ไม่น่าแปลกใจเลย เมื่อคนที่มีทัศนคติและพฤติกรรมเช่น Donald Trump เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ จะต้องมีปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรง หนี่งในนั้นคือการเคลื่อนไหวในนาม Women’s March on Washington เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม วันแรกของรัฐบาล Trump ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมมหาศาล อย่างน้อยที่สุด 3.3 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ เฉพาะที่ Washington, D.C. ก็มีฝูงชนมากถึง 500,000 คน
ไม่ใช่ว่าพวกเธอและเขาตั้งป้อมโจมตีประชาธิปไตยเพรียกหาเผด็จการทหาร รังเกียจการเลือกตั้ง เพราะไม่เชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน แต่เป็นการเดินขบวนด้วยสันติวิธี แสดงจุดยืนและส่งสารแสดงความไม่สบายใจต่อความปลอดภัยในศักดิ์ศรีและสิทธิที่มนุษย์พึงมี ไม่เฉพาะสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในฐานะที่เป็นหรือมีเพศใดเพศหนึ่ง สิทธิของ LGBTQIA (จาก LGBT เดี๋ยวนี้เยอะมากขึ้นแล้วคุณขา) และการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศของผู้หญิงอย่างทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิให้กับกรรมาชีพ กลุ่มผู้อพยพ ศักดิ์ศรีของศาสนิกและชาติพันธุ์อันหลากหลาย และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน[1]
Women’s March ไม่ใช่สิ่งใหม่ หากแต่กิจกรรมนี้ในปี 2017 ชวนให้ย้อนรำลึกถึง Women’s March ใน Washington ที่เดียวกันเมื่อ 100 กว่าปีก่อน
ในวันที่ 3 มีนาคม 1913 อันเป็น 1 วันก่อน Woodrow Wilson เข้าพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดี กลุ่มสตรีจำนวนมหาศาลมากกว่า 5,000 คน ได้รวมตัวกันโดยนัดหมาย มีทั้งนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ดารานักแสดง นักกิจกรรม ต่างนั่งรถม้า เกวียน บางนางควบม้า ส่วนใหญ่พวกนางเดินเท้า เดินพาเหรดเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้ผู้หญิงมีสิทธิในการออกเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยการประกาศว่าเป็นการเดินขบวนแสดงความไม่ยอมรับองค์กรทางการเมืองที่ผลักผู้หญิงออกไปจากการมีส่วนร่วม ซึ่งในการเดินขบวนครั้งนี้ ตลอดข้างทางคราคร่ำไปด้วยผู้คนมืดฟ้ามัวดินประมาณ 500,000 คน[2] ถือได้ว่าเป็นอีกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเรียกร้องสิทธิสตรีของสหรัฐฯ
อันเนื่องมาจาก นับตั้งแต่การขยายตัวของอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 การผลิตด้วยเครื่องจักรภายในบ้านสนับสนุนงานของผู้หญิง ให้พวกเธอทำงานกับเครื่องจักรมากขึ้นเพียงแต่อยู่ในครัวเรือน ผู้หญิงบางกลุ่มจึงกลายมาเป็นแรงงานฝีมือในโรงงานป่านและฝ้าย หรือผลิตภัณฑ์ประเภทประดิษฐ์ลูกไม้ ถุงมือ กระดุมด้วยเครื่องจักร ถักทอกระเป๋าและหมวกจากฟาง ซึ่งได้ค่าแรงต่ำกว่าผู้ชาย[3] และผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกเชื่อว่าควรอยู่ติดบ้าน ทำหน้าที่แม่และเมีย อีกทั้งยังมักใช้อารมณ์ อ่อนแอ เปราะบาง ขณะที่ผู้ชายชนชั้นกลางถือว่าเป็นพลเมือง มีตรรกะความเป็นเหตุผลมากกว่า ผู้ชาย ผู้หญิงจึงอยู่ในสภาพที่ไม่มีสิทธิเสียงใดๆในที่สาธารณะ ขณะเดียวกันผู้ชายก็เป็นผู้หาเลี้ยงให้เพียงพอต่อครอบครัวและผู้หญิงก็ต้องพึ่งพิงสามี เงินที่ผู้ชายหามาจึงเสมือน ‘ค่าจ้างครอบครัว’ คือเงินค่าเลี้ยงตัวเองภรรยาและลูกๆ งานของผู้หญิงเองภายในครัวเรือนก็ถูกนิยามว่าเป็นงาน ‘ตามธรรมชาติ’ เช่นทำความสะอาด เลี้ยงดูเด็ก ตัดเย็บชุด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ว่าในกลุ่มคนรายได้น้อย การให้ผู้หญิงไปทำงานนอกเหนือจากงานตาม ‘ธรรมชาติ’ แล้วเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะต่างต้องปากกัดตีนถีบ[4] เรื่องเพศจึงแยกไม่ออกไปจากเศรษฐกิจด้วย ขณะเดียวกันผู้หญิงทั้ง 2 ชนชั้นก็ถูกจัดวางให้ห่างจากการเมืองภาครัฐตลอดศตวรรษที่ 19
การเคลื่อนที่บนที่สาธารณะของผู้หญิง จำนวนมากหรือในนามของผู้หญิง และประกาศกล่าวถึงสิทธิทางการเมืองที่พวกเธอพึงได้ จึงทรงพลังสั่นไหว กระเพื่อมโครงสร้างสังคม
ขณะที่จักรวาลคู่ขนาน เช่นประเทศไทยแลนด์ ในสมัยยังเรียกว่าสยาม ก็มี ‘พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ ร.ศ.116’ ในมาตรา 9 ที่กำหนดให้ทั้งชายและหญิงมีสิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลทางความคิดความอ่านจากอาจารย์ที่ถูกจ้างไปสอนภาษาในพระราชสำนักเช่น Mary Lourie Mattoon, Anna Leonowens ต่างสนับสนุนสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิง และคณะมิชชันนารีที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาและสอนหนังสือในสยาม เพราะมีกลุ่มมิชชันนารีหญิงด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้า เช่น Mary Clement Leavitt ที่เข้ามาใน พ.ศ. 2430 ก่อตั้งกลุ่ม Women Christian Temperance Union (WCTU) รณรงค์ต่อต้านการดื่มเหล้าและสารเสพติดควบคู่กับสนับสนุนการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง ซึ่งสมาชิกของสมาคมก็เป็นหญิงหรือเป็นภรรยาผู้มีบทบาทต่ออิทธิพลต่อโลกทัศน์ชนชั้นนำของรัฐสยาม เช่น Emelie Royce (1834 – 1845) ภรรยาของ Dan Beach Bradley หรือ ‘หมอบรัดเลย์’ มิชชันนารีกลุ่มนี้ใกล้ชิดกับชนชั้นปกครองสยามเช่น กรมดำรงราชานุภาพ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น รวมถึงรัชกาลที่ 5[5] แต่นั่นก็เป็นการให้สิทธิเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านเฉพาะที่เท่านั้น ไม่ได้มีความจริงจังเรื่องสิทธิพลเมือง หรือให้ความสำคัญราษฎรในฐานะประชาชน
กว่าผู้หญิงไทยจะเป็นพลเมืองจริงๆ จังๆ ก็เมื่อหลังคณะราษฎรอภิวัฒน์ 2475 ที่ได้สิทธิการเลือกตั้งมาพร้อมๆ กับชายไทยใน พ.ศ.2476 ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ต้องการให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน โดยผู้หญิงไม่ต้องออกออกไปเดินเท้าพาเหรด ขี่ม้า กลางวันแสกๆ
เพราะอันที่จริง เพศเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่า มันเกี่ยวข้องกับการเมืองในตัวของมันอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้อง ‘คลั่งการเมือง’ เพราะเป็นความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐาน หรือเป็นสามัญปัญญาที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายอย่างน้อยที่สุดจากการอ่านหนังสือ ซึ่งอันที่จริงมีการตั้งศูนย์จัดเก็บรวบรวมเอกสารสิ่งพิมพ์ รายงานการประชุม สัมมนา รายงานการวิจัย และ โสตทัศนวัสดุต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับ feminisms ตั้งแต่ พ.ศ.2531 ที่มหา’ลัยเชียงใหม่
และนับตั้งแต่พ.ศ. 2544 ธรรมศาสตร์ก็เริ่มมีหลักสูตร ‘สตรีศึกษา’ แล้วในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์พัฒนาการการเรียกร้องสิทธิทางเพศของไทย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Women’s March on Washington. Guiding Vision and Definition of Principles. ดาวน์โหลดได้ที่ static1.squarespace.com
[2] 5,000 women march in a Woman’s Suffrage demonstration, beset by crowds. (1913, March 4.) The New York Times. Retrieved [Jan 21,2017] from socialwelfare.library.vcu.edu
[3] Bridget Hill. (2005). Women, work and sexual politics in eighteenth-century England. Taylor & Francis e-Library, 2005. ; McKeon, Michael. The secret history of domesticity : public, private, and the division of knowledge. Baltimore : Johns Hopkins University Press, 2005,pp. 174-175.
[4] Philippe Ariès, Georges Duby (general editors). (c1987-1991). A History of private life, v. 4. From the fires of revolution to the great war. Cambridge, Mass. : Belknap Press of Harvard University Press. P. 85
[5] Bowie, Katherine A. Thailand’s Unique Challenge to the Historiography of Women’s Suffrage, Comparative Studies in Society and History / Volume 52 / Issue 04 / October 2010, pp. 708-741.