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ก็ควรจะได้ค่าเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากการขายด้วยไหม? ผมไม่ได้จะอธิบายว่าการลอกแบบลอกงานมันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผมกระทั่งตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าฝ่ายไหนถูกมากกว่ากันแม้แต่ในใจผมเอง แต่ผมแค่รู้สึกว่าเรามีแนวโน้มที่จะเข้าข้างฝ่ายที่มีชื่อเสียงและมีอำนาจมากกว่ากับเรื่องแบบนี้แทบจะตลอด โดยไม่ต้องนับด้วยว่า หลายๆ ครั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ถูกใช้ในการรังแกคนอื่นๆ หรือขวางการพัฒนาด้วย (อย่างกรณีเครื่องบินของพี่น้องตระกูลไรต์ก็เช่นกัน) ไม่ต้องไปไกลถึงสิทธิบัตรยาที่สัมพันธ์กับชีวิตโดยตรงเลย
และหากจะพูดถึงความใกล้ชิดของชนชั้นกลางอย่างเราๆ เองกับความปลอมแล้ว ก็สามารถกลับไปได้กระทั่งรากกำเนิดของชนชั้นนี้เลยเสียด้วยซ้ำครับ
เพราะจะบอกว่าชนชั้นกลางทั้งชั้นคือ ‘ชนชั้นที่พยายามจะปลอมหรือจำแลงกายให้เป็นชนชั้นสูง แต่แรกเริ่มเลยก็ไม่ผิดนัก ชนชั้นกระฎุมพี พ่อค้า ข้าราชการทั่วไปต่างๆ ที่ต่อมากลายสภาพมาเป็นชนชั้นกลางนั้น โดยจุดเริ่มต้นก็คือ ‘ชนชั้นใหม่ที่อยากจะเป็นเยี่ยงชนชั้นสูง แต่ไม่มีความสามารถทางทรัพยากรมากพอ เลยต้องหาจุดลงตัวของตัวเอง’ ด้วยการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของชนชั้นกลางขึ้นมา เพื่อพยายามจะแยกตัวเองออกให้เห็นถึงความแตกต่างกับเหล่าชนชั้นล่าง (ที่เป็นรากเหง้าของพวกเราเอง) และพยายามจะใช้เงื่อนไขทางทรัพยากรที่มีอยู่สร้างคาแรคเตอร์ของวัฒนธรรมตัวเองให้มีความใกล้เคียงกับวิถีปฏิบัติแบบชนชั้นสูงให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ว่ากันอีกแบบก็คือ ชนชั้นกลางอย่างเราๆ มันปลอมกันมาตั้งแต่เหง้ารากของชนชั้นแล้ว เราปลอมกันมาในจริต ในสายเลือด ในวัฒนธรรมของเราเองเลย แต่ดันไปชี้หน้าด่าคนที่เขาใช้สินค้าแบรนด์เนมราคาแพงปลอมๆ สักชิ้นสองชิ้นซะงั้น ผมก็ได้แต่คิดในใจว่าช่างปากว่าตาขยิบเสียจริง
ยิ่งไปกว่านั้นอีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลย ก็คือ การที่ตัวโครงสร้างของสังคมไทยเองนี่แหละที่มีการวัดคุณค่าของมนุษย์ โดยเฉพาะระดับการยอมรับทางสังคมจาก ‘วัตถุที่แต่ละปัจเจกบริโภคหรือใช้งานอยู่ด้วยเสมอ’ (ซึ่งที่ซีเรียสและบ้าบอที่สุดเผลอๆ จะเป็นชนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นสูงเสียด้วยซ้ำ เพราะคนรวยจริงๆ ไม่มาเสียเวลาสนใจชาเนล หรือแอเมสรุ่นทั่วๆ ไปแต่แรกด้วยซ้ำ) ฉะนั้นเมื่อโครงสร้างทางวัฒนธรรมสังคมของประเทศเรามันตัดสินคนกันด้วยของแบบนี้ เราหันมองคนห้อยชาเนลก่อนนารายา เราโบกรถให้คนขับเมอร์ซิเดสก่อนฮอนด้าซิตี้ ยอมรับเถอะครับว่าหลายๆ ครั้งเราก็พิพากษาคนต่างๆ ด้วยของแบบนี้กันเสมอ มันก็เป็นธรรมดาที่ใครก็ตามที่พยายามจะยกระดับฐานะของตัวเองทางสังคมจะพยายามหาวัตถุแห่งการพิพากษาเหล่านี้มาใช้ และหากไม่ได้มีทรัพยากรมากพอที่จะใช้มันได้ หรือหากใช้แล้วความมั่นคงทางการเงินของตัวเองในเรื่องจำเป็นจริงๆ จะสั่นคลอนไป ก็พยายามหา ‘ของปลอม’ มาเพื่อ ‘จำแลงให้ดูรวย’ ผมเลยไม่เห็นว่านี่มันต่างอะไรจากกรณีของสกุลคิมที่ ‘ปลอมรวย’ เข้าบ้านสกุลปาร์คใน Parasite เลย ที่แบบหนึ่งเราทำตัวเองให้เข้าใจได้ แต่อีกแบบหนึ่งเราไม่พร้อมจะเข้าใจมัน
ไม่เพียงเท่านั้นหากว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว การปลอมแปลงมันเกิดขึ้นมาเสมอในโลกนี่แหละครับ สหรัฐอเมริกาเองก็เคยทั้งปลอมแปลง ลอกเลียนของและวัฒนธรรมต่างๆ จากยุโรปมา และยุโรปก็เคยมองเหยียดสหรัฐฯ ว่าเป็นพวกพวกช่างก๊อปและของที่ผลิตมาก็เป็นของชั้นสอง ต่อมาญี่ปุ่นเองก็ลอกเลียนแบบของสหรัฐฯ แทบทุกอย่าง โดนประณามพอๆ กัน แล้วทุกวันนี้ของญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับในฐานะประเทศที่ผลิตสินค้าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แล้วต่อมาก็เป็นเกาหลีใต้ ตามมาด้วยจีน มาในลักษณะเดียวกันเลย ทุกวันนี้จีนเองก็ยังโดนปรามาสอยู่บ้าง แต่ต่อให้คนที่อคติกับสินค้าจีนก็คงต้องยอมรับว่าทุกวันนี้คุณภาพของสินค้าจีนนั้นพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก จนแทบจะไม่มีช่องห่างอะไรจากเหล่าประเทศผู้ผลิตชั้นนำอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการปลอมแปลง การลอกเลียนทั้งสิ้น และตัวเราเองนี้ก็ดำเนินชีวิตอยู่บนความสำเร็จของของก๊อปเหล่านี้ทั้งนั้น จนผมไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถอยู่อย่างดัดจริตล้นเกินว่า ‘ฉันไม่ใช้ของปลอม’ เลยได้อย่างไร?
ผมอยากให้ลองดู Parasite กันอีกสักทีนะครับ ว่าจะรู้สึกกระอักกระอ่วนและเจ็บแปลบในใจอย่างผมบ้างไหม กับความรู้สึกที่หนังมัน ‘วิพากษ์ความปลอมของชนชั้นกลางซึ่งถูกละเว้นไว้’ อย่างเจ็บแสบเสียเหลือเกิน