สัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้หนึ่งในประเด็นที่ตบตีกันในโลกโซเชียลไม่น้อย นั่นคือเรื่องนมนมของเอ็มม่า วัตสัน (aka เมียมโนผมเอง) ที่เป็นนางแบบถ่ายรูปลงนิตยสาร Vanity Fair และมีรูปบางรูปซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเปิดเผยเรือนร่างส่วนนมเยอะเหลือเกิน[1] ซึ่งดูจะขัดกับข้อเรียกร้องเรื่องสตรีนิยม (Feminism) ที่เอ็มม่าประกาศตัวสนับสนุนมาโดยตลอดเหลือเกิน[2]
แม้เอ็มม่าจะออกมาอธิบายแล้วว่า “สตรีนิยมมันคือเรื่องของการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีทางเลือก”[3] แม้ผมจะชอบคำตอบของเธอ แต่ผมคิดว่าอาจจะด้วยเงื่อนไขทางเวลา ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนนัก วันนี้ผมเลยขอเขียนถึงประเด็นนี้โดยละเอียดขึ้นมาสักหน่อย
ก่อนจะไปพูดเรื่องสิทธิสตรี ผมอยากจะพูดเรื่อง ‘นม’ กับอำนาจการควบคุมสักนิดก่อน คือ กรณีที่เกิดขึ้นกับเอ็มม่านั้นไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ เอาจริงๆ ในประเทศไทยเราเกิดดราม่ากับการเปลือยนมแทบทุกปี ซึ่งในท้ายที่สุดผมอยากอธิบายว่าจริงๆ พื้นฐานทางแนวคิดเบื้องหลังดราม่าพวกนี้ในไทยกับตะวันตกนั้นมันคนละเรื่องมากๆ ดราม่าการเปลือยนมในไทยมักมาคู่กับประเด็นเรื่อง ‘ความเหมาะสม’ ในการแต่งกาย (กับอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องรักษาประเพณีความเป็นไทยอะไรก็ว่าไป ซึ่งจุดนั้นผมจะไม่พูดถึง เพราะพูดกันเยอะแล้ว ตั้งแต่รูปกินรีเปลือยนมโอเค แต่เด็กสาวใส่เกาะอกผิด ฯลฯ) ผมคิดว่าคำว่า ‘ความเหมาะสม’ เป็นคำที่น่ากลัวมาก เพราะมันผูกติดอยู่กับอำนาจในการควบคุม ซึ่งในกรณีของไทยหลักๆ ก็คือ อำนาจรัฐ แต่ผมขอเริ่มต้นจากภาพกว้างๆ ก่อน
ผมอยากเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “การแต่งกายที่เหมาะสมอย่างสมบูรณ์” เป็นแบบไหน? คำถามที่ว่านี้ มีค่าเท่ากับการถามว่า “เราต้องเอาของมาปิดตัวขนาดไหนจึงนับว่าถูกต้องสมควร” ผมคิดว่านอกจากเบื้องแรกที่เราจะพบได้ง่ายๆ แล้วว่าแต่ละคนมีดีกรีของความเหมาะสมที่ไม่เหมือนกัน แต่มากขึ้นไปคือ ‘แต่ละชุมชนการเมือง/วัฒนธรรม’ ก็มีแนวโน้มที่จะให้ค่า ‘ความเหมาะสม’ ต่างกันออกไป ไปถามเด็กสาววัย 19 ติ่งๆ 20 อ่อนๆ ในสแกนดิเนเวียเราอาจได้คำตอบหนึ่ง ไปถามคุณครูมนุษย์ป้าแถวๆ ประเทศสยามอาจบอกว่าชุดที่เหมาะคือเครื่องแบบไม่ก็ชุดผ้าไหมพระราชทานกับผมทรงกะบังลม หรือหากเราไปถามคนในชุมชนมุสลิมที่เคร่งจัดๆ อาจบอกว่าที่เหมาะสมในการแต่งกายคือเหลือแค่ลูกตาสองข้างพอ (ขริบจิ๋มด้วยจะยิ่งดี) ฯลฯ
ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ทางสังคมมันต่างกันออกไป ปัญหาคือในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยเท่าไหร่ ยิ่งมีแนวโน้มที่จะกำหนดค่าความเหมาะสมต่างๆ มากเท่านั้น
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหน่วยการปกครองทางการเมืองที่ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย อย่าง รัฐเผด็จการ, รัฐที่มีแนวคิดอำนาจนิยมสูง หรือศาสนานั้น เกิดขึ้นเพื่อพยายามเข้าควบคุมหน่วยย่อยในอำนาจกำกับของตนให้ได้มากที่สุด ในกรณีนี้ก็คือการควบคุมผ่าน ‘ความเหมาะสม’ ไม่เพียงเท่านี้หน่วยการปกครองทางการเมืองก่อนประชาธิปไตย (Pre-democratic Political Unit) เหล่านี้ไม่ได้มองเป็นประชากรในฐานะมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสิทธิเสรีภาพและคิดอ่านเองได้ด้วย แต่มองประชากรในฐานะทรัพยากรในการควบคุมของตน เพราะฉะนั้นแม้รัฐจะไม่ได้ออกกฎหมายกำหนดชัดว่าประชากรต้องใส่เครื่องแบบอย่างไร อย่างที่กำหนดเป็นกฎในโรงเรียน หรือกับทหารตำรวจ แต่ความเหมาะสมในสังคมที่ความเปิดกว้างต่ำนั้นทำหน้าที่เป็น ‘กรอบเครื่องแบบ’ ให้กับประชากรไปโดยปริยาย กระบวนการที่ว่านี้เองคือการพยายามเข้าควบคุม ‘สิทธิเหนือร่างกาย’ ของประชากร
วิธีการมองประชากรในฐานะทรัพยากรในการควบคุมของตน ไม่ใช่ในฐานะมนุษย์หรือพลเมืองที่มีสิทธิทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ในทางกฎหมายนั้น มันไม่ได้ฟ้องออกมาเฉพาะในกรณีนมเท่านั้น การคลิกแชร์ในเฟซบุ๊ก ที่ทำให้เมื่อไม่กี่วันนี้วลีว่า “อยากกดแชร์ แต่ยังแคร์ชีวิต” โด่งดังไปทั่ว หรือการชูสามนิ้ว, การยืนอ่านหนังสือ 1984 ฯลฯ แล้วโดนลงโทษ โดนประณามนั้น ล้วนแต่อยู่บนกรอบคิดเดียวกับเรื่องนม นั่นคือ รัฐที่ใช้ ‘ความเหมาะสม’ มาเป็นเครื่องแบบทางสังคมและปลูกฝังอำนาจในการควบคุมนั้นให้กับสังคม มันส่งผลให้ตัวรัฐเองไม่ต้องมีศักยภาพสูงส่งในการทำตัวเป็น Big Brother แต่ก็ควบคุมทรัพยากรของตนได้ เพราะสังคมในกรอบเครื่องแบบแห่งความเหมาะสมนี้เองที่เป็นกลไกสำคัญในการจับตาและระแวดระวัง ‘ความไม่เหมาะสม’ ของสังคมด้วยกันเองให้แก่รัฐ
วิธีคิดเรื่องการควบคุมร่างกายของทรัพยากรใต้ปกครองของตน ไม่ว่าจะจากมุมของรัฐหรือศาสนานั้น มันเป็นวิธีการมองประชากรของตนด้วยสายตาแบบพระเจ้า (God’s eye view) ที่มองว่าสิทธิและอำนาจที่ประชาชนมีนั้นเป็นอำนาจซึ่ง ‘ตน (รัฐ/ศาสนา) มอบให้’ (Given rights/power) และมีสิทธิริบเอาสิทธินั้นคืนได้ทุกเมื่อ เพราะสิทธิที่ประชากรได้รับในขณะหนึ่งๆ นั้น เป็นเพียง ‘กรุณาธิคุณ’ จากรัฐเท่านั้น คุณสมบัติเช่นนี้และมุมมองต่ออำนาจของตนเองแบบนี้นี่เองที่ทำให้รากฐานทางอำนาจของสิทธิของพลเมืองอ่อนแอและง่ายต่อการยอมรับการโดนริบสิทธิและอำนาจคืนไป
ตราบเท่าที่ประชากรแห่งรัฐยังไม่มีสำนึกว่าสิทธิที่ตนมีนั้นคือสิทธิอันพึงมีของตนแต่แรกเริ่มไม่ใช่สินน้ำใจแต่ใดมา การรัฐประหารมากมายหลายครั้งอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจ
ก็เมื่อประเทศนี้ยังไม่เคารพในสิทธิเหนือร่างกายตนเองเลย แน่นอนในกรณีของเอ็มม่ามันอยู่ในชาติตะวันตก ในระดับหนึ่งมันก็บ่งชี้ถึงแนวโน้มกระแสฝ่ายขวาอำนาจนิยมที่พัดแรงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเราพึงเข้าใจว่าในรัฐประชาธิปไตยเองก็ไม่ได้ไร้ซึ่งแนวคิดอำนาจนิยม มันมีขึ้นได้แบบที่เกิดกับเอ็มม่า แต่มันไม่คอขาดบาดตายอะไรขนาดที่จะมาโดนจับเข้าคุก หรือโดนลงบันทึกว่าผิดกฎหมายแบบบ้านเรา และเอาเข้าจริงๆ ดราม่าเรื่องเอ็มม่าในชาติตะวันตกนั้นมันวางฐานความคิดต่างจากกรณีในไทยมาก (เดี๋ยวจะอธิบายต่อไป) นอกจากนี้ในประเทศที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูงๆ หน่อยนั้น เขามีการเรียกร้องสิทธิการเปลือยอกมาโดยตลอดเสียด้วยซ้ำ มีกระทั่งองค์กรเรียกร้องอย่างเป็นทางการ เช่น Topfree Equal Rights Association (TERA) เป็นต้น
ผมเขียนมายาวทีเดียวถึงอำนาจรัฐ การควบคุม และประชาธิปไตย เพื่อจะอธิบายรากฐานแนวคิดเรื่องสตรีนิยมด้วยนี่แหละครับ เพราะเราจะไม่สามารถทำความเข้าใจแนวคิดสำนักนี้ได้เลยหากเราไม่เข้าใจพื้นฐานเรื่องอำนาจการควบคุมของรัฐหรือศาสนาที่มีต่อร่างกาย อีกทั้งแนวคิดสตรีนิยมจะไม่มีทางมีที่ยืนได้เลยหากไม่มี ‘ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน’ เสียก่อน ปัญหาสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ในสังคมไทยคือ การแยกเรื่องสิทธิสตรีออกจากจุดยืนทางความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เพราะอย่างงี้เราถึงได้มองคนอย่างคุณระเบียบรัตน์เป็นนักสตรีนิยมอะไรไปได้ และอีกประการหนึ่งที่ผมคิดว่าพึงเข้าใจก่อนจะเริ่มก็คือ
สตรีนิยมมันเป็นสำนักคิดที่มีข้อถกเถียงภายในกันหนักหน่วงมาก ตบตีกันเองแบบหนักมากๆ ฉะนั้นมันจึงไม่มีทางอธิบายได้ชัดเจนหรอกว่าใครผิดใครถูกอย่างไร
การมองเรื่องสตรีนิยมนั้นแบ่งได้หลักๆ ออกเป็น 2 แนวทาง(จริงๆ คุณชานันท์ ยอดหงษ์จะอธิบายได้ดีกว่าผมนะ) คือ มองตามพัฒนาการความคิด กับ มองตามกลุ่มสำนักคิด แน่นอนว่ามีวิธีการเข้าหา (Approach) เรื่องสตรีนิยมแบบอื่นๆ อีก แต่ 2 แนวทางนี้พื้นฐานสุด มองตามพัฒนาการทางความคิดนั้นก็คือ มองการเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นช่วงๆ เรียกกันว่า ‘คลื่น’ เริ่มแรกสุดก็คลื่นลูกที่ 1 มาจนปัจจุบันอยู่ที่ลูกที่ 4 หรือ 5 แล้วแต่คนจะจัด ในขณะที่การมองเป็นสำนักนั้นแบ่งได้มากมายหลายขนานมากๆ ตั้งแต่ สตรีนิยมกระแสหลัก, Liberal Feminism, Cultural Feminism, Radical Feminism, French Feminism, Postmodern Feminism, ฯลฯ (นี่แค่เสี้ยวหนึ่ง) ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับนมมันอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะมองสตรีนิยมจากวิธีแรก (เป็นคลื่น) หรือแบบหลัง (เป็นสำนัก) ก็มีวิธีการมอง ‘นม’ ที่ต่างกันไป และมันนำมาซึ่งการจิกตบตีกันทางความคิดไม่จบไม่สิ้น
ความแตกต่างสำคัญเกิดจาก 2 สิ่ง (ในความเห็นของผม) คือ (1) พัฒนาการทางประชาธิปไตยในแต่ละช่วงเวลา และ (2) การตีความคุณค่าหลักของประชาธิปไตย แต่อย่างที่บอกแต่แรกว่าเรื่องสตรีนิยมมันเริ่มไม่ได้หากไม่มี ‘ประชาธิปไตย’ นั่นเอง
ในแง่พัฒนาการทางประชาธิปไตยนั้น ก็ตามประสาคือ ในช่วงที่ประชาธิปไตยเพิ่งตั้งหน่ออ่อน การเรียกร้องก็มีแนวโน้มที่จะอิงอยู่กับสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีการมองเรื่องเพศแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนนัก อย่างมองแยกตามเพศทางชีววิทยา เป็นหญิงเป็นชาย เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิทางการศึกษา ต่อมาเมื่อประชาธิปไตยพัฒนาตัวมากขึ้น ข้อเรียกร้องและมุมมองของคำว่าสตรีนิยมก็เปลี่ยนตามไป เรียกร้องสิทธิด้านค่าแรง สวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงมองเพศอย่างหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ไม่ได้ขึ้นต่อเพศทางชีววิทยาอย่างเดียว มี LGBTQI อะไรก็ว่าไป ต่อมาก็มีการเน้นถึงเรื่องเพศสภาวะ (Sexuality) ที่หลากหลายของคน ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเพศสภาพ (Gender) เท่านั้น รวมถึงมีเริ่มมีการถามท้าถึงแนวคิดเรื่องเพศกายภาพหรือเพศทางชีววิทยาอีกด้วย จนเดี๋ยวนี้ข้อถกเถียงมาไกลขนาดดึงเอาแนวคิดหลังมนุษยนิยม (Posthumanism) เข้ามาเพื่ออธิบายว่าร่างกายมนุษย์ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป และเราควรจะมองเรื่องเพศแบบ ‘ไร้เพศสภาพ’ (Genderless) ได้แล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องของเจตจำนงเท่านั้น และหากเรายังมองเพศแบบมี Gender อยู่ (แม้จะแบ่งเป็นเกือบ 30 แบบแล้วก็ตามที) เราก็ยังไม่อาจหลีกหนีจากกับดักเรื่องเพศและแนวคิดแบบมีลึงค์เป็นศูนย์กลาง (Phallocentric) ได้อยู่ดี
การตีความคุณค่าหลักของประชาธิปไตยก็ส่งผลเช่นเดียวกัน คือ คุณมองจากจุดยืนว่าสิทธิสำคัญสุด, เสรีภาพสำคัญสุด, ความเท่าเทียมสำคัญสุด, พหุวัฒนธรรมนิยมสำคัญสุด, ความมั่นคงมนุษย์สำคัญสุด, ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อจุดยืนของแต่ละคนในฐานะนักสตรีนิยม และมันเป็นเหตุผลเบื้องหลังในการอธิบายและตีความเรื่องนม หรืออวัยวะอื่นๆ บนฐานคิดไหน หากคุณเป็นนักสิทธิสตรีรุ่นเก่าหน่อย มีมุมมองไปในทางความมั่นคงมนุษย์เป็นหลัก คุณก็มีแนวโน้มที่จะมองว่า การเผยนม เผยเครื่องเพศต่างๆ การใส่รองเท้าส้นสูง ยกทรง รวมถึงการเป็นโสเภณีนั้นเป็นการทำตัวเองเป็น ‘วัตถุแห่งความปรารถนา’ (Object of Desire) ที่สนับสนุนวิถีแบบชายเป็นใหญ่ เพราะทำไปเพื่อเอาใจชาย เป็นต้น
แต่ถ้าคุณอยู่ในยุคถัดมาของประชาธิปไตยและมองความเท่าเทียมเป็นแกน ก็จะมองนมชายนมหญิงในฐานะอวัยวะเช่นเดียวกัน การฝึก ออกแรง และใช้งานกล้ามเนื้อโยนีในการหาเงินก็มีคุณค่าไม่ต่างจากผู้ชายไปเป็นกรรมกรใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังของตน หรือเป็นกะหรี่กับนายก ก็ศักดิ์เท่ากัน เป็นต้น แบบเอ็มม่า ที่น่าจะมองเสรีภาพเป็นฐานสำคัญ ก็มองเรื่อง Freedom of Choice หรือสิทธิในการมีทางเลือกเป็นแนวคิดหลัก ว่าสิทธิสตรีคือการสร้างทางเลือกให้ผู้หญิง แล้วในสารพัดทางเลือกนั้น อยากเป็นแบบไหนก็เชิญ แค่อย่ามาเป็นแบบนั้นแบบนี้เพราะใครไปบังคับคุณ ทำนองนั้น และสตรีนิยมยุคหลังๆ อาจจะบอกว่าร่างกายมันไม่ได้สำคัญอะไรอีกต่อไป การเห็นนมจริงๆ มันก็คือก้อนไขมันคงรูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างจากการเห็นก้อนไขมันหมูตามท้องตลาด เป็นต้น
ผมเขียนมานี้เพราะอยากให้เข้าใจถึงความงดงามของความหลากหลายซับซ้อนที่มันเกิดขึ้น เบื้องหลังการปะทะกันเล็กๆ ในโลกตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตย รวมไปถึงพัฒนาการทางมุมมองที่มันไปไกลหลายก้าวแล้ว แต่ทุกวันนี้ในประเทศไทย เราด่ากันเรื่องนมแบบเดียวกันนี้ ด้วยฐานคิดคนละแบบเลยครับ เราพูดกันเรื่อง “ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ทำลายความเป็นไทย ผิดประเพณีอันสวยงามแต่นานมา” ว่าง่ายๆ ก็คือ ต่อให้พูดออกมาด้วยภาษาเดียวกัน แต่วิธีคิดที่เป็นฐานเบื้องหลังนั้นมันคนละเรื่องกันเลย เพราะเรากำลังพูดกันด้วยไวยากรณ์แห่งการควบคุมซึ่งปลูกฝังจากการพยายามทำลายประชาธิปไตยซ้ำๆ
ในขณะที่ข้อถกเถียงในตะวันตกนั้นมันเกิดขึ้นจากการพยายามพัฒนาประชาธิปไตยแบบซ้ำๆ
อยู่แบบเรานี่อย่าว่าแต่เพศไหน สิทธิแบบไหนเลยครับ…สิทธิในฐานะคนยังไม่มีกันเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ดูรูปเต็มๆ ได้จาก www.vanityfair.com/hollywood
[2] ที่มา manager.co.th/Entertainment
[3] ดูเต็มๆ ได้ที่ www.bbc.com